ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ข้อมูลประเทศต่างๆในทวีปยุโรป

    ลำดับตอนที่ #19 : นครรัฐวาติกัน

    • อัปเดตล่าสุด 26 ม.ค. 50




     
    นครรัฐวาติกัน
    Vatican City State


    ข้อมูลทั่วไป
    ที่ตั้ง ภายในเขตกรุงโรม ประเทศอิตาลี

    พื้นที่ 0.438 ตารางกิโลเมตร (0.17 ตารางไมล์)

    ประชากร 890 คน เชื้อชาติอิตาลี และสวิส

    อัตราการเติบโตของประชากร ร้อยละ 1.15

    สกุลเงินตรา ยูโร (Euro) อัตราแลกเปลี่ยน EUR 1 = 46.83 บาท (1 มี.ค. 2549)

    ภาษาราชการ อิตาลีและลาติน

    เมืองหลวง นครรัฐวาติกัน (Vatican City)

    การปกครอง รัฐเอกราช มีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุข การบริหารกระทำผ่านสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretariat of State) และมีเลขาธิการแห่งรัฐ(Secretary of State) เทียบเท่านายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะหน่วยงานระดับกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งหมด 9 หน่วยงาน เรียกว่า Sacred Congregations

    รัฐธรรมนูญ Apostolic Constitution (เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1969)

    ประมุข สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 265 จากสภาที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 2005 ทรงดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีผู้นับถือประมาณ 1 พันล้านคน

    นายกรัฐมนตรี Cardinal Angelo Sodano (Secretary of State) (2 ธันวาคม 2533)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย Archbishop Leonard Sandri (Secretary for General Affairs)

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ Archbishop Giovanni Lajolo (Secretary for Relations with States)

    สมาชิกภาพในองค์การระหว่างประเทศ IAEA, ICFTU, Intelsat, IOM (observer), ITU, OAS (observer), OPCW, OSCE, UN (observer), UNCTAD, UNHCR, UPU, WIPO, WToO (observer)

    เอกอัครราชทูตไทยประจำนครวาติกัน นายประดาบ พิบูลสงคราม (เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์นมีเขตอาณาครอบคลุมนครรัฐวาติกัน และราชรัฐลิกเตนสไตน์)

    เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย Archbishop Salvatore Pennacchio (ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2547)

    การเมืองการปกครอง
    ประวัติศาสตร์นครรัฐวาติกันโดยสังเขป
    เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1929 นครรัฐวาติกันและอิตาลีได้ลงนามสนธิสัญญายอมรับสถานะของนครรัฐวาติกันเป็นรัฐเอกราชมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ตั้งแต่ ค.ศ. 1960 นครรัฐวาติกันได้รับการจารึกให้เป็นดินแดนที่จะต้องได้รับการปกป้องรักษาไว้เป็นพิเศษในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางอาวุธ (International Register of Cultural Works under Special Protection in Case of Armed Conflict) เนื่องจากเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมของโลก มีหอสมุดอันเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 (the Apostolic Library of the Vatican)

    ต่อมา ในศตวรรษที่ 15 ได้มีการจัดตั้งหอจดหมายเหตุนครรัฐวาติกัน (Secret Archive of the Vatican) พิพิธภัณฑ์วาติกัน โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ และมีสำนักพิมพ์ของตนชื่อ the Vatican Polyglot Press ซึ่งเป็นที่จัดพิมพ์ผลงานภาษาต่างๆ รวมทั้งออกหนังสือพิมพ์รายวัน Observatore Romano ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ ค.ศ. 1861 และตั้งแต่ ค.ศ. 1931 นครรัฐวาติกันได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ถ่ายทอดเสียงภาษาต่างๆ ถึง 30 ภาษา ปัจจุบัน นครรัฐวาติกันมีสถานีวิทยุกระจายเสียง 3 สถานี สถานีโทรทัศน์ 1 สถานี

