ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~ประวัติบุคคลสำคัญ~

    ลำดับตอนที่ #32 : สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    • อัปเดตล่าสุด 13 ต.ค. 50


    สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


    ข้อมูลส่วนพระองค์
    พระปรมาภิไธยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒
    วันพระราชสมภพพ.ศ. ๒๐๙๘
    วันสวรรคต๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘
    พระอิสริยยศพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
    พระราชบิดาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
    พระราชมารดาพระวิสุทธิกษัตริย์
    การครองราชย์
    ราชวงศ์ราชวงศ์สุโขทัย
    ทรงราชย์๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ - ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘
    ระยะเวลาครองราชย์15 ปี
    รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
    รัชกาลถัดมาสมเด็จพระเอกาทศรถ

              พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๐๙๘- ๒๕ เมษายพ.ศ. ๒๑๔๘) พระนามเดิมว่า พระองค์ดำ โอรสของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และ พระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ทรงมีพระเชษฐภคิณีคือพระสุพรรณกัลยาทรงมีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ(องค์ขาว) และทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช พระนเรสส องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช เป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช

    พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์กับชีวิตและการศึกษาในหงสาวดี
              ตลอดระยะเวลาในวัยเยาว์ของพระนเรศวรทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลกยอมอ่อนน้อมต่อแห่งหงสาวดี และทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชหงสาวดีไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนม์มายุเพียง ๙ พรรษา

              นอกจากพระองค์แล้วยังมีองค์ประกันจากเมืองอื่น ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีเป็นจำนวนมาก พระเจ้าบุเรงนองนั้นทรงให้เหล่าองค์ประกันได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดี พระนเรศวรทรงใช้เวลา ๘ ปีเต็มในหงสาวดีศึกษายุทธศาสตร์ของพม่า พระองค์ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาวต่างชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี เช่น ชาวโปรตุเกส สเปน หรือชาวพม่าเอง ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมในการทำศึกได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ ได้แก่ การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีการรบแบบกองโจร พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ ความเด็ดขาดในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด เนื่องจากการที่พระองค์มีชีวิตอยู่ในฐานะองค์ประกันทำให้ทรงมีความกดดันสูงจากมังกะยอชวา (พระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง) จึงทรงมีแรงผลักดันที่จะกอบกู้อิสรภาพให้กับบ้านเมืองของพระองค์ เช่น จากการชนไก่ของพระองค์กับมังกะยอชวา เป็นต้น รวมทั้งการเหยียดหยามว่าเป็นเชลย จากพวกพม่าด้วย

    ดำรงยศเป็นพระมหาอุปราช
              หลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ และได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาในฐานะประเทศราชของหงสาวดีต่อไป หลังจากนั้น พระนเรศได้หนีกลับมาไทยโดยที่บุเรงนองยินยอมด้วยอันเนื่องมาจากพระสุพรรณกัลยาได้ขอไว้ โดยที่บุเรงนองยินยอม หลังจากที่พระองค์ดำกลับมากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ทรงพระราชทานนามให้ว่า พระนเรศวร และโปรดเกล้าฯให้เป็นพระมหาอุปราชไปปกครองเมืองพิษณุโลก ทรงปกครองเมืองอย่างดีและทรงเริ่มเตรียมการที่จะกอบกู้เอกราชของกรุงศรีอยุธยา

    ยุทธหัตถี
              นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพเป็นต้นมา หงสาวดีได้เพียรส่งกองทัพเข้ามาหลายครั้ง แต่ก็ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๓ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง

              ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากหงสาวดี และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบการสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ นั่นคือเมื่อหงสาวดีนำโดยพระมหาอุปราชามังสามเกียดยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรก็นำทัพออกไปจนปะทะกันที่หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี บ้างก็ว่าจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนกระทั่งสามารถเอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้างนั่นเอง

    สวรรคต
              พ.ศ. ๒๑๓๗ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็ให้พระเจ้าแปรมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ก็แตกทัพกลับไป พ.ศ. ๒๑๔๒ เสด็จออกไปตีกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีหนีไปเมืองตองอู กองทัพอยุธยาตามไปถึงเมืองตองอูแต่ขาดเสบียง พ.ศ. ๒๑๔๗ ยกกองทัพไปกรุงหงสาวดีอีกครั้งถึงเมืองหาง (ในพงศาวดารบางฉบับว่าเมืองห้างหลวง) อันเป็นเมืองอยู่ชายพระราชอาณาเขตในสมัยนั้น เมื่อปลายเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๔๘ ได้เสด็จประทับแรมอยู่ ณ ตำบลทุ่งแก้ว เกิดประชวรเป็นหัวระลอกขึ้น (บ้างว่าถูกตัวสัตว์พวกแมลงมีพิษต่อย) ที่พระพักตร์แล้วเลยเป็นบาดพิษจนเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๑๔๘ เรื่องวันสวรรคตนี้มีรายละเอียดกล่าวต่างกัน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เสด็จสวรรคตวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ เพลาชายแล้ว ๒ บาท ปีมะเส็ง ในหนังสือ A History of Siam ของ W.A.R. Wood กล่าวว่าสวรรคตวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๐๕ (พ.ศ. ๒๑๔๘) พระชันษาได้ ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี

    พระราชกรณียกิจ

  • พ.ศ. 2113 เสด็จออกร่วมรบกับทหารโดยขับไล่กองทัพเขมรได้สำเร็จ
  • พ.ศ. 2114 ได้รับสถาปนาให้ปกครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา
  • พ.ศ. 2117 เสด็จไปรบที่เวียงจันทน์ เผอิญทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษจึงเสด็จกลับ
  • พ.ศ. 2121 ทรงทำสงครามขับไล่พระยาจีนจันตุออกไปจากกรุงศรีอยุธยา
  • พ.ศ. 2127 ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อนคนไทยกลับพระนคร
  • พ.ศ. 2127-พ.ศ. 2130 พม่ายกกองทัพมาตีไทยถึง ๔ ครั้ง แต่ถูกไทยตีแตกพ่ายกลับไป
  • พ.ศ. 2133 ทรงเสด็จครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา
  • พ.ศ. 2135 ทรงทำสงครามยุทธหัตถี และมังกะยอชะวา สิ้นพระชนม์
  • พ.ศ. 2136 ทรงยกกองทัพไปตีเขมรและจับพระยาละแวกทำพิธีปฐมกรรม
  • พ.ศ. 2138 และ พ.ศ. 2141 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงหงสาวดี ครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒
  • พ.ศ. 2148 ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงอังวะ เมื่อไปถึงเมืองหางหรือเมืองห้างหลวง ทรงพระประชวร เป็นหัวระลอกขึ้นที่พระพักตร์ เสด็จสวรรคต ณ ทุ่งแก้ว เมืองห้างหลวง ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง พระชนมายุ ๕๐ พรรษา ครองราชย์สมบัติได้ ๑๕ ปีสมเด็จ
  • พระนเรศวรมหาราชในวัฒนธรรมร่วมสมัย

  • ตราประจำจังหวัดของไทยที่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นองค์ประกอบ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดตาก และจังหวัดหนองบัวลำภู
  • มีการสร้างพระบรมราชานุสรณ์ของสมเ็ด็จพระนเรศวรมหาราชในหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ศาลสมเด็็จพระนเรศวรมหาราชที่ริมหนองบัวลำภู ในจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น
  • มีการนำพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราขไปตั้งเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยนเรศวร และค่ายทหารต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ค่ายนเรศวร ที่จังหวัดลพบุรี ค่ายนเรศวรมหาราช ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนทางกรมตำรวจได้นำพระนามของพระองค์มาตั้งเป็นชื่อค่ายตำรวจตระเวนชายแดนที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีว่า "ค่ายนเรศวร"้ ด้วยเช่นกัน
  • ชาวไทยนิยมนำหุ่นรูปไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาวไปบนบานกับพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะเชื่อกันว่าเป็นไก่พันธุ์เดียวกับตัวที่เอาชนะไก่ชนของพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดีได้
  • ในประเทศไทยได้มีการนำพระราชประวัติมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใช้ชื่อว่า มหาราชดำ ในปี พ.ศ. 2522 และครั้งที่ 2 ใช้ชื่อว่า ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในปี พ.ศ. 2550
  • เคยมีการสร้างละครเรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2531 ทางไทยทีวีสีช่อง 3 และได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำในปีนั้นถึง 5 รางวัล[2] ภายหลังมีการนำละครเรื่องนี้มาฉายใหม่ทางช่อง สทท.11 อีกครั้ง (ประมาณ พ.ศ. 2540)
  • ไม้ เมืองเดิม ได้นำเหตุการณ์ในสมัยนี้ไปใช้เป็นฉากในนวนิยายเรื่อง ขุนศึก ซึ่งตัวเอกของเรื่องคือ เสมา ทหารในสมัยสมเด็จพระนเรศวรซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นช่างตีเหล็ก นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เช่นกัน
  • มีการนำพระราชประวัติของพระองค์ไปเขียนเป็นหนังสือการ์ตูนอยู่หลายครั้ง เช่น มหากาพย์กู้แผ่นดิน ผลงานของมนตรี คุ้มเรือน เป็นต้น
  • ได้มีการสร้างตำนานสมเด็จพระนเรศวรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อว่า กษัตริยา ควบคู่กับ มหาราชกู้แผ่นดิน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ใน พ.ศ. 2542 โดยบริษัท กันตนา จำกัด เป็นผู้ผลิตรายการ ออกฉายทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในช่วงปี พ.ศ. 2545-พ.ศ. 2546
  • -------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
    ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×