ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #53 : สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 998
      0
      3 ก.พ. 50



     
    สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน
    Republic of Uzbekistan


     
    ข้อมูลทั่วไป
    1. ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียกลาง ทางเหนือของประเทศอัฟกานิสถาน
    พื้นที่ 447,400 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายล้อมรอบด้วยเทือกเขาสูง
    ประชากร 25.5 ล้านคน (ก.ค. 2545) ประกอบด้วยชาวอุซเบก 80% รัสเซีย 5.5% ทาจิก 5%
    คาซัค 3% คาราคาลปัก 2.5% ตาตาร์ 1.5%
    ภาษา อุซเบก 74.3% รัสเซีย 14.2% ทาจิก 4.4%
    ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 88 คริสต์นิกายอีสเทิร์นออโธด๊อกซ์ ร้อยละ 9 อื่นๆร้อยละ 3
    เมืองหลวง ทาชเคนต์ (Tashkent) (ประชากร 2.5 ล้านคน)
    อากาศ ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป หน้าร้อนๆ นาน หน้าหนาวอากาศเย็นสบาย
    เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 6 ชั่วโมง
    สกุลเงิน ซุม (Sum) (เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2537)
    อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐฯ = 712.34 ซุม (กรกฎาคม 2546)
    วันชาติ 1 กันยายน (วันประกาศเอกราช)
    การปกครอง ประชาธิปไตยในแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
    ประมุข ประธานาธิบดี Islam A. Karimov (อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐ
    สังคมนิยมโซเวียตอุซเบกิสถาน ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
    ประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2534 และจากผลการหยั่งเสียง
    ประชามติในปี 2539 ได้รับความ ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งไป จนถึง
    ปี 2543 ได้รับเลือกตั้งครั้งที่สองเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543))
    นายกรัฐมนตรี นาย Otkir Sultanov (ตั้งแต่ 21 ธันวาคม 2538)
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Sodiq Safayev
    สถาบันทางการเมือง มีระบบสภาเดียว (Oli Majlis) ประกอบด้วยสมาชิกสภา 250 คน ทำหน้าที่
    นิติบัญญัติ ประธานาธิบดีทำหน้าที่ประมุขของรัฐและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี
    ส่วนนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐบาลและแต่งตั้งผู้ว่าการท้องถิ่น (hakims)
    การแบ่งเขตการปกครอง อุซเบกิสถานแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 1 สาธารณรัฐปกครองตนเอง
    คือ Republic of Karakalpakstan และ 12 จังหวัด ได้แก่ Andijan, Bukhara
    Jizzak, Kashkadarya, Navoiy, Namangan, Samarkand, Surkhandarya,
    Khoresm, Fergana, Syrdarya และ Tashkent ซึ่งมีสถานะเป็นเมืองหลวงของ
    อุซเบกิสถานด้วย
    สมาชิกภาพองค์การระหว่างประเทศ
    AsDB, CCC, CIS, EAPC, EBRD, ECE, ECO, ESCAP, IAEA, IBRD, ICAO,
    IDA, IFC, IFRCS, ILO, IMF, INTERPOL, IOC, ISO, ITU, NAM, OIC, OSCE,
    PFP, UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UPU, WFTU, WHO, WIPO, WMO,
    WTO (Tourism)

    2. เศรษฐกิจ
    ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) 7.469 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2545)
    GDP per capita 310 ดอลลาร์สหรัฐ (2545)
    การเจริญเติบโตของ GDP 2% (2545)
    ภาวะเงินเฟ้อ 50% (2545)
    หนี้ต่างประเทศ 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2545)
    มูลค่าการส่งออก 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2545)
    สินค้าส่งออกสำคัญ ฝ้าย 41.5%, ทอง 9.6%, ก๊าซธรรมชาติ 9.6%, ปุ๋ย, โลหะ, เครื่องนุ่งห่ม,
    ผลิตภัณฑ์อาหาร, ยานพาหนะ
    ตลาดส่งออกสำคัญ รัสเซีย 16.7%, สวิตเซอร์แลนด์ 8.3%, สหราชอาณาจักร 7.2%,
    ยูเครน 4.7%, เกาหลีใต้ 3.3%, คาซัคสถาน 3.1% (2545)
    มูลค่าการนำเข้า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2545)
    สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและชิ้นส่วน 49.8%, ผลิตภัณฑ์อาหาร 16.4% เคมีภัณฑ์, โลหะ
    แหล่งนำเข้าสำคัญ รัสเซีย 15.8%, เกาหลีใต้ 9.8%, สหรัฐ 8.7%, เยอรมนี 8.6%,
    คาซัคสถาน 7.3%, ยูเครน 6.1% (2545)
    อุตสาหกรรมหลัก สิ่งทอ การแปรรูปอาหาร เครื่องจักรกล โลหะวิทยา ก๊าซธรรมชาติ

