ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    100 อันดับ โลกต้องจารึก

    ลำดับตอนที่ #17 : ความลับของมังกร

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 11.88K
      8
      5 ธ.ค. 49


    ความลับของมังกร

     

                    เรื่องนี้น่าสนใจครับ ว่ากันว่าเป็นรูปถ่ายที่บังเอิญถ่ายติดบางสิ่งที่ดูเหมือนช่วงลำตัวของมังกรซะงั้น โดยเป็นภาพที่ถ่ายจากบนเครื่องบินเหนือภูเขาหิมาลายาประเทศทิเบต รูปนี้ดูเหมือนได้ถ่ายติดสิ่งแปลกประหลาดเข้ามาด้วย อยู่ 2 จุดด้วยกัน หลังจากพิจารณาดูแล้วพบว่ามันเหมือนมังกร สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของจีนนั่นเอง !

                                                                      
                    ดูช่วงรูปที่วงไว้ซิครับ อืม จะว่าไปก็คล้ายอยู่

                    อันนี้เป็นรูปขยายใหญ่ขึ้นมาหน่อย ดูรายละเอียดชัดเจนขึ้น โดยจากรูปจะเห็นได้ว่ามีสิ่งที่ออกจะคล้ายลำตัวของเลื้อยคลาน ลำตัวด้านบนจะมองเหมือนลักษณะท้องของสัตว์ประเภทงู ซึ่งมองดูคล้ายลำตัวเป็นปล้องและมีเกล็ดปกคลุมอยู่ด้านบน ส่วนลำตัวทางด้านล่างจะเห็นค่อนข้างชัดว่ามีลักษณะคล้ายครีบอยู่กลางลำตัว ทั้งสองสิ่งนั้นดูเหมือนส่วนปลายหางมากกว่าจะเป็นส่วนหัว

                    นับเป็นเรื่องแปลกดีอีกเรื่องนึงครับ เอามาให้ชมกันเล่นๆ อย่าไปคิดมากว่ามันจะมีจริงหรือไม่จริง ที่จริงอาจจะเป็นแค่รอยอะไรซักอย่างที่ภูเขา หรือาจจะเป็นกลุ่มเมฆหมอกอะไรสักอย่างก็เป็นได้ แต่ถ้ามีจริง ผมก็อยากจะเป็นหนึ่งในคนที่เห็นตัวเป็นๆ มั่งเหมือนกัน

        

                    เอ่ยคำว่ามังกรหรือ Dragon ขึ้นมา ใครๆก็ต้องร้องอ๋อกันทันที เพราะมังกรนี้เป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายคุ้นเคยกันมาแต่อ้อนแต่ออก เป็นสัตว์ในเทพนิยายของชนชาติต่างๆแทบทุกชาติภาษา เรียกว่าที่ใดมีอารยธรรมและตำนาน ที่นั้นก็ต้องมีมังกรอยู่เป็นของคู่กันอยู่เสมอๆ อย่าว่าแต่เทพนิยายเลยครับ นิยายวิทยาศาสตร์สมัยเองก็ยังมีเรื่องราวของมังกรโผล่ขึ้นมาสร้างความโอ่อ่าอลังการอยู่เป็นระยะๆ มังกรทั้งหลายมีคุณสมบัติร่วมกันอยู่มากมาย เรียกว่าคล้ายคลึงเป็นเซตเดียวกันได้แทบทั้งโลกเราอาจสรุปโดยรวมเกี่ยวกับเจ้าสัตว์ประหลาดมีปีกพ่นไฟได้ตัวนี้ได้ว่า

                    1. มันเป็นสัตว์ในเทพนิยายโดยแท้ ไม่มีอยู่จริง ซึ่งก็คือเหลวไหลทั้งเพนั่นเอง

                    2. เรื่องราวส่วนใหญ่เกี่ยวกับมังกรเป็นเรื่องของจินตนาการ ซึ่งคนโบราณได้รับแรงบันดาลใจมาจากสัตว์บางชนิด เช่นงู หรือสัตว์อื่นๆมันเคยมีอยู่จริงๆบนโลกนี้(โอ้ววว...)

