คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #4 : ตอนที่๒ หัวใจไร้รัก
ตามธรรมเนียมสวรรยาราชแต่โบราณ จะลอยโคมขึ้นฟ้าในวันเกิดของโอรสธิดาที่เกิดจากแม่เจ้าเท่านั้น
ทว่าพ่อเจ้าอดิศวรกลับจัดงานลอยโคมขึ้นฟ้าให้กับเจ้ารตีเป็นการขอบคุณเทวดาบนฟ้าที่ส่งนางฟ้าตัวน้อยมาให้ เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจและความไม่พอใจให้กับเจ้าเลอโฉมกับเจ้าประชาไม่น้อย แต่เจ้าสืบกลับดีอกดีใจว่าทารกที่ตนอุ้มชูมาแต่อ้อนแต่ออกเป็นที่โปรดปรานของผู้มีอำนาจที่สุดในสวรรยาราช
"พ่อเจ้าสั่งให้คนลอยโคมให้รตีแบบเดียวกับที่เคยลอยให้ตอนเลอโฉมกับประชาเกิด เหมือนเทวดาบนฟ้ายิ้มให้รตีหลานฉัน และฉันก็คิดไปว่าหลานฉันจะเป็นเหมือนดวงเดือนที่สวยเด่นบนฟ้าเหนือกว่าใคร ๆ ฉันเชื่อว่ารตีเป็นนางฟ้ามาเกิดจริง ๆ" เจ้าสืบยังคงเล่าเรื่องวันเก่าทั้งรอยยิ้ม
"ไม่เหมือนหรอก อย่าว่าเหมือนเลย โคมเจ้ารตีงามกว่า ท้องฟ้าก็งามกว่า พระจันทร์กับดวงดาวยิ้มให้เจ้ารตี ความจริงเจ้ารตีควรจะเป็นดั่งดวงจันทร์แท้ ๆ" แม้แต่บ่าวในคุ้มก็รายงานอย่างนั้น ภาพโคมมากมายร่ายรำบนท้องฟ้าถูกจารึกลงบนจิตใจของชาวสวรรยาราชให้ไม่มีวันลืมชื่อของเจ้ารติมารตี
เวลาล่วงเลยไปประมาณสี่ห้าปี พ่อเจ้าอดิศวรยังคงโปรดเจ้ารตีมาก เห็นได้จากที่แม้จะมีพี่เลี้ยงนางนม แต่พ่อเจ้าก็มักจะดูแลเจ้ารตีเองและไม่เคยถือโทษโกรธเคืองแม้เจ้ารตีในวัยเยาว์จะจิกข่วนหน้าตาพ่อเจ้าเละไปหมดทั้งยังเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู เพราะเจ้ารตีเป็นเด็กที่หน้าตาน่ารักจริง ๆ
"เจ้ารตีตัวน้อย ๆ ผิวขาวเหลืองนวลเหมือนดวงจันทร์ ตาโตเหมือนตากวาง ปากแดง ๆ งามตามแบบเจ้าหญิงสวรรยาราช แต่ผมหยักศกเหมือนย่าที่เป็นชาวใต้ เจ้ารตีชอบเล่นอะไรค่อนข้างจะโลดโผน แต่พ่อเจ้าก็ยอมหลานสุดที่รักทุกอย่างแหละ" อดีตแม่นมของเจ้ารตีว่าไว้
บางก็ว่า "ตอนเด็ก ๆ ก็ให้นมอยู่บ้าง พอโตขึ้นมาหน่อย ฉันไม่ค่อยได้ป้อนข้าวป้อนน้ำเองหรอก พ่อเจ้าแย่งแม่นมทำหมด ถ้าวันไหนเจ้ารตีไม่สบาย พ่อเจ้าก็ไม่นอนทั้งคืน" ความโปรดปรานที่พ่อเจ้ามีต่อเจ้ารตีเป็นอะไรที่ชัดเจน แต่ผมเห็นว่าจะตำหนิพ่อเจ้าก็ไม่สมควรนัก เพราะเจ้ารตีไม่มีบิดามารดาแล้ว ในขณะที่หลานองค์อื่น ๆ ยังมีครอบครัวพร้อมหน้า