    สมเด็จพระสันตะปาปา
    สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอำนาจสูงสุดทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน คือ สมเด็จพระสันตะปาปา Benedict ที่ 16 เป็นชาวเยอรมันมีพระนามเดิมว่า Joseph Ratzinger พระชนมายุ 78 พรรษา ทรงได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 2005 โดยสภาที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะชั้น Cardinal (College of Cardinals) ซึ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเฉพาะสมเด็จพระราชาคณะชั้น Cardinal ที่มีอายุต่ำกว่า 80 ปีเท่านั้น สมเด็จพระสันตะปาปาที่ทรงได้รับเลือกตั้งแล้วจะอยู่ในตำแหน่งไปจนตลอดพระชนม์ชีพ สมเด็จพระสันตปาปา Benedict ที่ 16 ทรงเข้าพิธีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2005

    การบริหารศาสนจัก
    การบริหารศาสนจักรเป็นหน้าที่ของ the Roman Curia หรือสำนักงานบริหารศาสนจักรส่วนกลาง ซึ่งมักเรียกในภาษาอังกฤษว่า Holy See หรือ Apostolic See มีหน่วยงานหลักคือ สำนักเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretariat of State) รับผิดชอบการบริหารประเทศ โดยมีพระคาร์ดินัลผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการแห่งรัฐ (Secretary of State) เป็นหัวหน้า (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี) มีหน้าที่รับผิดชอบกิจการด้านการเมืองและการทูตของนครรัฐวาติกัน

    เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1988 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่สอง ทรงปรับโครงสร้างของสำนักเลขาธิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น 2 หน่วยงาน คือ
    1. The Section for General Affairs หรือ The First Section รับผิดชอบด้านการบริหารของศาสนจักรและดูแลสถานทูตต่าง ๆ ประจำนครรัฐวาติกัน หัวหน้าหน่วยงาน คือ The Substitute for General Affairs และมีผู้ช่วย คือ The Assessor for General Affairs
    2. The Section for Relations with States รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการแต่งตั้งบิชอปในประเทศต่างๆ หัวหน้าหน่วยงาน คือ The Secretary for Relations with States และมีผู้ช่วย คือ The Under-Secretary for Relations with States

    นอกจากหน่วยงานทั้งสองข้างต้นแล้วยังมี Sacred Congregations ต่างๆ ซึ่งเทียบได้กับกระทรวงต่างๆ รวม 9 กระทรวง เรียกชื่อตามลักษณะงานในความรับผิดชอบ ได้แก่
    1. The Congregation for the Doctrine of the Faith รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมศรัทธาและศีลธรรมทั่วโลก
    2. The Congregation for the Causes of Saints รับผิดชอบเกี่ยวกับขั้นตอนในการประกาศแต่งตั้งนักบุญ
    3. The Congregation for the Oriental Churches รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมของศาสนจักรคาทอลิกตะวันออก (ไบแซนไทน์)
    4. The Congregation for Bishops รับผิดชอบเกี่ยวกับการตั้งบิชอปและสังฆมณฑล
    5. The Congregation for Divine Worship and the Discipline of the Sacraments รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมสักการะบูชาในคริสตศาสนา
    6. The Congregation for the Evangelization of Peoples รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจกรรมแพร่ธรรมของมิชชั่นนารีในศาสนจักรในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
    7. The Congregation for Institutes of Consecrated Life and for Societies of Apostolic Life รับผิดชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลนักบวช
    8. The Congregation for the Clergy รับผิดชอบเกี่ยวกับบาทหลวงและผู้ช่วยบาทหลวงที่มิใช่นักบวช รวมถึงกิจกรรมและวินัยของบาทหลวงประจำสังฆมณฑล
    9. The Congregation for Catholic Education รับผิดชอบเกี่ยวกับสามเณราลัย รวมทั้งการส่งเสริมและการจัดตั้งสถานศึกษาแคธอลิก โดยเฉพาะ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ

    เศรษฐกิจการค้า
    ศาสนจักรวาติกันมีรายได้หลักจากการสนับสนุนทางการเงินขององค์กรคริสตศาสนานิกายโรมันแคธอลิคทั่วโลก เงินรายได้นี้เรียกว่า "Peter s Pence" นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการลงทุนต่างๆ ภายใต้การบริหารของหน่วยงาน The Patrimony of the Holy See ค่าธรรมเนียมการเข้าชมพิพิธภัณฑ์รายได้จากการจำหน่ายหนังสือ สิ่งพิมพ์ ดวงตราไปรษณียากร ของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว

    ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับนครรัฐวาติกัน
    ราชอาณาจักรไทยและศาสนจักรวาติกันได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1969 ฝ่ายไทยได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ดูแลความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งคาร์ดินัลชาวไทยคนแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 คือ คาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู

    อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ไทย-วาติกันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1662 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา Alexander ที่ 7 ได้จัดส่งคณะมิชชันนารีชุดแรกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นคณะผู้ก่อตั้งคริสตศาสนาในไทยเป็นคณะแรก

    ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 ได้มีพระราชสาส์นมาถวายพระพรสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1679 ซึ่งทรงมีพระราชสาส์นตอบในปี ค.ศ. 1680 แต่เรืออัญเชิญพระราชสาสน์ประสบอุบัติเหตุแตกกลางทะเล สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 จึงได้มีพระราชสาส์นมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1687 ต่อมา ในปี ค.ศ. 1688 สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งคณะนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางไปยังกรุงโรม เพื่ออัญเชิญพระราชสาส์นตอบ ไปถวาย ลงวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1688 ในปลายศตวรรษที่ 17 เกิดความปั่นป่วนในพระราชอาณาจักรจากการสงครามกับพม่าซึ่งนำไปสู่การเสียกรุงในที่สุด คริสตจักรในกรุงศรีอยุธยาจึงถูกทำลายลง

    ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา คริสตจักรได้เริ่มฟื้นฟูกลับคืนมาอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชสาส์นติดต่อกับสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 9 ระหว่างปี ค.ศ. 1851-1861 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ประพาสนครรัฐวาติกัน ในระหว่างเสด็จฯ ประพาสยุโรปในปี ค.ศ. 1897 และได้ทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา Leo ที่ 13 นับเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นครั้งแรกในระดับประมุขของประเทศระหว่างราชอาณาจักรไทยและศาสนจักรวาติกัน ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนกรุงโรม และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 11 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1934

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จฯ ประพาสนครวาติกันในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1960 และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา John ที่ 23

    สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก (State Visit) ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984 ในโอกาสเดียวกับที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน ระหว่างการเยือน สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ได้เยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงเรียกร้องวิงวอนให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้ง ยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีนเป็นจำนวน 1 ล้านบาทด้วย

    การฉลองครบรอบ 25 ปี ความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน ปี ค.ศ. 1994
    เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 สถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยได้จัดให้มีการตีพิมพ์บทความและสาส์น ของ Monsignor Luigi Bressan เอกอัครสมณทูตวาติกันฯ ใน Supplement ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ในโอกาสการครบรอบ 25 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-วาติกัน

    ในโอกาสการฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่สอง ได้ประทานเครื่องอิสริยาภรณ์ Knight Grand Cross of the Pian Order ให้แก่นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทยเป็นผู้มอบเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1994 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือกให้แก่ H.E. Archbishop Jean Louis Tauran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนครรัฐวาติกัน โดยเอกอัครราชทูตไทยประจำนครรัฐวาติกันเป็นผู้มอบเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1997

