ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #93 : วังหน้า สมัยรัชกาลที่ 1

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 785
      2
      10 เม.ย. 53

     มีผู้ถามว่าบริเวณของวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้นแค่ไหน

                ที่จริงเคยเล่าผ่านไปผ่านมาหลายครั้งแล้ว

                ครั้งนี้ขอย้อนเล่าเรื่องวังหน้าสักเล็กน้อยก่อน

                เมื่อแรกสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในพระนิพนธ์ว่า ที่เรียกว่าวังหน้านั้นเพราะที่ตั้งอยู่หน้าวังหลวง

                แต่แล้วก็ทรงพระดำริว่า วังหน้านั้นมีทั้งพม่าซึ่งเรียกพระมหาอุปราชว่า อินแซะมินภาษาพม่า อินแปลว่า วัง’ ‘แซะแปลว่า หน้า’ ‘มินแปลว่า ผู้เป็นเจ้ารวมความว่าผู้เป็นเจ้าของวังหน้า ฝ่ายเมืองทางเหนือเช่น เมืองเชียงใหม่ เจ้าอุปราชก็เรียกกันในพื้นเมืองว่า เจ้าหอหน้ามาแต่โบราณ

                ดังนั้น จึงทรงวิเคราะห์สันนิษฐานว่า คำว่า วังหน้า (ตลอดจน วังหลวง และวังหลัง) น่าจะเกิดแต่ลักษณะการจัดทัพแต่โบราณมา ที่จัดเป็นทัพหน้า ทัฑหลวง (และทัพหลัง) พระมหากษัตริย์ย่อมเสด็จเป็นทัพหลวง ผู้ที่เป็นรองพระมหากษัตริย์ลงมาคือพระมหาอุปราช ย่อมเสด็จเป็นทัพหน้าไปก่อนทัพหลวงเป็นประเพณี จึงเกิดเรียกพระมหาอุปราชว่า ฝ่ายหน้า เรียกที่ประทับว่า วังฝ่ายหน้า แล้วเลยกลายเป็น วังหน้าโดยสะดวกปาก

                ส่วนที่มาเรียกวังหน้าว่า พระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสันนิษฐานว่า คงเรียกมาแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะครั้งที่พระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาของสมเด็จพระนารายณ์ฯขึ้นครองราชย์ ทรงตั้งพระนารายณ์ฯ

    เป็นพระมหาอุปราช เสด็จไปประทับวังหน้าตามตำแหน่ง ต่อมาเกิดรบพุ่งกันกับพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีชัยได้ราชสมบัติ แต่ก็เสด็จประทับอยู่วังหน้าต่อมาอีกหลายปี ซึ่งคงเรียกวังหน้าว่า พระราชวังบวรสถานมงคลในตอนนี้ และเมื่อเสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรวังหลวงแล้ว ก็มิได้ทรงตั้งผู้ใดเป็นมหาอุปราชไปประทับยังพระราชวังบวรสถานมงคลอีกเลยจนตลอดรัชกาล

    พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ พระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้ารัชกาลที่ ๔ ต้นสกุล จรูญโรจน์

    พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๓ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ ต้นสกุล อิศรศักดิ์

    พระราชโอรส วังหน้ารัชกาลที่ ๓ ประสูติแต่ พระอัครชายา พระองค์เจ้าดาราวดี พระธิดาใน วังหน้ารัชกาลที่ ๑
    พระราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระโอรสใน วังหน้ารัชกาลที่ ๕ ต้นสกุล รัชนี
    พระราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้ากาญจโนภาสรัศมี กรมหมื่นชาญไโชยบวรยศ ต้นสกุล กาญจนะวิชัย พระโอรส ใน วังหน้ารัชกาลที่ ๕

                และดังที่เคยเล่ามาแล้ว ว่า คำว่า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล(และ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข) นั้น บัญญัติเป็นทางการในรัชสมัยพระเทพราชา ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

                มีคำว่า กรมหมายถึงเป็นกรมสังกัดวังหน้า (และกรมสังกัดวังหลัง)

                สถานที่ประทับเรียกว่าพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า และพระราชวังบวรสถานพิมุขหรือวังหลัง เรียกเจ้านายตามสะดวกปากว่า วังหน้าดังที่เคยเรียกกันมาแต่โบราณ เพิ่ม วังหลังขึ้นอีกองค์หนึ่งเป็น วังหลังองค์เดียวในกรุงศรีอยุธยา แต่เป็นได้ไม่ยืดยาว พระเพทราชาทรงระแวงว่าจะคิดเอาราชสมบัติจึงจับสำเร็จโทษเสีย

                เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

                สมเด็จพระอนุชาธิราชได้เป็นพระมหาอุปราชวังหน้าตามท้องที่ของวังหน้าขณะนั้น

     คือแบ่งเขตปกครองกึ่งพระนครท้องที่ของวังหน้าจึงแบ่งกึ่งกลาง ตั้งแต่แนวถนนกลางสนามหลวง (ในปัจจุบัน) ที่ตรงกับถนนพระจันทร์ เป็นแนวไปจนประมาณวัดเทพธิดาโอบไปตามริมคลองบางลำพูจนจรดป้อมพระสุเมรุ (ต้องจินตนาการลงภาพถนนราชดำเนินกลางออกให้หมด นึกถึงแต่ภาพที่ยังเป็นป่าละเมาะรุกๆ มีคลองหลอดหรือคลองวัดเทพธิดาตัดจากคลองคูเมืองเดิมไปออกคลองรอบกรุงใหม่ แต่เวลานั้นยังไม่มีวัดเทพธิดา)

                ทีนี้เฉพาะพระราชวังบวรสถานมงคล

                อาณาเขตของพระราชวังบวรฯ นั้น ในสมัยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

                เอาเป็นว่าตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นไปทั้งแถบจนถึงโรงละครแห่งชาติ ล้วนแต่เป็นบริเวณวังหน้าทั้งสิ้น

                ด้านที่หันลงแม่น้ำคือด้านตะวันตก เป็นหลังพระราชวังบวรฯ เพราะพระราชวังบวรฯหันหน้าไปทางสนามหลวง (ปัจจุบัน) หันหลังให้แม่น้ำ แต่พระบรมมหาราชวัง สร้างหันหน้าไปทางเหนือ ด้านหลังจดวัดโพธิ์ หันข้างซ้ายไปทางแม่น้ำ

                ด้านหลังพระราชวังบวรฯติดแม่น้ำดังกล่าว จึงเอากำแพงพระนครเป็นกำแพงวังชั้นนอก

                ส่วนด้านหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๑ กำแพงวังล้ำเข้าไปในสนามหลวงปัจจุบันมีคูนอกกำแพง มีถนนหน้าวัง (อยู่ใกล้) ถนนราชดำเนินในปัจจุบัน แสดงว่าอาณาเขตวังล้ำเข้ามามาก)

                ด้านนี้ถนนที่เรียกกันว่าถนนหน้าพระธาตุในปัจจุบัน เดิมมีประตูวังสำหรับเสด็จออกไปวังหลวง ชื่อประตูพรหมทวาร ส่วนที่ล้ำออกไปในสนามหลวง (ปัจจุบัน) อยู่ระหว่างกำแพงวังชั้นนอกกับชั้นกลางนั้นเป็นโรงช้าง โรงม้า โรงปืนใหญ่ โรงหัดทหาร

                ทีนี้ด้านเหนือคือตรงโรงละครแห่งชาติ คือด้านติดคูเมืองเก่า มีกำแพงเมืองและมีถนนข้างคู ปลายถนนลงสู่ท่าช้างของวังหน้า ที่ยังเรียกกันว่าท่าช้างวังหน้าต่อๆ มา

                ส่วนด้านที่ติดถนนพระจันทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีกำแพงวังหน้า และมีคูตลอดกำแพงทั้งด้านนี้และด้านตะวันออก เอาเป็นว่าพระราชวังบวรฯนั้น มีน้ำล้อมรอบกำแพงพระราชวังชั้นนอกทั้ง ๔ ด้าน

                และที่เรียกว่า ถนนนั้น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นเพียงถนนแคบๆ พอให้กระบวนแห่พระราชยานผ่านได้ พื้นถนนยังปูด้วยอิฐจะแคง คือตะแคงเอาด้านข้างขึ้นปูให้ชิดๆ เพราะมั่นคงแข็งแรงกว่าปูเป็นแผ่นแบนๆ บนพื้นดิน

                สนามหลวงในสมัยนั้นเล็กกว่าสมัยนี้ เดิมเป็นทุ่งนาใช้ปลูกข้าวได้ เรียกกันว่าทุ่งพระเมรุ เพราะเป็นที่ทำพระเมรุพระบรมศพและพระศพ อยู่ระหว่างกลางวังหลวงวังหน้า เวลาทำพระเมรุจะกำหมดให้พระเมรุอยู่ตรงกลางพลับพลาวังหลวงตั้งข้างใต้ พลับพลาวังหน้าตั้งข้างเหนือเครื่องมหรสพของวังหลวงกับวังหน้าเล่นกันคนละฝ่ายสนาม

                ทุ่งพระเมรุนี้ในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯบัญญัติให้เรียกว่าท้องสนามหลวง คู่กันกับ ท้องสนามไชย (สนามชัย)

