คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #11 : มารู้จักคำศัพท์ภาษาตามโพรกันเถอะ ! (หมวด ต)
หมายเหตุ : |
ตก (ออกเสียง ต๊อก ) 1. (ก) หล่น, หล่นลง ( ตรงตามความหมายในภาษาไทย
มาตรฐาน), เรียกสินสอดทองหมั้น (ในภาษาถิ่นใต้ คำมาจาก เงินทองที่ใช้
ตกแต่ง ) ตัวอย่างเช่น
" พี่อิไปขอน้อง แล้วนะ บอกแม่กัน อย่าตกแพงแรง "
ความหมายคือ " พี่จะไปสู่ขอน้องแล้วนะบอกแม่ด้วยอย่าเรียกสินสอดมากนัก"
2. (น.) ทิศตะวันตก (ในภาษาถิ่นใต้ จะใช้เป็น ข้างตก, ประตก, มละ ตก )
ตักแก (น.) ตุ๊กแก
ตังหุน (น.) วุ้นเส้น
ตั้งเขลง (ว.) ลักษณะการวางของ ตั้งของที่มองเห็นชัด,วางเด่นอยู่
ต้น (ออกเสียง ต๊อน ) 1. (น.) โคน, ลำ, ทีแรก, จุดเริ่ม (ความหมายทั่วไป ตาม
ภาษาไทย มาตรฐาน)
2. (น.) คำที่ใช้เรียกพระภิกษุที่บวชใหม่ ของคนไทยถิ่นใต้ ตัวอย่างเข่น
" ต้นคล้อย พระที่จำวัดอยู่ที่กุฏิข้างเมรุ ดูท่าทางจะเป็นพระที่เคร่ง ผิดกับ
พ่อหลวงหนุ่ย ที่ชอบตั้งตนเป็นเจ้าสำนักปลุกเสกจตุคาม จนลืมกิจของสงฆ์ "
ความหมายคือ พระคล้อย ที่จำวัดอยู่ที่กุฏิข้างเมรุ ดูท่าทางจะเป็นพระที่เคร่ง
ผิดกับพระหนุ่ย (พระที่บวช ตอนแก่) ที่ชอบตั้งตนเป็นเจ้าสำนักปลุกเสกจตุ
คาม จนลืมกิจของสงฆ์"
เพื่อให้เข้าใจความหมายและการใช้คำ กรุณาเปรียบเทียบจากตัวอย่างต่อไปนี้
นายคล้อยเป็นชายที่ยังไม่ได้บวชเรียน คนที่รู้จักสนิทสนมซึ่งเป็นน้องๆของ
นายคล้อย จะเรียกนายคล้อยว่า "บ่าวคล้อย" เมื่อนายคล้อยอุปสมบทเป็น
พระภิกษุ ชาวบ้านจะเรียก พระคล้อย พระบวชใหม่รูปนี้ ว่า "ต้นคล้อย" แต่
เมื่อพระคล้อยสึกออกมา เด็กๆ หรือ น้องๆ จะเรียกนายคล้อยคนใหม่ ว่า
" หลวงคล้อย " ขณะที่คนที่อาวุโสกว่านายคล้อย จะเรียกนายคล้อยทิดสีก
ใหม่ว่า "เณรคล้อย" และถ้าเวลาผ่านไปจน นายคล้อย แก่ชรา แล้วกลับมา
อุปสมบทอีกครั้ง ชาวบ้านก็เรียกพระภิกษุรูปนี้ ว่า พ่อหลวงคล้อย
(ดูความหมายของ คำว่า พ่อหลวง เพิ่มเติม)
