ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #81 : ภารกิจไล่ล่ากลุ่ม มาฮิดี ในติมอร์(จบ)

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    ภารกิจไล่ล่ากลุ่ม มาฮิดี ในติมอร์




    ----------------------------------




    เหรียญตราของสหประชาชาติที่มอบให้แก่กำลังพลที่เข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก แพรแถบสีฟ้าหมายถึงสีขององค์การสหประชาชาติ สีแดงหมายถึง เลือด สีเหลืองหมายถึง รุ่งอรุณของวันใหม่ (ติมอร์เป็นประเทศเกิดใหม่) และสีขาวคือสีแห่งสันติภาพ




    กลุ่มทหารบ้านติดอาวุธหรือ มิลิเทีย (Militia) กำลังโจมตีประชาชนที่เรียกร้องเอกราช ในนครดิลี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของติมอร์ ด้านหลังเสื้อของพวกมิลิเทียมีอักษรว่า AITARAK (ไอทารัก) แปลว่า คมหอก ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มมิลีเทียที่มีที่มั่นอยู่ในเมืองดิลี




    นับตั้งแต่ธงไตรรงค์ได้มีโอกาสไปโบกสะบัดอยู่ในดินแดนติมอร์ตะวันออก โดยเริ่มต้นจากภารกิจรักษาสันติภาพในนามกองกำลัง “อินเตอร์เฟต” - INTERFET (International Forces in East Timor) ภายใต้การนำของพลตรี ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (ยศในขณะนั้น – ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองบัญชาการกองทัพไทย) ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นการปฏิบัติภารกิจภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติในนาม “อุนทาเอ็ต” - UNTAET (United Nations Transitional Administration in East Timor) และมาปรับภารกิจอีกครั้งเมื่อติมอร์ประกาศเอกราชและเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเป็นลำดับที่ 191 ในนาม “อุนไมเส็ต” - UNMISET (United Nations Mission of Support in East Timor)

    กำลังพลของกองทัพไทยทุกคน ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยใดของสหประชาชาติ เช่น กำลังพลของกองพันทหารราบเฉพาะกิจ 972 (Thai Infantry Battalion)

    ชุดนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำกองบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ

    ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (EOD – Explosive Ordnance Disposal)

    ชุดผู้สังเกตการณ์ทางทหาร (UNMO – United Nations Military Observers)

    หรือเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลระดับ 2 ของสหประชาชาติ ซึ่งต่างสวมหมวกแบเร่ต์สีฟ้าที่มีหน้าหมวกเป็นสัญญลักษณ์ขององค์การสหประชาชาติ ประดับแถบธงชาติสีแดง ขาว น้ำเงิน ขาว แดง ที่ไหล่ซ้าย ได้แสดงให้โลกได้ประจักษ์ถึงความเป็นมืออาชีพในการปฏิบัติภารกิจทุกภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติ จนเป็นที่กล่าวขานไปทั่วทุกสารทิศว่า ทหารไทยนั้นคือนักรบชั้นยอดชาติหนึ่งของภารกิจรักษาสันติภาพในติมอร์

    ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในหกทหารไทย ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติ ร่วมกับทหารจากนานาชาติกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ก็มีความรู้สึกไม่ต่างจากทหารไทยคนอื่นๆ ที่ต้องการจะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อประกาศศักดาของธงไตรรงค์ที่ประดับอยู่บนหัวไหล่ด้านซ้ายของเราให้เพื่อนร่วมงานจากทั่วโลกได้จดจำไปตราบนานเท่านาน

    ภารกิจในพื้นที่รับผิดชอบของเมืองไอนาโร่ (Ainaro) ที่มีผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติประจำอยู่เพียงสองคน คือตัวผมและพันตรี สัจจาด ซาลิม จากกองทัพปากีสถาน จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก “ไอนาโร่” ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงชันตอนกลางของประเทศติมอร์ เป็นพื้นที่ที่ยากลำบากต่อการลาดตระเวน แต่กลับเป็นชัยภูมิที่ดีเยี่ยมต่อการซ่อนตัวของกลุ่มทหารบ้าน หรือ มิลิเทีย (Militia) ที่ชื่อว่า กลุ่มมาฮิดี (MAHIDI) อันเป็นภาษาพื้นเมืองที่แปลว่า “ไต้ฝุ่น”

