ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #24 : สาธารณรัฐคาซัคสถาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.26K
      1
      26 ม.ค. 50



     
    สาธารณรัฐคาซัคสถาน
    Republic of Kazakhstan


    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง อยู่ในเขตเอเชียกลาง ทางตอนกลางของที่ราบ Eurasia ระหว่างรัสเซียและอุซเบกิซสถาน
    ทิศตะวันตกติดทะเลสาบแคสเปียน ทิศตะวันออกติดสาธารณรัฐประชาชนจีน
    พื้นที่ 2,717,300 ตารางกิโลเมตร (1,049,200 ตารางไมล์) มีพื้นที่มากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
    ประชากร 16.7 ล้านคน (กรกฎาคม 2545) แบ่งเป็น
    ชาวคาซัค ร้อยละ 53.4 ชาวรัสเซีย ร้อยละ 30
    ชาวยูเครน ร้อยละ 3.7 ชาวเยอรมัน ร้อยละ 2.4
    ชาวอุซเบก ร้อยละ 2.5 ชาวอุยเกอร์ ร้อยละ 1.4
    เมืองหลวง อาสทานา (Astana) (ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2541) เดิมชื่อ อักโมลา
    (Akmola) มีประชากรประมาณ 277,000 คน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของ
    ประเทศ ห่างจากเมืองอัลมาตี (เมืองหลวงเดิม ซึ่งมีประชากร 1.2 ล้านคน) ประมาณ 1,300 กิโลเมตร
    เมืองสำคัญ Almaty, Qaraghandy, Pavlodar
    ภาษาราชการ คาซัคเป็นภาษาราชการที่มีคนใช้กว่าร้อยละ 64.4 ของประชาชน ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการที่มีคนใช้กว่า 2 ใน 3 ของประชาชน และใช้ในชีวิต
    ประจำวัน
    ศาสนา อิสลาม นิกายสุหนี่ ร้อยละ 47 คริสต์ นิกายออร์โธด็อกซ์ ร้อยละ 44
    สกุลเงิน เต็งเก (Tenge) (เริ่มใช้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536)
    อัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเหรียญสหรัฐฯ 1 เหรียญสหรัฐฯ = 146.37 เต็งเก (กรกฎาคม 2546)
    เวลา เขตตอนกลางของประเทศ เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 6 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมง)
    เขตตะวันออกของประเทศ (กรุงอัสทานา และเมืองอัลมาตี) เร็วกว่ามาตรฐาน GMT
    7 ชั่วโมง (เท่ากับเวลาในไทย)
    เขตตะวันตกของประเทศ เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง (ช้ากว่าไทย 2 ชั่วโมง)
    วันชาติ 16 ธันวาคม (วันประกาศเอกราชจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 2534)
    ภูมิอากาศ ทะเลทรายแบบภาคพื้นทวีป
    ฤดูหนาว หนาวจัด (ประมาณ -18 ถึง -30 องศาเซลเซียส)
    ฤดูร้อน ร้อนจัดและแห้ง (ประมาณ 20 ถึง 35 องศาเซลเซียส)
    ครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นทะเลทราย
    ระบบการเมือง ประธานาธิบดีเป็นประมุขและทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ
    ประมุข ประธานาธิบดี Nursultan A. Nazarbayev (ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2534 และได้รับการเลือกตั้งในสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2542 และได้แก้ไข
    รัฐธรรมนูญขยายเวลาการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีออกไปเป็นวาระละ 7 ปี)
    นายกรัฐมนตรี นาย Imangali Tasmegambetov (กุมภาพันธ์ 2545)
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Kassymzhomart K. Tokaev (กุมภาพันธ์ 2545)
    พรรคการเมือง พรรค People’s Congress of Kazakhstan (PCK)
    พรรค People’s Unity Party of Kazakhstan (SNEK)
    พรรค Popular Cooperation Party
    พรรค The Party of National Unity
    พรรค Democratic Party
    2. เศรษฐกิจ
    GDP 22.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    GDP per capita 5,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ (2544)
    GDP growth rate ร้อยละ 9.5 (2545)
    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 6.6 (2545)
    อัตราการว่างงาน ร้อยละ 8.3 (2545)
    Gross External Debt 16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2545)
    Foreign Exchange Reserves 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
    มูลค่าการส่งออก 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    สินค้าส่งออกสำคัญ น้ำมัน (40%), เหล็กและโลหะต่าง ๆ, เครื่องจักร, เคมีภัณฑ์, เมล็ดพืช,
    ฝ้าย, เนื้อสัตว์, ถ่านหิน
    ตลาดส่งออกสำคัญ สหภาพยุโรป 32%, จีน 29%, รัสเซีย 29%
    มูลค่าการนำเข้า 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2544)
    สินค้านำเข้าสำคัญ เครื่องจักรและชิ้นส่วน, วัตถุดิบทางอุตสาหกรรม, น้ำมันและก๊าซ,
    ยานพาหนะ
    แหล่งนำเข้าสำคัญ รัสเซีย 39%, เยอรมนี, จีน, อิตาลี, สหรัฐ, อุซเบกิสถาน, ตุรกี,
    สหราชอาณาจักร, ยูเครน, เกาหลีใต้
    อุตสาหกรรมหลัก น้ำมัน, ถ่านหิน, เหล็กและเหล็กกล้า, อุตสาหกรรมผลิตโลหะต่างๆ,
    รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรทางการเกษตร, มอเตอร์ไฟฟ้า, อุปกรณ์ก่อสร้าง

