คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : ศึกษาบทนมัสการคุณานุคุณ (บทสวดพระธรรมคุณ)
บทสวดพระธรรมคุณ
ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาธร
ดุจดวงประทีปชัชวาล
แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมล
ธรรมใดนับโดยมรรคผล เป็นแปดพึงยล
และเก้านับทั้งนฤพาน
สมญาโลกอุดรพิสดาร อันลึกโอฬาร
พิสุทธิ์พิเศษสุกใส
อีกธรรมต้นทางครรไล นามขนานขานไข
ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง
คือทางดำเนินดุจครอง ให้ล่วงลุปอง
ยังโลกอุดรโดยตรง
ข้าขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง
ด้วยจิตและกายวาจาฯ
ศึกษาบทนมัสการพระพุทธคุณและพิจารณาคุณค่าการนำไปใช้
1. ความเป็นมา
แต่งขึ้นเพื่อระลึกถึงคุณของพระธรรม มีที่มามาจาก บทสวดนมัสการพระธรรม ภาษาบาลี
2. ประวัติผู้แต่ง
พระยาศรีสุนทรโวหาร นามเดิมของท่านคือ น้อย อาจารยางกูร เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 เป็นชาวฉะเชิงเทราโดยกำเนิด ท่านมีผลงานที่เด่นมากในวงการศึกษา ท่านเป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย ซึ่งในสมัยนั้น เรียกว่า "แบบเรียนหลวง" ใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (โรงเรียนหลวงแห่งแรก) และหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าอีกหลายเรื่อง งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กลองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง "รามเกียรติ์" รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง ท่านถึงแก่อสัญญกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2434
3. ลักษณะคำประพันธ์
กาพย์ฉบัง ๑๖
4. คำศัพท์ยากที่ปรากฏในคำประพันธ์
ธรรมะ คุณความดี
คุณากร ที่เกิดแห่งความดี
ชัชวาล สว่าง รุ่งเรือง
สาทร ดีแล้ว
ประทีป ไฟที่มีเปลวสว่าง
สันดาน อุปนิสัยที่ติดตัวมาแต่กําเนิด
กระจ่าง สว่าง ชัด
มรรค ทาง เหตุ
สมญา ชื่อ
พิสดาร กว้างขวาง ละเอียดลออ
พิสุทธิ์ บริสุทธิ์
ครรไล ไป
ปริยัติ การเล่าเรียนพระไตรปิฎก
โลกอุดร เหนือโลก
อุตมงค ศีรษะ
5. ถอดความคำประพันธ์
นมัสการพระธรรมคุณ กล่าวสรรเสริญธรรมะ ธรรมะคือที่เกิดแห่งความดี ซึ่งเป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าที่เปรียบเหมือนแสงสว่างในใจที่จะนำทางให้มนุษย์หลุดพ้นจากทุกข์ไปสู่ความสุข คือ นิพพาน
6. คุณค่าของคำประพันธ์
การศึกษาคำประพันธ์ บทนมัสการพระธรรมคุณนี้ ทำให้ตระหนักถึงคุณของพระธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะนำพาเราไปสู่ความดี หลุดพ้นจากทุกข์ไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง ที่เราทุกคนควรปฏิบัติตามพระธรรม ด้วยใจและการกระทำ
7. การนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
การกราบไหว้ บูชาพระธรรม และปฏิบัติตามพระธรรม เป็นสิ่งอันสมควรอย่างยิ่ง
ความคิดเห็น