คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #187 : เอาตาเขามาใส่ตาเรา ไปดูกันว่าสัตว์อื่นมองเห็นยังไง
เอาตาเขามาใส่ตาเรา ไปดูกันว่าสัตว์อื่นมองเห็นยังไง
ดวงตามนุษย์เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของดวงตาที่มีอยู่บนโลกนี้
ที่ช่วยให้มนุษย์และสัตว์มองเห็นและอยู่รอดได้ในสิ่งแวดล้อม
ดอกบัวสีชมพูสดใส แต่ดวงตาสุนัขมองไม่เห็นสีสัน
80% ของการรับรู้โดยประสาทสัมผัสของคนเรา มาจากการมองเห็นผ่านดวงตา
แต่ดวงตาบนโลกของเราไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว สัตว์นานาชนิดต่างมีดวงตาที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบของ
วิวัฒนาการที่จะทำให้พวกมันอยู่รอดได้ในสิ่งแวดล้อม ดวงตาของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นแบบไหน
มองเห็นภาพเป็นเช่นไร ไปพิสูจน์กันได้ในงานมหกรรมวิทย์
"มหัศจรรย์แห่งดวงตา" หนึ่งในนิทรรศการหลักของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ประจำปี 2552 ที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานจำนวนมาก และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้า
ร่วมชมและเก็บข้อมูลมาฝากกัน ตั้งแต่ดวงตาแรกของโลก วิวัฒนาการของดวงตา และดวงตาของสัตว์นานาชนิด
การมองเห็นของมนุษย์ช่วยให้เรารับรู้ได้มากถึง 80% จากประสาทสัมผัสทั้งหมดของเรา
ดวงตาจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีการทำงานที่ซับซ้อนมาก ขณะเดียวกันก็เป็นอวัยวะที่บอบบางมากด้วย
แต่เราก็มีเบ้าตา เปลือกตา และขนตา ช่วยปกป้องดวงตาของเราจากอันตรายต่างๆ
เมื่อแสงจากวัตถุสะท้อนเข้าสู่ตาของเรา อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นจะทำงานร่วมกันอย่างอัตโนมัติ
และทำให้เราเห็นภาพของวัตถุนั้น ดวงตาจึงเป็นแบบอย่างของการทำงานของกล้องถ่ายภาพ
แต่ก็ยากยิ่งที่กล้องถ่ายภาพใด จะมีประสิทธิภาพการทำงานอันซับซ้อนได้ทัด เทียมกับดวงตาของเรา
ตาคู่แรกของโลก รู้แค่มืดหรือสว่าง
ตาดวงแรกของโลก ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 540 ล้านปีที่แล้ว ในกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ดวงตาแบบแรกของโลก สามารถรับรู้ได้เพียงความสว่างและความมืดเท่านั้น
ซึ่งตาแบบ "อาย สปอต" (eye spot) ของพานาเลีย ก็จัดว่าเป็นแบบเดียวกับตาดวงแรกของโลก
ตาแบบ "อาย สปอต" ในยุคเริ่มแรกเริ่มมีลักษณะเป็นแบบแผ่น และค่อยๆ วิวัฒนาการไปเป็นแบบถ้วย
ต่อมาจึงมีการพัฒนาเลนส์ตาขึ้น เพื่อให้รับภาพได้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จนกลายเป็นรูปแบบของดวงตาที่มองเห็นภาพ และสีสันได้ชัดเจนอย่างในปัจจุบัน
