ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานอียิปต์ โอม...

    ลำดับตอนที่ #125 : นำเที่ยวอาณาจักรอียิปต์โบราณ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.17K
      0
      2 พ.ค. 50

    นำเที่ยวอาณาจักรอียิปต์โบราณ

     

                ไฮห์เวย์สายสำคัญที่สุดของอาณาจักรอียิปต์โบราณไม่ใช่ถนนในความหมายของเรา  หากแต่เป็นแม่น้ำไนล์  เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีการสร้างถนนอย่างเป็นรูปธรรม  (มีเพียงถนนสายสั้นๆ ที่นำเข้าสู่ปิรามิด)  ด้วยเหตุนี้แม่น้ำไนล์จึงเป็นถนนหลวงที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาในเวลานั้น

                ด้วยความที่แม่น้ำไนล์เป็นทั้ง แหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต  และเป็นถนนสายหลัก  ชาวอียิปต์โบราณจึงสร้างบ้านเรือนเรียงรายอยู่สองฝั่งแม่น้ำสายสำคัญนี้  ขณะเดียวกันก็เลือกสร้างวิหารในส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในทะเลทรายและเลือกสร้างสุสานกับปิรามิด  ซึ่งเป็นสุสานหลวงในส่วนที่เป็นพื้นที่ทะเลทรายอย่างแท้จริง  ทั้งนี้เพื่อสงวนพื้นที่อันเป็นหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิต  ด้วยเหตุนี้  หากเราเดินทางไปเที่ยวชมอาณาจักรอียิปต์ในยุคนั้น  เราจะเห็นชาวอียิปต์เดินทางขึ้นล่องตามลำน้ำไนล์ด้วยเรือหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งมีตั้งแต่เรือข้ามฟาก  เรือบาร์จหรือเรือท้องแบนขนาดใหญ่ที่ใช่บรรทุกสินค้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตผลทางด้านการเกษตร  ซึ่งมีข้าวสาลีเป็นสินค้าสำคัญของอาณาจักรรวมไปถึงเรือท้องแบนที่ใช้บรรทุกก้อนหินไปสู่สถานที่ก่อสร้างปิรามิด  อย่างไรก็ตาม  หากคุณต้องการล่องเรือเป็นระยะทางไกล ๆ  คุณอาจสังเกตพบว่าเรือที่คุณใช้ล่องลงไปทางทิศใต้จะเป็นเรือใบ  เนื่องจากลมจะพัดจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้  ในทำนองกลับกัน  การเดินทางขึ้นเหนือจะต้องใช้เรือพายเนื่องจากเป็นทิศทางที่ต้านลม

               