    การเมืองการปกครอง
    ภูมิหลังทางการเมือง
    สาธารณรัฐคาซัคสถานเป็นประเทศสุดท้ายที่ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1991 และเข้าร่วมกับกลุ่มเครือรัฐเอกราช (The Commonwealth of Independent States : CIS) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1991 รัฐบาลเคยริเริ่มโครงการ “Kazakhisation” (การส่งเสริมความเป็นชาตินิยมแบบคาซัค) โดยการย้ายคนรัสเซียที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อให้ชาวคาซัคเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน แม้ว่าบางครั้งจะมีคุณสมบัติที่ด้อยกว่าก็ตาม อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้รับการตอบสนองในทางลบจากรัฐบาลและหนังสือพิมพ์
    รัสเซีย ดังนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 โครงการ “Kazakhisation” ก็เริ่มผ่อนคลายลง โดยที่ภาษารัสเซียยังคงเป็นภาษาหลักของคาซัคสถาน และคนรัสเซียจำนวนมากยังดำรงตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล ส่วนความพยายามที่จะส่งเสริมให้เรียนภาษาคาซัคนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้ส่งเสริมอย่างจริงจังอีกต่อไป
    ในด้านการปกครองประเทศนั้น อำนาจที่แท้จริงอยู่ภายใต้ประธานาธิบดี Nursultan Nazarbayev
    อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตคาซัค นอกจากนั้น มีความพยายามเพิ่ม อำนาจให้ประธานาธิบดี โดยเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1995 มีการยุบรัฐสภาโดยอ้างว่าการเลือกตั้งรัฐสภา
    ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1994 เป็นการเลือกตั้งแบบไม่โปร่งใส ต่อมามีการจัดการหยั่งเสียงประชามติในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1995 ซึ่งส่งผลให้ประธานาธิบดี Nazarbayev สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 2000 นอกจากนั้น ในการหยั่งเสียงประชามติครั้งใหม่เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1995 เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเพิ่มอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีเป็นอย่างมาก การเลือกตั้งรัฐสภา เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995 มีการนำระบบ 2 สภามาใช้โดยประกอบด้วยสภาล่าง หรือ Mazhilis และสภาสูง หรือ Senate ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ในสภาก็ให้การสนับสนุนประธานาธิบดี Nazarbayev ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารส่วนใหญ่ขึ้นตรงต่อประธานาธิบดี
    ในระบบการเมืองของคาซัคสถานนั้น แม้ว่าจะเป็นระบบหลายพรรค และเปิดกว้างตามระบอบประชาธิปไตย แต่พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากนัก อำนาจทั้งหมดอยู่ที่ประธานาธิบดีเพียงผู้เดียวเท่านั้น
    เมื่อวันที่ 16 กันยายน ค.ศ.1991 รัฐบาลคาซัคสถานได้ให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของประธานาธิบดี Nazarbayev ที่จะย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตีไปยังเมืองอักโมลาทางตอนเหนือของคาซัคสถาน โดยเป็นที่
    เชื่อกันว่า เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการย้ายเมืองหลวงดังกล่าวได้แก่ ความต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้าน
    เชื้อชาติภายในคาซัคสถาน ระหว่างชนกลุ่มน้อยรัสเซียและชาวพื้นเมืองคาซัค โดยอักโมลาเป็นเมืองที่มี
    ประชากรเชื้อสายคาซัคและรัสเซียจำนวนเท่าๆกัน ในขณะที่อัลมาตีประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยรัสเซียเป็น
    ส่วนใหญ่ และประธานาธิบดี Nazarbayev ยังหวังให้เมืองอักโมลาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของประเทศแทน กรุงอัลมาตี ซึ่งมีประชากรหนาแน่นถึง 1.2 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลคาซัคสถานได้ทำการย้ายเมืองหลวงไปที่เมือง อักโมลาอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1997 และเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1998 ประธานาธิบดี Nazarbayev ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง “อักโมลา (Akmola)” ที่มีความหมายในทางลบว่า “หลุมฝังศพสีขาว” เป็น “อาสทานา (Astana)” ที่มีความหมายว่า “เมืองหลวง”
    ในปี ค.ศ. 1997 ประธานาธิบดี Nazarbaev ได้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี โดยจัดแบ่งโครงสร้างกระทรวงเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ได้แก่ การยุบกระทรวงเศรษฐ-สัมพันธ์ กระทรวงการค้า และกระทรวงอุตสาหกรรม มาเป็นกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม การแยกกระทรวงเชื้อเพลิงและพลังงานออกเป็นกระทรวงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกระทรวงพลังงานและถ่านหิน สุดท้ายคือ การรวมกรมกองที่เกี่ยวข้องมาจัดตั้งเป็นกระทรวงคมนาคม

    สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน
    เมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1999 คาซัคสถานได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งนาย Nazarbayev
    ก็ได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่ 2 ตามความคาดหมาย โดยมีวาระ 7 ปี ประธานาธิบดี Nazarbayev มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำของประเทศในเครือรัฐเอกราช นอกจากนี้ ประชาชนชาวคาซัคส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กล่าวโทษนาย Nazarbayev สำหรับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่กลับชื่นชมนาย Nazarbayev ที่สามารถนำสันติภาพมาสู่คาซัคสถานในขณะที่ประเทศ CIS อื่นๆ ประสบปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ และตามรัฐธรรมนูญ
    คาซัคสถาน ซึ่งรัฐสภาลงมติแก้ไขเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1998 บุคคลคนเดียวกันสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้มากกว่า 2 สมัย ฉะนั้น นาย Nazarbayev น่าจะรักษาอำนาจทางการเมืองในคาซัคสถานไว้ได้อีกนาน
    คาซัคสถานจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (Senate) ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1999 และจะจัดการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (Mazhilis) ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1999 โดยองค์การความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (OSCE) ได้จัดส่งคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งประมาณ 200 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย
    เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 นายกรัฐมนตรี Kasymzhomart Tokayev ลาออก ยังผลให้คณะ
    รัฐมนตรีสิ้นสุดลง และประธานาธิบดี Nazarbayev ได้แต่งตั้ง นาย Imangali Tasmegambetov อายุ 45 ปี อดีตผู้ว่าการรัฐ Arytau เป็นนายกรัฐมนตรี

