ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #20 : สาธารณรัฐฮังการี

    • อัปเดตล่าสุด 26 ม.ค. 50




     
    สาธารณรัฐฮังการี
    Republic of Hungary


     
    ข้อมูลทั่วไป
    ชื่อทางการ สาธารณรัฐฮังการี (Republic of Hungary)

    เมืองหลวง กรุงบูดาเปสต์ (ประชากรประมาณ 2 ล้านคน)

    ที่ตั้ง บริเวณที่ราบคาร์เปเทียนในยุโรปกลาง ไม่มีทางออกทะเล
    ทิศเหนือติดกับสโลวาเกีย และยูเครน
    ทิศใต้ติดกับโครเอเชีย และเซอร์เบียและมอนเตเนโกร
    ทิศตะวันออกติดกับโรมาเนีย
    ทิศตะวันตกติดกับออสเตรียและสโลวีเนีย

    พื้นที่ 93,030 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศไทย)

    เวลา ช้ากว่าประเทศไทย 5 ชั่วโมงในช่วงฤดูร้อน และ 6 ชั่วโมงในช่วงฤดูหนาว

    ประชากร 10 ล้านคน (ประมาณ 1 ใน 6 ของประเทศไทย)
    (ร้อยละ 63.7 อาศัยอยู่ในเมือง และร้อยละ 36.3 อาศัยในชนบท)

    ประชากรในวัยทำงาน 5.2 ล้านคน ภาคอุตสาหกรรมและการค้า 42% ภาคบริการ 32% ภาคเกษตร 8% ภาครัฐ 7%

    ศาสนา โรมันคาทอลิก 67.5% คาลวินิสต์ 20% ลูเธอแรน 5%

    ภาษา ฮังกาเรียน (Magyar) 98.2% อื่นๆ 1.8%

    อัตราการรู้หนังสือ ร้อยละ 99

    วันชาติ 20 สิงหาคม

    รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบสภาเดียว โดยมีประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทำหน้าที่เป็นประมุขของประเทศอยู่ในตำแหน่งวาระละ 5 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 วาระ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมีอำนาจในการบริหารงานแผ่นดิน

    ระบบรัฐสภาของฮังการี รัฐสภาฮังการีเป็นระบบสภาเดียว มีสมาชิก 386 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระการทำงาน 4 ปี การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 และ 23 เมษายน 2549

    ผู้นำสำคัญทางการเมือง
    - ประธานาธิบดี นาย Laszlo Solyom (รับตำแหน่ง 5 สิงหาคม ค.ศ. 2005 เลือกตั้งเมื่อ 7 มิถุนายน ค.ศ. 2005 แทนนาย Ference MADL ซึ่งดำรงตำแหน่งครบวาระ)
    - นายกรัฐมนตรี นาย Ferenc Gyurcsany (ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองเมื่อ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2006)
    - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาง Kinga Göncz (ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 2 มิถุนายน ค.ศ. 2006)

    รัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลผสมแบบ left-liberal coalition นำโดยพรรคสังคมนิยม (Hungarian Socialist Party - MSZP)

    สมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ IAEA, IBRD, IMF, NAM (guest), NATO, OECD, OSCE, UN, UNCTAD, UNESCO, UNMIBH, WtoO (World Tourism Organisaton)

    เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2004

    เอกอัครราชทูตไทยประจำฮังการี นายธวัชชัย ปิยรัตน์

    เอกอัครราชทูตฮังการีประจำไทย Dr. Andras BALOGH

    การเมืองการปกครอง
    ประวัติศาสตร์ฮังการีโดยสังเขป
    (1) บทนำ
    ชาวฮังกาเรียน หรือชาวแม็กยาร์ อพยพมาจากแถบแม่น้ำโวลกา และทะเลสาบแคสเปียน ในคริสตศตวรรษที่ 5 จนกระทั่งมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบคาร์เปเทียน และรับเอาคริสตศาสนาแบบตะวันตกเข้ามาตั้งแต่ ค.ศ. 1000 แม้ฮังการีจะมีการปกครองแบบราชวงศ์กษัตริย์เป็นเวลาเกือบ 1,000 ปี แต่ฮังการีมีรัฐธรรมนูญก่อนหน้าประเทศอื่นๆ ในยุโรปหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการพ่ายแพ้ของจักรวรรดิออสโตร-ฮังการี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮังการีสูญเสียพื้นที่ไปราว 2 ใน 3 และตั้งแต่นั้นมา ชนกลุ่มน้อยฮังการีก็เริ่มอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

