ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ตำนานอียิปต์ โอม...

    ลำดับตอนที่ #46 : ห้าสหัสวรรษของการประดิษฐ์อักษร

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.49K
      1
      20 ธ.ค. 49

    ห้าสหัสวรรษของการประดิษฐ์อักษร

    เราทุกคนอ่าน เขียนและพูดภาษาไทยได้ สมมติว่าเรายังไม่มีภาษาไทยใช้เลย และเรามีความจำเป็นต้องบอกความรู้สึกและความนึกคิดต่างๆ ของเรา สถานการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องไม่ง่าย (ยากมาก) ที่จะทำให้เพื่อนของเราเข้าใจว่า ณ วันนี้ เรามีภาษาพูดและภาษาเขียนที่ในการสื่อสารแต่ในอดีตที่นานมากแล้ว เรายังไม่มีภาษาใช้เลย ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้พยายามตอบคำถามว่า ใครเป็นมนุษย์คนแรกที่พูด คำพูดคำแรกคือคำอะไร เหตุใดคนเราจึงคิดสร้างภาษา คนเริ่มคิดภาษาเขียนเมื่อใด และเหตุใดมนุษย์จึงสร้างอักษรขึ้นมาแล้วนำอักษรมาเรียงเป็นคำๆ พร้อมกับกำหนดเสียงประจำคำเหล่านั้น เพื่อสื่อความหมายที่สลับซับซ้อน หรือถ้าจะถามสั้นๆ ก็คือ เหตุใดและเมื่อไรที่มนุษย์เริ่มสร้างภาษาเขียน

    ในอดีตที่ผ่านมา ตำนานประวัติศาสตร์มักกล่าวว่า เมื่อประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว ได้มีนักบวชชาว Sumerian คนหนึ่งในเมือง Uruk แห่งอาณาจักร Mesopotamia (ปัจจุบันคือดินแดนแถบประเทศอิรัก, ซีเรียและอิหร่าน) ได้รู้จักวิธีสื่อความหมายโดยการแกะสลักเครื่องหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ลงบนแผ่นดินเหนียว

    ดังนั้น เมื่อนักโบราณคดีชาวเยอรมันได้ขุดพบแผ่นดินเหนียวที่แข็งตัวแล้ว ซึ่งมีรอยแกะสลักเป็นตัวอักษรรูปร่างแปลกๆ (cuneiform) ในวิหารที่อยู่ห่างจากเมือง Uruk ไปทางใต้ประมาณ 200 กิโลเมตร คนทั้งโลกจึงคิดว่า ตำนานที่เล่าขานกันมาคือเรื่องจริง

    แต่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ความเชื่อนี้ก็ได้รับการโต้แย้ง เมื่อนักโบราณคดีได้พบโบราณวัตถุในอียิปต์และปากีสถานที่แสดงให้เห็นว่า การรู้จักสร้างภาษาเขียนนั้น มิใช่งานสร้างสรรค์ที่เกิดจากสมองของมนุษย์คนใดคนหนึ่ง (และก็มิได้มาจากคณะกรรมาธิการภาษาหรือบอร์ดใดๆ ด้วย) แต่เป็นผลงานที่เกิดจากวิวัฒนาการทางปัญญาของมนุษย์ในแต่ละท้องถิ่น ที่ต้องใช้เวลานับพันปีจึงจะมีรูปแบบเป็นภาษาที่เราใช้ทุกวันนี้

    ความยากลำบากในการสืบค้นประวัติศาสตร์ของการกำเนิดภาษาเขียนเกิดจากหลายสาเหตุเช่น เกิดจากความขาดแคลนของหลักฐานตัวอย่าง และความบกพร่องไม่สมบูรณ์ของเทคโนโลยีการวัดอายุของวัตถุโบราณ แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ การที่ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ไม่ยินดีและยินยอมให้นักวิทยาศาสตร์นำวัตถุโบราณที่สงสัยว่ามีการจารึกอักษรไปตรวจสอบ เพราะเกรงว่านักวิชา "เกิน" จะทำลายวัตถุเหล่านั้นจนหมดสภาพ