ต้ม (ออกเสียง ต๊อม ) 1.(ก.) ทำให้สุกโดยเอาน้ำใส่ภาชนะ แล้วทําให้ร้อนให้เดือด
หรือให้สุก เช่น ต้มข้าว, ต้มนํ้า , ต้มไก่ ... (ความหมายตรงกับความหมายใน
ภาษาไทยมาตรฐาน)
2. (น.) ชื่อขนม ที่ทำมาจากข้าวเหนียวผัดกับกะทิและถั่วดำ (หรือไม่มีถั่วดำ ก็
ได้)ใส่ลงใน "ห่อต้ม"ที่ทำจากใบกระพ้อ เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำไปนึ่งให้สุก
ขนมชนิดนี้จะใช้ในงานบุญเดือนสิบและวันลากพระตักบาตรเทโว ประจำปี ของ
คนไทยถิ่นใต้
" แทงต้ม " - หมายถึงการนำข้าวเหนียวที่ผัดกะทิแล้ว ใส่ลงใน "ห่อต้ม" ที่ทำ
จากใบกระพ้อ แล้วสอดใบกระพ้อมัดให้แน่น "ต้ม" หรือ "ขนมต้ม" นี้ จะมีรูป
เป็นสามเหลี่ยมสวยงาม คนปักษ์ใต้(คลองหอยโข่ง,หาดใหญ่ สงขลา)สมัยก่อน
จะรู้ว่า ลูกสาวบ้านไหนเป็นคนละเอียดอ่อน รู้จักประดิษฐ์ประดอย ก็ด้วยการดูว่า
"ต้ม "ที่พาไปทำบุญที่วัด ของใคร จะสวยกว่ากัน
" ทำต้ม " - หมายถึงกระบวนการทำขนมต้มทั้งหมด
ตัวอย่างประโยคภาษาไทยถิ่นใต้ ของผู้เฒ่าผู้แก่ ต่อไปนี้
" เณรไข่เหอ หมึงไปหาใบพ้อ ให้แม่ สักมัดทิ อิถึงเดือนสิบแล้ว เดี๋ยวอิทำต้ม
ไม่ทัน หมึงไปหาใบพ้อ แล้วให้อีสาวแทงต้ม ช่วยแม่ นะโหลก นะ "
ความหมาย คือ
ไข่เอ้ย เอ็งไปหาใบกระพ้อให้แม่สักมัดซิ ใกล้จะถึงเดือนสิบแล้ว เดี๋ยวจะทำ
ทำต้มไม่ทัน เอ็งไปหาใบกระพ้อ แล้วให้น้องสาวแทงต้ม ช่วยแม่ นะลูก นะ "
( ดูวิธีการ ทำต้ม / แทงต้ม ได้จาก บันทึกของหนูรี )
ภาพจาก บอร์ดสนทนา ประพันธ์สาส์นดอทคอม
" ต้ม " ขนมในงานบุญเดือนสิบของคนไทยถิ่นใต้
ตัดยาง (ก.) กรีดยาง
เต๊ะ (น.) กุฏิ คำนี้ในภาษาสงขลา- คลองหอยโข่งใช้เรียกเฉพาะ กุฏิของเจ้า
อาวาส ในภาษาไทยเจ๊ะเห จะเรียกว่า กะเต๊ะ
ตรับ ตรับ (ว.) แฉะ ชื้น มีน้ำชุ่ม
" ทางเดินไปสวนยาง เป็นที่ลุ่ม เปียก ตรับ ตรับ เดินลำบากมาก " - ทางเดิน
ไปสวนยาง เป็นที่ลุ่ม เปียกแฉะ เดินลำบากมาก
ตรัน (ก.) ค้ำ, ยัน, ต้าน (อยู่คนเดียว โดยที่ฝ่ายตรงข้ามมีกำลังมาก หรือใหญ่
