ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานอียิปต์ โอม...

    ลำดับตอนที่ #95 : พระเจ้าของอับราฮัม

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 875
      2
      2 มี.ค. 50

    และก็อีกเช่นเคยขอรับ  เมื่อรู้จักโมเสสก็ต้องรู้จักอับราฮัม  และเมื่อรู้จักอับราฮัมก็ต้องรู้จักพระเจ้าของเขาด้วย  เพื่อมิเป็นการลำเอียงนะขอรับ

    ขออนุญาติยกมาทั้งหมดอีกตามเคย  ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกลัวหาว่าดัดแปลงของเขามาแล้วยังผิด  ฉะนั้นหากใครว่ามันไม่ดีหรือผิด  กรุณาบอกด้วยเดี๋ยวข้าน้อยจะลบให้  (ลบทั้งหมดทั้งบทความนั่นแหละนะ - -)  แต่สิ่งที่พอจะเป็นความรู้แก่พวกท่านข้าน้อยก็อยากจะนำมาให้อ่านกัน  โดยเฉพาะตัวเองที่อยากรู้ก่อนใคร  เสียเวลาไปไย  อ่านตามสบาบขอรับ  ที่มา  http://www.onopen.com/2006/01/1226

    พระเจ้าของอับราฮัม
     

    อันที่จริง ก่อนหน้าที่ “อับราฮัม” จะได้มีประสบการณ์ในการพบกับพระเจ้าเป็นครั้งแรก บรรดาผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่แอฟริกาเหนือไปจนจรดตะวันออกกลาง ต่างก็ได้มีพระเจ้าของตัวเองกันอย่างเป็นหลักเป็นฐานมาแล้วหลายต่อหลายชนชาติ พระเจ้าของชาวอียิปต์ที่ก่อตั้งอาณาจักรอย่างมั่นคงแข็งแรงขี้นมาแล้วในแถบแอฟริกาเหนือก็ได้พัฒนารูปแบบและคุณสมบัติ จากเดิมทีที่เคยมีสภาพในแบบเรียบๆ-ง่ายๆ เช่นพระเจ้าที่ปรากฏตัวขึ้นมาในลักษณะรูปร่างแบบ “กึ่งคน-กึ่งสัตว์” เช่นเทพเจ้าที่มีรูปร่างเป็นคนแต่มีศีรษะเป็นเหยี่ยวนกเขา, เป็นหมู, เป็นแมว, เป็นจระเข้, เป็นฮิปโปโปเตมัส ฯลฯ อันเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการยึดเหนี่ยว เคารพกันในหมู่ครอบครัว-ชุมชนแต่ละชุมชนมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ กลายมาเป็นพระเจ้าที่มีความสลับซับซ้อนทั้งในแง่รูปร่างลักษณะและการกระทำยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

    อย่างเช่น “เทพเจ้าโอซิริส” อันเป็นเทพเจ้าสูงสุดของชาวอียิปต์ทั้งมวล เป็นเทพเจ้าแห่งเทพเจ้า เป็นเจ้าชายแห่งเจ้าชาย ก็ได้กลายเป็นผู้ที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่เป็นผู้ที่สามารถฟื้นขึ้นมาจากความตาย หรือเป็นอมตะ เป็นผู้กำหนดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล นำความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำไนล์มาให้กับชาวอียิปต์ทั่วทั้งสองฟากฝั่งอย่างเป็นระบบ

    หรือ “เทพเจ้าโฮรัส” ที่เคยมีศีรษะเป็นเหยี่ยวนกเขามาก่อน นอกจากจะได้กลายมาเป็นบุตรของ “เทพเจ้าโอซิริส” แล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งแสงสว่าง” ที่จะต้องดำเนินการต่อสู้กับ “เทพเจ้าเซท” หรือ “เทพเจ้าแห่งความมืด” ตลอดชั่วนิรันดรกาลกันอีกต่างหาก

    และยังมี “เทพีเจ้ามา-อัท” ที่เป็นผู้จัดระเบียบให้กับจักรวาล และดวงดาว “เทพเจ้าปทาห์” ผู้นำเอาโคลนสีแดงในแม่น้ำไนล์มาปั้นให้กลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลกขึ้นมาเป็นต้นฯลฯ