                    ความเป็นไปได้มันมีอยู่แบบนี้ คนส่วนใหญ่เชื่อกันในแนวคิดที่หนึ่งและสอง นั่นคือเป็นเรื่องของจินตนาการ แต่สำหรับนายโซนิคเองน่ะเหรอครับ อืม... เขาดันมาเชื่อในแนวคิดที่สามน่ะสิ เหลวไหลดีไหมครับ?

                    อย่าหัวเราะไปสิครับ ผมไม่ได้บอกว่าในสมัยก่อนมีสัตว์ยักษ์ขนาดมหึมาบินว่อนไปร่อนมาบนท้องฟ้า เที่ยวแยกเขี้ยวคำรามไล่พ่นไฟเผาผลาญเมืองเสียที่ไหนกัน โอเคว่าตอนนี้เรามีหลักฐานเกี่ยวกับมังกรอยู่น้อยมาก นอกจากเรื่องเล่าต่างๆแล้ว ซากกระดูก ฟอสซิล หรือหลักฐานอื่นๆเกี่ยวกับมังกรนั้นเราแทบจะไม่เคยพบกันเลย มันเป็นเพียงแนวคิดที่บังเอิญผมเจอในหนังสือและเว็บไซต์สองสามแห่งเท่านั้น ซึ่งก็เอามาเล่าให้ฟังกันเล่นๆ

                    ว่ากันในเชิงชีววิทยาก่อน มันเป็นเรื่องยากลำบากที่จะหาทฤษฎีที่เป็นไปได้ที่จะอธิบายว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้มังกรบินได้ พ่นไฟได้ หรือแม้แต่คุณสมบัติพิเศษของเลือดมังกรที่ใครได้อาบได้กินแล้วจะส่งผลพิเศษตามมาอีกร้อยแปด โอเคครับ ตรงนั้นเราละไปก่อนก็ได้ เราลองมาใช้สมมุติฐานทางชีววิทยาอย่างง่ายๆกันดูไหมล่ะครับว่า เจ้ามังกรนี่มันเป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นมันจะต้องมีวิวัฒนาการแน่ๆ ตรงนี้แหละครับคือประเด็น มังกรจะต้องมีวิวัฒนาการอย่างไรจึงจะทำให้มันมีขนาดใหญ่โต บินได้ และพ่นไฟออกมาตามเทพนิยาย ความลับของมันน่าจะอยู่ที่คุณสมบัติสามประการต่อไปนี้คือ ขขนาดของมัน การพ่นไฟของมัน และท้ายสุด เลือดอันมีคุณสมบัติพิเศษ ของมังกรนั่นเอง

                    เรามาถกประเด็นแรกกันก่อน มันน่าคิดไหมล่ะครับว่า ตามเทพนิยายมังกรแต่ละตัวล้วนมีขนาดมหึมาด้วยกันแทบทั้งสิ้น แล้วเจ้าสัตว์มหึมานี้มันบินขึ้นได้อย่างไรโดยที่น้ำหนักตัวมหาศาลของมันไม่เป็นอุปสรรคเลยแม้แต่น้อย?

                    ปวดหัวจังแฮะคำถามนี้ แต่ก็ไม่น่าจะยากหากเราเปรียบเทียบกับสัตว์ปีกชนิดอื่นๆบนโลกนี้ (อย่าลืมนะครับเราตั้งอยู่บนทฤษฎีที่ว่า มังกรเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เทพมังกรหรือปีศาจมังกรอย่างในนิทาน) ซึ่งข้อมูลที่ได้มามันก็บอกอะไรเราหลายๆอย่างทีเดียว เป็นต้นว่า ในทุกๆหนึ่งตารางเซนติเมตรของปีกของห่านแคนาดามันสามารถยกน้ำหนักตัวมันเองได้สองกรัม ทำนองเดียวกันกับปีกนกนางแอ่นซึ่งยกได้ 132 กรัม นอกจากพวกนกแล้วความรู้ทางชีววิทยายังบอกเราอีกว่าแมลงภู่ยกได้ 1,125 กรัม ในกรณีของนกแก้วข้อแตกต่างก็คือ ลักษณะพิเศษของขนปีกซึ่งอากาศไหลผ่านจากปีกส่วนบนลงสู่ส่วนล่าง ทำให้เกิดความแตกต่างของความดันอากาศขึ้น โอ... ตามทฤษฎีการส้รางเครื่องบินเลยนะเนี่ยคุณนกแก้ว

