ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เอะ!!!!มีอยู่ในประเทศไทยดัวยหลอ

    ลำดับตอนที่ #7 : อะไรเอย!!!....ชื่อก็เป็นเมืองผีซะแระ

    • อัปเดตล่าสุด 23 ก.พ. 50




































    เสาดินนาน้อย จ. น่าน มีพื้นที่มากกว่าที่แพะเมืองผีเสียอีก แต่คนไม่ค่อยรู้จัก

    ในยามที่เราเดินทางออกท่องโลก ก็มักจะพบเห็นสิ่งแปลกใหม่นอกเหนือจากการรับรู้เดิม ๆ อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งนำมาซึ่งคำถาม ความฉงนสนเท่ห์ โดยเฉพาะกับสิ่งที่ธรรมชาติเป็นผู้สรรค์สร้าง หนึ่งในหลายสิ่งนั้นก็คือปรากฏการณ์เสาดิน ที่วันนี้ “นายรอบรู้” อยากพาไปเที่ยวชมกัน

    ตัวอย่างของเสาดินที่รู้จักดีคือ แพะเมืองผี จ. แพร่ แต่ไม่ได้หมายความว่าปรากฏการณ์อย่างนี้จะมีเพียงที่แพะเมืองผีเท่านั้น ความจริงมีกระจายอยู่ในหลายพื้นที่แทบทุกภูมิภาคยกเว้นภาคใต้ “นายรอบรู้” ขอเรียกปรากฏการณ์นี้แบบรวม ๆ ว่า “ปรากฏการณ์แพะเมืองผี” ก็แล้วกัน

    ลักษณะของพื้นที่ที่เกิดแพะเมืองผี มักเป็นหล่มยุบตัวลงไปจากระดับพื้นดินปรกติ ปรากฏเป็นกองดินและแท่งเสาดิน ตามผิวของเสาดินมีริ้วลายเป็นร่องยาวจากบนลงล่างเป็นลวดลายหลัก เสาดินมีขนาดสูงบ้าง ต่ำบ้าง บางแห่งสูงเกือบ ๓๐ เมตรทีเดียว อาณาเขตของการเกิดปรากฏการณ์แพะเมืองผีมักมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า ๑ ไร

    แพะเมืองผี เปรียบเทียบความสูงของเสาดินกับคน

    ด้วยพื้นที่ที่กว้างขวางพอประมาณและเสาดินที่ปรากฏเป็นรูปทรงต่างๆ การมาเยี่ยมชมปรากฏการณ์นี้ จึงต้องผนวกจินตนาการเป็นเครื่องช่วยนำทางเช่นเดียวกับเวลาไปดูหินงอกหินย้อยตามถ้ำ เช่น บางแห่งดูลึกลับ เวิ้งว้าง ก็เรียกว่า เขาวงกต บ้างเรียงรายล้อมรอบดั่งกรงขัง ก็จินตนาการว่าเป็นคอกเสือ บางแห่งซับซ้อน วกวน และกว้างใหญ่ แม้กระทั่งเจ้าแห่งป่าอย่างสิงโตยังต้องเหลียวมองด้วยความงงงัน ก็เรียกว่า ผาสิงห์เหลียว ผนังดินที่สูงใหญ่ราว ๓๐ เมตรเป็นแนวยาวร่วม ๑๕ เมตร ก็ถูกจินตนาการว่าเป็นดั่งกำแพงโรมัน

    แล้วเสาดินแบบแพะเมืองผีที่เป็นต้นกำเนิดจินตนาการเหล่านี้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
    ปรากฏการณ์แพะเมืองผีไม่ใช่เกิดได้ในทุกพื้นที่ แต่ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งมีองค์ประกอบของเนื้อดินที่มีความหนาแน่นไม่เท่ากัน อาศัยน้ำฝนช่วยกัดเซาะ และลมช่วยขัดสี
    ถ้าสังเกตดี ๆ แพะเมืองผีจะมีลักษณะหลักสองแบบ คือ แบบเสาดินที่มีหมวกแข็ง และแบบเสาปลายแหลมที่ไม่มีหมวกแข็ง

