ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #36 : รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 853
      0
      2 ก.พ. 50



     
    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา
    The Sovereign Military Order of Malta


    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง อยู่บนเนินเขา Aventine ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งล้อมรอบด้วยเขตอาณาของประเทศอิตาลี เช่นเดียวกับวาติกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า

    ประวัติศาสตร์และความเป็นมา
    ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา มีชื่อเต็มว่า
    The Sovereign Military Hospitaller Order of St. John of Jerusalem of Rhodes and of Malta เป็นทั้งนิกายโบราณที่เกี่ยวเนื่องกับอัศวินและเกี่ยวกับนิกายย่อยในคริสตจักรโรมันคาทอลิก เป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเองโดยใช้อำนาจอธิปไตยโดยอยู่ภายใต้กฏหมายระหว่างประเทศ

    ขนาดและที่ตั้ง
    ออร์เดอร์ ออฟ มอลตามีสมาชิกจากหลายประเทศทั่วโลก (กว่า 11,000 คน โดยอยู่ในสหรัฐอเมริกา 3,000 คน) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงโรม ออร์เดอร์ออฟมอลตาทำงานร่วมกับมูลนิธิในประเทศต่างๆ ทั่วโลกและมีบทบาทใน 130 ประเทศ รวมถึงในเหตุการณ์สึนามิในไทยด้วย

    ออร์เดอร์ ออฟ มอลตาเป็นรัฐอธิปไตย โดยใน 900 ปีที่ผ่านมา ได้รับสถานะรัฐอธิปไตยและรับกฏหมายระหว่างประเทศภายใต้วินัยทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา มีสนธิสัญญากับรัฐอื่นๆ มีหนังสือเดินทางเป็นของตนเอง ผลิตเหรียญกษาปณ์ในสกุลเงินของตนเอง และพิมพ์แสตมป์เป็นของตนเอง โดยมีอนุสัญญาทางไปรษณีย์และสนธิสัญญาทางไปรษณีย์กับ 45 ประเทศ มีสถานเอกอัครราชทูตอยู่ใน 96 ประเทศ และมีคณะทูตถาวรประจำอยู่ที่องค์การสหประชาชาติและองค์กรย่อยขององค์การสหประชาชาติ

    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ได้รับเลือกเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2537 โดยได้รับการอุปถัมป์จากประเทศสมาชิก 71 ประเทศ

    ออร์เดอร์ออฟมอลตาเป็นสมาชิกขององค์กรย่อยของสหประชาชาติดังนี้
    1. United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO)
    2. The Council of Europe
    3. The World Health Organization (WHO)
    4. The Food and Agriculture Organization (FAO)
    5. The Commission of the European Union

    และมีคณะผู้แทนอยู่ที่คณะกรรมการสากลของ International Committee of the Red Cross (ICRC).

    ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
    Order of Malta เป็นหนึ่งในสี่นิกายของ Roman Catholic ที่เก่าแก่ที่สุด (Basilians, Angustinians และ Benedictines) มีลักษณะคล้ายกับองค์กรศาสนา เช่นเดียวกับนิกาย (order) อื่น ๆ อีก 4 สาขา คือ Order of Teutonic, Order of Temple, Order of St. Lazare และ Order of St. Thomas A. Bucket of Acre

    Order of Malta ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1099 โดยภราดา Gerard ซึ่งก่อตั้งสถานพยาบาลขึ้นที่กรุงเยรูซาเล็ม เพื่อรักษาพยาบาลกลุ่มผู้แสวงบุญ (Pilgrims) ที่เดินทางมาเยรูซาเล็ม และขยายสาขาออกไปตามเส้นทางการแสวงบุญ ต่อมา เมื่อมีสงครามครูเสด สมาชิกนิกายนี้ต้องติดอาวุธป้องกันตนเองและทำหน้าที่ช่วยสู้รบไปในตัวด้วย จึงเกิดตำแหน่งอัศวิน (Knight) ขึ้นในสมัยของผู้นำที่ชื่อ Fra Raymond du Puy ในปี ค.ศ.1126