    ส่วนในแถบเมโสโปเตเมียที่ได้เกิดอาณาจักรตั้งมั่นขึ้นมาก่อนหน้าที่บิดาของ “อับราฮัม” หรือนาย “เทราห์” จะคิดอพยพโยกย้ายออกมาจากเมืองเออร์ ตำนานการเล่าขานถึงเรื่องราวของเทพเจ้าหรือพระเจ้า ก็มีมาก่อนหน้านั้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เทพเจ้ามาร์ดุค” ผู้นำกองทัพแห่งแสงสว่างและความมีระเบียบต่อสู้เอาชนะ “เทียแมท” มังกรแห่งความมืด และ “เคออส” ความไร้ระเบียบ จนกลายเป็นผู้สร้างโลก สร้างพืช สร้างสัตว์ และสร้างมนุษย์คนแรกของโลกด้วยการเอาโคลนมาผสมกับเลือดของพระองค์…เป็นต้น

    และก็ยังได้มีการเล่าขานถึงตำนานต่างๆหลังจากที่พระเจ้าได้สร้างโลกขึ้นมาแล้วเป็นที่รับรู้ โจษจัน เล่าต่อกันแบบปากต่อปากในหมู่กลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำนานเรื่องสวนเอเดน, หอบาเบล หรือเหตุการณ์น้ำท่วมโลกที่มีการเขียนจารึกเอาไว้ใน “มหากาพย์กิลกาเมช” เล่าถึงชายผู้ชื่อว่า “อุทนาปิชทิม” ผู้ซึ่งพระเจ้าได้ทรงบอกกล่าวให้สร้างเรือที่มีความสูง ๑๒๐ ศอก สูง ๑๔๐ ศอก เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยในระหว่างที่พระเจ้าทรงบันดาลให้น้ำท่วมโลก ซึ่งเป็นเรือที่อาจจะมีขนาดเล็กกว่าเรือของ “โนอาห์” ที่ถูกนำไปบันทึกในคัมภีร์โตราห์ของชาวยิวและคัมภีร์ไบเบิลของชาวคริสต์ในเวลาต่อมา…ฯลฯ

    หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เรื่องราวความพิสดารเกี่ยวกับพระเจ้านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ได้รับการเล่าขาน แลกเปลี่ยนในหมู่ผู้คนชนชาติต่างๆที่เคลื่อนไหวไป-มาอยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมต่อระหว่างแอฟริกาเหนือกับตะวันออกกลางกันมานานหลายต่อหลายเรื่อง หลายต่อหลายเวอร์ชั่นกันอย่างเป็นปกติธรรมดามาก่อนก็ว่าได้

    ศาสตราจารย์ “เอ็ดมันด์ จาคอป” ผู้เคยเขียนหนังสือเรื่องราวการค้นคว้าความประวัติความเป็นมาของคัมภีร์ไบเบิลช่วง “พันธสัญญาเก่า” หรือ “ดิ โอลด์ เทสตาเมน์” และ “มอริส บูกายย์” ศัลยแพทย์ชาวฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลาม ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าเรื่องราวของพระเจ้าในทำนองนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกขับขานผ่านบทเพลง บทกวี หรือเล่ากันมาแบบปากต่อปากในหมู่ชนชาติต่างๆในพื้นที่บริเวณนี้กันมานานแล้ว หรือก่อนหน้าที่ชนชาติยิวจะปรากฏตัวขึ้นมาซะอีก

    ด้วยเหตุนี้การที่พระเจ้าซึ่งปรากฏตัวขึ้นมาให้อับราฮัมพบเห็นในช่วงแรกๆ ได้ถูกนำไปโยงถึงกิจกรรมในการสร้างโลก การแยกความมืดออกจากความสว่าง การจัดระเบียบให้มีกลางวันกลางคืน หรือการสร้างมนุษย์คนแรกของโลกชื่อว่า “อาดัม” และ “เอวา” ขึ้นมานั้น ก็คาดๆ กันว่าน่าจะเกิดขึ้นภายหลัง หรือหลังจากที่ชาวยิวได้เริ่มพยายามสร้างชาติขึ้นมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง คำบอกเล่าต่างๆ เหล่านี้ถึงได้มีการนำเอาไปผนวกเพื่อสร้างประวัติที่มา-ที่ไปและอิทธิฤทธิ์ความพิสดารของพระผู้เป็นเจ้าของตนให้ยิ่งใหญ่หรูหราไม่แพ้ชนชาติอื่นๆกันในเวลาต่อมา…???

