ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #78 : ครั้งหนึ่งในภารกิจการรักษาสันติภาพ ตอนที่ 1

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    ครั้งหนึ่งในภารกิจการรักษาสันติภาพ ตอนที่ 1

    ภารกิจผู้สังเกตุการณ์ทางทหารประจำกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก
    ตอนที่ 1





    ภาพนี้ถ่ายกับภูเขาสลับซับซ้อนของเมือง ไอนาโร่ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งพวกกู้ชาติ ฟาลินติล (Falintil) ใช้เป็นสถานที่หลบซ่อนในการต่อสู้กับกองทัพอินโดนีเซีย



    จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดที่ 17 ของประเทศอินโดนีเซีย ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวน องค์การสหประชาชาติ จึงได้มติให้ส่งกองอำลังรักษาสันติภาพเข้าไปให้ความคุ้มครองชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ เริ่มตั้งแต่กองกำลัง INTERFET (International Forces in East Timor) ซึ่งประเทศไทยก็ได้ส่งกองกำลังเข้าร่วม โดยมี พล.ต. ทรงกิตติ จักกาบาตร์ (ยศในขณะนั้น) เป็นรอง ผบ.กองกำลัง

    ต่อมากองกำลังนี้ได้แปรสภาพเป็น UNTAET (United Nations Transitional Administration in East Timor) มีหน้าที่ในการบริหารติมอร์ตะวันออก เพื่อเตรียมการเป็นประเทศเกิดใหม และในท้ายที่สุด UNTAET ก็กลายเป็น UNMISET (United Nationsl Missions of Support in East Timor) ทำหน้าที่ ในการให้การสนับสนุน ประเทศติมอร์ตะวันออกภายหลังจากการได้รับเอกราชเป็นประเทศที่ 191 ขององค์การสหประชาชาติ

    กองทัพไทยได้ให้การสนับสนุนภารกิจในการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดกำลัง ทหารราบในนาม กองกำลังเฉพาะกิจ 972 จำนวน 1 กองพันทหารราบ (9 หมายถึงรัชกาลที่9, 72 หมายถึงพระชนมายุ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า่อยู่หัวในปีที่กองกำลังเดินทางไปติมอร์ตะวันออกเป็นครั้งแรก) ชุดผู้สังเกตุการณ์ทางทหารจำนวน 6 คน (United Nations Military Observers หรือเรียกสั้นๆว่า อันโม่ UNMO) เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ วัตถุระเบิดหรือ EOD (Explosive Ordnance Disposal) เจ้าหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ ประจำกองกำลังสหประชาชาติ หรือ PKF กำลังพลประจำโรงพยาบาลระดับ 2 ของสหประชาชาติ ซึ่งเดิมอยู่ที่เมืองเบาเกา ภายหลังย้ายมาอยู่ที่เมืองหลวงคือ เมืองดิลี่ (Dili)

    นอกจากนี้ก็ยังมีกำลังพลในชุดสำนักงานผู้แทนชาติไทย หรือ Thai NCE (Thai National Command Element) จะเห็นได้ว่า กำลังพลของกองทัพไทย เข้าไปมีส่วนอย่างมาก ในการก่อกำเนิด ประเทศ ติมอร์ตะวันออก

    ตัวผมเองก็ได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในการรักษาสันติภาพในติมอร์ตะวันออก ในฐานะ ผู้สังเกตุการณ์ทางทหาร หรือ อันโม่ (UNMO - United Nationsl Military Observers)เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 7ม.ค.46 - 7ม.ค.47 โดยมีตัวแทนกองทัพไทยรวม 6 คน ชั้นยศ พันตรี จาก กองบัญชาการทหารสูงสุด 1 คน คือ ผมเอง และเพื่อนๆ จาก ทบ. 4 คน จาก ทร. 1 คน ร่วมในภารกิจดังกล่าว

    หลายคนสงสัยว่า ภารกิจผู้สังเกตุการณ์ทางทหารนี่ มันทำอะไรบ้าง พวกอันโม่ อย่างผม จะมีหน้าที่ที่แตกต่างไปจากกองกำลังทั่วไป ความเป็นอยู่ก็ไม่เหมือนกัน แตกต่างกันอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟัง เป็นลำดับๆ นะครับ

