ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #51 : ยูเครน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.38K
      1
      3 ก.พ. 50



     
    ยูเครน
    Ukraine


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง อยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกระหว่างสาธารณรัฐโปแลนด์กับสหพันธรัฐรัสเซีย พื้นที่ประกอบด้วยที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสำคัญๆ ของทวีปยุโรปไหลผ่านได้แก่ แม่น้ำดนีเปอร์ แม่น้ำดนีสเตอร์ และแม่น้ำดานูบ ซึ่งไหลลงสู่ทะเลดำ ทิศเหนือ จรดพรมแดนรัสเซียและเบลารุส ทิศตะวันออก จรดพรมแดนรัสเซีย ทิศตะวันตก จรดพรมแดนโปแลนด์ สโลวะเกีย และฮังการี ทิศใต้ จรดทะเลดำ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จรดพรมแดนโรมาเนีย และมอลโดวา

    พื้นที่ 603,700 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่เกษตรกรรมร้อยละ 58

    ประชากร46,710,816 คน (กรกฎาคม 2549) ชาวยูเครน 77.8% ชาวรัสเซีย 17.3% อื่นๆ 4.9 % (2544)

    เมืองหลวง กรุงเคียฟ (KIEV) เป็นเมืองใหญ่ลำดับที่สามในประเทศที่เกิดจากอดีตสหภาพโซเวียต รองจากมอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีประชากรประมาณ 2.8 ล้านคน
    เมืองอื่นที่สําคัญ
    Kharkiv เมืองอุตสาหกรรมหนัก และเคมีภัณฑ์ ห่างจากพรมแดน
    ของรัสเซีย 40 กิโลเมตร
    Dnipropetrovsk เมืองอุตสาหกรรมสำคัญของยูเครน
    Donetsk เมืองอุตสาหกรรมถ่านหิน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย
    Odessa เมืองท่าสำคัญและศูนย์กลางเดินเรือหลักแห่งหนึ่งใน ยุโรปตะวันออก ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลดำ
    Lviv เมืองอุตสาหกรรม เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ ออสโตรฮังกาเรียน ในอดีต

    เขตการปกครอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 24 จังหวัด (Oblast)
    และเขตปกครองอิสระ (autonomous republic) 1 สาธารณรัฐ


    ภาษา ภาษายูเครน หรือ Little Russian (ตระกูลภาษาสลาฟ) เป็นภาษาราชการ และมีการใช้ภาษารัสเซียกันอย่างกว้างขวาง

    ศาสนา Ukrainian Orthodox 85%

    สกุลเงิน Hryvnya (HRN) เริ่มใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2539 แทนเงินสกุลเดิมคือ Karbovanets อัตราแลกเปลี่ยน 5.12 Hryvnya = 1 USD

    วันชาติ 24 สิงหาคม

    เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 2 ชั่วโมง

    ทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ทำการเกษตรกรรมกว้างใหญ่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ ป่าไม้

    อากาศ แบบภาคพื้นทวีปอบอุ่น มี 4 ฤดู ชายฝั่งทะเลแถบแหลมไครเมียทางตอนใต้ มีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน อุณหภูมิเฉลี่ยที่เมืองเคียฟ 7.2 C หนาวที่สุดเดือนมกราคมเฉลี่ยอุณหภูมิ -5.8 C ร้อนที่สุดเดือนกรกฎาคม เฉลี่ยอุณหภูมิ 19.3 C

    ระบอบการเมือง ประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข

    ประมุข ประธานาธิบดี Viktor Yuschenko ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2548

    นายกรัฐมนตรี นาย Viktor Yanukovych (4 สิงหาคม 2549)

    รองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 นาย Mykola Azarov (5 สิงหาคม 2549)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Borys Tarasyuk ตั้งแต่ปีค.ศ.1998 จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ.2544, ต้นปี 2548, ปลายปี 2548 และ 2549)

    สถาบันการเมือง ประกอบด้วยสถาบันหลัก คือสภาสูงสุด (Supreme Rada)
    มีสมาชิก 450 คน ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ เลือกตั้งทุกๆ 4 ปี และประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นประมุขรัฐ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 24 จังหวัด และเขตปกครองอิสระ (autonomous republic) 1 สาธารณรัฐ

    พรรคการเมืองที่สําคัญ
    Party of the Regions, Fatherland Party, Our Ukraine, Socialist Party of Ukraine, Communist Party of Ukraine