    ในที่สุดเมื่อฝ่ายมุสลิมมีชัยชนะเหนือคริสเตียนในเยรูซาเล็มและดินแดนปาเลสไตน์ ในช่วงปี ค.ศ. 1187-1291 ทำให้ฝ่ายคริสเตียนต้องถอยไปตั้งมั่นอยู่ที่ไซปรัสประมาณ 140 ปี และไปยึดเกาะ Rhodes ไว้เป็นที่มั่นแห่งใหม่ได้ในปี ค.ศ. 1310 และสร้างความรุ่งเรืองแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่นอยู่ที่เกาะ Rhodes ได้อีก 214 ปี จึงพ่ายแพ้แก่กองทัพของออตโตมันภายใต้การนำของสุลต่านสุไลมานและย้ายไปตั้งมั่นอยู่ที่เกาะมอลตาในปี ค.ศ. 1532 และยังถูกกองทัพเรือเติร์กรุกรานต่อไป แต่ต้านทานไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 1571 ซึ่งมีสงครามทางทะเลครั้งใหญ่ (Battle of Lepanto) ซึ่ง Grand Master Fra Jean de la Valette สามารถนำทัพทำลายกองเรือตุรกีแตกพ่ายไป และอาณาจักรออตโตมันเริ่มอ่อนกำลังลง (ต่อมาเมืองหลวงของมอลตาได้ใช้ชื่อของ Grand Master ผู้นี้)

    Order of Malta ที่เกาะมอลตามาถูกยึดครองโดยพลเอกนโปเลียน โบนาปาร์ต ในปี ค.ศ. 1798 และกองทัพของฝรั่งเศสทำลายทุกอย่างบนเกาะมอลตาจน Order of Malta ต้องละทิ้งเกาะมอลตา และย้ายไปตั้งอยู่ชั่วคราวที่รัสเซียก่อนจะกลับมาตั้งอยู่ที่โรมเมื่อปี ค.ศ.1834 จนปัจจุบัน

    สถานะของรัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา
    รัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา (The Sovereign Military Order of Malta - SMOM) หรือรู้จักกันในชื่อย่อว่า Order of Malta นั้น มีชื่อเต็มว่า The Sovereign Military Hospitaller Order of Saint John of Jerusalem of Rhodes and of Malta ถือว่าเป็นรัฐอธิปไตยที่มิได้มีคุณสมบัติตามหลักรัฐศาสตร์ตามนิยามที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ซึ่งประกอบด้วย ดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย และรัฐบาลที่ปกครองตนเอง แต่เป็นองค์กรทางศาสนาซึ่งเป็นฆราวาส (lay religious order) ของนิกาย Roman Catholic ซึ่งรักษามรดกอธิปไตยสืบทอดมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันมีสถานะคล้ายกับ Holy See

    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา เป็นมิตรกับทุกประเทศ โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในประเทศต่าง ๆ จึงไม่มีปัญหาทางการเมืองกับประเทศใด ๆ และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับกว่า 80 ประเทศ แม้รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา จะไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติแต่ก็ได้รับสถานะเป็น Permanent Observer ในองค์การสหประชาชาติ เมื่อ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1994 ในฐานะ "Hospitaller Organization) และ SMOM แต่งตั้งผู้แทนเข้าร่วมประชุมและสังเกตการณ์ในองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ

    ปัจจุบันรัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา มีองค์กรสาขาหลัก (Grand Priories) 6 แห่ง สาขารอง (Sub Priories) 3 แห่ง และสมาชิกในเครือประจำประเทศต่าง ๆ (National Associations) 41 แห่งใน 37 ประเทศ โดยมีที่ทำการใหญ่ (Headquaters) อยู่ที่กรุงโรมตั้งแต่ปี ค.ศ.1834 SMOM มีสมาชิกประมาณ 12,000 คนทั่วโลก
    สมาชิกภาพของ SMOM มี 3 ประเภท คือ

    1) Knights of Justice and Conventual Chaplains เป็นกลุ่มที่จะต้องผ่านการสาบานตน (solemn vows) ที่จะยึดมั่นต่อหลักการสำคัญ 3 ประการของนิกาย คือ poverty, charity และ obedience
    2) Knights and Dames in Obedience หรือ Knights and Dames of Magistral Grace สมาชิกต้องตั้งมั่นว่าจะเป็นคริสตศาสนิกชนที่เคร่งครัดตามแนวทางของนิกาย (สมาชิกส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มนี้)
    3) สมาชิกกลุ่มที่ 3 ประกอบด้วยหลายตำแหน่ง คือ
    - Knights and Dames of Honor and Devotion
    - Conventual Chaplains, ad honorem
    - Knights and Dames of Grace and Devotion
    - Magistral Chaplains
    - Knights and Dames of Magistral Grace
    - Donats of Devotion

    ตัวอย่างแสตมป์ของออร์เดอร์ ออฟ มอลตา จากพิพิธภัณฑ์ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์