และคนที่อิจฉาที่สุดย่อมเป็นเจ้าประชา เพราะนอกจากเจ้ารสิกจะรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์จนเจ้าประชายังเอ่ยทั้งน้ำตาว่า "เหมือนผีแช่งชักให้ช้ำใจ" และหม่อมสิปางก็พูดว่า "ตายไปเสียยังดีกว่า" เจ้ารชตยังมีความผิดปกติทางสติปัญญาที่นับวันจะมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นต้นว่าอายุห้าขวบยังไม่สามารถเข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ได้ และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง
เจ้าประชาจึงชังเจ้ารตีเพราะเชื่อว่า "มันเกิดมาแย่งทุกอย่างไปจากลูกกู มันแย่งความสวยไปจากลูกสาวกู มันแย่งความเก่งไปจากลูกชายกู อะไรดี ๆ มันก็เอาไปหมด" เจ้าประชาเชื่อสนิทใจว่าเจ้ารตีแย่งคุณสมบัติต่าง ๆ ไปจากเจ้ารชตและเจ้ารสิกเช่นเดียวกับหม่อมสิปางที่เชื่ออย่างนั้น
และคนที่มีความสุขที่สุดก็ไม่พ้นเจ้าวรากัญญ์ที่หมดหวังจะมีความสุขเสียแล้ว มีเพียงความทุกข์ของคนที่เจ้าเกลียดเท่านั้นที่ทำให้เจ้ายิ้มได้ เจ้าวรากัญญ์ไม่เหลือเค้าหญิงงาม และอยู่ในสภาพ "เนื้อตัวเหี่ยวย่น ผมเผ้ารุงรังเสียจนทนไม่ไหวต้องตัดสั้นกุด ตาขวางปากคว่ำ อ้วนอุ้ยอ้ายเลื่อนลอย ถามคำตอบคำ"
และแม้หม่อมสิปางจะยังสาวสวยและเจ้าประชายังมีหม่อมอื่น ๆ อีก รวมถึงรับหม่อมใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่มีทายาทสมดังใจ ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเพราะการซุบซิบของเจ้าเลอโฉมกับเจ้าวรากัญญ์ให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างนั้น เจ้าเลอโฉมเองเมื่อเห็นว่าพ่อเจ้าไม่แต่งตั้งเจ้าประชาเสียทีก็คิดว่ารเณศคงมีหวัง
รเณศโตที่สุดในรุ่นหลาน แต่แม้พ่อเจ้าจะรักเจ้าเลอโฉมแต่ก็รักรเณศเหมือนที่รักหลานอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป คุณสุนทรเข้าใจว่าเป็นเพราะพ่อเจ้ายังกรุ่นโกรธจำเริญที่ทำเรื่องฉาวโฉ่อย่างการปิดบังครอบครัวที่บ้านเกิดและไม่อยากให้ทั้งคู่แต่งงานกันนัก แต่เมื่อเจ้าเลอโฉมยืนยันหนักแน่นก็ต้องยอม
