ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    อนุสสติ ๑๐

    ลำดับตอนที่ #1 : พุทธานุสสติ

    • อัปเดตล่าสุด 15 เม.ย. 55


     

    พุทธานุสสติ

    แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อำเภอ ศรีเชียงใหม่ จังหวัด หนองคาย

    วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒

     

    วันนี้จะเทศนา อนุสสติ จงตั้งสติกำหนดจิตฟังให้ดี

    อนุสสติ มี ๑๐ อย่าง นั่นคือ

    ๑.พุทธานุสสติ

    ๒.ธัมมานุสสติ

    ๓.สังฆานุสสติ

    ๔.สีลานุสสติ

    ๕.จาคานุสสติ

    ๖.เทวตานุสสติ

    ๗.มรณสติ

    ๘.กายคตาสติ

    ๙.อานาปานสติ

    ๑๐.อุปสมานุสสติ

    อนุสสติแต่ละอย่างๆนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นกัมมัฏฐานอันลึกซึ้งที่สุดทั้งนั้น ในสมัยก่อน ท่านทำได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน แต่พวกเรามาทำในสมัยนี้ไม่สำเร็จมรรคผลนิพพาน คือว่าเราทำไม่ถึงอนุสสตินั่นเอง เมื่อของดีๆมีราคาสูงไปตกกับคนที่ไม่รู้จักใช้มันก็เลยไม่มีคุณค่าอะไร

    อนุสสติ คือเครื่องระลึกถึงของดี เราไม่มีดีในตัวเรา จึงต้องเอาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือศีล ซึ่งเป็นของดีของท่าน มาเป็นเครื่องระลึก เมื่อนำเอาของท่านมาระลึกแล้ว ก็จะซาบซึ้งเข้าถึงใจ ของดีเหล่านั้นก็จะเกิดมีในตัวของตน หรืออนุสสติก็จะเกิดขึ้นมีในตน เพราะฉนั้น จงตั้งใจฟังอนุสสติต่อไป

    พุทธานุสสติ การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เพียงแต่นึกถึงพุทโธๆ เท่านั้นแหละ ถ้าหากใจเป็นพุทโธ ใจถึงพระพุทธเจ้า เข้าแดนพระพุทธเจ้า เข้าเขตของพระพุทธเจ้าแล้ว ความพิสดารมันกว้างขวาง จิตอันนั้นไม่ใช่ปุถุชน จิตอันนั้นเป็นของบริสุทธิ์ จะเห็นคุณของพระพุทธเจ้า

    ถ้าหากยังไม่ถึงแดนของพระพุทธเจ้า เขตพระพุทธเจ้า ไม่เข้าถึงส่วนของพระองค์ มันก็ยังไม่เห็นคุณของพระองค์อยู่อย่างเดิมนั่นแหละ จะว่าพุทโธๆ สักเท่าใด ก็เหมือนนกแก้วนกขุนทองว่าไปอย่างนั้นเอง

    การที่จะเข้าถึงและเห็นคุณของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อนึกถึงพุทโธ อย่าเป็นเพียงนึกพุทโธ ท่านพรรณนาถึงพุทโธ หรือพระคุณของพระพุทธองค์ไว้ตั้ง ๙ บท มี อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้น

    คำว่า ภควา หมายความว่า พระองค์เป็นผู้มีส่วน คือมีส่วนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่พระองค์จะต้องได้รับและพระองค์ก็ได้รับไว้แล้ว เปรียบเหมือนบุตรธิดาที่เกิดมาในตระกูล ควรจะได้รับมูลมรดกด้วยกันทุกคน แล้วก็ได้รับส่วนแบ่งนั้นไปอย่างเรียบร้อย ชอบตามกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะนำไปประกอบอาชีพได้ตามฐานะของตน บางคนก็เจริญดี บางคนก็ไม่เจริญ เป็นธรรมดาของปุถุชน ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า พระองค์ได้รับส่วนของพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมเจริญรุ่งเรืองเหมือนกันทุกๆ พระองค์ เว้นแต่จะเจริญไปองค์ละแบบ ดังที่พระองค์พรรณนาคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ไว้ว่า

