ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #47 : สมาพันธรัฐสวิส

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 978
      0
      2 ก.พ. 50



     
    สมาพันธรัฐสวิส
    Swiss Confederation


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง - สมาพันธรัฐสวิสหรือสวิตเซอร์แลนด์ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป ล้อมรอบด้วย
    เทือกเขาแอลป์ เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือ จรดสหพันธ์สาธารณรัฐ
    เยอรมนี ทิศตะวันออก จรดออสเตรีย และลิคเตนสไตน์ ทิศใต้ จรดอิตาลี
    ทิศตะวันตก จรดฝรั่งเศส
    พื้นที่ - 41,290 ตารางกิโลเมตร
    ภูมิอากาศ - ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความสูงของพื้นที่ ตั้งแต่ภูมิอากาศแบบ
    แอลป์จนถึงแบบเมดิเตอร์เรเนียน ฤดูหนาว อากาศหนาว มีฝน และหิมะ
    ฤดูร้อน อบอุ่น เย็นชื้น มีฝนบางครั้ง ทางตอนใต้จะมีฝนชุก
    วันชาติ - 1 สิงหาคม
    ประชากร - 7.28 ล้านคน (ค.ศ.2001) เป็นชาวสวิสเยอรมันร้อยละ 65 สวิสฝรั่งเศสร้อยละ
    18 สวิสอิตาเลียนร้อยละ 10 โรมานช์ร้อยละ 1 อื่น ๆ ร้อยละ 6
    เมืองสำคัญ - กรุงเบิร์น (Bern) เป็นเมืองหลวง (ประชากร 332,195 คน) นครซูริค (Zurich) เป็น
    ศูนย์กลางธนาคารนานาชาติ (ประชากร 932,832 คน) นครเจนีวา (Geneva) เป็น
    ที่ตั้งองค์การระหว่างประเทศ (ประชากร 434,621 คน) นอกจากนี้ ยังมีเมือง
    สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ บาเซิล (Basel) โลซานน์ (Lausanne) และลูเซิร์น (Lucern)
    ภาษา - ภาษาราชการมี 4 ภาษา คือ เยอรมัน (ร้อยละ 64) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 19)
    อิตาเลียน (ร้อยละ 8) โรมานช์ (ร้อยละ 1) อื่น ๆ ร้อยละ 8
    ศาสนา - ประชาชนร้อยละ 46.1 นับถือนิกายโรมันคาธอลิก ร้อยละ 40 นับถือนิกาย
    โปรเตสแตนท์ ร้อยละ 5 นับถือศาสนาอื่นๆ ร้อยละ 8.9 มิได้นับถือศาสนา

    เงินตรา - สวิสฟรังก์ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 1.57 ฟรังก์สวิส
    1 ฟรังก์สวิส เท่ากับ 27.06 บาท (22 พฤษภาคม ค.ศ.2002)
    ธงชาติ - สี่เหลี่ยมผืนผ้าพื้นแดง มีเครื่องหมายกากบาดสีขาวอยู่ตรงกลาง
    GDP - 226 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ.2001)
    GDP per capita - 31,100 ดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ.2001)
    GDP real growth rate - ร้อยละ 1.6 (ค.ศ.2001)
    อัตราเงินเฟ้อ - ร้อยละ 1 (ค.ศ.2001)
    อัตราการว่างงาน - ร้อยละ 1.8 (ค.ศ.2001)
    มูลค่าการส่งออก - 91.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ.2001)
    มูลค่าการนำเข้า - 91.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ.2001)
    ประเทศคู่ค้านำเข้า - สหภาพยุโรป 63% เยอรมนี 23%
    ประเทศคู่ค้าส่งออก - สหภาพยุโรป 80% เยอรมนี 33%
    สินค้าเข้า - วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป สินค้าบริโภค สินค้าทุน (ค.ศ.2001)
    สินค้าออก - เครื่องจักร เคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ นาฬิกา อัญมณี เสื้อผ้าสำเร็จรูป
    (ค.ศ.2001)
    ประธานาธิบดี - นาย Pascal Couchepin
    รัฐมนตรีต่างประเทศ - นาง Micheline Calmy-Rey
    ระบบการปกครอง - ปกครองแบบประชาธิปไตย ในรูปของสมาพันธรัฐ
    (confederation) ประกอบด้วย มณฑล(Canton) 23 มณฑล
    ในจำนวนนี้ 3 มณฑลถูกแบ่งออกเป็นกึ่งมณฑล (half-canton)
    6 แห่ง ซึ่งมีอำนาจบริหารภายในของแต่ละ มณฑล ส่วนอำนาจ
    บริหารส่วนกลางจะอยู่ที่คณะมนตรีแห่งสมาพันธ์ (Federal Council) ซึ่งเทียบเท่ากับคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยสมาชิกที่
    เรียกว่ามนตรีแห่งสมาพันธ์ (Federal Councillor) 7 คน มีวาระ
    ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และใน 7 คน จะผลัดกันเป็น
    ประธานาธิบดีคนละ 1 ปี
    รูปแบบรัฐสภา - ในการปกครองส่วนกลาง มีรัฐสภาแห่งสมาพันธ์
    (Federal Assembly) ประกอบด้วยสภา 2 สภา ได้แก่ สภาแห่ง
    ชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States)
    สมาชิกสภาแห่งชาติ มี 200 คน ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน
    สมาชิกสภาแห่งรัฐมี 46 คน ได้รับเลือกตั้งมณฑลละ 2 คน จาก
    20 มณฑล และ 1 คนจากกึ่งมณฑล 6 แห่ง สมาชิกทั้งสองสภา
    อยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี
    พรรคการเมืองที่สำคัญ Free Democratic Party (FDP), Christian Democratic
    People’s Party (CDP), Social Democratic Party (SP),
    Swiss People’s Party (SVP), Liberal Party (LP)

