ลำดับตอนที่ #21
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #21 : สาธารณรัฐไอซ์แลนด์
|
|
Republic of Iceland |
ข้อมูลทั่วไป |
ขนาด 103,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 39,769 ตารางไมล์
ภูมิอากาศ ไอซ์แลนด์ตั้งอยู่ในเขตโอเชียนิก (Oceanic Zone) มีฤดูร้อนที่สั้นและเย็น มีฤดูหนาวที่ยาวนานแต่ไม่หนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมเดือนที่ร้อนที่สุดประมาณ 11 องศาเซลเซียส และในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่หนาวที่สุดประมาณ -1 องศาเซลเซียล ไอซ์แลนด์มีน้ำพุร้อนและมีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่านจึงทำให้ไม่หนาวจนเกินไปและโดยที่ไอซ์แลนด์มีพื้นที่ไม่กว้างใหญ่นัก อุณหภูมิภายในประเทศจึงไม่แตกต่างกันมาก
ประชากร ประมาณ 280,000 คน
เมืองหลวง กรุงเรคยาวิก (Reykjavik)
ภาษา ไอซ์แลนดิก (Icelandic) เป็นภาษาราชการ
ศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่ (93 %) นับถือศาสนาคริสต์ นิกาย Evangelical Lutheran Church
มาตราวัด ใช้ระบบเมตริก
เงินตรา ใช้สกุลเงินโครนไอซ์แลนด์ (Icelandic Kronur - ISK) โดย 100 aurar = 1 Icelandic Kronur อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 72 โครนไอซ์แลนด์ และ 1 โครนไอซ์แลนด์ ประมาณ 0.60 บาท
การปกครอง ระบบประชาธิปไตย (สาธารณรัฐ) โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 7 เขต โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ (อยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง) และประธานาธิบดี จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารประเทศโดยรับผิดชอบอำนาจบริหารร่วมกัน ส่วนอำนาจนิติบัญญัตินั้นมี Althingi (รัฐสภา) เป็นสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกสภา 63 คน ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี
ประธานาธิบดี นาย Olafur Ragnar Grimsson (1 สิงหาคม 2539 (ค.ศ. 1996))
นายกรัฐมนตรี นาย Geir H. Haarde (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาง Valgerdur Sverrisdottir (ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชาชาติต่อหัว 31,900 ดอลลาร์สหรัฐ
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 5.2
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 2.8 (จำนวนแรงงาน 159,000 คน)
งบประมาณ เกินดุล 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้/รายจ่าย 3.5 และ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดุลการค้า เกินดุล 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า/ส่งออก 2 และ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนี้ต่างประเทศ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศคู่ค้า นอร์เวย์ เยอรมนี เดนมาร์ก สวีเดน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐฯ สเปน และสวิตเซอร์แลนด์
สินค้าเข้า เครื่องจักร อุปกรณ์การขนส่ง อาหาร สัตว์มีชีวิต
สินค้าออก ปลาทะเล ผลิตภัณฑ์จากประมง ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมและเกษตรกรรม
- ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ในปี 2549 อยู่ในลำดับที่ 14 (ปี 2548 ลำดับที่ 16)
การเมืองการปกครอง |
การเมืองภายในประเทศ
1. การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 8เมษายน 2543 (ค.ศ.1999) ผลปรากฏว่าพรรค Independence ของนายกรัฐมนตรี David Oddsson ได้รับเสียงมากที่สุด โดยได้ที่นั่งในสภา 26 ที่นั่งจาก 63 ที่นั่ง พรรคProgressive มาเป็นอันดับสอง ได้ 12 ที่นั่ง สำหรับการจัดตั้งรัฐบาล พรรคIndependence ร่วมกับพรรค Progressive จัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากในสภาโดยนาย David Oddsson ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนาย Halldor Asgrimssonหัวหน้าพรรคก้าวหน้า (PP) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศ
2. การเลือกตั้งทั่วไปล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2546 (ค.ศ.2003) เป็นไปตามวาระปกติ ผลปรากฏว่า พรรค Independence ของนายกรัฐมนตรี David Oddsson ยังคงได้รับเสียงมากที่สุดโดยได้ที่นั่งในสภา 22 ที่นั่ง พรรค Progressive มาเป็นอันดับที่สามได้ 12 ที่นั่ง ทั้งนี้พรรค Independence ยังเป็นแกนนำโดยร่วมกับพรรค Progressive จัดตั้งรัฐบาลผสมโดยสนับสนุนนาย David Oddsson ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และนาย Halldor Asgrimsson ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นการจัดตั้ง รัฐบาลสมัยที่ 4 ของนายกรัฐมนตรี David Oddsson นับตั้งแต่ปี 2534 (ค.ศ.1991)
3. สำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งอยู่ในสถานะที่เป็นประมุขของประเทศ ปรากฏว่า นาย Olafur Ragnar Grimsson ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน นาง Vigdis Finnbogadottir และนาย Grimsson เข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2539 (ค.ศ.1996)
4. การเลือกตั้งประธานาธิบดีไอซ์แลนด์ปี 2547 (ค.ศ.2004)
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2547 ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไอซ์แลนด์ ซึ่งมีขึ้นตามวาระปกติ ผลปรากฏว่า นาย Olafur Ragnar Grimsson ประธานาธิบดีไอซ์แลนด์ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 67.5 ขณะที่ผู้สมัครอีก 2 คน คือ นาย Baldur Agustsson และนาย Asthor Magnusson ผู้สมัครอิสระ ได้คะแนนเสียงร้อยละ 9.9 และ 1.5 ตามลำดับ การเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งร้อยละ 62.9 จากผู้มีสิทธิ
ลงคะแนนเสียง เลือกตั้งจำนวนประมาณ 211,000 คน
5. การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์คนใหม่ เดือนกันยายน 2547
เมื่อกลางเดือนกันยายน 2547 นาย Halldor Asgrimsson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไอซ์แลนด์ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ สืบแทนนาย David Oddsson นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้สลับไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการสลับตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว ก็เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลผสมให้เข้มแข็งและมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากในช่วงปี 2547 คะแนนความนิยมของประชาชนในตัว นาย David Oddsson ได้ลดลง
6. การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไอซ์แลนด์ เดือนมิถุนายน 2549
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 นาย Geir H. Haarde หัวหน้าพรรค Independence พรรคร่วมรัฐบาลผสม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลของ นาย Halldor Asgrimsson ได้เข้าดำรงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไอซ์แลนด์สมัยแรกสืบต่อจากนาย Asgrimsson และได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ การเปลี่ยนแปลงและการสลับตำแหน่งดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการลาออกของนาย Asgrimsson เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างมากในการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งส่งผลให้ไอซ์แลนด์มีอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงมาก
การเมืองระหว่างประเทศ ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกของสมาคมการค้าเสรี แห่งยุโรป (European Free Trade Association - EFTA) ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วย นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และ ลิกเตนสไตน์ได้เจรจากับสหภาพยุโรป (European Union - EU) เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area - EEA) ซึ่งมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2537(ค.ศ. 1994) โดยไอซ์แลนด์เห็นว่า เขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) จะเป็นประโยชน์กับไอซ์แลนด์ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดหลักการพื้นฐานของการจัดตั้ง EEA ที่จะให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการเงินทุน และประชากรโดยเสรีจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไอซ์แลนด์ไปยังสหภาพยุโรป ทั้งการเข้าร่วมเจรจาจะช่วยให้ไอซ์แลนด์ในฐานะประเทศเล็กจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับพหุภาคี (multi-national level) ที่จะมีส่วนช่วยเกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปัจจัยหนึ่งที่ไอซ์แลนด์จำเป็นจะต้องหาทางเจรจากับสหภาพยุโรป คือ เพื่อรักษาสถานะของการส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับปลาไว้ เนื่องจากขณะนี้ความตกลงการค้าพิเศษที่ไอซ์แลนด์ทำไว้กับสหภาพยุโรป เมื่อปี 2535 (ค.