การแต่งงานกับจำเริญทำให้เจ้าเลอโฉมเสื่อมความนับถือไม่น้อยเพราะแม้ธรรมเนียมสวรรยาราช ชายที่มีอำนาจอาจมีภรรยาหลายคนได้ แต่เมื่อหญิงเป็นฝ่ายมีอำนาจซ้ำยังงดงามจนคู่ควรเทวดา การได้สามีเป็นชายธรรมดาที่เคยมีลูกเมียมาก่อนจึงทำให้เพชรอันเลอค่ามีตำหนิยากจะลบเลือน
แม้เวลาผ่านไปนาน ๆ ความกรุ่นจะคลายลงบ้างแต่ก็คงไม่อาจสนิทใจ เจ้าเลอโฉมใช้วิธีที่พ่อเจ้ายังบ่นว่าเป็นการ "เอาเด็กเข้าหา" แต่ก็เหมือนไม่เป็นผลเพราะเด็ก ๆ ไม่ได้สนใจปู่นัก รเณศมักเล่นต่อสู้และทำให้เด็กคนอื่น ๆ เจ็บตัว ส่วนรดากับรมัยก็แต่งหน้าทาปากแบบเด็กหญิงทั่วไปไม่มีอะไรน่าสนใจนัก
เจ้ารตีเป็นเด็กฉลาดกว่าเด็กวัยเดียวกัน อายุห้าขวบก็เรียนรู้ได้เหมือนเด็กสิบขวบ ทั้งยังประจบเอาใจพ่อเจ้าเป็นต้นว่าจะอ่านหนังสือให้พ่อเจ้าฟังขณะรับประทานอาหาร น้ำเสียงฉะฉานจากเด็กน้อยทำให้ปู่วัยห้าหกสิบหลงได้ไม่ยาก พ่อเจ้ามอบหมายให้คุณสุนทรเป็นครูสอนเรื่องต่าง ๆ กับเจ้ารตี และคุณสุนทรก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
เจ้ารตีเป็นหลานคนโปรดที่ได้ติดตามพ่อเจ้าไปทุกทิศทุกทางและไม่ว่าจะขออะไรพ่อเจ้าก็ไม่เคยปฏิเสธ กระนั้นสิ่งที่เจ้ารตีขอก็มักเป็น "หนังสือ พู่กัน กระดาษ" และแม้เจ้ารตีจะมีรูปโฉมงดงามจนแม้แต่เจ้าประชายังพูดว่า "เหมือนมันจะเกิดมาให้พี่เลอโฉมขี้ริ้วเสียให้ได้" แต่เจ้ารตีก็ไม่ค่อยแต่งตัวนัก
......................................................................................................................................................
ผมพูดได้เลยว่าผมไม่เคยเห็นใครได้เสี้ยวเจ้ารตีหรือที่ผมเรียกว่าเจ้าอา
ภาพของเจ้าอาในความทรงจำของข้าพเจ้าคือสตรีสูงประมาณร้อยหกสิบปลาย ค่อนข้างผอมเพรียว แขนขาเรียวเล็ก ผมหยักศกยาวคลุมสะโพก ดำขลับ เงางาม เป็นประกาย ผิวขาวเหลืองนวล คิ้วเข้มตาคม จมูกโด่ง เพียงยิ้มเดียวก็ทำให้เจ้าเลอโฉมหรือหม่อมสิปางหม่นหมองจืดจางได้ไม่ยาก
กระนั้นคุณสุนทรกลับหัวเราะ "จะว่างามก็งาม แต่บางทีก็ว่างามไม่ลง คิดว่าเลี้ยงเด็กผู้ชาย" และ "ไม่ใช่ว่ากระโดกกระเดก แม้ตอนเล็ก ๆ จะเล่นโลดโผน แต่พอโตมากลับสุขุมเหลือเชื่อ แต่ไม่มีความอ่อนหวานหรืออะไร ๆ แบบสตรี ไม่ได้ดูเรียบร้อย แต่ดูแกร่งกล้า และนี่อาจเป็นเหตุผลที่พ่อเจ้าอยากให้เจ้ารตีครองเมือง"
