ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #80 : ครั้งหนึ่งในภารกิจการรักษาสันติภาพ ตอนที่ 3

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    ครั้งหนึ่งในภารกิจการรักษาสันติภาพ ตอนที่ 3



    ให้โลกเขาลือ ว่าพวกข้าคือ กองกำลัง 972




    หน้าที่ของผู้สังเกตุการณ์ทางทหารก็คือการลาดตระเวณด้วยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ รถคันนี้ยี่ห้อ แลนโรเวอร์ สมรรถนะเยี่ยมเมื่อ 3 ปีมาแล้ว แต่ตอนนี้ ผ่านมือ ผ่านเท้าอันโม่มานับคนไม่ถ้วน มันก็เลยเหมือนรถแก่ๆ ที่ต้องการการบำรุงรักษาอย่างพิเศษ

    แต่เผอิญที่ ฐานของผมที่ไอนาโร่ ไม่มีอู่เลยแม้แต่อู่เดียว การบำรุงรักษาจึงต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้รถเอง เช้ามาต้องเช็คน้ำมันเครื่อง น้ำกลั่น สารพัดที่จะเช็คได้ เพราะถนนหนทางวิบากจริงๆ

    ก่อนออกรถก็ไม่ลืมที่จะสวดมนต์ สวดมนต์จริงๆนะครับ ไม่ใช่ล้อเล่น เพราะถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เขาสูงชัน ลื่นไถลไปก็หลายครั้ง เราต้องลุยเข้าไปทุกที่ ฝนฟ้าตกอย่างไรก็ต้องไป ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

    เพราะหน้าที่ที่เราทำในครั้งนี้ มันเป็นหน้าที่ที่มีธงไตรรงค์ประดับอยู่ ธงชาติไทยจะเป็นสิ่งการันตีในเนื้องานของเราตลอด เพราะเวลาที่ทหารต่างชาติเรียกเรา เขาไม่เรียกเราว่า พันตรีศนิโรจน์ แต่เขาจะเรียกเราว่า พันตรีไทยแลนด์ คนติมอร์เห็นเราก็เรียกเราว่า ไตลั่น ไตลั่น หรือ ไทยแลนด์ ไทยแลนด์

    เราจึงเป็นเสมือนตัวแทนกองทัพไทย ในการปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพร่วมกับนานาชาติขององค์การสหประชาชาติ เราจะไม่ยอมให้ชาติใดมาดูแคลนทหารจากกองทัพไทยเป็นอันขาด ดังนั้น เท่าไรเท่ากัน ถึงไหนถึงกัน จนในที่สุด ตอนจบภารกิจ 1 ปี ผู้สังเกตุการณ์ทางทหารของไทยทั้ง 6 คนล้วนต่างได้รับคำชมเชยจากองค์การสหประชาชาติทุกคน

    ผู้สังเกตุการณ์ทางทหารหรือ อันโม่ จะได้รับค่าตอบแทนค่อนข้างสูง คือได้รับวันละ 95 เหรียญยู เอสดอลล่าร์ ตอนแรกก็ดีใจที่ีค่าแรงเยอะมาก แต่เอาเข้าจริงๆ ที่ค่าแรงแพงก็เพราะการเสี่ยงภัยมีสูงนั่นเอง

    เส้นทางลาดตระเวณบนภูเขาสูงเทียมเมฆ เทียมหมอกนั้น คือพื้นที่ลาดตระเวณของเรา ที่ต้องขึ้นไปดูแลชาวติมอร์ว่า ยังคงถูกรังแกจากพวกทหารบ้าน หรือโจรขโมยที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงหรือไม่




    กลุ่มมิลิเทียพร้อมธงชาติอินโดนีเซียขณะเคลื่อนกำลังด้วยมอเตอร์ไซค์ออกทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่เรียกร้องเอกราชจนเกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมนับครั้งไม่ถ้วน