    การเมืองการปกครอง
    ระบบการเมืองการปกครอง
    นับตั้งแต่ ค.ศ.1848 สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่มีลักษณะการรวมตัวของ Canton ต่าง ๆ อยู่ภายใต้รัฐบาลกลาง เรียกว่า สมาพันธรัฐ (Confederation)
    สวิตเซอร์แลนด์ประกอบด้วย 26 Canton ดังนี้
    1. Zurich 2. Berne
    3. Lucerne 4. Uri
    5. Schwyz 6. Obwalden
    7. Nidwalden 8. Glarus
    9. Zug 10. Fribourg
    11. Solothurn 12. Basle Town
    13. Basle Country 14. Schaffhausen
    15. Appenzell Ausser-Rhoden 16. Appenzell Inner-Rhoden
    17. St. Gallen 18. Grisons
    19. Aargau 20. Thurgau
    21. Ticino 22. Vaud
    23. Valais 24. Neuchatel
    25. Geneva 26. Jura



    แต่ละ Canton มีรัฐธรรมนูญและ Cantonal Government ของตนเองโดยมีอิสระจากการบริหารราชการของส่วนกลาง อำนาจนิติบัญญัติของสมาพันธ์ฯ อยู่ที่รัฐสภาแห่งสมาพันธ์ (Federal Assembly) ซึ่งประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Council) และสภาแห่งรัฐ (Council of States) ทั้งสองสภามีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกัน
    National Council ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงมีจำนวน 200 คน แต่ละ Canton จะมีจำนวน
    ผู้แทนของตนมากน้อยตามจำนวนประชากร (1:34,000) แต่อย่างน้อยที่สุด แต่ละ Canton จะมีผู้แทน 1 คน
    Council of States มีจำนวนสมาชิก 46 คน โดยแต่ละ Canton มีผู้แทน 2 คน
    การดำเนินงานที่สำคัญของรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ กระทำผ่าน standing committees ด้าน
    ต่าง ๆ อาทิ การคลัง การต่างประเทศ เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และการวิจัย การทหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
    การคมนาคม พลังงาน ฯลฯ
    ในการบริหารราชการส่วนกลาง อำนาจบริหารจะอยู่ที่คณะรัฐมนตรีเรียกว่า the Federal Council ซึ่งมีสมาชิกเรียกว่า Federal Councillor (มนตรีแห่งสมาพันธ์) มีทั้งหมด 7 คน ทำหน้าที่ควบคุมบริหารงานในหน่วยงานระดับกระทรวง 7 แห่ง รัฐสภาแห่งสมาพันธ์เป็นผู้เลือกมนตรีแห่งสมาพันธ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี และในจำนวนมนตรีแห่งสมาพันธ์ทั้ง 7 คน จะได้รับเลือกจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์ผลัดเปลี่ยนกันครั้งละหนึ่งคน เพื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี โดยมีสถานะเป็น “the first among equals” ดังนั้น ประธานาธิบดีสวิสจึงไม่มีการเยือนต่างประเทศในฐานะ State Visit
    นับตั้งแต่ ค.ศ.1959 เป็นต้นมา สวิตเซอร์แลนด์ได้ปกครองและบริหารโดยพรรคการเมืองหลัก
    4 พรรค ได้แก่ พรรค Radical Democratic (RDP) พรรค Social Democratic Party (SDP) พรรค Christian Democratic People’s Party (CDP) และพรรค Swiss People’s Party (SVP) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า
    แต่ละพรรคจะได้รับจัดสรรตำแหน่งมนตรีของสมาพันธ์พรรคละ 2 คน ยกเว้น Swiss People’s Party ได้ 1 คน นอกจากนั้น ผู้จะดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งสมาพันธ์จะมาจาก Canton เดียวกันเกิน 1 คนไม่ได้ และเป็น
    ธรรมเนียมว่าจะต้องมีผู้แทนจาก 3 Canton หลัก ได้แก่ Zurich, Berne และ Vaud แห่งละ 1 คน
    ลักษณะพิเศษของระบบประชาธิปไตยแบบสวิสคือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติมิได้อยู่ที่สภาแต่อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะตามรัฐธรรมนูญประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงประชามติ (referendum) และการริเริ่ม (initiative) กล่าวคือ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาแห่งสมาพันธ์แล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ครบ 90 วันเสียก่อน ในระหว่างนั้นประชาชนจะมีสิทธิคัดค้านโดยจะต้องเข้าชื่อร่วมกัน
    ไม่น้อยกว่า 50,000 คน เพื่อให้มีการจัด referendum ส่วนอำนาจในการริเริ่มของประชาชนจะสามารถใช้ในการ
    แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนต้องเข้าชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า 100,000 คน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ
    ด้านอำนาจตุลาการ ศาลชั้นต้นและศาลชั้นกลางจะเป็นศาลของมณฑล โดยใช้กฎหมาย
    สมาพันธ์ร่วมด้วย และประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรง แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบก็อาจเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกจากคนในท้องถิ่น ส่วนศาลฎีกาแห่งสมาพันธ์ (Federal Supreme Court) มี
    ที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ เพื่อเน้นการแบ่งแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงเบิร์น ศาลฎีกาเป็นทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา ประกอบด้วยผู้พิพากษาประมาณ 30 คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งสมาพันธ์