                    แต่ก็คงจะตลกถ้ามังกรดันมีปีกที่มีขนเหมือนนก งั้นเราก็มาเปรียบเทียบกับแมลงภู่ดู หากว่าปีกของมังกรมีประสิทธิภาพเฉกเช่นปีกแมลงภู่แล้ว มันจะต้องใช้พื้นที่ปีก 720 ตารางเมตร เพื่อที่จะยกน้ำหนักตัวขนาดเก้าพันกิโลกรัมให้ทะยานขึ้นบนอากาศ ซึ่งปีกลักษณะนี้จะต้องมีความยาวจากปลายด้านหนึ่งถึงอีกด้านหนึ่งราว 150 เมตร แน่ล่ะว่านอกจากสัตว์ประหลาดในเรื่องอุลตร้าแมนแล้วไม่มีสัตว์ชนิดใดจะเป็นได้ขนาดนี้ ดังนั้นตัดประเด็นนี้ทิ้งไปได้เลยครับ

                    แต่ว่ามังกรมันดันบินได้ แถมไม่ได้เพียงแค่ถลาไปเหมือนเทอราโนดอน(ไดโนเสาร์ที่มีปีกเป็นพังผืด น่าจะเคยเห็นกันใน Jurassic Park) หรือด้วยอิทธิพลแบบคลื่นอัลเบอร์ทอส มังกรบินได้จริงๆอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จากตำนานต่างๆ มังกรสามารถบินข้ามมหาสมุทรได้ภายในเวลาไม่กี่วัน เอาล่ะครับ ตำนานนั้นอาจเชื่อได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะความเก่าที่เล่าสืบทอดกันมา อาจทำให้รายละเอียดผิดเพี้ยนไปบ้าง เราลองมาคิดกันอย่างมีเหตุและผลดู เอาเป็นว่าลองลดขนาดปีก  ของมังกรลงมาเหลือยาวราวสัก 6 เมตร ซึ่งหมายความว่าจากปลายปีกอีกด้านถึงด้านจะยาว 12 เมตร(ก็ยังคงตัวมหึมาอยู่) ตามหลักกลศาสตร์มันก็ยังคงบินไม่ขึ้นนั่นแหละ เพราะพื้นที่ของปีกหรือแรงยกที่จะทำได้ จะเพิ่มในลักษณะของกำลังสองในขณะที่มวลเพิ่มในลักษณะของกำลังสาม ขนาดยิ่งเล็กลงโอกาสที่จะบินได้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะสมมุติให้มังกรมีปีกที่มีประสิทธิภาพที่สุดในบรรดาสัตว์ที่เรารู้จักกัน ปีกของมันก็ยังจะทรงพลังจนเหลือเชื่ออยู่ดี เอ๊ะ แบบนี้ก็เหลือทางเดียวสิครับที่มังกรจะบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้โดยไม่อาศัยพลังปีก

                    ทางเดียวที่ว่านั้นก็คือ มังกรมีน้ำหนักหรือมวลที่น้อยมากไงครับ...