    การเมืองการปกครอง
    3. ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
    ชาวอุซเบก มีต้นกำเนิดมาจากเผ่าพันธุ์ชาวมองโกลเร่ร่อน ซึ่งได้เข้ามาสมรสกับชาวพื้นเมืองของภูมิภาคเอเชียกลางในช่วงศตวรรษที่ 13 อุซเบกิสถานมีสถานะเป็นรัฐชาติในศตวรรษที่ 18 จากการรวมตัวของเจ้าผู้ครองแคว้นบุคารา ซามาร์คานด์และโคคานด์เข้าด้วยกัน และสถาปนาอาณาจักร Turkestan ขึ้น ต่อมาในยุคของการล่าอาณานิคม รัสเซียเข้ามาครอบครองอุซเบกิสถานได้ส่วนหนึ่งที่บริเวณระหว่างแม่น้ำ Syr-Darya กับ Amu-Darya ภายหลังที่เอาชนะเจ้าผู้ครองแคว้นโคคานด์ได้สำเร็จในสงครามเมื่อปีค.ศ.1876
    ภายหลังการปฎิวัติสังคมนิยม ในปี ค.ศ.1917 ได้มีการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต-
    เติร์กสถานขึ้นในปี ค.ศ. 1918 ภายหลังที่ได้ปรากฏรัฐชาติใหม่ ๆ ได้แก่ คาซัคสถานและเติร์กเมนิสถานขึ้นในภูมิภาคเอเชียกลาง สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเติร์กสถานก็ได้สลายตัว และสหภาพโซเวียตก็ได้จัดตั้ง
    สาธารณรัฐสังคมนิยมอุซเบกิสถานขึ้นแทนโดยรวมเอาทาจิกิสถานเข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งด้วย และในปี ค.ศ. 1925 อุซเบกิสถานก็ได้เป็นสาธารณรัฐหนึ่งในสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์
    ในสมัยสหภาพโซเวียต อุซเบกิสถานถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมของภูมิภาค
    เอเชียกลาง ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลมอสโกได้ย้ายอุตสาหกรรมทั้งระบบออกไปยังเขตเทือกเขา
    อูราลและอุซเบกิสถานเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นได้จากการรุกรานของนาซีเยอรมัน อุซเบกิสถานจึงเป็นสาธารณรัฐที่มีระดับการพัฒนาทางอุตสาหกรรมสูงที่สุดในเอเชียกลางและสูงเป็นอันดับที่ 4 ของสหภาพโซเวียต รองจากรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส
    ถึงแม้อุซเบกิสถานจะมีฐานะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของโซเวียตในภูมิภาคเอเชียกลาง แต่รัฐบาลโซเวียตก็กำหนดกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจของอุซเบกิสถานให้เป็นประเทศผู้ป้อนวัตถุดิบประเภทฝ้ายและแร่ทองคำให้แก่อุตสาหกรรมแปรรูปในรัสเซียและยูเครน การสร้างระบบเกษตรกรรมการปลูกฝ้ายขนาดใหญ่ (plantation) ทำให้อุซเบกิสถานประสบปัญหาระบบนิเวศน์ กล่าวคือ น้ำจากทะเล Aral ซึ่งเป็นแหล่งชลประทานให้แก่ไร่ฝ้ายนั้น มีระดับลดลงจนพื้นที่ของทะเล Aral สูญเสียไปถึงครึ่งหนึ่งของพื้นที่เดิม และยังความเสียหายให้แก่ระบบชลประทานของประเทศในปัจจุบัน

    4. สภาวะทางการเมืองอุซเบกิสถาน
    4.1 สถานการณ์ภายหลังจากการแยกตัวเป็นเอกราช
    หลังจากที่สาธารณรัฐอุซเบกิสถานได้ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2534 ความหวังที่จะพัฒนาประเทศโดยแนวทางประชาธิปไตยตามแบบของตนก็ได้เริ่มต้นขึ้น ดังที่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วย “พื้นฐานแห่งเอกราชของรัฐอุซเบกิสถาน” ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชามติอย่างกว้างขวาง ในด้านผู้นำ แม้ว่าประมุขของประเทศจะยังคงเป็น ประธานาธิบดี Islam Karimov ซึ่งเป็นผู้นำสายคอมมิวนิสต์เดิม แต่แนวนโยบายแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยก็ได้มีการพัฒนาขึ้นตามลำดับ ประชาชนสามารถถือกรรมสิทธิ์ในที่ทำกิน สามารถเป็นเจ้าของกิจการ และเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตโดยรัฐเป็นผู้ส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น ทำให้รัฐบาลยังคงดำเนิน
    นโยบายที่ค่อนข้างผูกขาดอำนาจ จนก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่ม รวมทั้งความขัดแย้งในหมู่ชน
    กลุ่มน้อย คาซัค-ทาจิกซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แม้ว่าการเมืองของอุซเบกิสถานจะเป็นแบบศูนย์รวมอำนาจโดย
    พรรคเสรีประชาธิปไตย (PDP) แต่อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่ในการควบคุมของประธานาธิบดี Karimov ซึ่งได้รับเลือกตั้งอย่างไม่โปร่งใสตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งตามวาระนั้นจะสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียงวาระละ 5 ปี แต่จากผลการหยั่งเสียงประชามติอย่างไม่โปร่งใส ทำให้ประธานาธิบดี Karimov สามารถดำรงตำแหน่งได้จนถึงปี 2543 และได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543
    แนวทางการปฏิรูปประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดี Karimov มีหลักที่คำนึงถึงเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหลัก โดยมีระบบพรรคการเมืองเดียวเป็นฐาน และแยกการเมืองและศาสนาอิสลามออกจากกันอย่างเด็ดขาด ในด้านเศรษฐกิจ จะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยอาศัยการแทรกแซงของรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยใช้แบบจำลองของเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นแนว
    อุซเบกิสถานมีนโยบายการเมืองแบบชาตินิยม ด้วยคำขวัญว่า “อุซเบกิสถานจะต้องเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต” และพยายามเข้ามาบทบาทนำในภูมิภาคนี้ โดยการเข้าไปแทรกแซงในสงครามระหว่าง อัฟกานิสถานและทาจิกิสถานโดยผ่านสงครามตัวแทน (proxy war)
    รัฐบาลอุซเบกิสถานเป็นรัฐบาลที่มีความมั่นคงมากที่สุดรัฐบาลหนึ่งในสาธารณรัฐมุสลิมเอเชียกลาง
    และอุซเบกิสถานไม่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงทางการเมืองสูง แม้ว่าจะมีศักยภาพของความขัดแย้งที่สามารถขยายตัวเป็นสถานการณ์ที่ไม่สงบขึ้นได้ เนื่องจากรัฐบาลอุซเบกิสถานได้ดำเนินนโยบายปราบปราม
    ฝ่ายตรงข้ามอย่างเฉียบขาด โดยการขจัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองนิยมศาสนาอิสลามหัวรุนแรงภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากทาจิกิสถาน นอกจากนี้ อุซเบกิสถานมีระบบเศรษฐกิจที่
    แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับสาธารณรัฐเอเชียกลางทั่วไป และในอดีตนั้นอุซเบกิสถานเป็นรากฐานการพัฒนาทาง
    วิทยาศาสตร์และการวิจัยทางอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและการบินซึ่งช่วยให้อุซเบกิสถานพัฒนาความร่วมมือทางการบินกับต่างประเทศก่อนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียกลาง และรองรับการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้โดยง่าย