                ข้อเท็จจริงที่ว่าแม่น้ำไนล์มีปรากฏการณ์น้ำไหลบ่าท่วมเป็นประจำทุกปี  ชาวอียิปต์โบราณจึงมองไม่เห็นความจำเป็นในการสร้างถนน  เพราะเมื่อถึงฤดูน้ำท่วม  น้ำไหลบ่าและท่วมสองฝั่งแม่น้ำไนล์ไปไกลสุดลูกหูลูกตาจนดูเหมือนทะเลสาบขนาดย่อม ๆ  ที่สำคัญชาวอียิปต์โบราณจำต้องใช้พื้นที่สำหรับเพาะปลูก  ซึ่งมีน้อยอยู่แล้วให้ได้มากที่สุด  การสร้างถนนจึงยิ่งไม่มีความจำเป็น  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูน้ำท่วม  เรายังคงสามารถเดินทางในเมืองหรือจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองที่อยู่ใกล้ๆ ได้  หากเราชอบการเดินทางด้วยเท้าของเราเอง  แต่อย่าไปคิดเช่าอูฐเป็นพาหนะในการเดินทางอย่างเด็ดขาด  เพราะจากข้อเท็จจริงระบุว่าอูฐเดินทางมาถึงอาณาจักรอียิปต์เป็นครั้งแรกเมื่อราวหกร้อยปีก่อนคริสตกาล  โดยมาจากดินแดนตะวันออกลาง  แต่แม้จะมีอูฐใช้งานแล้ว  อูฐก็เพิ่งถูกนำมาใช้เป็นพาหนะในการเดินทางบนพื้นทะเลทรายเป็นครั้งแรกในอีกราวสามร้อยปีถัดมา  ซึ่งเป็นช่วงปลายของอาณาจักรยุคใหม่  แล้วเราจะทำอย่างไร?  แน่นอนทางเลือกหนึ่งก็คือเช่าม้า  แต่ม้ายังคงเป็นสิ่งที่มีราคาแพงมากสำหรับชาวอียิปต์ในยุคโบราณ  ด้วยเหตุนี้  เราจึงต้องมองไปที่ทางเลือกที่สาม  นั่นคือเช่ารถม้าซึ่งมีลักษณะเป็นเกวียนเทียมม้า  แต่ถึงอย่างนั้น  ราคาของมันยังคงแพงมากเมื่อเทียบกับระยะทางสั้นๆ  เพราะชาวอียิปต์โบราณไม่นิยมนำรถม้าโดยสารเดินทางไกล  เนื่องจากม้ามีความอดทนต่อสภาพอากาศที่ร้อนจัดไม่ค่อยได้  ทั้งม้ายังดื่มน้ำมากเมื่อกระหาย   ดังนั้น  ม้าจึงเป็นสัตว์ที่ไม่เหมาะสำหรับการเดินทางไกลบนพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายอย่างอาณาจักรอียิปต์

                แต่หากคุณยังยืนกรานที่จะเดินทางผจญภัยลึกเข้าไปในดินแดนทะเลทรายของอาณาจักรอียิปต์  คุณจะต้องไม่ลืมนำลาไปด้วยหลายๆ ตัว  โดยแต่ละตัวต้องบรรทุกภาชนะที่บรรจุน้ำดื่มอย่างเต็มอัตราศึกอีกด้วย  เพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัดจะทำให้ร่างกายขาดน้ำและทำให้เราตายได้ง่ายๆ  และแม้ในทะเลทรายจะมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่เราเรียกว่าโอเอซิส  แต่โอเอซิสแต่ละแห่งอยู่ห่างไกลกันมาก  ที่สำคัญ  สภาพที่โล่งเตียนและอากาศที่ร้อนจัดกลางทะเลทรายจะทำให้เราหลงทิศหลงทางและตายก่อนจะหาเจอ  และแม้ข้อเท็จจริงจะระบุว่าฟาโรห์บางพระองค์ทรงมีบ่อน้ำส่วนพระองค์อยู่ตามรายทางไปสู่เหมืองทองที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของทะเลทราย  แต่บ่อน้ำส่วนพระองค์เหล่านั้นก็อยู่ในแหล่งที่ลี้ลับที่ยากจะหาได้พบง่ายๆ เช่นกัน  และที่สำคัญก็คือ  อย่าไว้ใจมัคคุเทศก์ที่ยิ้มง่ายหัวเราะเก่ง  เพราะคุณอาจถูกปล้นหลังจากออกเดินทางได้ไม่นาน  และถ้าโชคดีมีชีวิตรอดจากเงื้อมมือโจรเหล่านี้  คุณยังอาจเผชิญกับอันตรายจากพายุทะเลทรายที่มักเกิดขึ้นเป็นระยะๆ  เพราะขนาดนายพลที่กร้านศึกชาวเปอร์เซียนคนหนึ่งยังพลัดหลงจากกองทัพในคราวที่ยกพลรุกรานอาณาจักรอียิปต์  และไม่มีใครพบเห็นแม้แต่กองกระดูกของนายพลผู้นี้เลย!

     

    อ้างอิง  พลิกปูมอาณาจักรอียิปต์โบราณ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×