ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #34 : ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.23K
      1
      2 ก.พ. 50





     
    ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
    Kingdom of the Netherlands


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ตั้งอยู่ในยุโรปตะวันตก ระหว่างเบลเยียมและเยอรมนี ติดกับทะเลเหนือ

    พื้นที่ 41, 526 ตารางกิโลเมตร พื้นดิน 33,873 ตารางกิโลเมตร พื้นน้ำ 7,655 ตารางกิโลเมตร

    พื้นที่สูงสุด เหนือระดับน้ำทะเล 321 เมตร

    พื้นที่ต่ำสุด ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 6.7 เมตร

    พื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ร้อยละ 24 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

    ภูมิอากาศ เย็นสบาย อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 18.3 องศาเซลเซียส
    อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 2.6 องศาสเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 797 มิลลิเมตร

    ประชากร ประมาณ 16.3 ล้านคน

    เมืองหลวง กรุงอัมสเตอร์ดัม

    ที่ตั้งของหน่วยงานราชการ กรุงเฮก

    ภาษา ดัตช์

    ศาสนาสำคัญ ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนท์ อิสลาม และอื่นๆ

    วันชาติ 30 เมษายน (วันพระราชสมภพของสมเด็จพระราชินีนาถจูเลียนา และวันขึ้นครองราชสมบัติของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์)

    ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

    ประมุข สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ (Her Majesty Queen Beatrix)ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2523

    นายกรัฐมนตรี นายยัน บาลเคนเอนเดอ ( Mr. Jan Balkenende) (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2545 และสมัยที่สองเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2546)

    รัฐมนตรีต่างประเทศ นายเบอร์นาร์ด โบต (Mr. Bernard Bot) (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2546)

    ข้อมูลเศรษฐกิจโดยสังเขป

    ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 591 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)

    GDP ต่อคน 36,236 ดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)

    อัตราการว่างงาน ร้อยละ 6 (ปี 2547)

    มูลค่าการส่งออก 313 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2546)

    ประเทศส่งออกที่สำคัญ เยอรมนี เบลเยียม สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์อาหาร

    มูลค่าการนำเข้า 274 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2547)

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การขนส่ง เคมีภัณฑ์ เชื้อเพลิง อาหาร และเสื้อผ้า

    การเมืองการปกครอง
    เนเธอร์แลนด์ (the Netherlands) หรือที่มักเรียกกันว่า ฮอลแลนด์ (Holland) มีชื่ออย่างเป็นทางการคือ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ (Kingdom of the Netherlands) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “Neder” หรือ “ต่ำ” เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเนเธอร์แลนด์เป็นที่ราบลุ่ม และพื้นที่ประมาณหนึ่งในสี่ของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เนเธอร์แลนด์ได้ปรับพื้นที่โดยการสูบน้ำออกจากทะเลสาบและทางน้ำต่างๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ เนเธอร์แลนด์จึงมีเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศประสบภาวะอุทกภัย เนเธอร์แลนด์จึงมีสิ่งก่อสร้างด้านวิศวกรรมการจัดการน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

    เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศยุโรปตะวันตกขนาดเล็ก มีพื้นที่ 41,528 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 16.3 ล้านคน เป็นประเทศหนึ่งที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในโลก มีอัตราส่วนประชากร 387 คน ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 7 ล้านคนอาศัยอยู่ในสี่เมืองทางภาคตะวันตกของประเทศ คือ อัมสเตอร์ดัม เฮก รอตเตอร์ดัม และอูเทรค บริเวณนี้เรียกว่า แลนด์สตัด มีชาวต่างชาติโยกย้ายเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเนเธอร์แลนด์ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศในยุโรป ตุรกี โมร็อกโก เนเธอร์แลนด์แอนไทลิส และอารูบา (ดินแดนโพ้นทะเลของเนเธอร์แลนด์) อินโดนีเซีย และชูรินาเม (ประเทศอดีตอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์)

    กรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่กรุงเฮกเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ สถานทูตต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งพระราชวังซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเนเธอร์แลนด์ กรุงเฮกถือได้ว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งกฎหมายและยุติธรรมระหว่างประเทศของโลก” โดยเป็นศูนย์กลางของการศึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นสถานที่ที่ตั้งขององค์การด้านกฎหมายและยุติธรรมระหว่างประเทศ อาทิ The International Court of Justice , The International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia, The Court of Arbitration, The Iran – U.S. Claims Tribunal, The Hague Conference of Private International Law, The Organization for the Prohibition on Chemical Weapons และ The International Criminal Court

    ประวัติศาสตร์โดยสังเขป
    ประมาณช่วงคริสตศตวรรษที่ 1 เนเธอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน และมีสันติภาพยาวนานต่อเนื่องเป็นเวลา 250 ปี ต่อมา เมื่อจักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลง ชนเผ่าเยอรมันนิค และ เซลติคได้เข้าไปครอบครองพื้นที่แถบนั้น

    ในช่วงปี ค.ศ. 1363 – 1482 เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของดยุคแห่งเบอร์กันดี และในศตวรรษที่ 16 เนเธอร์แลนด์ถูกปกครองโดยสเปน ต่อมาเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์และขุนนางจำนวนหนึ่ง ได้ก่อการปฏิวัติต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเนเธอร์แลนด์ สามารถนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ได้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1648 จึงได้มีการลงนามในสนธิสัญญามุนสเตอร์ เพื่อสงบศึกระหว่างเนเธอร์แลนด์และสเปน ซึ่งดำเนินมาถึง 80 ปี และถือเป็นการประกาศเอกราชของเนเธอร์แลนด์ด้วย

    ศตวรรษที่ 17 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของเนเธอร์แลนด์ เช่นเดียวกับ สเปน โปรตุเกส และ สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในการแสวงหาโอกาสทางการค้าในดินแดนต่างๆ ของโลก เนเธอร์แลนด์เป็นมหาอำนาจทางทะเลและเศรษฐกิจชั้นนำของยุโรปในเวลานั้น และกรุงอัมสเตอร์ดัมก็เป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรป

    เมื่อ ค.ศ. 1795 กองทัพปฏิวัติฝรั่งเศสได้กรีฑาทัพเข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์ และในปี ค.ศ. 1810 เนเธอร์แลนด์ก็ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส ต่อมาเมื่อจักรวรรดิฝรั่งเศสเสื่อมอำนาจลงเนเธอร์แลนด์จึงได้รับเอกราชคืนมาอีกครั้งในปี ค.ศ.1814 โดยมีเบลเยียมเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากความแตกต่างในทุกๆ ด้านระหว่างเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม ประเทศทั้งสองจึงได้ แยกออกจากกันอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 1839

    เนเธอร์แลนด์ประกาศความเป็นกลางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ระหว่างปี ค.ศ.1914 – 1918 และประกาศความเป็นกลางอีกครั้งหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ดี กองทัพเยอรมนีได้รุกรานและยึดครองเนเธอร์แลนด์ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1940 – 1945 ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์เป็นสมาชิกที่มีบทบาทแข็งขันในสหภาพยุโรป และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือหรือนาโต้

    เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเจ้าอาณานิคมจนกระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1949 และชูรินาเมประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1954 ส่วนเนเธอร์แลนด์อัลไทลิส และอารูบายังคงเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ โดยมีอธิปไตยในการบริหารกิจการภายในประเทศ ส่วนด้านการทหารและการต่าง ประเทศยังอยู่ภายใต้ความควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์

    การเมือง
    เนเธอร์แลนด์มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ ทรงมีพระราชอำนาจในเชิงพิธีการ อย่างไรก็ดี ทรงมีพระราชอำนาจด้านการเมืองที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาของพระราชวงศ์ออเรนจ์ คือ สมเด็จพระราชินีนาถทรงเป็นผู้แต่งตั้งผู้สรรหานายกรัฐมนตรี (Formateur) ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป (เนื่องจากระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน โดยถือว่าทั้งประเทศเป็นเขตเดียว ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภา จึงต้องมีการเจรจาระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) และสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงเป็นผู้แถลงนโยบายของรัฐบาลในพิธีเปิดสมัยการประชุมรัฐสภาประจำปี หรือ Speech from the Throne