    กลุ่มมาฮิดีได้ชื่อว่าเป็นกองกำลังมิลิเทียที่มีระเบียบวินัยและเหี้ยมโหดมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในติมอร์ และยังคงเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรอคอยเวลาในการลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลติมอร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ





    ช่างเครื่องประจำเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังรักษาสันติภาพจากนิวซีแลนด์ ขณะบินลาดตระเวณผ่านหุบเขาของเมืองไอนาโร่ กองกำลังนิวซีแลนด์มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองซูไอ ใน Sector West ก่อนที่กองกำลังรักษาสันติภาพ 972 ของไทยผลัดที่ 6 จะย้ายเข้ามารับช่วงต่อและประจำอยู่เมืองซูไอจนกระทั่งจบภารกิจการรักษาสันติภาพในติมอร์





    ผมได้มีโอกาสเดินทางไปที่เมืองคาซ่า (Casa) ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของกลุ่ม มาฮิดี หลายครั้ง เพื่อรวบรวมข่าวสารจากชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจของติมอร์ที่ประจำอยู่ที่นั่น ทุกครั้งจะต้องไปเยี่ยมเยียน เนเมซิโอ โลเปซ เดอ คาวาลโย่ (Nemezio Lopez De Cavalho) รองหัวหน้ากลุ่มมาฮิดี ที่ถูกสหประชาชาติกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในหมู่บ้าน ทุกครั้งเนเมซิโอก็มักจะบอกผมว่า ไม่รู้ ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น

    เนเมซิโอคนนี้นี่แหละที่เคยพาพลพรรคมาฮิดีบุกเข้าเมืองไอนาโร่ แล้วทำการสังหารผู้หญิงและเด็ก ที่กำลังซักผ้าอยู่บริเวณบ่อน้ำสาธารณะเสียชีวิตทีเดียวถึง 13 คน

    ผมเคยถามเขาว่า “ทำไมถึงทำอย่างนั้น”

    เขาตอบสั้นๆว่า คติพจน์ของมาฮิดี คือ “ทำลายจุดอ่อน หลีกเลี่ยงจุดแข็ง” ถ้าหากเขาโจมตีพวกกู้ชาติ ฟาลินติล ที่เป็นศัตรูที่มีกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงกับมาฮิดี พวกเขาก็อาจต้องพบกับความสูญเสีย แต่ถ้าเขาโจมตีเด็กและผู้หญิงที่ปราศจากหนทางต่อสู้ โอกาสที่จะพบกับความสูญเสียของพวกมาฮิดีก็แทบจะไม่มีเลย

    ฟังคำตอบแล้วผมถึงกับอึ้งไปนานเลยทีเดียว





    ชายคนที่นั่งอยู่ตรงกลางของภาพคือ เนเมซิโอ โลเปซ เดอ คาวาลโย่ รองหัวหน้ากลุ่มมาฮิดี ที่ยังคงแอบซ่องสุมผู้คนเพื่อต่อต้านรัฐบาลติมอร์





    ยิ่งพูดคุยกับเนเมซิโอมากขึ้นเท่าไร ผมก็เริ่มสนิทสนมกับเขามากขึ้น ผมเคยคุยกับเขาโดยบอกว่า “ถ้าวันนี้ผมไม่ใช่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ แต่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง คุณจะเล่าเรื่องหรือพูดกับผมว่าอย่างไร”

    เนเมซิโอหัวเราะร่วนอย่างถูกใจ ก่อนจะตอบผมว่า “ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ แล้วมาคุยกับผม ผมก็จะบอกคุณว่า – ไปลงนรกเสียเถอะ ถ้าไม่รีบไปลงนรกที่อื่น คาซ่าแห่งนี้จะเป็นนรกของคุณ”

    มันเป็นตลกร้ายที่ผมต้องฝืนหัวเราะเลยทีเดียว และด้วยคำพูดเหล่านี้ทำให้ผมตั้งใจจะพิสูจน์ให้ได้ว่า เนเมซิโอและพวกมาฮิดีซุกซ่อนอะไรไว้ที่คาซ่าแห่งนี้

    ด้วยความพยายามในการรวบรวมข่าวสารอย่างหนัก เราก็ได้เบาะแสว่า มีความเคลื่อนไหวในยามค่ำคืนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง อาจจะมีกลุ่มคนข้ามมีกลุ่มมาฮิดี2 คนที่ข้ามมาฝั่งอินโดนีเซีย ลำน้ำออกมาจากป่า เพื่อมาพบปะกับเนเมซิโอ เกือบทุกคืน




