ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #29 : 6 องศาโลกร้อน (2)

    • อัปเดตล่าสุด 25 ส.ค. 52


    http://newsimg.bbc.co.uk/media/images/44752000/jpg/_44752094_lynas_roysoc_226l.jpg

    แหล่งทับถมของเศษหินจากพายุ (tempestite deposits) เหล่านี้ยังบ่งบอกถึงวัฏจักรของน้ำที่เข้มข้นกว่าซึ่งทำให้เกิดฝนหนักมากขึ้นในบางบริเวณ เขตน้ำท่วมภายในของอเมริกาเหนือ ซึ่งอยู่ในภูมิอากาศเขตร้อน อัตราฝนตกสูงขึ้นไปได้ถึง 4,000 มิลลิเมตรต่อปี แผ่นดินชุ่มโชกด้วยห่าฝนชนิดที่ทุกวันนี้ประสบกันในฤดูมรสุมของอินเดีย อุณหภูมิของมหาสมุทรอัน เป็นตัวขับเคลื่อนพายุฝนเหล่านี้สูงกว่าปัจจุบันมาก ในแอตแลนติคเขตร้อน อาจจะสูงขึ้นไปถึง 42 องศาเซลเซียส เหมือนกับอ่างน้ำร้อนมากกว่าจะเป็นมหาสมุทร ส่วนบริเวณแอตแลนติคใต้ใกล้เกาะฟอล์กแลนด์ซึ่งอยู่ในภูมิอากาศกึ่งขั้วโลกนั้น อุณหภูมิปรกติที่ผิวน้ำทะเลอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียสโดยเฉลี่ย ร้อนกว่าส่วนใหญ่ของเขตร้อนจัดของทุกวันนี้

    เมื่อประมวลจากหลักฐานทั้งหมดให้เป็นภาพใหญ่ภาพเดียว ในไม่ช้าแนวเขตที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็ปรากฏขึ้น บริเวณเส้นศูนย์สูตร เขตชุ่มชื้นที่กว้างใหญ่ต้องเผชิญกับฝนหนักที่สุดและพายุเกรี้ยวกราดที่สุด แต่แนวปะการังยังเหลืออยู่บ้าง และแทบไม่มีป่าฝนเลย บริเวณเขตแห้งแล้งที่กว้างใหญ่กว่ามากซึ่งมีให้เห็นเพียงพืชและสัตว์ทนแล้ง รวมเอาบริเวณเขตร้อนและกึ่งร้อนที่เหลือไว้ทั้งหมด ประกอบด้วย อาฟริกาทั้งทวีป อเมริกาใต้  และตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาและยุโรป

    เขตอบอุ่นที่อยู่เหนือขึ้นไปอากาศอบอุ่นและชุ่มชื้น แต่ก็ต้องโดนไฟเผาผลาญอย่างหนักหน่วงเป็นประจำ สปีซีต่างๆของเฟิร์นในยุคครีเทเชียสต้องปรับตัวให้เข้ากับไฟเช่นเดียวกับยูคาลิปตัสในออสเตรเลียทุกวันนี้ สรีระวิทยาของพืช Plant Physiologyก็ปรับตัวให้สอดรับกับความแห้งแล้งด้วยเช่นกัน ซากฟอสซิลของต้นไม้จากตอนใต้ของอังกฤษเผยให้เห็นวงรอบการเติบโตไม่สม่ำเสมอในช่วงปีที่แห้งแล้งเมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภูมิอากาศชุ่มชื้นและอบอุ่นบริเวณขั้วโลก เอื้ออำนวยต่อป่าในทั้งสองซีกโลก ป่าไม้ในไซบีเรียอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งเช่นเดียวกับในคาบสมุทรแอนตาร์กติก ไม่จำเป็นต้องกล่าวก็ได้ว่ามันเป็นโลกที่ปราศจากชั้นน้ำแข็งปกคลุมไม่ว่าจะขั้วโลกไหน  ป่าไม้ผลัดใบอาจจะเติบโตได้ในแถบขั้วโลกใต้เสียด้วยซ้ำ (ซึ่งพวกมันต้องใช้เวลาครึ่งปีอยู่ในความมืด ของขั้วโลก) แม้ว่าทุกวันนี้ชั้นน้ำแข็งหนา 3 กิโลเมตรจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการค้นพบฟอสซิลไม้ใดๆเพื่อพิสูจน์ก็ตาม ที่ขั้วโลกเหนือ อุณหภูมิมหาสมุทรอาจจะขึ้นไปได้ถึงระดับกำลังสบายที่ 20 องศาเซลเซส

    ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดคาดว่าอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 เท่าของระดับปัจจุบัน แม้ว่าจะเอามาเปรียบเทียบกันโดยตรงไม่ได้ เพราะอุณหภูมิเพิ่มจากภาวะเรือนกระจกในยุคครีเทเชียสชดเชยด้วยการมีแสงแดดเบาบางกว่า คาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่มาจากภูเขาไฟ ซึ่งต้องขอบคุณที่ปริมาณการประทุของภูเขาไฟที่สูงขึ้นนั้นสัมพันธ์กับการแยกตัวของมหาทวีป แพนเจีย Pangeae ในขณะที่ทุกวันนี้ภูเขาไฟมีส่วนในการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ยุคครีเทเชียสนั้นการระเบิดของภูเขาไฟเป็นแบบขนานใหญ่อย่างแท้จริงและเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดหลายพันปี

    แต่ระบบของโลกก็พยายามปรับสู่ความสมดุลเสมอมา เช่นเดียวกับสัตว์เลือดอุ่นอื่นๆ เช่น มนุษย์ซึ่งเปลี่ยนแปลงระบบการเผาผลาญอาหารของตัวเองไปตามธรรมชาติเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ที่จริงแนวความคิดว่าโลกเป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จักปรับตัวเองนั้นคือแก่นความเชื่อในทฤษฎีกายา (Gaya Theory) ของ เจมส์ เลิฟล็อค เขาเกือบจะบอกด้วยซ้ำว่าโลกคือตัวตนที่มีอารมณ์ความรู้สึก

    อย่างไรก็ตามข้อสังเกตของเขาที่ว่ากลไกต่างๆของโลกดำเนินไปแบบเกือบเป็นการตั้งใจเพื่อจะรักษาอุณหภูมิให้เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตนั้นเป็นข้อสังเกตที่ถูกต้อง การทำงานของวัฏจักรคาร์บอนในระยะยาวฉายให้เห็นภาพได้ดีเป็นพิเศษ หากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นสูงมากเกินไป สิ่งมีชีวิตก็จะเป็นอันตรายด้วยผลกระทบจากภาวะเรือนจกเข้มข้นขึ้น

    นั่นคือเหตุผลที่ดาวศุกร์ตาย

    แต่ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ลดต่ำเกินไปโลกก็จะแช่แข็งไปทั้งใบ ความผันผวนของคาร์บอนช่วงแคบๆเท่านั้นจึงเป็นสิ่งอันพึงปรารถนา ฉะนั้น กลไกที่มีชีวิตจึงมีแนวโน้มจะปลดปล่อยคาร์บอนออกมาหากมันมีต่ำเกินไป และดูดซับคาร์บอนเข้าไปถ้ามันมีอยู่สูงเกินไป

    “อ่าง” คาร์บอนมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในยุคครีเทเชียสก็คือ platform แหล่งแคลเซียมคาร์บอเนตใต้ทะเลขนาดมหึมาในเขตกึ่งร้อน ประกอบด้วยชั้นของหอยซ้อนทับกัน บางแห่งซึ่งปกคลุมพื้นทะเลตื้นกินพื้นที่เป็นสิบๆล้านตารางโลเมตร ในเวลาต่อมากลายเป็นแผ่นพื้นหินปูนในหลายสถานที่อย่างเช่น มายอร์คา และ กรีก ที่จริงคุณก็สามารถเห็นการจับตัวของหอยในลักษณะนี้ได้บ่อยๆหากตั้งใจดูหินปูนอย่างละเอียด แต่กระบวนการเกิดของมันเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทุกๆ 30 เมตรของหินปูนใช้เวลาถึง 1 ล้านปี

    อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญเช่นกันในการแยกคาร์บอนก็คือการย่อยสลายพืช โดมขนาดใหญ่ของถ่านหินเลน peat ก่อตัวขึ้นใต้พื้นป่าและหนองน้ำ ค่อยๆบีบอัดจนกลายเป็นถ่านหิน ฟอสซิลป่าในอลาสกัน นอร์ท สโลป ประกอบด้วยชั้นถ่านหินหนา ในขณะเดียวกันถ่านหินยุคครีเทเชียสยังพบในตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซีย แคนาดาตะวันตก สหรัฐอเมริกาตอนกลาง เยอรมนี  ( ส่วนใหญ่เป็น ถ่านหินคุณภาพต่ำ หรือ ลิกไนต์) จีนตอนเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แหล่งถ่านหินสำคัญยังอาจจะมีอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติก้า ซึ่งจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าช่วงที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในยุคนั้นอันเป็นช่วงเวลาที่บริเวณขั้วโลกใต้นี้ยังมีป่าขนาดใหญ่อยู่เป็นเรื่องจริง