                       เป็นไปได้ไหมว่าเราคลำทางมาผิด และตั้งสมมติฐานผิดๆเกี่ยวกับมังกร เราไม่ควรที่จะถามว่าทำไมสัตว์ที่มีขนาดมหึมาอย่างมังกรจึงบินได้ แต่เราควรที่จะถามว่าทำมสัตว์ที่มีความจำเป็นตามธรรมชาติที่จะต้องบินอย่างมังกรนั้น จึงได้วิวัฒนาการจนมีขนาดใหญ่โตเกินความจำเป็นเช่นนี้ การวืบพันธุ์และการร่วงหล่นของมังกรก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและควรจะเก็บมาขบคิดกัน

                    เป็นไปได้ไหมว่ามังกรไม่จำเป็นต้องมีปีกตลอดเวลา มันอาจจะมีปีกเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องบินออกมาหาคู่เหมือนกับแมลงบางชนิด เช่นแมลงเม่า ปลวก เป็นต้น และสิ่งหนึ่งที่จะเอามาเปรียบเทียบได้กับมังกรและจะช่วยคลี่คลายปัญหาของการบินของมังกรได้เป็นอย่างดี สิ่งนั้นคือเรือเหาะของเยอรมันในสมัยสงครามโลกนั่นเอง ภาพของฮินเดนเบอร์กตอนระเบิดกลางอากาศ ก๊าซและเชื้อเพลิงลุกไหม้ส่งผลให้โครงเรือแทบกลายเป็นจุลนั้นได้จุดประกายอะไรให้กับท่านไหมครับ.. ใช่แล้ว!!


                       #มังกรบินได้เพราะลำตัวของมันกลวงและเต็มไปด้วยก๊าซที่เบากว่าอากาศ

                       # มังกรจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ เพราะจะได้เก็บก๊าซได้ปริมาณมากพอที่จะยกตัวมันให้ลอยขึ้นสู่อากาศ

                      # ...และสุดท้าย มังกรจำเป็นต้องพ่นไฟ เพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับอำนวยความสะดวกในการบินที่แปลกประหลาดของมัน

                    ทีนี้ปัญหาของ "ปีกมังกร" ที่ผมและท่านถกกันก็คงหมดไปได้ เรารู้แล้วว่ามังกรไม่ได้ใช้ปีกในการพยุงร่างอันมหึมาของมันขึ้นสู่บนอากาศ หากแต่ใช้เพื่อบังคับทิศทางและใช้เป็นเกราะเพื่อป้องกันตนเอง และถ้ามองมังกรอย่างเผินเวลาอยู่บนพื้นเราก็อาจไม่เห็นปีกของมัน ทำนองเดียวกับสัตว์จำพวกแมลงเต่าทองเวลาหุบปีกนั่นเอง

                    แล้วไฟของมังกรล่ะ? มีปัญหาเหลือเกินว่าทำไมมังกรจึงมักพ่นไฟเป็นเปลวอยู่ในช่วงสั้นๆของจมูกมันเท่านั้นเอง ทำไมจึงไม่พ่นออกมาเป็นเปลวเพลิงเหมือนก็อดซิลล่า คำตอบก็อยู่ที่พฤติกรรมของพวกมังกรล่ะครับ อย่างที่ขาเกมส์ RPG รู้กันว่ามังกรมักจะอยู่ในถ้ำ มันจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมปริมาณอากาศจากกระบวนการทางชีววิทยาของมัน แน่ล่ะว่าขีดจำกัดในการควบคุมย่อมต้องมีแน่นอน และน้องๆนักศึกษาที่เรียนเคมีกับชีววิทยากันมาแล้วก็คงจะตอบได้ดีว่า กระบวนการดังกล่าวของเจ้ามังกรนั้นก็คือกระบวนการสันดาปก๊าซ"ฮโดรเยนกับออกซิเยนนั่นเองครับ