    เพราะถ้าหากจะว่ากันแบบจริงๆ จังๆ แล้ว พระเจ้าที่ปรากฏตัวให้อับราฮัมเห็นกันในช่วงแรกๆ นั้น ก็ไม่ถึงกับเป็นอะไรที่พิสดารยิ่งใหญ่หรูหรากว่าพระเจ้าที่ปรากฏตัวให้บรรดาชนเผ่า หรือครอบครัว-ชุมชนต่างๆ ได้พบเห็นและใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยว สร้างความเป็นเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนของบุคคลหรือชุมชนแต่ละชุมชนกันซักเท่าไหร่นัก พระองค์ไม่ได้ปรากฏตัวให้เห็นในแบบสัญลักษณ์ที่มีความหมายซับซ้อน ยิ่งใหญ่ ลึกซึ้งหรือในแบบที่ไม่สามารถให้คำนิยามถึงความเป็นพระผู้เป็นเจ้ากันได้ง่าย ไม่ได้ปรากฏตัวในแบบ “เสาเมฆ” หรือ “ลูกไฟที่ลุกโพลงอยู่ในพุ่มไม้” หรือในแบบ “ผู้ที่มนุษย์ธรรมดาไม่อาจเห็นโฉมหน้าของพระองค์ได้” อย่างเช่นในยุคที่ ” โมเสส” ได้พบในยุคหลังๆ หรือในแบบ “แสงสว่างอันลึกลับ” อันเป็น “พระวาทะ” อย่างที่อัครทูตยอห์นอธิบายให้กับชาวคริสต์ได้รับทราบในยุคต่อๆ มา แต่พระองค์ปรากฏตัวให้อับราฮัมเห็นในขณะที่พระองค์มีรูปร่างลักษณะไม่ต่างอะไรไปจากมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดานี่แหละ ดังที่ได้มีการบรรยายเอาไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิลว่า….

    “พระเจ้าทรงปรากฏแก่ท่าน (อับราฮัม) ที่หมู่ต้นก่อหลวงที่มัมเร ขณะที่ท่านนั่งอยู่ที่ประตูเต็นท์เวลาแดดร้อน ท่านเงยหน้าขึ้นดูเห็นชายสามคนยืนอยู่ข้างหน้าท่าน เมื่อท่านเห็นเขาทั้งสาม ท่านก็วิ่งจากประตูเต็นท์ไปต้อนรับเขา กราบลงถึงดินและพูดว่า เจ้านายของข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้าเป็นที่โปรดปรานในสายตาของท่าน ขออย่าได้ผ่านผู้รับใช้ของท่านไปเสียเลย ข้าพเจ้าจะนำเอาน้ำมานิดหน่อยให้ท่านล้างเท้า และพักใต้ต้นไม้ ข้าพเจ้าจะไปเออาหารหน่อยหนึ่งมาให้ ท่านจะได้หายเหนื่อยเสียก่อน แล้วจึงค่อยเดินทางต่อไป…”

    และเมื่อได้รับคำเชิญเช่นนี้ พระเจ้าก็ตอบรับคำเชิญเสด็จเข้าไปพักผ่อนรับประทานอาหารในเต็นท์พร้อมกับ “ฑูตสวรรค์” ทั้งสองอย่างเป็นที่เรียบร้อย มิหนำซ้ำยังได้พูดคุยสนทนากับอับราฮัมและภรรยาที่ชื่อว่านาง “ซาราย” (ผู้ซึ่งต่อมาพระเจ้าก็ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็นนางซาราห์) ด้วยลักษณะอาการไม่ได้แตกต่างไปจากมนุษย์ธรรมดากันซักเท่าไหร่นัก เช่นบางครั้งพระองค์ก็ทรงแสดงอาการหงุดหงิดอยู่ไม่น้อยเมื่อนางซาราห์ทำท่าจะไม่เชื่อว่าพระองค์สามารถดลบันดาลให้นางมีลูกได้ในขณะที่นางมีอายุมากจนประจำเดือนหมดแล้ว หรือในขณะที่อับราฮัมผู้ซึ่งห่วงว่าหลานชายตัวเองที่ชื่อว่า “โลท” ที่อาศัยอยู่ในเมือง “โสโดม-โกโมราห์” อันเป็นเมืองที่พระเจ้าจะลงโทษกันในอีกไม่นานไม่ช้าและจะต้องพบกับภัยพิบัติตามไปด้วย พระเจ้าก็ทรงเปิดโอกาสให้อับราฮัมต่อรองกับพระองค์หรือต่อปากต่อคำกับพระเจ้ากันในลักษณะไม่ต่างอะไรไปจากการเจราจาต่อรองระหว่างมนุษย์ด้วยกันชนิดคำต่อคำ…เป็นต้น

