ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานอียิปต์ โอม...

    ลำดับตอนที่ #108 : อาณาจักรใหม่

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.53K
      1
      14 มี.ค. 50

    ยุคอาณาจักรใหม่ (New kingdom) 1539 - 1075 ปีก่อน ค.ศ.

      นักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับกันว่ายุคนี้เป็นยุคที่อียิปต์รุ่งเรืองที่สุด โดยหลังจากพวกฮิกโซสถูกขับไล่ไปแล้ว อำนาจของฟาโรห์ เหนือนครต่างๆในลุ่มน้ำไนล์กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ ในยุคของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 1 (Thutmosis) แห่งราชวงศ์ที่ 18 ในยุคนี้เมืองหลวงของอียิปต์คือนครธีบส์(Thebes) และฝั่งตรงข้ามของเมืองหลวงคือ หุบเขาแห่งกษัตริย์อันเป็นสถานที่ฝังพระศพฟาโรห์

    นครธีบส์(Thebes) ภาพชีวิตริมแม่น้ำไนล์

      ในยุคอาณาจักร ใหม่นี้ ทั้งนี้ชาวอียิปต์ได้ยกเลิกประเพณีการสร้างพีระมิดไปตั้งแต่ตอนปลาย ของอาณาจักรเก่าเนื่องจากสิ้น เปลืองวัตถุดิบและหันมาใช้วิธีเจาะหน้าผาเป็นสุสานแทน นอกจากธีบส์แล้วทุตโมซิสที่1 ยังได้สร้างนครอบีดอส (Abidos)ให้เป็นเมืองสำคัญในสมัยของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 1 นี้เมืองหลวงคือ กรุงธีบส์เจริญรุ่งเรืองมากมีการสร้างวิหารขนาดใหญ่เพื่อบูชาแด่เทพเจ้า ซึ่งก็รวมทั้งมหาวิหารคาร์นัค นอกจากนี้ อียิปต์ยังได้เริ่มการแผ่อำนาจเข้าไปในดินแดนเอเชียตะวันออกใกล้และนูเบีย อีกด้วย

    กรุงธีบส์เจริญรุ่งเรืองมาก

    ฟาโรห์หญิง ฮัตเชปซุต (Hatshepsut ) สตรีผู้ทรงอำนาจคนแรกแห่งโลกโบราณ

      ราชินีฮัตเชปซุต (Hatshepsut ):ทรงครองราชย์ในปีที่1505 - 1484 ก่อน ค.ศ.พระนางฮัตเชปซุตเป็นพระราชธิดาของฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 1 กับพระราชินีอาโมซิสโดยพระนามฮัตเชปซุต มีความหมายว่า " ยอดขัตติยา " เนื่องจากราชินีอาโมซิสไม่มีพระโอรส ดังนั้นสิทธิในราชบัลลังก์จึงตกอยู่กับโอรสของทุตโมซิสที่ 1 กับพระชายารองที่ชื่อ มุทโนเฟรท (Mutnofret) และในปีที่ 1519 ก่อน ค.ศ. ก็ทรงขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ทุตโมซิสที่ 2 โดยอภิเษกกับเจ้าหญิงฮัตเชปซุต ซึ่งเป็นพี่สาวต่างมารดา ตามประเพณีของอียิปต์เพื่อรัหษาสายเลือดอันบริสุทธิ์ของพระราชวงศ์ ทุตโมซิสที่2 เป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอและไม่มีความสามารถในการรบหรือการปกครองเท่าพระบิดา อำนาจในการบริหารงานจึงตกอยู่ในมือราชินีอันที่จริงนั้นพระนาสงฮัตเชปซุตก็เคยช่วยพระบิดา บริหารราชกิจมา บ้างตั้งแต่ยังเป็นเจ้าหญิงหลังจากครองราชย์เพียง14 ปี ฟาโรห์ทุตโมซิสที่2 ก็สวรรคตโดยไม่มีโอรส กับพระนางฮัตเชปซุต มีเพียงพระธิดา คือเจ้าหญิงเนเฟอร์รูเร(Neferure)เท่านั้น

    ราชินีฮัตเชปซุต (Hatshepsut )

