มหาประทีปปัญญา 1 ประทีปแห่งดวงดาว - นิยาย มหาประทีปปัญญา 1 ประทีปแห่งดวงดาว : Dek-D.com - Writer
×

    มหาประทีปปัญญา 1 ประทีปแห่งดวงดาว

    นวนิยายอิงธรรมปรัชญา จากหลักการที่ว่า ดวงดาวให้แสง ประทีปให้ทาง ผ่านการดำเนินเรื่องโดยเณรน้อยทั้งสอง หลิงซิง และ ติงเซิน ในอารามไป๋ฟาง ท่ามกลางความลึกล้ำแห่งธรรมญาณ และคุณวิเศษแห่งอภิจิตอภิญญา

    ผู้เข้าชมรวม

    150

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    27

    ผู้เข้าชมรวม


    150

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    5
    จำนวนตอน :  62 ตอน (จบแล้ว)
    อัปเดตล่าสุด :  17 พ.ค. 67 / 01:41 น.
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

     มหาประทีปปัญญา เล่มที่ 1 นี้ ใช้ชื่อหนังสือว่า ประทีปแห่งดวงดาว จากหลักการที่ว่า “ดวงดาวให้แสง ประทีปให้ทาง” เนื้อหาธรรมญาณ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เรื่องราวของผู้เดินวิถีวิถีบำเพ็ญแห่งเมธาทัศนะ เป็นการเฉพาะ อุปมาดังดวงดาว หรือ ดวงประทีป ที่ช่วยส่องแสงชี้นำทางให้ผู้อื่น ได้ก้าวเดินไปในหนทางที่เหมาะสม ตามปัญญาสภาพของแต่ละคน เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย แห่งสามัญทัศนะ ซึ่งเป็นทัศนะเดียว ที่จะช่วยปลดปล่อยทุกดวงญาณ ในแต่ละดวงจิต ให้เป็นอิสระจากทุกอิทธิพล และ การครอบงำ แห่งสรรพธรรมทั้งหลาย ทั้งสมมติและสัจจะ ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นทัศนะสุดท้ายที่ทุกดวงญาณ จะไปถึง แล้วถือเป็นจุดสิ้นสุดของการอภิวัฒน์ทั้งปวง

    เนื่องจาก เนื้อหาปรัชญาของซายน์ (Zinen) ใกล้เคียงกับธรรมปรัชญาในศาสนาพุทธ โดยเฉพาะนิกายมหายาน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ สำหรับมนุษย์ในสังคมโลกนี้ ผู้เขียนจึงใช้บรรยากาศของอาราม ภายในร่มเงาของพุทธศาสนา เป็นฉากหลังในการดำเนินเรื่อง เพราะเป็นที่คุ้นเคยกันอยู่เป็นปกติในสังคมโลก เพียงแต่เน้นย้ำในส่วนของมหาปรัชญาที่ใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างความคุ้นเคยย้อนกลับมายังหลักปรัชญาของซายน์ อีกทอดหนึ่ง เรื่องราวทั้งหมดจึงเริ่มต้นขึ้นที่อารามเล็กๆ ที่มีนามว่า ไป๋ฟาง (ทางไปสีขาว) ที่เป็นหนึ่งในสถานปฏิบัติสมณะธรรมในนิกายมหายานของพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน โดยตั้งอยู่บนเนินเขาแห่งหนึ่ง คนละฟากฝั่งของแม่น้ำเหวย ตรงข้ามกับเมืองซาอาน

    สำหรับตัวละครหลักคนแรกก็คือ เด็กขอทานจรจัด ที่ภายหลังบวชเป็นสามเณร ได้รับฉายาว่า หลิวซิง (ดาวพเนจร) เพราะความที่เป็นคนชอบเดินทางไม่ค่อยอยู่ติดที่ ร่อนเร่รอนแรมมาตั้งแต่เด็กจนอายุได้เกือบสิบห้าปี จึงมาถึงอารามไป๋ฟางแห่งนี้ และได้บวชเรียนอยู่ศึกษาพระธรรม ไม่ต้องรอนแรมไร้ที่พักพิงอีกต่อไป หลิวซิงเป็นคนร่าเริงไม่คิดมาก อาจเป็นเพราะต้องผจญชีวิตตามลำพังมาแต่เล็ก จึงทำให้มุมมองชีวิตของเขา เป็นคนที่ยอมรับความเป็นจริงทุกสิ่งที่จะบังเกิดขึ้น ปกติจึงชอบหลีกเร้นปลีกวิเวก ชอบใช้เวลาอยู่ตามลำพังในโลกส่วนตัว ไม่สุงสิงกับผู้คน และยอมรับชะตากรรมของตนด้วยความสงบ

    ตัวละครหลักคนที่สองคือ สามเณรน้อยที่มีนามว่า ติงเซิน (ผู้ตามประทีป) เขาเป็นเด็กหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกับหลิวซิง แต่กลับมีอุปนิสัยที่ตรงกันข้าม ขณะที่หลิวซิงชอบแต่สนุกสนานร่าเริงไปวันๆ แต่ติงเซินกลับเป็นคนจริงจัง ชอบที่จะเรียนรู้ศึกษา และมีปฏิปทาที่มุ่งมั่น เมื่อตัดสินใจสิ่งใดแล้วก็ยากจะเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งสองก็มีส่วนที่เหมือนกันอยู่คือ พื้นฐานจิตใจที่อ่อนโยน ชอบช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก และลำบากกว่าตน ติงเซินแม้จะบวชเรียนเป็นสามเณร อยู่ศึกษาพระธรรมคำสอน แต่ก็มีชาติตระกูลมาจากคหบดีที่มีฐานะมั่งคั่งภายในเมืองซาอาน เขาเข้ามาบวชด้วยใจศรัทธา และมุ่งมั่นจะศึกษาทำความเข้าใจ พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ติงเซินได้รับหน้าที่ให้เป็นคนคอยดูแลประทีป โคมไฟ และตะเกียงทั้งหมดที่ใช้จุดบูชาอยู่ภายในวิหาร ซึ่งประดิษฐานพระพุทธะโพธิสัตว์ทั้งหลาย ด้วยความที่เป็นคนมีความรับผิดชอบสูง จนกลายมาเป็นฉายาของเขา

