ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #25 : สาธารณรัฐคีร์กิซ

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.07K
      1
      1 ก.พ. 50



     
    สาธารณรัฐคีร์กิซ
    Kyrgyz Republic


     
    ข้อมูลทั่วไป
    1. ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง อยู่ในเอเชียกลาง ทางทิศตะวันตกของจีนและทิศใต้ของคาซัคสถาน
    (ระหว่างเทือกเขาเทียนชานและพาเมียร์)
    พื้นที่ 198,500 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เพาะปลูกร้อยละ 7
    อากาศ ภูเขาสูงแบบภาคพื้นทวีป
    ประชากร ประมาณ 4.8 ล้านคน (กรกฎาคม 2545)
    แบ่งเป็น - ชาวคีร์กีซ ร้อยละ 52.4 - ชาวยูเครน ร้อยละ 2.5
    - ชาวรัสเซีย ร้อยละ 18 - ชาวเยอรมัน ร้อยละ 2.4
    - ชาวอุซเบก ร้อยละ 12.9 - อื่น ๆ ร้อยละ 11.8
    เมืองหลวง บิชเคก (Bishkek) (ประชากร 6.2 แสนคน)
    ภาษา คีร์กีซและรัสเซียเป็นภาษาราชการ
    (ในเดือนมีนาคม 2539 รัฐสภาคีร์กีซได้ให้ความเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
    ให้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาคีร์กีซ ในพื้นที่ที่มีประชากร
    ส่วนใหญ่ใช้ภาษารัสเซีย)
    ศาสนา อิสลามนิกายสุหนี่ ร้อยละ 75 Russian Orthodox ร้อยละ 20 อื่น ๆ ร้อยละ 5
    ทรัพยากรธรรมชาติ ทองคำ ยูเรเนียม ปรอท ถ่านหิน พลังงานไฟฟ้าจากน้ำ
    เวลา เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง
    วันชาติ 2 ธันวาคม วันประกาศเอกราช 31 สิงหาคม (2534)
    ระบบการเมือง ประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ
    ประมุข ประธานาธิบดี Askar Akayev
    (ได้รับการเลือกตั้งสมัยแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2534 สมัยที่สอง
    เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2538 และสมัยที่สามเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2543)
    นายกรัฐมนตรี นาย Nikolai Tanayev (พฤษภาคม 2545)
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Askar Aitmatov (พฤษภาคม 2545)
    ระบบรัฐสภา มี 2 สภา ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซี่งคีร์กีซ เป็นประเทศแรกในเอเชียกลางที่จัดให้มีการเลือกตั้งรัฐสภาตาม
    โครงสร้างใหม่ที่ใกล้เคียงกับแบบตะวันตก มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ทุก 4 ปี มี 105 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นสมาชิกภานิติบัญญัต (สภาสูง) 35 ที่นั่ง
    สมาชิกสภาประชาชน (สภาล่าง) 70 ที่นั่ง
    พรรคการเมืองที่สำคัญ Agrarian Party, Asaba, Ata-Meken, Communist Party,
    Democratic Movement, Erkin Kyrgyzstan, Republican People’s
    Party, Social Democratic Party, Unity of Kyrgyzstan

    2. เศรษฐกิจ
    GNI per capita = 280 ดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    GDP = 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    GDP Growth = ร้อยละ 5.3 (2544)
    อัตราเงินเฟ้อ = ร้อยละ 7 (2544)
    อัตราการว่างงาน = ร้อยละ 7.2 (2544)
    หนี้สินต่างประเทศ = 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    มูลค่าการนำเข้า = 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    มูลค่าการส่งออก = 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    แหล่งนำเข้าสำคัญ รัสเซีย อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน สหรัฐอเมริกา ตุรกี
    ตลาดส่งออกสำคัญ เยอรมนี อุซเบกิสถาน รัสเซีย จีน คาซัคสถาน
    สินค้าเข้าสำคัญ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ สินค้าเกษตร
    แปรรูป อาหาร สินค้าหัตถกรรม เมล็ดพืช ไม้
    ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เชื้อเพลิง เครื่องจักรกล เสื้อผ้า
    สินค้าออกสำคัญ แร่ โลหะ เครื่องจักรกล อุปกรณ์เกี่ยวกับการขนส่ง เคมีภัณฑ์
    ยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย เนื้อสัตว์ พลังงานจากน้ำ
    สกุลเงิน ซอม (Som) (เริ่มใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536)
    อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 47.87 ซอม (กรกฎาคม 2546)