    4. นโยบายต่างประเทศ
    รัฐบาลคาซัคสถานมีนโยบายเป็นมิตรที่ดีกับรัสเซีย เนื่องจากต้องพึ่งพารัสเซียในเรื่องท่อขนส่งน้ำมันจากทะเลสาปแคสเปียนไปยังประเทศตะวันตกโดยผ่านเมืองท่าของรัสเซีย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการก่อให้เกิดภาพลักษณ์ของการเป็นบริวารของรัสเซีย ดังจะเห็นได้จากการให้การปฏิบัติอย่างดีต่อคนรัสเซียที่อยู่ในคาซัคสถาน และให้เข้ามามีส่วนร่วมโครงการน้ำมันและก๊าซกับประเทศตะวันตก แต่ไม่ให้ถือสองสัญชาติ ส่วนรัสเซียนั้น ต้องการเป็นมิตรกับคาซัคสถานเนื่องจากต้องการความมั่นใจว่าชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซียจะได้รับการปฏิบัติที่ดี ต้องการให้คาซัคสถานเป็นประเทศกันชนให้รัสเซียกับกลุ่มชาตินิยมอิสลามทางตอนใต้ และต้องการรักษาผลประโยชน์ในธุรกิจน้ำมันของคาซัคสถานไว้สำหรับบริษัทของชาวรัสเซีย
    ในด้านความสัมพันธ์กับกลุ่มอนุภูมิภาคเอเชียกลาง คาซัคสถานมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศเอเชียกลาง เนื่องจากนับถือศาสนาอิสลามและมีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากศาสนาอิสลามเช่นเดียวกัน ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1994 คาซัคสถานเป็นผู้จัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจเอเชียกลาง (Central Asian Economic Union : CAEU) ร่วมกับอุซเบกิสถานและคีร์กิซ ซึ่งเป็นความพยายามของ 5 ประเทศเอเชียกลางที่จะให้มีความร่วมมือในระดับภูมิภาค แต่ในทางปฏิบัติ CAEU ไม่ค่อยได้ผลมากนัก เนื่องจากคาซัคสถานและคีร์กิซพยายามต่อต้านความทะเยอทะยานของอุซเบกิสถานที่มีความต้องการเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้ อย่างไร
    ก็ตาม เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1998 ประธานาธิบดี Nazarbayev ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีของกลุ่มประเทศเอเชียกลางอีก 4 ประเทศ ประกาศเจตนารมณ์ที่จะให้ลดการพึ่งพิงรัสเซีย โดยหันมาร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียกลางให้มากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง
    สำหรับความสัมพันธ์กับกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) คาซัคสถานพยายามผลักดันให้มีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจภายในกลุ่ม CIS และประธานาธิบดี Nazarbayev ได้เรียกร้องให้มีการสร้างสหภาพยูเรเซียโดยต้องการให้มีการฟื้นฟูสหภาพโซเวียตที่ปราศจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ขึ้นมา ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1995 คาซัคสถานได้ร่วมมือกับรัสเซีย เบลารุสและคีร์กิซ ลงนามในสนธิสัญญา Treaty of Four เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกันอีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเครือรัฐ เอกราชให้แน่นแฟ้นขึ้นในอีกระดับหนึ่ง และได้เข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace ของนาโต้ ภายหลังจากที่รัสเซียตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวแล้ว
    ส่วนความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่าคาซัคสถานจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกา
    เนื่องจากคาซัคสถานต้องการที่จะลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและระบอบ
    ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลาง ทำให้คาซัคสถานถูกกดดันในเรื่องนี้ด้วย และแม้ว่าอเมริกาจะมีผลประโยชน์
    ทางธุรกิจจำนวนมากในคาซัคสถาน แต่นักการทูตอเมริกันกลับชื่นชอบผู้นำของอุซเบกิสถาน คือนาย Islam
    Karimov มากกว่า เนื่องจากคาซัคสถานมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับอิหร่าน อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด
    กับรัสเซีย
    ด้านความสัมพันธ์กับจีนนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ ในปี ค.ศ. 1994 คาซัคสถานกับจีนตกลงยุติปัญหา
    ชายแดนตาม Treaty of St. Petersburg ที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1996
    มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการเสริมสร้างความไว้วางใจทางทหารบริเวณชายแดน (Agreement on Confidence-Building Measures in the Military Field in the Border Area) กับจีน รัสเซีย ทาจิกิสถาน และคีร์กิซ
    เพื่อสร้าง ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยกัน โดยมีเป้าหมายที่จะลดกำลังพล
    ภายในรัศมี 100 กิโลเมตร จากพรมแดนของประเทศ CIS กับจีน ซึ่งกำหนดให้มีกำลังพลในเขตดังกล่าวได้
    ไม่เกิน 130,400 คน

    5. กำลังทหาร
    แม้ว่าคาซัคสถานจะถูกระบุว่าเป็นประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ระหว่างปี ค.ศ. 1992-1995
    แต่ในทางปฏิบัติ รัสเซียเป็นประเทศผู้ควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่แท้จริงในช่วงเวลานั้น เมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ.1995 คาซัคสถานสามารถกำจัดขีปนาวุธนิวเคลียร์ หัวอาวุธที่ใช้ในการรบจริงๆ และเครื่องบินทิ้งระเบิด
    ในปัจจุบัน คาซัคสถานมีกำลังทหาร 40,000 คน แบ่งเป็นกองทัพบก 25,000 คน และกองทัพ
    อากาศ 15,000 คน แต่คาซัคสถานไม่มีกองทัพเรือเนื่องจากเป็นประเทศ Land-locked