    ขณะที่หลิวซิงจะคอยช่วยเหลือในภาระการงานต่างๆ ของติงเซิน มักจะติดตามติงเซินไปเข็นรถรับของที่ชาวบ้านบริจาคให้ จากในหมู่บ้านใกล้เนินเขาที่ตั้งอาราม จึงทำให้ทั้งสองใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก กระทั่งดวงชะตาได้นำพาทั้งสอง ให้เข้ามาสู่วังวนที่สุดแสนพิศดาร หากมองจากสายตาของปุถุชน คือความสามารถในการสื่อสารกับ บรรดามวลมหาปัญญาอันยิ่งใหญ่ ซึ่งได้เมตตามอบคำสอนสั่ง และตอบปัญหา พร้อมคำชี้แนะที่ทรงคุณค่า เพื่อพัฒนาจิตเดิมแท้ของเณรน้อยทั้งสองให้ก้าวล่วงสู่ วิถีแห่งความหลุดพ้นอันเที่ยงแท้

    ตัวละครหลักอีกคนที่ไม่อาจละเลย ก็คือท่านไต้ซือ ฟาถู (ผู้สวมมงกุฏแห่งปัญญา) ท่านเป็นเจ้าอาวาสอารามไป๋ฟางแห่งนี้ ทั้งยังเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั่วไป ไต้ซือฟาถูเป็นคนเข้มงวดจริงจังหากเป็นการปฏิบัติธรรม ท่านจะไม่ยินยอมให้หาข้ออ้างหลีกเลี่ยงเป็นอันขาด แต่ถ้าเป็นเรื่องปกติทั่วไป ท่านก็จะเป็นเหมือนพระเถระอารมณ์ดี คุยสนุก และที่สำคัญเป็นผู้ทรงภูมิธรรมและปัญญาญาณ ที่หาผู้เสมอเหมือนได้ยาก มีความจัดเจนในหัวข้อธรรมญาณ อย่างถ่องแท้และแจ้งชัด สามารถโต้ตอบปัญหาธรรมได้ทุกเรื่อง และให้คำอรรถาธิบายได้ทั้งแบบเรียบง่ายและพิสดาร

    โดยเฉพาะในเรื่องพื้นฐานจิตใจ ท่านเป็นคนใจดีมีเมตตา ชอบที่จะช่วยเหลือเผื่อแผ่ผู้ตกทุกข์ได้ยากทุกเมื่อ และหลังจากสังเกตุเห็นว่าเด็กน้อยขอทานมักจะตามติดติงเซินเป็นประจำ คอยอาสาช่วยงานติงเซินอยู่บ่อยครั้ง ท่านจึงชวนให้ขอทานน้อยบวชเป็นสามเณร สองสหายหลิวซิงและติงเซิน จึงได้อยู่อาศัยร่วชายคาในอารามไป๋ฟางนับแต่นั้นเป็นต้นมา ขณะที่ติงเซินจะพักอาศัยอยู่ที่ อาคารเดียวกับท่านเจ้าอาวาส เพื่อคอยอุปฐากดูแลเป็นปกติ แต่หลิวซิงนั้นรู้สำนึกเจียมตน และขอไปพักอาศัยอยู่ในอาคารเก็บของ โดยอาสาเฝ้าของไปในตัว

    บุคคลทั้งสามนี้ จึงกลายเป็นตัวละครพื้นฐานในการดำเนินเรื่องของนวนิยายอิงธรรมญาณเรื่องนี้ สำหรับตัวละครประกอบอื่นๆ ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ เพียงแต่มิได้ปรากฏเป็นเนื้อหาหลักในทุกบท จึงจะขอยกยอดไปแนะนำตัวในแต่ละเหตุการณ์ ที่พวกเขาเหล่านั้นมีบทบาทร่วมอยู่ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านก็คงพอเข้าใจได้บ้างแล้วว่า ที่มาของชื่อเรื่อง ประทีปแห่งดวงดาว นั้นมีความเป็นมาจากการผนวกรวมเอาบทบาทของตัวละครหลักคือ เณรน้อยทั้งสองคนเข้าด้วยกัน หนึ่งประทีป หนึ่งดวงดาว เพราะทั้งสองเป็นผู้ที่ทำให้เรื่องราวต่างๆ ดำเนินไป ตั้งแต่ต้นจนจบ และเป็นผู้ที่นำพาเอาแสงสว่างแห่งปัญญาญาณ มาเผยแผ่แก่ตนเองและผู้อื่น ดังคำกล่าวที่ยกมาข้างต้น เมื่อทั้งประทีปและดวงดาวมาอยู่รวมกัน จึงย่อมให้ทั้งแสงสว่างและเส้นทางอันเหมาะสม เพื่อก้าวเดินสู่วิมุติสุขอันสันติเป็นนิรันดร์
     

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น