    การเมืองการปกครอง
    3. สถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
    นับแต่สาธารณรัฐคีร์กีซได้แยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2534
    มีการจัดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข โดยนาย Askar Akayev
    ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสาธาณรัฐคีร์กีซสถานภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตตั้งแต่ปี 2533 ได้รับการลงประชามติในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2534 ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
    คนแรกของสาธารณรัฐคีร์กีซ และต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2538 นาย Akayev ได้รับ
    การเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง
    ในปี 2543 วาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของนาย Akayev ได้สิ้นสุดลง รัฐบาลได้จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และนาย Akayev ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สามท่ามกลางการประท้วงของฝ่ายค้านเกี่ยวกับสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินว่ารัฐธรรมนูญซึ่งจำกัดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้เพียงสองสมัยเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2536 ในขณะที่นาย Akayev เข้ารับตำแหน่งสมัยแรกในปี 2534 ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2543 ปรากฏว่าประธานาธิบดี Askar Akayev ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สามด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 74.3
    ปัจจุบัน ตำแหน่งประธานาธิบดีของนาย Akayev จึงมีเสถียรภาพทั้งทางด้านการเมือง การบริหาร
    รวมทั้งอิทธิพลเหนือสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อำนาจของรัฐสภาถูกจำกัดลดน้อยลง
    นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Akaryev ยังต้องการที่จะแบ่งแยกอำนาจประธานาธิบดี รัฐสภา และตุลาการ ให้ออกจากกันโดยเด็ดขาด และต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจเพิ่มขึ้น ซึ่งในการลงประชามติเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2539 ประธานาธิบดี Akayev ก็ได้รับชัยชนะแบบไม่โปร่งใส ดังนั้นปัญหาความ
    ขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดี Akayev กับฝ่ายค้านในรัฐสภาซึ่งดำเนินมานับตั้งแต่คีร์กีซขอแยกตัวออกจาก
    สหภาพโซเวียตก็คงดำเนินอยู่ต่อไป เนื่องจากรัฐสภาไม่พอใจนโยบายปฏิรูปประเทศของประธานาธิบดีและปัญหาการทุจริตในวงราชการที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขได้ ยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่าง
    ท้องถิ่นภาคเหนือกับภาคใต้ อันเนื่องมาจากกระจายอำนาจบริหารท้องถิ่นภาคเหนือและภาคใต้ให้แก่ผู้ว่าการส่วนท้องถิ่นอย่างไม่เท่าเทียมกัน อาจกลายเป็นปัญหาที่มาสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาลได้ในที่สุด
    ประธานาธิบดี Akayev มีภาพลักษณ์ที่เป็นผู้นำที่นิยมระบอบประชาธิปไตย โดยยินดีร่วมมือกับ
    องค์การระหว่างประเทศเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจคีร์กีซไปสู่ระบบตลาดเสรี และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากสุนทรพจน์ ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
    ที่มีเนื้อหาว่า สาธารณรัฐคีร์กีซคงต้องใช้เวลามากกว่าสองทศวรรษในการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงสาธารณรัฐคีร์กีซยังคงมีศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ประธานาธิบดี ละเลยสิทธิทางการเมืองของฝ่ายค้าน และผู้นำยังมีความเป็นเผด็จการอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประธานาธิบดีจะยังคุมอำนาจบริหารไว้ทั้งหมดและยังไม่สามารถปฏิรูปประเทศให้เป็นตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ตามที่เคยสัญญาไว้ แต่สาธารณรัฐคีร์กีซก็ยังมีพัฒนาการในการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่า
    อุซเบกิสถานและเติร์กเมนิสถานที่ผู้นำประเทศยังมีความเป็นเผด็จการอยู่มาก และยังสามารถรักษาความสงบในสังคมได้มากกว่าทาจิกิสถานที่มีสงครามกลางเมืองอยู่เนืองๆ
    ขณะเดียวกัน กระแสต่อต้านชาวรัสเซียในประเทศยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่ารัฐบาลคีร์กีซจะมิได้
    เห็นชอบกับการต่อต้านชนกลุ่มน้อยรัสเซียของชาวคีร์กีซก็ตาม โดยที่ประชากรคีร์กีซประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยรัสเซียจำนวนถึงร้อยละ 21 ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในด้านเศรษฐกิจประธานาธิบดี Akayev จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ชาวรัสเซียอยู่ในประเทศต่อไป เช่น การประกาศให้รัสเซียเป็นภาษาราชการในบางพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่พูดภาษาดังกล่าว การให้ชาวรัสเซียได้มีส่วนร่วมในการ
    ปกครองทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นอย่างเหมาะสมเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 มิถุนายน 2540 รัฐสภาคีร์กีซได้ออกเสียงคว่ำบาตรข้อเสนอที่จะให้ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ ซึ่งสร้างความ
    กดดันให้แก่ประธานาธิบดีเป็นอย่างมาก อนึ่ง สาธารณรัฐคีร์กีซเริ่มใช้ภาษาคีร์กีซเป็นภาษาราชการตั้งแต่ปี 2532 และแม้ว่าจะยินยอมให้มีการใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการในบางพื้นที่ แต่ก็ยังถือว่าภาษาคีร์กีซเป็นภาษาหลัก