    เศรษฐกิจการค้า
    6. โครงสร้างทางเศรษฐกิจ
    คาซัคสถานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต
    มีทรัพยากรที่สำคัญเป็นจำนวนมาก เช่น น้ำมันดิบ แร่ธาตุต่าง ๆ ตลอดจนยังมีขีดความสามารถทางการเกษตรอันเนื่องมาจากพื้นที่สำหรับเพาะปลูกและทำปศุสัตว์ที่กว้างขวาง ก่อนปี ค.ศ. 1990 ระบบเศรษฐกิจ คาซัคสถานเป็นส่วนหนึ่งของระบบการแบ่งการผลิตของสหภาพโซเวียต โดยถูกกำหนดให้มีความชำนาญด้านเกษตรกรรม (ตามโครงการ Khrushchev Virgin Lands) สำหรับอุตสาหกรรมหลักของคาซัคสถานขึ้นอยู่กับการขุดเจาะน้ำมันและการทำเหมืองแร่ การผสมโลหะ และการสกัดแร่ธาตุ ตลอดจนการผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ เช่น เครื่องมือก่อสร้าง รถแทรกเตอร์ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร
    ภายหลังการสลายตัวของสหภาพโซเวียต ความต้องการสินค้าเครื่องจักรกลหนักซึ่งเป็นสินค้าหลักของคาซัคสถานได้ลดลง ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมากระหว่างปี ค.ศ. 1991-1994 อัตราเงินเฟ้อสูงและมูลค่า Real GDP ลดลงมากกว่าร้อยละ 5 ระหว่างปี ค.ศ. 1995-1997 รัฐบาลคาซัคสถานได้ทำการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างรวดเร็วส่งผลให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ตกสู่ภาคเอกชน อัตราการเจริญเติบโตของประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น
    ในปี ค.ศ. 1996 คาซัคสถานได้เข้าร่วมเป็นภาคีความร่วมมือก่อสร้างท่อส่งน้ำมันในทะเลสาบ
    แคสเปียน ซึ่งส่งผลให้คาซัคสถานสามารถส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1998 สภาวะการตกต่ำของ
    ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของคาซัคสถานตกต่ำลงชั่วขณะ แต่หลังจากปี ค.ศ. 1999 ราคาน้ำมันได้ถีบตัวสูงขึ้น ประกอบกับการลดค่าเงินตราที่ถูกจังหวะ และการเกษตรที่ได้ผลดี ทำให้ภาวะเศรษฐกิจคาซัคสถานเจริญเติบโตพ้นจากสภาวะการตกต่ำ

    ภาคเกษตรกรรม
    เกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นหนึ่งในสามของการส่งออก หรือ ร้อยละ 20-25 ของแรงงานภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตหลักได้แก่ เมล็ดพันธุ์พืช แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่
    ไม่แน่นอนและการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ทำให้การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์พืชที่เคยสูงสุดในปี ค.ศ. 1992 กลับตกต่ำที่สุดในปี ค.ศ. 1995 และการผลิตภาคการเกษตรซึ่งเคยมีส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติ
    ร้อยละ 23 ในปี ค.ศ. 1992 กลับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ในปี ค.ศ. 2000
    ส่วนภาคการบริการที่ถูกละเลยภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ กลับมีการขยายตัวขึ้นอย่างเห็น
    ได้ชัดนับแต่ได้รับเอกราช ส่วนด้านการค้า ที่อยู่อาศัย และการคมนาคม ก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน สำหรับการลงทุนนั้นมีมูลค่าร้อยละ 19 ของ GDP โดยหนึ่งในสี่ของการลงทุนนั้น มาจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและโลหะ

    การครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน
    การโอนธุรกิจที่ดินให้เป็นของภาคเอกชนดำเนินไปอย่างช้าๆ และรัฐบาลอนุญาตให้ชาว คาซัคเท่านั้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเกษตรกรรมได้ ในกรณีที่ชาวต่างชาติและประชาชนทั่วไปต้องการ ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอื่นๆ จะต้องมีบ้านหรือทรัพย์สินอยู่บนที่ดินผืนนั้น ส่วนที่ดินนอกเหนือจากนั้นถูกครอบครองโดยภาครัฐ