      อย่างไรก็ตาม ทรงมีโอรสกับพระชายารองที่ชื่อ ไอซิส อีกหนึ่งองค์คือ เจ้าชายทุตโมซิส เนื่องจากเจ้าชายทุตโมซิสยังทรงพระเยาว์มาก ดังนั้นพระนางฮัตเชปซุตผู้มีศักดิ์เป็นป้าจึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน และหลังจากกุมอำนาจได้หลายปีด้วยความทะเยอทะยานพระนางจึงตัดสิน พระทัยขึ้นเป็นฟาโรห์ปกครองอียิปต์ในที่สุด พระนางได้ประกาศองค์เป็นธิดาผู้เป็นที่รักของสุริยเทพอามอน - รา เพื่อสร้างความชอบธรรมในการครองบัลลังก์ นอกจากนี้พระนางยังทรงสร้างเสาโอบีลิคส์ซึ่งเป็นแท่งหินสูงสามสิบเนตรมียอดหุ้มด้วย เงินผสมทองคำและสลักเรื่องราวของพระนางลงไป นอกจากนี้เวลาปรากฏองค์ต่อหน้าสาธารณชนพระนางจะสวมเครื่องทรงของบุรุษ และมีเคราปลอมสวมอยู่ทำให้รูปสลักของพระนางมีเคราเหมือน ผู้ชาย

      ตลอดรัชสมัยของฮัตเชปซุตแผ่นดินอียิปต์สงบร่มเย็นมีเพียงสงครามย่อยๆในนูเบียและคาบสมุทรไซนายอย่างละครั้งเท่านั้น ในยุคนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองทางการค้าและศิลปะ พระนางได้ส่งกองเรือไปสำราจดินแดนพันต์ (Punt) ซึ่งอยู่ตอนในของอาฟริกาและนำสินค้ามีค่าต่างๆกลับมาสู่อียิปต์ พระนางฮัตเชปซุตมีเสนาบดีคู่พระทัยชื่อว่าเซเนมุท(Senemut) ซึ่งเป็นผู้ดูแล เจ้าหญิงเนเฟอร์รูเร และเชื่อกันว่าเป็นชู้รักของพระนางอีกด้วย เซเนมุทเป็นสถาปนิกที่มีความสามารถและเป้นผู้ออกแบบสิ่งก่อสร้างในรัชสมัยนี้รวม ทั้งมหาวิหารเดียร์-เอล-บาห์รี ที่งดงามไม่แพ้มหาวิหารอาบูซิมเบล

    มีการก่อสร้างวิหารอุทิศแด่เทพเจ้า

      พระนางฮัตเชปซุตยังดูแลเจ้าชายทุตโมซิสเป็นอย่างดีและเมื่อเจ้าชายเจริญวัยขึ้น พระนางก็ได้แต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพอีกด้วยและแล้วในปีที่22 ของการครองราชย์ ฟาโรห์ฮัตเชปซุตก็หายสาปสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์อย่างลึกลับ รวมทั้งเซเนมุทเสนาบดีคู่พระทัย โดยไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้น กับทั้งสอง บางทีทั้งคู่อาจถูกกำจัดไปโดยฝ่ายของทุตโมซิสที่3 ซึ่งกำลังเรืองอำนาจหรือไม่เช่นนั้นพระนางก็อาจสละราชสมบัติและหนีไปกับเซเนมุทก็เป็นได้ หลักฐานและบันทึกเกี่ยวกับพระนางถูกทำลาย จนแทบไม่มีอะไรเหลือ โดยฟาโรห์ทุตโมซิสที่3 ซึ่งไม่พอพระทัยที่ต้องทรงอยู่ในอำนาจของพระนางมาเป็นเวลานาน