    กองกำลังรักษาสันติภาพ 972 ของไทยในช่วงแรก (ผลัดที่ 1 – 6) มีที่ตั้งที่เมืองเบาเกา (Baucau) ทางภาคตะวันออกของติมอร์ (Sector East) ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่เมืองซูไอ (Suai) ทางตะวันตกในพื้นที่ภาคตะวันตก หรือ โควาลิม่า (Sector West - Kovalima) ติดชายแดนอินโดนีเซียในช่วงท้ายของผลัดที่ 6 และสิ้นสุดภารกิจลงในผลัดที่ 8 โดยรับผิดชอบจุดผ่านแดนต่างๆ




    โจเซ่ แมกโน เปริโร่ (Jose Magno Pereiro) หรือที่เราเรียกเขาสั้นๆ ว่า “แมกโน่” นายตำรวจติมอร์ที่ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจเล็กๆ ในเมืองคาซ่า มีลูกน้องเพียง 2 คน มักจะระล่ำระลักบอกผมทุกครั้งที่เดินทางไปเยี่ยม

    “เมื่อคืน ก็มีเสียงสุนัขเห่ากรรโชกตอนประมาณตีสอง เหมือนมีคนข้ามลำธารมาจากฝั่ง ฮาตูดู (Hatoudu) ที่อยู่ตรงข้าม ผมมั่นใจว่าต้องเป็นมิลิเทียกลุ่ม มาฮิดี ที่มาพบกับเนเมซิโอที่บ้านอย่างแน่นอน พวกมันกำลังซ่องสุมผู้คนเพื่อรอเวลาที่สหประชาชาติถอนกำลังออกไป” แมกโน่ เล่าให้ผมฟัง

    “แล้วพวกตำรวจได้ออกไปดูหรือเปล่าว่า มีความเคลื่อนไหวอะไร หรือเป็นเพียงสุนัขเห่าธรรมดาๆ” ผมซัก เพราะลำพังเสียงสุนัขเห่า คงจะบอกเหตุอะไรไม่ได้มากนัก

    “ไม่มีใครกล้าออกไปดูหรอกครับ พวกมาฮิดีเหี้ยมโหดมาก ชาวบ้านที่หมู่บ้านคาซ่าแห่งนี้กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นพวกมาฮิดีทั้งนั้น ตำรวจมีแค่ สามคน รับมือไม่ไหวแน่นอน ชาวบ้านที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเล่าให้ผมฟังว่า พวกมาฮิดีอยู่กระจัดกระจายทั่วไป บ้างก็อยู่บนยอดเขาใกล้ๆ หมู่บ้าน” เขาพูดพลางชี้มือไปบนเขาใกล้ๆ

    “บางส่วนก็อยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ” เขาตอบขณะหันหน้าไปทางแม่น้ำที่อยู่ไม่ไกลนักพร้อมกับแสดงอาการหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัด

    ตำรวจติมอร์เหล่านี้ส่วนใหญ่ เพิ่งได้รับการบรรจุเข้าไปมาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อสามเดือนที่ผ่านมาพวกเขายังเป็นชาวนา ชาวสวน แบกจอบ แบกเสียม ถูกจับมาสวมเครื่องแบบตำรวจ ฝึกระเบียบวินัยยังไม่เข้าที่เข้าทาง ยิงปืนก็ยังแทบไม่เป็น พอถูกส่งลงพื้นที่ที่มีแต่ความขัดแย้ง บางคนนอกจากไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้แล้ว ยังกลับกลายเป็นผู้สร้างปัญหาขึ้นเสียอีก

    แต่ “แมกโน่” เป็นตำรวจที่แตกต่างจากตำรวจใหม่เหล่านั้น เขาเคยเป็นตำรวจมาตั้งแต่สมัยที่อินโดนีเซียปกครองติมอร์ ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่โหดเหี้ยมมามากมาย เขาเห็นพวก โปลรี่ (POLRI – Kepolisian Negara Republik Indonesia) หรือตำรวจอินโดนีเซียจับสุภาพสตรีติมอร์ที่เป็นแนวร่วมพวกกู้ชาติขึงพืด แล้วใช้เลื่อยทำการเลื่อยกลางลำตัวจนขาดสองท่อน เสียชีวิตต่อหน้าต่อตายังอยู่ในความทรงจำของเขาตลอดเวลา