ดวงตาหนึ่งในวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด
ดวงตามนุษย์
เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของดวงตาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก ที่ผ่านการวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน
เพื่อให้เหมาะสมกับการอยู่รอดในแต่ละสภาพ แวดล้อม ดวงตาของสัตว์จึงมีหลายรูปแบบที่ต่างกันไป
ทั้งขนาดและตำแหน่งของดวงตา แต่มีองค์ประกอบที่สำคัญเหมือนกัน หนึ่งในนั้นคือ เซลล์รับภาพ
ได้แก่ เซลล์รับแสง และเซลล์รับสี โดยตาของสัตว์ที่หากินกลางคืนจะมีเซลล์รับแสงมาก
ทำให้เห็นภาพได้ในที่มืด ส่วนสัตว์ที่หากินกลางวันจะมีเซลล์รับสีมากกว่า เพื่อให้แยกแยะสีของเหยื่อและศัตรูได้
ดวงตาขนาดใหญ่
ช่วยเพิ่มปริมาณของเซลล์รับแสงที่ช่วยรับแสงเข้าสู่ดวงตา
จึงมักพบในสัตว์ที่หากินเวลากลางคืน หรืออาศัยอยู่ในที่ที่มีแสงน้อย เช่น นกฮูก ลิงลม
ตาที่อยู่ด้านข้าง
ช่วยให้เห็นภาพมุมกว้างได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังโดยไม่ต้องหันหัว
มักพบในสัตว์ที่เป็นผู้ถูกล่า เช่น ปลาขนาดเล็ก สัตว์กีบจำพวกเก้ง กวาง
ตาที่อยู่ด้านหน้า
มักพบในสัตว์ที่ล่าเหยื่อเป็นอาหาร เพราะช่วยให้เห็นและกะระยะของเหยื่อได้ชัดเจน
ตาที่อยู่ด้านบน
มักพบในสัตว์ที่หากินใกล้พื้นดิน เพื่อช่วยให้มองเห็นเหยื่อหรือศัตรูที่อาจมาเหนือหัวได้
ตาที่ค่อนไปทางด้านล่าง ช่วยให้มองเห็นเหยื่อที่อยู่ต่ำลงไปจากตัว เช่น นกยาง
ตาที่ค่อนไปทางด้านหลังของนกปากซ่อม
ทำให้มองเห็นศัตรูที่มีจากด้านหลังได้ในขณะที่มันก้มหัว และทิ่มปากลงดินเพื่อหาอาหาร
โอ้โห! ตาแบบนี้ก็มีในโลก
งู ดวงตาที่ไร้เปลือก
งู ไม่มีเปลือกตา จึงหลับตาไม่ได้ ทำให้เราเห็นงูลืมตาโพลงอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งดวงตาที่เปิดกว้างอยู่ตลอดเวลาของงูนั้นมีเกล็ดใสครอบอยู่ เพื่อปกป้องดวงตาเวลาที่เลื้อยลงไปใต้ดิน
ขณะที่งูจำพวกงูเขียวหางไหม้ และงูเหลือม มีโครงสร้างรับสัมผัสที่เรียกว่า พิต ออร์แกน (Pit organ)
อยู่ระหว่างดวงตากับจมูกช่วยเสริมการมองเห็นภาพ โดยรับสัมผัสคลื่นความร้อนจากตัวเหยื่อ
และแปลข้อมูลจากความต่างของอุณหภูมิแวดล้อม ทำให้งูเชื่อมโยงการมองเห็นภาพด้วยดวงตา
และความร้อนเข้าด้วยกัน จึงล่าเหยื่อได้ดีแม้ในยามกลางคืน
ตาวาฬและโลมา
มีเยื่อหุ้มตาขาวหนา และมีกระจกตาหนา มีกล้ามเนื้อตามาก ช่วยปกป้องดวงตาเมื่ออยู่ใต้น้ำและน้ำเย็น
เลนส์ตาเป็นทรงกลม ทำให้มองเห็นภาพใต้น้ำลึกที่มีแสงน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตานกแสก, นกเค้าแมว
มีดวงตา กระจกตา และรูม่านตาขนาดใหญ่ มีเซลล์รับแสงจำนวนมาก
เพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นได้ดีในที่มืด จึงรับรู้ได้ไวต่อการเคลื่อนไหวแต่ไม่ไหวต่อสี
ตาของนก
นกเกือบทุกชนิดมีหนังตาแผ่นที่ 3 ที่เป็นเยื่อบางๆ คลุมดวงตาของนกไว้ ซึ่งคอยทำความสะอาดดวงตา
และปกป้องดวงตาจากลมและแสงแดดในขณะบินโต้ลมแรง
ส่วนนกที่ต้องดำน้ำหาอาหาร หนังตานี้จะช่วยกันน้ำได้
หนังตาพิเศษนี้จึงเปรียบเสมือนแว่นกันแดด แว่นกันลม และแว่นตาดำน้ำของนกก็ว่าได้
ตาแมงมุม
แมงมุมกระโดดมีตาทั้งหมด 8 ดวง เพื่อช่วยในการล่าเหยื่อได้อย่างดีเยี่ยม ตารองด้านข้างและด้านบนของหัว
ช่วยหาตำแหน่งของเหยื่อได้ไวแม้ให้ภาพไม่ชัดเจนนัก
เมื่อพบตำแหน่งเหยื่อแล้วจะใช้ตาหลัก ที่อยู่ด้านหน้าแยกแยะรายละเอียด
เพื่อระบุตำแหน่งที่แน่ชัดอีกครั้งก่อนจู่โจม โดยมีตารองอีกชุดที่อยู่ใกล้กับตาหลักช่วยกะระยะได้อย่างแม่นยำ
หมึกยักษ์ สุดยอดดวงตาแห่งโลกสีคราม
หมึก ยักษ์เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มีดวงตาพัฒนาสูงสุดในกลุ่มสัตว์น้ำ
แต่ใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยในทะเล มีปมประสาทตาขนาดใหญ่
ดวงตาไวต่อแสงมากกว่ามนุษย์ 5 เท่า มองเห็นได้ดีในที่มืดอย่างใต้ทะเลลึกที่แสงอาทิตย์ส่องลงไปไม่ถึง
และสามารถปรับโฟกัสของดวงตาได้
หมึกสาย ดวงตาคล้ายหมึกยักษ์แห่งโลกใต้ทะเลลึก
แมลงปอ
ดวงตาของแมลงปีก มีขนาดใหญ่มากถึง 2 ใน 3 ของส่วนหัว เป็นตารวม 1 คู่
ประกอบด้วยเลนส์รูปหกเหลี่ยมขนาดเล็กจำนวนหลายพันเลนส์ เรียงต่อกันคล้ายรังผึ้ง
คล้ายกับมีดวงตาขนาดเล็กจำนวนมากมารวมกันเป็นตาใหญ่ดวงเดียว
แมลงปอจึงมองเป็นภาพจากเลนส์แต่ละส่วนมาประกอบเป็นภาพเดียวกัน คล้ายภาพจิ๊กซอหรือภาพโมเสก
ดอกบัวที่แมลงปอเห็นเป็นภาพแบบนี้เอง (คล้ายภาพจิ๊กซอ หรือ ภาพโมเสก)
เหยี่ยว นักล่าแห่งเวหา
เหยี่ยวมีดวงตาขนาดใหญ่ที่ค่อนไปทางด้านหน้าของศีรษะ มองเห็นภาพได้ในมุมกว้าง
มุมมองตรงกลางจะถูกขยายออก เพื่อมองเห็นเหยื่อได้ในระยะไกลเหมือนกับมองด้วยกล้องส่องทางไกล
เห็นภาพแบบ 3 มิติ ที่มีความคมชัดทั้งภาพและสีสัน
นี่เป็นส่วนหนึ่งของมหัศจรรย์แห่งดวงตาของสัตว์โลก
ที่ช่วยในการมองเห็นและเอาตัวรอดอยู่ได้ ในสภาพแวดล้อมที่ดำรงชีวิตอยู่
ภายในนิทรรศการมหัศจรรย์แห่งดวงตา ยังมีสัตว์อีกหลากหลายชนิดที่รอน้องๆ เยาวชน
และผู้สนใจไปร่วมพิสูจน์กันว่า ดวงตาของพวกเขามองเห็นได้เหมือนหรือต่าง จากดวงตาของเราอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นสุนัข ผึ้ง ปลา ม้า กิ้งก่า ตัวตุ่น กระทิง สัตว์เลื้อยคลาน วาฬ และโลมา
ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000092858
ความคิดเห็น