    คณะรัฐมนตรี (Council of Ministers) เป็นผู้กำหนดและดำเนินนโยบายบริหารประเทศ ตามความไว้วางใจของรัฐสภา รัฐมนตรีไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภาในคราวเดียวกันได้

    สภาแห่งรัฐ (Council of State) เป็นองค์กรที่ปรึกษาด้านกฎหมาย โดยคณะรัฐมนตรีจะปรึกษาหารือเกี่ยวกับร่างของกฎหมายก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติ สภาแห่งรัฐจะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาล

    รัฐสภาเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภา (First Chamber) มีสมาชิกจำนวน 75 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยสภาจังหวัด 12 แห่ง มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และสภาผู้แทนราษฎร (Second Chamber) มีสมาชิกจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมาย ขณะที่วุฒิสภามีหน้าทีพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งเสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร

    ปัจจุบันรัฐบาลเนเธอร์แลนด์เป็นรัฐบาลผสม 3 พรรค คือ พรรค Christian Democrat Alliance (CDA) พรรค People’s Party for Freedom and Democracy (VVD) และพรรค Democrat 66 (D66) ภายใต้การนำของนาย Jan - Peter Balkenende นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์และหัวหน้าพรรค CDA รัฐบาลผสมพรรคชุดนี้ นับว่ามีแนวทางการเมืองสายกลางที่ค่อนไปทางฝ่ายขวา แต่ละพรรคมีภูมิหลังและแนวนโยบายดังนี้

    พรรค CDA เป็นพรรคที่ก่อตั้งขึ้นจากการรวมพรรคที่นิยมศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก 1 พรรค และโปรเตสแตนท์ 2 พรรคเข้าด้วยกัน แนวนโยบายหลักของพรรค CDA คือ การสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งรัฐบาลมีบทบาทในการส่งเสริมให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเป็นธรรม ในด้านการเมือง พรรค CDA ยึดแนวทางสายกลางระหว่างปัจเจกชนนิยมกับรัฐนิยม

    พรรค VVD หรือพรรคเสรีนิยม ให้ความสำคัญต่อภาคธุรกิจเอกชนในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ และมีนโยบายเปิดเสรีทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม พรรค VVD เป็นพรรคที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยมมากที่สุดในบรรดาพรรคใหญ่ๆ ในเนเธอร์แลนด์

    พรรค D66 เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มของพรรคเล็กในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มมีการขยายตัวทั้งในแง่ของสมาชิกและอิทธิพลทางการเมือง ยึดแนวทางสายกลางค่อนไปทางซ้าย ซึ่งอยู่ระหว่างแนวทางของพรรค CDA กับพรรคแรงงาน โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพชาวเมืองในวัยหนุ่มสาว พรรค D66 ผลักดันการปฏิรูปการเมือง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น


    เศรษฐกิจการค้า
    สภาวะเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์
    เนเธอร์แลนด์มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงในช่วงปลายทศวรรษที่แล้ว แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจกลับอยู่ในสภาวะหดตัวเป็นอย่างมาก โดยอัตราการขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 0.5 และเมื่อปี ค.ศ. 2003 เศรษฐกิจติดลบร้อยละ 0.9

    สภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากมีกำลังซื้อลดลง ที่สำคัญคือ อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจาก 252,000 คน เมื่อปี ค.ศ. 2001 มาเป็น 495,000 คน ในปีนี้ (ค.ศ. 2004) โดยผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่จะหางานยากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ มีความกังวลมาก

    จุดอ่อนในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ บางส่วนมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การขยายตัวในอัตราต่ำของการค้าโลก การแข็งค่าของเงินยูโร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของเนเธอร์แลนด์ สำหรับปัจจัยภายใน ราคาหุ้นที่ลดลงและเงินสมทบสวัสดิการสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้การอุปโภคไม่ขยายตัว ในขณะเดียวกัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ ยังมีจุดอ่อนสำคัญมาจากการที่แรงงานไม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน สืบเนื่องจากสวัสดิการที่ให้แก่ผู้พิการ หรือผู้เกษียณก่อนกำหนด นอกจากนั้น ผู้จบการศึกษาในสาขาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ยังทำให้ตลาดแรงงานอยู่ในสภาวะรัดตัว เนื่องจากหาคนที่เหมาะสมกับงานที่ว่างไม่ได้และค่าแรงงานเพิ่มสูงขึ้น