    ดินแดนพันต์และการค้าของจักรวรรดิ

      ดินแดนพันต์ (Punt) เป็นนครการค้าที่ตั้งอยู่ทางใต้ของอียิปต์ โดยถูกบันทึกไว้ว่าเป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยไม้หอมและของมีค่าต่างๆ นับแต่สมัยโบราณ ฟาโรห์หลายพระองค์ได้ส่งกองเรือไปทำการค้าเพื่อนำสินค้ล้ำค่ากลับมายังอียิปต์ หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในสมัยของฟาโรห์ซาฮูเร เมื่อราว ปีที่ 2450 ก่อน ค.ศ. แสดงให้เห็นว่า อียิปต์ได้ทำการค้ากับพันต์มาเป็นเวลากว่า 1300 ปี ทั้งนี้ในสายตาชนชั้นสูงของอียิปต์นั้น สินค้าจากพันต์ถือเป็นของล้ำค่าและควรแก่การใช้บูชาเทพเจ้า เนื่องจากการเดินทางไปยังดินแดนพันต์ยากลำบาก และต้องฝ่าฟันอันตรายทั้งจากสภาพอากาศและโจรผู้ร้าย ดังนั้นฟาโรห์พระองค์ใดสามารถส่งกองเรือเดินทางไปนำสินค้าจากพันต์มาได้สำเร็จ จะถือได้ว่าเทพเจ้า หนุนนำอำนาจของพระองค์

    ราชินีแห่งพันต์

    ราชินีแห่งพันต์พลเมืองพันต์

      ในสมัยของพระนางฮัทเชปซุต ชาวอียิปต์ไม่ได้ทำการค้าขายกับดินแดนพันต์มาเป็นเวลาหลายปีเนื่องจากสงครามกับชาวเอเชีย จนกระทั่งพระนางฮัทเชปซุตครองราชย์ จึงให้ขุนนางชื่อ เนชิ (Neshi) เป็นทูตนำกองเรือ ไปยังดินแดนพันต์ จากภาพสลักในวิหารเดียร์-เอล-บาห์รีแสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของชาวพันต์ ลักษณะของชาวพันต์โดยทั่วไปคล้ายชาวอียิปต์แต่จะมีผิวที่คล้ำกว่า โดยพวกพันต์จะอาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ทรงกลมยกพื้นสูงมีบันไดพาดขึ้น หมู่บ้านเหล่านี้มักปลูกอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโดยมีพวกไม้หอมและปาล์มขึ้นอยู่ทั่วไป ชาวพันต์นิยมเลี้ยงวัวเพื่อใช้เป็นแรงงานและอาหาร

    นกกระจอกเทศสินค้าอีกตัวหนึ่งจากพันต์

      สินค้าที่ชาวอียิปต์นำมาจากพันต์ ได้แก่ งาช้างและทองคำรวมทั้งสัตว์แปลกอย่างลิงบาบูน ยีราฟ เสือดาว แต่ที่สำคัญที่สุดคือไม้หอม โดยมีทั้งแบบที่ก้อนยางไม้และไม้หอมที่เป็นต้น โดยก้อนยางไม้หอมจะถูกนำไปทำเป็นกำยานเพื่อใช้จุดบูชาเทพเจ้า ส่วนไม้หอมที่เป็นต้น จะถูกนำไปปลูกไว้ที่สวน ศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิหารคาร์นัก
      ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดียังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าดินแดนพันต์ตั้ง อยู่ส่วนใด ของทวีปอาฟริกากันแน่ จากข้อมูลในปัจจุบันเชื่อว่าดินแดนพันต์น่าจะอยู่แถวชายฝั่ง ทะเลแดงแต่ข้อเท็จจริงเรื่องที่ตั้งของดินแดนพันต์ก็ยังเป็น ความลับอยู่ในปัจจุบันนี้เหมือนกับความลับอื่นๆของดินแดนนี้


    การขยายอำนาจสู่เอเชียของฟาโรห์ทุตโมซิสที่3 (Thutmosis)

      หลังรัชสมัยของฟาโรห์หญิงฮัทเชปซุต พระราชนัดดาของพระนางคือเจ้าชายทุตโมซิสขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ทุตโมซิสที่3 ผู้ทรงได้รับสมญาจากนักประวัติศาสตร์ว่านโปเลียนอียิปต์ พระองค์ทรงเป็นนักรบและฝักใฝ่การทำสงคราม ผิดกับสมัยของฮัทเชปซุต ในยุคนี้อียิปต์มีการพัฒนาด้านอาวุธโดยมีกองทหารธนูซึ่งใช้ธนูแบบใหม่ที่ยิงได้ไกลและ ดีกว่าเดิมเป็นกำลังสำคัญ มีการติดเกราะแบบง่ายให้พลเดินเท้าและนำรถศึกมาใช้ในการรบ ในยุคนี้อียิปต์ทำสงครามกับดินแดนต่างๆที่อยู่รอบข้างหลังจากกำราบ ดินแดนเหล่านั้นลงแล้วฟาโรห์ทุตโมซิสก็ทรงยกทัพบุกเข้าไปในเอเชีย