    สมาชิกภาพองค์การระหว่างประเทศ Australia Group, BSEC, CBSS (observer), CE, CEI, CIS, EAPC, EBRD, FAO, GUAM, IAEA, IBRD, ICAO, ICC, ICCt (Signatory), ICFTU, ICRM, IDA, IFC, IFRCS, IHO, ILO, IMF, IMO, Interpol, IOC, IOM, IPU, ISO, ITU, LAIA (observer), MIGA, MONUC, NAM (observer), NSG, OAS (observer), OIF (observer), OPCW, OSCE, PCA, PFP, SECI (observer), UN, UNCTAD, UNESCO, UNIDO, UNMEE, UNMIL, UNMIS, UNMOVIC, UNOMIG, UPU, WCL, WCO, WFTU, WHO, WIPO, WMO, WToO, WTO (observer), ZC
    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    สมัยประวัติศาสตร์- ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
    นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาว Nomad โดยเฉพาะชาว Scythian เป็นพวกแรกที่ เข้ามาตั้งหลักแหล่งในยูเครนในช่วงก่อนคริสตกาล หลังจากนั้น ชาวเผ่าสลาฟได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลางและตะวันออกของยูเครน อย่างไรก็ดี ชนชาติสำคัญที่มีบทบาทในการรวบรวมดินแดนบริเวณนี้ให้เป็นปึกแผ่นคือชาวรุส (Rus) ที่มาจากสแกนดิเนเวีย โดยต่อมาชาวรุสได้สถาปนาอาณาจักร Kievan Rus ขึ้นในศตวรรษที่ 6 และปกครองชาวสลาฟที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ และต่อมาได้ขยายดินแดนออกไปรวบรวมเผ่าสลาฟและชนชาติต่างๆ จนเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในศตวรรษที่ 11 แต่ในศตวรรษที่ 12 อาณาจักรนี้ได้เสื่อมสลายลง เนื่องจากสงครามระหว่างเจ้าผู้ครองนครต่างๆ และการรุกรานจากชาวมองโกลในศตวรรษต่อมา หลังจากนั้น ดินแดนบางส่วนของยูเครนได้ถูกผนวกรวมกับอาณาจักรต่างๆ อาทิ ลิทัวเนีย โปแลนด์ ออสโตร-ฮังกาเรียน และรัสเซีย
    หลังสงครามโลกครั้งที่ 1
    หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ยูเครนได้ประกาศเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซียและราชวงศ์ฮับสบวร์กเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1918 แต่ต่อมากระแสการปฏิวัติในรัสเซียได้ลุกลามมายังยูเครน ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น หลังจากนั้น ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนได้ถูกผนวกรวมกับโปแลนด์ ในขณะที่ดินแดนตอนกลางและตะวันออกถูกผนวกรวมกับรัสเซียในฐานะ Ukrainian Soviet Socialist Republic ในปีค.ศ.1922 ภายใต้ระบอบสหภาพโซเวียต ชาวยูเครนถูกบังคับให้เลิกใช้ภาษาของตนเอง นอกจากนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1932-1933 ประธานาธิบดีสตาลิน แห่งสหภาพ โซเวียต ยังได้ใช้มาตรการ “Holodomor” (Famine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระบบนารวมของสหภาพโซเวียตกับชาวยูเครน อันส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงและการขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วประเทศ และชาวยูเครนกว่า 7 ล้านคนต้องเสียชีวิตลง ชาวนาและปัญญาชนที่ต่อต้านระบบดังกล่าวถูกกวาดล้างหรือเนรเทศไปยังไซบีเรีย
    ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
    ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยูเครนให้การสนับสนุนกองทัพของนาซีเยอรมัน เพื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต แต่ต่อมาได้หันไปต่อต้าน เนื่องจากกองทัพเยอรมันปกครองอย่างกดขี่และทารุณ โดยในช่วงดังกล่าว ชาวยิวในยูเครนกว่า 1 ล้านคนถูกสังหารหมู่และ กรุงเคียฟ ถูกเผาทำลาย อย่างไรก็ดี หลังจากที่กองทัพนาซีบุกโปแลนด์ในปีค.ศ.1939 ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนที่เดิมอยู่ภายใต้โปแลนด์ได้ถูกผนวกรวมกับสหภาพโซเวียต
    หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 - การประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระแสชาตินิยมในยูเครนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆ ได้แก่ ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสหภาพโซเวียต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วสหภาพ โซเวียตและการพยายามปิดบังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพโซเวียตต่อกรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู Chernobyl ที่ตั้งอยู่ในยูเครนในปีค.ศ.1986 และเมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมือง ได้ส่งผลให้รัฐบาลของสหภาพโซเวียตจำเป็นต้องให้อำนาจแก่สาธารณรัฐและดินแดนปกครองตนเองต่างๆ มากขึ้น กระแสการเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเอง ในยูเครนดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง และในที่สุดยูเครนได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1991 ชาวยูเครนได้ลงประชามติให้ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต

    การเมืองการปกครอง
    การเมืองภายใน
    ภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองของยูเครนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991
    พัฒนาการทางการเมืองในยูเครนภายหลังการแยกตัวจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1991 แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้ ดังนี้

    1. สมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Leonid Kravchuk (ค.ศ. 1991-1994)
    หลังการประกาศเอกราช ยูเครนได้เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยและมี
    การเลือกตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1991 โดยนาย Leonid Kravchuk อดีตประธานรัฐสภา ยูเครนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรก ประธานาธิบดี Kravchuk ได้เริ่มกระบวนการสร้างชาติ และปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีแบบตะวันตก อย่างไรก็ดี ในภาพรวม
    สถานการณ์การเมืองภายในประเทศยังสับสนวุ่นวาย อาทิ การประท้วงของกลุ่มที่นิยมระบอบคอมมิวนิสต์ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มปฏิรูปเศรษฐกิจกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปัญหาการเรียกร้องเอกราชของไครเมีย ปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น
    2. สมัยการบริหารประเทศของประธานาธิบดี Leonid Kuchma (ค.ศ. 1994-2005)
    นาย Leonid Kuchma อดีตผู้อำนวยการใหญ่ของโรงงานผลิตหัวรบขีปนาวุธของสหภาพ โซเวียตที่เมืองดนีโปรเปตรอฟสค์ (Dnepropetrovsk) ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 โดยได้ประกาศนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจแนวทางใหม่และการสร้างความสมดุลในการดำเนินความสัมพันธ์กับรัสเซียและตะวันตกในนโยบายต่างประเทศ ปัจจุบันนาย Kuchmaได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย และจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงในปี ค.ศ. 2004 ที่ผ่านมาสภาวะทางการเมืองโดยรวมมีเสถียรภาพ โดยประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศแบบเบ็ดเสร็จ การวางนโยบายและการบริหารประเทศรวมศูนย์อยู่ที่ประธานาธิบดีและบุคคลใกล้ชิด นอกจากนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงและกองทัพยังอยู่ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดีด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีรายงานข่าวในทางลบเกี่ยวกับประธานาธิบดี Kuchma และคณะรัฐบาลหลายครั้ง อาทิ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความพยายามเสริมสร้างอำนาจของประธานาธิบดีโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความพยายามริดรอนสิทธิของสื่อ การมีส่วนเกี่ยวข้องในการฆาตกรรมนาย Georgiy Gongadze ผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ตลอดจนการอนุมัติขายระบบเรดาร์ Kolchuga ให้อิรัก อันส่งผลให้สหรัฐฯ ประกาศระงับการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ยูเครน และที่ผ่านมาประชาชนยูเครนได้เคยก่อการประท้วงประธานาธิบดี Kuchma หลายครั้ง
    สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
    ยูเครนได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2002 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า กลุ่มพรรคการเมือง Our Ukraine Bloc ซึ่งนำโดยนาย Vicktor Yushchenko อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นลำดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 23.6 และได้รับที่นั่งในสภา 112 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้ง รัฐบาลได้ ในขณะที่พรรค Communist Party of Ukraine ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 20.0 และพรรค For United Ukraine ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นลำดับที่ 3 คิดเป็นร้อยละ 11.3 ทั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2006
    ยูเครนได้จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2004 แทนนาย Leonid Kuchma ซึ่งดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระแล้ว โดยเป็นการแข่งขันกันระหว่างนาย Viktor Yanukovich นายกรัฐมนตรี ยูเครนในขณะนั้น กับนาย Viktor Yushchenko ผู้นำฝ่ายค้าน ผลปรากฏว่า นาย Yanukovich ชนะการ เลือกตั้ง จึงมีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงเคียฟที่เรียกว่า Orange Revolution โดยผู้สนับสนุนนาย Yushchenko เป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน เนื่องจากผู้ชุมนุมกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง จนในที่สุดศาลฎีกาได้ตัดสินให้จัดการเลือกตั้งรอบใหม่ ซึ่งผลปรากฏว่า นาย Yushchenko ได้รับชัยชนะ และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2005
    เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2549 ยูเครนได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ Orange Revolution ในยูเครน โดยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปรากฏว่า พรรค The Party of the Regions ของนาย Viktor Yanukovich อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคการเมืองที่รัสเซียให้การสนับสนุน ได้รับคะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 32.14) ตามด้วยพรรค BYT ของนาง Yuliya Tymoshenko อดีตนายกรัฐมนตรี (ในสมัยประธานาธิบดี Yushchenko) เป็นอันดับ 2 (ร้อยละ 22.29) และพรรค Our Ukraine ของนาย Viktor Yushchenko ประธานาธิบดียูเครน เป็น อันดับ 3 (ร้อยละ 13.95) ผลจากการที่ไม่มีผู้ชนะอย่างเด็ดขาด คาดว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยทั้ง 3 พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด ได้มีการเจรจาเพื่อหาแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม ทังนี้ในเดือนสิงหาคมในปี 2549 ได้มีการร่วใลงนามใน Memorandum on National Unity โดย ปธน. ยังคงเป็นนาย Yushchenko ส่วนนาย Yakunukovich ได้รับตําแหน่งเป็น นรม. ทั้งนี้คาดว่าการทํางานของรัฐบาลจะค่อนข้างลําบาก เนื่องจากทาง ปธน. มีนโยบายที่เอียงไปทางด้านตะวันตกและ นรม. นั้นมีนโยบายโน้มเอียงไปทางด้านของรัสเซียมากกว่า



    ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    ยูเครนดำเนินนโยบายมุ่งสู่ตะวันตกมาโดยตลอด ในช่วงแรกหลังการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต โดยตั้งเป้าที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาของทวีปยุโรปและแยกตัวออกจากกรอบความสัมพันธ์กับรัสเซียและประเทศอดีตสหภาพโซเวียต แต่ต่อมา ยูเครนได้ปรับทิศทางของนโยบายต่างประเทศให้สมดุลมากขึ้น โดยหันมาให้ความสำคัญกับรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ด้วย ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า นโยบายต่างประเทศของยูเครนอยู่บนพื้นฐานของการสร้างดุลยภาพระหว่างการบูรณาการกับตะวันตกและการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความผูกพันทางเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์การเมือง
    • ทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศของยูเครน
    1. พัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีกับรัฐต่างๆ โดยเฉพาะเทศเพื่อนบ้าน ประเทศมหาอำนาจ และประเทศหุ้นส่วนสำคัญทางยุทธศาสตร์
    2. การบูรณาการเข้าสู่สหภาพยุโรปและนาโต้
    3. ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี

    ความสัมพันธ์กับรัสเซีย
    ช่วงแรก
    ในช่วง 10 ปีแรก หลังการแยกตัวจากสหภาพโซเวียต ยูเครนดำเนินนโยบายมุ่งสู่ตะวันตก หันไปให้ความสำคัญกับสหรัฐ ฯ และประเทศตะวันตก และพยายามหลีกหนีอิทธิพลของรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียก็ไม่สามารถยอมรับการเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ของยูเครนได้ เนื่องจากยูเครนหรือ Little Russia ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซียมาโดยตลอด พร้อมกันนี้ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างชาวยูเครนกับชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในยูเครนได้ปะทุขึ้นภายหลังจากที่ยูเครนประกาศเอกราชจากรัสเซีย ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับยูเครนหลายครั้ง อาทิ การแย่งชิงแหลมไครเมีย และปัญหากรรมสิทธิกองเรือของรัสเซียในทะเลดำ เป็นต้น ทั้งนี้ ความพยายามลดการพึ่งพารัสเซียทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดได้แก่ การที่ยูเครนพยายามแสวงหาแหล่งน้ำมันและพลังงานจากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากรัสเซีย เช่น อิหร่าน และดินแดนปกครองตนเองในรัสเซีย

    ปัจจุบัน
    ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียได้กลับมาใกล้ชิดกันอีก หลังจากที่ได้ห่างเหินเป็นเวลายาวนาน การปรับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศซึ่งเริ่มจากการลงนามในความตกลงเพื่อหาข้อยุติสำหรับปัญหากองเรือทะเลดำเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1997 ทั้งนี้ ความตกลงฯ ได้กำหนดให้รัสเซียได้สิทธิในการเช่าฐานทัพเรือยูเครนที่เมืองเซวาสโตโพล (Sevastopol) เพื่อเป็นที่ตั้งกองเรือของตนต่อไปอีก 20 ปี
    ทั้งสองประเทศได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อร่วมมือกันในด้านต่างๆ (Bilateral Commission) และรวมไปถึงการพิจารณาปัญหาความขัดแย้งในการปักปันเขตแดน การจัดทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 10 ปี (ปี ค.ศ. 1998 - 2007) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ แนวทางในการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและแนวทางในการขยายปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งความร่วมมือในสาขาต่างๆ กว่า 100 โครงการ เช่น ด้านการบิน การพลังงาน การสำรวจอวกาศ เป็นต้น ซึ่งแผนความร่วมมือดังกล่าว จะเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งมีมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เมื่อปี ค.ศ. 1997 ให้เพิ่มขึ้นอีกสองเท่าครึ่งในอีก 10 ปี ข้างหน้า นอกจากนั้น ยังมีความตกลงระหว่างรัฐบาลอีกหลายฉบับ เช่น ความร่วมมือด้าน
    การสื่อสาร การศึกษาและการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมร่วม เพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมทั้งได้มีการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือและมิตรภาพ (Treaty of Friendship, Co-operation and Partnership) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1997 เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรบนพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) การเคารพซึ่งกันและกัน และในฐานะเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้นต่อไป และผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะให้จัดตั้งคณะทำงานร่วม anti - crisis group เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และยืนยันที่จะผลักดันรัฐบาลของแต่ละฝ่ายให้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ
    เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2002 นายกรัฐมนตรี Mikhail Kasyanov ของรัสเซียและนายกรัฐมนตรี Anatoliy Kinakh ของยูเครนในขณะนั้น ได้ลงนามร่วมกันในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางยุทธศาสตร์
    นอกจากนี้ นาย Alexei Miller ประธานกรรมการบริษัท Gazprom ของรัสเซียก็ได้ลงนามในเอกสารร่วมกับนาย Yury Buiko ประธานกรรมการบริษัท Nallogaz Ukrainy ของยูเครน เพื่อการจัดตั้งองค์กรร่วมทุนระหว่างประเทศ (international consortium) เพื่อพัฒนาและดำเนินการเกี่ยวกับระบบการขนส่งก๊าซใน
    ยูเครน โดยองค์กรดังกล่าวจะจัดตั้ง จดทะเบียน และดำเนินการภายใต้กฎหมายของยูเครน โดยสำนักงานจะตั้งอยู่ที่กรุงเคียฟ และในอนาคตรัสเซียและยูเครนจะเปิดโอกาสให้บริษัทต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป
    เข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรร่วมทุนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนได้เคยลงนามในสัญญาร่วมกันเพื่อการขนส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านท่อก๊าซของยูเครนถึงปีค.ศ. 2013 ไม่ต่ำกว่า 110 พันล้านคิวบิกเมตร และปัจจุบัน รัสเซียส่งก๊าซไปยังยุโรปโดยผ่านระบบท่อส่งก๊าซในยูเครนเป็นหลัก
    ความขัดแย้งเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