    การหดตัวทางเศรษฐกิจส่งผลต่องบประมาณแผ่นดิน ซึ่งขาดดุลร้อยละ 3.2 และเกินร้อยละ 3 ของ GDP เมื่อปี ค.ศ. 2003 ส่งผลให้เนเธอร์แลนด์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญา Maastricht ได้ ดังนั้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จะต้องลดการขาดดุลให้ได้น้อยกว่าร้อยละ 3 โดยเร็วก่อนปี ค.ศ. 2005

    สภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเล็กน้อย โดยคาดว่า จะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.25 ในปี ค.ศ. 2004 และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.50 ในปี ค.ศ. 2005 แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้อัตราการว่างงานจะยังเพิ่มสูงขึ้น ในการนี้ จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นการแก้ไขระยะยาว โดยเฉพาะจะต้องดำเนินการเพื่อมิให้การขาดดุลงบประมาณเกินร้อยละ 3 ของ GDP เพราะจากประสบการณ์ในประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นว่า การใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้ปัญหาแก้ยากและจะทำให้การควบคุมงบประมาณแผ่นดินใช้เวลานานมากขึ้นไปอีก

    มาตรการที่จำเป็นในการแก้ไขสภาวะทางเศรษฐกิจ
    ในช่วงปีที่ผ่านมา การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเริ่มส่งผลต่อการแก้ไขสภาวะทางเศรษฐกิจบ้างแล้ว ดังนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามนโยบายต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ มีพื้นฐานที่มั่นคงและมีความยืดหยุ่นสูง (A strong and resilient economy) โดยเฉพาะในประเด็นดังต่อไปนี้
    1. การควบคุมอัตราการขึ้นเงินเดือน เพราะที่ผ่านมาอัตราการขึ้นเงินเดือนที่สูงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันของเนเธอร์แลนด์ในตลาดโลก และจะเพิ่มชั่วโมงการทำงานให้สูงขึ้นเป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
    2. การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมเพื่อลดจำนวนผู้รับสวัสดิการและให้บุคคลดังกล่าวเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ โดยจะปรับปรุงระบบประกันภัยทุพพลภาพจากงานและเงินช่วยเหลือการว่างงานให้มีความเข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 การสนับสนุนด้านภาษีอากรต่อผู้เกษียณอายุก่อนกำหนดจะถูกยกเลิก
    3. การลดภาษีบริษัทจากร้อยละ 34.5 เหลือร้อยละ 30 เพื่อชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน จะส่งผลมิให้บริษัทดัทช์ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศยุโรปตะวันออกหรือ เอเชีย
    4. การปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะจะสนับสนุนสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีเป็นพิเศษ

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
    ความสัมพันธ์ทางการทูตและการเมือง
    เมื่อปี 2144 พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์เริ่มเข้ามาตั้งสถานีการค้าในคาบสมุทรมลายู รวมทั้งเมืองปัตตานี ซึ่งเป็นประเทศราชของไทยในขณะนั้น ต่อมาในปี 2145 เมื่อมีการก่อตั้งบริษัท Vereigde Oostindische Compangnie (VOC) หรือบริษัท Dutch East India ขึ้นในเนเธอร์แลนด์ สถานีการค้าเหล่านั้น จึงได้รวมเข้าด้วยกัน และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานการค้า VOC ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่นั้น

    ปี 2147 ถือว่าเป็นปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ โดยคณะผู้แทนทางการทูตของเนเธอร์แลนด์ ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และแสวงหาลู่ทางขยายการค้ากับจีน โดยมีแผนร่วมเดินทางไปจีนร่วมกับคณะทูตของไทย แต่การเดินทางดังกล่าวต้องยกเลิกไป เนื่องจากเกิดสงครามระหว่างไทยกับพม่า อีกทั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จฯ สวรรคต เมื่อเดือนเมษายน 2148 ต่อมาในปีเดียวกัน สมเด็จพระเอกาทศรถได้ส่งคณะทูตไทย จำนวน 15 คน เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเนเธอร์แลนด์ โดยราชทูตไทยได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมอริสแห่งราชวงศ์ออเรนจ์ของเนเธอร์แลนด์ และได้ถวายพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อปี 2151 เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศในยุโรปประเทศหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญทางการค้าและการเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองและการค้ากับไทย