    คาร์บอนจำนวนมากยังถูกกักไว้ในตะกอนมหาสมุทรเมื่อซากย่อยสลายของแพลงก์ตอนลงไปกองทับถมเป็นชั้นๆที่ก้นมหาสมุทรกลายเป็นโคลนชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ บางส่วนของคาร์บอนดังกล่าวนี้ถูก “ปรุง” ด้วยกระบวนการทางธรณีวิทยา บีบคั้นผ่านรูในหินเข้าไปอยู่ในแอ่งสะสม กลายเป็นสสารที่คุ้นเคยกันดีสำหรับมนุษย์สมัยใหม่ คือ น้ำมัน นั่นเอง

    เห็นได้ชัดว่ามีบทเรียนที่น่าจะได้จากการทำงานของวัฏจักรคาร์บอนโบราณดังกล่าวนี้ สิ่งมีชีวิตในโลกต่องออกแรงเป็นเวลานับล้านๆปีเพื่อกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศที่อยู่ในระดับสูงเข้าขั้นอันตรายจึงรักษาอุณูหภูมิของโลกไว้ให้จำกัดอยู่ภายในขอบเขตที่ยอมรับได้ คาร์บอนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคาร์บอนเดียวกันกับที่มนุษย์ในปัจจุบันกำลังออกแรงเอามันคืนกลับไปใส่ชั้นบรรยากาศ ด้วยการเผาถ่านหิน น้ำมัน และ ก๊าซ เพื่อพลังงาน (พวกมันไม่ได้ถูกเรียกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยไม่มีความหมายแน่นอน)

    นอกจากนั้นมนุษย์ยังสร้างคาร์บอนได้เก่งกว่าบรรดาหอยแมลงภู่ หอยนางรม และแพลงก์ตอน พวกเราปลดปล่อยคาร์บอนได้รวดเร็วกว่าที่สิ่งมีชีวิตยุคครีเทเชียสใช้เวลาทำมาตลอดบรมยุค(all those eon ago)ราวๆ 1ล้านเท่า

    กระนั้นก็ตาม ป่าเขียวชอุ่มอันเป็นแหล่งกำเนิดถ่านหิน และ ชีวิตสัตว์อุดมสมบูรณ์ในยุคครีเทเชียส อาจจะทำให้ใครต่อใครเคลิ้มไปว่ามันเป็นยุคที่น่าอยู่ไม่น้อย เว้นแต่อากาศออกจะร้อนและเหนอะหนะไปหน่อย นอกจากนั้นยังอาจคิดว่า นี่ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้หรอกหรือว่าโลกอยู่รอดได้ ถึงขั้นสิ่งมีชีวิตรุ่งเรืองเฟื่องฟูด้วยซ้ำ ทั้งที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นมาก นี่จะไม่บรรเทาความวิตกกังวลของเราต่ออนาคตลงเลยหรือ

    ก็อาจเป็นได้

    ทว่าระบบนิเวศน์ยุคครีเอเชียสวิวัฒนาการไปภายใต้สภาวะเรือนกระจกเป็นเวลายาวนานมากๆ  พืชและสัตว์จำนวนมากซึ่งเดี๋ยวนี้คือซากฟอสซิลก็ปรับตัวเข้ากับมันได้อย่างยอดเยี่ยมจนเห็นได้ชัด แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่อย่างนั้น เราอยู่ร่วมโลกกับสิ่งมีชีวิตสปีชีต่างๆซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่เย็นลง หากเราประสบความสำเร็จในการพลิกโลกให้กลับไปอยู่ในสภาพภูมิอากาศสภาวะเรือนกระจกสุดขั้วอย่างยุคครีเทเชียส ระบบนิเวศน์ไม่กี่ระบบเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้

    เพราะแม่แรงพลิกโลกที่เราจะได้เห็นกันต่อไปข้างหน้านั้น ไม่ได้เตรียมไว้ให้ต้นปาล์มเติบโตงอกงามในอลาสก้า แต่เตรียมไว้สำหรับบันดาลผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือ การสูญพันธุ์อย่างขนานใหญ่

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×