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าพระเจ้าที่อับราฮัมได้พบ จะเป็นพระเจ้าองค์เดียวกันกับพระเจ้าที่เป็นผู้สร้างจักรวาล สร้างโลก และสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ฯลฯหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่พระองค์ก็ไม่น่าจะแตกต่างไปจากพระเจ้าที่เคยปรากฏตัวให้บรรดาครอบครัว-ชุมชนต่างๆ ได้พบเห็นก่อนที่ชุมชนนั้นๆ จะสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นชนชาติได้หรือไม่ก็แล้วแต่…หรือเป็น “พระเจ้าแห่งชุมชน” นั่นเอง…????

    ดังนั้นก็จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน…สำหรับการที่พระองค์ได้แสดงความโปรดปรานชาวยิวอย่างเป็นพิเศษกันมาตั้งแต่แรก จนถึงกับสัญญาจะยกดินแดนอันเป็นกรรมสิทธิ์ดั้งเดิมของใครต่อใครมาให้อับราฮัมและลูกหลานชาวยิวนับตั้งแต่นั้นมา เพราะสิ่งเหล่านี้ก็คงไม่ได้ต่างไปจากพระเจ้าของชุมชนอีกหลายต่อหลายชุมชน หรืออีกหลายต่อหลายชนเผ่า ที่มักจะต้องโปรดปรานผู้คนในชุมชนนั้นๆอย่างเป็นพิเศษด้วยกันทั้งสิ้น และต่างก็เคยยกดินแดนของชนเผ่าอื่นๆที่นับถือพระเจ้าแตกต่างไปจากพระเจ้าของตัวเอง กันมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ว่าได้ ไม่ว่าพระเจ้าของชาวอารยันที่มอบดินแดนชนเผ่าพื้นเมืองในอินเดียให้ชาวอารยันสร้างอาณาจักรอารยันขึ้นมาแทนที่ พระเจ้าที่โปรดปรานชาวอียิปต์ภาคใต้อย่างเป็นพิเศษจนดลบันดาลให้ชาวอียิปต์ภาคใต้ผนวกเอาอียิปต์ภาคเหนือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับอาณาจักรอียิปต์ในเวลาต่อมา พระเจ้าที่มอบหมายให้ชาวบาบิโลนเป็นผู้จัดระเบียบดินแดนต่างๆในเมโสโปเตเมียจนกลายเป็นอาณาจักรบาบิโลนอย่างเป็นปึกแผ่นแน่นหนา พระเจ้าที่นำทางชนเผ่าทอลเท็คให้เดินตามปีกนกอินทรีเข้ามายึดครองดินแดนใหญ่โตในอเมริกากลางจนกลายเป็นอาณาจักรมายาหรืออาณาจักรแอซเทคในเวลาต่อมา…ฯลฯ ฯลฯ

    ส่วนการตอบแทนพระเจ้าหรือการสร้าง “ความพึงพอใจให้กับพระเจ้า” ของอับราฮัมนั้น ก็เกือบไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากการตอบแทนพระเจ้าของชนเผ่าอื่นๆ อีกเช่นกัน ไม่ว่าตั้งแต่การที่พระเจ้าได้สั่งให้อับราฮัมนำเอาลูกวัวตัวเมียอายุ ๓ ปี แพะตัวเมียอายุ ๓ ปี นกเขาและนกพิราบตัวโตๆมาผ่ากลาง วางแต่ละซีกเอาไว้บนแท่นบูชาแล้วทำการเผาสิ่งต่างๆเหล่านี้เพื่อให้ควันลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า นำเอา “กลิ่นที่พระเจ้าทรงพอพระทัย” ไปยังพระเจ้า อันเป็นการแสดงออกถึงความเคารพความศรัทธาต่อพระเจ้าเช่นเดียวกับบรรดาชุมชนดึกดำบรรพ์ทั้งหลายที่เรียกๆ กันว่า “การบูชายัญ” นั่นเอง