เกิน ที่จะต่อสู้ได้)
" เรื่องใหญ่ พันนี้ ต้องช่วยกันหลายคน ตรันอยู่คนเดียว ไม่ได้ "
เรื่องใหญ่ อย่างนี้ ต้องช่วยกันหลายคน ต้านอยู่คนเดียว ไม่ได้หรอก
" ถือฆ้องให้เพื่อนตี ตรันวานหมีให้เพื่อนเล่น" -สำนวนไทยถิ่นใต้ใช้เปรียบถึง
การทำประโยชนให้กับผู้อื่น อย่างเต็มที่ ถึงกับ ยอมเหนื่อย ยอมเจ็บแทน โดย
ที่ไม่ได้รับผลบตอบแทนอะไรเลย
ตร้า (น.) ตะกร้า คำนี้บางครั้ง จะออกเสียงเป็น ซ่า
( เสียงควบ กรฺ แปลงเป็นเสียงควบ ตรฺ ในภาษาไทยถิ่นใต้ )
ตร้อ (น.) ตะกร้อ " ฉัดตร้อ " - เตะตะกร้อ
คำนี้บางครั้งจะออกเสียงเป็น ซ่อ
( เสียงควบ กรฺ แปลงเป็นเสียงควบ ตรฺ ในภาษาไทยถิ่นใต้ )
ตรอง (น.) กระชอน (ที่ใช้กรองน้ำกระทิ)
ตรอม (น.) สุ่มที่ใช้สำหรับขังสัตว์ปีก ทำด้วยไม้ไผ่สาน "ตรอมไก๋" = สุ่มไก่
ตรฺอด (น.)มดชนิดหนึ่งตัวเล็กๆสีน้ำตาลที่ทำรังบนต้นไม้ในป่าพรุป่าเสม็ดรังมีสีดำ
หรือน้ำตาลเข้ม
มดตรอด เป็นมดที่ไม่กัด เมื่อถูกรบกวนจะปล่อยน้ำเหนียวๆใส่ผู้รุกราน รังมด
ตรอดในป่าเสม็ด มักจะมีตัว "อุง" ( ผึ้งชันนะรง ) อาศัยร่วมกันอยู่ในรังแบบพึ่ง
พาอาศัยซึ่งกันและกัน
ดังนั้น ในสมัยก่อนเด็กเลี้ยงวัวในทุ่งป่าเสม็ด จะหาน้ำผึ้ง"อุง"ก็ด้วยการสังเกตุ
รังมดตรอดบนต้นไม้ที่มี"อุง"บินอยู่ข้างๆรังมด ถ้ามีก็จะโค่นต้นไม้ลง เพื่อแกะ
รังมดหาน้ำผึ้ง "อุง"
ตรอย (ว.) กร่อย " น้ำตรอย" - น้ำกร่อย
เตราะ, สายเตราะ (น.) สายน้ำ, ลำธารเล็กๆ ในป่าเขามีน้ำไหลไม่มาก มักมีหิน
และอยู่ต้นน้ำ
เตราะน้ำ (ว.) ( ต้นไม้ )ยืนต้นตายเนื่องจากฝนตกมาก มีความชื้นแฉะเกินไป
แตร็ก แตร็ก (ว.) มากมาย, จำนวนมากจนนับไม่ถ้วน
ตอ 1. (น.) ตอไม้ , ต้นตอ (ความหมายเดียวกัน ตรงตามภาษาไทยมาตรฐาน)
2. (น.) สะตอ
สะตอ ในภาษาไทยถิ่นใต้(สงขลา-คลองหอยโข่ง) มี 2 ชนิด คือ
" ตอหนัก " - สะตอ ( MIMOSACEAE : Parkia speciosa Hassk.)
" ตอเบา " - กระถิน ( MIMOSACEAE : Leucaena glauca Benth.)