                      เอ... แล้วไฮโดรเยนพวกนี้มันมาจากไหนกันนะ ไม่เห็นยากครับ กลไกทางธรรมชาติมากมายมักสร้างที่ไปที่มาที่พวกเราคาดไม่ถึงกันอยู่เสมอๆ ลองนึกตัวอย่างของปลาไหลไฟฟ้าที่มีเซลที่สามารถประจุไฟฟ้าได้ปริมาณมหาศาล เจ้ามังกรก็อาจมีอวัยวะบางชนิดที่สามารถแยกไฮโดรเยนออกจากสารอาหารหรือน้ำด้วยวิธีทางชีวเคมี และทำให้มันรวมกับออกซิเยนในตอนมันหายใจก็เป็นได้ ไม่ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเป็นยังงก็ตาม(ก็ไม่รู้นี่นา...) มันทำให้มังกรหายใจเป็นเปลวเพลิงได้เพราะมันจำเป็นต้องทำแบบนั้น เปลวเพลิงใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่นใช้พ่นเป็นอาวุธ ใช้ดึงดูดเพศตรงข้ามทำนองเดียวกับแพนหางของนกยูง แถมยังช่วยในการบินซึ่งผมจะขออธิบายในตอนหลัง ว่ากันง่ายๆก็คือตราบใดที่ตัวมังกรยังมีไฮโดรเยนมากพอ มันก็สามารถอยู่ในถ้ำ และพ่นไฟได้อย่างสนุกสนานสบายมาก และคงเป็นเพราะในถ้ำนั้นมืดมังกรก็เลยต้องพ่นลมหายใจเป็นไฟเพื่อส่องสว่างด้วยล่ะมั้ง ก็อย่างที่กล่าวไว้ในตำนานนั่นล่ะครับ พวกวีรบุรุษต่างๆมักจะเข้าไปในถ้ำที่มีเปลวและควันไฟพวยพุ่งออกมา เจออาการนี้เมื่อไหร่ก็อนุมานได้เลยว่า ในนั้นต้องมีมังกรอาศัยอยู่ภายในอย่างแน่นอน ไฟคือสัญลักษณ์ที่แท้จริงของมังกรครับ เพราะไม่ว่าชีวิตจะวิวัฒนาการไปในรูปแบบใด ธรรมชาติก็มีเหตุผลมารองรับการวิวัฒน์นั้นๆเสมอ

                    ผมได้กล่าวมาแล้วว่า การที่มังกรสามารถบินได้นั้นเพราะมันสามารถทำตัวให้เบากว่าอากาศได้ ดังนั้นมันจึงต้องการที่ว่างขนาดใหญ่มากจนเกือบจะเท่าตัวมันทั้งหมด เพื่อที่จะบรรจุก๊าซที่เบากว่าอากาศเอาไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงพยุงตัวแบบเรือเหาะ ว่ากันถึงก๊าซที่เบากว่าอากาศนักเรียนเคมีอาจจะตอบได้ว่าฮีเลียมน่าจะเหมาะที่สุด ทว่าในความเป็นจริงนะครับ ฮีเลียมมีปริมาณตามธรรมชาติน้อยมาก แถมแทบจะไม่มีบทบาทใดๆต่อสิ่งมีชีวิตเลย ไฮโดรเยนจึงนับว่าเหมาะที่สุดซึ่งนอกจากจะมีปริมาณตามธรรมชาติมากแล้ว มันยังเบาและลุกไหม้อย่างรุนแรงได้เมื่อรวมกับออกซิเยน สารประกอบบางรูปของมันมีอยู่ทั่วไปในระบบย่อยอาหารของสัตว์แม้แต่มนุษย์ นั้นคือกรดไฮโดรคลอริกนั่นเอง