    4. นโยบายต่างประเทศ
    คีร์กีซมีนโยบายต่างประเทศที่มุ่งพัฒนาความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และมุ่งหาตลาดการค้าใหม่ในต่างประเทศ โดยความร่วมมือนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกันและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ นโยบายดังกล่าวกระทำได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากคีร์กีซตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศใหญ่ คือ จีนกับรัสเซีย นอกจากนั้น ปัจจุบันอเมริกากับญี่ปุ่นพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์โดยการขยายเขตอิทธิพลในบริเวณเอเชียกลางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายต่างประเทศหลักของคีร์กีซได้หันมาเน้นความสำคัญกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกเป็นอันดับแรก โดยคีร์กีซได้พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เกาหลีใต้และไทย และมีการพัฒนาความเข้าใจที่ดีต่อกันกับญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและเกาหลีใต้

    5. ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
    ความสัมพันธ์กับรัสเซีย
    เนื่องจากคีร์กีซยังต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจและการค้ากับรัสเซียอยู่มาก ประธานาธิบดี Akayev
    จึงต้องพยายามถ่วงดุลผลประโยชน์ของกลุ่มชาตินิยมคีร์กีซกับชนชาติรัสเซีย โดยพยายามตัดทอนมรดก
    ทางวัฒนธรรมที่ได้รับสมัยอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีก็มักจะปกป้อง
    ผลประโยชน์ของชนชาติรัสเซียอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนมกราคม 2541 ประธานาธิบดี Karimov
    ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีของกลุ่มประเทศเอเชียกลางอีก 4 ประเทศ ประกาศเจตนารมย์ที่จะให้ลดการพึ่งพิงรัสเซีย โดยหันมาร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียกลางให้มากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
    ในขณะเดียวกันสาธารณรัฐคีร์กีซก็พยายามกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับรัสเซีย โดยได้มีการลงนามความตกลงระหว่างกันไปแล้ว 3 ฉบับ เพื่อกำหนดสถานะของทหารคีร์กีซและทหารรัสเซียที่ร่วมอยู่ในกองทัพของแต่ละฝ่าย รวมทั้งเปิดโอกาสให้รัสเซียสามารถทำสัญญาเพื่อคงกองกำลังของตนในคีร์กีซต่อไป และอาศัยสาธารณรัฐคีร์กีซเป็นกำบังป้องกันภัยจากจีน การกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับรัสเซียสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี Akayev มาสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของประเทศ ซึ่งนอกจากเหตุผลด้านการเมืองภายในแล้ว ประธานาธิบดี Akayev ยังต้องการดึงรัสเซียมาคานอำนาจกับประเทศเพื่อนบ้านคือ จีนและอุซเบกิสถานด้วย ทั้งนี้ สาธารณรัฐคีร์กีซได้ลงนามในแผนการ Partnership for Peace ของ NATO เมื่อเดือนมิถุนายน 2537 ภายหลังจากที่รัสเซียได้ตกลงที่จะเข้าร่วมแผนการดังกล่าว ล่าสุดสาธารณรัฐคีร์กีซได้ลงนามในสนธิสัญญาเพื่อการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและสังคมกับรัสเซีย เบลารุส และคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539 เพื่อยกระดับความร่วมมือในกรอบ CIS ให้เพิ่มขึ้นอีกระดับ เนื่องมาจากความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองภายในของแต่ละประเทศทำให้การร่วมมือภายใต้กรอบเครือรัฐเอกราช (CIS) ตั้งแต่ปี 2534 ไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุผลได้ อนึ่ง การลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้รัสเซียมี ”ดินแดนสัญจร” เพิ่มขึ้น เนื่องจาก รัสเซีย สามารถควบคุมการขนส่งรถไฟผ่านแดนสายเอเชีย-ยุโรป ตลอดจนสินค้าพลังงานของตนไปยังยุโรปได้สะดวกขึ้น ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2541 ประธานาธิบดี Akayev ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีของอีก 4 ประเทศเอเชียกลาง เรียกร้องให้ลดการพึ่งพิงรัสเซียและหันมาเน้นความร่วมมือระหว่างกันทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองให้มากขึ้น ในฐานะภูมิภาคที่ร่ำรวยทางพลังงาน