    พระพุทธเจ้าชื่อ วิปัสสี ผู้มีจักษุ ผู้มีสิริ

    พระพุทธเจ้าชื่อ สิขี ผู้มีปกติอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง

    พระพุทธเจ้าชื่อ เวสสภู ผู้มีกิเลสอันชำระล้างแล้ว ผู้มีตบะ เป็นต้น

    ดังนั้น เมื่อเรานึกถึง ภควา (เป็นผู้มีส่วน) เท่านี้ ก็จะเห็นแจ้งไปตลอดหมดทั้ง สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นต้นไป ซึ่งแปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้เองชอบ เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลกทั้งสาม เป็นผู้ทรงหัดบุรุษและเทวดา อันไม่มีใครเหมือนพระองค์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จำแนกแจกธรรม(แก่เขาเหล่านั้น) พระคุณเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากบท ภควา ทั้งสิ้น

    เรามาระลึกถึงพระคุณเพียงบท ภควา เท่านี้แหละ เช่น ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ล่วงลับไปแล้วในอดีตไม่มีที่สิ้นสุด คนเกิดมาในโลกมากแสนมากเหลือที่จะคณานับ ต้องมีคนหนึ่งนั่นแหละที่คิดแตกต่างกันขึ้น เพลิดเพลินอยู่กับทุกข์ โดยสำคัญว่าสุข สงสารเอ็นดู ปรารถนาอยากจะสอนเขา ท่านปรารถนาพุทธภูมิ อุตส่าห์สละเลือดเนื้อเชื้อไขความสุขส่วนตัว บำเพ็ญเพียรมี ทาน ศีล เป็นต้น เรียกว่า บารมี ๑๐ ทัศ ให้สมบูรณ์ เพื่อที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

    เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เรามาระลึกถึงคุณของพระองค์ มีเมตตาคุณ ปัญญาคุณ เท่านั้นแหละ คุณความดีนั้นก็จะแผ่ซ่านเข้าไปถึงจิตใจ เมื่อจิตใจได้รับเอาคุณของพระพุทธเจ้า คุณธรรมอันนั้นมาปรากฏแก่ใจ เห็นชัดแจ่มแจ้งขึ้นในใจ เมตตา กรุณา และปัญญาคุณของพระองค์จะปรากฏมากมายเหลือที่จะคณานับ อันส่วนที่เราได้รับนี้น้อยนิดเดียว แต่ก็นับว่าดีอักโข ถึงแม้ว่าเราได้รับขนาดนี้ เห็นเป็นประจักษ์แจ้งชัดขึ้นมาในใจของตนเพียงแค่นี้ ก็เรียกว่าแสงสว่างของพระพุทธเจ้าฉายเข้ามาสู่ในดวงใจของเราแล้ว ไม่ต้องพูดพรรณาคุณมากมาย ได้สักอันหนึ่งก็พอ ท่านเป็นผู้มีส่วน เราก็มีส่วนได้นิดหนึ่งก็นับว่าดีอักโข

    บทที่จะกล่าวต่อไปว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตัดกิเลสอะไรต่างๆ นั้นไม่ต้องพูดถึงหรอก ถูกต้องหมดทุกอย่าง จะว่าอะไรก็ถูก ตัดจากกิเลสบาปธรรมก็ถูก ไกลจากกิเลสก็ถูก วางกิเลส ทิ้งกิเลส ก็ถูก อันเดียวกันนั่นแหละ ว่าตามภาษาตัวหนังสือเลยไม่มีที่สิ้นสุด   ในเมื่อผู้ละแล้ว ผู้ถอนแล้ว เข้าถึงคุณของพระองค์ เป็นส่วนหนึ่งของพระองค์แล้ว ย่อมเห็นคุณของพระองค์แจ้งชัด  แน่วแน่อยู่เช่นนั้น  อันนี้แหละเรียกว่าถึงคุณพระพุทธเจ้า การถึงคุณพระพุทธเจ้าต้องถึงอย่างนี้ ไม่ใช่ถึงด้วยการว่าบทต่างๆ เป็นข้อเป็นคำไป ว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ วิชฺชาจรณสัมฺปันฺโน ไม่ต้องพิจรณาอย่างนั้น พิจารณาให้เห็นชัดในบทว่า เรามีส่วนในความเป็นมาของพระองค์ แม้จะน้อยนิดเดียวก็พอแล้ว ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุทานในวันตรัสรู้ว่า “ธรรมนี้เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย”

