ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    สนทนาภาษาศาสตร์

    ลำดับตอนที่ #2 : วิวัฒนาการทางภาษาของมนุษย์ (๑)

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 8.36K
      17
      21 ก.ค. 48

    บทนำ



              ภาษาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก  เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเหนือกว่าบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  ในฐานะของมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมสามารถที่จะเรียนรู้ เข้าใจทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมได้ผ่านทางระบบภาษา  ภาษาจึงอยู่ในฐานะผู้รับใช้สติปัญญาของมวลมนุษย์  กระนั้นก็ตาม  ด้วยความยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลของมัน  ทำให้ภาษาที่ควรจะอยู่ในฐานะที่ต่ำกว่ามนุษย์นั้น  กลับมีความสำคัญมากจนกระทั่งมันกลับมาสร้างกรอบความคิด จินตนาการ  และขยายไปถึงการควบคุมสังคมมนุษย์  รวมทั้งชี้แนวทางและกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบวัฒนธรรมสังคม  จึงอาจกล่าวได้ว่าสังคมมนุษย์ได้ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของภาษาอย่างเต็มรูปแบบ





    ๑. วิวัฒนาการทางภาษาของมนุษย์



              หนึ่งในฉากแห่งประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความเป็นอารยะของมวลมนุษย์เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใดในโลกนี้   คือการที่มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันโดยผ่านความเข้าใจทางสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า ภาษา  ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในด้านการดำรงชีวิตประจำวันรวมไปจนถึงการศึกษาหาความรู้และพัฒนาสังคม  เพราะภาษาไม่เพียงแต่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจโลกได้กว้างขวางขึ้นเท่านั้น  แต่ยังมีอิทธิพลต่อความคิดและจินตนาการของมนุษย์อีกด้วย



              กล่าวถึงความเป็นมาของภาษาในอดีตกาล  คงต้องนับกันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  ตั้งแต่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำหรือตามป่าเขา  มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มักจะอยู่เป็นหมู่เป็นพวก  ทั้งนี้เพื่อตอบสนองปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต  เพราะแต่ละบุคคลย่อมมีทักษะความสามารถแตกต่างกัน  การอยู่ร่วมกันจะช่วยให้กระทำการต่างๆได้ดียิ่งขึ้น  และเมื่ออยู่รวมเช่นนี้สิ่งสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้ก็คือการที่ต้องติดต่อสื่อสารกันให้เข้าใจระหว่างสมาชิกในกลุ่มสังคมเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ  ลักษณะอย่างนี้ในชั้นแรกเข้าใจว่าคงเป็นการส่งเสียงสัญญาณอะไรบางอย่างเป็นจังหวะและระดับที่แตกต่างประกอบกับท่าทางบอกความหมายที่เข้าใจระหว่างกัน เช่น อาจจะออกเสียงว่า “อูก๋า อู่ก้า” ประกอบกับท่าทางคล้ายการกินอาหาร ก็เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า “กินข้าว” หรืออาจส่งเสียงว่า “บาบ๋า” แล้วชี้ไปที่ต้นไม้ ก็เข้าใจว่าหมายถึง “ต้นไม้”  อย่างนี้เป็นต้น  แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ทั้งโลกจะต้องออกเสียงและแสดงท่าทางเช่นนี้ทั้งหมด  ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและความเข้าใจของแต่ละกลุ่มด้วย  ในภูมิสังคมหนึ่งอาจแสดงออกอย่างนี้  ในขณะที่อีกภูมิสังคมหนึ่งอาจมีการแสดงออกที่แตกต่างกันออกไป  จะเป็นอย่างไรก็ได้  ไม่จำกัด  ขอเพียงแต่เข้าใจกันในหมู่พวกของตนเป็นพอ



              เมื่อมนุษย์รู้จักการแสดงออกอย่างนี้  ครั้นพอนานเข้าก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  การแสดงออกเริ่มมีแบบแผนที่ชัดเจน  กลายเป็น ภาษาตามที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม  เป็นรูปแบบที่กำหนดให้คนในสังคมนั้นๆทุกคนที่ต้องการสื่อสารต้องแสดงออกด้วยเสียงและกริยาอย่างแบบเดียวกันจึงจะเข้าใจกัน  หากใครทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป  การสื่อสารก็ไม่ประสบผลสำเร็จ  จัดว่าเป็นการวางกฎเกณฑ์สังคมขึ้นภายใต้ระบบของภาษาให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติตาม  และในขณะเดียวกันก็เป็นการแยกกลุ่มพวกได้อีกด้วย  เพราะหากใครที่สื่อสารด้วยวิธีที่ต่างกันก็เป็นอันรู้ว่าไม่ใช่กลุ่มพวกของตน





    ภาษาพูด



              มนุษย์พัฒนาภาษาพูดขึ้นมาก่อน  เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการติดต่อสื่อสารยุคแรกจำกัดอยู่ในกลุ่มสังคมเล็ก  พูดคุย ส่งเสียง ป่าวร้องหรือตะโกนถึงกันได้โดยง่ายและฟังเข้าใจทันทีในกลุ่มของตน  อีกทั้งการออกเสียงยังเป็นกริยาที่ง่าย  ไม่ซับซ้อนอะไรนัก  ระบบภาษาในอดีตจึงเริ่มพัฒนาขึ้นจากคำพูด  ด้วยการกำหนดเสียงขึ้นแทนความหมายของสิ่งต่างๆที่รู้จัก  มีทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า “ทฤษฎี โฮ่ง โฮ่ง – Bow Wow Theory”  ทฤษฎีนี้สันนิษฐานที่มาของคำต่างๆ  โดยให้ความเห็นว่า “คำที่มนุษย์ใช้สื่อสารในยุคแรกๆของภาษาพูดนั้นเป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติ”  แต่ทฤษฎีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายทฤษฎีที่เสนอขึ้น  สามารถอธิบายที่มาของคำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น  ไม่ใช่ทั้งหมด  ยังมีทฤษฎีอื่นอีกหลายทฤษฎีที่มีความเห็นตามหรือขัดแย้ง  ซึ่งคงจะกล่าวในหัวข้อต่อไป