    ฟาโรห์ทรงรถศึก

      พระองค์ทำสงครามกับพวกไมตานนี ที่คาเดซ(Kadesh)ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองไบบลอส(Byblos) จากนั้นจึงทำสงครามกับชาวซีเรีย และได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ที่ช่องเขาเมกิโด(Megido) โดยทรงใช้รถศึกกว่าพันคัน กองทัพของทุตโมซิสที่3สามารถทำลายกองทัพของเจ้าชายแห่งซีเรีย330พระองค์จนย่อยยับทุกครั้งที่ชนะศึก องค์ฟาโรห์จะสั่งให้ทำลายเมืองจนราบคาบและสังหารเชลยศึกเป็นจำนวนมาก
      สงครามครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในสมัยฟาโรห์ทุตโมซิสที่3คือการโจมตี เมืองจอปปาหรือปัจจุบันคือเมืองจัฟฟาในอิสราเอล โดยแม่ทัพของพระองค์นามว่าเจฮุติได้ใช้อุบายขณะล้อมเมืองทำการลอบส่งกระบุงที่บรรจุทหารอียิปต์ไว้ เข้าไปในเมืองโดยพวกชาวเมืองเข้าใจผิดว่าเป็นของที่เจ้าชายแห่งจอปปา ปล้นมาจากทัพอียิปต์

    พลธนูอียิปต์โจมตีข้าศึกที่ช่องเขาเมกิโด(Megido)

      จากนั้นกองทหารอียิปต์ก็ ลอบออกมาเปิดประตูเมืองรับทัพใหญ่ให้เข้าตีเมืองจนแตก แต่เนื่องจากเหล่าทหารมัวแต่ห่วงเก็บของมีค่า ทำให้การทำลายเมืองไม่เด็ดขาดการทำสงครามกับนครรัฐในเอเชียนอกจากจะเป็นการป้องกันการคุกคามจากนคร เหล่านั้นแล้วทรัพย์สมบัติรวมทั้งเชลยศึกที่ได้จากการรบก็นำความมั่งคั่ง มาสู่ดินแดนอียิปต์นับเป็นยุคแห่งชัยชนะของจักรวรรดิอียิปต์ นอกจากนี้อียิปต์ยังทำการค้ากับชาวกรีกและไซปรัสอีกด้วย ทุตโมซิสที่3 ได้ชื่อว่าเป็นฟาโรห์ที่ทรงอำนาจที่สุดในยุคนั้น

    การปฎิรูปศาสนา ครั้งแรกของฟาโรห์ อัคเคนาตัน(Ikhnaton)

      ในปีที่ 1353 ก่อนค.ศ.ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่4ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดาฟาโรห์อเมนโฮเทปที่3 และพระองค์ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่อย่างที่ไม่เคยมีใคร นึกฝัน นั่นคือการประกาศว่าอียิปต์มีเทพเจ้าเพียงองค์เดียว ที่ทรงอำนาจเหนือเทพอื่นใดแม้แต่อามอน-รา นั่นคือ สุริยเทพเทพอเตน(Aten) สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เนื่องมาจากพระองค์เห็นว่าเหล่าหัวหน้านักบวชของอารามเทพเจ้าต่างๆเริ่มจะ มีอำนาจมากเกินไปโดยหัวหน้านักบวชเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน จนแม้แต่บางครั้งองค์ฟาโรห์ก็มิอาจคัดค้านได้

    ฟาโรห์ อัคเคนาตัน(Ikhnaton)