    การขุดพบลูกกลมที่ทำด้วยดินเหนียว ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 4,000-9,000 ปี ในประเทศซีเรีย อิรัก และอิหร่าน และมีลวดลายเรขาคณิต รวมทั้งสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ผิว เช่น รูปกรวย ซึ่งแสดงถึงปริมาณเมล็ดข้าวที่เจ้าของมีไว้ครอบครอง และรูปทรงกระบอกซึ่งแสดงสัตว์ที่เลี้ยงหนึ่งตัว ได้ทำให้ D.S. Schmaidt-Bressert แห่งมหาวิทยาลัย Texas ในสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า สัญลักษณ์เหล่านี้คือ ภาษาเขียนที่ชาว Mesopotamia ได้ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสาร และเมื่อกาลเวลาผ่านไป Schmaidt-Bressert ก็คิดว่าชาว Sumerian ได้เปลี่ยนการเขียนอักษรลงบนลูกกลม มาเขียนลงบนแผ่นดินเหนียวแทน และก็เป็นไปได้ว่า มีนักบวชคนหนึ่งแห่งเมือง Uruk ผู้ได้ตัดต้นอ้อแบบทะแยง ทำให้ปลายต้นอ้อมีลักษณะแหลมเหมือนลิ่ม แกะจารึกสัญลักษณ์และตัวอักษรลงบนดินเหนียวที่เป็นแผ่นๆ ในขณะที่ยังอ่อนตัวอยู่ แล้วนำไปเผาไหม้เพื่อทำให้แผ่นดินเหนียวแข็ง อักษรลิ่ม (cuneiform) นี่คือภาษาเขียนที่ชาว Mesopotamia ได้ใช้กันจนถึงปลายยุคของอาณาจักรโรมัน

    แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนที่คิดว่า อักษรลิ่มหาได้เกิดภายหลังการเขียนสัญลักษณ์ลงบนลูกกลมกลวงแต่อย่างใด เพราะสัญลักษณ์ที่ปรากฏมิได้อยู่ในรูปของภาษาแต่อย่างใด และเมื่อนักวิจัยไม่สามารถศึกษาส่วนที่อยู่ข้างในของลูกกลมกลวง เพราะผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ที่มีลูกกลมกลวงในครอบครองไม่ยินยอมให้นักวิจัยเจาะลูกกลม นักวิจัยจึงยังไม่รู้ว่า ภายในลูกกลมกลวงมีตัวอักษรอะไรหรือไม่ หรือครั้นจะใช้เอกซเรย์ถ่ายภาพส่วนในของลูกกลมกลวง ภาพที่ได้ก็ไม่ชัดเจนพอที่จะให้นักวิจัยสรุปอะไรๆ ได้ ดังนั้น ประเด็นเวลากำเนิดภาษาเขียนของชาว Mesopotamia จึงเป็นคำถามที่ยังไม่มีข้อยุติ

    ส่วนอียิปต์นั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอาณาจักร Mesopotamia และอยู่ห่างออกไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร และถึงแม้ระยะทางจะห่างไกล แต่ผู้คนในสองอาณาจักรนี้ก็มีการติดต่อค้าขายกัน การขุดพบวัตถุโบราณและการวัดอายุของศิลปวัตถุที่มีอักษรภาพ (ซึ่งเรียกว่า hieroglyph) เขียนปรากฏอยู่แสดงให้เห็นว่า อักษรภาพ hieroglyphs ถือกำเนิดหลังอักษรลิ่ม cuneiform ของ Mesopotamia ประมาณ 100 ปี แต่เมื่อ Gunther Dreyer แห่ง German Archeological Institute ที่เมือง Cairo ในอียิปต์เปิดหลุมฝังศพของฟาโรห์องค์หนึ่งที่เมือง Abydos เมื่อปี 2532 และได้เห็นงาช้าง กระดูกสัตว์และเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากมาย ว่าที่บนผิวของวัตถุเหล่านั้นมีอักษรภาพ hieroglyph ปรากฏอยู่ ซึ่งภาพเหล่านั้นสื่อความหมายเป็นเรื่องราวเช่น ภาพต้นอ้อแทนเสียง i ภาพปากคนแทนเสียง r และภาพเรือแทนเสียง p ซึ่งเมื่อนำมารวมกันเป็น irp ก็ใช้แทนคำว่า เหล้าองุ่น เป็นต้น เขาจึงสรุปว่า อักษรภาพเหล่านี้สื่อทั้งความหมาย และการออกเสียงหรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ อักษรเหล่านี้เป็นอักษรที่ใช้เขียนในภาษา