    การซักถามชาวบ้านที่ คาซ่า ของผู้สังเกตการณ์ทางทหารของไทยและกองกำลังโปรตุเกส เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มมาฮิดี ชายคนกลางในภาพที่สวมเสื้อสีฟ้าซึ่งเป็นชุดตำรวจติมอร์คือ โจเซ่ แมกโน่ เปริโร่ หัวหน้าตำรวจติมอร์ในเมืองคาซ่า




    ดวงตาของเขาที่ผ่านเหตุการณ์นองเลือดแบบนี้มานับครั้งไม่ถ้วนเต็มไปด้วยความหม่นหมอง หวาดกลัว วิตกกังวลและสิ้นหวัง ผมพยายามสบตาเขาหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นแววตาของเขามีความหวังปรากฏให้เห็นเลยสักครั้ง มันเป็นแววตาที่โศกเศร้าที่สุดแววตาหนึ่งที่ผมเคยเห็นมาในชีวิต

    ถ้าเป็นตำรวจคนอื่น ผมคงไม่เชื่อ แต่นี่คือ โจเซ่ แมกโน่ เปริโร่
    ผมจดข้อมูลต่างๆ ที่ “แมกโน่” เล่าให้ฟังลงสมุดบันทึก ก่อนที่จะส่งรายงานสถานการณ์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ซิทเรบ” - SITREP (Situation Report) กลับไปยังกองบัญชาการผู้สังเกตการณ์ทางทหารในกรุงดิลี

    ในเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ กองบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพ (United Nations Peacekeeping Forces HQ) ก็ส่งชุดลาดตระเวนจากกองพันทหารราบโปรตุเกส (POR BATT – Portuguese Infantry Battalion) มาที่เมืองไอนาโร่ที่ผมประจำอยู่ พร้อมกับแจ้งให้ผมทราบว่า จากรายงานที่ผมส่งขึ้นไปตรงกับรายงานที่รวบรวมจากจากแหล่งข่าวอื่นๆ ทำให้ปักใจเชื่อได้ว่า กลุ่มทหารบ้าน มาฮิดี ยังคงมีความเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่หมู่บ้าน คาซ่า (Casa) ไอนาโร่ (Ainaro) และ ทูริสไค (Turiscai) และกองบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพได้เตรียมเปิดยุทธการ “บ้านใหญ่” หรือ Operation Big House เพื่อกวาดล้างพวกมาฮิดีครั้งใหญ่ในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบ




    สภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาสูงชันของเมืองไอนาโร่ ทำให้ยากและเสี่ยงอันตรายต่อการลาดตระเวณประจำวันของผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติเป็นอย่างมาก




    ชุดลาดตระเวนของกองพันทหารราบโปรตุเกสที่เดินทางมาไอนาโร่ชุดนี้ ประกอบด้วย กำลังพลหนึ่งหมู่ปืนเล็กจำนวน 11 คน มีที่ตั้งปกติอยู่ที่เมือง ไอลิ่ว (Aileu) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของไอนาโร่ไปประมาณ 2 ชั่วโมง ทุกคนมีอาวุธปืนประจำกายแบบ G 3 ซึ่งก็คือปืนไรเฟิลแบบ HK 33 ที่กองทัพไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน เพียงเปลี่ยนขนาดความกว้างปากลำกล้องจาก 5.56 มิลลิเมตรเป็นขนาด 7.62 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง ชุดนี้จะร่วมงานกับผมในไอนาโร่เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่ม มาฮิดี เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์

    ปัญหาเบื้องต้นสำหรับการปฏิบัติงานร่วมกันคือ ภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทหารโปรตุเกสพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก สื่อสารกับผมแทบไม่รู้เรื่อง แต่พวกเขาสามารถสื่อสารกับชาวติมอร์ได้เป็นอย่างดี เพราะชาวติมอร์พูดโปรตุเกสได้ทุกคน อันเป็นผลมาจากการเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสนานกว่า 400 ปี

    โชคดีที่รองผู้บังคับหมู่พอพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง เราจึงเริ่มงานค้นหาความจริงกันทันที โดยผมใช้รถยนต์ประจำตัวขับนำทหารโปรตุเกสตรงดิ่งไปที่เมืองคาซ่า