    การเมืองการปกครอง
    ระบบการปกครอง
    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ปกครองโดยเจ้าผู้ครองนคร (The Grand Master) เป็นประมุขคนปัจจุบันคือ His Most Eminent Highness Fra' Andrew Bertie และคณะรัฐมนตรี (Sovereign Council) ซึ่งมี The Grand Master เป็นประธาน

    Sovereign Council ประกอบด้วย
    1) The Grand Commander (ปัจจุบันคือ Fra Ludwig Hoffmann von Rumerstein)
    2) The Grand Chancellor (ปัจจุบัน Count Don Carlo Morullo di Condojanni, Prince of Casalnuovo ซึ่งดำรงตำแหน่ง The Keeper of the Common Treasure ด้วย
    3) The Hopitaller (ปัจจุบันคือ Baron Albrecht Freiherr von Boeselager)
    4) The Receiver of the Common Treasure
    5) Councillors จำนวน 6 คน (ซึ่งเป็นผู้ช่วย 2 คน)

    นอกจากนั้นรัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ยังมีสภาผู้แทนราษฎร เรียกว่า Chapter General และมี Full Council of State ซึ่งทำหน้าที่เลือกตั้งประมุขเพียงอย่างเดียว

    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา มีองค์การศุลกากรและศาลชั้นต้นเป็นของตนเอง และออกหนังสือเดินทางของรัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ให้กับสมาชิก

    เว็บไซต์หลักของรัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา

    องค์กรมอลทีเซอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือกับนานาประเทศ ทั้งด้านความช่วยเหลือเร่งด่วนทางการแพทย์ และความช่วยเหลือในระยะยาวในการทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาพปกติและในการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบภัย

    เศรษฐกิจการค้า
    เศรษฐกิจ
    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา (SMOM) เป็นรัฐที่มีรายได้จากการบริจาคและการจำหน่ายดวงตราไปรษณียากรซึ่งนำไปใช้ในกิจการด้านสาธารณกุศลและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
    การดำเนินการ

    SMOM เน้นการให้บริการด้านโรงพยาบาล คลีนิก และรถพยาบาล วิทยาลัยพยาบาล โรงเรียนอนุบาล สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า สถานดูแลผู้ป่วยพิเศษ ตลอดจน งานบรรเทาสาธารณภัย และมีการส่งยา อาหาร เครื่องใช้ที่จำเป็นไปให้ผู้ประสบทุกข์ยากทั่วโลก สัญลักษณ์ไม้กางเขนแบบ Maltere Cross จึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

    แหล่งรายได้หลักของรัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา มาจากการบริจาคของสมาชิก แต่ส่วนนี้นับว่ามีปริมาณน้อยมาก โดยแม้ว่า ในหลายประเทศ จะมีจำนวนผู้ศรัทธาบริจาคอยู่มาก เช่น ในเยอรมนีมีผู้บริจาคให้เป็นประจำประมาณ 400,000 คน แต่คนเหล่านี้บริจาคให้คนละเล็กน้อย การปฏิบัติงานโครงการใหญ่ๆ จะได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปหรือสหประชาชาติ อาทิ โครงการป้องกันและกำจัดไข้มาเลเรียในกัมพูชาได้รับเงินสนับสนุนจาก UNHCR

    รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา มีส่วนช่วยเหลือผู้อพยพเชื้อสายแอลเบเนียที่ได้รับผลกระทบจากสงครามในโคโซโวซึ่งมีผู้อพยพกว่า 480,000 คน ออกไปยังมาซิโดเนียและกว่า 70,000 คน ออกไปยังมอนเตนิโกร ด้วยการให้บริการโรงพยาบาลสนาม น้ำดื่มน้ำใช้ และบริการด้านสุขอนามัยอื่นๆ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้อพยพ 60,000 คนในค่ายผู้อพยพในแอลเบเนีย รัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลต้า สามารถปฏิบัติงานได้ดีทั้งในโคโซโวและแอลเบเนีย เนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนาหรือการเมือง

    รัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) โดยการจัดหายา เครื่องนุ่งห่ม และของใช้อื่นๆ แก่กลุ่มประชาชนที่พลัดถิ่น อันเป็นผลจากการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่างๆ และในซิมบับเว โดยการดำเนินการโครงการด้านการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และจัดหายาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลในซิมบับเว

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา
    ไทยกับรัฐอธิปไตยทหารออเดอร์ ออฟ มอลตา ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2527 (ค.ศ. 1984) และได้มีการแลกเปลี่ยนผู้แทนซึ่งกันและกันในระดับเอกอัครราชทูต โดยเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำรัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา อีกตำแหน่งหนึ่ง และ นาย Michael Douglas Mann ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน (คนที่ 3) โดยมีถิ่นพำนัก ณ นครโฮจิมินห์

