ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #106 : ภัยเงียบ ทะเลกรด จากคาร์บอน คุกคามโลก

    • อัปเดตล่าสุด 12 ต.ค. 52


    ภัยเงียบ ทะเลกรด จากคาร์บอน คุกคามโลก



    นักวิชาการเตือนรับมือทะเลกรดภัยเงียบโลกร้อน ทำคาร์บอนละลายในน้ำส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิตทั้งหอยเม่น สาหร่าย แพลงตอนพืช-สัตว์ ห่วงเปลือกหอย ปะการังละลาย ศูนย์สตาร์ทเผยคนเมืองกรุงสร้างคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงปีละ 20 ตัน

    เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ธันวาคม คณะประมงร่วมกับโครงการ ธิงค์ เอิร์ธ โกลเบิล (Think Earth Think Global) เชิญ ดร.ไมค์ แคนดอล ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลจากพลีมัธ มารีน แลบอราทอรีส

    (Phy mouth MarineLaboratory Department of Environment) แห่งสหราชอาณาจักร มาเสวนาประเด็นพิเศษ เรื่อง ทะเลกรด ภัยเงียบจากโลกร้อน ณ ห้องประชุม ดร.ถาวร พรประภา บริษัทนิสสัน ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ

    ดร.ธรณ์กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นตัวหลักในก๊าซเรือนกระจก ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นมีส่วนเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเร็วขึ้น

    ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นร้อยละ 48 ไม่ได้อยู่ในอากาศ แต่ละลายลงไปอยู่ในน้ำ และเกือบทั้งหมดอยู่ในน้ำทะเล เพราะน้ำในโลกร้อยละ 98 คือ น้ำทะเล ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายลงไปในน้ำทำให้ค่าความเป็นกรดด่างเปลี่ยนไป

    "จากเดิมที่น้ำทะเลจะมีค่าความเป็นกรดด่าง หรือค่าพีเอช (pH) ประมาณ 8-8.1 หรือมีสภาพค่อนไปทางด่างเล็กน้อย ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สัตว์ทะเลทั้งหมดจะมีวิวัฒนาการมาจากความเป็นกรดด่าง แต่เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรรยากาศ ถึง 48% ตกลงไปในทะเล ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในทะเลเปลี่ยนไปด้วย คือ จากเดิมที่มีค่าค่อนไปทางด่างเล็กน้อย ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นกรดมากขึ้น ทำให้ทะเลมีปรากฏการณ์กลายเป็น 'ทะเลกรด' ในที่สุด"

    ดร.ธรณ์กล่าวว่า เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนน้ำอัดลม ที่มีส่วนประกอบของน้ำหวานกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ช่วยทำให้น้ำอัดลมมีรสซ่า ซึ่งทางสาธารณสุขจะเตือนกันว่าอย่ากินน้ำอัดลมมากเกินไป หรืออย่ากินน้ำอัดลมก่อนนอนโดยที่ไม่ได้แปรงฟัน เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเป็นตัวการในการกัดกร่อนฟัน ทำให้ฟันผุได้

    ดร.ธรณ์กล่าวว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเป็นห่วงเรื่องนี้กันมาก เพราะผลกระทบจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มมากขึ้น และทำให้นั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลด้วย เพราะค่าความเป็นกรดด่างที่เปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยจะทำให้วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตในทะเลจะเปลี่ยนไปด้วย

    "จากการตรวจสอบพบว่าขณะนี้ค่าความเป็นกรดด่างในทะเลขยับจาก 8-8.1 ไปอยู่ที่ 7.8-7.9 แล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หากว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ลดลง คาดว่าภายในระยะเวลา 50 ปี นับจากนี้ ค่าความเป็นกรดด่างจะกลายเป็น 7.6 หรือมีความเป็นกรดมากขึ้นอย่างชัดเจน" ดร.ธรณ์กล่าว

    ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) กล่าวว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจะทำปฏิกิริยากับน้ำ กลายเป็นคาร์บอเนต หรือทำให้น้ำมีสภาพเป็นกรดไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะอะไรที่เป็นการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติแล้วทำให้ความสมดุลหายไปย่อมน่าห่วงทั้งสิ้น

    'จากข้อมูลตัวเลขที่ศึกษามาพบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศประมาณ 50-70% จะละลายในน้ำ ทำปฏิกิริยากลายเป็นคาร์บอเนต ก่อให้น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรด หากวันใดที่ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 500 ppm ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณการละลายของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำมากขึ้น'

    ดร.อานนท์กล่าวว่า ปฏิกิริยานี้จะทำให้หินปูนละลายมากขึ้น ลำพังเปลือกหอยและปะการังยังไม่น่าห่วงนัก แต่หอยเม่น สาหร่ายสีแดงบางชนิด แพลงตอนพืช แพลงตอนสัตว์ที่มีส่วนประกอบของหินปูนเป็นหลักหลายชนิดจะได้รับผลกระทบอย่างสูง และจะเป็นผลพวงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นที่ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ด้วย แต่เมื่อใดความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงถึง 1,000 ppm จึงจะทำให้เปลือกหอย ปะการังละลาย

    ดร.อานนท์กล่าวว่า ตัวเลขล่าสุด ความเข้มข้นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 380 ppm เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 1-2 ppm สำหรับประเทศไทยนั้น ทางศูนย์สตาร์ทได้ทำรายงานวิเคราะห์ภาพรวมภาวะโลกร้อนนำเสนอกรุงเทพมหานคร (กทม.) จากการประเมินเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของคนไทยโดยภาพรวม คิดจากค่าไฟฟ้า ตัวเลขการขายน้ำมันจากหัวจ่าย

    พบว่า โดยเฉลี่ยทั้งประเทศคนไทยผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 320 ล้านตัน เฉลี่ยต่อหัวต่อคนปีละ 4-5 ตัน แต่เมื่อคิดเฉพาะคน กทม.แล้วพบว่าสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ 20 ตัน ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับคนญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในประเทศอุตสาหกรรม โดยคนญี่ปุ่นทั้งประเทศมีการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าคน กทม.เล็กน้อยเท่านั้น

    ขอขอบคุณ

    http://www.surinnews.com

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×