    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเครือรัฐเอกราช
    แม้ว่าสาธารณรัฐคีร์กีซจะร่วมลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงของกลุ่ม CIS และทำสนธิสัญญาเพื่อการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและสังคมกับรัสเซีย เบลารุส และคาซัคสถาน แต่ความร่วมมือดังกล่าวยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก ในขณเดียวกัน มีการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงกับกลุ่มประเทศเอเชียกลางอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากเป็น
    ชนชาติมุสลิมเช่นเดียวกัน โดยการเข้าร่วมกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจเอเชียกลางกับคาซัคสถานและ
    อุซเบกิสถานในเดือนมกราคม 2537 และร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการเสริมสร้างความไว้วางใจทางทหารบริเวณชายแดน 5 ประเทศ (จีน รัสเซีย คีร์กีซ ทาจิกิสถาน และคาซัคสถาน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2539 ณ นครเซียงไฮ้ โดยทุกฝ่ายจะเปิดเผยต่อกันมากขึ้นในกิจการทหารบริเวณชายแดน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นองค์กร Shanghai Cooperation Organization (SCO) โดยรวมอุซเบกิซสถาน เข้าเป็นสมาชิกอีก 1 ประเทศ และขยายความร่วมมือออกไปหลายด้าน นอกเหนือจากด้านความมั่นคงและปัญหาตามชายแดนแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและประเด็นปัญหาข้ามชาติ เช่น การปราบปรามการก่อการร้าย และการปราบปรามการค้ายาเสพติด อีกด้วย

    ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ
    ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลคีร์กีซหันมาเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้า โดยเริ่มมีปริมาณการค้าระหว่างกันมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงระหว่างกัน ในขณะ
    เดียวกัน รัฐบาลจีนก็พยายามกดดันรัฐบาลคีร์กีซเรื่องกลุ่มผู้เรียกร้องเอกราชชาว Uighur ในจังหวัดซินเกียง (Xinjiang) ส่วนความสัมพันธ์กับทาจิกิสถานนั้น รัฐบาลคีร์กีซต้องควบคุมชายแดนที่ติดต่อกับทาจิกิสถานให้เข้มงวดขึ้น และพยายามแก้ปัญหาการค้ากับคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน

    เศรษฐกิจการค้า
    6. สภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบัน
    โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
    เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคีร์กีซนั้นส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม และ
    ประชากรส่วนใหญ่ยากจนโดยกว่าร้อยละ 50 มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าระดับยากจน (below poverty line) จึงต้องมีการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นขั้นตอน ในปี 2540 เศรษฐกิจของสาธารณรัฐคีร์กีซเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยมีมูลค่าการเจริญเติบโตที่แท้จริงของ GDP ร้อยละ 5.6 ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติในภาคธุรกิจเหมืองแร่ และรัฐบาลก็ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างเคร่งครัด สำหรับแนวโน้มปี 2541 เศรษฐกิจคีร์กีซจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในยังอยู่ในภาวะสงบและบรรยากาศภายนอกประเทศก็เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม นโยบายทางเศรษฐกิจภายในประเทศของสาธารณรัฐคีร์กีซนั้น ต้องคำนึงถึงรากฐานความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมและทางเชื้อชาติ และต้องพยายามยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น เพื่อบรรเทาความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งจากความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
    ปัจจุบัน สาธารณรัฐคีร์กีซสนใจการพัฒนาด้านการค้า การธนาคาร ระบบตลาดหุ้น และการให้
    เอกชนเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจให้มากที่สุด ซึ่งนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐคีร์กีซที่ดำเนินมาตั้งแต่ได้รับเอกราช ก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยร้อยละ 70 ของกิจการของรัฐได้แปรรูปเป็นของเอกชนแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีคนงานน้อยกว่า 100 คน และธุรกิจด้านการบริการ ซึ่งร้อยละ 100 ได้แปรรูปเป็นของเอกชนแล้ว อย่างไรก็ตามในกิจการบางอย่าง อาทิ กิจการเหมืองแร่และการผลิต
    พลังงานไฟฟ้า รัฐวิสาหกิจยังคงมีบทบาทมาก โดยกิจการด้านอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 90 ยังเป็นของรัฐ และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังประเทศตะวันตกมีเพียงเล็กน้อย ในปี 2539 ผลผลิตจากภาค
    อุตสาหกรรมคิดเป็นเพียงร้อยละ 12 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ ในขณะที่ในด้านการค้าและเกษตรกรรมจะมีผลผลิตมากกว่า นอกจากนั้น รัฐบาลยังดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการเงินการคลัง ทำให้ภาวะเงินเฟ้อซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 1,391 ในปี 2536 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 42.6 ในปี 2538 และร้อยละ 30.3 ใน
    ปี 2539 ซึ่งนับว่า สาธารณรัฐคีร์กีซเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในบรรดาประเทศที่เกิดจากอดีต
    สหภาพโซเวียตรวมทั้งรัสเซียด้วย อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แม้ว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติมากมาย เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นเคยให้เงินช่วยเหลือจำนวน
    160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยพยุงสถานะของเงินสกุลแห่งชาติคีร์กีซ และสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือจำนวน 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโครงการระยะเวลา 5 ปี เพื่อปรับปรุงสนามบินแห่งชาติกรุงบิชเคก ซึ่งเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว
    สาธารณรัฐคีร์กีซจะมีสนามบินที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียกลางและอยู่ในระดับมาตรฐานสากลที่จะช่วยเชื่อมสาธารณรัฐคีร์กีซกับประเทศในเครือรัฐเอกราช และเชื่อมเที่ยวบินจากยุโรปไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกไกลอีกด้วย
    ธนาคารยุโรปเพื่อการบูรณะและพัฒนา (EBRD) ยังคงมีบทบาทสำคัญในการให้สินเชื่อแก่รัฐบาล
    คีร์กีซเพื่อใช้ในการฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจไปสู่ระบบการตลาด โดยเฉพาะสาธารณรัฐเยอรมนีที่ได้ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 18.5 ล้านมาร์คผ่าน EBRD เพื่อใช้ในการสนับสนุนสกุลเงินซอมของสาธารณรัฐ
    คีร์กีซ
    นอกจากนั้น สาธารณรัฐคีร์กีซยังได้รับความช่วยเหลือจาก IMF and World Bank ตั้งแต่ปี 2537 ในการสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ โดยมีการตั้งเป้าหมายด้านงบประมาณและเงินเฟ้อไว้อย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้น IMF และ World Bank ยังเรียกร้องให้รัฐบาลคีร์กีซปล่อยระบบราคาสินค้าให้เป็นไปอย่างเสรีและเลิกให้การอุดหนุนสินค้า และในปี 2541 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ตัดสินใจที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อไปกับคีร์กีซ เนื่องจากพบว่ามีความก้าวหน้าในการปฎิรูประบบการเงินและการโอนกิจการของรัฐให้เป็นของภาคเอกชน สำหรับความช่วยเหลือจากกลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น จะให้ในรูปความช่วยเหลือทางเทคนิคมากกว่า

    ภาคเกษตรกรรม
    ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม โดยมีสินค้าหลักคือ ฝ้าย ขนแกะ ไหม ฟาง ป่าน หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ผัก และผลไม้ โดยมีการปลูกฝ้ายทางภาคใต้ของประเทศ ในปี 2542 แรงงานร้อยละ 55 ทำงานในภาคเกษตรกรรม ผลผลิตภาคเกษตรกรรมของสาธารณ
    รัฐคีร์กีซยังคงได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2533 ผลผลิตทางการเกษตรยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการขาดแคลนปุ๋ย โดยระหว่างปี 2533-2538 ผลผลิตของเมล็ดพันธ์พืชลดลงถึงร้อยละ 35 และผลผลิตฝ้ายลดลงร้อยละ 18 อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2539 ผลผลิตทางการเกษตรเริ่มฟื้นตัวขึ้นและ
    รัฐบาลคีร์กีซได้คาดการณ์ว่าการเจริญเติบโตนี้จะคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องสำหรับปีต่อๆ ไป
    การค้ากับต่างประเทศ
    ในด้านการค้ากับต่างประเทศ ภายหลังมูลค่าการค้ากับต่างประเทศลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2535
    แต่ในปี 2537 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกได้กลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า โดยมูลค่าการค้ากับรัสเซียกลับลดลงดังนั้นเพื่อเป็นการลดการพึ่งพิงรัสเซีย ตั้งแต่ปี 2534 รัฐบาลคีร์กีซเริ่มหันมาค้าขายและพยายามหาตลาดใหม่ๆ นอกจากรัสเซีย อาทิ จีน คาซัคสถาน ตุรกีและอุซเบกิสถาน โดยเน้นสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมเบา อย่างไรก็ตามนโยบายปล่อยราคาสินค้าให้เสรีที่เริ่มเมื่อปี 2534 ได้ก่อให้เกิดมูลค่าการค้ากับประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น
    แม้ปัจจุบัน สาธารณรัฐคีร์กีซจะสามารถส่งออกพลังงานไฟฟ้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้เป็น สินค้าออกด้านพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่โดยที่ตลาดพลังงานไฟฟ้าสำคัญของสาธารณรัฐคีร์กีซคือ คาซัคสถานเองก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินตราสกุลแข็งเป็นค่ากระแสไฟฟ้าแก่คีร์กีซได้มากนัก รัฐบาลคีร์กิช จึงไม่อาจหวังพึ่งสินค้าออกตัวนี้ ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ความหวังในระยะยาวของคีร์กีซอยู่ที่การขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งจากการสำรวจของสาธารณรัฐคีร์กีซและสหรัฐฯ ได้พบแหล่งน้ำมันที่น่า สนใจหลายแหล่งในพื้นที่ต่างๆ ของสาธารณรัฐคีร์กีซ นอกจากวัตถุดิบเหล่านี้แล้ว สาธารณรัฐคีร์กีซไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นที่สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบเชิงพาณิชย์ที่สำคัญนัก