ภาษาไทยถิ่นใต้ ในบางแห่ง ( เช่น ฉวาง พิปูน นครศรีธรรมราช ) จะเรียก
กระถิน ว่า ตอแต
ต่อ (ว.) เป็นคำที่ใช้แสดงเวลา หรือเหตุการณ์ที่มาไม่ถึง ยังไม่เกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น
ต่อเดี๋ยว = อีกสักครู่, อีกสักประเดี๋ยว
ต่อเช้า = เช้าวันพรุ่งนี้
ต่อค่ำ = คืนนี้
ต่อโพลฺก = วันพรุ่งนี้ (สำเนียงใต้ฝั่งตะวันตกจะใช้เป็น ต่อโพลฺะ, ต่อโผลฺะ)
ต่อรือ = วันมะรืนนี้
ต่อเรื่อง = วันมะเรื่องนี้
ต่อเดือนสิบ = เดือนสิบที่จะถึง
ต่อเดือนอ้าย = เดือนอ้ายที่จะถึง
ต่อปีหน้า = ปีหน้าที่จะถึง
ต่อใด? = เมื่อไหร่ ? (ใช้ถามถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิด)
ตัวอย่างเช่น "พี่หลวง อิไปเที่ยวบ้านน้อง ต่อใด" ความหมายของประโยคนี้
คือ พี่หลวงจะไปเที่ยวบ้านน้องเมื่อไหร่
ถ้าจะไปเลย ก็ตอบว่า "ไปต่อเดี๋ยว"
ถ้าจะไปคืนนี้ ก็ตอบว่า "ไปต่อค่ำ" ....
(คำว่า ต่อ จะคู่กับคำว่า แรก ซึ่งใช้แสดงเวลาที่ผ่านมาแล้ว )
ต่อแย่ง (ออกเสียงเป็น ต่อ-แหย่ง ) (ก.) 1. เกี่ยงกัน ขัดขืนกัน , 2. ลักษณะการ
ผสมพันธุ์ของสุนัข ภาษาไทยถิ่นใต้เรียกว่า "หมาต่อแย่ง"
ตะ, ต้า (ว.) คำช่วยกริยาบอกลักษณะบังคับ ใช้เหมือนกับคำว่า เถอะ, นะ
" หลบบ้าน ตะ นัอง " - กลับบ้านเถอะน้อง
" แน่งเสียต้า มูสังแหย้ว มาแล้วโด้ " - นิ่งเสียนะจ้ะ มูสังแหย้ว มาแล้วโน่น
ตะกง (น.)ภาชนะมีลักษณะคล้ายถาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าก้นลึกประมาณ ๑๐ ซม.ทำด้วย
อลูมิเนียม หรือเหล็กสแตนเลส (เดิมจะทำจาก ปี๊บน้ำมันก๊าด ผ่าครึ่ง) ใช้ใส่น้ำ
ยางพารา ที่ผสมกับน้ำกรด (ภาษาถิ่นใต้เรียกว่า น้ำส้มยาง) เพื่อให้ยางแข็งตัว
ก่อนเข้าเครื่องรีดให้ยางเป็นผืน ที่มีขนาด กว้างยาว และหนา พอดี
( ในบางท้องถิ่น จะใช้คำว่า พิมพ์ แทนคำว่า ตะกง)
ตัดยาง , ขีดยาง (ก.) กรีดยางพารา
ตัดยางหวะ การรับจ้างกรีดยางพารา
ผลที่ได้ จะแบ่งกับเจ้าของสวนยาง ในอัตรา 5/5 หรือ 6/4 แล้วแต่จะตกลงกัน
ระหว่าง เถ้าแก่( ท่าว แก๊) เจ้าของสวน กับ ลูกกุลี(โหลก กุ หลี) คนที่รับจ้าง
ตัว คำนี้ในภาษาไทยถิ่นใต้(เฉพาะภาษาสงขลา-พัทลุง) มี 2 ความหมาย คือ
1. (น.) ใช้นับจำนวน สัตว์ หรือสิ่งของ
2. (น.) เป็นคำที่ใช้เรียกขานผู้ที่อาวุโสกว่าผู้พูด เป็นคำที่ให้เกียรติ ( เลือนมา