    4.2 สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
    ประธานาธิบดี Karimov ยังคงใช้ความเข้มงวดในการควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองเอาไว้โดยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงเพื่อควบคุมการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นต่าง ๆ ของสื่อมวลชน ทั้งนี้ นอกจากการ
    โจมตีความด้อยประสบการณ์ของนักการเมืองฝ่ายค้านแล้ว ประธานาธิบดี Karimov ยังพยายามชี้ให้เห็นอันตรายหากนักการเมืองชาตินิยมสามารถขึ้นมากุมอำนาจในอุซเบกิสถานได้เช่นเดียวกับในอาเซอร์ไบจาน
    จอร์เจีย และลิทัวเนีย ทั้งนี้ แม้ว่าอุ๙เบกิสถานจะมีภาพลักษณ์ทางลบในด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนในสายตาของรัฐบาลประเทศตะวันตกซึ่งไม่เห็นด้วยกับการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนดังกล่าว แต่ด้วยความเชื่อว่า รัฐบาลอำนาจนิยมของอุซเบกิสถานจะยังอยู่ในอำนาจต่อไปได้ อย่างน้อยก็อีกช่วงเวลาหนึ่ง อีกทั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจของอุซเบกิสถานก็มีมากพอที่จะก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ตนได้ หากทางการอุซเบกิสถานยินยอมสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศตน รัฐบาลตะวันตกจึงมิได้ยกประเด็นการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนมาโจมตี รัฐบาลอุซเบกิสถานมากนัก
    แม้ว่าอุซเบกิสถานจะมีระบบการเมืองแบบฝักใฝ่พรรคการเมืองเดียว แต่ประธานาธิบดีKarimov ก็ให้มีการจัดตั้งพรรคฝ่ายค้านขึ้นได้ อาทิ พรรค The Progress of the Fatherland Party และจัดให้มีการเลือกตั้งรัฐสภา ในปี ค.ศ. 1994 และในปี ค.ศ. 1999 อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนประธานาธิบดี
    ปัญหาการอพยพออกนอกประเทศของชนกลุ่มน้อยซึ่งมีบทบาทสำคัญและเป็นกำลังหลักทางเศรษฐกิจของอุซเบกิสถาน เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการอพยพออกไปของชาวรัสเซีย และชาวยิว ในส่วนของชนกลุ่มน้อยรัสเซียนั้น รัฐบาลอุซเบกิสถานได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการให้ความสำคัญมากขึ้นทั้งกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศเกี่ยวกับรัสเซียเองและกับการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยรัสเซียในประเทศ และการสนับสนุนให้ชาวอุซเบกใช้ภาษารัสเซียในการติดต่อสื่อสารในประเทศ
    อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม 2541 ประธานาธิบดี Karimov ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีของกลุ่มประเทศเอเชียกลางอีก 4 ประเทศ ประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดการพึ่งพิงรัสเซีย โดยหันมาร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียกลางให้มากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง

    4.3 ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    ในด้านนโยบายต่างประเทศ อุซเบกิสถานมีนโยบายที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระและเน้นความเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ โดยอ้างว่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญประเทศหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เป้าหมายลึกๆ ของอุซเบกิสถานนั้นต้องการจะรวมชนชาติอุซเบกให้เป็นหนึ่งเดียว โดยต้องการจะขยายอิทธิพลไปยังคาซัคสถาน คีร์กิซ และเติร์กเมนิสถาน เนื่องจากมีชาวอุซเบกจำนวนมากอาศัยอยู่ในทาจิกิสถาน คีร์กิซ และเติร์กเมนิสถาน ซึ่งอยู่ติดกับอุซเบกิสถาน อย่างไรก็ตาม นโยบายโดยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการรวมตัวของสาธารณรัฐอดีตสหภาพโซเวียตในรูปของสหภาพเศรษฐกิจ และสหภาพการทหารของ CIS (Collective Security) ต่อไปอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการธำรงความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย เนื่องจาก อุซเบกิสถานยังต้องพึ่งพาการค้ากับรัสเซียเป็นหลัก อุซเบกิสถานเป็นประเทศเดียวของภูมิภาคนี้ที่สนับสนุนการคงอิทธิพลของรัสเซียทางด้านทหารในภูมิภาคนี้ต่อไป โดยให้ความสำคัญต่อรัสเซียในฐานะหลักประกันเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียกลาง
    อุซเบกิสถานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตุรกีมาตั้งแต่อุซเบกิสถานแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเมื่อปลายปี 2534 แต่หลังจากประธานาธิบดี Turgut Ozal แห่งตุรกี ผู้มีนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียกลางที่พูดภาษาตุรกี ถึงแก่กรรมลงเมื่อปี 2536 ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ลดระดับความสำคัญลงไปด้วย ทั้งนี้ นอกจากรัฐบาลอุซเบกิสถานจะไม่ต้องการสร้างความไม่พอใจให้แก่รัสเซียที่ต้องการรักษา
    อิทธิพลของตนในเอเชียกลางแล้ว การที่ตุรกีไม่สามารถให้ความสนับสนุนทางเศรษฐกิจแก่อุซเบกิสถานและประเทศเอเชียกลางอื่นๆ อย่างเพียงพอในการก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด และการที่ประเทศเอเชียกลางถูกมองว่า เป็นเขตอิทธิพลของตุรกีก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อุซเบกิสถานเริ่มลดความสำคัญที่ให้กับตุรกีลง
    อุซเบกิสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลเมื่อปี 2535 ซึ่งช่วยลบภาพการดำเนินนโยบายต่อต้านยิวของโซเวียตในสมัยเบรสเนฟลงได้บ้าง และอุซเบกิสถานก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิสราเอล ซึ่งจะเห็นได้จากการที่อิสราเอลได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำระบบการชลประทานเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรแก่อุซเบกิสถาน อย่างไรก็ตาม ปัญหาการอพยพออกนอกประเทศของชนกลุ่มน้อยชาวยิว
    ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาสูงสุดในสังคมอุซเบก อันสืบเนื่องจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอุซเบกิสถาน ตลอดจนแนวโน้มที่อุซเบกิสถานจะถูกทำให้เป็นอิสลามมากขึ้นในระยะยาวได้เริ่มเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองมากขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน
    ความสัมพันธ์กับอิหร่านเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ปลายปี 2539 เนื่องจากอุซเบกิสถานมีท่าทีให้การสนับสนุนอเมริกาและอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะเริ่มกระเตื้องขึ้นเนื่องจากทั้งสองฝ่ายต้องการร่วมมือกันเพื่อต่อต้านกลุ่มทาลิบัน ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ในอัฟกานิสถาน
    อุซเบกิสถานมีนโยบายเน้นความเป็นชาตินิยม จึงเป็นผลให้ถูกมองว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างดำเนินนโยบายแบบโดดเดี่ยว มีระบบเศรษฐกิจที่ยังไม่โปร่งใสและมีความล่าช้าในการเปิดเสรี และเป็นคู่แข่งในด้านการแข่งขันเพื่อการยอมรับทางการเมืองในระดับภูมิภาครวมทั้งแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ กับคาซัคสถานซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสถานะทางการเมืองที่ใกล้เคียงกันมาตลอด

    เศรษฐกิจการค้า
    5. สภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน
    ภายหลังการประกาศเอกราชในปี 2534 รัฐบาลพยายามคงระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีการอุดหนุนตลาดและการควบคุมราคา สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของอุซเบกิสถาน ได้แก่ ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ทองและเงิน และในด้านเกษตรกรรม ฝ้ายยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ แต่ภายหลังจากที่ราคาฝ้ายในตลาดโลกตกต่ำ ตลอดจนการที่อุซเบกิสถานประสบปัญหาประเทศลูกค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่สามารถชำระเงินได้ ทำให้อุซเบกิสถานประสบกับสภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก รัฐบาลจึงหันมาดำเนินมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2537 โดยลดการควบคุมเศรษฐกิจโดยกลไกของรัฐ และส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงมีอิทธิพลในการชักนำเศรษฐกิจทำให้การปฏิรูปล้มเหลว
    ในปี 2539 สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ระงับกองทุนช่วยเหลือต่ออุซเบกิสถาน ประกอบกับระหว่างวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชียและรัสเซีย ทำให้อุซเบกิสถานดำเนินมาตรการตอบโต้สภาวะการถดถอยโดยเพิ่มการควบคุมการส่งออกและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งยิ่งทำให้การลงทุนจากต่างชาติถอนตัวออกไปมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง
    อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคม 2544 รัฐบาลอุซเบกิสถานได้แสดงท่าทีที่จะรื้อฟื้นการปฏิรูประบบเศรษบกิจโดยประสงค์ที่จะขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสถาบันการเงิน
    อื่น ๆ อีกครั้ง
    ปัจจุบัน อุซเบกิสถานยังมีความได้เปรียบในด้านการเป็นเส้นทางผ่านและเชื่อมโยงการติดต่อ (cross road) ทั้งระหว่างภูมิภาคเอเชียกลาง และระหว่างตะวันตกและตะวันออก แม้ว่าอุซเบกิสถานจะไม่มีทางออกสู่ทะเลแต่ก็มีเส้นทางคมนาคมสำหรับรถยนต์และรถไฟที่เชื่อมโยงการขนถ่ายสินค้าไปได้ทั่วภูมิภาค อีกทั้งเป็นชุมทางการขนส่งทางอากาศโดยเฉพาะเที่ยวบินจากยุโรปเชื่อมต่อไปเอเชีย
    อุซเบกิสถานมีจุดแข็งที่สำคัญคือเป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของประเทศ CIS และมีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม อีกทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและน่าสนใจ ได้แก่ เมือง Samarkand , Bukara และ Khiva ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมบนเส้นทางสายไหมในอดีต
    รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ การปฏิรูปการเกษตร การเปิดเสรีทางการค้าต่างประเทศและการเงิน การปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชน

    6. พัฒนาการทางสังคม
    อุซเบกิสถานเป็นประเทศที่มีความเป็นเชื้อชาติเดี่ยวมากกว่าประเทศ CIS อื่นๆ เนื่อจากประกอบด้วยชาวอุซเบกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนาอิสลามที่เข้มงวดกว่าประเทศเอเชียกลางอื่นๆ และชาวอุซเบกโดยทั่วไปมีอัธยาศัยไมตรี มีความยืดหยุ่นและความเข้าใจ และมีพื้นฐานความเป็นเอเชียมากกว่ายุโรปโดยเฉพาะประชาชนในต่างจังหวัด
    อุซเบกิสถานมีช่องว่างในระดับของการพัฒนาประเทศระหว่างเมืองและชนบทอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรุงทาชเคนต์จะได้รับการพัฒนา โดยมีโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก แต่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในกรุงทาชเคนต์โดยทั่วไปยังมีสภาพคล้ายกับในสมัยสหภาพโซเวียต ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอ ยากจน และว่างงาน จึงมีชาวอุชเบกจำนวนมากที่มีโอกาสและการศึกษาอพยพไปทำงานในประเทศอื่น อาทิ คาซัคสถาน

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน
    1. ภูมิหลังความสัมพันธ์
    อุซเบกิสถานเป็นรัฐภายใต้สหภาพโซเวียตแห่งแรกที่ได้แสดงความสนใจจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศไทยตั้งแต่อุซเบกิสถานยังไม่เป็นเอกราช โดยนาย T. A. Abdirayeemov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐอุซเบกิสถานได้นำคณะมาเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างวันที่ 13-20 สิงหาคม 2533 และยังได้หารือข้อราชการกับอธิบดีกรมการเมืองในขณะนั้น รวมทั้งได้ทำสัญญาขายฝ้าย 5,000 ตัน ให้แก่บริษัท Thai-American textile ของไทยด้วย

    2. ความสำคัญของอุซเบกิสถานต่อไทย
    ไทยจัดลำดับให้อุซเบกิสถานเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ CIS ที่ไทยควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น
    เนื่องจาก
    - อุซเบกิสถานไม่เพียงแต่เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียกลาง (23 ล้านคน) แต่ยังเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมและเป็นผู้นำทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียกลางอีกด้วย
    - เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแข็งแกร่ง สามารถเป็นตลาดสินค้าของไทยได้ โดยอุซเบกิสถานผลิตทองคำเป็นอันดับ 8 ของโลก มีกำลังผลิต 58 ตันต่อปี (ร้อยละ 25.2 ของสหภาพโซเวียตเดิม) นอกจากนี้ ยังผลิตยูเรเนียม ทองแดง สังกะสี วุลแฟรม และแร่ธาตุหายากอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และของผู้ส่งออกอัญมณีไทย
    - อุซเบกิสถานมีสถานที่สำคัญทางศาสนาอิสลามซึ่งถือว่าเป็นเม็กกะที่สอง อันได้แก่เมือง Bukhara และ Samarkhand จึงน่าที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นแหล่งขยายการลงทุนของธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของภาคเอกชนไทย

    3. ความสัมพันธ์ทางการทูต
    หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายลงเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2534 ไทยได้ประกาศรับรองความเป็น
    เอกราชของอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศ
    ดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 และได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก รับผิดชอบ
    ดูแลอุซเบกิสถาน
    อุซเบกิสถานแสดงความสนใจที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยในทุกๆ ด้าน ทั้งในระดับทวิภาคีและ
    พหุภาคี โดยเห็นว่าไทยสามารถเป็นจุดเชื่อมอุซเบกิสถานกับอาเซียน และต้องการให้ไทยมีผู้แทนถาวรในกรุงทาชเคนต์ ในระดับประชาชน ชาวอุซเบกส่วนมากรู้จักประเทศไทยและเดินทางมาประเทศไทยจำนวนมาก
    ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ
    ในขณะเดียวกัน อุซเบกิสถานเองก็ตระหนักถึงความสำคัญภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เปิดสถาน
    กงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถานประจำประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 เพื่อเป็นตัวแทนของ
    รัฐบาลอุซเบกิสถานในการติดต่อกับฝ่ายไทย