ศ. 1992) เพื่อผ่อนคลายการจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยเฉพาะปลาเค็ม ไม่ได้สนองประโยชน์ต่อการส่งออกของไอซ์แลนด์ไปยังสหภาพยุโรปได้เช่นเดิม การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) จึงเป็นลู่ทางหนึ่งในการขยายการส่งออกผลผลิตด้านการประมงของไอซ์แลนด์ไปยังสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ไอซ์แลนด์ยังไม่มีความตั้งใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในระยะอันใกล้ ด้วยเหตุผลที่สำคัญ คือ ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกปลา และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อไอซ์แลนด์เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ไอซ์แลนด์อาจจะต้องเสียผลประโยชน์ทั้งด้านการประมงและเกษตรกรรมด้านอื่น ๆ สำหรับความร่วมมือของไอซ์แลนด์ในระดับภูมิภาคยุโรป ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกในองค์กรสำคัญๆ เช่น กลุ่มนอร์ดิก (Nordic) ซึ่งประกอบด้วยเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน คณะมนตรีแห่งยุโรป (Council of Europe)องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe - OSCE) องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization - NATO) นอกจากนี้ ในด้านเศรษฐกิจ ไอซ์แลนด์ยัง มีความตกลงการค้าพิเศษกับสหภาพยุโรป
ประวัติย่อบุคคลสำคัญทางการเมืองของไอซ์แลนด์
1. ประธานาธิบดี (ประมุขของรัฐ)
นาย Olafur Ragnar Grimsson เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2486 (ค.ศ.1943) เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2536 (ค.ศ.1996) จบการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขารัฐศาสตร์ ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆ เช่น สมาชิกรัฐสภาไอซ์แลนด์ตั้งแต่ปี 2517 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างปี 2531-2534 เป็นต้น
2. นายกรัฐมนตรี (ผู้นำรัฐบาล)
นาย Geir H. Haarde เกิดเมื่อปี 2494 (ค.ศ.1951) เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2548-2549 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างปี 2531-2548 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่ ปี 2530 และเป็นหัวหน้าพรรค Independence Party ตั้งแต่ปลายปี 2548
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นาง Valgerdur Sverrisdottir เกิดเมื่อปี 2493 (ค.ศ.1950) เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นสมัยแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 ก่อนหน้านี้ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค Independence Party มาตั้งแต่ปี 2530 โดยเป็นสมาชิกพรรคที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมากจากนาย Agrimsson และเป็นรองหัวหน้าพรรคฯ ตั้งแต่ปี 2542
ข้อมูลไอซ์แลนด์ที่สามารถค้นหาได้ทาง Internet
1. http://government.is
2. www.iceland.org/president.htm
3. http://brunnur.stjr.is
4. www.europa.eu
5. www.mfa.is
เศรษฐกิจการค้า |
แหล่งรายได้ที่สำคัญของไอซ์แลนด์ คือ การประมงซึ่งทำรายได้เข้าประเทศถึง 2 ใน 3 จากรายได้ที่ได้รับจากการส่งออกทั้งหมด โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและเดนมาร์ก และประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไอซ์แลนด์ที่สำคัญ อาทิ เยอรมนี นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก เป็นต้น ระบบเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์จึงขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงราคาของการซื้อขายปลาระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์มีนโยบายสนับสนุนการส่งออกกระแสไฟฟ้าพลังน้ำและที่ได้รับความร้อนจากใต้ดิน (Geothermal and hydro power) ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้เข้าประเทศที่สำคัญอีกสาขาหนึ่ง
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐไอซ์แลนด์ |
สถานที่อยู่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกน
Royal Thai Embassy, Norgesmindevej 18, 2900 Hellerup, Copenhagen, Denmark
Tel 45-39625010 Fax 45-39625059
สำหรับไอซ์แลนด์ได้แต่งตั้งให้นาย Olafur Egilsson เอกอัครราชทูต ไอซ์แลนด์ ถิ่นพำนัก ณ กรุงเรคยาวิก ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไอซ์แลนด์ประจำประเทศไทย
สำหรับงานด้านกงสุล รัฐบาลไอซ์แลนด์แต่งตั้งนายชำนาญ วีรวรรณ เป็น กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไอซ์แลนด์ประจำประเทศไทย และนาย Poul Weber เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ ตั้งแต่ปี 2540 สถานที่อยู่ The Consulate General of Iceland, 2nd Floor Sivadon Building,Bangrak, Bangkok 10500, Tel. 0-2289-1121-5 Fax 0-2688-2690และรัฐบาลไทยได้แต่งตั้งนาย Kjartan Borg เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำประเทศไอซ์แลนด์
ล่าสุด ในโอกาสที่ไทยและไอซ์แลนด์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 30 ปี ในปี 2548 ฝ่ายไทยได้ส่งสารในนามนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงนายกรัฐมนตรีไอซ์แลนด์ และรัฐมนตรีต่างประเทศไอซ์แลนด์