    การวัดอายุของวัตถุโบราณเหล่านี้ ทำให้ Dreyer รู้ว่ามันมีอายุพอๆ กับแผ่นดินเหนียวที่ถูกแกะสลักเป็นตัวอักษรที่พบในเมือง Uruk นั่นคือ มันมีอายุประมาณ 5,200 ปี ซึ่งตัวเลขอายุ 5,200 ปี ของอักษรอียิปต์ และตัวเลขอายุ 5,300 ปี ของอักษร Mesopotamia นี้ใกล้เคียงกันมาก และเมื่อนักวิทยาศาสตร์เยอรมันที่เมือง Heidelberg ใช้เทคโนโลยีการวัดอายุด้วยคาร์บอน -14 วัดอายุของวัตถุที่พบที่ Abydos เขาได้พบว่า จริงๆ แล้วมันมีอายุเก่าแก่ยิ่งขึ้นไปอีกคือ 5,320 ปี ในขณะที่แผ่นดินเหนียว cuneiform นั้น ก็มีอายุถึง 5,450 ปี

    ถึงกระนั้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมรับความถูกต้องของตัวเลขทั้งสองนี้ เพราะเทคนิคการวัดอายุนี้มีความคลาดเคลื่อน ดังนั้น ความแตกต่างกันเพียง 130 ปี จากเวลาทั้งหมด 5,000 ปี จึงไม่สามารถทำให้นักโบราณคดีสามารถสรุปได้อย่างมั่นใจว่า ชาว Mesopotamia รู้จักประดิษฐ์อักษรเขียนก่อนชาวอียิปต์

    ส่วนอีกทางด้านหนึ่งของโลก เมื่อประมาณ 5 ปีก่อนนี้ คณะนักวิจัยชาวอเมริกันได้รายงานว่า บริเวณลุ่มน้ำสินธุซึ่งเคยเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรม Harappan ที่ได้เคยเจริญรุ่งเรืองเมื่อ 4,800-3,700 ปีก่อนนี้ ผู้คนในถิ่นนี้ก็ได้รู้จักประดิษฐ์อักษรภาพขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อความหมายเช่นกัน แต่เมื่ออาณาจักรล่มสลายอักษรภาพเหล่านี้ก็ได้สูญพันธุ์ตามไปด้วย

    การพบหลักฐานบนเครื่องปั้นดินเผาที่ Harappan ในปากีสถาน ได้แสดงให้เห็นว่า คนปากีสถานโบราณที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำนี้ ก็รู้จักประดิษฐ์สัญลักษณ์ขึ้นใช้ในภาษาเมื่อ 5,500-5,300 ปีก่อน และสัญลักษณ์เหล่านี้ได้วิวัฒนาการไปเป็นภาษาของอารยธรรม Harappan ในที่สุด

    ดังนั้น การพบอักษรภาพในปากีสถานและอียิปต์ เมื่อไม่นานมานี้ จึงทำให้ทฤษฎีที่ว่าชนชาว Mesopotamia เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่รู้จักใช้อักษรในภาษาเขียน จำต้องได้รับการทบทวนใหม่ เพราะนักโบราณคดีหลายคนกำลังไม่แน่ใจว่าชนกลุ่มใดชักจูง คนกลุ่มใดให้สร้างภาษาและก็เป็นไปได้ว่า ชนที่แตกต่างกันทั้งสามได้รู้จักประดิษฐ์อักษรภาพขึ้นมาใช้ในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยปราศจากการชักจูงใดๆ โดยชนเผ่าอื่น

    คำถามที่นักโบราณคดีกำลังมุ่งหวังศึกษาต่อคือ อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์สร้างภาษาเขียน เศรษฐกิจหรือศาสนา เพราะข้อมูลที่ถูกบันทึกเป็น hieroglyphics นั้น มักเกี่ยวกับศาสนา แต่ข้อมูลที่ถูกบันทึกในรูปแบบของ cuneiform มักเกี่ยวกับการค้าขาย

    http://www.ipst.ac.th/thaiversion/publications/in_sci/alphbet_hiergly.html
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×