    3.1 การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตถิ่นพำนักที่กรุงเทพฯ
    คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 อนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงการ
    ต่างประเทศเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนเขตอาณาของกลุ่มประเทศ CIS ที่อยู่ในความดูแลของสถานเอกอัคร
    ราชทูต ณ กรุงมอสโก โดยจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพฯ เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญ
    ผู้มีอำนาจเต็ม เพื่อดูแลอุซเบกิสถานเพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม โดยที่ประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพฯ จึงได้มอบหมายให้
    สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดูแลอุซเบกิสถานอย่างไม่เป็นทางการต่อไปก่อน

    3.2 การเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงทาชเคนต์
    รัฐบาลไทยกำลังศึกษาลู่ทางความเป็นไปได้ในการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุง
    ทาชเคนต์ เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจลงตรา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย และดูแลความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-
    อุซเบกิสถาน

    3.3 การแลกเปลี่ยนการเยือน
    ฝ่ายไทย
    - นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอุซเบกิสถานได้เชิญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เยือนกรุงทาชเคนต์
    สาธารณรัฐอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2533 ในโอกาสที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอาจเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ แต่การเยือนดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น
    - เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เดินทางเยือนอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2534
    - ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประสงค์เยือนสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม 2536 แต่ฝ่ายอุซเบกิสถานเสนอให้เลื่อนเวลาเป็นระหว่างวันที่ 10-15 กันยายน 2536 ซึ่งฝ่ายไทยไม่พร้อมจึงไม่สามารถจัดการเยือนได้
    - นายจักก์ชัย พานิชพัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม Investment Round Table ที่กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถานระหว่าง
    วันที่ 9-11 มีนาคม 2537
    - นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการภูมิภาค นำคณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศเยือนอุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม 2537 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีระหว่างสองประเทศ ตามโครงการศึกษาลู่ทางเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย และสถานกงสุลใหญ่ ในเอเชียกลางและ CIS
    - คณะผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เยือนอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 5 ตุลาคม 2538 เพื่อสำรวจข้อมูลด้านเศรษฐกิจในประเทศเอเชียกลาง ตามโครงการดำเนินการรักษา พัฒนา และส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยประจำปีงบประมาณ 2538 นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ ITF Uzbekistan’ 95 งานแสดงด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (Tourism Along the Silk Road) และพบหารือกับผู้แทนระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐสัมพันธ์ และสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่าง ๆ ในอุซเบกิสถาน
    - ม.ร.ว. เทพ เทวกุล ปลัดกระทรวง ฯ ในขณะนั้น นำคณะเอกอัครราชทูตสัญจร เยือน
    อุซเบกิสถานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2539 เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสำรวจ
    ลู่ทางเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยขึ้นในประเทศเอเชียกลางเพื่อดูแลกลุ่มประเทศเอเชียกลางทั้งหมด
    - เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เดินทางเยือนอุซเบกิสถาน ระหว่างวันที่ 11-15 พฤษภาคม 2546 เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับบุคคลสำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งแสวงหาโอกาสและลู่ทางในการขยายความสัมพันธ์ทวิภาคี

    ฝ่ายอุซเบกิสถาน
    - นาย T.A. Abdirayeemov รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสาธารณรัฐอุซเบกิสถานของสหภาพโซเวียต มาเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 13-18 สิงหาคม 2533 เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีและหาลู่ทางการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้ากับไทย
    - นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอุซเบกิสถานทาบทามเยือนไทยแบบ working visit โดยเป็นแขกของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2533 แต่การเยือนดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น
    - นาย Saidmuktar S. Saidkasimov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐ
    อุซเบกิสถาน กำหนดเดินทางเยือนไทยตามคำเชิญของฝ่ายไทย ระหว่างวันที่ 11-15 กันยายน 2536 แต่ฝ่ายไทยขอเลื่อนการเยือนออกไปเป็นช่วงเดือนธันวาคม 2536 แทน ฝ่ายอุซเบกิสถานจึงเสนอขอเยือนระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2536 แต่ฝ่ายไทยสะดวกที่จะให้การต้อนรับ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2537 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการฯ อุซเบกิสถานป่วยกระทันหัน จึงไม่สามารถเดินทางมาเยือนไทย
    - นาย Muradbek Rustambekov รัฐมนตรีช่วยว่าการเศรษฐสัมพันธ์ต่างประเทศสาธารณรัฐ
    อุซเบกิสถาน เป็นหัวหน้าคณะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการ
    ต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2537
    - นาย Irgashev Ismatilla รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอุซเบกิสถานได้เดินทางมาร่วมการประชุม ESCAP สมัยที่ 53 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพ ฯ และได้เข้าเยี่ยมคารวะนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2540 เพื่อหารือประเด็นทวิภาคีไทย-อุซเบกิสถาน
    - นาย Adkham Bekmuradov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอุซเบกิสถานและคณะ เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมประจำปีของ ESCAP ครั้งที่ 55 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และได้เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 เพื่อหารือประเด็นทวิภาคีไทย-อุซเบกิสถาน