    ผาวิ่งชู้และสายหมอกเหนือลำน้ำปิง

    เสาดินที่มีแผ่นหินแข็งเหมือนหมวกอยู่บนหัวเสา มักจะสูง และขนาดของเสาตั้งแต่ยอดถึงโคนจะเท่ากัน เสาดินกลุ่มนี้มีดินลูกรังและก้อนกรวดเล็กๆ เป็นองค์ประกอบ เช่น แพะเมืองผี จ. แพร่ ผาวิ่งชู้ ผาสิงห์เหลียว จ. เชียงใหม่

    เสาดินแบบที่ไม่มีหมวกแข็ง จะมีปลายแหลมมน ยอดเสาเรียวเล็กกว่าโคน เสาไม่สูงมาก ในเนื้อดินมักไม่มีกรวดหินปนอยู่ด้วย เช่น โป่งยุบ จ. ราชบุรี เสาดินนาน้อย จ. น่าน

    ชั้นดินของเสาดินแบบแรกนั้น นักธรณีวิทยาประมาณค่าอายุของดินว่าอยู่ในยุค Quaternary ประมาณ ๒ ล้านปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่ยุคเก่าแก่เท่าใด ประกอบด้วยชั้นดินที่มีดิน หิน กรวด ทราย จับตัวกัน แต่ละชั้นมีความหนาแน่นไม่เท่ากัน การต้านทานต่อการผุพังจึงไม่เท่ากันด้วย ชั้นที่มีสารเหล็กเชื่อมประสานเป็นดินลูกรัง จะทนทาน ผุพังช้ากว่า ทำหน้าที่เป็นเสมือนแผ่นเกราะหรือหมวก คอยปกป้องชั้นดินส่วนที่เปราะบาง ในขณะที่ส่วนที่อยู่นอกร่มแข็ง ก็จะถูกชะล้างออกไป จึงปรากฏรูปร่างเป็นแท่ง เป็นหย่อม อย่างที่เห็นกัน

    โป่งยุบ จ. ราชบุรี

    ส่วนชั้นดินแบบที่ ๒ เป็นชั้นดินที่ไม่มีหินกรวดปะปน เนื้อดินจะเป็นทรายละเอียด มีความหนืดในเนื้อดิน ทำให้เกาะตัวกันได้ แต่เมื่อถูกฝนและลมชะล้างอยู่บ่อย ๆ เข้า ก็จะค่อย ๆ เสื่อมสภาพได้ค่อนข้างง่าย เสาดินแบบนี้จึงมีขนาดไม่สูงนัก

    แต่ไม่ว่าจะเป็นเสาดินแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ละคนว่ามันมีรูปร่างเหมือนกับอะไร

    ดูสนุกดูที่ไหน
    ในบ้านเรามีปรากฏการณ์เสาดินหลายแห่งที่ได้รับการบรรจุไว้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สามารถไปเยี่ยมชมได้โดยง่าย ได้แก่

    ปรากฏการณ์แบบแพะเมืองผี จ. แพร่ เป็นพื้นดินที่ยุบตัวลง เหลือเสาดินไว้สร้างความประหลาดใจแก่ผู้พบเห็น

    แพะเมืองผี อยู่ในเขตวนอุทยานแพะเมืองผี อ. เมือง จ. แพร่ ที่นี่เป็นเสมือนตัวแทนของปรากฏการณ์แบบนี้ก็ว่าได้ ด้วยมีคนรู้จักกันมากและเป็นที่รู้จักมานาน เสาดินที่แพะเมืองผีนั้นสูงไม่มากนัก ราว ๆ ๔-๕ เมตร เนื้อดินเป็นดินลูกรังปนกรวด มีหมวกแข็งบนหัวเสา พื้นที่ไม่กว้างใหญ่นักและอากาศค่อนข้างร้อน การเดินทางไปนับว่าสะดวก

