ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบนเส้นทางสายปฏิวัติ - ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบนเส้นทางสายปฏิวัติ นิยาย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบนเส้นทางสายปฏิวัติ : Dek-D.com - Writer

    ประวัติศาสตร์การเมืองไทยบนเส้นทางสายปฏิวัติ

    บทความสั้นพิเศษจ้า

    ผู้เข้าชมรวม

    596

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    1

    ผู้เข้าชมรวม


    596

    ความคิดเห็น


    0

    คนติดตาม


    0
    เรื่องสั้น
    อัปเดตล่าสุด :  22 ก.ย. 49 / 13:17 น.


    ข้อมูลเบื้องต้น
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

      ประวัติศาสตร์การเมืองไทย บนเส้นทางสายปฏิวัติ

      บนเส้นทางอันยาวนานของประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีหลายต่อหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์หักเหออกจากเส้นทางตามระบอบประชาธิปไตย มีการใช้กำลังทางทหารยึดอำนาจทางการเมืองโดยการปฏิวัติ รัฐประหาร และปฏิรูปหลายต่อหลายครั้ง บ้างสำเร็จ บ้างล้มเหลว แต่ก็สร้างผลสะเทือนต่อโฉมหน้าการเมืองไทยมิใช่น้อย

      "ผู้จัดการปริทรรศน์" จะพาไปย้อนรอยเส้นทางการปฏิวัติในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย ก่อนมาถึงฉากสุดท้ายของการโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ"

      ย้อนรอย 'ทหาร' ผู้ก่อการ

      'กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร' โดยสาระสำคัญแล้ว การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมากมักจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะเพียงรัฐบาล แต่หากรัฐบาลใหม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองโดยสิ้นเชิงถือเป็นการ 'ปฏิวัติ' และหากการยึดอำนาจครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า 'รัฐประหาร' แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า 'กบฏ'

      เมื่อสืบย้อนไปยังหน้าประวัติศาสตร์เก่าๆ ของการเมืองไทย จะพบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายในลักษณะการปฏิวัติรัฐประหารมาตั้งแต่ก่อนสมัยที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียอีก

      เหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ในปี พ.ศ.2454 สมัยรัชกาลที่ 6 เสวยราชย์ได้เป็นปีที่ 2 มีคณะนายทหารที่เรียกว่า 'คณะ 130' (ตรงกับรัตนโกสินทร์ศก 130) ร่วมกันคิดการอันเป็นภัยต่อราชวงศ์ โดยซ่องสุมและคบคิดกันที่บริเวณย่านแพร่งสรรพศาสตร์ ซึ่งต่อมานายทหารกลุ่มนี้ก็ถูกจับกุมได้เสียก่อนลงมือกระทำการ คณะ 130 ถูกพิพากษาโทษลดหลั่นกันไป แต่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษทั้งหมด

      ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยได้เพียงปีเดียว ปีต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2476 คณะราษฎรที่นำโดย พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย นับเป็นการกระทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลและยึดอำนาจภายในกลุ่มคณะราษฎรด้วยกันเอง

      ในเดือนตุลาคม 2476 กองทัพจากหัวเมืองนำโดยพลเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร ในนามของ "คณะกู้บ้านเมือง" ยกทัพลงมาประชิดพระนคร และเข้ายึดสนามบินดอนเมือง เพื่อกดดันรัฐบาลของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาที่มีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการทหาร และถวายพระราชอำนาจคืนแก่พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ทรงพระราชทานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันแท้จริงให้แก่ทวยราษฎร์ ทว่าทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยินยอม มีการปะทะกันหลายแห่ง การนำทัพของพระองค์เจ้าบวรเดชเข้ามาล้มล้างรัฐบาล โดยเคลื่อนทัพมาจากนครราชสีมา สู้รบกันที่ทุ่งบางเขนจนถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามได้เด็ดขาด ได้กลายเป็นการกบฏ จนภายหลังเป็นที่รู้จักกันในนาม "กบฏบวรเดช"

      "กบฏนายสิบ" เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2478 ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