      ด้วยเหตุนี้เพื่อลดอำนาจของเหล่านักบวชฟาโรห์อเมนดฮเทปจึงประกาศยกย่อง เทพอเตน เป็นเทพสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวและลดความสำคัญของ เทพอามอน-ราและทวยเทพอื่นๆลงจนเกือบหมด สำหรับองค์ฟาโรห์เองก็ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น อัคเคนาตัน(Ikhnaton) หมายถึง ผู้มีคุณูปการต่ออเตน เหตุการณ์นี้นับเป็นการปฏิรูปศาสนาครั้งแรกของอียิปต์โดยเปลี่ยนจากพหุเทวนิยม ที่มีเทพหลายองค์มาเป็นเอกเทวนิยมเป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่มีมานานนับพันปีของชาวอียิปต์ ฟาโรห์อัคเคนาตันมีพระมเหสีเอกชื่อว่า เนเฟอร์ตีติ(Nefertiti) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชินีที่เลอโฉมที่สุดของอียิปต์โบราณ พระนางเป็นเจ้าหญิงจากไมตานนี และเป็นพระญาติกับพระนางไทยี พระมารดาของอัคเคนาตัน

    เนเฟอร์ตีติ(Nefertiti)

      ราชินีเนเฟอร์ตีติทรงมีอิทธิพลต่อองค์ฟาโรห์มากในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เหล่านักบวชไม่พอพระทัยองค์ฟาโรห์และในปีที่5 ของการครองราชย์ เมื่อความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ฟาโรห์อัคเคนาตันจึงทรงย้ายเมืองหลวงไปที่อามาร์นาซึ่งห่างไปทางเหนือ 280 กิโลเมตรจากธีบส์ โดยเมืองหลวงแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า อเคตาเตน หรือขอบฟ้าแห่งอเตน และในเวลาไม่นานนครแห่งนี้ก็ขยายใหญ่โตจนมีพลเมืองมากกว่า 20000 คน

    วิหารแห่งลุกซอร์สร้างโดยฟาโรห์อเมนโฮเทปที่3

      แม้การปฏิรูปทางศาสนาจะสามารถลดอำนาจนักบวชลงได้ แต่ก็ไม่อาจขจัดอิทธิพลและความเชื่อที่ฝัง ลึกมานานนับพันปีได้หมด และในปีที่9 ของการครองราชย์ พระองค์จึงมีพระบัญชาให้ปิดวิหารเทพอามอนและให้ลบชื่อของจอมเทพออก จากวิหารและอนุสาวรีย์ต่างๆเสีย อัคเคนาตัน ครองราชย์เพียงสิบห้าปีเท่านั้น พระองค์สิ้นพระชนม์ท่าทกลางเหตุการณ์ตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นจากความไม่พอใจ ของเหล่านัก บวชศาสนาเดิม อีกทั้งด้านต่างประเทศนั้น จักรวรรดิฮิตไตท์ก็เริ่มคุกคามโดยการพิชิตไมตานนีและพันธมิตร อื่นๆของอียิปต์

      เมื่อสิ้นสมัยของอัคเคนาตัน เจ้าชายสเมนคาเรโอรสองค์โตผู้สืบทอดทรงมีความคิดเช่นเดียวกับบพระบิดา ทำให้เหล่านักบวชยอมไม่ได้และนำไปสู่สงครามกลางเมือง เจ้าชายสเมนคาเรสิ้นพระชนม์ในสนามรบ และเหล่านักบวชก็กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ศาสนาของอัคเคนาเตนถูกลบล้างและเมืองอามาร์นาก็ถูกทิ้งร้าง บรรดารูปสลักของอัคเคนาตันถูกทำลายจนแทบไม่มีเหลือ และนั่นคือบทสรุป ของการปฏิรูปศาสนาครั้งใหญ่ของอียิปต์และของโลก