    จกฺขํ (จักขุง) อุทปาทิ คือดวงตาเห็นธรรมอันปราสจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้เกิดขึ้นแล้ว คือมองเห็นโล่งไปหมด มองเห็นเหตุเห็นผล เช่น มองดูมนุษย์ที่เกิดมาเพราะกรรม ตัณหา อวิชชา เป็นต้นเหตุ ตั้งอยู่ได้ด้วยอาหาร ขาดอาหารก็ดับไป อย่างนี้ เป็นต้น

    วิชฺชา อุทปาทิ นี้เป็นความรู้อันไม่ใช่สาธารณะทั่วไปแก่บุคคลอื่น รู้เฉพาะตนเองเท่านั้น จึงหมดสงสัยในธรรมทั้งปวง

    ปญฺญา อุทปาทิ เมื่อพิจารณารอบๆ ไปทั่วทุกแง่ทุกมุม ทั้งภายนอกภายใน แล้วเห็นว่าตรงกับเหตุผลความเป็นจริงทุกประการ ยิ่งเชื่อมั่นหมดความสงสัย ไม่มีอันใดจะปกปิดเหลือไว้อีกแล้ว

    อาโลโก อุทปาทิ โลกเป็นอันเปิดสว่างแจ่มแจ้งไปหมด คือ สัตว์ในพื้นปฐพีนี้ มีกิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ อย่างไร พระองค์ย่อมทรงรู้ทั้งหมด จึงเรียกว่ารู้แจ้งโลก ไม่มีอะไรปกปิดกำบัง

    ดังนั้นพวกเราจะเข้าถึง พุทธภูมิ คือภูมิของพระพุทธเจ้า ด้วยการที่เราสงบ เราตั้งสติกำหนดจิตให้สงบเท่านี้แหละ พระพุทธเจ้าก็ทรงทำอย่างนี้ พระองค์ทรงสอนอย่างนี้ พระสาวกก็สอนอย่างนี้ ตั้งสติกำหนดจิตที่ส่งส่ายไม่ให้ส่งส่ายเท่านั้น เมื่อจิตอยู่นิ่งแล้วก็รู้ว่าจิตอยู่ นับว่าเป็นเบื้องต้นของความรู้ แต่ก่อนเราไม่รู้จักจิต อยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่รู้ คราวนี้เรากำหนดจิตให้อยู่ สติควบคุมจิตอยู่ในที่เดียว เรารู้แล้วว่าจิตของเราอยู่ ไม่ใช่ของทำง่ายๆ ต้องฝึกฝนอบรม

    ถ้าคุมสติรักษาจิตให้อยู่ในอำนาจของตนแล้ว มันจะไปไหนเล่า อันความรู้ ความฉลาด สามารถรู้สิ่งทั้งปวงทั้งหมดก็ออกไปจากอันนี้ จะไปรู้ที่ไหน ไปรู้อะไรอีก ที่ไปรู้อะไรๆ ก็ออกไปจากจิตอันนี้แหละ พระองค์ทรงรู้ต้นตอบ่อเกิดของกิเลสทั้งปวงหมด เรานั้นอยากจะรู้นั่นรู้นี่ เห็นนั่นเห็นนี่อะไรต่างๆ ถ้าหากจิตของตนไม่อยู่นิ่ง มันไม่เห็นหรอก พระองค์ทรงเข้ามารู้ที่นี่เสียก่อน เมื่อเราเข้าถึงอันนั้นจึงเรียกว่าเข้าถึงภูมิของพระพุทธเจ้าส่วนหนึ่ง เข้าถึงแดนของท่าน พอได้ติดนิดหนึ่งก็เอาละ เท่านั้นก็พอ จงยินดีพอใจในอันนั้น นานๆ เข้ามันหากค่อยรู้ขึ้นมาค่อยเห็นขึ้นมา