    ยูเครนและรัสเซีย อยู่ระหว่างเจรจาข้อขัดแย้งในกรณีที่รัสเซียระงับการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้ยูเครน หลังจากที่ยูเครนไม่ยอมตามที่รัสเซียประกาศจะขึ้นราคาก๊าซ 4 เท่า จากเดิม 50 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร เป็น 220-230 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ตามราคาตลาดยุโรป เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ยูเครน และประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งนำเข้าก๊าซจาก รัสเซียผ่านท่อก๊าซในยูเครน ประสบกับปัญหาด้านพลังงาน ท่ามกลางภูมิอากาศที่หนาวเย็นที่สุดในรอบ หลายปี (ภูมิอากาศในยูเครนเท่ากับ -30 C) ขณะนี้ ยูเครนและรัสเซีย สามารถตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง โดยยูเครนจะนำเข้าก๊าซจากรัสเซียผ่านบริษัท Rosukrenergo ซึ่งรัสเซีย ถือหุ้นอยู่ครึ่งหนึ่ง โดยบริษัท Rosukrenergo จะซื้อก๊าซจากรัสเซียในราคา 230 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร และขายก๊าซที่ตนซื้อจากเติร์กเมนิสถาน ซึ่งมีราคาถูกกว่าให้ยูเครนในราคา 95 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 5 ปี อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถลงนามข้อตกลงระหว่างกันได้ เนื่องจาก ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในรายละเอียดบางส่วน นอกจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของยูเครน อาจส่งผล ให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อข้อตกลงดังกล่าวด้วยเช่นกัน

    ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบ Kerch

    ช่องแคบ Kerch ตั้งอยู่ระหว่างเกาะ Tuzla ของยูเครน
    และ Taman Peninsula ของรัสเซีย และเป็นช่องทาง
    ผ่านจากทะเล Azov เข้าสู่ทะเลดำ ซึ่งนับตั้งแต่การ
    ประกาศเอกราชของยูเครนจากสหภาพโซเวียต ทั้งสอง
    ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุการเจรจาปักปันเขตแดน
    ในบริเวณนี้ แต่เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003
    รัสเซียได้เริ่มสร้างเขื่อนในบริเวณช่องแคบ Kerch เพื่อเชื่อมชายฝั่งบริเวณคาบสมุทร Taman ของรัสเซีย เข้ากับเกาะ Tuzla ของยูเครน โดยอ้างว่าเขื่อนดังกล่าวจะช่วยลดการพังทลายของพื้นที่ชายฝั่งของรัสเซีย แต่ยูเครนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยทางดินแดนของตน จึงได้ส่งกองทัพเข้าไปประจำการในเกาะ Tuzla และทำการซ้อมรบในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งรัฐสภายูเครนได้ลงมติว่า การกระทำของรัสเซียถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นมิตร ทำให้เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้าที่ตึงเครียดระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายได้พยายามเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในหลายระดับ โดยการเจรจาครั้งสำคัญมีขึ้นระหว่างประธานาธิบดี Kuchma ของยูเครน และประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ที่แหลมไครเมีย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2003 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการใช้ประโยชน์ร่วมกันบริเวณช่องแคบ Kerch และทะเล Azov และล่าสุดมีรายงานข่าวว่า การเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซียรอบแรกว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางทะเลบริเวณช่องแคบ Kerch และทะเล Azov จะจัดขึ้นที่กรุงมอสโก ระหว่างวันที่ 29-30 มกราคม ค.ศ. 2004

    ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก

    สหภาพยุโรป
    ยูเครนและสหภาพยุโรปได้จัดทำความตกลงภายใต้ Partnership and Cooperation Agreement แล้ว เริ่มต้นจากเดือนมีนาคม ค.ศ. 1998 เป็นต้นมา แต่ยังไม่ขยายไปถึงการจัดทำ Association Agreement ระหว่างกัน ในขณะที่สหภาพยุโรปได้แต่ยอมรับถึงความประสงค์ของยูเครนที่จะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่การเป็น Association ระหว่างกันเท่านั้น ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ของยูเครนคือ การที่ยูเครนยังไม่ได้รับการยอมรับว่ามีเศรษฐกิจระบบตลาดและยังมีปัญหาในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่มาก
    เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 ได้มีการประชุมสุดยอดระหว่างยูเครนกับสหภาพยุโรป
    ขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน โดยนาย Leonid Kuchma ประธานาธิบดียูเครนได้กล่าวย้ำถึงความต้องการของ ยูเครนที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปภายในปี ค.ศ. 2011 นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ตกลงกันที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างยูเครนกับ
    สหภาพยุโรปด้วย