จากคำว่า ต่วน ในภาษามลายูโบราณ ที่ผู้น้อยใช้เรียกขาน ผู้อาวุโสกว่า หรือสูง
ศักดิ์กว่า )
การใช้คำๆนี้ ไปพูดกับผู้หลักผู้ใหญ่ ในจังหวัดอื่น ที่ห่างไกลจากสงขลา มักเกิด
ความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง เพราะผู้ฟังเข้าใจว่า คำว่า ตัว นี้ เปรียบได้กับสัตว์จึง
รู้สึกโกรธ ทั้งๆที่ผู้พูดพูดด้วยความเคารพ ดังนั้น เพื่อเลี่ยงปัญหาความเข้าใจผิด
ดังกล่าว คนสงขลาจึงควรพูดตามธรรมเนียม ในถิ่นนั้นๆ เช่น ในจังหวัดนครศรี
ธรรมราช ก็ใช้คำว่า เติ้น แทน ( อย่างไรก็ตาม คำว่า เติ้น ของชาวนครฯ ก็เป็น
คำที่เลือนมาจาก tuan ในภาษามลายู เช่นกัน)
กรุณาเปรียบเทียบกับภาษามลายู tuan
ตาหลุน (ว.) ตาโปน, ตาถลน,
" ฮู ตาหลุน " (งูตาถลน) = งูสิง : งูไม่มีพิษชนิดหนึ่ง เลื้อยหรือเคลื่อนไหว
ปราดเปรียว ว่องไว
( ในภาษาไทยถิ่นใต้(สงขลา) ไม่มีเสียง ง แต่จะใช้เสียง ฮ แทน ดังนั้น ฮู
ในสำเนียงไทยถิ่นใต้-สงขลา ก็คือ งู ในภาษาไทยภาคกลาง )
ตากาหลา ยายกาหลี, เจ้าเปรว (น.) วิญญาณที่ดูแลป่าช้า(เปรว) ตามความเชื่อ
ของคนไทยถิ่นใต้ ตากาหลา เป็นคำที่เลือนมาจาก กาฬ, พระกาฬ ส่วนยาย
กาหลี นั้น เลือนมาจากคำว่า กาลี, เจ้าแม่กาลี คนไทยถิ่นใต้ดั่งเดิม จะเรียกรวม
เป็น ตากาหลา ยายกาหลี หรือ เจ้าเปรว
ตายพราย (ว.) คำนี้ ใช้เรียก ต้น(กอ)กล้วย ที่ยืนต้นตาย เนื่องจากฝนตกมาก มี
ความชื้นแฉะเกินไป อาการเช่นนี่เรียกอีกคำว่า เตราะน้ำ ก็ได้
ตายาย, หัวโค่ตายาย (น.) บรรพบุรุษ, โคตรเหง้าวงศ์ตระกูล
" ตายายร่วมกัน, หัวโค่ตายายร่วมกัน " ทั้ง 2 คำนี้ ในภาษาไทยถิ่นใต้
(สงขลา - คลองหอยโข่ง) ใช้ในความหมาย มีบรรพบุรุษร่วมกัน หรือ สืบเชื้อ
สายเดียวกัน เฉพาะคำว่าหัวโค่ตายาย มักใช้เพื่อเน้นว่า เป็นญาติพี่น้องที่สืบ
เชื้อสายเดียวกันจริงๆ บางครั้งจะใช้ในการแช่งด่า เช่น
" เบอะ หมัน เบล่อ มาตั้งแต่ หัวโค่ตายาย " - ก็มันบ้ามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย,
บ้าทั้งโคตร ( หัวโค่ - โคตรเหง้า )
" หิ้งตายาย " - หิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ หรือผีตายาย ที่ผู้คนถิ่นปักษ์ใต้ จะมีไว้
ประจำครัวเรือนสำหรับลูกหลานจุดธูปเทียนบูชา ด้วยความเชื่อที่ว่า หากลูก
หลานเคารพบูชาอย่างสม่ำเสมอ "ตายาย"จะคุ้มครองและบันดาลในสิ่งที่ลูก