    4. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    4.1 การค้า
    แม้ว่าไทยกับอุซเบกิสถานได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตมาตั้งแต่ปี 2535 แต่ทั้งสองประเทศเริ่มมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันเมื่อปี 2538 และมีปริมาณการค้ามากในช่วงปี 2538-2540 อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2541 ปริมาณการค้าระหว่างกันได้ลดลงเป็นอย่างมากเนื่องจากไทยได้ดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในสินค้าประเภทเหล็กรีดร้อนและเย็นซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากอุซเบกิสถาน อนึ่ง แม้ว่าไทยได้เพิ่มประเภทและปริมาณของสินค้านำเข้ามากขึ้น แต่ก็ยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า อีกทั้งปริมาณการค้าระหว่างกันยังมีน้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพของทั้งสองฝ่าย
    ไทยอาจพิจารณาอุซเบกิสถานเป็นตลาดและแหล่งกระจายสินค้าไปยังเอเชียกลาง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน นอกจากนี้ อุซเบกิสถานสามารถเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบประเภทฝ้ายและเส้นใย พืชผลทางการเกษตร หนังดิบ แร่ธาตุต่างๆ อาทิ ทองคำ อัญมณี วุลแฟรม ทั้งนี้ แม้อุซเบกิสถานจะไม่มีทางออกสู่ทะเลแต่ไทยอาจพิจารณาใช้เส้นทางผ่านอินเดีย และอิหร่าน หรือจีน ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่มีการใช้อยู่ หรือให้ความสำคัญกับสินค้าประเภทที่มีน้ำหนักน้อยซึ่งสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางอากาศ

    มูลค่าการค้าไทย-อุซเบกิสถาน
    หน่วย:ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
    รายการ 2537 2538 2539 2540 2541 2542 2543 2544 2545
    2546
    มค.-พค.
    มูลค่าการค้า .0 21.6 29.5 24.0 8.0 16.9 12.9 9.1 6.9 0.4
    สินค้าออก .0 18.9 20.0 4.9 3.3 1.7 1.1 2.3 1.7 0.2
    สินค้าเข้า .0 2.7 9.5 19.1 4.7 15.2 11.7 6.9 5.2 0.2
    ดุลการค้า .0 16.2 10.5 -14.2 -1.3 -13.5 -10.6 -4.6 -3.5 0.0
    ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

    สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอุซเบกิสถาน
    เสื้อผ้าสำเร็จรูป หนังสือและสิ่งพิมพ์ สินค้าปศุสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ รองเท้าและชิ้นส่วน ตู้เย็นและตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ สิ่งทออื่นๆ
    สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอุซเบกิสถาน
    เส้นใยในการใช้ทอ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม ผ้าผืน เคมีภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง สิ่งพิมพ์

    4.2 การลงทุน
    โดยที่สาธารณรัฐอุซเบกิสถานเป็นประเทศเกิดใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนไทยโดยทั่วไป และภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายยังขาดข้อมูลข่าวสารด้านการค้าและการลงทุนของกันและกัน จึงทำให้ปริมาณการค้า-การลงทุนระหว่างไทยและอุซเบกิสถานมีมูลค่าไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายอาจมีลู่ทางส่งเสริมการค้าการ ลงทุนระหว่างกันในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
    - ลู่ทางการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตร
    - อุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยอาศัยวัตถุดิบจำพวกฝ้ายและหนังสัตว์จาก อุซเบกิสถาน
    - อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณี ทั้งในแง่การตั้งโรงงานในไทย โดยอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากอุซเบกิสถาน หรือการตั้งโรงงานในอุซเบกิสถานด้วยการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีไปจากไทย ทั้งนี้ ฝ่ายอุซเบกิสถานเคยแสดงความสนใจเทคโนโลยีการเจียระนัยเพชรของไทยและเชิญชวนให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนร่วมด้านอัญมณีในอุซเบกิสถาน นอกจากนั้น ไทยกับอุซเบกิสถานยังอาจพิจารณาลงทุนร่วมเกี่ยวกับทองคำได้ โดยปัจจุบัน อุซเบกิสถานสามารถผลิตทองคำได้เป็นอันดับ 8 ของโลกด้วยกำลังการผลิต 58 ตันต่อปี และเป็นทองคำที่มีค่าบริสุทธิ์ถึง 99.9995
    - อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การลงทุนร่วมในกิจการโรงแรมและภัตตาคาร นับเป็นสาขาการลงทุนที่มีศักยภาพมากที่สุด โดยเฉพาะใน 4 เมือง คือ Samarkhand (กล่าวกันว่า เป็นเมกกะแห่งที่สอง) Bukhara Fernaghan และ Khiva ซึ่งถือเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม นอกจากนั้น ยังอาจลงทุนร่วมได้ในบริเวณเส้นทางGreat Uzbek High Road ซึ่งเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ สู่อินเดียโบราณ
    ประเทศที่เข้าไปลงทุนในอุซเบกิสถาน ได้แก่ ญี่ปุ่น (ด้านก๊าซ สิ่งทอ ผ้าไหม การผลิตฝ้าย) ตุรกี (เสื้อผ้า อาหาร เครื่องใช้ในครัวเรือน) สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี มาเลเซีย อินโดนีเซีย (ด้านการท่องเที่ยว)
    และเกาหลีใต้ (รถยนต์ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้า)