    ตุตันคาเมน(Tutankhamen) ยุวกษัคริย์แห่งไอยคุปต์

      แม้พระองค์จะไม่ใช่มหาราชที่ยิ่งใหญ่หรือนักรบผู้เกรียงไกร แต่ชื่อของฟาโรห์ตุตันคาเมนก็เป็นที่รู้จักดียิ่งกว่าฟาโรห์องค์อื่นๆ เนื่องด้วยสุสานของพระองค์ที่ถูกขุดพบนั้นคงสภาพสมบูรณ์ยิ่งกว่าของฟาโรห์องค์ใด และกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการบอกเล่าถึงเรื่องราวของอียิปต์โบราณ ฟาโรห์ตุตันคาเมน(Tutankhamen) ทรงเป็นพระโอรสของฟาโรห์อัคเคนาตันกับพระสนมคียา พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ในปีที่4นับแต่การสวรรคตของอัคเคนาตันโดยทรงมีพระชนมายุเพียงสิบชันษาเท่านั้น เมื่อเจริญวัยขึ้นจึงทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงอนัคซูนามุน ธิดาของ ฟาโรห์อัคเคนาตันกับราชินีเนเฟอร์ตีติ ตามประเพณี ในสมัยของ ฟาโรห์ตุตันคาเมนนั้น อำนาจในราชสำนักตกอยู่ในมือของอัยย์ ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีและหัวหน้านักบวชแห่งจอมเทพอามอน กับนายพลโฮเรมเฮปผู้บัญชาการทหาร

    ตุตันคาเมน(Tutankhamen)

      เนื่องจากในยุคอาณาจักร นี้อียิปต์มีกองทหารประจำการเป็นทหารอาชีพผิดกับ ในสมัยก่อนที่จะเป็นแรงงานที่เกณฑ์มาเฉพาะในยามศึก การมีกองทัพประจำการณ์ทำให้นายทหารกลายเป็นกลุ่มอำนาจกลุ่มที่3 นอกเหนือจากฟาโรห์และหัวหน้านักบวช ฟาโรห์ตุตันคาเมนครองราชย์เพียงสิบปีเท่านั้น พระองค์สวรรคตอย่างลึกลับ จากมัมมี่ของพระองค์ได้มีการพบรอยร้าวที่กระโหลก ซึ่งแสดงว่าพระองค์น่าจะสวรรคตจากการตกจากรถศึก นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพระองค์น่าจะถูกลอบปลงพระชนม์โดยคนใกล้ตัว ซึ่งอาจจะเป็นเสนาบดีอัยย์หรือไม่ก็นายพลโอเรมเฮป

      หลังการสวรรคตของพระองค์ราชินีอนัคซูนามุนทรงส่งสาส์นไปยังกษัตริย์ฮิตไตท์ให้ทรงพระโอรส มาอภิเษกกับพระนาง และเป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์โดยพระนางแจ้งไปในสาสน์ว่า "พระนางทรงหวาดกลัวที่จะต้องอภิเษกกับข้ารับใช้ของพระนาง" หลังจากตรึกตรองอยู่นาน กษัตริย์ฮิตไตท์ก็ทรงส่งพระโอรสเดินทางมาอียิปต์ แต่ทว่าทันทีที่ขบวนเสด็จมาถึงเขตแดนอียิปต์ ก็ถูกซุ่มโจมตีและสังหารจนหมดทุกคน ทำให้ทางฮิตไตท์โกรธมาก ความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรจึงตึงเครียดยิ่งขึ้น หลังจากนั้นอัยย์ซึ่งชรามากแล้วก็อภิเษกกับเจ้าหญิงอนัคซูนามุนและ ขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์แต่ครองราชย์ได้เพียงสามปีก็ประชวรสวรรคต และในที่สุดนายพลโฮเรมเฮปก็กลายเป็นฟาโรห์พระองค์ใหม่

    การขยายอำนาจในสมัยของรามเสสที่2 (Ramses)

      หลังจากฟาโรห์โฮเรมเฮปสวรรคต ขุนทหารของพระองค์คนหนึ่งได้ทำการยึดอำนาจและขึ้นเป็นฟาโรห์รามเสสที่1 และเป็นฟาโรห์องค์แรกของราชวงศ์ที่19 ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีชื่อเสียงที่สุด และฟาโรห์ที่โด่งดังที่สุดของราชวงศ์นี้ก็คือ ฟาโรห์รามเสสที่2 ผู้เป็นโอรสของฟาโรห์เซติที่1
      รามเสสที่2 ครองราชย์ในปีที่1278 - 1212 ปี ก่อน ค.ศ. พระองค์ทรงเป็นนักปกครองที่ทรงความสามารถและนักรบที่เก่งกาจ ในสมัยของพระองค์อียิปต์ เจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งจากการค้า ทำให้มีการก่อสร้างเทววิหารและอนุสาวรีย์มากมายเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์โดยที่โด่งดัง มากที่สุดคือมหาวิหารอาบูซิมเบลซึ่งแกะสลักเป็นรูปของพระองค์และพระราชินีเนเฟอร์ตารีมเหสีของ พระองค์

