ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ภาษาตามโพร โอโห้...ปักษ์ใต้

    ลำดับตอนที่ #18 : มารู้จักคำศัพท์ภาษาตามโพรกันเถอะ ! (หมวด พ)

    • อัปเดตล่าสุด 30 ม.ค. 54


    หมวด พ

    พดพร้าว  ( ออกเสียงเป็น พ็อด-พร่าว) ) (น.) เปลือกมะพร้าว ( ที่ปอกแยกออก
            จากกระโหลกมะพร้าวแล้ว )

    พรกพร้าว  (ออกเสียงเป็น ผร็อก) (น.) กะลามะพร้าว 
           
    ( มาจากภาษามลายู ว่า porok )
             
    " ขี้ยาง พรก "  = ยางที่แห้งติดกะลามะพร้าว(ลอกออกเพื่อนำไปขายได้แต่
            ถือเป็นเศษยาง มีราคาต่ำ )

    พรวน,  โหลก-พรวน (น.) เงาะพันธุ์พื้นเมือง

    พรัยน้ำ   (น.)  พรายน้ำ ฟองน้ำที่ผุดในบ่อ ในสระ   ฯลฯ    (สำเนียงสงขลา จะออก
             เสียงสั้น  
    พรัย  พราย )

    พริก (ออกเสียงเป็น ผริก, ผลิก ) (น.)  พริกไทย
            ในภาษาไทยถิ่นใต้ จะเรียกพริกไทย  ว่า
    พริก  และ เรียกพืชในสกุลพริก (สกุล
           
    Capsicum  
    วงศ์  SOLANACEAE ) ว่า  ดีปลี

    พริ่ม   1. (ว.)  เคลิ้มๆ, เริ่มจะหลับ    
               
    " พอพริ่มๆ อิหลับ "  = พอเคลิ้มๆจะหลับ    
              2.
    (ว.)   (น้ำ) ปริ่มๆเต็ม จนเกือบจะล้นแล้ว
               
    " น้ำในตุ่มเต็มพริ่มๆ "   =  น้ำในตุ่มเต็มปริ่มๆเกือบจะล้นแล้ว

    พลางพ้น(ว.)ชัดเจนแล้ว,เป็นไปแล้วอย่างทันทีทันใด (จากเดิมที่ยังมองไม่ชัด หรือ
            ยังสรุปไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไร) คำว่า
    พลางพ้น นี้จะใช้กับสิ่งที่ไม่คาดคิด ไม่ได้
            หวังไว้  เช่น
         
     
           " กะว่าจะตั้งวงกินเหล้าให้หรอย   แต่เมียหลวงไข่ ตามมาอาละวาด วงเหล้ากะเลิก
            พลางพ้น ..
         ความหมายของประโยคนี้คือ    " คิดว่าจะตั้งวงกินเหล้าให้
            อร่อยแต่(บังเอิญ)เมียของพี่ไข่ตามมาอาละวาด วงเหล้า(ที่กำลังสนุก)ก็ต้องเลิก
            ทันที "     
    กะเลิกพลางพ้น  = ก็ล้มเลิกไปเลยทันที

    พลาม พลาม  (ว.) ที่ค่อนข้างเร็ว  
            คำนี้มักใช้คำอธิบายลักษณะการเดิน เช่น  
          
     " หลวงไขเดินพลาม พลาม มาถึงเริ่น กะเข้าครัวเลย "
            พี่ไข่ (น้าไข่) เดินมาอย่างเร็ว  มาถึงเรือน  ก็เข้าไปในครัวเลย (คงจะหิวข้าว)

    พลวก (ก.) ทรุด  เอียง    " ต้นไม้ใหญ่ พลวก"  ประโยคนี้ในภาษาไทยถิ่นใต้จะใช้ใน
            ความหมาย   ต้นไม้ใหญ่ทรุดเอียง  เนื่องจากพื้นดินอ่อนตัว ซึ่งอาจจะล้ม หรือไม่
            ล้มก็ได้     (กรุณาเปรียบเทียบกับภาษามลายู  ambruk )