    ยิ่งไปกว่านั้น…ถ้าหากพระเจ้าไม่ได้เพียงแค่คิดจะ “ทดลองใจ” หรือทดสอบความศรัทธาที่อับราฮัมมีต่อพระองค์แต่เพียงเท่านั้น หรือไม่ได้ยับยั้งอับราฮัมเอาไว้ในวินาทีสุดท้าย ในการบูชายัญให้กับพระเจ้าในครั้งหนึ่งอับราฮัมก็คงต้องสังหารบุตรชายของตัวเองเพื่อบูชาพระเจ้าตามที่พระองค์สั่งเอาไว้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และนั่นก็คงจะทำให้พระเจ้าของอับราฮัมแทบจะไม่ได้แตกต่างไปจากพระเจ้าดั้งเดิมของชาวกรีก,ชาวโรมัน,ชาวแอซเทค,ชาวอินคากันเลยแม้แต่น้อย…หรือพระเจ้าผู้ทรงโปรดปรานต่อการที่มนุษย์จะแสดงความเคารพความศรัทธาต่อพระองค์ด้วยใช้ชีวิตมนุษย์ด้วยกันเป็นเครื่องเซ่นสังเวยบูชายัญต่อพระองค์…???

    หรือแม้กระทั่งการที่พระเจ้าของอับราฮัมจะระบุให้อับราฮัมและลูกหลานชาวยิวทำ “สัญลักษณ์” เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับชนชนติที่พระองค์ได้ทำพันธสัญญาเอาไว้ อย่างที่เรียกว่า “การทำสุหนัต” ไว้เป็นเครื่องหมายก็แล้วแต่ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกแตกต่างไปจากพระเจ้าของชุมชนอื่นๆ กันซักเท่าไหร่นัก หรือถึงแม้นว่าบางชุมชนอาจจะไม่ได้สร้างสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับพระเจ้าของตัวเองด้วยการตัดหนังหุ้มปลายองคชาติ แต่ก็อาจจะสร้างสัญลักษณ์ด้วย รอยสัก, รอยกรีด หรือขีดเขียนร่องรอยในรูปแบบต่างๆ เอาไว้บนเนื้อหนังส่วนต่างๆในร่างกายไปตามแบบแผนของใคร-ของมันด้วยจุดประสงค์อันเดียวกันนั่นเอง…

    เพราะฉะนั้น…ถ้าหากจะกล่าวกันโดยสรุปแล้ว พระเจ้าที่ปรากฏตัวให้อับราฮัมพบเห็นในระยะเริ่มแรกก็ไม่ได้เป็นพระเจ้าที่มีความพิเศษแตกต่างไปจากพระเจ้าองค์อื่นๆ ที่เป็นที่ยึดถือของชุมชนแต่ละชุมชนในยุคอดีตกันเลยแม้แต่น้อย และการที่พระองค์ได้ทรงแสดงความโปรดปรานชาวยิวอย่างเป็นพิเศษ หรือทำพันธสัญญากับชาวยิวให้เป็น “ชนชาติของพระเจ้า” ก็ไม่ได้ทำให้ชาวยิวเป็นผู้ที่มีความพิเศษเหนือกว่าชนชาติอื่นๆ มาตั้งแต่นั้นมาเลยก็หาไม่ แต่ว่า “ความพิเศษ” ของชาวยิวที่ทำให้ชาวยิวค่อนข้างจะแตกต่างไปจากชนชาติอื่นๆ ในหลายเรื่องหลายประการด้วยกันนั้น น่าจะมีที่มาจากลักษณะบางสิ่งบางอย่างที่ชาวยิวสร้างขึ้นมาด้วยตัวของตัวเอง และยึดมั่นยึดถือสืบทอดกันมาอย่างมั่นคงตลอดชั่วรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งลักษณะที่ว่านี้ก็เริ่มแสดงออกให้เห็นชัดเจนอยู่พอสมควรนับตั้งแต่อับราฮัมเป็นต้นมา

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×