    (2) ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
    ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮังการีถูกกองทัพเยอรมนีเข้ายึดครองในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1944 แต่กองทัพโซเวียตได้ปลดปล่อยและมีอำนาจเหนือฮังการีแทน เมื่อสิ้นสุดสงคราม

    (3) การแผ่อำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์
    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฮังการีมีการปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ และเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact Treaty Organisation) ในปี ค.ศ. 1955 มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฮังกาเรียนตกต่ำลง จนกระทั่งมีการปฏิวัติต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ในปี ค.ศ. 1956 แต่ก็ถูกกองทัพโซเวียตปราบปราม ในปี ค.ศ. 1965 ฮังการีเริ่มนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง ทำให้เศรษฐกิจฮังการีมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในโลก และมาตรฐานชีวิตของชาวฮังกาเรียนเริ่มดีขึ้น

    (4) การเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
    ฮังการีเป็นประเทศแรกที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และราบรื่นที่สุดในกลุ่มประเทศภายใต้สหภาพโซเวียต ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ฮังการีเริ่มนโยบายต่างประเทศที่หันไปทำการค้ากับตะวันตกมากขึ้น และเริ่มเปลี่ยนระบอบการปกครองในปี ค.ศ. 1988 กองทัพโซเวียตถอนกำลังออกจากฮังการีในปี ค.ศ. 1990 และการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้เริ่มต้นขึ้น

    พัฒนาการทางการเมืองภายหลังการปฏิรูประบบการเมืองปี ค.ศ. 1989
    ฮังการีเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก ในการปฏิรูปการเมืองตาม แนวทางประชาธิปไตยแบบตะวันตกเช่นเดียวกับโปแลนด์ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศให้มีพรรคการเมืองหลายพรรคในระบบการเมืองของฮังการี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 ซึ่งนับเป็นการยอมรับ เป็นครั้งแรก ต่อมาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์ได้แต่งตั้งคณะเปรซิเดียมขึ้นเป็นองค์กรสูงสุดของพรรค นับเป็นการลดบทบาทของเลขาธิการพรรค และนำระบบผู้นำร่วมมาใช้แทน

    การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์ได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงการประชุมสมัชชาพรรคสมัยวิสามัญในเดือน ตุลาคม ค.ศ. 1989 จึงประกาศยุบพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมกับจัดตั้งพรรคใหม่โดยใช้ชื่อว่า Hungarian Socialist Party (เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายแบบพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของตะวันตก มีฐานะเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีนายเรโซ ไนเออร์ส เป็นประธานพรรค) และประกาศให้ฮังการีเป็นรัฐประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยใช้หลักการประชาธิปไตยแบบตะวันตกผสมกับแนวทางสังคมประชาธิปไตย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นการยกเลิกการผูกขาดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยหันมาใช้ระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบหลายพรรค (multi – party system) แทน และในปี ค.ศ.1990 กองทัพโซเวียตได้ถอนกำลังออกจากฮังการี และการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้เริ่มต้นขึ้น

    ผลการเลือกตั้งทั่วไป
    นับตั้งแต่ฮังการีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี ค.ศ.1989 ฮังการีมีการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว 5 ครั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 กล่าวคือ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 ฮังการีได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในรอบที่สอง ผลปรากฏว่า พรรคสังคมนิยม (MSZP) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลได้รับชัยชนะเหนือพรรค Hungarian Civic Union (Fidesz) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอนุรักษ์นิยม โดยได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ 98 และได้ที่นั่งในสภา 210 ที่นั่งจาก 386 ที่นั่งเมื่อรวมกับพรรค Alliance of Free Democrats ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2549 ผลการเลือกตั้งทั่วไปในรอบแรก พรรค MSZP มีคะแนนนำหน้าพรรค Fidesz เพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น

    ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่า นโยบายของรัฐบาลในสมัยที่สองของนาย Ferenc Gyurcsany นายกรัฐมนตรี คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยภารกิจหลัก คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณในขณะนี้สูงถึงร้อยละ 8 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ซึ่งมากที่สุดในบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรป และอาจจะมีผลให้ฮังการีไม่สามารถเข้าในระบบเงินสกุลยูโรได้ภายในปี 2553 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

    อนึ่ง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของฮังการีภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในเดือนพฤษภาคม 2547 และชัยชนะของพรรค MSZP ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่พรรค แกนนำของรัฐบาลได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สอง นับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในฮังการีเมื่อปี 2532

    เศรษฐกิจการค้า
    หน่วยเงินตรา โฟรินท์ (Forint)

    อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ (USD) = 199.6 Forint

    GDP 109.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    GDP per capita 11,217 ดอลลาร์สหรัฐ (2548)

    อัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 4.1

    อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 3.6

    อัตราการว่างงาน ร้อยละ 7.0

    การค้าระหว่างประเทศ 125.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    มูลค่าการส่งออก 61.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    มูลค่าการนำเข้า 63.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    ทรัพยากรธรรมชาติ บอกไซต์ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ย

    สินค้าส่งออกที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์อาหาร น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์ ไฟฟ้า

    ตลาดส่งออกที่สำคัญ เยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สวีเดน เนเธอร์แลนด์

    สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักรและอุปกรณ์ น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหาร และวัตถุดิบ

    ตลาดนำเข้าที่สำคัญ เยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น

    สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
    ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของฮังการีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออก และการท่องเที่ยวเป็นหลัก ฮังการีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่เสรีและก้าวหน้าที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอดีตคอมมิวนิสต์ โดยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อปี ค.ศ.1997 ได้รับการจัดอันดับทางเศรษฐกิจที่ดี และมีการเข้าถึงแหล่งเงินระหว่างประเทศได้ง่าย นอกจากนี้ ฮังการียังเป็นแหล่งลงทุนของต่างประเทศที่สำคัญในภูมิภาคยุโรป กลางและยุโรปตะวันออก ในช่วงปี ค.ศ.1994-2000 เป็นระยะเวลาที่ปริมาณการลงทุนจากต่างชาติในฮังการี เพิ่มสูงสุดคิดเป็นร้อยละประมาณ 20-50 ของปริมาณการลงทุนจากประเทศตะวันตกในภูมิภาคนี้ทั้งหมด การลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญได้แก่ บริษัท General Motors, บริษัท Ford, บริษัท IBM, บริษัท Coca-Cola

    OECD ได้นำเสนอรายงานเกี่ยวกับฮังการีเมื่อปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 2004 โดยเร่งรัดให้ฮังการีตัดลดรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งสูงมากเกินไป และขอให้เน้นการให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปโครงสร้างภาครัฐ นอกจากนี้ OECD ยังแสดงความกังวลต่ออัตราการว่างงานของฮังการีด้วย เนื่องจากเปอร์เซ็นต์ของแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานมีอัตราต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในขณะที่ IMF ได้เสนอรายงานด้านบวกของเศรษฐกิจฮังการีว่ามีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น ผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น การส่งออกและ fixed capital investments ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่จะช่วยให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ฮังการีประสบปัญหาเงินโฟรินท์แข็งค่า ทำให้การส่งออกลดลง รวมทั้งภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วน FDI และการลงทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอย่างมาก อีกทั้งประสบปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของค่าเงินโฟรินท์ และอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินยูโรในระดับที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าไว้ระหว่าง 250-260 โฟรินท์/ยูโร เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ EU กำหนด และปรับใช้เงินยูโรในปี ค.ศ. 2008

    นโยบายเศรษฐกิจฮังการีในระยะ 10 ปีข้างหน้า

    เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 รัฐสภาฮังการีได้เห็นชอบข้อมติเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจฮังการีในระยะ 10 ปีข้างหน้า (Basic Economic Policy Principles for the Next Ten Years) โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างหลักประกันต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฮังการีอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการต่างๆ ในการแข่งขันระหว่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
    1. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง
    2. ปฏิบัติตามสนธิสัญญา Maastricht ในเรื่องการเริ่มใช้เงินสกุลยูโรในปี 2553
    3. ลดความซ้ำซ้อนในระบบราชการ และใช้เหตุผลเชิงโครงสร้าง(structural
    rationalization) กับงานบริหารรัฐกิจ รัฐบาลท้องถิ่น ระบบประกันสังคม และประกันสุขภาพเพื่อให้สังคมมีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับหลักความมีเอกภาพของยุโรป
    4. เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และบรรเทาปัญหาความเสียเปรียบ
    ด้านดินแดน
    5. จัดระบบใหม่ด้านภาษีและการให้การอุดหนุน โดยลดระดับการจัดสรรปันส่วนจาก
    ภาครัฐ
    6. ปรับปรุงคุณภาพระบบการศึกษาของฮังการี โดยยึดถือหลักธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาเป็นระยะเวลานานควบคู่ไปกับการปรับปรุงให้ทันสมัย เน้นสาขาการศึกษาสาธารณะ การศึกษาขั้นสูง และอาชีวศึกษา โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานระยะยาว
    7. กำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่น วิสาหกิจ และภูมิภาคต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์เรื่องความช่วยเหลือด้านโครงสร้างซึ่งสหภาพยุโรปเป็นผู้จัดหาให้ได้อย่างเต็มที่
    8. สร้างมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมทั้งให้หลักประกันเรื่องสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนดังกล่าว สนับสนุนให้ฮังการีพัฒนาไปเป็นศูนย์ภูมิภาคของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
    9. สนับสนุนให้บริษัทภายในประเทศมุ่งสู่ความเป็นสากล พัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน รัฐให้ความสนับสนุนตามมาตรการสากลเพื่อการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ รวมถึงพัฒนาภาคการบริการ อาทิ ท่องเที่ยว IT Logistics