    พล้อ   (น.) ภาชนะใส่น้ำมีหูจับข้างเดียว, กระป๋องที่มีหูหิ้วข้างเดียว  ( มีขนาดเล็กพอ
            ที่จะใช้มือจับข้างเดียวได้ รูปทรงกระบอกตรงๆ ไม่โค้งงอน )

    พลัด  1.  (ก.) ตก  หล่น 
           
    ในภาษาไทยถิ่นใต้มักจะใช้คำว่า พลัด มากกว่าคำว่า ตก  เช่น  
              
    " เมียถีบพลัดเตียง " ( เมียถีบตกเตียง)  " พลัดต้นตาล " (ตกต้นตาล)
              
    " เมาพลัดพาน "  (เมาตกสะพาน)

            2.  
    (ว.)  (ฝน)พลัด หมายถึง ฝนในเดือนหกเดือนเจ็ด  (พฤษภาคม -มิถุนายน) 
            ซึ่งจะพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้
     (มาจากภาษามลายู ว่า  barat แปลว่าทิศ
            ตะวันตก)

    พลิกเหมีย  (ว.)  แพลง, ตะแคง  (คำนี้มักใช้ในความหมาย - พลิกกลับไปอยู่ตำแหน่ง
             ที่ผิดปกติ  เช่น 
    " ตีนพลิกเหมีย "  =  เท้าพลิก เท้าแพลง

    พลุ่งคลักๆๆ  (ว.)   (น้ำ) เดือดปุดๆ

    โพลก,  ต่อโพลก  (น.)   พรุ่งนี้

    โพลก รือ   (น.)  วันข้างหน้า, อนาคตที่จะถึง
             
    "อีสาวเหอ อดสาเรียน ตะ  โพลก รือ อี้ ด้ายบาย "
             
     อีหนู  ขยันเรียน นะ  วันข้างหน้าจะได้สบาย

    พวบ  (ว.)   อวบ, อ้วน (มักใช้กับเด็กเล็กๆ)

    พวด   (น.)  ดอกเบี้ย
         
    " กะอีมเบี้ยเขามาใช้ เวลาเขามาเก็บเบี้ยพวด กะอย่าบ่น แหละ "
           
    ก็ยืมเงินของเขามาใช้ เวลาเขามาเก็บดอกเบี้ย ก็อย่าบ่น ซิ
         
        
     คำว่า พวด  นี้ เป็นคำไทยถิ่นใต้(คลองหอยโข่ง สงขลา )ดั่งเดิม ที่ปัจจุบันหาคนใช้
          คำนี้ ได้น้อยมาก  เด็กรุ่นหลังมักจะไม่เข้าใจ และ ลืมเลือนคำนี้ไปแล้ว

    พวมพร้าว   (น.) จาวมะพร้าว

    พอม (ว.) พุพอง (ใช้กับผิวหนังที่โดนของร้อน)
            
     
    "น้ำร้อนลวกมือ พอม แหม้ด แล้ว"   = น้ำร้อนลวกมือ  พองหมดแล้ว

    พ่อท่าน (น.) พระภิกษุที่เป็นเจ้าอาวาส

    พ่อเฒ่า ( ออกเสียงเป็น ผ่อ-ท่าว) (น.)    ตา (พ่อของแม่)

           (คำว่า ตา ในภาษาใต้จะมีความหมายเพียงเป็นญาติผู้น้องของ แม่เฒ่า พ่อเฒ่า
           หรือของปู่ ย่า เท่านั้น      ดังนั้น ลูกหลานปักษ์ใต้หากจะพูดใต้แล้ว จะต้องเรียก
           พ่อของแม่ ว่าพ่อเฒ่า จะเป็นการแสดงถึงความใกล้ชิด  แต่ถ้าจะพูดภาษาไทย
           บางกอก ก็ควรใช้คำว่า ตา เพื่อให้ถูกต้องหลักไวยากรณ์ไทยมาตรฐาน)