    การปฏิรูปเศรษฐกิจ
    ประธานาธิบดี NAZARBAYEV ได้นำความล้มเหลวและข้อผิดพลาดของการปฏิรูปเศรษฐกิจในยุโรปตะวันออกมาเป็นพื้นฐานในการกำหนดนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการเร่งสร้างระบบเศรษฐกิจแบบตะวันตก ด้วยการปฏิเสธบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจและนำ กลไกตลาดมาใช้ทันทีโดยมิได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับการพัฒนาของระบบอย่าง สอดคล้องกันเสียก่อน ด้วยเหตุนี้ คาซัคสถานจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินบทบาทของรัฐในการควบคุม การผลิต การหมุนเวียนเงินทุน และการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศต่อไป พร้อมทั้ง ผสมผสานกลไกของรัฐและกลไกตลาดเข้าด้วยกัน
    สภาพเศรษฐกิจของคาซัคสถานกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาไปสู่ระบบการตลาดแบบเสรี ในปี ค.ศ. 1996 คาซัคสถานเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น สังเกตได้จากอัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคลดลงเหลือเพียงร้อยละ 39.1 ในปี ค.ศ. 1996 เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1995 ที่มีอัตราร้อยละ 175
    และปี ค.ศ. 1994 ที่มีอัตราถึงร้อยละ 1,900 ส่วนอัตราการว่างงานนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ยังมีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตเหล็กและเหมืองแร่ยังตกต่ำอยู่ เพราะขาดแคลนเงินทุนและปัจจัยในการผลิต ทำให้มีส่วนเกินของแรงงานและประสิทธิภาพ ส่วนทางภาคเกษตรกรรมนั้น ผลผลิตก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดหมายกันไว้
    การลงทุนขุดเจาะน้ำมันที่บ่อน้ำมัน Tengiz ของคาซัคสถาน ซึ่งรัฐบาลคาซัคสถานลงทุนร่วมกับบริษัท Chevron ของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของรัสเซียที่จะจำกัดการส่งออกน้ำมันของคาซัคสถานผ่านท่อส่งน้ำมันของตน โดยล่าสุด บ่อน้ำมัน Tengiz สามารถส่งออกน้ำมันได้เพียง 880,000
    บาร์เรลต่อเดือนเท่านั้น ในขณะที่เป้าหมายการผลิตในปี ค.ศ. 1997 คือ 30,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม รัสเซีย คาซัคสถาน ตุรกี อาเซอร์ไบจาน และสหรัฐฯ ก็ได้ร่วมกันหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกน้ำมันผ่านท่อของประเทศต่าง ๆ ของคาซัคสถานแล้ว เนื่องจากคาซัคสถานมีโครงการสร้างท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซผ่าน
    รัสเซีย ไปยังชายฝั่งทะเลดำ โดยได้เริ่มดำเนินการในปี ค.ศ. 1998 และจะสิ้นสุดโครงการภายในสิ้นปี ค.ศ. 2000 แต่เส้นทางที่ท่อส่งน้ำมันและก๊าซผ่านนั้น เป็นประเทศคู่แข่งทางด้านนี้กับคาซัคสถานทั้งสิ้น อาทิ
    อาเซอร์ไบจาน อิหร่าน และรัสเซีย และต้นทุนของการสร้างท่อก็มีราคาแพง ซึ่งในระยะยาวแล้วคาซัคสถาน
    จะต้องให้ความคุ้มครองแก่เส้นทางของท่อส่งออกน้ำมันและก๊าซทั้งด้านการค้าและการเมือง
    เท่าที่ผ่านมา ประเทศที่ดูจะประสบความสำเร็จมากที่สุดในการดำเนินธุรกิจน้ำมันกับ คาซัคสถาน ได้แก่ ตุรกี ซึ่งบรรลุข้อตกลงกับคาซัคสถานที่จะร่วมกันพัฒนาบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใน คาซัคสถานถึง 7 แห่ง โดยตุรกีจะได้รับส่วนแบ่งเป็นน้ำมันจำนวน 2.1 พันล้านบาร์เรลและก๊าซธรรมชาติจำนวน 208.9 พันล้านลูกบาศก์เมตร
    สำหรับการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ คาซัคสถานจะต้องแก้ปัญหาคอรัปชั่นและปัญหาความไม่โปร่งใสของการลงทุน ซึ่งพบอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะการครอบครองด้านเศรษฐกิจโดยกลุ่มผู้จัดการน้ำมันที่มีอำนาจทางการเมือง จะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีน้อยลง

    สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
    ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจของรัสเซีย คาซัคสถานได้รับการกล่าวถึงจากนานาชาติค่อนข้างดี ในแง่ของความพยายามและผลของการพัฒนาประเทศ แต่โดยที่รัสเซียเป็นประเทศคู่ค้าหลักของคาซัคสถาน จึงทำให้คาซัคสถานได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ด้วย โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1999 รัฐบาลและธนาคารชาติคาซัคสถานได้ประกาศจะยุติการแทรกแซงเพื่อพยุงอัตราการแลกเปลี่ยนของเงินเต็งเก (Tenge) และปล่อยค่าเงินลอยตัว เพื่อให้สินค้าของคาซัคสถานสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นที่ได้ลดค่าเงินในตลาดโลกได้ ทั้งนี้ ค่าเงินเต็งเกอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ 88 เต็งเก ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1999 จนปัจจุบันเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2003 อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 146.37 เต็งเก
    อย่างไรก็ดี คาซัคสถานได้พัฒนาระบบการเงินการธนาคารเป็นอย่างมาก รวมทั้งมีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเงิน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2000 คาซัคสถานเป็นประเทศแรกของอดีตสหภาพโซเวียตที่สามารถจ่ายชำระหนี้คืนแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ล่วงหน้าก่อนกำหนดถึง 7 ปี และในปี ค.ศ. 2002 ได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในด้านการวางแผนระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีและระบบการคลังมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
    น้ำมันและแก๊ซธรรมชาติยังคงเป็นอุตาหกรรมหลักที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศ ทั้งนี้ มีการพิสูจน์แล้วว่าคาซัคสถานเป็นแหล่งสำรองน้ำมันของโลกร้อยละ 2.5 และจะสามารถผลิตน้ำมันได้วันละ 3 ล้านบาเรลภายในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งจะทำให้คาซัคสถานอยู่ในกลุ่ม 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันของโลก

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐคาซัคสถาน
    ความสัมพันธ์ทางการทูต
    ประเทศไทยได้ประกาศรับรองความเป็นเอกราชของคาซัคสถานเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2534 และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2535 และได้มอบหมายให้สถานเอกอัคร-ราชทูต ณ กรุงมอสโก มีเขตอาณาครอบคลุมคาซัคสถาน และให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำคาซัคสถานด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาในปี 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้มีการปรับเปลี่ยนเขตอาณาของกลุ่มประเทศเอเชียกลางที่อยู่ในความดูแลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก โดยจะแต่งตั้งเอกอัครราชทูตผู้มีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพฯ เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มดูแลประเทศเอเชียกลาง 4 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน ทาจิกิสถาน คีร์กิซ และอุซเบกิสถาน อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ กระทรวงต่างประเทศ ยังมิได้พิจารณาแต่งตั้งผู้ใดเป็นเอกอัครราชทูตประจำคาซัคสถานอย่างเป็นทางการ และได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดูแลคาซัคสถานอย่างไม่เป็นทางการ
    สำหรับฝ่ายคาซัคสถานได้ทำการเปิดสถานเอกอัครราชทูตคาซัคสถานประจำประเทศไทย โดยปัจจุบัน
    มีนาย Rashit Rakhimbekov ดำรงตำแหน่งอุปทูตฯ
    ปัจจุบันรัฐบาลไทยอนุญาตให้บุคคลสัญชาติคาซัคเข้ามาขอรับการตรวจลงตราประเภท Visa on Arrival (พำนักในประเทศไทยได้ 15 วัน) ได้ที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศในประเทศไทย

    2. ความสัมพันธ์ทางการเมือง
    เมื่อปี 2536 ประธานาธิบดี Nursultan A. Nazarbayez แห่งคาซัคสถานได้เสนอแนวความคิดให้จัดการประชุมว่าด้วยการแสวงหามาตรการเสริมสร้างความมั่นใจในเอเชีย (Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia : CICA) โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาสันติภาพและมาตรการ
    เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจร่วมกันในเอเชีย ปัจจุบัน CICA มีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ โดยคาซัคสถานได้แสดงความประสงค์จะให้ไทยเข้าร่วมในฐานะสมาชิก ซึ่งฝ่ายไทยก็ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
    ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุผลของการธำรงไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่ดีต่อกันมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว สำหรับประเทศในเอเชียที่เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์นอกจากไทย มี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินโดนีเซียและกัมพูชา ส่วนจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม และอินเดีย เป็นสมาชิกองค์การฯ
    นอกจากนี้ ฝ่ายคาซัคสถานก็แสดงความสนใจที่จะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยความมั่นคงระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ARF) ในฐานะผู้สังเกตการณ์หลังจากที่ได้มีการประชุมครั้งแรก
    ในประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2537 โดยการประชุมในทั้งสองเวทีนี้มีลักษณะเสริมซึ่งกันและกันและ
    จะส่งผลให้ประเทศในเอเชียมีเวทีที่จะหารือปัญหาทางการเมืองระหว่างกันได้มากขึ้น อีกทั้งขอให้ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้การสนับสนุนคาซัคสถาน
    ในการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวทีการประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APEC) อีกทั้งคาซัคสถานยังได้ร่วมกับประเทศเอเชียกลางอีก 4 ประเทศ เสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติ
    เกี่ยวกับการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียกลางและขอรับการสนับสนุนจากไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย ซึ่งไทยพร้อมที่จะพิจารณาให้การสนับสนุนและร่วมมือกับคาซัคสถาน
    และในโอกาสที่ประเทศไทยได้ริเริ่มแนวคิดความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperative Dialog - ACD) และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือเอเชียครั้งที่ 1 ขึ้นในเดือนมิถุนายน 2545 ฝ่ายคาซัคสถานได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในเวทีความร่วมมือดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
    คาซัคสถาน ได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายไทยถึงความประสงค์ของคาซัคสถานในการเข้าร่วม ACD ซึ่งในเรื่องนี้
    ไทยเห็นว่าคาซัคสถานเป็นประเทศที่มีบทบาทและความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย และในระหว่างการประชุม รัฐมนตรี ACD เมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน 2546 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมฯ ได้ให้การสนับสนุนอย่างเป็น เอกฉันท์ในการรับคาซัคสถานเข้าเป็นสมาชิก ACD

    3. ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
    3.1 การค้าทวิภาคี
    คาซัคสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) และมีศักยภาพมาก เนื่องจากมีจำนวนประชากร 16.7 ล้านคน ซึ่งมากเป็นอันดับที่สี่ รองจากสหพันธรัฐรัสเซีย ยูเครน และ
    สาธารณรัฐอุซเบกิซสถาน อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าระหว่างไทยและคาซัคสถานยังมีมูลค่าไม่มากนัก
    เนื่องจากสินค้ามีการกระจายตัว และเพิ่งจะเริ่มมีการค้าระหว่างกันเมื่อปี 2538
    มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยกับคาซัคสถานในแต่ละปี มีความไม่แน่นอน โดยในปี 2541 การค้ารวมมีมูลค่า 11.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้เพิ่มขึ้นเป็น 65.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2542 อย่างไรก็ตาม ในปี 2543 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 46.6 ล้านดอลลร์สหรัฐ ต่อมาในปี 2544 การค้าสองฝ่ายกลับลดลงเหลือแค่เพียง 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้าตลอดมา เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศจำนวนมาก สำหรับปี 2545 การค้ารวมมีมูลค่า 29.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้าจากคาซัคสถานเป็นมูลค่า 25.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกไปยังคาซัคสถานเป็นมูลค่า 4.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เนื่องจากไทยได้ใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมการทุ่มตลาดเหล็กไทยนำเข้าจาก
    คาซัคสถาน จึงทำให้ปริมาณการนำเข้าลดลงอย่างมาก ในขณะที่การส่งออกของไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่าง
    ต่อเนื่อง สำหรับใน 5 เดือนแรกของปี 2546 มีมูลค่าระหว่างกันทั้งสิ้น 11.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ
    50.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2545





    มูลค่าการค้าไทย-คาซัคสถาน
    หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    รายการ 2540 2541
    2542 2543 2544 2545 2546
    (มค-พค.)
    มูลค่าการค้า 68.0 11.8 65.5 46.6 8.8 29.3 17.4
    สินค้าออก 1.2 0.4 0.6 1.3 2.2 4.0 2.0
    สินค้าเข้า 66.8 11.4 64.8 45.3 6.6 25.3 15.4
    ดุลการค้า -65.7 -11.0 -64.2 -44.0 -4.4 -21.3 -13.4
    ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร

    สินค้าที่ไทยส่งออกไปคาซัคสถาน
    เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ตู้เย็นตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคหะสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ

    สินค้าที่ไทยนำเข้าจากคาซัคสถาน
    เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เหล็กและเหล็กกล้า แร่ดิบ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด แก้วและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา

    3.2 การลงทุน
    - ปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนของคาซัคสถานในประเทศไทย อนึ่ง สาขาของอุตสาหกรรมที่ คาซัคสถานน่าจะมาลงทุนในไทยได้ คือ การประกอบเครื่องจักรเกษตรกรรม อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมเหล็ก
    - สาขาของอุตสาหกรรมที่ไทยอาจพิจารณาไปลงทุนในคาซัคสถานได้ คือ การผลิตเครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูปกระป๋อง เครื่องหนังซึ่งคาซัคสถานมีการส่งออกหนังดิบจำนวนมาก รวมทั้งการผลิตเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องประดับและอัญมณี ตลอดจนการส่งเสริมให้ผู้รับเหมาก่อสร้างไปร่วมลงทุนด้านก่อสร้างกับบริษัทต่างชาติในประเทศคาซัคสถานในลักษณะ sub-contract ในโครงการก่อสร้างต่างๆ และส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานด้านทักษะฝีมือในคาซัคสถาน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานไทยในคาซัคสถานจำนวน 95 คน โดย 79 คน จากจำนวนดังกล่าวทำงานในภาคบริการ
    - แหล่งน้ำมันในคาซัคสถานเป็นแหล่งน้ำมันในสหภาพโซเวียตเดิมที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 รอง
    จากภาคพื้นไซบีเรีย (อูเรนบูร์ก) ของรัสเซีย และมีปริมาณการขุดเจาะในเชิงพาณิชย์ เป็น
    อันดับ 3 รองจากแหล่งน้ำมันที่เมืองอูเรนบูร์ก และบากู (ในอาเซอร์ไบจาน) ปัจจุบัน
    บริษัท Chevron ของสหรัฐฯ ได้รับสัมปทานการพัฒนาและขุดเจาะบ่อน้ำมัน Tengiz ทาง
    ตอนเหนือของทะเลสาบแคสเปียน ซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองประมาณ 3.41 พันล้านตัน
    และเชื่อกันว่า จะกลายเป็นแหล่งน้ำมันที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งนอกจากแหล่งน้ำมันในอ่าว
    เปอร์เซีย
    - รัฐบาลคาซัคสถานมีการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนดังต่อไปนี้
    1. ออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนและการดำเนินธุรกิจเสรี
    2. ออกกฎหมายลดความซับซ้อนของระบบการจัดเก็บภาษีที่เรียกเก็บเดิมจาก 45
    ประเภท เหลือเพียง 11 ประเภท และกำหนดภาษีธุรกิจในอัตราเดียวร้อยละ 30 และ
    ภาษีส่วนบุคคลไม่เกินร้อยละ 40
    3. ออกกฎหมายที่ให้หลักประกันว่าจะไม่มีการริบทรัพย์สิน หรือจะไม่มีผลกระทบทางลบ
    จากการเมืองต่อการลงทุน และนักลงทุนต่างชาติจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
    กับนักลงทุนท้องถิ่น

    4. การท่องเที่ยว
    ด้วยสิ่งดึงดูดใจคือ ความงดงามของธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และอารยธรรมของชาวมุสลิม
    คาซัคสถานจึงอาจเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของชาวไทยในอนาคต ในทางกลับกัน เมื่อคำนึงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของคาซัคสถาน ประกอบกับความตั้งใจของผู้นำประเทศที่จะสร้างความ
    รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแล้ว คาซัคสถานมีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในเอเชียกลางได้ และชาวคาซัคซึ่งมีกำลังซื้อสูงขึ้นอาจเดินทางออกมาท่องเที่ยวนอกประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเดินทางมา ยังประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยและคาซัคสถานได้เปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ - กรุงอัลมาตี สัปดาห์ละ 1 เที่ยว ในช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน-มีนาคม) โดยสายการบิน Air Kazakh โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 6 ชั่วโมงครึ่ง โดยนักท่องเที่ยวจากกลุ่มเครือรัฐเอกราชเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวดีมาก และสถิตินักท่องเที่ยวชาวคาซัค 10 เดือนแรกของในปี 2545 มีจำนวน 3,285 คน เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 2544 ซึ่งมีจำนวน 2,896 คน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.43

    6. กลไกของการดำเนินความสัมพันธ์
    ในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีคาซัคสถานระหว่างวันที่ 20 - 23 กรกฎาคม 2536 ไทยและคาซัคสถานได้ลงนามในความตกลงเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วย
    ความร่วมมือทวิภาคีไทย-คาซัคสถาน (Joint Commission) ขึ้นเพื่อเป็นกรอบในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วยการปรึกษาหารือและร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมในสาขาที่ประเทศทั้งสองมีผลประโยชน์
    ร่วมกัน และระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2546 ดร. ประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-
    คาซัคสถาน ครั้งที่ 1 ที่ กรุงอัสทานา