หลานต้องการ แต่หากลบหลู่ ขาดความเคารพ ก็จะถูก "ตายายทัก" (ตายาย
สาปแช่ง)
" ตายายโนรา " - บรรพบุรุษหรือผู้ให้กำเนิดโนรา ตามตำนานประกอบด้วยขุน
ศรีศรัทธา นางนวลทองสำลี และแม่ศรีมาลา
ตี (น.) คำที่ใช้บอกเวลาในภาษาไทยถิ่นใต้ ใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เช่น
ถาม " พี่หลวงมาถึงเม่อใด " = พี่มาถึงเมื่อไหร่
ตอบ " พี่มาถึง แรกตีห้า " = พี่มาถึงเมื่อ 5 นาฬิกา
ประโยคนี้ในภาษาไทยถิ่นใต้ อาจจะหมายถึง เวลาตีห้าก่อนสว่าง หรือ เวลา 5
โมงเย็นก็ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีข้อความขยายต่อท้ายประโยค เช่น
พี่มาถึง แรกตีห้า หัวรุ่ง หรือ พี่มาถึง แรกตีห้า หวันเย็น
(ดูคำอธิบายการใช้ คำว่า แรก และคำว่า ต่อ เพิ่มเติม )
ตี้เทียวแฮ็ด, นกตี้เทียวแฮ็ด (น.) นกต้อยตีวิด, นกกระแตแต้แว้ด
นกในวงศ์ Charadriidae ชนิด Vanellus indicus ตัวขนาดนกเขาใหญ่ หัวสีดำ
ขนบริเวณหูสีขาว มีเนื้อติ่งสีแดงยาวยื่นจากขอบตาด้านหน้า ปากยาว ขายาว สี
เหลือง ตีนมี ๓ นิ้ว ร้องเสียงแหลม "แตแต้แว้ด"
(คนไทยถิ่นใต้ ได้ยินเสียงนกชนิดนี้ ร้องเป็น "ตี้เทียวแฮ็ด" จึงเรียกนกนี้ว่า นก
ตี้เทียวแฮ็ด )
ตุกแตน (น.) ตั๊กแตน
" ตุกแตนบูน " = ตั๊กแตนตำข้าว
ตุงหัว, ตุงหัวตีนเซ่อ หกล้มหัวคะมำ
ตุด (น.) หูด
ตุ หรุด, ตุ หลุด (น.) บุหรี่มวนโต ห่อด้วยใบตอง หรือใบไม้
ตุหยง, ดุหยง (น.) พะยูน, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในทะเล
( ตุหยง, ปลาตุหยง เป็นคำที่คนไทยถิ่นใต้ฝั่งอันดามันใช้เรียกสัตว์ชนิดนี้ )
ตูหนา (น.) ปลาไหลทะเล, ปลาไหลชนิดหนึ่งมีครีบอาศัยอยู่ในทะเลแต่ขึ้นมาวาง
ไข่ ในแม่น้ำลำคลอง พบมาก แถบปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก ไทยถิ่นใต้ เรียกว่า
ปลาตูหนา
ตู้ตี้ (ก.) แหย่ด้วยนิ้ว ให้ผู้อื่นมีอาการจั๊กจี้ ("ดักเดียม, ดักตูเดียม" )
เต็มสาว (เต็มบ่าว) (ว.) เป็นสาวเต็มตัว (เป็นหนุ่มเต็มตัว)
เตะ (ก.) ติ, ตำหนิ ( สำเนียงสงขลา จะแปลงเสียง อิ เป็น เสียง เอะ )
เติบ (ว.) ใหญ่ " อีสาวนี้ แขน ขาเติบ เหมือนคนชาย "
อีสาวคนนี้ แขน ขาใหญ่ เหมือนผู้ชาย
แต่ (ว.) 1. จาก "มาแต่ไหน" - มาจากไหน
2. เมื่อ
" คนแต่แรก" - คนสมัยก่อน , คนเมื่อสมัยก่อน, คนโบราณ