    บางครั้งรถเข้าไม่ถึงก็ต้องลาดตระเวณเดินเท้าเข้าไป (foot patrol) มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเดินเกือบ 2 วัน เพื่่อเข้าไปหาข่าวสารตามสั่งการของกองบัญชาการในกรุงดิลี ค่ำไหนนอนนั่น ยุงก็ชุมอย่างกับอะไรดี ยุงไม่กัดเปล่า แต่เจ้ายุงพวกนี้ซึ่งอุดมไปด้วยเชื้อมาเลเรีย จะถ่ายเชื้อเหล่านี้มาสู่คน คนติมอร์ทุกคนต้องเคยเป็นมาเลเรียอย่างน้อยคนละครั้ง

    เพื่อนผมเป็นนายทหารจากบราซิล เจอมาเลเรียสัญชาติ ติมอร์เข้าไป เกือบตาย ต้องส่งตัวกลับประเทศ เป็นอันจบภารกิจไปเลย

    อย่างที่เล่าตั้งแต่ตอนแรกว่า ที่ไอนาโร่ เป็นฐานของพวกมาฮิดี ซึ่งเข่นฆ่าประชาชน เผาเมืองเสียจนกลายเป็นเมืองร้าง ล่ามชาวติมอร์เล่าให้ฟังว่า วันที่พวกมาฮิดี เข้ามาเผาเมือง ชาวเมืองหนีขึ้นไปหลบอยู่บนเขาที่อยู่ด้านหลังของผมในภาพ ตกกลางคืน มองลงมาที่เมือง เห็นแต่เปลวเพลิงลุกไหม้ ทั้งเมืิอง เพลิงเผาผลาญเมืองนี้กันเป็นวันๆเลยทีเดียว

    ไม่เฉพาะพวกมาฮิดีเผาเมืองเท่านั้น ทหารอินโดนีเซียก็เผาค่ายของตัวเองก่อนถอนกำลังกลับประเทศ บ้านพักของทหารอินโดนีเซีย ก็ถูกเผาโดยทหารอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน




    การแต่งกายของนักรบโบราณชาวติมอร์ ติมอร์ประกอบด้วยชาวเผ่าต่างๆเป็นจำนวนมาก แต่ละเผ่ามีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ทำให้ขาดความเป็นชาติ ขาดศูนย์รวมจิตใจ จนบางครั้งชาวเผ่าเหล่านี้ก็ต่อสู้รบพุ่งกันเอง



    พอพวกมาฮิดดีเผาบ้านเรือน โรงไฟฟ้า โรงพยาบาล จนราบเรียบแล้ว ก่อนจะหนีไปฝั่งอินโดนีเซีย ก็จัดการเผาบ้านตัวเอง ไม่ให้ใครเข้ามาอยู่ แล้วก็หนีไป พอพวกมาฮิดีหนีไป ชาวบ้านก็ลงจากเขารอบๆเมือง มาช่วยกันเผาบ้านของพวกมาฮิดีที่หลงเหลืออยู่ด้วยความแค้น มันเผากันไป เผากันมาแบบนี้ ไอนาโร่ก็เลยเหลือแต่ซากแบบที่เป็นอยู่

    ที่ไอนาโร่มีหน้าผาสูงชันอยู่แห่งหนึ่ง วิ่งออกมาจากเมืองเพียง 5 นาทีก็ถึง หน้าผาอยู่ติดขอบถนนเลยทีเดียว หน้าผาแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า จาร์กาต้าร์ ทู หรือ จาร์กาต้าร์ สอง เป็นสถานที่ที่ทหารอินโดนีเซียจับพวกกบฏมาโยนทิ้งเป็นๆ ลงไปในเหวลึก

    ดังนั้นถ้าพวกกบฏถูกทหารอินโดนีเซียจับ แล้วบอกว่า จะพาไปจาร์กาต้าร์ ก็อย่าเพิ่งดีใจว่าจะได้ไปเที่ยวเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เพราะจาร์กาต้าร์ที่กำลังจะไปก็ คือหน้าผามรณะนี่เอง

    ไอนาโร่ในช่วงสงครามกลางเมือง เป็นฐานที่มั่นของประธานาธิบดี ซานาน่า กุสเมา ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และคนแรกของติมอร์ ในการต่อต้านการกองทัพอินโดนีเซีย ด้วยความที่เมืองเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีถ้ำ มีหลืบเยอะแยะมากมาย ยากแก่การค้นหา ทหารอินโดนีเซียเอาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดครั้งแล้ว ครั้งเล่า ยังทำอะไรพวกกบฏไม่ได้เลย