              ไม่มีใครยืนยันได้แน่นอนว่า  มนุษย์เปลี่ยนมาใช้ภาษาพูดอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกเมื่อไร  แต่สิ่งที่ต้องเข้าใจกันตรงนี้คือ  คำต่างๆไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในคราวเดียวกัน  กล่าวคือ  คำต่างๆที่มีใช้ในแต่ละกลุ่มสังคม  ไม่ว่าจะเป็นชื่อนาม กริยา คุณศัพท์ ฯลฯ  ที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป  ไม่ได้มาจากการกำหนดขึ้นแบบปุบปับทันทีทุกคำโดยใครเพียงผู้เดียว  แต่เกิดขึ้นผ่านการยอมรับในสังคมมายาวนานกว่าจะเป็นคำกลางที่ใช้สื่อสารร่วมกันได้ทั้งกลุ่ม  หรืออย่างที่นักภาษาศาสตร์เรียกว่า “ภาษาเดิร” (สะกดตามอักขระเดิม)  ซึ่งการจะยอมรับได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยผลักดันทางความเชื่อและวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆเป็นตัวกำหนดด้วย  คำใดที่ใช้หากไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มก็จะหายไป  ไม่นำมาใช้  เรียกว่า “ภาษาตาย”  แต่หากคำใดเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง  คำนั้นก็จะยังคง “มีชีวิต” ต่อไป  ฉะนั้น การกล่าวว่า “มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้กำหนดเรียกชื่อของสิ่งต่างๆในโลกทั้งมวล  ทุกอย่างจึงมีชื่อตามที่บุคคลผู้นั้นต้องการ” จึงเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผล



              เมื่อมีการใช้ภาษาพูดอย่างเป็นธรรมดาทั่วไปแล้ว  คำต่างๆก็เริ่มหลากหลายขึ้นตามกาลเวลา  จากคำพื้นๆก็เริ่มซับซ้อนขึ้นโดยสัมพันธ์กับความเชื่อ วัฒนธรรมและสติปัญญาของสมาชิกในสังคมนั้นๆ  คำใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา  มีการแบ่งระดับของคำที่ใช้กับบุคคล  สร้างอารมณ์ความรู้สึกให้กับคำ  บางคำกำหนดใช้กับสิ่งสามัญ  บางคำกำหนดใช้กับสิ่งวิสามัญ  มีการก่อร่างสร้างตัวของแบบแผนการใช้ภาษาจนกลายเป็นระเบียบไวยากรณ์  ทั้งที่ง่ายและยากขึ้นตามลำดับ  แตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสังคม



              และเมื่อสังคมมีการพัฒนามากขึ้น  มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มที่ต่างกัน  ก็ทำให้ภาษาเกิดความหลายหลายมากขึ้น  มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงคำศัพท์ที่ใช้อยู่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย  มีการรับเอาคำภาษาอื่นเข้ามาใช้ทั้งในเฉพาะเรื่องและในชีวิตประจำวัน  ยกตัวอย่างในภาษาไทย  ผู้ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตของราชสำนักสยามควรจะมีความรู้ทักษะในการใช้ภาษาทั้งสิ้น ๘ พากย์ภาษาด้วยกัน  ดังนี้

                        สยามพากย์                    คือ        ภาษาไทย

                        กัมพุชพากย์                   คือ        ภาษาเขมร

                        ชวาพากย์                      คือ        ภาษาแขก

                        มคธพากย์                     คือ        ภาษาบาลี

                        หริภุญไชยพากย์             คือ        ภาษาลาวพุงดำ (ลาวเหนือ)

                        สํสกฤตพากย์                 คือ        ภาษาพราหมณ์โบราณ

                        สิงหลพากย์                   คือ        ภาษาลังกา

                        ตะเลงพุกามพากย์           คือ        ภาษามอญพม่า



    ทั้ง ๘ พากย์นี้  พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย  อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เป็นโคลงสี่สุภาพไว้ให้ง่ายต่อการจดจำ  ดังนี้ *



                          ๏    คำสังกฤษฎเค้า          คำพราหมณ์

                        คำแขกมคธสยาม               ย่อม้วน

                        สิงหฬเตลงภุกาม                กัมพุช

                        หริภุญไชยถ้วน                  พากย์ตั้งแต่เดิม



                          ๏    คำสยามมคธเค้า        กัมพุช

                        คำแขกคำลาวอุดร์              ศักคล้ำ

                        สิงหฬม่านมอญวุฒ             พราหมณ์เก่า

                        แปดพากย์ยากฦกล้ำ           เลือกใช้ชิมลอง  ฯ

    (* สะกดตามอักขระเดิม)



              สังเกตได้ว่าทั้ง ๘ พากย์ภาษาที่กล่าวถึงนี้ล้วนแต่เป็นภาษาทางศาสนาหรือไม่ก็เป็นประเทศในแถบเพื่อนบ้านที่มีการติดต่อถึงกันเสมอ  ในภายหลังเมื่อมีการติดต่อกับทางยุโรป  คำศัพท์ยุโรปก็เข้ามาปนอยู่ในคำพูดของชาวสยามด้วย  จึงจัดเพิ่มขึ้นอีกพากย์หนึ่งคือ อิงคลิศพากย์ หรือ ประกฤตพากย์

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×