ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #70 : สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่หนึ่ง

    • อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 52


    สงครามกลางเมืองอเมริกา ตอนที่หนึ่ง

    พิรัส จันทรเวคิน

    ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีตของตน


    สงครามกลางเมืองอเมริกา (1861-1865) มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางแนวคิดระหว่างพวกหัวก้าวหน้าทางเหนือกับพวกอนุรักษ์นิยมทางใต้ ฝ่ายแรกหรือที่เรียกว่าพวก Abolitionist ต้องการที่จะให้อิสระกับแรงงานทาสผิวดำทั้งหมด ตามแนวคิดที่ว่าสหรัฐอเมริกาควรจะเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันดังที่เขียนไว้คำประกาศอิสระภาพจากอังกฤษ ด้วยเหตุนี้การคงไว้ซึ่งระบบทาสจึงเป็นเสมือนหนึ่งตราบาปที่ติดตัวของของประเทศ เพราะขัดกับหลักการที่ได้ประกาศเอาไว้แต่แรก ในขณะที่ฝ่ายหลังต้องการที่จะคงไว้ซึ่งระบบทาสเพื่อใช้แรงงานในไร่ฝ้ายซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักของภูมิภาค รัฐบาลกลางไม่มีสิทธิ์ใดๆที่จะมาก้าวก่ายกิจการภายในของตน

    ทั้งสองฝ่ายได้เดินทางมาถึงจุดแตกหักเมื่ออับบราฮัมม์ ลินคอนน์ ทนายความหนุ่มจากรัฐอิลินอยย์และผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 1860 แม้ว่าแนวคิดของลินคอนน์นั้นค่อนข้างจะเป็นสายกลาง คือมิใช่การยกเลิกระบบทาสติดที่ดินทั้งหมด แต่เป็นการยับยั้งการขยายตัวของระบบทาสจากจำนวนรัฐที่มีทาสอยู่ก่อนแล้ว แต่กระนั้นก็ตามบรรดาเจ้าของที่ดินฝ่ายใต้ก็ยังทำใจยอมรับไม่ได้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้รัฐเซาท์คาโรไลนาตามมาด้วยมลรัฐทางตอนใต้อีกหกแห่งจึงประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง และจัดตั้งประเทศของตนเองขึ้นในนามของสมาพันธ์รัฐฯหรือ Confederate States of America เมื่อเดือนมีนาคม 1861 มีเมืองหลวงอยู่ที่ริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย และมีอดีตรัฐมนตรีสงคราม เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นประธานาธิบดี



    รัฐบาลลินคอนน์ปฏิเสธการยอมรับและประกาศทันทีว่าฝ่ายใต้เป็นขบถ ในขณะที่ฝ่ายใต้เองก็อ้างว่าพวกตนมีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในการแยกประเทศ ทั้งนี้พราะเมื่อมีการก่อตั้งประเทศใหม่ๆก็มาร่วมด้วยความสมัครใจ ดังนั้นเมื่อไม่พอใจที่จะอยู่ร่วมกัน ก็สมควรที่จะได้รับสิทธิ์ในการแยกตัวได้เช่นกัน สหรัฐอเมริกาในยุคนั้นจิตสำนึกในความเป็นรัฐชาติมาทีหลังจิตสำนึกที่มีต่อบ้านเกิด ดังจะเห็นได้จากเมื่อตอนที่วีรบรุษในตำนานอย่าง โรเบิรตต์ อี ลี ได้รับการเสนอตำแหน่งผู้บัญชาการทหารจากรัฐบาลกลาง หลังจากที่ใช้เวลาคิดเพียงหนึ่งคืน นายพลลีได้ตอบปฏิเสธและยื่นใบลาออกจากราชการ เพื่อกลับไปรับใช้บ้านเกิดที่เวอร์จิเนียซึ่งได้ประกาศเข้ากับฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯ

    ฝ่ายใต้ได้จัดตั้งกองทัพอันเกรียงไกรขึ้นมาคือกองทัพแห่งเวอร์จิเนียเหนือหรือ Army of Northern Virginia ภายใต้การบังคับบัญชาของลี ในขณะที่ฝ่ายเหนือมีกองทัพแห่งโปรโตแมคหรือ Army of the Potomac เป็นกองกำลังหลัก การรบเริ่มขึ้นด้วยการที่ฝ่ายใต้เปิดฉากโจมตีฟอร์ตซัมเตอร์ของฝ่ายรัฐบาลกลางที่ตั้งอยู่ที่เมืองชารล์ตัน รัฐเซาท์คาโรไลนาในวันที่ 12 เมษายน 1861 การกระทำอย่างอุกอาจในครั้งนี้สร้างความโกรธแค้นให้กับมวลชนฝั่งเหนือ ประธานาธิบดีลินคอนน์สั่งเรียกระดมพลจำนวน 75,000 นายภายในระยะเวลาสามเดือน การระดมพลดังกล่าวส่งผลให้มลรัฐทางใต้อีกสี่แห่งไม่พอใจและประกาศแยกตัวเป็นอิสระ โดยรัฐสุดท้ายที่ประกาศเข้ากับฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯได้แก่เวอร์จิเนีย บ้านเกิดของนายพลลี โดยรวมแล้วฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯมีจำนวนมลรัฐทั้งสิ้นสิบเอ็ดแห่ง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลกลางมีจำนวนมลรัฐทั้งสิ้นยี่สิบสามแห่งเมื่อตอนเริ่มสงคราม



    เมื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลทางด้านสถิติ จะเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลกลางมีความเป็นต่อฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯอยู่มากโข ทั้งในด้านของจำนวนประชากรที่มีมากกว่าคือที่ยี่สิบสองล้านคนเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเก้าล้านคนของฝ่ายใต้ และกำลังทหารสองล้านนายเทียบกับหนึ่งล้านนายของฝ่ายใต้ นอกจากนี้ยังมีความเหนือกว่าทางด้านแสนยานุภาพทางทะเลที่สามารถปิดล้อมฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯได้ตลอดช่วงเวลาของสงคราม ในส่วนของกำลังการผลิตนั้นฝ่ายเหนือมีความเหนือกว่าฝ่ายใต้อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรมในขณะที่ฝ่ายใต้ยังต้องพึ่งพาภาคกสิกรรมเป็นหลัก แต่ทว่ามีอยู่สองสิ่งที่ฝ่ายสมาพันธ์รัฐฯมีในช่วงต้นของสงคราม แต่ฝ่ายรัฐบาลกลางไม่มี นั่นก็คือแม่ทัพฝีมือเลิศอย่าง โรเบิรตต์ อี ลี และ สโตนวอลล์ แจ๊คสัน ผู้ซึ่งกลายเป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน บวกกับจิตวิญญาณนักสู้หรือ Fighting Spirit ทั้งสองสิ่งนี้ส่งผลให้ฝ่ายใต้สามารถยืนหยัดอยู่ได้ตลอดห้วงของสงครามและเกือบที่จะได้รับชัยชนะอยู่หลายครั้งด้วยกัน



    <ยังมีต่อ>

    สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×