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ในด้านการเมืองและเศรษฐกิจมีน้อยมาก เนื่องจากลักษณะพิเศษของรัฐอธิปไตยทหารออเดอร์ ออฟ มอลตา คล้ายองค์กรทางศาสนาและมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี รัฐอธิปไตยทหารออเดอร์ ออฟ มอลตา สนใจให้ความช่วยเหลือกิจการด้านสาธารณกุศล โดยทำงานประสานอย่างใกล้ชิดกับองค์การกาชาดสากลในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศ สำหรับประเทศไทย รัฐอธิปไตยทหารออเดอร์ ออฟ มอลตา เคยให้ความช่วยเหลือในโครงการด้านสาธารณสุข โดยให้พื้นที่พักพิงชั่วคราว สำหรับผู้หนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และไทย-พม่า โครงการช่วยเหลือมูลนิธิดวงประทีป และศูนย์บำบัดโรคเรื้อนที่พุดหง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น และล่าสุด มีโครงการให้ความช่วยเหลือกะเหรี่ยงที่อำเภอ แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้หนีการสู้รบตามบริเวณชายแดนไทย

    การแลกเปลี่ยนการเยือน
    บารอน Albrech von Boeselager สมาชิก Sovereign Council ผู้ดำรงตำแหน่ง Hospitalier (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ได้มาเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2537 (ค.ศ. 1994) และเข้าพบ ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุข โดยมีนายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทยและนายสาโรจน์ ชวนะวิรัช ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เข้าร่วมการหารือด้วย

    เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 (ค.ศ. 1999) เจ้าผู้ครองนครรัฐอธิปไตยทหารออเดอร์ ออฟ มอลตา มีหนังสือกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์เข้าร่วมพิธีฉลองครบรอบ 900 ปี ของรัฐอธิปไตยทหารออเดอร์ ออฟ มอลตา ในวันที่ 24 มิถุนายน 2542 (ค.ศ. 1999) ที่มหาวิหาร St. Peter ที่นครวาติกัน ซึ่งฝ่ายไทยได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงโรมเข้าร่วมพิธีดังกล่าวแทน

    เมื่อวันที่ 12-16 กุมภาพันธ์ 2548 (ค.ศ. 2005) บารอน Albrecht Freiherr von Boeselager รัฐมนตรีอาวุโส (The Grand Hospitaller) แห่งรัฐอธิปไตยทหารออเดอร์ ออฟ มอลตา เดินทางเยือนไทย โดยได้พบหารือกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

    ติดต่อรัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ได้ที่
    Sovereign Military Order of Malta
    Magistral Palace
    Via Condotti, 68 - 00187 Rome - Italy
    Tel. +39.06.67581.1 - Fax +39.06.6797.202
    Email address
    ขอข้อมูลรัฐอธิปไตยทหาร ออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ได้ที่นี่

    For information on literature and history pertaining to the Order of Malta
    The Magistral Library and Archives of the Order of Malta
    Magistral Palace
    Via Condotti, 68 - 00187 Rome - Italy
    Tel. +39.06.67581.268 - Fax +39.06.67581.270
    Email address
    ห้องสมุดและห้องเก็บเอกสารของรัฐอธิปไตยทหารออร์เดอร์ ออฟ มอลตา

    สามารถติดต่อเรื่องเหรียญกษาปณ์และแสตมป์ของออร์เดอร์ ออฟ มอลตา ได้ที่
    The Order of Malta’s Magistral Post Office
    Via Bocca di Leone, 68 – 00187 Rome Italy
    Casella Postale 195
    Tel: +39.06.67581.211 - Fax: +39.06.6783934
    Email address
    อีเมลองค์การไปรษณีย์ของออร์เดอร์ ออฟ มอลต้า กดที่นี่

    สถานกงสุลออร์เดอร์ออฟมอลตาประจำประเทศไทย
    ชั้น 9 ตึกดร.เกอร์ฮาร์ด ลิ้งค์
    88 ถนนกรุงเทพกรีฑา
    หัวหมาก บางกะปิ กทม. 10240

    โทร 0 2379 4298
    โทรสาร 0 2379 4224
    อีเมล assuntalink@bgrimmgroup.com
    เวลาทำการ จันทร์ถึงศุกร์ 10.00-12.00 น.
    กงสุล ชื่อ นาง Assunta Link

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×