    7. นโยบายการลงทุน
    รัฐบาลคีร์กีซได้ออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนในประเทศ โดยเป็นประเทศเดียวใน
    เอเชียกลางที่มีกฎหมายคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ กฎหมายให้สัมปทานแก่นักลงทุนต่างชาติ กฎหมายเรื่องการโอนกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน และกฎหมายเกี่ยวกับระบบภาษีชุดใหม่ที่มีลักษณะเสรีมากที่สุด และกำลังจัดทำแผนการส่งออกเพื่อควบคุมดุลการชำระเงินของประเทศ อีกทั้งได้ประกาศให้บิชเคกเป็นเขตการค้าเสรีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้มีการเก็บภาษีสินค้าเข้าเพียงร้อยละ 10 และไม่มีการเก็บภาษีสำหรับสินค้าออก นักลงทุนต่างประเทศที่มาร่วมลงทุนกับคีร์กีซจะได้รับการยกเว้นภาษีในช่วง 2-5 ปีแรก แต่หากเป็นการลงทุนร่วมในเขตการค้าเสรี จะได้รับการยกเว้นภาษี อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือสาธารณรัฐคีร์กีซอยู่ห่างไกลจากตลาดโลก การขนส่งสินค้ามีต้นทุนสูงทำให้ราคาสินค้าสูงตามไปด้วย และสาธารณรัฐคีร์กีซยังขาดทักษะในการ packaging ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจของสาธารณรัฐคีร์กีซจึงยังติดลบอยู่ในปัจจุบัน โดยมูลค่าการส่งออกของประเทศยังมีน้อยกว่ามูลค่าการนำเข้า
    สาธารณรัฐคีร์กีซประสงค์จะดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้าไปลงทุนในด้านเหมืองแร่ทองคำ
    พลังงาน อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยในด้านพลังงานนั้น ขณะนี้คีร์กีซสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 140 ล้านกิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง สาธารณรัฐ
    คีร์กีซประสงค์จะส่งออกกระแสไฟฟ้าร้อยละ 10 ของจำนวนที่ผลิตได้ และใช้ภายในประเทศร้อยละ 90
    ประเทศที่เข้ามาลงทุนทำเหมืองแร่ในสาธารณรัฐคีร์กีซ ได้แก่ แคนาดา ส่วน สหรัฐฯ ฝรั่งเศสและจีน กำลังมีโครงการต่อๆ ไป
    8. การคมนาคมขนส่ง
    การคมนาคมหลักอาศัยรถไฟและรถยนต์ ผ่านจีน รัสเซีย อินเดีย และอิหร่าน โดยมีการสร้างเส้นทางรถไฟจากเอเชียกลางไปยังเมืองท่าบันดาร์ อับบาส (Bandar Abbas) ของอิหร่าน ซึ่งเป็นความร่วมมือของเหล่าประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECO) เพื่อให้เอเชียกลางสามารถมีทางออก
    สู่ทะเลได้