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐฮังการี
    ไทยและฮังการีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1973 อย่างไรก็ตาม ไทยกับฮังการีมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันยาวนานกว่า 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ประพาสฮังการี ระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน ค.ศ.1897 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

    การเยือนระหว่างกันที่สำคัญ
    การเยือนของฝ่ายฮังการี
    - นาย Péter Medgyessy เยือนไทยเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1989 ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
    - นาย Arpad Goncz ประธานาธิบดีและภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อปี ค.ศ.1993 และแวะผ่านประเทศไทยระหว่างเดินทางเยือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ และวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1999 โดยนาย Arpad Goncz และภริยาได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1999
    - นาย András Bársony, Political State Secretary (เทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ) ของกระทรวงการต่างประเทศ ฮังการี เยือนไทยระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน ค.ศ.2003 และได้เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการฯ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ.2003
    - นาย Peter Medgyessy อดีตนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฮังการีและภริยา เดินทางมาพักผ่อนที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการส่วนตัว ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.2003 – 6 มกราคม ค.ศ.2004
    - นาง Katalin Szili เคยเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2002 ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรองประธานรัฐสภาฮังการี ล่าสุด แวะเปลี่ยนเครื่องบินที่ประเทศไทย 2 ช่วง ในระหว่างเดินทางไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2004 และเดินทางจากกรุงพนมเปญในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.2004

    การเยือนของฝ่ายไทย
    - สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 28-31 สิงหาคม ค.ศ.1989
    - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม ค.ศ.1994
    - สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเสด็จเยือนฮังการีระหว่างวันที่ 6-11 พฤษภาคม ค.ศ.2000
    - พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1988
    - ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการฯ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม ค.ศ.2003
    - ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน ค.ศ.2004
    - ผู้แทนการค้าไทย (นายกันตธีร์ ศุภมงคล) เยือนฮังการี ระหว่างวันที่ 2-8 กันยายน ค.ศ.2004
    - นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เยือนฮังการีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม ค.ศ.2004

    กลไกความสัมพันธ์ทวิภาคี
    คณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ฮังการี ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 ล่าสุด คณะ รัฐมนตรีได้เห็นชอบให้ไทยยกเลิกความตกลงทางการค้ากับฮังการี ตามที่ฮังการีร้องขอ เนื่องจากการเข้าเป็นสมาชิก EU ในปี ค.ศ.2004 และได้จัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นแทนโดยได้มีการลงนามในระหว่าง การเยือนฮังการีของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ (ระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน ค.ศ.2004) ซึ่งความตกลงนี้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี ขึ้นแทน

    คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-ฮังการี
    การประชุมฯ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2548 โดยมี
    ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนายอันดราส บาร์ชอน (Andras Barsony) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการี เป็นประธานร่วมฝ่ายฮังการี โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในมติที่ประชุมร่วม (Agreed Minutes) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมในด้านต่างๆ อาทิ การค้า การลงทุน ท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการเกษตร ด้านการศึกษาและวิชาการ

    การค้ากับไทย
    ฮังการีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 59 ในบรรดาประเทศคู่ค้าของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย ในยุโรปตะวันออก โดยในปี 2548 มีมูลค่าการค้ารวม 220.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 185.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 34.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยได้ดุล 150.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

    สินค้าที่ไทยส่งออก หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ วงจรพิมพ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ยางพารา

    สินค้าที่ไทยนำเข้า เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม หลอดภาพโทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ การวัดการตรวจสอบ การถ่ายรูป ของเล่นเครื่องเล่นกีฬาและเครื่องเล่นเกม

    สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง เลนซ์

    สินค้านำเข้าที่มีศักยภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องแต่งเรือน แผงวงจรไฟฟ้า เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ


    สิงหาคม 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×