                    ปฏิกิริยาชีวเคมีนี้จะต้องมีขั้นตอนอันสลับซับซ้อนมากมาย ตลอดจนสารประกอบอีกหลายอย่างที่จะนำมาสู่กระบวนการสันดาปของมังกร นี่ล่ะมั้งครับที่ทำให้ลมหายใจของมังกรมีกลิ่นเหม็นและฉุนเฉียว นอกจากความสลับซับซ้อนดังกล่าว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถอนุมานเกี่ยวกับมังกรได้ก็คือ โครงสร้างส่วนใหญ่ของร่างกายมันจะต้องมีห้องมากมายสำหรับเก็บก๊าซไฮโดรเยน นั่นล่ะครับคือจุดอ่อนตามธรรมชาติของสัตว์ยักษ์เหล่านี้ ลองคิดกันง่ายๆหากมันโดนดาบหรือไม่จิ้มฉึกทะลุเข้าช่องท้องสู่ห้องเหล่านี้ สิ่งที่ตามมาก็คือกรดไฮโดรคลอริกจะทะลักออกมาทำปฏิกิริยากับทุกสิ่งที่สัมผัสกับมัน ไม่ว่าจะเป็นดาบ มือที่จับดาบ หรือแม้แต่ผิวหนังของมังกรเองก็ตาม โดนเข้าอย่างนี้ต่อให้เป็นโคตรมังกรก็สิ้นฤทธิ์ครับ มันจะบินไม่ได้พ่นไฟก็ไม่ได้ มีอากาศเหมือนลูกโป่งหรือบอลลูนที่ถูกเจาะทะลุ โครงสร้างที่เบาบางของมันจะยุบสลายโดยสิ้นเชิง คงนึกภาพออกนะครับว่าเมื่อมังกรตาย(ไม่ว่าจะแก่ตายหรือโดนดาบเอ็กซ์คาร์ลิเบอร์จิ้มตายก็ตาม) มันจะสลายตัวไปในเวลาไม่นานนักซึ่งค้านกันเอามากๆกับรูปร่างของมัน นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงไม่พบกระดูก เศษซาก หรือว่าฟอสซิลของมังกรเลยเชื่อได้เลยว่ามังกรต้องวิวัฒนาการมาจากสัตว์ประเภทไดโนเสาร์เพราะรูปร่างหน้าตามันก็บอกอยู่แล้ว เชื่อว่าในตัวมังกรจะต้องมีเยื่อเมือกตามธรรมชาติไว้คอยป้องกันกรดไฮโดรคลอริก เพื่อไม่ให้กัดกร่อนเนื้อเยื่ออื่นๆและกรดจะถูกหลั่งออกมาจากต่อมในตัวมัน เพื่อใช้ในกระบวนการชีวเคมีของมังกร ช่องว่างต่างๆในตัวมังกรจะถูกกั้นด้วยเยื่อและอวัยวะที่มีหน้าที่เหมือนลิ้นเปิดปิดโดยอาศัยแรงดึงของเนื้อเยื่อ และจะทำให้การส่งผ่านก๊าซเป็นไปอย่างสมดุลย์ตลอดทั้งร่างของมังกร เนื้อเยื่อเหล่านี้จะมีหน้าที่สำคัญอื่นๆอีกกล่าวคือ ในสภาวะปกติความดันต่างๆจะอยู่ในภาวะที่ปกติพอควรที่จะทำให้มังกรเดินต้วมเตี้ยมไปมาบนพื้นดินได้ ไม่ลอยไปมาเหมือนลูกโป่ง เมื่อมังกรต้องการจะบิน เนื้อเยื่อของมันจะขยายตัวทำให้ปริมาตรของตัวช่องเก็บก๊าซเพิ่มขึ้นในขณะที่มวลของก๊าซคงเดิม สิ่งที่ตามมาก็คือความดันลดลง                (ลืมกันไปหมดหรือยังนะ PV = nRT , เมื่อ V เพิ่ม P ก็ย่อมลดลงเป็นธรรมดา)

                    พูดถึงการเพิ่มปริมาตรในช่องอากาศของมังกร ผมขอร้องอย่าให้ทุกคนนึกถึงมังกรพองลมในลักษณะของปลาปักเป้า แบบนั้นมันดูน่าเกลียดมากสำหรับสัตว์ที่สง่างามอย่างมังกร (ถึงแม้ว่าตำราโบราณของจีนจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงขนาดของมังกรในลักษณะนี้ก็เหอะ) เพราะการหดตัวของเนื้อเยื่อโดยการควบคุมกล้ามเนื้อ ก็ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวเข้าสู่บริเวณครีบของมัน เห็นจากภาพทั่วๆไปไหมครับ ไม่ว่าจะมังกรหรืออะไรก็ตามพอมันบินแล้วครีบหลังมันจะตั้งต่างกันกับตอนอยู่บนดิน แถมครีบนี้ยังสามารถป้องกันตัวได้อีก นับว่าสารพัดประโยชน์ดีเหมือนกัน