    เศรษฐกิจการค้า
    ภาวะเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์
    ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์
    การจ้างงานในภาคเกษตรกรรมลดลงจากร้อยละ 60 ของปี ค.ศ.1850 เหลือเพียงร้อยละ 30 ในปี ค.ศ.1911 และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา มีแรงงานเพียงร้อยละ 5 ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมี
    บทบาทตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 และภาคบริการเริ่มเข้ามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20
    ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี ค.ศ.1991-1996 เป็นผลจากมาตรการทางการเงินที่เข้มงวด
    ของสวิตเซอร์แลนด์เองและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงปี ค.ศ.1997-1999 สภาวะเศรษฐกิจสวิสเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 1.8 ต่อปี มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ธนาคารชาติสวิสนำมาใช้ทำให้ค่าของเงินฟรังค์สวิสลดลงเกือบร้อยละ 10 รวมทั้งสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่เอื้อให้การส่งออกของสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันภาวะการจ้างงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นก็ช่วยให้การบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นด้วย
    แม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะมีค่าจ้างแรงงานสูงเป็นอันดับสามของประเทศอุตสาหกรรมรองจากเดนมาร์กและนอร์เวย์ แต่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ แรงงานที่มีคุณภาพสูง บวกกับต้นทุนทาง
    สังคมที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงสุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ในปี ค.ศ.2000
    ภาคบริการของสวิตเซอร์แลนด์มีการจ้างงานกว่าสองในสามของการจ้างงานทั้งหมด รายได้ประชาชาติกว่าสองในสามมาจากภาคบริการ ที่สำคัญได้แก่ ภาคบริการผู้ผลิต (producer services) อาทิ บริการด้านการเงิน การประกันภัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งทำรายได้ถึงหนึ่งในสาม
    ภาคบริการการจำหน่าย (distributive services) เช่น การค้า การขนส่ง การสื่อสารโทรคมนาคม ภาคบริการสังคม (social services) เช่น สุขภาพ การศึกษา ภาคราชการ บริการด้านวัฒนธรรม และการพักผ่อน
    ภาคบริการบุคคล (personal services) อาทิ การท่องเที่ยว บริการต่าง ๆ สำหรับครัวเรือน และบริการ
    รายบุคคลอื่น ๆ
    ภาคอุตสาหกรรมของสวิตเซอร์แลนด์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แม้ประเทศจะมีขนาดเล็กแต่มีบริษัทข้ามชาติมากมายที่ตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ อาทิ ด้านอาหาร (Nestle) เวชภัณฑ์ (Novartis, Roche) วิศวกรรม (ABB) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ ทำรายได้จากการส่งออกสูงสุดของสวิตเซอร์แลนด์ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคการผลิตสินค้าพวกเครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้าและเครื่องเหล็ก การแข็งค่าของเงินฟรังค์สวิสทำให้ภาคอุตสาหกรรมพยายามลดค่าใช้จ่ายโดยการพัฒนาผลผลิตให้มี
    คุณภาพสูงมากขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของสวิตเซอร์แลนด์เป็นอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดในโลก
    ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดประเทศหนึ่ง ในปี ค.ศ. 2000 GDP ต่อหัว
    สูงถึง 33,464 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นที่สามของโลกรองจากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 1999 เป็นร้อยละ 3.4 ในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบสิบปี ปี ค.ศ. 2000
    เศรษฐกิจสวิสเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 เป็นต้นมาเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตรา
    ดอกเบี้ยที่ต่ำ และการอ่อนค่าเงินฟรังก์สวิส GDP ในปี ค.ศ.2000 มีอัตราร้อยละ 3.4 การส่งออกเพิ่มเป็นสองเท่าในขณะที่การนำเข้าก็เพิ่มสูงขึ้น การลงทุนเพิ่มเป็นร้อยละ 10.3 (เทียบกับร้อยละ 9 ของปี ค.ศ.1999) ส่วนอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 2.7 เป็นร้อยละ 2 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.6
    กระทรวงการคลังสวิสรายงานว่า ในช่วงแปดเดือนแรกของปี ค.ศ.2001 การส่งออกเพิ่มขึ้น
    ร้อยละ 5 คิดเป็นมูลค่า 88,533 ล้านฟรังก์สวิส และนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 คิดเป็นมูลค่า 88,719 ฟรังก์สวิส ขาดดุลการค้า 90.5 ล้านฟรังก์สวิส อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับปี
    ที่ผ่านมา
    การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจปี ค.ศ.2002
    ธนาคาร UBS ประเมินว่า เศรษฐกิจสวิสจะเติบโตร้อยละ 1 ในปี ค.ศ.2002 แต่สมาพันธรัฐสวิสจะไม่ตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยเหมือนช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ.2001 ทั้งนี้ เป็นผลจากนโยบายและการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและทันการณ์ของธนาคารชาติสวิสและเนื่องจากตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นสูง ในไตรมาสที่สองของปี ค.ศ.2001 GDP ของสมาพันธรัฐสวิสเติบโตร้อยละ 1.7 โดยเฉลี่ยการเติบโตในแต่ละไตรมาสอยู่ประมาณร้อยละ1.5 – 2 ซึ่งสูงกว่าเยอรมนี (-0.1) ฝรั่งเศส (1) และอิตาลี (0.1) แต่ตัวเลขการ
    เติบโตในครึ่งแรกของปี ค.ศ.2001 และดัชนีต่างๆ ชี้ว่าการเติบโตเริ่มช้าลง ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเริ่มลดลงในไตรมาสที่สองเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินฟรังก์สวิสสูงขึ้นและกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศเพิ่มในอัตราที่ต่ำ UBS คาดว่าปี ค.ศ.2002 การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเหลือเพียงร้อยละ 1 และอัตราเงินเฟ้อปี ค.ศ.2002 จะเท่ากับร้อยละ 1 เพราะปัจจัยต่างๆ อาทิ ราคาสินค้าจะไม่สูงขึ้นมาก อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง อัตราการเพิ่มค่าจ้างแรงงานก็จะช้าลง และเงินฟรังก์สวิสที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากราคาสินค้าเข้าที่เพิ่มขึ้น