    7. ความตกลงทวิภาคีต่างๆ
    ความตกลงที่จัดทำแล้ว
    - ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-
    คาซัคสถาน (21 กรกฎาคม 2536)
    - ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศไทย-คาซัคสถาน ลงนามเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2539
    ความตกลงที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
    - ร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไทย-คาซัคสถาน ฝ่ายคาซัคสถานเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณา ขณะนี้อยู่ในความดูแลของกรมเศรษฐกิจ
    - ร่างอนุสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการจัดเก็บภาษีซ้อน ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ทุก
    ตัวบท และกรมเศรษฐกิจจะนำขึ้นขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะจัดให้มีการลงนามในโอกาสแรกต่อไป
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการต่อต้านการค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ทางประสาท ฝ่ายคาซัคสถานเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาเมื่อปี 2543 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ได้พิจารณาร่างโต้ตอบเป็นลักษณะบันทึกความ
    เข้าใจ จัดส่งให้กระทรวงฯ พิจารณาแล้ว และได้จัดส่งให้ฝ่ายคาซัคสถานพิจารณาต่อไป
    - ความตกลงความร่วมมือป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ฝ่ายคาซัคสถานเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาเมื่อปี 2543 แต่ฝ่ายไทยเห็นควรให้มีความร่วมมือระหว่างกันภายใต้กรอบของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยอาชญากรรม
    ข้ามชาติต่อไป
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านศุลกากร ฝ่ายคาซัคสถานเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณา
    เมื่อปี 2543 กรมสนธิสัญญาฯ ได้หารือกับกรมศุลกากรแล้ว เห็นว่าเนื้อหาของความตกลง
    อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือทางอาญา จึงเสนอให้ฝ่ายคาซัคสถานพิจารณาหากจะจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางอาญากับไทยแทนความตกลงด้านศุลกากร
    - ความร่วมมือระดับทวิภาคีทางด้านกีฬา ฝ่ายคาซัคสถานเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาเมื่อปี 2543 ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของฝ่ายคาซัคสถาน
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงการเกษตรคาซัคสถาน ว่าด้วยความร่วมมือด้าน Sanitary และ Phytosanitary ฝ่ายไทยเสนอในระหว่างการประชุม JC ไทย-คาซัคสถาน ครั้งที่ 1 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของฝ่ายคาซัคสถาน
    - ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าไทยกับสหภาพหอการค้า
    คาซัคสถาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทย

    8. การแลกเปลี่ยนการเยือน
    - เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก เดินทางเยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการ 4 ครั้ง ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 20 - 24 ตุลาคม 2534 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 3 - 7 พฤษภาคม 2536 ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 11 - 16 กันยายน 2537 และครั้งล่าสุดระหว่างวันที่ 1 - 4 พฤษภาคม 2539
    - คณะผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนของไทย นำโดยอธิบดีกรมยุโรป เดินทางเยือนกรุงอัลมาตี (เดิมชื่อ อัลมาอาตา) ระหว่างวันที่ 6 - 12 กรกฎาคม 2535
    - อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมงานมหกรรมดนตรีที่กรุงอัลมาตี ระหว่างวันที่ 1 - 3 กันยายน 2535
    - คณะผู้สื่อข่าวของไทยเข้าร่วมการประชุมเรื่อง เสรีภาพของผู้สื่อข่าว ที่กรุงอัลมาตี เมื่อเดือนกันยายน 2535
    - สถานเอกอัครราชทูตฯ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญของ Conference on Interaction and Confidence-Building Measures in Asia ที่กรุงอัลมาตี ระหว่างวันที่ 29 - 31 มีนาคม 2536 ระหว่างวันที่ 1 - 2 กันยายน 2536 และระหว่างวันที่ 27 - 28 ตุลาคม 2537
    - คณะผู้แทนจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเยือนคาซัคสถานเพื่อศึกษาลู่ทางการค้าน้ำมันและร่วมลงทุนในกิจการน้ำมัน ระหว่างวันที่ 3 - 7 พฤษภาคม 2536
    - ประธานาธิบดีคาซัคสถานเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (official visit) ระหว่างวันที่ 20 - 23 กรกฎาคม 2536
    - ฯพณฯ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนภาครัฐบาลและเอกชนไทยเดินทางเยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของ
    รัฐบาล (official visit) ระหว่างวันที่ 12 - 14 กันยายน 2536
    - รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการภูมิภาค นำคณะผู้แทนกระทรวงการ
    ต่างประเทศเดินทางเยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการเพื่อแสวงหาลู่ทางกระชับความสัมพันธ์ และสำรวจลู่ทางการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศเอเชียกลางเพื่อดูแล
    กลุ่มประเทศเอเชียกลางทั้งหมด ระหว่างวันที่ 25 - 27 สิงหาคม 2537
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานได้มีหนังสือเชิญ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการฯ เยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งหลังของปี 2539 แต่เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี จึงขอให้ฝ่ายคาซัคสถานมีหนังสือเชิญมาอีกครั้ง
    - นาย K.K. Tokayev รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานเข้าเยี่ยมคารวะ
    และหารือประเด็นทวิภาคีกับ ฯพณฯ นายประจวบ ไชยสาส์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ
    ต่างประเทศ ในโอกาส มาเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ 53 ระหว่างวันที่ 23 - 30 เมษายน 2540
    - นาย Erlan Idrissov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือประเด็นทวิภาคีกับ ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ในโอกาสมาเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 23 - 28 เมษายน 2542
    - นาย Erlan Idrissov รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานเดินทางผ่านประเทศไทย และได้พบหารือกับที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2545
    - นาย Dulat O. Kuanyshev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถาน เข้าพบและหารือประเด็นทวิภาคีกับ ดร. ประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ ในโอกาสมาเข้าร่วมการประชุม ESCAP ครั้งที่ 58 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545
    - ดร. ประชา คุณะเกษม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ นำคณะผู้แทนไทย ไปประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-คาซัคสถาน ครั้งที่ 1 ระหว่าง 21-23 ตุลาคม 2545 ณ กรุงอัสทานา
    - เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ในฐานะผู้แทนพิเศษ (Special Envoy) ของรัฐบาลไทย เดินทางเยือนคาซัคสถานระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม 2546 เพื่อเตรียมการเยือนคาซัคสถานอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

    --------------------------------------------
    กรมยุโรป
    กรกฎาคม 2546

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×