การให้สตรีขึ้นครองเมืองไม่เคยมีมาก่อนในสวรรยาราช ทั้งเมื่อพ่อเจ้าถามว่าพึงใจชายใดหรือไม่ เจ้ารตีก็ปฏิเสธไปหมดแม้แต่กับเจ้าประพันธ์ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนต่อ ๆ ไป ความจริงแล้วต่อให้เจ้ารตีจะเป็นชายก็ใช่จะเป็นรัชทายาทได้โดยง่ายเพราะเป็นเพียงหลานและยังไม่มีพรรคพวกคอยหนุนหลังอีก
ตำแหน่งรัชทายาทจึงกลายเป็นภาระที่พ่อเจ้าอดิศวร "ไม่รู้จะให้ใครดี เหลียวไปทางไหนก็มีแต่ปัญหาเสียหมด" เพราะตัวเต็งอย่างเจ้าประชาหรือรเณศก็ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น หากจำเริญพ่อของรเณศเป็นคนดีกว่านี้พ่อเจ้าคงไม่เกรง "แผ่นดินจะไปเป็นของคนอื่น ไอ้จำเริญมันไว้ใจไม่ได้ ถ้ามันตายไปก่อนฉันคงไม่หนักใจเท่านี้"
ถ้าเป็นเจ้าประยงค์ล่ะก็ "นิสัยเหมือนพ่อมัน วัน ๆ ก็เอาแต่คลุกอยู่กับลูกเมีย งานการไม่สนหรอก" ส่วนเจ้าประพันธ์ก็ไปเรียนต่อต่างบ้าน ห่างไกลจากการเมืองเหมือนอย่างที่เจ้าจินดาต้องการ เป็นที่รู้กันว่าเจ้าจินดากลัวภัยการเมืองเพียงใดเพราะเห็นผู้ใหญ่ฆ่าแกงกันแย่งบัลลังก์ตั้งแต่เล็ก ๆ จนเป็นภาพติดตา
เจ้าจินดาเป็นคนทำการค้าขายเก่งจึงทำการค้าและ "ปรนเปรอลูกกับเมียเป็นพอ อย่าให้ฉันต้องแบกรับหน้าที่ที่ฉันทำไม่ได้ จนต้องโดนใครเขาฆ่าตายเลย" ต่างจากพ่อเจ้าอดิศวรที่ "ทำงานทำการฉะฉาน มีบารมี เป็นที่เคารพของผู้คน" เจ้าจินดาจึงไม่คิดขึ้นครองบัลลังก์ทั้งที่ตนเป็นพี่ใหญ่เพราะเกรงใครจะมาฆ่า
ส่วนเจ้าสืบนั้นมีแม่เป็นเพียงบ่าวจึงขาดบารมี "เมื่อก่อนนี้ไม่มีใครเห็นหัวฉันหรอก แต่พอมีรตีฉันค่อยสำคัญขึ้นมาบ้าง ไม่งั้นลูกหลานบางคนคงเหยียบหัวไปแล้ว" ซึ่งก็คงไม่ต้องเดาว่าลูกหลานที่เจ้าสืบหมายถึงคือใคร กระนั้นด้วยความใจกว้าง เป็นกันเอง ชาวสวรรยาราชจึงรักและชื่นชมเจ้าสืบเป็นอย่างมาก
เจ้าสืบมักลงไปดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านและพาเจ้ารตีไปด้วย แต่เมื่อเจ้ารตีเริ่มอายุได้สิบสี่ปี ความงามปานจะดึงดาวดึงเดือนลงมาสยบอยู่แทบเท้าก็ทำให้ชาวเมืองมัวแต่มองรูปโฉมกันไม่เป็นอันทำอะไร เหตุนี้จึงทำให้เจ้านายสตรีอื่น ๆ ริษยากันอยู่ลึก ๆ ชื่อเสียงเรื่องความงามของเจ้ารตีเลื่องลือมากเป็นต้นว่า
"งามสุดฟ้าสุดดิน ไม่มีใครเทียบเทียมได้"
"ใครได้เห็นเจ้ารตีแม้เพียงครั้งเดียว ไม่มีวันลืมเลือนได้ตลอดชีวิต"