    การค้าระหว่างประเทศและการลงทุน
    สวิตเซอร์แลนด์ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศเป็นภูเขา เพียง 1 ใน 4 ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น ที่สามารถทำการเพาะปลูก ซึ่งผลิตผลการเกษตรสามารถรองรับความต้องการด้านอาหารของประเทศได้เกินกว่าครึ่งหนึ่ง แต่สวิสขาดแคลนวัตถุดิบ จึงต้องนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกกลับไปในรูปของผลิตภัณฑ์คุณภาพ จึงต้องนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบ
    คู่ค้าสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ได้แก่สมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) เศรษฐกิจสวิสผูกพันกับเศรษฐกิจ
    ยุโรปอย่างมากโดยเฉพาะเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์นำเข้าจากสหภาพยุโรปร้อยละ 63 (เยอรมนีร้อยละ 23) และส่งออกไปสหภาพยุโรปกว่าร้อยละ 80 (เยอรมนีร้อยละ 33)
    สวิตเซอร์แลนด์ขาดดุลการค้าตลอดมาเว้นแต่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งส่งผลให้การนำเข้าลดลง แม้ว่าสวิตเซอร์แลนด์จะขาดดุลการค้ากับประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของยุโรป
    (ยกเว้นอังกฤษ) แต่สวิตเซอร์แลนด์ได้ดุลการค้าจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่าเช่น สเปน โปรตุเกส และประเทศกำลังพัฒนา
    เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทางเวชกรรม นาฬิกา และอัญมณี เป็น
    สินค้าส่งออกหลักของสวิตเซอร์แลนด์ สินค้านำเข้าหลักได้แก่เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า นาฬิกา เคมีภัณฑ์
    ผลผลิตทางการเกษตร โลหะ สิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบโดยใช้แรงงานที่มีคุณภาพสูงของตนแปรรูปให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง การส่งออกภาคบริการของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปี 1996-1999 เพิ่มประมาณร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมด การท่องเที่ยวก็เป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมบริการ
    สวิตเซอร์แลนด์ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติสูงสุดของโลก การ
    ได้ดุลจำนวนมากนี้เป็นผลจากการทำธุรกรรมด้านบริการ โดยเฉพาะภาคการเงิน
    บริษัทสวิสลงทุนในต่างประเทศมากกว่าบริษัทต่างประเทศมาลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์ประมาณ 2.5 เท่า การลงทุนทางตรงของสวิตเซอร์แลนด์ในต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรปและ
    สหรัฐอเมริกา ในขณะที่สหภาพยุโรปมีสัดส่วนการลงทุนในสวิตเซอร์แลนด์เป็นสองในสามของการลงทุน
    ต่างประเทศในสวิตเซอร์แลนด์

    นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์
    ก่อนปี ค.ศ 1980 นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ยึดหลักการ 4 ประการ คือ ความ
    เป็นกลาง (neutrality) ความมีนำ้หนึ่งใจเดียว (solidarity) ความเป็นสากล (universality) และความเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (availability) ต่อมาเมื่อกิจการต่างประเทศเริ่มมีส่วนเกี่ยวพันกับกิจการสาขาอื่น ๆ
    โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเงิน สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย และการที่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์และหน่วยงานหรือ
    องค์กรต่าง ๆ ได้เริ่มมีบทบาทในกิจการต่างประเทศมากขึ้น ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ และได้จัดทำสมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 90 ซึ่งได้รับ
    ความเห็นชอบจากรัฐบาลในปี ค.ศ. 1993
    นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์สำหรับปี 2545 สรุปได้ดังนี้
    1. การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
    สวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญลำดับแรกต่อการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
    ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญขององค์การสหประชาชาติ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสี่พรรค ได้ให้ความเห็นชอบต่อการเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าว และได้จัดการลงประชามติทั่วประเทศในวันที่ 3 มีนาคม 2545 โดยก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1986 รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการลงประชามติการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่ประชาชนสวิสส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเกรงจะเสียความเป็นกลางซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศตลอดมา แต่ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.2002เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนสวิสและเสียงส่วนใหญ่ของรัฐ (Canton) ได้ลงมติให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของสมาพันธรัฐสวิส โดยผู้ลงมติเห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 54.61 ผู้ลงมติไม่เห็นด้วยร้อยละ 45.39 และรัฐ (Canton) ที่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยมีจำนวน 12 รัฐ จากจำนวนรัฐ ทั้งหมด 23 รัฐ การลง
    ประชามติครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิร้อยละ 57.7 ทั้งนี้ สมาพันธรัฐสวิสได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิก
    สหประชาชาติอย่างเป็นทางการและได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในช่วงการประชุมสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 57 ในเดือนกันยายน ค.ศ.2002
    2. การเจรจาทวิภาคีกับสหภาพยุโรป
    รัฐบาลสวิสชุดปัจจุบันได้ประกาศเป็นนโยบายแน่ชัดที่จะเข้าไปมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้มากขึ้น อาทิ การจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และการพยายามจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่า สวิตเซอร์แลนด์จะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป ในปี
    ค.ศ. 1992 สวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรียุโรป (European Economic Area) แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ รัฐบาลจึงหาทางออกโดยการเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 เพื่อทำความตกลงทวิภาคีใน 7 สาขา คือ การเคลื่อนย้ายบุคคลและแรงงานเสรี การวิจัย การขนส่งทางบก การบิน การเปิดเสรีทางการค้า การให้สิทธิภาคเอกชนของประเทศสหภาพยุโรปและ
    สวิตเซอร์แลนด์เข้าไปประมูลหรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นการจัดซื้อโดยรัฐในอีกประเทศหนึ่งได้เท่าเทียมคนชาติ การลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1999 สวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปได้
    ลงนามความตกลงดังกล่าวซึ่งสภาแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้สัตยาบันความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1999 และผ่านการลงประชามติจากประชาชนร้อยละ 62.7 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 รวมทั้งได้ผ่านการให้สัตยาบันจากรัฐสภาเบลเยี่ยมเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศสุดท้ายแล้วเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.2001 ซึ่งหลังจากนั้น รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มการเจรจาทวิภาคีกับสหภาพยุโรปอีก 10 สาขา คือ การบริการ การจ่ายเงินบำนาญ การแปรรูปสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อม สถิติ การศึกษา กิจการเยาวชน บัญชีเงินฝากธนาคาร ความร่วมมือเพื่อต่อต้านการฉ้อโกง และความร่วมมือด้านการศาสนา กิจการตำรวจและการอพยพย้ายถิ่นฐาน
    อย่างไรก็ตาม มีกระแสเรียกร้องให้เปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปโดยทันทีเพื่อเร่งรัดการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลสวิสไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ เนื่องจากเห็นว่า
    สวิตเซอร์แลนด์จะพร้อมเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปในช่วงระหว่างปี 2004-2007 และอาจพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหลังปี 2010 แต่เมื่อมีประชาชน 100,000 คน เข้าชื่อเรียกร้องให้จัดการลงประชามติ
    รัฐบาลสวิสก็ได้จัดการลงประชามติขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2001 ผลปรากฎว่าประชาชนกว่าร้อยละ 76.7
    ลงคะแนนไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สนับสนุนการเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป จะเป็นชาวสวิสในเขตสวิส
    ฝรั่งเศส ในขณะที่ชาวสวิสเยอรมันเกินร้อยละ 85 ลงคะแนนไม่เห็นด้วย