    สหรัฐอเมริกา
    ความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับสหรัฐอเมริกาดำเนินภายใต้โครงการความช่วยเหลือ
    Freedom for Russia and Emerging Eurasian Democracies and Open Markets Support Act ซึ่งผ่านการรับรองจากรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1992 โดยมียอดเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในบรรดาประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ยูเครนได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากสหรัฐฯ มากที่สุด โดยในปี ค.ศ. 2000 ยูเครนได้รับเงินช่วยเหลือ 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากยอดรวม 216 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกำหนดที่จะให้ประเทศ CIS ทั้งหมด นอกจากนี้ ยูเครนยังได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯอีก จำนวน 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้โครงการ Western NIS Enterprise Fund ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือแก่วิสาหกิจเอกชนของยูเครน แต่ภายหลังที่มีข่าวเรื่องยูเครนขายอาวุธให้แก่อิรักแล้ว มีรายงานข่าวว่า ในปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่รัฐบาลยูเครน และจะโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่หน่วยงานหรือกลุ่มผู้รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนในยูเครนแทน อย่างไรก็ดี ยูเครนได้ส่งทหารจำนวน 1,600 นาย เข้าไปร่วมกับกองกำลังของพันธมิตรในการฟื้นฟูบูรณะอิรัก เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2003 ซึ่งคาดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐ อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้ยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิก NATO ได้ในอนาคต
    อนึ่ง ยูเครนเข้าร่วมใน OSCE ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นสมาชิกของ North Atlantic Cooperation Council และเป็นสมาชิก Partnership for Peace ในกรอบนาโต
    ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่ม CIS
    ยูเครนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโปแลนด์ และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS)
    รองจากรัสเซีย รวมทั้งมีบทบาทนำในองค์กรในระดับอนุภูมิภาค อาทิ กลุ่ม GUUAM (Georgia-Ukraine-Uzbekistan-Azerbaijan-Moldova) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศ CIS ที่นิยมตะวันตกและสนับสนุนให้ CIS รวมตัวเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น กลุ่ม Organization for Black Sea Economic Cooperation และอยู่ในกลุ่มความร่วมมือ Common Economic Space (CES) ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างรัสเซีย ยูเครน เบลารุส และคาซัคสถาน นอกจากนี้ ยูเครนยังมีแผนที่จะร่วมมือกับ
    อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย และมอลโดวา ในการสร้างท่อลำเลียงน้ำมันจากริมฝั่งทะเลสาบแคสเปียนโดย
    ไม่ผ่านดินแดนของรัสเซียเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจและอิทธิพลรัสเซียในภูมิภาคนี้ เนื่องจากปัจจุบันรัสเซียเป็นผู้ผูกขาดการขนส่งน้ำมันจากทะเลสาปแคสเปียนไปยังตลาดตะวันตกแต่เพียงผู้เดียว


    เศรษฐกิจการค้า
    GDP 82.9 พันล้าน USD
    อัตราการเจริญเติบโต 2.6 %
    GDP per capita 1,727 USD
    อัตราเงินเฟ้อ 13.5 %
    อัตราว่างงาน 3.1 %
    สัดส่วน GDP รายสาขา เกษตรกรรม 18.7 % อุตสาหกรรม 45.2 %
    การบริการ 36.1 %
    มูลค่าการส่งออก 38.22 พันล้าน USD
    มูลค่าการนำเข้า 37.18 พันล้าน USD
    อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมถ่านหิน พลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมเหล็กและแปรรูปเหล็ก
    ทรัพยากรธรรมชาติ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ ป่าไม้ เหล็ก
    ตลาดนำเข้าที่สำคัญ รัสเซีย (35.15 %) เยอรมนี (9.4 %) เติร์กเมนิสถาน (7.4 %) จีน (5 %) (2547)
    ตลาดส่งออกที่สำคัญ รัสเซีย (22.1 %) ตุรกี (6 %) อิตาลี (5.6 %) (2547)
    สินค้านำเข้าที่สำคัญ เชื้อเพลิงและพลังงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ อาหาร โลหะ
    สินค้าออกที่สำคัญ โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เชื้อเพลิงและพลังงาน เคมีภัณฑ์ อาหาร


    สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
    เศรษฐกิจของยูเครนได้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นโดยลำดับ สำหรับในปี ค.ศ. 2004 GDP ของ
    ยูเครน เท่ากับ 62.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 12.5 ยูเครนยังมีปัจจัย เสี่ยงสำหรับการลงทุนทำธุรกิจ ได้แก่ ปัญหาด้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาล ระบบมาเฟีย และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร อีกทั้งยูเครนยังคงมีความแตกต่างอย่างมากในระดับการพัฒนา ของเมืองใหญ่และเขตชนบทที่ห่างไกล ส่งผลให้ประชาชนในชนบทไม่ได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการ ว่างงานในระดับสูง นอกจากนี้ การระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองเชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อปี ค.ศ. 1986 ยังทำให้ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกได้รับสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งส่งผลให้ผลิตผลการเกษตร ของยูเครนมีปริมาณและคุณภาพลดลง การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2005 ขยายตัวร้อยละ .. เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจากการคาดการณ์ของ Economic Intelligent Unit คาดว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของยูเครนในปี ค.ศ. 2004 จะอยู่ที่ร้อยละ 7
    ในด้านการลงทุน รัฐบาลยูเครนส่งเสริมการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยได้ออก
    กฎหมายส่งเสริมการลงทุนซึ่งให้สิทธิชาวต่างชาติซื้อและครอบครองที่ดินและทรัพย์สิน รวมทั้งโอนรายได้และ
    ผลกำไรจากการประกอบธุรกิจไปต่างประเทศได้ ในปี ค.ศ. 2002 เงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในยูเครน
    นับตั้งแต่แยกตัวจากสหภาพโซเวียตมีประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี ค.ศ. 2004 เท่ากับ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหนัก และการผลิตเครื่องจักรกล โดยประเทศผู้ลงทุนสำคัญในยูเครน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ไซปรัส สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย ตามลำดับ ในปัจจุบัน กิจการและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีในยูเครน ได้แก่ การก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และการผลิตเครื่องจักรกล
    สาหกรรมการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย และอาคารพาณิชย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขยายตัวที่สูงมาก อันเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และจากการที่อาคารเก่าที่มีอยู่เสื่อมโทรมลง และความต้องการอาคารที่พักอาศัยในเมืองเพิ่มสูงขึ้น โดยอัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างของยูเครนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 4 ในปีค.ศ. 1998 เป็นร้อยละ 8.8 ในปีค.ศ. 2001 ดังนั้น รัฐบาลยูเครนจึงได้ออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อช่วยเหลือบริษัทก่อสร้างในท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการในโครงการก่อสร้างได้จนสำเร็จ
    ยูเครนมีความชำนาญด้านอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางทหาร ทั้งนี้ เนื่องจาก เคยเป็นแหล่งผลิตอาวุธและอุปกรณ์ทางทหารที่สำคัญที่สุดในสมัยสหภาพโซเวียต อุตสาหกรรมที่มี
    ศักยภาพได้แก่ การผลิตโลหะ อุตสาหกรรมด้านวิศวกรรม เครื่องกล เหมืองแร่ อุตสาหกรรมต่อเรือ การผลิตรถยนต์และเครื่องบินขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ยูเครนยังขาดประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมเบา ซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศในระยะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับยูเครน
    ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ยูเครน