    การแลกเปลี่ยนการเยือนที่สำคัญ
    ค.ศ. 1897 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสนครรัฐวาติกัน และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา Leo XIII
    มีนาคม ค.ศ. 1934 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสนครรัฐวาติกัน และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา Pius XI
    ตุลาคม ค.ศ. 1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ประพาสนครรัฐวาติกัน และทรงพบสมเด็จพระสันตะปาปา John XXIII
    10-11 พฤษภาคม ค.ศ.1984 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนไทย
    เมษายน ค.ศ. 1988 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนนครรัฐวาติกัน
    กันยายน ค.ศ. 1995 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯ เยือนนครรัฐวาติกัน
    16-18 มิถุนายน ค.ศ. 1998 Monsignor Celestino Migliore รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศวาติกัน เข้าร่วมการประชุม Presidents of the Asian Bishops’ Conference และได้เข้าพบหารือกับนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ 18 มิถุนายน พร้อมทั้งมอบภาพจำลองภาพวาดราชทูตไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เดินทางไปเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ แด่สมเด็จพระสันตปาปา Innocent XI โดยได้มอบให้หอสมุดแห่งชาติ 3 ภาพ และกระทรวงการต่างประเทศ 3 ภาพ

    18-25 ตุลาคม ค.ศ. 2006 พระคาร์ดินัล เครสเซนซิโอ เซปเป (Cardinal Crescenzio Sepe) พระอัครสังฆราชแห่งเมืองเนเปิล ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเปิดและเข้าร่วมการประชุมสมัชชา Asian Mission Congress ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติ์เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 18 – 22 ตุลาคม 2549 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คนจากทั่วเอเชีย และมีการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตไปยังประเทศที่เข้าร่วมจากเอเชียและนครรัฐวาติกันอีกด้วย นอกจากนี้ พระคาร์ดินัล เซปเป พร้อมอาร์ชบิชอป ซัลวาโตเร เปนนักกิโอ เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู อัครสังฆราชแห่งสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และบิชอป ยอร์ช ยอด พิมพิสาร ประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยยังได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันอังคารที่ 24 ตุลาคม 2549 เวลา 15.00 น. ณ วังสุโขทัย นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับนครรัฐวาติกันซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


    ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของนครรัฐวาติกัน
    ศาสนจักรวาติกันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ 167 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มี 64 ประเทศที่เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำวาติกันที่กรุงโรม ศาสนจักรวาติกันสนใจเป็นพิเศษในปัญหาสันติภาพ การลดกำลังอาวุธ และความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งปัญหาทางด้านสังคม วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ของโลกปัจจุบันด้วย

    วาติกันมีผู้สังเกตการณ์ถาวรประจำอยู่ในองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น สหประชาชาติ ทั้งที่นครนิวยอร์กและที่นครเจนีวา และในองค์การชำนัญพิเศษต่างๆ ของสหประชาชาติ ได้แก่ UNESCO, FAO, WHO และ ILO เป็นต้น ดังนั้น ในการประชุมสหประชาชาติและองค์การชำนัญพิเศษต่างๆ จะมีตัวแทนจากศาสนจักรวาติกันเข้าร่วมประชุมด้วย

    สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ทรงมีบทบาทอย่างมากในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ กว่า 80 ประเทศ และเดินทางเยือนประเทศทั่วโลกกว่า 150 ประเทศ รวมทั้งริเริ่มการกระชับความสัมพันธ์กับศาสนาต่างๆ เช่น อิสลาม ฮินดู คริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์

    สมเด็จพระสันตะปาปาฯ ทรงสนพระทัยในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชนและปัญหาด้านมนุษยธรรมต่างๆ โดยมิใช่เป็นไปในลักษณะทางการเมือง ทรงวิงวอนต่อประชาคมโลกเพื่อให้ยุติความขัดแย้ง และหันมาแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีในหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนีย ยูโกสลาเวีย รวมทั้งทรงเป็นผู้นำในการรณรงค์ขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลกเพื่อนำไปช่วยผู้ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังทรงออกแถลงการณ์ที่จะสนับสนุนบทบาทของศาสนาคริสต์ในการส่งเสริมระเบียบใหม่ของโลกให้เป็นโลกที่มีความสุขและสันติภาพด้วย

    25 ตุลาคม 2549

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×