    3. ความสัมพันธ์ทวิภาคีสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศเอเชีย-แปซิฟิก
    รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเอเชียแปซิฟิก
    ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และได้เริ่มมิติใหม่ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี แต่ นาย Deiss
    ได้ยอมรับว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์มีบทบาทแข็งขันในการช่วยเหลือพัฒนาประเทศเอเชียใต้ เช่น ปากีสถาน
    เนปาล ภูฐาน อินเดีย บังคลาเทศ และเอเชียกลาง เช่น คีร์กิซสถาน ซึ่งความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะทำในกรอบความร่วมมือพหุภาคีภายใต้องค์การระหว่างประเทศ และมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ (pool of experts) กว่า 600 คน ซึ่งพร้อมจะเดินทางไปให้ความร่วมมือช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี
    สำหรับอัฟกานิสถานนั้น สวิตเซอร์แลนด์เข้าไปมีบทบาททั้งในการเจรจาด้านการเมืองและได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์การกาชาดสากล (ICRC) เป็นมูลค่ากว่า 17 ล้านฟรังค์สวิสในปี ค.ศ. 2001 โดยให้ความสำคัญกับการ
    ช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศและการยกระดับความเป็นอยู่ของสตรี แต่จะไม่เข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพ และในครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2002 สวิตเซอร์แลนด์กำหนดจะเปิดสำนักงานติดต่อ (coordination Office) ที่กรุงคาบูล แต่ในขณะนี้ยังใช้ช่องทางการติดต่อผ่านสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำปากีสถาน

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส
    ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สวิตเซอร์แลนด์
    ไทยและสมาพันธรัฐสวิสได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1931 และมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาตลอด โดยเฉพาะนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
    เจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนสวิตเซอร์แลนด์เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1897 ซึ่งในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของการ
    เสด็จฯ เยือนสวิตเซอร์แลนด์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และกระทรวงการต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมกันจัดทำบัตรโทรศัพท์ที่ระลึกและดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือหนังสือ “ร้อยปี สยาม-สวิส” (Siam-Swiss Centenary : The Growth of a Friendship) เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว ปัจจุบันไทยมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในสวิส 3 แห่ง คือ บาเซิล เจนีวา และซูริค การแลกเปลี่ยนการเยือน
    ครั้งสำคัญ มีดังนี้
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่าง
    วันที่ 15-17 กรกฎาคม ค.ศ.1993 โดยทรงรับเชิญเสด็จฯ เยี่ยมชมสำนักงาน ICRC ณ นครเจนีวา และเมืองต่างๆ
    - นาย Jean-Pascal Delamuraz รัฐมนตรีแห่งสมาพันธ์ซึ่งรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจและคณะนักธุรกิจ 36 คน เยือนไทย ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม ค.ศ.1993 ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรี ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นาย Delamuraz และภริยา เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
    - ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม ค.ศ.1994 และได้เยือนสวิตเซอร์แลนด์อย่างเป็นทางการด้วย
    - นาย Jean-Pascal Delamuraz ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิสเดินทางเยือนประเทศไทย
    เป็นการส่วนตัว เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1996 และได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    - ศ. ดร. Arnold Koller ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิสและภริยา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1997
    - การพบหารือระหว่าง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กับ นาย Flavio Cotti ประธานาธิบดีและ
    รมว.กระทรวงการต่างประเทศสวิส ในระหว่างการประชุม World Economic Forum ที่เมือง Davos เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1998
    - ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พบหารือกับนาย Pascal Couchepin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจสวิส ระหว่างการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม
    31st Asian Development Bank Annual Meeting of Board of Governors ณ นครเจนีวา เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ.1998
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าร่วมการสัมมนา International Management Symposium ครั้งที่ 28 ณ เมือง St.Gallen ระหว่างวันที่ 24-28 พฤษภาคม ค.ศ.1993
    - นาย Pascal Couchepin รัฐมนตรีเศรษฐกิจสวิส เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 2-5 สิงหาคม ค.ศ.1998 และได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับ ฯพณฯ ดร.ศุภชัย
    พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย
    - นาย Adolf Ogi รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม การป้องกัน
    ประชาชน และกีฬา เดินทางมาร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ระหว่าง
    วันที่ 5 - 6 ธันวาคม ค.ศ.1998
    - นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับนาย Franz von Daeniken ปลัดกระทรวงต่างประเทศสวิส ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 54 ณ นคร
    นิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.1999
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ นครเจนีวา เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุมกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1999
    - นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสวิตเซอร์แลนด์เพื่อ
    เข้าร่วมพิธีเปิดที่ทำการใหม่คณะทูตถาวรฯ ณ นครเจนีวา และพบหารือทวิภาคีกับนาย Franz von Daniken ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสวิส เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ.1999 ที่กระทรวงการต่างประเทศสวิส
    - นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม Human Security ระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม ค.ศ.2000 ณ เมืองลูเซิร์น
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนนครเจนีวา ระหว่างวันที่
    18-21 พฤษภาคม ค.ศ.2000 เพื่อร่วมในงานเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จ
    พระศรีนครินทราบรมราชชนนี
    - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนสวิส ระหว่าง
    วันที่ 21-26 พฤษภาคม ค.ศ.2000 และระหว่างวันที่ 22-28 กันยายน ค.ศ.2000 เป็นการส่วนพระองค์ - สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือน
    นครโลซานน์ ระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคม ค.ศ.2000 เป็นการส่วนพระองค์เป็นการส่วนพระองค์
    - นาย Joseph Deiss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส เยือนไทยอย่างเป็นทางการโดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคม ค.ศ.2000 และในระหว่างการ
    เยือนได้มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารสนธิสัญญาโอนตัวผู้กระทำผิดระหว่างไทยและสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งได้มีการลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 เพื่อให้มีผลบังคับใช้
    - นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุม
    คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commission on Human Rights) สมัยที่ 57 ระหว่างวันที่
    1-4 เมษายน ค.ศ.2001 ณ นครเจนีวา
    - สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือน
    นครโลซานน์ ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน ค.ศ.2001 เป็นการส่วนพระองค์
    - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนนครโลซานน์ ระหว่างวันที่ 9-15 กันยายน ค.ศ.2001 เพื่อทรงเข้าร่วมการสัมมนา Phytochemical Society of Europe ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์
    - นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมคณะ
    กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Commission on Human Rights) สมัยที่ 58 ระหว่างวันที่
    25-26 มีนาคม ค.ศ.2002 ณ นครเจนีวา และพบหารือทวิภาคีกับ นาย Joseph Deiss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนนครเจนีวาเป็นการ
    ส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 18-19 เมษายน ค.ศ.2002
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าร่วม
    การสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศว่าด้วยการให้การศึกษาหลังประถมศึกษาแก่ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 1 ณ นคร
    เจนีวา ระหว่างวันที่ 17 – 20 กันยายน 2545
    - สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนกรุงเจนีวาในโอกาสการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เส้นทางกรุงเทพฯ - เอเธนส์ - เจนีวา ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2545
    - นาย Blaise Godet รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุมเอกอัครราชทูตสวิสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2546 และเข้าพบหารือกับรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (ฝ่ายกิจการภูมิภาค) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2546
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนนครซูริค (เป็นเวลา 14 ชั่วโมง)เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546 เพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่งในวโรกาสเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐแทนซาเนีย
    - สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือน สวิตเซอร์แลนด์เป็นการส่วนพระองค์ ระหว่างวันที่ 23-30 มิถุนายน 2546

    ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทย
    ด้านการค้า
    ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ในกลุ่มอาเซียน และปัจจุบันมีชุมชน
    ชาวสวิสพำนักและประกอบอาชีพในประเทศไทยประมาณ 3,000 คน ซึ่งจัดเป็นชุมชนสวิสที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
    สวิตเซอร์แลนด์ได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย โดยยกเว้นและลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1972 และมีการจัดตั้ง Swiss-Thai Business Circle Association เมื่อปี ค.ศ.1991 ขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Swiss-Thai Chamber of Commerce ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 150 คน นอกจากนั้น สวิตเซอร์แลนด์ได้ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้จัดตั้ง
    South-East Asian Chamber of Commerce สำนักงานอยู่ที่นครซูริค เมื่อปี ค.ศ.1994 เพื่อส่งเสริมความ
    ร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศในภูมิภาคนี้
    การค้ารวม ในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.1998-2001) การค้ารวมไทยและสมาพันธรัฐสวิสมี
    มูลค่าเฉลี่ย 1,235.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในปี ค.ศ.2002 การค้ารวมมีมูลค่า 1,230.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 17.30 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุล 122.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    การส่งออก ในปี ค.ศ.2002 การส่งออกมีมูลค่า 554.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 17.3 สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง อาหารทะเลกระป๋อง สิ่งทออื่นๆ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น
    การนำเข้า ในปี ค.ศ.2002 การนำเข้ามีมูลค่า 676.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีที่แล้ว ร้อยละ 18.9 สินค้าเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยอัญมณีเงินแท่งและทองคำ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ ยากำจัดศัตรูพืช แผงวงจรไฟฟ้า แก้วและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

    สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกและนำเข้า
    สินค้าออก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
    วงจรพิมพ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
    สินค้าเข้า ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยอัญมณีเงินแท่งและทองคำ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและ
    เภสัชภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
    ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
    ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสดำเนินไปด้วยดี
    ฝ่ายไทยมีอุปสรรคในด้านการตลาดบางประการ คือ
    1. ความคุ้นเคยหรือยึดติดต่อตัวสินค้า ชาวสวิสมีความคุ้นเคยและผูกพันกับสินค้าที่ผลิตใน
    ยุโรป โดยเฉพาะสินค้าจากกลุ่มสหภาพยุโรป ทำให้สินค้าจากแหล่งการผลิตอื่น ๆ รวมทั้งจากประเทศไทยไม่สามารถเข้าไปเจาะตลาดให้เป็นที่รู้จัก และแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวสวิสได้มากนัก
    2. การแข่งขันด้านคุณภาพ ตลาดสวิสเป็นตลาดที่มีอำนาจการซื้อสูง ผู้บริโภคจะเลือกซื้อ
    สินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้นสินค้าที่ส่งเข้าไปยังตลาดนี้ จะต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง ทำให้สินค้าจากประเทศไทยต้องการแข่งขันด้านคุณภาพกับสินค้าจากแหล่งผลิตอื่น ๆ
    3. การขนส่งและการกระจายสินค้า สมาพันธรัฐสวิสมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาสูงและไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเล ต้องอาศัยการขนส่งทางบกและทางทะเลผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ต้นทุน
    การขนส่งสินค้าสูง และไม่เป็นผลดีต่อการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่าย
    4. การซื้อขายผ่านประเทศที่สาม สมาพันธรัฐสวิสนำเข้าสินค้าผ่านประเทศที่สาม โดยเฉพาะการนำเข้าผ่านผู้นำเข้าในเยอรมนี จึงไม่เป็นผลดีต่อการขยายการค้ากับประเทศที่กำลังพัฒนามากนัก
    แนวทางแก้ไข
    1. ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นประเภทวัตถุดิบ สินค้าเกษตร ซึ่งมีมูลค่าต่ำ ในขณะที่สินค้านำเข้าจากสวิสเป็นสินค้าประเภททุน คือ
    เครื่องจักร และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ไทยจึงควรหาลู่ทางขยายตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์รถยนต์ ซึ่งมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้านาฬิกาและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้สิทธิ GSP แก่ประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า
    2. ชาวสวิสมีลักษณะอุปโภคบริโภคแบบอนุรักษ์นิยม และมักไม่ค่อยเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภค โดยเฉพาะสินค้าจากยุโรปซึ่งมีคุณภาพมาตรฐาน ดังนั้นสินค้าไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพและปรับปรุงรูปแบบให้ตรงตามรสนิยมของตลาดสวิตเซอร์แลนด์ จึงจะสามารถเข้าไปจำหน่ายได้


    การลงทุนของสวิสในประเทศไทย
    ในปี ค.ศ.2002 การลงทุนของสวิตเซอร์แลนด์ในไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่า3,727.4 ล้านบาท จัดอยู่ในอันดับที่ 4 ของการลงทุนจากกลุ่มประเทศจากยุโรป โดยมีจำนวนโครงการของ
    สวิตเซอร์แลนด์มากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (12 โครงการ) นักลงทุนสวิสส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ ซึ่งประกอบด้วยโครงการผลิตกาแฟ ผลิตอัญมณี และโครงการผลิตผ้า จากสถิติ 3-4 ปีที่ผ่านมา การ
    ลงทุนของสวิตเซอร์แลนด์ในไทยมีสัดส่วนโครงการขยายที่ใกล้เคียงกับโครงการใหม่มาตลอด ซึ่งชี้ให้เห็นว่า
    นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนและเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการ แม้สวิตเซอร์แลนด์จะลงทุนในไทยน้อย แต่จะสังเกตเห็นได้ว่า ในขณะที่การลงทุนของชาติอื่นๆ ในยุโรปมีการเปลี่ยนแปลงสูง แต่การลงทุนของสวิตเซอร์แลนด์จะทรงตัวอยู่ในระดับปานกลางตลอด
    รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสนใจส่งเสริมการลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็กในเอเชียมากขึ้นและได้จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมการลงทุนสวิส (Swiss Organisation for Facilitating Investments - SOFI) ที่นครซูริค เพื่อสนับสนุนการลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายประเทศหนึ่ง โดยสำนักงาน SOFI กับ BOI ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการลงทุนไทย-สวิตเซอร์แลนด์ (Memorandum of Understanding on Cooperation between the Board of Investment and the Swiss Organisation for Facilitating Investments) เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1999 เพื่อเป็นกลไกประสานความร่วมมือในด้านกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนข้อมูล
    ร่วมกัน การให้บริการแก่นักลงทุนในเรื่องต่างๆ รวมทั้งการกระตุ้นการลงทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของสวิสให้มาลงทุนในประเทศไทย
    หอการค้าสวิส-ไทย ได้ริเริ่มจัดตั้งโครงการ Thai-Swiss SMEs Industrial Center Limited ที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในขณะนี้ได้จดทะเบียนแล้ว และอยู่ในระหว่างการให้บริษัทวิศวกรดำเนินการทำ survey และ lay out สาธารณูปโภคต่างๆ ศูนย์นี้มีลักษณะคล้ายนิคมอุตสาหกรรมแต่เล็กกว่า โดยพื้นที่ของโครงการประมาณ 40 ไร่ วัตถุประสงค์คือ เพื่อให้ความสะดวกและความมั่นใจแก่นักธุรกิจ
    ขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งไทยและสวิส ที่จะประกอบกิจการในประเทศไทย และเนื่องจากศูนย์นี้จัดตั้งในโครงการเขต 3 ของ BOI นักธุรกิจที่ดำเนินกิจการในศูนย์นี้ จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก BOI ด้วย
    เมื่อวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2546 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้ดำเนินโครงการ
    นำนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในสาขาต่างๆ อาทิ เครื่องจักร เวชภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ สินค้าบริโภคของสวิตเซอร์แลนด์เยือนไทย และได้พบหารือ เยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ของไทย ทั้งนี้ คณะนักธุรกิจฯ มีความพอใจกับการเยือนครั้งนี้และมีความเชื่อมั่นใน ศักยภาพของไทย โดยบางส่วนตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานประกอบธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
    นอกจากนี้ ผู้บริหารของสำนักงานส่งเสริมการค้าสวิส (The Official Trade Promotion Organization of Switzerland: OSEC) ที่ได้ร่วมเดินทางมาด้วยแจ้งว่าจะเสนอให้รัฐบาลสวิสพิจารณาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมธุรกิจ สวิส (Business Hub) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงเทพฯ

    ความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว
    นักท่องเที่ยวสวิสที่เดินทางมาไทยมีการเติบโตในเกณฑ์ดีมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1987 เป็นต้นมา ยกเว้นในปี ค.ศ.1997 ซึ่งไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่นักท่องเที่ยวสวิสเดินทางมาน้อยลง ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ก็ประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวสวิสลดลงเช่นเดียวกัน ในปี ค.ศ.2000 นักท่องเที่ยวสวิส
    เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวน 112,035 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 ในปี ค.ศ.2001 มีจำนวน
    120,507 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.56 ส่วนในปี 2002 มีนักท่องเที่ยวสวิสจำนวน 120,217 คน อนึ่ง แม้ว่าสายการบิน Swissair จะประสบปัญหาด้านการบริหาร ซึ่งต่อมาได้มีการจัดตั้งสายการบินแห่งชาติขึ้นใหม่โดยจดทะเบียนบริษัทภายใต้ชื่อ Swiss Air lines Ltd. ในเส้นทางบินระหว่างกรุงเทพฯ และซูริค ซึ่งสายการบินใหม่นี้ยังคงมีเที่ยวบินทุกวันดังเดิม

    ความตกลงทวิภาคี
    1. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ฉบับแรก (13 ตุลาคม ค.ศ.1956)
    2. ข้อตกลงทางการค้า (30 กันยายน ค.ศ.1964)
    3. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ ฉบับที่สอง ( 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1984)
    4. ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (30 กรกฎาคม ค.ศ.1990)

    5 อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (27 มกราคม ค.ศ.1996)
    6. สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด (17 พฤศจิกายน ค.ศ.1997)
    7. ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในลักษณะต่างตอบแทน (17 พฤศจิกายน
    ค.ศ.1997)
    8. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยบริการเดินอากาศ (11 มิถุนายน ค.ศ.1998)

    ______________________


    กรมยุโรป
    กรกฏาคม 2546
    ตารางที่ 1 : สถิติการค้าระหว่างไทย-สมาพันธรัฐสวิส มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    ปี ปริมาณการค้ารวม ส่งออก นำเข้า ดุลการค้า
    มูลค่า สัดส่วน % มูลค่า % มูลค่า %
    2541(1998) 1,120.9 1.2 -13.0 581.6 17.5 539.3 -32.0 42.2
    2542(1999) 1,075.5 1.1 -4.0 530.3 -8.8 545.2 4.9 -14.9
    2543(2000) 1,259.0 1.0 17.1 563.4 6.2 695.6 27.6 -132.2
    2544(2001) 1,488.2 1.2 18.2 653.7 16.0 853.7 20.0 -180.8
    2545(มค.-มีค.) 308.9 1.0 -33.6 146.3 -27.4 162.6 -38.4 -16.3

    ตารางที่ 2 : การส่งออก มูลค่า : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    รายการ 2542
    2543
    2544
    2545
    (มค.-มีค.) %2544
    (มค.-มีค.)
    1. อัญมณีและเครื่องประดับ 72.1 56.2 50.6 58.0 352.0
    2. นาฬิกาและส่วนประกอบ 101.0 113.2 104.9 22.1 -27.0
    3. เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 1.1 22.0 13.2 4.8 43.9
    4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง 15.7 14.8 13.7 3.6 9.3
    5. อาหารทะเลกระป๋อง 12.3 10.6 8.8 2.7 4.2
    6. สิ่งทออื่นๆ 2.0 4.0 7.2 2.2 28.0
    7. เสื้อผ้าสำเร็จรูป 12.8 13.7 11.1 2.1 -32.8
    8. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 7.3 10.2 5.0 1.5 20.1
    9. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 5.1 4.8 4.5 1.4 40.5
    10. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 2.8 3.0 4.7 1.3 18.8
    รวมสินค้า 10 รายการ 375.8 264.1 238.6 99.8 64.6
    อื่นๆ 154.5 299.2 415.1 46.5 -67.0
    มูลค่ารวม 530.3 563.4 653.7 146.3 -27.4

    ตารางที่ 3 การนำเข้า มูลค่า:ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    รายการ 2542
    2543
    2544
    2545
    (มค.-มีค.) %2544
    (มค.-มีค.)
    1. เครื่องเพชรพลอยอัญมณีเงินแท่งและทองคำ 110.7 228.9 285.6 45.2 -65.3
    2. เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ 101.1 123.3 128.2 31.9 -8.3
    3. เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 43.4 53.3 68.2 19.8 55.2
    4. เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม 50.6 84.4 144.9 13.1 -65.2
    5. เคมีภัณฑ์ 38.5 37.3 41.6 11.3 22.3
    6. ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชภัณฑ์ 57.1 50.4 49.6 9.9 5.1
    7. ผลิตภัณฑ์โลหะ 13.7 17.5 20.3 4.8 6.3
    8. ยากำจัดศัตรูพืช 5.5 6.4 7.9 3.8 84.1
    9. แผงวงจรไฟฟ้า 34.0 19.1 17.5 3.3 -45.9
    10. แก้วและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา 7.4 12.4 13.0 2.7 -19.3
    รวมสินค้า 10 รายการ 462.0 633.4 776.7 145.7 -41.7
    อื่นๆ 83.2 62.2 57.8 16.9 20.5
    มูลค่ารวม 545.2 695.6 853.7 162.6 -38.4
    หมายเหตุ : สัดส่วน = การค้าสองฝ่ายต่อการค้ารวมของไทยทั้งหมด % = % การเปลี่ยนแปลง

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×