    ความสัมพันธ์ทางการเมือง

    ไทยมีความสัมพันธ์กับยูเครนตั้งแต่ยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพ โซเวียตตามลำดับ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในช่วงปลายปีค.ศ. 1991 โดยสาธารณรัฐต่างๆ ซึ่งเคยรวมเป็นสหภาพโซเวียต ได้แยกตัวออกเป็นอิสระ และประกาศตัวเป็นเอกราชรวม 12 ประเทศ ซึ่งไทยได้ให้การรับรองเอกราชของประเทศเหล่านี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.1991 ต่อมาประเทศเหล่านี้ ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States-CIS)
    ไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเครน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม2535
    (ค.ศ.1992) โดยให้อยู่ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และมีนายสรยุตม์ พรหมพจน์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำยูเครน ส่วนยูเครนได้ตั้งสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.2002 โดยมีนายอีกอร์ ฮูเมนนี (Ihor Humennyi) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย และมีนายปรีชา ถิรกิจพงศ์ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ยูเครนประจำ ประเทศไทย
    ความสัมพันธ์ทวิภาคีดำเนินไปอย่างราบรื่น มีกลไกที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับหนึ่ง อาทิ มีสถานเอกอัครราชทูตระหว่างกัน มีความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission) ระหว่างไทยกับยูเครน ความตกลงระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสภาหอการค้าและอุตสหกรรมยูเครน เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทสายการบิน Aerosvit ของยูเครนได้เปิดเส้นทางการบินตรงระหว่างไทยกับยูเครนสัปดาห์ละ 3 เที่ยวมาตั้งแต่ปีค.ศ.2003 ในส่วนของการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง นายลีโอนิด คุชมา (Leonid Kuchma) ประธานาธิบดียูเครนในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2547 ซึ่งมีความสสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ยูเครน เนื่องจากเป็น การเยือนครั้งแรกระดับประมุขรัฐแห่งยูเครน ในขณะที่ฝ่ายไทยยังไม่มีการเยือนระดับสูงนับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์กับยูเครน

    การแลกเปลี่ยนการเยือน
    การเยือนในระดับราชวงศ์ของไทย
    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จ ฯ เยือนยูเครนอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2532 (ค.ศ.1989) ในขณะที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
    การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
    พ.ค. 1988 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีเยือนยูเครนอย่างเป็นทางการ
    (ขณะยังเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต)
    มิ.ย. 1990 น.ส.สุจิตรา หิรัญพฤกษ์อธิบดีกรมยุโรปนำคณะภาครัฐบาลและเอกชน สำรวจลู่ทางพัฒนาความสัมพันธ์
    พ.ค. 1993 ผู้แทนธนาคารชาติยูเครนร่วมโครงการฝึกอบรมด้านการธนาคาร ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ
    ส.ค. 1993 คณะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์สำรวจลู่ทางการค้ากับยูเครน
    พ.ย. 1993 นาย Golubova Alexei Grigorevich รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยูเครนเยือนไทยในฐานะแขกของภาคเอกชน
    10-13 ก.พ. 1994 นาย Alexandre Makarenko รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน และคณะเยือนไทยเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    24 ก.พ. – 5 มี.ค. 1997 นาย Victor Myntyan ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมยูเครนนำคณะนักธุรกิจ 15 คนเยือนไทย และพบปะหารือกับสภาหอการค้าไทย
    5-9 พ.ย. 1998 นาย Anatoliy K. Orel รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
    20-22 พ.ย. 1999 นาย Olexander I. Maidannyk รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครนร่วมพิธีเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ยูเครนประจำไทย


    2-7 ก.ค. 2001 นายรังสรรค์ พหลโยธินเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกนำคณะเยือนยูเครนในโครงการสำรวจเศรษฐกิจยูเครน
    3-5 พ.ค.2002 นาย Olexandr Shlapak รมต. กระทรวงเศรษฐกิจและการเข้าร่วมสหภาพยุโรปของยูเครนเยือนไทยอย่างเป็นทางการและได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JC) กับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.กต.
    21 ก.พ.2003 นาย Volodymyr Yel’chenko รมช.กต.ยูเครนเยือนไทยก่อนเข้าร่วมการประชุมNAM ที่มาเลเซีย และได้พบหารือ กับรองปลัดกระทรวงฯ (นาย
    เพ็ญศักดิ์ ชลารักษ์) เพื่อหารือถึงประเด็นต่างๆ ในความสัมพันธ์
    ทวิภาคี
    11 มี.ค.2003 นาง Lyudmyla M. Kuchma ภริยาประธานาธิบดียูเครนเข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เพื่อกราบทูลเกี่ยวกับโครงการสาธารณสุขต่างๆ ในพระอุปถัมภ์
    2-5 ก.ค.2003 นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมหารือถึงลู่ทางเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบินและการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ยูเครน
    26-28 ส.ค.2003 นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เยือนรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถาน ในช่วงการเฉลิมฉลอง 300 ปีนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
    22-28 ก.ย.2003 นายวิทยา มะเสนา ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิก รัฐสภาไทย-ยูเครน และคณะเยือนยูเครนในกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทย-ยูเครน
    21-25 ธ.ค.2003 นาย Valeriy Pyatnytskiy, First Deputy Minister of Economy and European Integrationและคณะ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation - JC) ไทย-ยูเครน และเจรจาพิธีสารทวิภาคีว่าด้วยการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของยูเครนกับกระทรวงพาณิชย์
    11-16 ก.พ. 2004 คณะผู้สื่อข่าวของยูเครนเพื่อขอสัมภาษณ์ผู้แทนจากหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในไทย โดย สายการบิน Aerosvit เป็นผู้ให้การสนับสนุนการเยือนครั้งนี้
    9-11 มี.ค.2004 นาย Leonid Kuchmaประธานาธิบดียูเครนและภริยาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเป็นการเยือนระดับผู้นำประเทศเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันในปีค.ศ. 1992
    7-9 เม.ย. 2004 นาย Mykola Kulinich อธิการบดี Diplomatic Academy ของยูเครนและนาย Rostyslav Tronenko ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ของกต. ยูเครนแลกเปลี่ยนทัศนะและหารือข้อราชการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบรรยายสรุป/สนทนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของยูเครน
    9-12 มิ.ย. 2004 พล.อ.อ. คงศักดิ์ วันทนา ผบ.ทอ.เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบิน Antonov ของยูเครน
    20-22 ต.ค.2004 นายนิสสัย เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯผู้แทนพิเศษของรมว.กต.ในเรื่องอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล
    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

    การค้า

    4.3.1.1 ภาพรวมและสถิติการค้า

    ยูเครนเป็นประเทศใหญ่ มีประชากรประมาณ 47 ล้านคน มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 รองจากรัสเซีย ในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยใน CIS รวมทั้งเป็นตลาดรองรับสินค้า และสามารถเป็นศูนย์กลาง การขนส่งสินค้าเชื่อมโยงกับประเทศ CIS ต่างๆ ให้กับไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากยูเครนมีท่าเรือใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Odessa ปัจจุบัน ไทยและยูเครน มีมูลค่าการค้ารวมไม่มากนัก จึงมีศักยภาพที่ไทยจะ ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจออกไปอีกมาก โดยที่ผ่านมา ยังไม่มีการขยายตัวเท่าที่ควร เนื่องจาก ไทยไม่มีสำนักงานผู้แทนทางการทูตในยูเครน