      กบฏที่โด่งดังที่สุดอีกครั้งหนึ่งคือ "กบฏพระยาทรงสุรเดช" เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2482 ผู้ที่คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม ซึ่งหากทำสำเร็จจะนับเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ของการเมืองไทย นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร

      ต่อมาคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

      ในปีถัดมา นับเป็นปีที่การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยที่สุด เริ่มตั้งแต่ต้นปีได้มี กบฏแบ่งแยกดินแดน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2491 จะมีการจับกุมส.ส.ของภาคอีสานหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์, นายถวิล อุดล, นายเตียง ศิริขันธ์, นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฎรมีเอกสิทธิทางการเมือง

      เพียงหนึ่งเดือนเศษหลังจากนั้น คือวันที่ 6 เมษายน 2491 คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป และนำมาสู่ "กบฏเสนาธิการ" 1 ตุลาคม 2491 ซึ่งพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจับกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

      26 มิถุนายน 2492 นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง ความพยายามยึดอำนาจครั้งนั้นถูกเรียกว่า "กบฏวังหลวง"

      29 มิถุนายน 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ และในวันที่ 29 พฤศจิกายนของปีเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้

      ในยุคที่โลกตกอยู่ในภาวะสงครามเย็น และประเทศไทยเป็นยุคของอัศวินตำรวจ รัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการกระทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นับเป็นรัฐบาลทหารที่ประกาศเดินหน้าดำเนินโยบายทำสงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ ด้วยการรื้อฟื้นกฎหมายคอมมิวนิสต์ 2495 และกวาดจับผู้มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในนาม "กบฏสันติภาพ" ในปี พ.ศ.2497

      16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

      "กงล้อประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้หมุนกลับหลังไปอีกแล้ว" แคล้ว นรปติ ผู้อาวุโสทางการเมือง ได้กล่าวถึงสภาพการณ์ภายหลังการปฏิวัติเงียบของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เมื่อคณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

      17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการรัฐประหารตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

      จุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์เดือนตุลา

      การปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

      ทว่าดอกไม้ประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานก็ต้องหยุดชะงักลง เมื่อพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519 เนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาพลเรือเอกสงัดก็ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520

      กบฏ 26 มีนาคม 2520 พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

      กบฏยังเติร์ก 1 เมษายน 2524 พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

      รัฐประหารชั่วโมงเดียวของ รสช.


      การรัฐประหารที่อยู่ในความทรงจำอันแจ่มชัดของคนไทยที่สุด เห็นจะเป็นการรัฐประหารของคณะรสช. หรือคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เพราะผลพวงที่ติดตามมาจากการรัฐประหารครานั้นได้กลายเป็นบาดแผลฉกรรจ์ทางการเมืองไทยโดยไม่มีใครคาดคิด

      ภายหลังจากที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศจะนำ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบกและรองนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่ง นับเป็นการจุดกระแสความไม่พอใจต่อทั้งกลุ่มนายทหารและนักการเมืองหลายฝ่าย

      โดยกำหนดการเข้าเฝ้าคือเวลา 13.00 น. ของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ในคืนวันที่ 22 ก.พ. เวลาประมาณเที่ยงคืน ได้มีรายงานจากวิทยุข่ายสามยอดของกองปราบปรามรายงานว่า 'ป.1' อันหมายถึง พล.ต.ต.เสรี เตมียเวส ผู้บังคับการกองปราบได้เดินทางถึงหน่วยคอมมานโด ที่ซอยโชคชัย ลาดพร้าว และสั่งให้กองปราบเตรียมพร้อม เพราะมีข่าวว่าอาจมีการปฏิวัติเกิดขึ้น ทว่าภายหลังได้มีการแจ้งยกเลิกการเตรียมดังกล่าว เพราะตรวจสอบไม่พบความเคลื่อนไหวของหน่วยกำลังใดในคืนนั้น

      และยังมีรายงานด้วยว่าในคืนดังกล่าวพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ได้ไปรับประทานอาหารค่ำที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ห้องใกล้เคียงกับที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่ง ไปรับประทานอยู่ด้วยเช่นกัน โดยภายหลัง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า ใช้เวลาตัดสินใจเพียงแค่ชั่วโมงเดียว!