    เริ่มจากความเป็นอยู่เป็นอันดับแรก พวกเราทั้ง 6 คน จะต้องไปรวมกับผู้สังเกตุการณ์ทางทหารจากทั่วโลก จำนวนเกือบ 150 คน กระจัดกระจายไปอยู่ตามฐานต่างๆ ทั่วประเทศติมอร์ ฐานละ 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง ฐานของพวกอันโม่ ก็ตั้งอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่มีการเข่นฆ่าทำลายล้างกันหรือไม่ก็อยู่ตามแนวชายแดนระหว่างติมอร์กับอินโดนีเซีย

    ดังนั้นสภาพความเป็นอยู่ของพวกอันโม่ จึงเป็นสภาพที่อยู่แบบตามมี ตามเกิด ตามสภาพภูมิประเทศ อย่างฐานแรกที่ผมประจำอยู่ ก็คือ เมืองไอนาโร่ (Ainaro) ซึ่งเป็นเมืองที่ได้รับความเสียหาย จากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ เป็นอันดับสองของประเทศ

    ผมประจำอยู่ที่เมืองนี้ 4 เดือน 2 เดือนแรกมีเพื่อนร่วมงานเป็น พันตรีจากปากีสถาน 2 เดือนหลัง เพื่อนร่วมงานเปลี่ยนเป็น พันตรี จากประเทศออสเตรเลีย ฐานนี้ มีอันโม่เพียง 2 คน ที่พักก็เป็นบ้านที่ถูกเผาจนเกรียมไปทั้งหลัง อุดมไปด้วยแมงป่อง แถมอากาศหนาวมาก เพราะเมืองนี้อยู่ สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1000 เมตร เรียกว่าอยู่บนยอดเขาเลยก็ว่าได้ บ่ายๆ จะมีก้อนเมฆลอยผ่านเรี่ยถนนหน้าบ้านพักเลยทีเดียว นอกจากแมงป่องแล้ว เมืองนี้ยังเต็มไปด้วยมาเลเรีย และอหิวาห์



    ซากโรงพยาบาลในเมือง ไอนาโร่ ที่ถูกเผาจนไม่เหลือซาก ทำให้ชาวเมืองไม่มีหมอ ไม่มีระบบสาธารณสุขหลงเหลือ วิถีชีวิตย้อนยุคกลับไปสู่ยุคดึกดำบรรพ์


    นึกภาพเมืองนี้ไม่ออก ให้นึกถึงเมืองใด เมืองหนึ่งในแอฟริกา ที่เหลือแต่ซาก เพราะเมืองกว่า 90 เปอร์เซนต์ ถูกพวกอินโดนีเซียเผาจนราบเรียบ ไฟฟ้าไม่มี เพราะโรงไฟฟ้าถูกเผา กลางคืนมืด แบบเอาผ้าดำคลุมศรีษะ คือ มืดแบบมองอะไรไม่เห็น แม้เมื่อสายตาชินกับความมืด

    น้ำปะปาอาศัยน้ำจากภูเขา เพราะท่อน้ำถูกทำลาย เวลาอาบน้ำ ห้ามน้ำเข้าปาก เพราะเต็มไปด้วยเชื้ออหิวาห์ แปรงฟันต้องใช้น้ำดื่มแปรง อาหารต้องซื้ออาหารกระป๋อง เพราะถ้าจะ หาซื้อเนื้อจากชาวบ้าน จะเจอแต่เนื้อวัวที่ผอมกระหร่อง เนื้อแพะ หรือแกะที่ไม่แน่ใจว่ามีเชื้อโรคอะไรบ้าง เพราะมันผอมโกรก มีแต่หนังหุ้มกระดูก

    พวกอันโม่จากยุโรป ภูมิต้านทานน้อยเคยท้องร่วงเกือบตาย เพียงเพราะดื่มน้ำจากชาวบ้านมาแล้ว ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง ในเรื่องสุขภาพ และความเป็นอยู่ให้มาก