    มหาวิหารอาบูซิมเบล

      นอกจากนี้ฟาโรห์รามเสสที่2ยังได้ปราบปรามชาวนูเบียทางตอนใต้จนยอมสวามิภักดิ์และ ได้ขยายอำนาจเข้าไปในเอเชียโดยปราบปรามชนเผ่าต่างๆจนราบคาบและในการ ขยายอำนาจครั้งนี้เองทำให้จักรวรรดิอียิปต์ต้องปะทะกับจักรวรรดิฮิตไตท์ซึ่งเป็น มหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางในเวลานั้น ชาวฮิตไตท์(Hittite)ตั้งถิ่นฐานบนคาบสมุทรอนาโตเลียปัจจุบัน คือประเทศตุรกี มีความสามารถในการหลอมโลหะและเป็น พวกแรกที่นำเหล็กมาใช้ อันที่จริงแล้วนับแต่ยุคของอัคเคนาตัน ทางอียิปต์กับฮิตไตท์ก็มีการกระทบกระทั่งมาตลอดเนื่องจากฝ่ายฮิตไตท์ได้ กำราบไมตานนีพันธมิตรของอียิปต์และต่อมาหลังจากตุตันคาเมนสวรรคตลง พระนางแองคลีเซนปาเตนหรืออนัคซูนามุน ได้ส่งสาส์นไปขอโอรสกษัตริย์ฮิตไตท์มาอภิเษกด้วยแต่กลายเป็นว่า เจ้าชายฮิตไตท์กลับถูกลอบสังหารในอียิปต์สร้างความตึงเครียดให้สูงขึ้น

    ฟาโรห์รามเสสที่2

      ในสมัยของรามเสสที่2 ทั้งสองฝ่ายพยายามเข้ามามีอิทธิพลในปาเลสไตน์และซีเรีย ทำให้กองทหารของฮิตไตท์และอียิปต์มีการกระทบกระทั่งกันบ่อยขึ้น ในที่สุดเพื่อคงความยิ่งใหญ่ของอียิปต์ ไว้ รามเสสที่2จึงตัดสินใจทำสงครามยึดครองเมืองคาเดซและขับไล่กอง ทหารฮิตไตท์ออกจาก ซีเรียและปาเลสไตน์ ทางฝ่ายฮิตไตท์กษัตริย์มุลวาตาลลิส(Mulwatallis) ซึ่งทราบดีว่าสักวันหนึ่งสงครามต้องเกิดขึ้น จึงเคลื่อนกองทัพมารออยู่แล้ว

    การรบที่เมืองคาเดซ

      และในปีที่1286 ก่อน ค.ศ. ฟาโรห์รามเสสที่2 ก็ทรงนำกองทัพซึ่งประกอบด้วยทหารราบ20000 คน และรถศึก 2500 คัน เข้าโจมตีกองทัพของมุลวาตัลลิสซึ่งมีรี้พลใกล้เคียงกัน ในการรบอันดุเดือด ท้ายที่สุดไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอันเด็ดขาดทั้งสองฝ่ายต่างสูญเสียรี้พลและอาวุธ เป็นจำนวนมาก และหลังจากที่มุลวาตัลลิสสวรรคตลง ทั้งสองฝ่ายจึงทำสัญญาสันติภาพระหว่างกัน โดยสนธิสัญญาฉบับนี้ถือว่า เป็นสนธิสัญญาสันติภาพฉบับแรกของโลก หลังจากนั้น กษัตริย์ฮิตไตท์ยังได้ส่งพระธิดามาอภิเษกกับฟาโรห์รามเสสที่2 เพื่อยืนยันในสันติภาพด้วย



    http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m3-9/no07-22/project/page013.html
    http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m3-9/no07-22/project/page014.html
    http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m3-9/no07-22/project/page015.html
    http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m3-9/no07-22/project/page016.html
    http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m3-9/no07-22/project/page017.html
    http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m3-9/no07-22/project/page018.html
    http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m3-9/no07-22/project/page019.html

    ขอบคุณขอรับ...

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×