                    ฟู่... ร่ายยาวมาจนเหนื่อย แต่ก็นับว่าคุ้มเพราะว่าด้วยแนวคิดนี้ เราก็สามารถแก้ปัญหาเรื่องการบินของมังกรได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะถ้ามังกรต้องใช้ปีกในการพยุงตัวเพื่อบินจริงๆ มันก็ต้องมีกล้ามเนื้อที่มีพลังมหาศาลเกินกว่าธรรมชาติจะประทานให้ได้ แต่ด้วยวิธีการลอยตัวนี้มังกรจะสามารถบินได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ปัญหาเรื่องการบินที่จะตามมาอีกร้อยแปดพันเก้าก็เป็นอันพับทิ้งไปได้เลย

                    ทีนี้กลับมาว่าเรื่องของซากมังกรที่เราไม่เคยค้นพบกันใหม่ดีกว่า แม้ว่าจะด้วยกลไกทางชีววิทยาของมังกรจะทำให้เราไม่มีวันพบฟอสซิลของมันได้เลย ในทำนองเดียวกับที่นักชีววิทยาไม่เคยพบซากบรรพบุรุษของนก ว่าลักษณะที่พวกมันเริ่มหัดบินนั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่และเป็นลักษณะอย่างไร แต่ด้วยขั้นตอนเดียวกัน เราสามารถอนุมานถึงการวิวัฒนาการทางการบินของมังกรได้ตามลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนตามสมควรดังนี้...

                    เริ่มจากขนาดของมันก่อนนะครับ เราทราบกันดีว่าพวกไดโนเสาร์ส่วนใหญ่จะมีขนาดที่ใหญ่โตมาก แต่สัตว์ในตระกูลนี้กลับวิวัฒนาการจนมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆเพื่อความอยู่รอด เพราะสัตว์ตัวเล็กย่อมคล่องแคล่วและต้องการปริมาณอาหารน้อยกว่าตัวใหญ่ ไดโนเสาร์รุ่นหลังๆจึงมีขนาดเล็กลง ในขณะที่พวกตัวใหญ่ๆเริ่มพากันล้มหายตายจากไปตามกฏของธรรมชาติ สำหรับตระกูลตัวใหญ่ที่จะดันทุรังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้โดยไม่ลดขนาด ก็มีอยู่วิธีเดียวคือลดน้ำหนักตัวลงเพื่อเพิ่มความคล่องแคล่วและสงวนพลังงานในการเคลื่อนไหว เอาล่ะครับ เจ้ามังกรก็คงวิวัฒน์ตัวเองออกมาในทางเลือกที่สองนี้แถมยังมีโรงงานผลิตกก๊าซไฮโดรเยนในตัวเองอีก เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์และกินเวลานานเอามากๆ