    5. การท่องเที่ยว
    ระหว่างปี 2538-2542 นักท่องเที่ยวจากอุซเบกิสถานเป็นนักท่องเที่ยวในกลุ่มเครือรัฐเอกราชที่มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอด โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 39.42 และในปี 2543 ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือนมกราคม –ตุลาคม 2543 นักท่องเที่ยวอุซเบกิสานเดินทางมาไทยรวมทั้งสิ้น 6,473 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.17 และมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกเดือนโดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวชาวอุซเบกิสถานนิยมลำดับที่สองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ปัจจุบัน สายการบิน Uzbek Airlines ได้เปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ-กรุงทาชเคนต์ สัปดาห์ละ 4 เที่ยวบิน

    6. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและความช่วยเหลือต่าง ๆ
    6.1 การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
    ไทยได้เข้าร่วมในการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือประเทศที่เกิดจากอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งจัดขึ้น 3 ครั้ง ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี (22-23 มกราคม 2535) ที่กรุงลิสบอน (23-24 พฤษภาคม 2535) และที่กรุงโตเกียว (29-30 ตุลาคม 2535) ตามลำดับ และได้เสนอให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและยาแก่กลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยในส่วนของอุซเบกิสถานนั้น เมื่อช่วงต้นปี 2535 รัฐบาลไทย
    ได้จัดส่งอาหารไปช่วยบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนในเขต Karakalpakstan แถบทะเลสาบอารัล ซึ่งประสบภาวะวิกฤตแห้งแล้ง
    6.2 การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ
    พร้อมกับการเสนอให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและยาแก่ประเทศที่เกิดจากอดีตสหภาพโซเวียตนั้น ไทยยังเสนอที่จะให้ความช่วยเหลือทางวิชาการกับประเทศเหล่านี้ ซึ่งต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้จัดโครงการสัมมนาในหัวข้อระบบธนาคารสำหรับประเทศเอกราชใหม่ ระหว่างวันที่ 26 เมษายน - 7 พฤษภาคม 2536 และในหัวข้อนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการเงิน ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2538 โดยมีผู้แทนจากอุซเบกิสถานเข้าร่วมการสัมมนาด้วย นอกจากนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านทุนฝึกอบรมแก่อุซเบกิสถาน เช่น ทุนทางด้าน Cartography ของสถาบันการบินพลเรือน ทุน Nursing Midwifery ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุน Swamp Buffalo ของจุฬา
    ลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทุน Farming Irrigation และทุน Water Management ของกรมอาชีวศึกษา
    6.3 กลไกของการดำเนินความสัมพันธ์
    ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐสัมพันธ์
    อุซเบกิสถานระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2537 ไทยและอุซเบกิสถานได้ลงนามในความตกลงเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-อุซเบกิสถาน (Joint Commission) ขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันโดยการปรึกษาหารือและความร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมในสาขาความร่วมมือที่ประเทศทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันคณะกรรมาธิการร่วมฯ และได้กำหนดจะจัดให้มีการประชุม
    ครั้งแรกที่กรุงทาชเคนต์ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป
    7. ความตกลง
    ความตกลงที่ลงนามแล้ว
    - ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-อุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2536
    - ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับ
    อุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2537
    - อนุสัญญาเพื่อการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 ที่กรุงเทพฯ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2542
    ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
    ความตกลงทวิภาคีที่ฝ่ายอุซเบกิสถานเสนอมาและยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทย จำนวน
    7 ฉบับ ประกอบด้วย
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม เสนอเมื่อเดือนตุลาคม 2536 (กรมสารนิเทศแจ้งว่า ยังไม่พร้อมที่จะขยายการพิจารณาจัดทำความตกลง ฯ ออกไปให้มากกว่าที่มีอยู่กับ 17 ประเทศที่ได้ลงนามแล้ว)
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า เสนอเมื่อเดือนมิถุนายน 2538
    (มีประเด็นที่สามารถจัดให้อยู่ในกรอบของความตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วย
    ความร่วมมือทวิภาคีไทย-อุซเบกิสถานได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำเพิ่ม)
    - ความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมการลงทุน เสนอเมื่อเดือนมิถุนายน 2538
    (กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยกรมเศรษฐกิจ)
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เสนอเมื่อเดือนมิถุนายน 2538
    (กระทรวง ฯ ได้ส่งร่างความตกลง ฯ ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539)
    - พิธีสารว่าด้วยการปรึกษาหารือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (ฝ่ายอุซเบกิสถานได้เห็นชอบกับร่างโต้ตอบของฝ่ายไทยแล้ว และอาจเสนอให้มีการลงนามระหว่างการเยือนของผู้นำระดับสูงของทั้งสองประเทศต่อไป)
    - Bilateral Agreement on Legal Assistance and Legal Relations on Civil, Family and Criminal Affairs เสนอเมื่อเดือนธันวาคม 2543 (กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดย
    กรมสนธิสัญญา)
    - Bilateral Consular Convention เสนอเมื่อเดือนธันวาคม 2543
    (กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยกรมสนธิสัญญา)

    -------------------------------
    กรมยุโรป
    กรกฎาคม 2546

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×