    เมื่อปี 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนเนเธอร์แลนด์ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนเนเธอร์แลนด์อย่าง เป็นทางการ เมื่อปี 2503 ต่อจากนั้น ก็ได้มีการเยือนของพระราชวงศ์ทั้งสองอย่างสม่ำเสมอ

    ในปี 2547 เป็นปีที่มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นวาระครบรอบ 400 ปี สัมพันธไมตรี ไทย – เนเธอร์แลนด์ โดยรัฐบาลไทยได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฉลองวาระดังกล่าวในไทย และภาคเอกชนเนเธอร์แลนด์โดยมูลนิธิ VOC เป็นองค์กรผู้ประสานงานจัดกิจกรรมฉลองในเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 -23 มกราคม 2547 สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยเจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งเนเธอร์แลนด์ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นับเป็นการเปิดศักราชแห่งการฉลองฯ และเป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

    ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    การค้า
    เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย เป็นประตูของสินค้าไทย และเป็นแหล่งที่นำเข้าสินค้าเพื่อการส่งออก (re-export) ต่อไปในยุโรป ตลาดภายในประเทศเนเธอร์แลนด์เองก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพต่อสินค้าและบริการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจการร้านอาหารไทยเป็นที่นิยมของชาวเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในเนเธอร์แลนด์ประมาณ 100 ร้าน ซึ่งมีผลต่อเนื่องในการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องปรุงของไทย รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน

    เนเธอร์แลนด์เป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยลำดับที่ 13 ของประเทศคู่ค้าของไทยทั่วโลก และเป็นลำดับที่ 2 ในกลุ่มสหภาพยุโรป และเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไทยมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 รองจากสหราชอาณาจักร โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับเนเธอร์แลนด์มาโดยตลอด สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าหลักของการค้าระหว่างกัน ไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเนเธอร์แลนด์นำไปประกอบและเพิ่มมูลค่าเพิ่มแล้วส่งกลับมาขายที่ประเทศไทยและประเทศอื่น นอกจากนั้น เนเธอร์แลนด์เป็นตลาดดั้งเดิมของสินค้ามันสำปะหลังไทย แต่ปัจจุบันการส่งออกมันสำปะหลังของไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการของเนเธอร์แลนด์ เพราะไทยเปลี่ยนไปส่งออกไปจีน เนื่องจากได้ราคาที่ดีกว่า
    ข้อมูลการค้าไทย-เนเธอร์แลนด์ ดังเอกสารแนบ

    ปัญหาและอุปสรรคการค้าไทย-เนเธอร์แลนด์ คือ ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าที่เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรการของสหภาพยุโรป การเจรจาต่อรองจึงต้องดำเนินไปในกรอบของสหภาพยุโรป นอกจากนั้น สินค้าไทยเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าจากเอเชียที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีน และเวียดนาม ไทยมีจุดอ่อนในการขยายตลาดการค้าในเนเธอร์แลนด์คือ เอกชนไทยค่อนข้างขาดความกระตือรือร้นที่จะเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการส่งเสริมการค้าในปัจจุบันดำเนินการโดยภาครัฐบาล โดยเป็นการรักษาและขยายตลาดในสินค้าที่ส่งออกอยู่ในปัจจุบัน

    การลงทุน
    เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศในสหภาพยุโรปที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในระดับหนึ่งในห้าของประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด บริษัทข้ามชาติของเนเธอร์แลนด์เริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างจริงจังตั้งแต่คริสตทศวรรษที่ 1980 ปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนเนเธอร์แลนด์เข้ามาลงทุนในไทยประมาณ 120 บริษัท ซึ่งครอบคลุมธุรกิจการค้าส่งและปลีก ปิโตรเลียม การบริการด้านการขนส่งแบบหลายระบบ และบริการทางการค้า การเงินและการธนาคาร ธุรกิจท่องเที่ยว เกษตรกรรม และ อุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจดังกล่าวได้ดำเนินควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมทั้งวิทยาการด้านการบริหารจัดการให้กับภาคเอกชนของไทยด้วย

    จากภาพรวมตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา บริษัทเนเธอร์แลนด์ได้มายื่นเรื่องขอและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยหลายโครงการ ร้อยละ 40 เป็นโครงการที่มีมูลค่า 100-499 ล้านบาท ร้อยละ 30 เป็นโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่าเกินพันล้านบาทไม่มากนัก และหากพิจารณาในช่วงปี 2543 – 2545 จะพบว่ามีโครงการที่มีมูลค่าเกินพันล้านบาทเพียง 1 โครงการ

    ที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ที่มีมูลค่าเกินหมื่นล้านบาท จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
    1. โครงการผลิตน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด มูลค่า 54,000 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และไทย โดย สหราชอาณาจักรเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้รับการส่งเสริมในปี 2536 และเปิดกิจการเต็มในปี 2540 โครงการตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
    2. โครงการผลิตกระแสไฟฟ้ามูลค่า 51,680 ล้านบาท ของบริษัท บีแอลพีซี จำกัด เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการส่งเสริมในปี 2541 โครงการตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง
    3. โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าระบบ IPP มูลค่า 22,922 ล้านบาท ของบริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์ ได้รับการส่งเสริมในปี 2541 โครงการตั้งอยู่ในตำบลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
    4. โครงการขยายกิจการผลิตแผงวงจรรวม (IC) มูลค่า 13,310.9 ล้านบาท ของบริษัท ฟิลิปส์ เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทย เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐ-อเมริกา ได้รับการส่งเสริมเมื่อปี 2542 โครงการตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
    หากพิจารณาภาพรวมตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จะพบว่า สาขาที่นักลงทุนเนเธอร์แลนด์ให้ความสนใจมากที่สุด คือ สาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.7 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก BOI รองลงมาได้แก่ สาขาบริการ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ตามลำดับ

    แนวโน้มการลงทุน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งในแง่ของโครงการและมูลค่าการลงทุน อย่างไรก็ดี โครงการลงทุนส่วนมากยังคงเป็นโครงการขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีมูลค่าไม่เกินพันล้านบาท สาขาที่นักลงทุนเนเธอร์แลนด์จะให้ความสนใจ ยังคงเป็นสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่า นักลงทุนจะหันมาสนใจสาขาเกษตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

    ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดชาวเนเธอร์แลนด์ให้เข้ามาลงทุนในไทย คือ เสถียรภาพทางการเมือง ความมั่นคงและปลอดภัยในการประกอบธุรกิจและการอยู่อาศัย ตลาดซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควร แรงงานที่ฝึกฝนทักษะได้ง่าย มาตรการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล และลักษณะที่ตั้งของไทยที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีเงินทุนในการลงทุนในต่างประเทศสูง และมักจะไปลงทุนในสหรัฐฯ และประเทศอื่นที่เหมาะสมสำหรับการลงทุน เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการระดมเงินไปลงทุนต่างประเทศสูง เนื่องจากกรุงอัมสเตอร์ดัมเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในยุโรป รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการลงทุนร่วมในลักษณะหุ้นส่วน ไทยและเนเธอร์แลนด์ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือกับตลาดใหม่ (ของเนเธอร์แลนด์) ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บริษัทเนเธอร์แลนด์ซึ่งจะร่วมลงทุนกับบริษัทไทย เพื่อส่งเสริมให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในเนเธอร์แลนด์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยให้ความสำคัญต่อโครงการการลงทุนที่ส่งเสริมการพัฒนา และธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่ยั่งยืน