    -----------------------------------------------

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กิซ
    ภูมิหลังความสัมพันธ์
    ไทยได้รับรองเอกราชของคีร์กิซสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และได้สถาปนาความภูมิหลังความสัมพันธ์
    ไทยได้รับรองเอกราชของคีร์กีซสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐคีร์กีซสถาน (Republic of Kyrgyzstan) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2535 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสาธารณรัฐคีร์กีซ (Kyrgyz Republic) ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2536
    นับตั้งแต่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน อาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่ยังอยู่ในระดับที่เริ่มต้นเท่านั้น ทั้งในความร่วมมือทวิภาคีระดับต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนการเยือน ทั้งนี้ สาธารณรัฐคีร์กีซได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูตคีร์กีซ ณ กรุงปักกิ่ง มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนฝ่ายไทยได้มอบหมายอย่างไม่เป็นทางการให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดูแลความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐคีร์กีซ

    การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตถิ่นพำนักที่กรุงเทพฯ
    คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 อนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงการ ต่างประเทศเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนเขตอาณาของกลุ่มประเทศ CIS ที่อยู่ในความดูแลของสถานเอกอัคร
    ราชทูต ณ กรุงมอสโก โดยให้แต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพฯ เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญ
    ผู้มีอำนาจเต็มดูแลประเทศมุสลิมเอเชียกลาง 4 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กีซ รวมทั้ง
    อุซเบกิสถาน เพื่อความสะดวกในการติดต่อกับประเทศเหล่านี้
    อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ จึงทำให้การดำเนินการ ข้างต้นไม่สามารถกระทำได้ ปัจจุบัน ทั้ง 4 ประเทศเอเชียกลางจึงยังคงอยู่ภายใต้การดูแลอย่างไม่เป็น ทางการของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก

    ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ
    สาธารณรัฐคีร์กีซพยายามที่จะพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้ากับไทย โดยเสนอให้ไทย
    เข้าไปพัฒนากิจการเหมืองทองคำเพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับของไทย
    ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคีร์กีซยังมีมูลค่าไม่มากนัก โดยไทยมักเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าเนื่องจากไทยสั่งซื้อสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม อัญมณี สินแร่และแร่ดิบ ในขณะที่คีร์กีซนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้า สิ่งทอ เครื่องกีฬา อุปกรณ์เดินทาง และเครื่องใช้ภายในบ้าน จากประเทศไทย



    สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังคีร์กีซ
    เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ถุงเท้าและถุงน่อง เคหะสิ่งทอ ของเล่น

    สินค้านำเข้าจากคีร์กีซมายังไทย
    สินแร่โลหะและเศษโลหะ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่น้ำอัดลมและสุรา ผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องจักรใช้ ในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งพิมพ์ เครื่องแต่งเรือน ผ้าผืน เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ แร่ดิบ

    มูลค่าการค้าไทย-คีร์กีซ
    หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    รายการ 2540 2541 2542 2543 2544 2545 2546
    (มค.-พ.ค.)
    มูลค่าการค้า 17.5 9.5 9.3 0.5 0.7 0.5 0.5
    สินค้าออก 4.9 1.3 2.1 0.4 0.6 0.5 0.2
    สินค้าเข้า 12.6 8.2 7.2 0.1 0.1 0.1 0.3
    ดุลการค้า -7.8 -6.9 -5.1 0.3 0.5 0.2 -0.2
    ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร

    การแลกเปลี่ยนการเยือน
    ฝ่ายไทย
    - นายกษิต ภิรมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้เดินทางไปเยือนคีร์กีซระหว่างวันที่ 18-21
    พฤศจิกายน 2536 ซึ่งในระหว่างการเยือนฝ่ายคีร์กีซได้เสนอให้มีการจัดทำความตกลงต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ความตกลงทางเศรษฐกิจและการค้า ความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ
    - นายอนุชา โอสถานนท์ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงฯ ในฐานะเอกอัครราชทูตสัญจรประจำ
    ภูมิภาคเอเชียกลาง เดินทางไปเยือนอุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน รวมทั้งคีร์กีซ ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2539 ซึ่งในระหว่างการเยือน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคีร์กีซได้มอบร่างความตกลง 3 ฉบับให้ฝ่ายไทยพิจารณา คือ พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และแถลงการณ์ร่วมเรื่องหลักการและทิศทางของความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐคีร์กีซกับประเทศไทย