    การรักษาจิตไว้ตรงนั้นไม่ใช่ของง่ายๆ เพราะจิตไม่ใช่เป็นของเป็นตนเป็นตัว ไม่ใช่จะเอาเชือกผูกอย่างผูกวัวผูกควาย จิตมันกวัดแกว่ง จิตมันดิ้นรนกระเสือกกระสนไปมา หากเรายังไม่รู้จักว่าจิตมันกวัดแกว่ง จิตดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่เป็นนิจแล้ว มันก็จะไปตามของเก่าอยู่อย่างนั้น อย่างที่เคยเทศน์ให้ฟังแล้วว่า จิตมันคิดของเก่า คิดดูซี วันหนึ่งๆ มันคิดอะไรบ้าง เราลืมของเก่าของตนเองต่างหาก มันคิดวนไปเวียนมาอยู่กับของเก่านี่แหล่ะ คิดเกี่ยวกับลูกกับหลาน คิดเกี่ยวกับบ้านกับช่อง คิดเกี่ยวกับสิ่งของวัตถุทั้งปวงหมด คิดกับหมู่เพื่อน กับพี่กับน้อง กับญาติกับวงศ์ ก็คิดของเก่านั่นแหละ แต่ไหนแต่ไรมาก็คิดแต่เรื่องเหล่านี้แหละ คิดถึงสมบัติพัสถาน หาอยู่หากิน คิดกับเรื่องเหล่านี้แหละ ทุกวันๆ ไม่เหนือไปจากนี้เลย แล้วยังจะคิดต่อไปอีก ถ้าหากว่าเรารักษาจิตไม่อยู่ อันนี้เป็นแดนมนุษย์แดนปุถุชน แดนพระพุทธเจ้า ไม่ใช่อย่างนั้น แดนพระพุทธเจ้าต้องสงบ มีสติควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา แดนของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างนั้น ธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงก็แสดงออกไปจากนั่นแหละ

    ออกไปจากอะไร ออกไปจากจิต จิตที่มันคิดมันนึกมันส่งส่าย พระองค์จึงเทศนาอันที่มันส่งส่ายวุ่นวายอยู่นั่น ไม่ใช่อันอื่นหรอก พระองค์ทรงบอก ให้ละมันเสีย แล้วอยู่ด้วยความสงบ นี่แหละให้รักษาไว้ ก็เท่านี้เอง จะไปแสดงที่ไหน เทศน์ก็เทศน์อันเดียวเอง จึงเรียกว่าเทศน์ของเก่า ของเก่าที่ไม่รู้แล้วรู้รอดกันสักที เทศนาไปก็ไม่จบสักที พระองค์ทรงเทศนา ๔๕ ปีก็เทศนาของเก่าอยู่นี่แหละ ที่เราแสดงถึงเรื่องพระคุณของพระองค์นี้ ก็คุณอันเก่านั่นแหละ อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ ก็ของเก่านั่นแหละ

    พระคุณของพระพุทธเจ้าองค์นี้เกิดขึ้นมาแล้ว เทศนาพรรรนาถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าองค์ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ละพระองค์ตลอดชีวิตของพระองค์ก็ไม่หมดไม่สิ้น พระคุณอเนกอนันต์ ถ้าพูดถึงเรื่องราวมันก็มากมายกว้างขวาง จึงว่า ให้รวมจิตลงให้มั่นเป็นหนึ่งได้เสียก่อน รักษาใจให้อยู่ให้สงบ ควบคุมจิตให้อยู่อันเดียวเท่านั้น ส่วนพิสดารอื่นๆ ก็แล้วแต่นิสัยของตน อย่าไปอยากเป็นอย่างท่านที่รู้มากๆ เลย คนเรามิใช่เป็นอย่างเดียวกันทุกคน คนนับเป็นหมื่นเป็นแสนจะเป็นอย่างนั้นสักคนเดียวก็ทั้งยาก