    เสาดินนาน้อย อยู่ในเขต อ. นาน้อย จ. น่าน เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ลักษณะของเสาดินอยู่กึ่ง ๆ ระหว่างแพะเมืองผีกับโป่งยุบ จ. ราชบุรี คือเนื้อดินไม่เป็นดินลูกรังมากเท่าที่แพะเมืองผี แต่ก็ยังมีหมวกแข็งคลุมหัวเสาอยู่บ้าง พื้นที่ของเสาดินนาน้อยกว้างใหญ่กว่าที่แพะเมืองผี อีกทั้งรูปทรงเสาดิน ก็มีหลากหลาย สวยงาม ให้ชมได้มากกว่า แต่กลับไม่ค่อยมีคนไปมากนัก

    ผาวิ่งชู้ ดูเหมือนจะเป็นเสาดินที่มีตำแหน่งที่ค่อนข้างสวยงาม ด้วยว่าอยู่ริมแม่น้ำปิง บริเวณผาวิ่งชู้มีปรากฏการณ์ให้ชมสองลักษณะ คือเป็นผาหินทรายขนาดใหญ่อย่างหนึ่ง และส่วนที่เป็นเสาดินอีกอย่างหนึ่ง เสาดินมีขนาดเล็กเรียว รูปทรงสวยงาม ผาวิ่งชู้มีพื้นที่ไม่ใหญ่นัก แต่เป็นสถานที่แห่งเดียว (เท่าที่รู้) ที่เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้อยู่ริมแม่น้ำ ยิ่งถ่ายภาพลงไปเห็นทั้งเสาหินและแม่น้ำปิง ก็ยิ่งสวยงามมาก ผาวิ่งชู้เป็นเสาดินที่เดียวที่ดูได้เพียงอย่างเดียว จะลงไปเดินเล่นตามโคนเสาไม่ได้ (เพราะเป็นหน้าผาสูง)

    ผาสิงห์เหลียว จ. เชียงใหม่ มีเสาดินแบบมีหมวกแข็ง น่าจะสูงที่สุดในประเทศ ผาสิงห์เหลียว เท่าที่เห็นมาที่นี่น่าจะเป็นเสาดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย เพราะเสาที่สูงสุด สูงถึง ๕๐ เมตร และน่าจะเป็นที่ที่ชมปรากฏการณ์นี้ได้สวยที่สุดด้วย เพราะมีบริเวณกว้างเกือบ ๆ ๑๐๐ ไร่ เสาดินที่ผาสิงห์เหลียวเป็นแบบเดียวกับที่แพะเมืองผี มีหลากหลายรูปร่าง รูปทรง ทำให้จินตนาการไปได้มากมาย ทั้งที่คล้ายกับกำแพงโรมันสูงร่วม ๓๐ เมตร หรือเสาดินที่สูงที่สุดในประเทศ ทำเลที่ตั้งที่รายล้อมไปด้วยผืนป่าเต็งรัง ก็ทำให้สวนเสาหินแห่งนี้ดูสวยงามกว่าที่อื่นมาก โดยเฉพาะราวเดือนมกราคมช่วงที่ป่าเต็งรังเปลี่ยนสี

    ทั้งผาสิงห์เหลียวและผาวิ่งชู้ อยู่ในเขตพื้นที่ อ. ฮอด จ. เชียงใหม่ เริ่มต้นจาก อ. ฮอด ใช้ถนนหมายเลข ๑๑๐๓ มุ่งหน้ามาทาง อ. ดอยเต่า ประมาณ ๑๐ กม. จะเห็นป้ายบอกทางซ้ายมือว่า “บ้านตาล” เข้าไปจนถึงบ้านตาลใต้ (มีป้ายบอก) จนข้ามสะพานปูนเล็กๆ เลี้ยวซ้ายตรงทางแยก ผาสิงห์เหลียวอยู่ห่างหมู่บ้านประมาณ ๓ กม. ส่วนผาวิ่งชู้จะเลยทางแยกเข้าบ้านตาลไปอีกราว ๓ กม. มีป้ายปากทางขวามือว่า “บ้านดินดำ” เข้าไปตามทางอีกราว ๕ กม. ก็จะมีทางปูนขวามือแยกเข้าไปอีกราว ๑ กม. ถึงผาวิ่งชู้