    ฝ่ายคีร์กีซ
    - นายอาลิเบ็ก เจ็กเชนกูลอฟ (Alikbek Djekshenkoulov) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการ
    ต่างประเทศคีร์กีซ คนที่หนึ่ง เดินทางมาร่วมการประชุม ESCAP สมัยที่ 53 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 23-30 เมษายน 2540 และในโอกาสเดียวกันนี้ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ เพื่อหารือประเด็นทวิภาคี
    - เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2541 นายอาลิเบ็ก เจ็กเชนกูลอฟ (Alikbek Djekshenkoulov)
    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคีร์กีซ คนที่หนึ่ง ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีกับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ฯ ในโอกาสที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม Ministers of Industry and Technology of Asia and the Pacific ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2541 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ
    - เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 นายอาลิเบ็ก เจ็กเชนกูลอฟ (Alikbek Djekshenkoulov)
    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคีร์กีซ คนที่หนึ่ง ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุม ESCAP สมัยที่ 55 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีกับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
    - เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 นาย Kubanychbek Jumaliev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
    ขนส่งและคมนาคม สาธารณรัฐคีร์กีซ เดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้หารือข้อราชการและลงนามความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศร่วมกับนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

    ความตกลงทวิภาคี
    ความตกลงที่ได้มีการลงนามระหว่างกันแล้ว
    - ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (Air Services Agreement) ทั้งสองฝ่ายได้เจรจา
    จนสามารถบรรลุข้อตกลง และลงนามย่อแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2542 และได้มีพิธีลงนามความ ตกลงฯ ระหว่างนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนาย Kubanychbek Jumaliev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งและคมนาคม สาธารณรัฐคีร์กีซ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544
    ความตกลงที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา
    1). ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (Agreement on Trade and
    Economic Cooperation) กระทรวงฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าในขณะนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทย-คีร์กีซ ยังมีไม่มาก จึงชะลอการจัดทำความตกลงดังกล่าว
    2). ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Agreement on the Reciprocal
    Promotion and Protection of Investments) โดยที่ไทยอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนนโยบายและปรับปรุงแก้ไขกฏหมายเกี่ยวกับการลงทุน ฝ่ายไทยจึงได้ชะลอการเจรจาจัดทำความตกลงดังกล่าว
    3). ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (Agreement on Cooperation in the
    field of Tourism) ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทย
    4). พิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ (Protocol on
    Cooperation between the Ministry of Foreign Affairs) ฝ่ายคีร์กีซได้มอบร่างพิธีสารให้ไทยเมื่อปี 2539 ทั้งสองฝ่ายได้พิจารณายกร่างโต้ตอบจนสามารถเห็นชอบต่อร่างพิธีสารดังกล่าวแล้ว และจะได้จัดให้มีการลงนามตามขั้นตอนทางการทูตต่อไป
    5). บันทึกว่าด้วยหลักการของความสัมพันธ์ด้านศุลกากร (Memorandum about the
    Principles of Custom Relations) ฝ่ายคีร์กีซจัดส่งร่างบันทึกฯ ให้ฝ่ายไทยเมื่อปี 2541 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมศุลกากร

    ความช่วยเหลือทางวิชาการ
    รัฐบาลคีร์กีซเคยแสดงความประสงค์ขอความช่วยเหลือทางเทคนิคและวิชาการจากประเทศไทย
    ในโครงการต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมวิชาการทางการทูต การเรียนภาษาและวัฒนธรรมไทย สาขาการ
    เกษตร และสาธารณสุข ให้แก่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศของคีร์กีซ การเข้าร่วมอบรมระยะสั้นในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่จัดให้มีขึ้นในกรุงเทพฯ อาทิ การฝึกอบรมเกี่ยวกับทางด้าน การเงิน การธนาคาร และ
    การจัดการ และยังขอให้ฝ่ายไทยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไทยสาขาต่าง ๆ ไปอบรมให้แก่ชาวคีร์กีซ ที่กรุงบิชเคก
    เป็นต้น
    เมื่อเดือนธันวาคม 2540 ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐคีร์กีซ (Kyrgyz Science Technical Center Energy - KSTC Energy) ได้ขอรับความช่วยเหลือด้านวิชาการจากไทย แต่ฝ่ายไทยยังไม่อาจให้การสนับสนุนตามคำขอของ KSTC Energy ได้เนื่องจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจของไทยจึงทำให้งบประมาณถูกตัดทอนลงมาก อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตเมื่อสภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น กรมวิเทศสหการและกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวต่อมาเมื่อปี 2541 รัฐบาลไทย โดยกรมวิเทศสหการ ได้จัดสรรทุนฝึกอบรมภายใต้ทุนเวียนให้แก่รัฐบาล สาธารณรัฐคีร์กีซ จำนวน 8 หลักสูตร ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก



    กรมยุโรป
    สิงหาคม 2546

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×