" มาแต่วา" - ภาษาไทยถิ่นใต้(นครศรีฯ)ใช้ในความหมาย มาตั้งแต่เมื่อวาน
(สงขลา จะใช้คำว่า มาแรกวา)
"มาแต่ซือ" - ภาษาไทยถิ่นใต้(นครศรีฯ) ใช้ในความหมาย มาตั้งแต่เมื่อ
วานซืน (ภาษาสงขลา จะใช้คำว่า มาแรกวาซือ)
3. กว่า
"หลวงไข รวยแต่เพื่อน" - หลวงไข่รวยกว่าคนอื่น (รวยมากกว่าเพื่อนๆ)
แตกเบี้ย (ก.) เอาเงินไปแลก
" แตกเบี้ยซักร้อยบาท " - แลกเงินเป็นแบงค์ย่อยสัก 100 บาท
แตกเลือด (ก.) กินอย่างไม่สำรวม มูมมาม (เป็นคำหยาบ ที่ใช้ด่า )
โตง , โดดโตง (ก.) กระโดดเพื่อจับสิ่งของที่อยู่สูง (พอจะกระโดดถึง)
โต้แก่, โต๊ะแก่ (น.) คนแก่ที่ค่อนข้างดื้อเอาแต่ใจ
มักเป็นคำ ที่เด็กๆใช้บ่นคนเดียวหรือพูดลับหลัง เมื่อรำคาญคนแก่ เช่น
" เอาะ โต้แก่ นี่ "
คำนี้ ถ้าพูดเสียงดังหรือพูดตอบโต้ผู้ใหญ่ จะถือว่าเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพก้าวร้าว
โต้หนัง (น.) คู่หมั้น ในสมัยก่อนแถบปักษ์ใต้ชายแดนจะมีประเพณี " เฝ้าโต้หนัง "
กล่าวคือ หลังจากที่เจ้าบ่าวได้สู่ขอเจ้าสาวแล้ว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องไปช่วย
งานที่บ้านของเจ้าสาวก่อนจะถึงวันแต่งงานประมาณ 1-2 เดือน
( คำนี้มาจากภาษามลายู tunangan )
โต้งเบ้ง (ก.) ห้อยโหน " โต้งเบ้ง ย่านเชียก " - ห้อยโหนเถาวัลย์
โตน (น.) น้ำตก โตนงาช้าง - ชื่อน้ำตก สถานที่ท่องเที่ยวในเขตอำเภอหาดใหญ่
โตรฺะ (ว.) ไม่สุภาพ, ลามก
คำนี้มักใช้เฉพาะในการเล่นหนังตลุง
" หนังพร้อม ดอ (หนังพร้อมอัศวิน) เล่นหนัง โตรฺะ อิตาย หลกแต่เรื่องพรรค์นั้น "
- หนังพร้อม ดอ (หนังพร้อมอัศวิน) เล่นหนัง ลามก จะตาย ตลกแต่เรื่องพรรค์นั้น
เต้าคั่ว (น.) (ออกเสียงเป็น ท่าวคั้ว ) เป็นชื่อของอาหารชนิดหนึ่งของคนสงขลา
(อาหารโปรดของ ป๋าเปรม ด้วย ) ส่วนประกอบของเต้าคั่ว มี เส้นหมี่ลวก,
ผักบุ้งหั่นลวก, ถั่วงอกลวก, หมูสามชั้น (ต้มหั่นเป็นชิ้นบางๆ) , ไข่ต้มผ่าครึ่ง,
เต้าหู้ทอดหั่นบางๆ, แตงกวาหั่น, กุ้งชุบ แป้งทอด ส่วนประกอบทั้งหมดนี้จะ
ต้องราดด้วยน้ำราดเต้าคั่ว ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลปี้ป น้ำปลา น้ำส้มสายชู
กระเทียมสับ เคี่ยวจนน้ำกึ่งเหนียวกึ่งใส มีรสเค็มรสหวานนำ รสเปรี้ยวตาม
เต้าคั่วอาหารของคนสงขลาชนิดนี้ ปกติจะทานเป็นอาหารเช้า หรืออาหารว่าง
มักจะขายเคียง กับข้าวยำ
ความคิดเห็น