"งามจนคิดว่าเป็นนางฟ้านางสวรรค์ มนุษย์ไหนเลยจะงามปานนี้"
การแต่งกายของชาวสวรรยาราชในยุคนั้นนิยมนุ่งผ้าซิ่น ถ้าเป็นชายมักใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก ถ้าเป็นหญิงมักใส่เสื้อเปิดไหล่แขนยาว ผูกผ้ารัดเอวให้เห็นสัดส่วน ส่วนผมมีทั้งไว้ยาวไว้สั้นแล้วแต่ความชอบใจ แต่เจ้านายทั้งชายและหญิงมักจะไว้ผมยาวเพื่อแสดงถึงการมีคนคอยปรนนิบัติดูแล
เจ้ารตีชอบสีฟ้าหรือไม่ก็สีเขียวออกเข้ม ๆ ดู ๆ ไปแล้วเหมือนพระจันทร์ส่องสว่างอยู่กลางท้องฟ้า ยามผูกผ้ารัดเอวทำให้ร่างบอบบางดูทะมัดทะแมงดี เจ้ารตีประดับดอกกล้วยไม้แก้วที่พ่อเจ้าให้ไว้ที่ผมข้างหนึ่ง และปล่อยผมดำขลับหยักศกสยาย เป็นความงามที่รับกับดวงตากลมโตที่มีแพขนตาหนา งอน และยาว
รเณศชอบพอเจ้ารตี ซึ่งอาจจะชอบจริง ๆ หรือมีนัยเรื่องการเมืองเข้ามาผสมก็เป็นได้ หากชายใดได้แต่งงานกับเจ้ารตีเท่ากับนั่งลงบัลลังก์สวรรยาราชแล้สครึ่งหนึ่ง เจ้าเลอโฉมเองก็พยายามผูกมิตรหวังจะได้มาเป็นสะใภ้ แต่รดากลับขุ่นเคืองเรื่องริษยา หากวันใดต้องเผชิญหน้ากับเจ้ารตีเป็นอันไม่พูดจา
เท่าที่ผมจำได้ รดาเป็นผู้หญิงเรียบร้อย มีฝีมือการบ้านการเรือน ส่วนรมัยค่อนไปทางแก่น ๆ เจ้ารตีดูไม่ค่อยชอบคนคุ้มนี้เท่าไรนักและเคยบ่นกับคุณสุนทรว่า "ใครจะดองก็ดองเถอะ ฉันไม่ไปดองด้วยหรอก มีประโยชน์ก็เข้าหา ไม่มีประโยชน์เป็นหมูเป็นหมายังเป็นไม่ได้ อย่าให้ฉันต้องไปยุ่งกีบคนคุ้มนั้นเลย ให้ฉันตาย ๆ ไปยังดีกว่า"
และกับเจ้ารสิก เป็นที่รู้กันว่าต่างฝ่ายต่าง "เกลียดเข้าไส้"
ความจริงเจ้ารตีเคยช่วยเจ้ารสิกที่จมน้ำ ทั้งคู่นั่งหัวเราะกันจนกระทั่งหม่อมสิปางมาเห็น หม่อมสิปางโกรธมากและพาเจ้ารสิกออกไป จากนั้นเจ้ารสิกก็เห็นเจ้ารตีเป็นศัตรู ต้นเหตุนิสัยเลวร้ายของเจ้ารสิกเห็นจะมาจากหม่อมสิปางที่บ่มเพาะให้เจ้ารสิกเป็นคนใจร้าย เย่อหยิ่ง กดขี่บ่าวไพร่ หยาบคายใส่คนอื่น
เมื่อก่อนเจ้ารสิกแม้จะขี้ริ้วน่าเกลียด ใบหน้าบิดเบี้ยว ฟันเก และจมูกหัก แต่ก็ยังเป็นเด็กยิ้มแย้มแจ่มใสมีเมตตากับบ่าวไพร่ แต่เพราะการเสี้ยมสอนของหม่อมสิปาง เจ้ารสิกจึง "หยาบคายนัก เกิดมาฉันไม่เคยเจอเด็กที่ไหนจะเลวร้ายขนาดนี้เลย เป็นเปรตเป็นผีมาเกิดจริง ๆ" ดังที่เจ้าสืบส่ายศีรษะทุกคราที่พูดถึง