    4.3.1.2 การส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทย

    การส่งออกสินค้าของไทยไปยูเครน ในปี 2548 มีมูลค่า 73.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องไฟฟ้า ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก อัญมณี และเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง
    การนำเข้าสินค้าของไทยจากยูเครน ในปี 2548 มีมูลค่า 200.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เหล็ก/เหล็กกล้า สิ้นแร่โลหะอื่นๆ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์
    ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับยูเครนมาโดยตลอด โดยในปี 2548 ไทยขาดดุล การค้ากับยูเครนเป็นมูลค่า 126.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการที่ไทยนำเข้าเหล็กเป็นจำนวนมากจากยูเครน (มูลค่า 178 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 88.91 ของมูลค่าสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครน)
    ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
    ยูเครนเป็นตลาดใหม่ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางนัก การขนส่งสินค้าไปยูเครน ใช้เวลา นานกว่าเดือน และมีต้นทุนสูง ประกอบกับขาดข้อมูลในการดำเนินธุรกิจ และการลงทุนระหว่างกัน ดังนั้น นักธุรกิจไทย จึงมีความสนใจในตลาดนี้ค่อนข้างน้อย และนักธุรกิจยูเครน ก็มีความสนใจในตลาดของไทยน้อยเช่นกัน
    ประเด็นสำคัญในการค้า
    มาตรการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากยูเครน
    เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและ การอุดหนุนได้ออกประกาศเรื่อง การตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจาก 14 ประเทศ ประกอบด้วย ญีปุ่น แอฟริการใต้ รัสเซีย คาซัคสถาน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวเนซูเอลา อาร์เจนตินา ยูเครน แอลจีเรีย อินโดนีเซีย สโลวาเกีย และโรมาเนีย โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2546 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าว ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยูเครน ซึ่งเคยสูงถึง 356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2545 ลดลงเหลือเพียง 256 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2546 โดยไทยนำเข้าเหล็กและแร่เหล็กจากยูเครน ลดลงประมาณร้อยละ 33 หรือนำเข้าลดลงจากเดิมเป็นมูลค่า 112 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งฝ่ายยูเครนเคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวหลายครั้ง
    เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (...) ทบทวนการใช้มาตรการดังกล่าวกับสินค้าเหล็กจากยูเครน เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการขยายปริมาณการค้าระหว่างกัน และโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคของไทยเป็นสำคัญ*
    เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ไทยได้ยกเลิกการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วน และไม่เป็นม้วนจากยูเครนชั่วคราว เป็นระยะเวลา 6 เดือน (มีนาคม-กันยายน 2547) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าเหล็กของโลก และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
    เมื่อเดือนกันยายน 2547 ไทยได้กลับมาใช้มาตรการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดเป็นม้วน และไม่เป็นม้วนจากยูเครนอีกครั้ง หลังมีการยกเลิกชั่วคราว 6 เดือน (มีนาคม-กันยายน 2547)
    การลงทุน
    ปัจจุบันยังไม่ปรากฏการลงทุนของยูเครนในไทย อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนไทยได้เคย แจ้งความประสงค์ที่จะลงทุน หรือร่วมทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กต้นน้ำกับภาคเอกชนของยูเครน
    ยูเครนให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันนี้มีบริษัท
    ต่างชาติจากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ สวีเดน และสเปน เข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ เช่น การก่อสร้าง เครื่องดื่ม อาหารและที่ดิน การสื่อสาร การผลิตบุหรี่ การบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรมโลหะ การผลิตลิฟต์และบันไดเลื่อน เป็นต้น
    ยูเครนเคยเสนอให้ไทยร่วมลงทุนกับยูเครนในสาขาการแปรรูปผลผลิตเกษตร อิเล็กโทรนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กกล้า (Carbon Steel and Alloyed Steel) การโรงแรม การผลิตน้ำตาล สิ่งทอ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ ยูเครนเคยแสดงความสนใจที่จะมาร่วมลงทุนในไทยเพื่อผลิต rubber latex ในไทยเพื่อส่งออกไปยังยูเครนด้วย
    ยูเครนเคยแจ้งความประสงค์ขอรับการถ่ายทอดวิชาการด้านการบริหารเศรษฐกิจการตลาดการค้าระหว่างประเทศ การบริหารงานโรงแรมและการท่องเที่ยว และการแปรรูปสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะการขาดแคลนบุคลากรในสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์อย่างมาก
    ท่าเรือ Odessa ของยูเครนเป็นที่รู้จักกันดีในประชาคมรัฐเอกราชเนื่องจากการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศในประชาคมรัฐเอกราช จำเป็นต้องขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือ Odessa ของยูเครน และได้มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘Porto-Franco’ ขึ้นในบริเวณท่าเรือ Odessa เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2000 เป็นการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าที่ทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้ท่าเรือ Odessa กลายเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น ผู้ค้าไทยจึงควรให้ความสำคัญกับยูเครน ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าเป็นประตูการค้าไปสู่ประเทศในกลุ่ม CIS ในขณะเดียวกัน ไทยก็เป็นประตูการค้าของยูเครนไปสู่อาเซียนได้เช่นกัน