    ทั้งผาวิ่งชู้และผาสิงห์เหลียวค่อนข้างอันตรายด้วยว่าเป็นหน้าผาสูง ดินกรวดมีการลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นอย่าเดินใกล้แนวหน้าผาเด็ดขาด

    โป่งยุบ อยู่ในเขต อ. สวนผึ้ง จ. ราชบุรี แตกต่างจากที่อื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เพราะเป็นเสาดินที่ไม่มีหมวกแข็ง ขนาดไม่สูงนัก สูงเต็มที่ราวๆ ๓ ม. มีพื้นที่ค่อนข้างน้อย ทั้งอยู่ในพื้นที่ของส่วนบุคคล มีรั้วลวดหนามล้อมรอบ และเก็บค่าเข้าชม บางครั้งก็ปิดประตูทางเข้า การมาเที่ยวชมโป่งยุบจึงไม่ค่อยมีความแน่นอน

    ละลุ อยู่ในเขต จ. สระแก้ว ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติตาพระยา เสาดินมีส่วนประกอบคล้ายกับแพะเมืองผี แต่เสาค่อนข้างเล็กกว่าและไม่สูงเท่า มีพื้นที่ใกล้เคียงกับที่แพะเมืองผี การเดินทางไปละลุนั้นเริ่มที่ตาพระยา ใช้เส้นทางสาย ๓๔๘ (ตาพระยา-โนนดินแดง) จะมีป้ายบอกละลุ-สด๊อกก๊อกธม สถานที่ค่อนข้างเปลี่ยว

    นอกจากสถานที่เหล่านี้แล้วก็อาจมีปรากฏการณ์แพะเมืองผีในส่วนใดของประเทศอีกก็ได้ที่เรายังไม่รู้ และไม่เป็นที่เปิดเผย ในขณะที่บางแห่งกลับมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ ด้วยว่าไม่มีคนดูแลอย่างจริงจัง เช่นที่ผาสิงห์เหลียว มีชาวบ้านถางป่าเหนือหน้าผาเพื่อทำไร่ หรือที่โป่งยุบก็มีการไถพื้นที่บางส่วนเพื่อเตรียมปลูกอ้อย น่าเสียดายหากปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้จะสูญหายไปโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

    ปรากฏการณ์แบบแพะเมืองผีคงต้องใช้เวลานานในการก่อเกิดจนเป็นอย่างที่เราเห็น ทั้งการเสื่อมสภาพของมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนสักวันหนึ่งก็จะสูญสิ้นไป ซึ่งมีแต่ธรรมชาติเท่านั้นที่จะบอกว่าเมื่อใด ขอให้คนเราเป็นเพียงผู้สังเกต ผู้เฝ้ามอง ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นผู้จัดการไปตามวิถีของมัน หลังจากที่เราฝืนธรรมชาติจนเกิดภัยธรรมชาติกันมามากมาย ยิ่งเราปรับเปลี่ยนธรรมชาติเท่าไร ก็ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะเอาคืนเรามากเท่านั้น

    โลกยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ขอให้ธรรมชาติเป็นผู้ลงมือกระทำ ด้วยตัวของเขาเองเถิด
    บางทีการเยี่ยมชมเสาดิน ก็ให้หลักคิดกับชีวิตได้เหมือนกัน...


    นำมาจาก
    www.nairobroo.com/.../2005/01/travel.htm
    www.oceansmile.com/N/Phae/VanaPheamerpee.htm
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×