พ่อเจ้าเกรงใครจะมารังแกหลานสุดที่รักจึงเลี้ยงไว้ราวไข่ในหินและเป็นหินที่อยู่ในคุ้ม "พวกเขี้ยว ๆ มันจ้องฉีกหลานฉันกิน ฉันต้องระวังให้มาก" ไม่อย่างนั้นแล้ว "คนใจร้ายบางคนไม่นับพี่นับน้อง ไม่นับลูกนับหลาน ถ้าฉันไม่คุ้มครองรตี บางทีหลานฉันคงไม่อยู่ตรงนี้แล้ว" ซึ่งการคุ้มครองก็มีถึงสองแง่
ในแง่แรกคือคุ้มครองจากคนที่อาจทำร้ายชนิดฆ่ากันให้ตาย อับอาย หรือบาดเจ็บ และในอีกแง่คือคุ้มครองจากผู้ชายบางคนที่อาจบุกรุกเข้ามาทำอันตรายเจ้ารตีเพราะหวังว่าหากใช้วิธีเลวทรามบีบบังคับให้เจ้ารตีแต่งงานด้วยแล้ว ตนจะได้เป็นใหญ่ ได้ครอบครองทั้งอำนาจ ทรัพย์สิน และสตรีที่งามที่สุด
และเพราะเจ้ารตีมีพร้อมทั้งความงดงามและความเฉลียวฉลาดจึงไม่เพียงถูกสตรีริษยา บุรุษยังพากันริษยาและหมั่นไส้ รเณศเมื่อตามเกี้ยวหลายปีและเจ้ารตีไม่เคยมีไมตรีกลับซ้ำยังเย็นชาอย่างยิ่ง บ่าวคนหนึ่งรายงานว่าเคยได้ยินรเณศชี้หน้าด่าเจ้ารตี "ยโสโอหังว่างามกว่าใคร กูจะรอดูวันที่มึงตายเยี่ยงหมูหมาอนาถา"
ไม่ปรากฏว่าเจ้ารตีโต้ตอบอะไรมากไปกว่ากระตุกยิ้มเล็กน้อย แต่เจ้ารตีเอ่ยกับคุณสุนทรว่า "โธ่เอ๊ย มันคงคิดว่าฉันโง่ให้มันหลอก ฉันรู้เช่นเห็นชาติมันมาตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมารำคาญเต็มทน เปิดเผยสักทีก็ดีเหมือนกัน" หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ารตีกับคุ้มเจ้าเลอโฉมจึงมึนตึงเข้าหน้ากันไม่ติด
นอกจากรเณศ ขุนนางทหารหนุ่ม ๆ หรือเศรษฐีที่มีโอกาสได้พบพานก็พยายามเกี้ยวเจ้ารตีอ้อม ๆ แต่เจ้ารตีก็ปฏิเสธด้วยคำว่า "ไม่สนใจ" สุภาพมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับท่าทีชายเหล่านั้นนั่นแหละ คุณสุนทรเคยถามว่าเจ้ารตีชมชอบบุรุษแบบไหน และแทนคำตอบคือรอยยิ้มอันยากจะเข้าใจ "ไม่ใช่แบบที่เคยเห็นแล้วกัน"
คุณสุนทรเคยสงสัยถึงขั้นถามตรง ๆ แทนหลาย ๆ คนไปว่า "หรือเจ้าจะชอบผู้หญิง?" เจ้ารตีก็ยิ้มเหมือนเดิมและตอบว่า "ทำไมฉันต้องชอบใครด้วยเล่า? ไม่ชอบผู้ชายแล้วทำไมต้องชอบผู้หญิง? ไม่ชอบผู้หญิงแล้วทำไมต้องชอบผู้ชาย? ฉันต้องชอบใครด้วยหรือ? ฉันมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องชอบใครไม่ได้หรือ?"