    พระสาวกของพระพุทธเจ้าท่านยังจัดไว้หลายประเภท ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วไม่อยากพูดก็มี ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วพูดเฉพาะหมู่เพื่อนกันเองก็มี ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วพูดมากจนมีผู้ปฏิบัติตามจนกระทั่งได้สำเร็จตามก็มี ประเภทที่ได้สำเร็จแล้วรู้เหตุรู้ผลรู้เรื่องรู้ราวแตกฉานทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขัดข้องก็มี พวกท่านเหล่านั้นล้วนแล้วแต่ปฏิบัติตนให้ถึงความสงบ จิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวทั้งนั้น มิใช่อยากเป็น แต่ฝึกหัดจิตไม่สงบอย่างพวกเรา ความอยากเลยไม่สำเร็จตามปรารถนา

    เหตุนั้นจึงว่า อย่าไปมัวเมาหลงของเก่าเลย ท่านสอนตรงจิตสงบอยู่อันหนึ่งอันเดียว และรักษาจิตให้อยู่อันเดียวนั่นแหละ ตรงนี้แหละสำคัญที่สุด ที่จะเทศนาถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้ ก็ต้องเทศน์อันนี้ให้รู้จักอันนี้เสียก่อน จึงจะเทสน์ให้กว้างขวางออกไปได้

    วันนี้เทศน์เท่านี้ละ เอวํ ฯ

     

    นั่งสมาธิ

    ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

    จงตั้งสติกำหนดจิตให้ดี เรื่องอะไรที่วุ่นวี่วุ่นวายเกิดขึ้นในใจขอให้ยกไว้ก่อน เวลานี้เป็นเวลาทำความเพียรภาวนา มันมักจะเกิดเรื่องวุ่นวี่วุ่นวาย อย่างน้อยที่สุดเกิดแมลงไต่หน้าไต่ตา อะไรต่างๆ ยุ่งกันหมด เป็นเรื่องมารมันคอยรบกวนไม่ให้เราตั้งสติได้ แท้ที่จริงไม่มีอะไรหรอก เราปล่อยทิ้งเสียมันก็หมดเรื่องกันไป มันมารบกวนเฉยๆ นั่นเอง ไม่เชื่อก็ลองดูซี พอออกจากสมาธิแล้วก็ไม่มีอะไร เมื่อออกจากสมาธิแล้วก็หาย พอนั่งสมาธิก็เอาอีกละ เจ็บนั่นเมื่อยนี่ ปวดนั่นปวดนี่อะไรต่างๆ อันนั้นก็สละทิ้งเสีย ถวายพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องบูชาพระองค์เสีย ความเจ็บความเมื่อยความเกี่ยวข้องกังวล ทุกสิ่งทุกประการ ยกถวายเป็นเครื่องบูชาพระพุทธเจ้าเสีย เราก็จะสบายอยู่เย็นเป็นสุข

    ให้รู้จักเวลาสละปล่อยวางให้มันเป็น เลยเอาเสียทุกสิ่งทุกอย่าง จึงว่าปล่อยวาง สละบูชาคุณของพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้อยู่ในที่นี้หรอก แต่บูชาคุณของพระพุทธองค์เหมือนกับเราเด็ดดอกไม้บูชาพระ ดอกไม้ที่เด็ดออกจากต้นนั้นมันก็ตาย กลับมาต่ออีกไม่ได้ ความสละของเราให้ปล่อยวางหมด เหมือนกับเด็ดดอกไม้ออกจากต้นเช่นนั้นเหมือนกัน จึงจะเป็นสมาธิภาวนา แล้วรักษาสติอารมณ์ของตนให้แน่วแน่ นำเอาคุณของพระพุทธเจ้า โดยนึกถึงตัวพุทโธที่แท้จริง ไม่ใช่เอาที่พุทโธ เอาที่คุณของพุทโธ คนใดเป็นผู้ว่าพุทโธ ให้จับเอาผู้นั้นแหละให้แน่วแน่จนกระทั่งพุทโธนั่นวางหายไปหมด ไม่ต้องไปจับเอา ถ้าพุทโธยังไม่หาย ก็นึกเอาพุทโธไปเสียก่อน ครั้นจับผู้ว่าพุทโธได้แล้ว พุทโธมันหายเอง อย่าไปกำหนดคิดถึงมันอีก จับเอาตัวผู้รู้ว่าพุทโธทีเดียว ให้ตั้งมั่นอยู่ในสิ่งเดียวเท่านั้น จึงจะถึงคุณของพระพุทธเจ้า

    เอาละ ทำกันเลย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×