    พอไปถึงทหารโปรตุเกสก็กระจายกำลังกันออกพบปะกับชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้าน ทั้งเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ และเป็นการแสดงกำลัง (show of force) ให้ชาวบ้านและกลุ่มมิลิเทียได้เห็น

    ยิ่งพูดคุยกับชาวบ้านที่ไม่ฝักใฝ่กลุ่มมาฮิดีมากเท่าใด ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มนอกกฎหมายก็ยิ่งปรากฏออกมามากขึ้นเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากไต่ถามชาวบ้านที่เคยเป็นหรือเคยสนับสนุนพวกมาฮิดี ก็จะได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่รู้ ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น





    ยานยนต์หุ้มเกราะลำเลียงพล เอ พี ซี แบบ เอ็ม 113 (APC - Armored Personnel Carrier) ของกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติจาก กองพันทหารราบออสเตรเลีย หรือ ออส แบ๊ท (Aus Batt - Australian Infantry Battalion) ขณะปฏิบัติการในพื้นที่ไอนาโร่ เพื่อป้องกันการก่อความไม่สงบจากมิลิเทียกลุ่ม มาฮิดี




    ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในติมอร์ ชาวบ้านที่เป็นพวกมาฮิดีที่เมืองคาซ่าแห่งนี้ เคยบุกลงใต้ไปยังเมืองเล็กๆ ชื่อ ซูมาไล (Sumalai) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณสิบห้านาที แล้วจับสองพี่น้องนักศึกษาติมอร์ที่เป็นแกนนำเรียกร้องเอกราชจากอินโดนีเซียมา

    นักศึกษาคนพี่ถูกยิงตายคาที่ ก่อนที่จะถูกมอเตอร์ไซค์ลากศพประจานรอบหมู่บ้านจนศพเละเทะไม่มีชิ้นดี

    ส่วนนักศึกษาคนน้องถูกพามาที่เมืองคาซ่านี่แหละ ก่อนตายเขาถูกทรมานอย่างทารุณ แล้วจับมัดกับเก้าอี้เหล็กซึ่งนำมาจากโรงเรียนที่อยู่ไม่ไกลนัก จากนั้นพวกมาฮิดีก็ราดน้ำมันเขาตั้งแต่หัวจรดเท้า ก่อนที่จะจุดไฟเผาทั้งเป็นบริเวณสนามหญ้ากลางหมู่บ้าน ตอนที่หน่วยยานเกราะของกองกำลังสหประชาชาติมาถึง ศพยังไหม้เกรียมอยู่บนซากเก้าอี้เหล็กอยู่เลย

    ดังนั้นชาวบ้านที่คาซ่านี้ จึงไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดาทั่วไป แต่เป็นพวกมาฮิดี หรือที่เราเรียกกันตามศัพท์ของกองกำลังรักษาสันติภาพว่า ex-militia หรือไม่ก็เป็นแนวร่วมของมาฮิดี ที่มีจิตวิญญาณเต็มเปี่ยมไปด้วยความเหี้ยมโหด
    ยามใดที่เราพูดคุยกับคนเหล่านี้ เราจะรู้สึกได้ถึงความเย็นชา ความไม่ใยดีกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

    รอยยิ้มที่พวกเขายิ้มให้เรา เหมือนกับยิ้มด้วยความขบขันปนเยาะเย้ย ที่พวกเราดูไม่ประสีประสาอะไรเลยกับความเคลื่อนไหวในพื้นที่แห่งนี้ แต่เราก็พยายามอย่างดีที่สุด ที่จะรวบรวมข่าวสารให้ได้เท่าที่จะทำได้

    ในที่สุดเราก็ได้ข้อสรุปว่า อาจมีการเคลื่อนไหวของพวกมาฮิดีจริง ที่ว่า “อาจ” ก็เพราะคนที่ไม่ใช่พวก มาฮิดี ที่อาศัยอยู่ในเมืองคาซ่าขณะนี้ อยู่ในสภาวะขวัญหนีดีฝ่อ ชนิดที่เสียงฟ้าร้องยามค่ำคืน ก็อาจจะกลายเป็นเสียงยิงปืนได้อย่างไม่ยากเย็น

    ซึ่งทางเดียวที่จะพิสูจน์ความจริงได้ก็คือ วางกำลังซุ่มในบริเวณที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนไหว คือริมแม่น้ำคาซ่า ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวหมู่บ้านนัก แต่ถ้าวางกำลังในวันนี้ คงไม่ได้ผลแน่ เพราะการมาของทหารโปรตุเกสครั้งนี้เอิกเกริกยิ่งกว่ามีงานประจำหมู่บ้านเสียอีก ไม่ผิดอะไรกับการแหวกหญ้าให้งูตื่นไปแล้ว