    ไอนาโร่เป็นฐานของทหารอินโดนีเซีย 2 กองพัน กองพันแรกเป็นทหารราบธรรมดา ที่เรียกว่า ทีเอ็นไอ มาจากคำว่า Tentara Nazional Indonesia ย่อเป็น TNI ออกเสียงว่า เตเอ็นอี ในภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า ทหารกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย

    แต่อีกกองพันเป็นทหารหน่วยรบพิเศษ หรือที่เรียกว่า โคปาสซุส มาจากภาษาอินโดนีเซียว่า Kommando Passukan Kusus ย่อเป็น Kopassus พวกนี้น่ากลัวมาก ที่จับกบฏไปโยนลงเหวจาร์กาต้าร์ก็พวกโคปาสซุสนี่แหละครับ

    พวกมาฮิดี มีฐานที่มั่นลงไปทางใต้ของตัวเมือง ประมาณ 30 นาทีด้วยการขับรถ ชื่อหมู่บ้าน คาซ่า (CASA) เป็นแหล่งซ่องสุมใหญ่ของมาฮิดี หัวหน้าชื่อ แคนซิโอ โลเปซ เดอ คาวาลโย่ (Cancio Lopez De Cavalho) ที่สร้างความโหดร้ายด้วยการฆ่าผ่าท้องตามที่เล่ามาแล้ว




    เฮลิคอปเตอร์แบบ MI 8 ของกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ ขณะร่อนลงจอดในพื้นที่กลางหมู่บ้านคาซ่า เพื่อปฏิบัติการตรวจค้นกลุ่มมาฮิดี ที่อาจซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้าน




    ตอนนี้แคนซิโอ หนีไปอยู่ฝั่งอินโดนีเซีย เพราะทางสหประชาชาติจะจับตัวขึ้นศาล แต่อินโดนีเซียยังเงียบอยู่ เหลือแต่น้องชาย ชื่อ เนเมซิโอ โลเปซ เดอ คาวาลโย่ (Nemezio Lopez De Cavalho) ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ดี มีบุคคลิกสุขุม ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับพี่ชายของเขาตลอด เนเมซิโอหนีไปฝั่งอินโดนีเซียไม่นาน ก็กลับมามอบตัว เพราะเขาไม่ได้ฆ่าใคร




    ชายคนนั่งกลางนี่แหละครับ เนเมซิโอ โลเปซ เดอ คาวาลโย่ รองหัวหน้ากลุ่ม มาฮิดี



    ตอนที่ผมอยู่ เราต้องคอยไปเยี่ยมเขา ประการแรกก็เพื่อดูว่า เขายังคงเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลติมอร์อยู่หรือไม่ เพราะมีข่าวลือบ่อยๆ ว่า มีการลำเลียงอาวุธเข้ามาที่บ้านของเนเมซิโอ ประการที่สองก็เพื่อดูว่า เขาได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลติมอร์หรือไม่ มีการกลั่นแกล้งในลักษณะการแก้แค้นจากประชาชนที่ถูกพวกมาฮิดีกระทำการทารุณกรรมหรือเปล่า เรียกว่า เจ้าหน้าที่สหประชาชาติต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

    ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็้นอย่างไรในวันนั้น แต่วันนี้ ติมอร์ที่เป็นประเทศเอกราชเกิดใหม่ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ประชาชนอดอยากยากจน ว่ากันว่า ประชาชนติมอร์หนึ่งคนต้องสูญเสียสมาชิกครอบครัวไปอย่างน้อยครอบครัวละหนึ่งคน เพื่อแลกกับการได้เอกราชมา ไม่จากการสู้รบ ก็ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ มันจึงไม่ผิดนัก ที่เราจะเรียกเอกราชของติมอร์ ว่า เอกราชเลือด


    (โปรดติดตามตอนที่ 4)

    ภารกิจชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่ (Mobile Patrol Team)

    ในเมือง ไอนาโร่ (Ainaro)

    ของผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติ

    (UNMO - United Nations Military Observer)

    ตอนที่ 3

    ------------------------------------
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×