    การท่องเที่ยว
    นักท่องเที่ยวชาวเนเธอร์แลนด์เดินทางมาประเทศไทยเป็นอันดับที่ 5 หากเปรียบเทียบเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรป และในปี 2546 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวน 130,876 คน ชาวเนเธอร์แลนด์จำนวนมากนิยมมาท่องเที่ยวไทย ซึ่งหากพิจารณาในแง่สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่อจำนวนประชากรแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวเนเธอร์แลนด์ที่มาไทยก็อยู่ในระดับเดียวกับนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรและเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศในยุโรปที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง และลำดับสองตามลำดับ บริการการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสำหรับตลาดเนเธอร์แลนด์ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โครงการ Long Stay การประชุมสัมมนา การส่งเสริมบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลในไทย

    ความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษา และการค้นคว้าวิจัย
    รัฐบาลเนเธอร์แลนด์โดย The Netherlands Organization for International Cooperation in Higher Education (Nuffic) เป็นผู้ดำเนินการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่รัฐบาลไทยในลักษณะทุนการศึกษาและฝึกอบรม ตั้งแต่ปี 2515 โดยทุนดังกล่าวเป็นทุนแข่งขันระหว่างประเทศ ซึ่งผู้สมัครจากประเทศไทยจะต้องแข่งขันกับผู้สมัครรับทุนชาติต่าง ๆ ประมาณปีละ 150 หลักสูตร และทุนที่รัฐบาลไทยได้รับอนุมัติประมาณ 15 - 20 ทุนต่อปี ความร่วมมือทางด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอูเทรค เมื่อปี 2536 และต่ออายุมาจนถึงฉบับปัจจุบัน โดยมีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีการลงนามทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการในสาขาต่าง ๆ กับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาของเนเธอร์แลนด์เป็นจำนวน 5 แห่ง นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และมหาวิทยาลัย อัสสัมชัญก็ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือทางวิชาการด้วยเช่นกัน

    Nuffic ได้แสดงความสนใจที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ เช่นCollaborative Doctorate Degree Program และการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ บุคลากรในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น Tropical Medicine, Agriculture Technology, Agriculture Industry, Architecture และ Environment Engineering

    เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2546 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีได้ทรงลงพระนามในความตกลงทั่วไปว่าด้วยความร่วมมือทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์กับมหาวิทยาลัยอูเทรค และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการวิจัยและการศึกษาทางด้านพิษวิทยา ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง ระหว่างมหาวิทยาลัยอูเทรค และโครงการบัณฑิตศึกษาด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการจัดการสิ่งแวดล้อม ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ความตกลงทั้งสองฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการติดต่อและแลกเปลี่ยนความร่วมมือโดยตรงระหว่างสถาบันทั้งสี่แห่ง โดยจะร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยในสาขาพิษวิทยา สาขาระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง ซึ่งรูปแบบของความร่วมมือจะเป็น ในลักษณะของการจัดกิจกรรมร่วมกันในโครงการบัณฑิตศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ่งตีพิมพ์ ผลงานวิจัย และอุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก และโครงการวิจัยต่าง ๆ ซึ่งความตกลงดังกล่าว ทั้งสองฉบับจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 5 ปีนับตั้งแต่วันลงนาม

    ความตกลงทวิภาคี
    1. ความตกลงว่าด้วยบริการทางอากาศ ฉบับแรกลงนามเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2490 และฉบับที่ 2 ลงนามเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2514
    2. ความตกลงพื้นฐานว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ลงนามเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2515 อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ลงนามเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2518 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2519
    3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการความร่วมมือของเนเธอร์แลนด์สำหรับตลาดเกิดใหม่ (ของเนเธอร์แลนด์) ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 2001 – 2003) ลงนามเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544
    4. ความตกลงว่าด้วยการมีผลบังคับในการจ่ายเงินประกันสังคมแก่คนชาติของภาคี (เนเธอร์แลนด์) ที่พำนักอยู่ในประเทศภาคีอีกฝ่าย (ประเทศไทย) ลงนามเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545
    5. บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ว่าด้วยโครงการความร่วมมือสำหรับตลาดเกิดใหม่ (ของเนเธอร์แลนด์) ฉบับที่ 2 ลงนามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2546
    6. สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวนักโทษและการให้ความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547


    กุมภาพันธ์ 2548

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×