                    ในช่วงวิวัฒนาการนี้ บรรพบุรุษของมังกรก็ลดลงและสูญพันธุ์ไปในที่สุด เหลือเพียงผลพวงของความเปลี่ยนแปลงเพือการอยู่รอดนั่นก็คือ...มังกร มันได้ละทิ้งเครื่องประดับอันฟุ่มเฟือยเช่น หนอก เขา ต่างๆไปหมด แม้แต่กระดูกก็ยังวิวัฒน์ให้เป็นลักษณะกลวง พวกเกร็ดหนังหนาๆตามตัวที่เคยเป็นเหมือนเกราะบัดนี้ก็ได้หนักอึ้งเกินความจำเป็น พวกมันคงทิ้งส่วนนั้นไปอย่างไม่เสียดายเหลือไว้เฉพาะเขาที่เอาไว้ป้องกันส่วนหัวเท่านั้น เราสามารถทึกทักเอาได้อย่าสบายมากว่ามังกรใช้วิธีการเคลื่อนที่ด้วยการกระโดดเหมือนจิงโจ้แทนที่จะเดิน (ไม่แปลกเลยครับ เมื่อเทียบกับการเคลื่อนที่ของพวกไดโนเสาร์กินเนื้ออย่างเวโลซี แรพเตอร์) ด้วยการทำรูปร่างให้เบาและการกระโดดก็ทำให้มังกรรุ่นหลังสามารถกระโดดได้สูงขึ้น - น้ำหนักเบาลง จนกลายเป็นแทบจะบินได้ในลูกหลานของมังกรช่วงหลัง


                       มังกรไม่มีปีกในหลายๆชาติเช่นจีนหรือนอร์สนั้นบินได้ แท้ที่จริงมันอาจไม่ได้บินแต่กำลังกระโดดอยู่ เพียงแต่กระโดดสูงเสียจนคนเราคิดว่ามันกำลังบินอยู่ และเราก็ได้ข้อสรุปว่าพวกมันเป็นบรรพบุรุษของมังกรรุ่นที่มีปีก เอ๊ะ... แล้วทีนี้ปีกของมังกรจะมาจากไหนล่ะ? ง่ายๆครับ พอกระโดดได้สูงขึ้นไกลขึ้นก็ต้องเริ่มหาอะไรมาช่วยบังคับทิศทางในการเคลื่อนไหว ธรรมชาติจึงสร้างปีกมังกรขึ้นมาช่วยในการควบคุมทิศทาง เรื่องของเรื่องก็เลยกลายเป็นแรกๆมังกรเคลื่อนที่ด้วยการกระโดด พอกระโดดเก่งเข้าก็เลยมีปีกเพื่อช่วยร่อนไปมาในอากาศเหมือเทอร์ราโนดอนหรือบรรพบุรุษของนก และพอร่อนเก็บ Level เข้ามากๆก็เลยกลายเป็นบินได้ด้วยเองซะเลย สบายเขาล่ะ

                   

                       ด้วยข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวง มังกรจึงไม่น่าเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งโดดเด่นอะไรขึ้นมาได้(ยกเว้นรูปร่าง ซึ่งคงจะน่าเกรงขามอยู่เอาการ) แต่ก็น่ายกย่องพวกมังกรอยู่ ที่มันสามารถวิวัฒนาการผ่านวิกฤตมาได้เหมือนกับบรรพบุรุษของพวกนก ด้วยขนาดที่ใหญ่โตเกินไป มังกรจึงจำเป็นต้องอยู่ในถ้ำแทนที่จะอยู่ในป่าหรือที่ราบซึ่งเหยื่อและศัตรูสามารถมองเห็นได้ง่าย มังกรคงซุ่มอยู่ในถ้ำหรือรอยแกยของหินผา คอยเวลาออกมาร่อนมากระโดดจับเหยื่อกิน ที่น่าสงสารก็คือ แม้พวกมันจะวิวัฒน์ผ่านวิกฤตเอาตัวรอดมาได้ แต่ด้วยข้อจำกัดที่พวกมันีพวกมันก็คงดำรงเผ่าพันธุ์กันอยู่ได้ไม่นานหรอกครับ ไดโนเสาร์แห่งยุคกลางที่เอาตัวรอดและสืบเชื้อสายมาหลายล้านปีเหล่านี้ ท้ายที่สุดก็พากันลดจำนวนลงไปตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจะเหลืออยู่ไม่กี่ตัวที่ยังรอดรอเวลามาให้วีรบุรุษเอาดาบมาเสียบพุงเล่น จนกลายเป็นตำนานเล่าขานกันมาถึงปัจจุบัน

                                                   
                                                 ข้อมูลจาก
    http://members.thai.net/enlil/seamon/dragon_01.htm

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×