      จากบทความ 1 ปี รสช. โดยวุฒิชาติ ชุ่มสนิท หรือบินหลา สันกาลาคีรี อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายงานว่า เดิมทีทหารเตรียมการจะจับตัว พล.อ.ชาติชาย และพล.อ.อาทิตย์ ที่สนามบินกองทัพอากาศ (บน.6) ในเวลา 19.30 น. ภายหลังจากการเข้าเฝ้า พร้อมกับการเคลื่อนกำลังทหารเข้ายึดจุดสำคัญทั่วกรุงเทพฯ แต่แผนกลับเปลี่ยนแปลงในเช้าวันนั้น

      นายทหารที่ร่วมปฏิบัติการอันเป็นแผนที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปตลอดกาล ในเวลา 11 นาฬิกาของเช้าวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นั้น ส่วนใหญ่เป็นทหารอากาศ เมื่อ พล.อ.ชาติชาย และพล.อ.อาทิตย์ เดินทางถึงห้องรับรองพร้อมหน่วยรักษาความปลอดภัยประมาณ 20 นาย ก่อนที่จะขึ้นเครื่องบินซี 130 ที่จอดพร้อมอยู่แล้ว ทั้งสองได้ถูกแยกไปนั่งบริเวณที่นั่งวีไอพี ส่วนหน่วย รปภ.ถูกแยกไปอยู่ตอนท้ายเครื่อง

      ทันทีที่เครื่องบินซี 130 เคลื่อนตัว ทหารสองนายในชุดซาฟารีสีน้ำตาลก็กระชากปืนพกจากเอว ควบคุม รปภ.ทั้ง 20 คนเอาไว้ เครื่องบินลดความเร็วลง พล.อ.ชาติชายถูกควบคุมตัว การปฏิบัติการเป็นไปตามแผนที่วางไว้ การปฏิวัติสำเร็จแล้ว !

      จากนั้น ทหารบกจำนวน 2 กองทัพได้เคลื่อนออกประจำจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ พล.อ.เกษตร โรจนนิล ออกจากกองทัพอากาศ สมทบกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกแถลงการณ์กับประชาชน โดยให้เหตุผลในการยึดอำนาจครั้งนั้นว่า เนื่องจากพฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวงของคณะผู้บริหารประเทศ ที่แสวงหาผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง อีกทั้งข้าราชการการเมืองบางคนยังได้ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต ผู้ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือนักการเมือง ประการต่อมาคือรัฐบาลกระทำตัวเป็นเผด็จการรัฐสภา ทำลายสถาบันทางทหาร ซึ่งนับเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง และประการสุดท้ายที่ค่อนข้างจะเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงนั้น คือ การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ !

      เหตุดังกล่าวเนื่องมาจาก เมื่อปี 2525 พล.ต.มนูญ รูปขจร และพรรคพวก ได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรีเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่รูปแบบที่ตนเองและคณะได้กำหนดไว้ แต่ไม่สำเร็จและถูกจับกุมในที่สุด แต่กลับได้รับการช่วยเหลือจากผู้มีอิทธิพลทางการเมืองให้ได้รับการประกันตัวจนสามารถก่อความไม่สงบได้อีกถึง 3 ครั้ง ครั้งที่นับเป็นการกบฏคือ กบฏทหารนอกราชการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528

      ซึ่งภายหลังจากการออกแถลงการณ์ดังกล่าว รสช. ก็เดินหน้ายึดทรัพย์นักการเมือง ทว่ารัฐบาลที่มีอายุเพียง 1 ปีของ รสช. ก็ต้องประสบกับอุปสรรคในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยจากประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีการให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหารับใช้การสืบทอดอำนาจของรัฐบาล รสช. อันนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่กลายเป็นชนวนเหตุของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในเวลาต่อมา

      การปฏิวัติครั้งสุดท้าย?