    ประเด็นทวิภาคี
    การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission) ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับยูเครน
    ไทยกับยูเครนลงนามความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคีไทย-ยูเครน เมื่อปี 2546 (ค.ศ.2002)
    ฝ่ายยูเครนได้ทาบทามถึงความเป็นไปได้ที่ฝ่ายไทยจะจัดการประชุม JC ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2547 พร้อมทั้งได้แจ้งเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคณะผู้แทนของฝ่ายยูเครน จากนาย Olexandr Shnipko รัฐมนตรีช่วยประจำสำนักคณะรัฐมนตรีเป็นนาย Oleksandr Neustroyev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และได้เสนอร่างระเบียบวาระการประชุมฯ และร่าง Protocol ของการประชุมฯ ให้ฝ่ายไทยพิจารณา แต่เนื่องจากผู้ช่วยรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายสรจักร เกษมสุวรรณ) ซึ่งจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย มีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุม ASEAN Mekong Basin Development Co-operation ที่นครเวียงจันทน์ ในช่วงเวลาดังกล่าว จึงได้แจ้งฝ่ายยูเครนขอเลื่อนการประชุมฯ ไปเป็นช่วงเดือนมกราคม 2548
    เมื่อต้นปี 2548 ยูเครนมีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีและรัฐบาล จึงได้ขอเลื่อนกำหนดการจัดประชุม JC ออกไปก่อน ทั้งนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2548 ฝ่ายยูเครนได้เสนอช่วงเวลาใหม่ โดยเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาจัดการประชุมฯ ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม 2548 และได้แจ้งเปลี่ยนหัวหน้าคณะผู้แทนจากนาย Oleksandr Neustroyev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นนาย Andriy Bereznyi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจยูเครน ซึ่งฝ่ายไทยได้เสนอที่จะจัดการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกยน 2548 ที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายยูเครนได้ขอเลื่อนการประชุมฯ ออกไปอีก เนื่องจากนาย Bereznyi ติดภารกิจ จึงไม่สามารถเดินทางมาร่วมการประชุมฯ ได้ความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทย-ยูเครน ฝ่ายยูเครนได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาความร่วมมือระหว่างรัฐสภายูเครน-ไทย(Ukraine-Thailand Interparliamentary Co-operation) ขึ้นตั้งแต่ปี 2545 (ค.ศ.2002) โดยมีนาย Volodymyr Fialkovski คณะกรรมการด้านการเงินและการธนาคารของรัฐสภา ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มฯ ซึ่งต่อมาฝ่ายไทย ได้จัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-ยูเครน (Thailand-Ukraine Parliamentarians Friendship Group) ขึ้นในรัฐสภาของไทยเช่นกัน โดยมีนายวิทยา มะเสนา ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯ และกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาฯ ไทยและยูเครน ได้เดินทางไปเยือนยูเครนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22-28 กันยายน 2546 (ค.ศ.2003)
    การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกัน
    ยูเครนเสนอให้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างภูมิภาค Zaporizka Oblast กับจังหวัดระยอง เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม และระหว่างสาธารณรัฐ Crimea กับจังหวัดภูเก็ต เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านสันทนาการ
    สถานะล่าสุด : ฝ่ายไทย อยู่ระหว่างการจัดทำร่างความตกลงเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ให้ฝ่ายยูเครนพิจารณา (กรมสารนิเทศ)
    ความร่วมมือทางการศึกษา
    ไทยกับยูเครนยังไม่เคยมีความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างเป็นทางการ แม้จะมีนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อที่ยูเครนบ้างในอดีต ทั้งนี้ รัฐบาลยูเครนมีนโยบายจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังมีหลายสถาบันที่ยังเก็บค่าหน่วยกิจ ประมาณ 3,000 – 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี สำหรับนักศึกษาต่างชาติจะต้องเรียนภาษายูเครนก่อน 1 ปี โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศใกล้เคียงแถบยุโรปตะวันออก และทะเลบอลติก นอกจากนั้น มาจากอินเดีย มองโกเลีย มาเลเซีย และเวียดนาม ทั้งนี้ สาขาที่นักศึกษาต่างชาตินิยมเรียนกันมากได้แก่ แพทยศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และศิลปะ สำหรับนักศึกษาจากมาเลเซีย นั้น ส่วนใหญ่ศึกษาด้านการแพทย์อยู่ที่ Crimean State Medical University
    ความร่วมมือทางวัฒนธรรม
    ไทยและยูเครนยังมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไม่มากนัก และทั้งสองฝ่ายยังอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ชาวยูเครน ให้ความสนใจมวยไทยเป็นอย่างมาก มีการตั้งสมาคมมวยไทย ทั้งในกรุงเคียฟและภูมิภาคต่างๆ และมีการแข่งขันประจำปีที่ Yalta ในภูมิภาคไครเมีย สำหรับอาหารไทย นั้น ในกรุงเคียฟ มีร้านอาหารไทย 1 แห่ง ซึ่งขายอาหารจากเอเชียชาติอื่นๆ ด้วย และเจ้าของร้านเป็นชาวต่างชาติ
    ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว
    ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจากกลุ่มเครือรัฐเอกราช เป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวยูเครนที่เดินทางมาไทยเฉลี่ย 4,000-5,000 คนในแต่ละปี สำหรับในปี 2548 (มกราคม – มิถุนายน) มีจำนวน 5,623 คน ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากไทย เดินทางไปยูเครน เพียง 12 คน ทั้งนี้ ไทยกับยูเครน ได้เจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (Agreement on Co-operation in the Field of Tourism) เสร็จสิ้นแล้ว และพร้อมที่จะมีการลงนาม
    ความร่วมมือด้านการบิน
    เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2545 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือกับสายการบิน Ukrainian International Airline และสายการบิน Aerosvit ของยูเครน ตามลำดับ และสายการบิน Aerosvit ได้เปิดเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ - เคียฟ สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป และต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2547 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กับสายการบิน Aerosvit ของยูเครน ก็ได้ลงนามความตกลงทำการบินร่วม (Code Share Agreement) อีกฉบับหนึ่ง
    การเปิดสถานกงสุล (กิตติมศักดิ์) ไทยประจำยูเครน และการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ
    ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2549 ได้อนุมัติให้เปิดสถานกงสุล (กิตติมศักดิ์) ไทยประจำยูเครน และแต่งตั้งนาย Mykhajlo Borisovich Radoutskyy (มีไคโล โบริโซวิช ราดุดสกี) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำยูเครน ขณะนี้ ฝ่ายไทยอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาบัตรตราตั้งของนาย Radoutskyy
    ความร่วมมือด้านทวิภาคี
    ความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติ
    ไทยได้ตอบรับที่จะสนับสนุน Professor Volodymyr Vassylenko ซึ่งสมัครเลือกตั้งซ้ำในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำ International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia (ICTY)เพื่อตอบแทนที่ยูเครนสนับสนุนไทยเป็นสมาชิก ECOSOC
    - ยูเครนขอให้ไทยสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิก Human Rights Council ของยูเครน ซึ่งจะมีการเลือกตั้งขึ้นระหว่างการประชุม 61th Session of the UN General Assembly ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2549
    งานรำลึกครบรอบ 20 ปี โศกนาฏกรรม Chernobyl ในวันที่ 26 เมษายน 2549
    มูลนิธิ Ukraine-3000 นำโดยนาง Kateryna Yushchenko ภริยาประธานาธิบดียูเครนได้จัดการประชุมนานาชาติ “20th Anniversary of the Chernobyl Disaster : Looking into the Future”และการประชุมด้านมนุษยธรรม “Rebirth, Renewal and Human Development” ระหว่างการจัดงานรำลึกครบรอบ 20 ปี โศกนาฏกรรม Chernobyl ในวันที่ 25 เมษายน 2549 โดยนาง Yushchenko ได้เชิญสตรีชั้นนำเข้าร่วม และได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี รวมทั้งเชิญภริยานายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานดังกล่าว ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เป็นตัวแทนไทยร่วมงาน
    มกราคม 2550

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×