                ที่เล่ามานี้ คงพอจะจินตนาการกันได้ถึงบริเวณวังหน้า ซึ่งมีกำแพงวังชั้นนอก มีคูรอบกำแพงด้านใต้และตะวันออก

                วังหน้ามีกำแพงวัง ๓ ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง

                กำแพงชั้นนอกมีป้อมเป็นระยะเหมือนกัน มีอยู่ด้วยกัน ๑๐ ป้อม แต่ที่ได้ยินกันต่อๆ มาจนเป็นที่รู้จักกันดี คือป้อมพระจันทร์ กับป้อมพระอาทิตย์

                ประตูวังชั้นนอกรื้อหมดแล้วเช่นเดียวกับป้อม มีทั้งหมด ๑๕ ประตู ชื่อคล้องจองกัน แต่สันนิษฐานว่า คงจะมิใช่ประตูสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทั้งหมดอาจจะสร้างใหม่ขึ้นบ้าง ชื่อที่คล้องจองกันคงจะขนานนามในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นโปรดฯแปลงนาม ขนานนามหลายอย่างหลายประการให้ไพเราะ และมีความหมายขึ้นกว่าเดิม

                แต่ที่น่าเล่า คือประตูพระราชวังบวรฯ ชั้นกลางซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๘ ประตู มีชื่อคล้องจองเช่นกัน ดังนี้

                มหาโภคราช โอภาสพิมาน อลงการโอฬาร สุดายุรยาตร นาฎจรวี นารีจรจรัล สุวรรยาภิรมย์ อุดมโภไค

                ทั้งวังหลวงและวังหน้ามีประตูที่เรียกกันว่าประตูดิน และประตูผี เหมือนๆ กัน

                ประตูดินวังหน้า คือประตูนารีจรจรัล

                ประตูมีวังหน้า คือประตูสวรรยาภิรมย์

                ส่วนประตูดินวังหลวง คือประตูศรีสุดาวงศ์ เป็นประตูเข้าออกของฝ่ายในที่มิใช่เจ้านาย และสำหรับออกไปสู่เขตถนนที่อยู่ระหว่างกำแพงชั้นกลางกับชั้นนอก ซึ่งบริเวณนี้ ว่าเป็นที่ชุมนุมของพวกชาววังเวลาออกไป อุโมงค์หรือ ศรีสำราญดังที่ในหนังสือเรื่อง สี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายไว้ บรรดาบุรุษส่วนมากข้าราชการหนุ่มๆ มักจะมาคอยเกี้ยวพาราศีหรือดูตัวหญิงชาววังกันที่นี่

                ในเรื่องขุนช้างขุนแผน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ตอนหนึ่ง เป็นตอนที่พระพันวษาทรงพระพิโรธพวกทหารที่ไปจับขุนแผน แต่ต้องพ่ายแพ้ขุนแผนกลับมา ทรงบริภาษเกี่ยวไปถึงประตูดินว่า

     

                 อ้ายชาติหมากาลีเห็นขี้เสือ วิ่งแหกแฝกเฝือไม่แลเหลียว

    ดีแต่จะเย่อหยิ่งนั้นสิ่งเดียว  ลอยลากหางเกี้ยวประตูดิน

    หวีผมหย่งหน้าอ้ายบ้ากาม   ศึกเสือสงครามไม่เอาสิ้น

     

                ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เกิดสำนวนว่า เจ้าชู้ประตูดินสำนวนนี้มาจากท้าวศรีสัจจา (มิ) ซึ่งเป็นผู้ว่าการฝ่ายในพระราชวังที่ทำการของท่านอยู่ตรงประตูศรีสดาวงศ์ภายในคนทั้งปลงจึงเรียกท่านว่า ท่านเจ้าคุณประตูดิน

                 ลอยลากหางคือลักษณะการแต่งกายลำลองของหนุ่มเจ้าชู้ที่มาคอยเกี้ยวผู้หญิง คือไม่นุ่งโจง แต่ปล่อยหางกระเบน เรียกว่านุ่งลอยชาย พาดผ้าแตะไหล่สองไหล่

                ประตูผีนั้น ชื่อก็บอกอยู่ตรงๆ แล้วว่า เป็นประตูสำหรับเชิญพระศพเจ้านาย หรือนำศพเจ้าจอม ตลอดจนข้าราชการบริหารฝ่ายในออกไปทำพิธีภายนอก

              ประตูวังหลวงชั้นกลางที่เรียกกันว่าประตูผี คือประตูกัญญาวดี ส่วนชั้นนอก คือ ประตูพิทักษ์บวร สองประตูนี้มักจะปิดอยู่เสมอ นานๆ จึงจะเปิดในกรณีย์พิเศษดังกล่าว
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×