    เราจึงตกลงกันว่า รออีกสองสัปดาห์จึงจะเข้ามาวางตัวในพื้นที่ที่กำหนดไว้โดยไม่ให้ชาวบ้านรู้ตัว

    สองสัปดาห์ต่อมา กองกำลังรักษาสันติภาพของโปรตุเกสและตัวผมในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางทหาร ก็ออกเดินเท้าจากเมืองไอนาโร่ ลัดเลาะป่าเขา หลีกเลี่ยงชุมชนทุกแห่ง เพื่อไม่ให้ชาวบ้านทราบถึงการเข้าพื้นที่หมู่บ้านคาซ่าของพวกเรา มาถึงจุดซุ่มประมาณ 16.40 น.

    พื้นที่ที่เราเลือก อยู่ริมแม่น้ำ เป็นจุดที่เปลี่ยว ห่างจากหมู่บ้านพอสมควร เป็นจุดที่ชาวบ้านระบุว่า น่าจะเป็นจุดข้ามลำน้ำของกลุ่มมาฮิดี





    กองกำลังโปรตุเกสกำลังลาดตระเวนตามแม่น้ำในหมู่บ้านคาซ่า ซึ่งเป็นจุดที่คาดว่ากลุ่มมาฮิดีใช้เป็นเส้นทางในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลติมอร์ แม่น้ำแห่งนี้ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งขอด จนเหลือแต่หินดังที่ปรากฏในภาพ แต่ในช่วงฤดูฝน น้ำจะเชี่ยวมากจนไม่สามารถข้ามไปมาได้





    กองกำลังโปรตุเกสนำกล้องส่องกลางคืนมาด้วยสามตัว หลังจากที่วางตัวตามจุดต่างๆ แล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คือ การรอคอย เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า ยุงติมอร์ตัวโตๆ บินวนเวียนรอบตัวเราเต็มไปหมด ไม่มีการใช้สเปรย์หรือยากันยุงใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเกรงว่ากลิ่นของสเปรย์จะทำให้เป็นที่สังเกตได้ในระยะไกล

    นาฬิกาบอกเวลาห้าทุ่มกว่าๆ ป่าละเมาะริมแม่น้ำที่เรานอนหมอบวางตัวอยู่มืดสนิท ผมแหงนหน้ามองท้องฟ้า ดวงดาวนับล้านดวง ปรากฏระยิบระยับเต็มท้องฟ้า มันสวยงามจนแทบไม่อยากกระพริบตา ดูราวกับดวงดาวเหล่านั้นกำลังมุงดูการปฏิบัติภารกิจอันสำคัญยิ่งของพวกเรากองกำลังรักษาสันติภาพในครั้งนี้

    ผมแอบกระซิบกับดวงดาวในใจว่า “รู้ไหมว่า ข้าคือทหารไทย ข้าคือกองกำลัง 972 .... จงจดจำพวกข้าไว้นะ”





    เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไทย ขณะกำลังถูกลำเลียงโดยเครื่องบินลำเลียงของสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในติมอร์ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการรักษาสันติภาพของไทย




    ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบสนิท เงียบจนได้ยินเสียงหายใจของทหารโปรตุเกสที่นอนหมอบอยู่ข้างๆ ทันใดนั้น ทหารโปรตุเกสที่อยู่ติดกับผมซึ่งมีกล้องส่องกลางคืนก็ใช้มือสะกิดแขนผมอย่างแผ่วเบา พร้อมๆ กับมีเสียงเหมือนคนเหยียบก้อนหินและก้อนกรวดของแม่น้ำดังก๊อกแก๊กๆ

    สปอตไลท์แบบพกติดตัวของทหารโปรตุเกสฉายวาบออกไปยังต้นเสียงพร้อมๆ กับเสียงตะโกนของทหารโปรตุเกสให้เป้าหมายหยุดอยู่กับที่ ชายฉกรรจ์สามคนถูกแสงไฟจับยืนตัวแข็งทื่อ ที่เหลือด้านหลังอีกนับไม่ถ้วน เผ่นพรวดหายเข้าป่าละเมาะไปอย่างรวดเร็ว