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ไอซ์แลนด์ดำเนินไปด้วยความราบรื่นทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ไทยและไอซ์แลนด์มีความเห็นสอดคล้องและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในกรอบการดำเนินงานในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสนับสนุนของไอซ์แลนด์ต่อผู้สมัครของไทยในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เช่น การสมัครเข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก(WTO) ของฯพณฯ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (ในขณะนั้น)
ล่าสุดจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ไอซ์แลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ไทย โดยได้จัดส่งน้ำดื่มใส่ขวดพลาสติกจำนวน 20 ตัน เต็นท์ และผ้าห่ม ให้แก่ผู้ประสบภัย
นอกจากนี้ ในโอกาสที่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ไอซ์แลนด์ ครบรอบ 30 ปี ในปี 2548 นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีสารแสดงความยินดีถึงฝ่ายไอซ์แลนด์ด้วย
ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
1. การค้าทวิภาคีไทย-ไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 129 ของไทย และเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA - European Free Trade association) รองจากสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และ ลิกเตนสไตน์
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับไอซ์แลนด์มีมูลค่ารวมน้อยมาก กล่าวคือ ในปี 2549 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 10.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีมูลค่าส่งออก 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่านำเข้า 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับปี 2548 มีมูลค่า 16.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 9.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 7.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 0.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออก สินค้าออกสำคัญของไทย คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ตาข่ายจับปลา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องใช้สำหรับเดินทาง รองเท้าและชิ้นส่วน เป็นต้น
สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็งของเล่น เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องเทศและสมุนไพร รูปหล่อและเครื่องประดับโลหะสามัญ
การนำเข้า สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไขมันและน้ำมันสัตว์ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
ตารางสถิติการค้าระหว่างไทย-ไอซ์แลนด์ <ีีีu>ดังเอกสารแนบ
2. การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ไอซ์แลนด์ ในกรอบ EFTA
ปัจจุบันไทย และไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (Euroepan Free Trade Association -EFTA) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ ประกอบด้วย ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ กำลงเจรจาจัดทำความตกลง เขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน
2. ปัญหาและอุปสรรคการค้าทวิภาคีไทย-ไอซ์แลนด์
2.1 ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ตลาดไอซ์แลนด์มากนัก
เนื่องจากเห็นว่า เป็นตลาดขนาดเล็ก และยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับตลาดไอซ์แลนด์ในด้านต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำการซื้อขายระหว่างกัน การกำหนดราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดช่องทางการจัดจำหน่ายของสินค้าและการส่งเสริมการขาย
2.2 ด้านการขนส่ง เส้นทางการขนส่งที่มีระยะทางห่างไกลก่อให้เกิดต้นทุนสินค้าที่สูงการขนส่งทางอากาศที่ยังมีอัตราระวางที่สูง
(ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)
สำหรับ ไทย-ไอซ์แลนด์ในกรอบความสัมพันธ์เศรษฐกิจพหุภาคี ปรากฏว่า ในขณะนี้ไทยและไอซ์แลนด์ในฐานะที่เป็นสมาชิกสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) กำลังเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับ EFTA ซึ่งได้เริ่มต้นการเจรจาเบื้องต้นที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2548 และกำลังจะมีการเจรจารอบแรก ที่ไอซ์แลนด์ในเดือนพฤษภาคม 2548