    พอลายลุกขี้   (ว.)   มีน้อยนิดพอจะละลายปิดก้นหม้อ (หรือก้นกะทะ) 
           คำนี้ จะใช้เมื่อของที่เหลืออยู่มีน้อยมาก เช่น
              
    "น้ำเทะเรียน เหลือ พอลายลุกขี่หม้อไม่พอกินหรอก" 
           น้ำกะทิทุเรียน เหลือนิดเดียวพอจะละลายปิดก้นหม้อ ไม่พอกินหรอก   
           คำว่า 
    ลุกขี้  จะหมายถึง ก้นของภาชนะใส่ของ เช่น
                
       ลุกขี้หม้อ   =  ก้นหม้อ
                    ลุกขี้ตุ่ม     =  ก้นตุ่ม

    พะ    (ว.)  (น้ำ)ท่วม, (น้ำ)นอง
            คนสงขลา
    จะเรียกฤดูฝนซึ่งจะมีน้ำหลากอยู่เป็นประจำ ระหว่างเดือน 12 ถึงเดือน
            อ้ายว่า   "ดูพะ" หรือ "ฤดูพะ"   ( มาจากภาษามลายู ว่า  bah )

    พา  (ก.) 1. นำ (คน, สัตว์, สิ่งของ)ไปด้วย (ความหมายในภาษาไทยทั่วไป)
           2. ฌาปนกิจศพ ในภาษาไทยถิ่นใต้ (สงขลา
    -ริมทะเล)
    พา จะใช้หมายถึง การ
           ฌาปนกิจศพ  ส่วนในเขตสงขลาตอนใน (หาดใหญ่-คลองหอยโข่ง) จะใช้คำว่า
          
    ปลง ในความหมายเดียวกัน ถือเป็นคำสุภาพเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะพูดตรงๆว่า เผาศพ 
           ตัวอย่างเช่น 
              
    " งานศพพี่หลวงไข่ ญาติๆเขากำหนดจะพาวันไหน "  หรือ
               
    " งานศพพี่หลวงไข่ ญาติๆเขากำหนดจะปลงวันไหน "
            ความหมายคือ  งานศพของพี่ไข่ ญาติๆเขากำหนดจะฌาปนกิจศพวันไหน

    พาไล  (น.) ห้องหรือสถานที่ๆต่อเติมจากตัวบ้าน ไว้เป็นการเฉพาะ
            เช่น
    พาไล ของโนราโรงครู     ในกรณีต่อเติม  มักจะใช้คำสั้นๆว่า พะ เช่น
                   "เรือน
    ซีกนี้พะออกไปเป็นครัว" (พาไล มาจากคำมลายู ปัจจุบันชาวมาเลย์
            จะใช้คำว่า  balai ในความหมาย ห้องประชุม หรือสำนักงาน
    )

    พายเด้ง  (ว.) สะพายแล่ง,  ลักษณะการห้อยของเฉียงบ่า 
           ลักษณะการนุ่งผ้าที่ใช้ขอบผ้าข้างหนึ่ง พาดบนบ่าและปล่อยขอบผ้า เฉียงบ่าลงมา
           หรือการห่มผ้าถุงหรือโสร่ง ที่เปิดไหล่ข้างเดียว  ในภาษาไทยถิ่นใต้จะเรียกว่า 
         
    " นุ่งผ้าพายเด้ง "

    พากย์ (ก.) คำพูด คำร้อง เวลาเล่นโขน หนัง หรือละคร  คำนี้ในภาษาไทยถิ่นใต้จะ
           ใช้ในความหมาย  ดีแต่พูดแต่ไม่ทำอะไรเลย  ทำอะไรน้อยมาก หรือให้คนอื่นทำ
           แทน  เช่น 
             
    " หลวงไข่ เท่าแต่ พากย์ แกทำไหรไม่เป็นหรอก " - พี่ไข่นะ ดีแต่พูดแกทำ
           อะไรไม่เป็นหรอก