    ทหารโปรตุเกสโผล่ออกจากจุดซุ่ม พุ่งเข้าชาร์จชายสามคนที่ยืนยกมือขึ้นเหนือศีรษะ หน้าตาตื่นตระหนก แต่ละคนถูกจับกดให้นอนคว่ำหน้าลงกับพื้น แล้วใช้สายเอ็นพลาสติคสีขาวมัดมือไพล่หลัง จากการตรวจค้นไม่พบอาวุธปืน มีแต่มีดดาบคาตาน่า (Katana) และดาบมาเชอเต้ (Machete) ที่คมกริบซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำตัวของคนติมอร์

    จากการซักถาม พวกเขายอมรับว่าเคยเป็นพวกมาฮิดี แต่ตอนนี้เป็นชาวบ้านธรรมดาออกหาของป่าแล้วกำลังจะกลับบ้าน ทั้งผมและทหารโปรตุเกสต่างไม่เชื่อ เรารอจนรุ่งเช้า จึงนำตัวทั้งสามคนไปให้ชาวบ้านดู

    ชาวบ้านยืนยันว่าทั้งสามคนเป็นพวกมาฮิดีจริง และหนีออกไปจากหมู่บ้านคาซ่านานแล้ว ตอนแรกได้ข่าวว่าหนีไปอยู่ฝั่งอินโดนีเซีย ตอนนี้กลับมาปรากฏตัวอยู่ในพื้นที่

    ผมปล่อยให้การดำเนินการสอบสวนเป็นเรื่องราวของตำรวจสหประชาชาติต่อไป เพราะหมดหน้าที่ของพวกเราแล้ว ความสำเร็จของภารกิจนี้ทำให้กองบัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติสามารถทราบข่าวสารเพิ่มเติมว่า พวกมาฮิดีกำลังเตรียมการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นภารกิจอะไร เพียงแต่มีการระดมผู้คนเพิ่มขึ้น และย้ายฐานจากหมู่บ้านคาซ่า ไปยังหมู่บ้านออสนาโค่ (Osnaco) ในเมืองทูริสไค ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของผมเหมือนเดิม แต่อยู่ห่างไกลออกไปมาก การลาดตระเวนด้วยยานยนต์เข้าไปไม่ถึง ต้องจอดรถไว้ที่สถานีตำรวจทูริสไค แล้วจึงเดินข้ามเขาต่ออีกครึ่งวันจึงจะถึง ด้วยเหตุที่อยู่ห่างไกลจากการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่สหประชาชาตินี่เอง ทำให้มาฮิดีเลือกเป็นจุดซ่องสุมผู้คนแทนหมู่บ้านคาซ่า

    อย่างไรก็ตามความสำเร็จของเราในครั้งนี้ ถือว่าสามารถทำให้พวกมาฮิดีต้องระงับแผนการต่างๆ เอาไว้ระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็ทำให้รัฐบาลติมอร์มีเวลาหายใจได้คล่องคอมากขึ้น

    ต่อมาภายหลังทราบว่า พวกมาฮิดีได้สลายขบวนการของตนลง เพราะมีการจัดตั้งกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างเปิดเผยโดยกองพันทหารติมอร์ที่มีชื่อว่า กองพันฮีโร่ ซึ่งไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ทำให้เมฆหมอกของสงครามกลางเมืองปกคลุมประเทศติมอร์อีกครั้ง แต่การปฏิบัติการที่หมู่บ้านคาซ่าของกองกำลังสหประชาชาติในครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นที่กล่าวขานของชาวติมอร์ไปอีกตราบนานเท่านาน





    ภาพผู้เขียนขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้สังเกตุการณ์ทางทหารของสหประชาชาติ และกองกำลังรักษาสันติภาพของโปรตุเกส ก่อนออกปฏิบัติภารกิจค้นหากลุ่ม มาฮิดี ภาพนี้ถ่ายหน้าศาลาว่าการเมืองไอนาโร่ที่ถูกเผาจนเหลือแต่ซาก ลานด้านหน้าศาลาว่าการเมืองฯ ถูกใช้เป็นสนามเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ


    -----------------------------------

    ภารกิจไล่ล่ากลุ่ม มาฮิดี ที่ไอนาโร่ ในติมอร์ตะวันออก

    โดยพันโท ศนิโรจน์ ธรรมยศ

    ลงพิมพ์ในหนังสือวารสาร Military ฉบับที่ 23 เดือนสิงหาคม 2552
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×