    อันดับต่อมาคือ ภารกิจ หน้าที่ของอันโม่ คือการสังเกตุการณ์ และรายงานให้กองบัญชาการในเมืองหลวงทราบว่า ในแต่ละวัน สถานการณ์ การเข่นฆ่ากัน มีหรือไม่ ประชาชนเป็นอย่างไร พวกมิลิเทีย (Militia) หรือทหารบ้าน ที่ฝ่ายอินโดนีเซียฝึกฝนเอาไว้ ให้เข่นฆ่าชาวบ้าน มีความเคลื่อนไหวอยู่อีกหรือเปล่า

    ดังนั้น เช้าขึ้นมา พวกอันโม่ จะต้องออกทำการลาดตระเวณ ด้วยยานพาหนะ คือ รถโฟร์วีล ขับไปตามเมืองต่างๆ เพื่อสืบทราบสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน การลาดตระเวณจะไม่มีอะไรยุ่งยากเลย ถ้าหากถนน หนทางในติมอร์นั้นสะดวกสบาย



    เส้นทางลาดตระเวนสูงเทียมเมฆ ถนนหนทางคดเคี้ยว เต็มไปด้วยหน้าผาสูงชัน


    แต่ในความเป็นจริง ถนนที่ติมอร์นั้น ชำรุดทรุดโทรม แคบ สองข้างทางเต็มไปด้วยหุบเขา และหน้าผาที่สูงชัน ระยะทางเพียง 20 กิโลเมตรในไอนาโร่ ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง ถนนจะแคบและคดเคี้ยว คดเคี้ยวแบบคลิ๊ปหนีบกระดาษ ซ้ายคือภูเขาสูงชัน ขวาคือหน้าผา และหุบเหวลึก นี่คือ ชีวิตเสี่ยงภัย ประจำวันของอันโม่ทุกคน ในติมอร์ตะวันออก

    ผมประสบอุบัติเหตุ ภูเขาถล่มใส่รถจนเสียหายยับเยิน เกือบเอาชีวิตไม่รอดมาครั้งหนึ่ง อีกครั้งหนึ่ง ลาดตระเวณข้ามแม่น้ำ น้ำป่าเกิดไหลบ่ามาพอดี โชคดีรถใกล้ถึงฝั่ง ไม่เช่นนั้นคงไหลไปกับกระแสน้ำ

    เมื่อลาดตระเวณเสร็จแล้ว ก็ต้องรีบกลับมารายงานประจำวัน ที่ทำงานของอันโม่ จะมีีเครื่องปั่นไฟ และดาวเทียม เพื่อให้อันโม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ โดยใช้โทรศัพท์ วิทยุ และอินเตอร์เน็ท อันโม่ทุกคนจะต้องส่งรายงานประจำวันทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด นั่นหมายความว่า อันโม่ทุกคนจะต้อง ลาดตระเวณทุกวันนั่นเอง

    อันโม่มักจะมีเรื่องราวสนุกๆ เพราะต้องลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน มีวิถีชีวิตร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ได้มีโอกาสศึกษาวัฒนธรรมของท้องถิ่น ได้อย่างลึกซึ้งถึงเนื้อแท้เลยทีเดียว มันจึงเป็นประสบการณ์ที่หาได้อย่างยากยิ่ง

    ที่สำคัญที่สุดก็คือ ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีธงไตรรงค์ประดับอยู่บนหัวไหล่ด้านซ้ายของเครื่องแบบ มันเป็นความภาคภูมิใจอย่างหาสิ่งใดมาเสมอเหมือน เพราะนี่คือการประกาศศักดาแห่งความเป็นทหารไทยให้โลกได้ประจักษ์ หน้าที่ของพวกเรา ทหารไทยในติมอร์จึงเป็นหน้าที่แห่งความภาคภูมิใจ ที่พวกเราในนาม กองกำลังเฉพาะกิจ 972 จะไม่มีวันลืมเลือน



    ซากเมือง ไอนาโร่ บริเวณจัตุรัสกลางเมือง ด้านหลังคือ อาคารโรงแรม (Inn) ซึ่งถูกเผาจนหมดสิ้น



    (โปรดติดตามตอนที่ 2) 

    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=vuw&date=12-07-2009&group=3&gblog=3

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×