      กลับมาสู่การปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นสดร้อนๆ บรรยากาศแห่งความอึมครึมเกิดขึ้นตลอดทั้งวันอังคารที่ 19 กันยายน และนับเป็นการปฏิวัติที่แปลกที่สุดในโลกเมื่อประชาชนพากันโทรศัพท์แจ้งข่าวกันตลอดทั้งวันว่า ทหารจะปฏิวัติ แต่สถานการณ์ก็ยังสับสนว่า ฝ่ายไหนจะเป็นผู้กระทำ จนกระทั่งเวลา 22.15 น. กลายเป็นฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. ประกาศภาวะฉุกเฉิน รัฐประหารตัวเอง มีคำสั่งปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกออกจากตำแหน่ง พร้อมกับมีคำสั่งให้มารายงานตัวต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยได้แต่งตั้ง พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบในสถานการณ์ฉุกเฉิน

      เวลา 22.30 น. ทหารจำนวนหนึ่งได้บุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล พร้อมด้วยรถถังประมาณ 10 คัน และรถฮัมวี่ 6 คัน กระจายกำลังเข้าควบคุมตามจุดต่างๆและให้ตำรวจสันติบาลและสื่อมวลชนออกจากทำเนียบรัฐบาล โดยทหารทั้งหมดมีสัญญลักษณ์ปลอกแขนสีเหลือง

      จนกระทั่งเวลา 23.00 น.คณะนายทหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้พล.ต.ประพาส ศกุนตนาถ ออกมาอ่านคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ฉบับที่ 1 ว่า ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครไว้ได้หมดแล้ว และไม่ได้มีการขัดขวางจากฝ่ายทหารที่สนับสนุนพ.ต.อ.ทักษิณจึงขอประชาชนให้ความร่วมมือ และนับเป็นประกาศคณะปฏิวัติที่สุภาพที่สุดด้วย เมื่อมีท้ายแถลงการณ์ด้วยว่า "ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ด้วย"

      จากนั้นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ประกาศกฎอัยการศึกและยกเลิกคำสั่งประกาศภาวะฉุกเฉินของ พ.ต.ท.ทักษิณพร้อมเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

      ทั้งนี้มีรายงานว่า หลังจากที่ประชาชนทราบเหตุการณ์ว่า ทหารได้ทำรัฐประหารซ้อนยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณเรียบร้อยแล้ว ประชาชนจำนวนมากได้ออกจากบ้านมาแสดงความยินดี เช่นเดียวกับประชาชนที่ใช้รถสัญจรผ่านไปมาตามเส้นทางที่มีรถถังตั้งอยู่ได้ลงจากรถมาโบกมือ ไชโยโห่ร้องให้กับทหาร พร้อมทั้งขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นจะนิยมการถ่ายรูปคู่กับทหารเป็นอย่างมาก ส่วนสถานการณ์ใกล้กับบ้านจันทร์ส่องหล้าของพ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงนั้น ทั้งบริเวณปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 และ 71 และรวมไปทั้งซอยจรัสลาภ ถนนสิรินธร มีทหารจาก ร.1 พัน 1 รอ.ประมาณ 30 นาย สวมชุดพรางอาวุธครบมือ พร้อมรถยีเอ็มซีจอดอยู่ ได้ตั้งจุดตรวจโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมตรวจด้วยอีกซอยละ 2 นาย พร้อมกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปด้านใน

      จากนั้นคณะปฏิรูปฯได้ออกมาแถลงการณ์ออกมาเป็นระยะๆ ถึงความจำเป็นในการเข้ายึดอำนาจเนื่องจากรัฐบาลทักษิณได้สร้างความแตกแยกขึ้นในบ้านเมือง มีการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง

      นอกจากนั้นคณะปฏิรูปฯได้ประกาศจะให้มีการปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นโดยเร็ว พร้อมเรียกร้องให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์ ร่วมเสนอแนวทางการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมายังสำนักงานเลขานุการกองทัพบก

      ปิดฉากรัฐบาลทรราชที่มาจากการเลือกตั้ง และยุติบทสุดท้ายของ "ระบอบทักษิณและลิ่วล้อ"

      ทีมข่าวปริทรรศน์ / ผู้จัดการ

      จาก
      www.rakbankerd.com

      ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

      loading
      กำลังโหลด...

      ความคิดเห็น

      ×