    พัก   1.(ก.) พัก   หยุดชั่วคราว   2. (น.)  คราวหนึ่ง
            3.
    (ว.)  ต้อง
         
     "เมียหลวงไข่ ว่า วันนี้ไม่พักกินข้าว กินแต่ หวาก กะพอ"
          
    "เมียของพี่ไข่ บอกว่า วันนี้ไม่ต้องกินข้าวแล้ว กินแต่ น้ำตาลเมา ก็พอ"

    พังกะ (น.)   นกกระเต็น  ( นกกินปลาชนิดหนึ่ง  มีปากแหลม )
           
     "หัวพังกะ"  เป็นคำที่ใช้เรียกด้ามกริชที่มีจะงอยแหลม คล้ายหัวของนกพังกะ

    พันผรื่อ,  เป็นพันผรื่อ (ว.) เป็นอย่างไร ? ( ดูคำว่า ผรื่อ เพิ่มเติม )

    พิดหนา  (ก.)  พิจารณา ตรวจดูอย่างละเอียด
           ( ปัจจุบันคำนี้ มีการใช้ น้อยมาก  ถ้ามี มักเป็นคำพูดของผู้เฒ่าผู้แก่ อายุ
    60 ปี
           ขึ้นไป )

    พุก   (ว.)    ผุ       " ไม้พุก "  = ไม้ผุ
              
    " ผีแห้งกับโลงพุก " คำสำนวนที่ใช้เปรียเปรยว่า เหมาะสมกัน หรือเข้ากันได้ดี
           เหมือนกับโครงกระดูกแห้งๆ ที่ควรจะคู่กับโลงที่ผุๆพังๆ

    พุงลั่น  (ก.)   ท้องร้อง  (หิวข้าว)

    พุงขึ้น  (ก.)  ท้องอืด

    พุ่งผิ่ง  (น.) ต้นพุ่งผิ่ง,  ต้นโทงเทง ( พันธ์ไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง เป็นสมุนไพร ทำยาได้ )

    พูด ลกแล็ก ,    แหลง ลกแล็ก     (ก.)  พูดเหลาะแหละ เชื่อไม่ได้

    เพ็ง    (ว.) เดือนเต็มดวง
            
    "  เดือนเพ็ง " =   เดือนเพ็ญ
            
    "  วันเพ็ง "    =  วันเพ็ญ

    แพล็ง  (ก.)  ตาย   (คำนี้ มักใช้พูดเล่น ไม่เป็นการเป็นงาน)  เช่น
            
    ...ถึงจะรวยล้นฟ้า แต่เดี๋ยวกะแพล็ง เหมือนกันทุกคน แหละ

    แพล็ด แพล็ด (ว.) เละ, เหลว  คำนี้ มักใช้อธิบายลักษณะของทางเดินที่เละเทะสกปรก
            หรือ ลักษณะของคนติดเหล้า ที่มักจะเมาอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า
    เมา
    แพล็ด แพล็ด

    แพ้หว้า   (ว.) แพ้ตบะ, อาการที่เอาชนะคู่ต่อสู้ไม่ได้  มักใช้ในอธิบายในเรื่องวัวชน
              หรืออาจจะนำไปเปรียบเปรยอาการของสามีที่เกรงกลัวภรรยา(กลัวเมีย)

    แพงเชิง,  ขัดหมาด  (ว.)   (นั่ง)แพนงเชิง  ,  (นั่ง) ขัดสมาธิ 

    เพิง   (น.)  ที่พักชั่วคราว ,    เพิงหลังคาที่ลาดลงไปทางเดียว    
            (ว.) 
    " นั่งทำเพิง " = ลักษณะการนั่งของสาวๆที่นุ่งผ้าถุง แล้วไม่ระมัดระวังผ้าถุง
             เปิด จนคนผ่านไปผ่านมาเห็นของลับ
    ( นั่งเปิดหวอ )
     

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน
    นิยายแฟร์ 2024

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×