และคุณสุนทรซึ่งใกล้ชิดเจ้ารตีไม่ต่างจากพ่อใกล้ชิดลูก ก็เล่าว่า "ไม่เคยเห็นเจ้ารตีเขินอายหรือมีทีท่าพอใจใคร ชีวิตของเจ้ารตีมีแค่ฉัน พ่อเจ้าอดิศวร เจ้าสืบ จักรเทพ อาจจะสนิทกับเจ้าประพันธ์แต่ก็ไม่น่าจะชอบแบบชู้สาว แต่เจ้ารตีก็ไม่ได้สนิทสนมกับผู้หญิงคนไหนเลย ที่พอคุยกันได้น่าจะเป็นหม่อมมะเฟือง"
เจ้ารตีไม่ใช่คนถือตัว แต่ไม่ค่อยพูดอะไรนักและชอบอยู่เงียบ ๆ ในคุ้มมากกว่า ผมได้ไปมาหาสู่เจ้ารตีบ่อย ๆ และเจ้ารตีก็มักจะหาขนมนมเนยให้กินทุกครั้ง เจ้ารตีมีรูปร่างบอบบางแต่ตอนสาว ๆ ก็ทำงานคล่องแคล่วดี เจ้ารตีสอนให้ผมท่องจำชื่อต้นไม้ต่าง ๆ เจ้ารตีพูดจาห้วน ๆ ไม่อ่อนหวาน แต่คนฟังรู้สึกได้ถึงความเมตตาและจริงใจ
แต่ถึงเจ้ารตีจะไม่ใช่คนเสียงไพเราะ แต่เจ้ารตีก็แต่งกาพย์กลอนได้ไพเราะ เพราะเจ้ารตีชอบอ่านหนังสือจึงมีฝีมือด้านวรรณศิลป์ไม่น้อย สิ่งหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือการที่เจ้ารตีชมชอบการดื่มสุราอย่างยิ่ง พ่อเจ้าเองก็ไม่ได้ตำหนิเป็นจริงเป็นจัง อาจเพราะสุดท้ายแล้วใครต่อใครก็ชอบอ่านร้อยกรองที่เจ้ารตีเขียนตอนดื่มสุรา
"บุษบันเลื่องล้น เบาบาง
พึงผ่อเพียรเพ้อพลาง ดื่มเข้า
บ่มีเท่าเทียบวาง โฉมเฉิด งามเอย
หลงลุ่มกลุ้มกรอกเหล้า ชะเง้อละเมอฝัน"
ไม่มีใครรู้ว่าผู้ใดเป็นผู้โชคดีที่เจ้ารตีกล่าวถึงในโคลงกลอน แต่ผมกับคุณสุนทรเห็นพ้องต้องกันว่า "คงเป็นอารมณ์ของนักกวีมากกว่า" ด้วยความใกล้ชิดขนาดนี้หากเจ้ารตีชมชอบใครอย่างน้อย ๆ คุณสุนทรก็ต้องเอะใจอยู่บ้าง และการที่เจ้ารตีชอบดื่มสุราก็ทำให้พอโตมาผมชอบดื่มสุราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความจริงผมตั้งใจจะลองดื่มเป็นเพื่อนเจ้ารตีตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ถึงจะไม่เข้าใจว่าเหตุใดพวกผู้ใหญ่ชอบน้ำเมาขม ๆ มากนักก็เถอะ แต่เห็นเวลาเจ้ารตีดื่มและเริ่มท่องบทกวีมันทำให้ผมอยากดื่มตามไว ๆ และในอีกแง่ก็อยากรีบโตมาช่วยเหลือเจ้ารตีจากคนเลวที่จ้องรังควาญไว ๆ เช่นกัน
"ยังเด็กไป อย่าดื่มเลย" เจ้ารตีหัวเราะ "ไว้โตก่อนเถอะ จักรเทพ"
ความคิดเห็น