การท่องเที่ยว ประชาชนทั้งสองประเทศยังไปมาหาสู่ในรูปของการท่องเที่ยวไม่มากนัก เนื่องจากห่างไกลกันมาก การคมนาคมไม่สะดวก และไอซ์แลนด์ก็ไม่มีประเทศเพื่อนบ้านที่จะช่วยให้เป็นปัจจัยในการเดินทางไปท่องเที่ยว ปริมาณนักท่องเที่ยวจากไอซ์แลนด์มาประเทศไทยมีมากกว่าที่นักท่องเที่ยวจากไทยไปไอซ์แลนด์
สำหรับสถิตินักท่องเที่ยวชาวไอซ์แลนด์ ปรากฏว่า ชาวไอซ์แลนด์เดินทางมาไทย ปี 2538 (ค.ศ. 1995) ประมาณ 1,194 คน ปี 2544 (ค.ศ. 2001) ประมาณ 1,056 คน และปี 2545 (ค.ศ. 2002) ประมาณ 1,328 คน การส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยกระทำผ่านหน่วยราชการไทยและสำนักงานของบริษัทการบินไทยในทวีปยุโรป และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยในกรุงเรคยาวิก
(ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
ภาพลักษณ์ไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับไอซ์แลนด์อยู่ในระดับดีไอซ์แลนด์ให้ความสนใจและรู้จักประเทศไทยผ่านทางการรายงานข่าวระหว่างประเทศทั้งทางสื่อมวลชน โทรทัศน์ และการติดต่อระหว่างภาครัฐและเอกชน ภาพลักษณ์ของไทยส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูงและเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีบทบาทสำคัญทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นสมาชิกชั้นนำในอาเซียน เอเปค (APEC) และการประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) และเป็นประเทศเก่าแก่ที่มีวัฒนธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยว ในด้านปัญหาของภาพลักษณ์นั้น จะอยู่ในการรายงานข่าวในประเด็นปัญหาเรื่องโสเภณีและโสเภณีเด็ก ยาเสพติด เป็นต้น
ชุมชนชาวไทยในไอซ์แลนด์
มีชาวไทยอาศัยอยู่ในไอซ์แลนด์ประมาณ 800-1,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นสตรีไทยที่สมรสกับชาวไอซ์แลนด์ ซึ่งประกอบอาชีพแม่บ้าน และรับจ้าง (แรงงานไทยส่วนใหญ่ ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปลา) มีร้านอาหารไทย ประมาณ 5 ร้าน และสำนักสงฆ์ 1 แห่ง (พระภิกษุ 1-2 รูป) ซึ่งขณะนี้ กำลังมีโครงการที่จะสร้างวัดไทยใน ไอซ์แลนด์ ซึ่งทางการไอซ์แลนด์ไม่มีข้อขัดข้องในการที่ชุมชนชาวไทยในไอซ์แลนด์จะสร้างวัดไทย
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ฝ่ายไอซ์แลนด์
- วันที่ 27- 31 มกราคม 2542 (ค.ศ.1999) นาย Halldor Asgrimsson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศ พร้อมคณะภาคเอกชน 24 คนเยือนไทย โดยเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2542
- วันที่ 10 เมษายน 2545 (ค.ศ.2002) นาย Olafur Egilsson เอกอัครราชทูตไอซ์แลนด์ประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง เดินทางมาเยือนไทย
- วันที่ 1-3 ตุลาคม 2546 (ค.ศ.2003) นาย Olafur Egilsson เอกอัครราชทูตไอซ์แลนด์ประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงเรคยาวิก เดินทางมาเยือนไทย
- วันที่ 4-12 ธันวาคม 2547 (ค.ศ.2004) นาย Olafur Egilsson เอกอัครราชทูตไอซ์แลนด์ประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงเรคยาวิก เดินทางมาเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- วันที่ 10 มกราคม 2548 (ค.ศ.2005) เอกอัครราชทูต Gretar Mar Sigurosson อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมคณะ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนการเจรจาของสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เยือนไทยเพื่อเจรจาเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำความตกลง เขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปกับทางการไทย
- วันที่ 1-7 พฤษภาคม 2548 (ค.ศ.2005) นาย David Gunnarsson ปลัดกระทรวงและประธานคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก (Permanent Secretary and Chairman of the Executive Board of the World Health Organization) เยือนไทย เพื่อเข้าร่วมประชุม The Health Aspects of the Tsunami Disater in Asia ที่จ.ภูเก็ต และได้พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ฝ่ายไทย
- เดือนมิถุนายน 2539 (ค.ศ.1996) สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยือนไอซ์แลนด์ เป็นการส่วนพระองค์
- วันที่ 16-21 กรกฎาคม 2546 (ค.ศ.2003) รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง (นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล) และคณะ เยือนไอซ์แลนด์
- วันที่ 10-12 พฤษภาคม 2548 (ค.ศ.2005) นายเกริกไกร จีระแพทย์ หัวหน้าคณะ ผู้แทนไทยในการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เยือนไอซ์แลนด์ เพื่อเจรจาเรื่อง FTA ระหว่างไทยกับ EFTA (Exploratory Meeting)
2549
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น