ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    หนังสือธรรมะประทับใจ

    ลำดับตอนที่ #5 : พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้ : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 481
      0
      27 พ.ย. 53

    พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้

    พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตโต)

    หนังสือพระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ เป็นหนังสือธรรมะอีกเล่มที่ชาวพุทธควรจะได้อ่าน เพื่อความเข้าใจในพระไตรปิฎก  อันเป็นคัมภีร์ที่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือพระธรรมวินัยสถิตอยู่ ท่านเจ้าคุณได้อธิบายถึง ความสำคัญของพระไตรปิฏก การสังคายนา การรักษาสืบทอดพระไตรปิฏกมาจนถึงเราในปัจจุบัน และยังได้อธิบายถึงหมวดหมู่ของพระไตรปิฎก ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้เราเข้าใจในการจัดหมวดหมู่ของพระไตรปิฎกและศึกษาค้นคว้าได้ต่อไป

     

    โดยสรุป ท่านเจ้าคุณได้อธิบายไว้ดังนี้

    พระพุทธศาสนามีความหมายตรงตามคำแปลโดยพยัญชนะของคำว่า “พระพุทธศาสนา” นั้นเองว่า “คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” ก่อนพุทธปรินิพพานพระพุทธเจ้าไม่ได้แต่งตั้งพระภิกษุองค์ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่ได้มอบหมายให้ชาวพุทธรู้กันว่า พระธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ ดังพระพุทธพจน์ที่ทรงพระดำรัสต่อพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป โดยนัยนี้ พระพุทธพจน์ จึงเป็นทั้งพระพุทธศาสนาคือคำตรัสสอนของพระพุทธเจ้า และธำรงสถิตพระศาสนา โดยทรงไว้และประกาศพระธรรมวินัยแทนพระพุทธองค์

     

    หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระมหากัสสปเถระได้ชักชวนพระเถระผู้ใหญ่มาประชุมกัน มาช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวมประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วตกลงวางมติไว้ ซึ่งก็คือ การสังคายนา ในการสังคายนาครั้งนั้นมีพระอรหันต์ 500 รูปมาประชุม โดยพระอานานท์เป็นผู้นำเอาธรรมมาแสดงและพระอุบาลีเป็นผู้นำในด้านการวิสัชนาเรื่องของวินัย โดยพระมหากัสสปะเป็นประธานวางแนวการนำเสนอ ด้วยการซักถามอย่างเป็นระบบ คือตามลำดับและเป็นหมวดหมู่ เมื่อได้มีมติร่วมกันเกี่ยวกับเนื้อหาในเรื่องใด พระเถระในที่ประชุมก็สวดพร้อมกัน เนื้อหาที่ผ่านการรับรองก็จะถือเป็นที่ยุติให้เป็นแบบแผนที่จะทรงจำถ่ายทอดต่อๆ กันมา พระพุทธศาสนาซึ่งถือตามหลักสังคายนาครั้งแรกนี้เรียกว่า พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท

     

    การสืบทอดพระไตรปิฎกในช่วงต้นหรือยุคแรกคือนับตั้งแต่พุทธกาลตลอดมาประมาณ 560 ปี พระเถระผู้รักษาพระศาสนาทรงจำพุทธพจน์กันมาด้วยปากเปล่า เรียกว่า มุขปาฐะ คือการเรียน-ท่อง-บอกต่อด้วยปาก ซึ่งพระเถระได้ตระหนักถึงความสำคัญสูงสุดของการรักษาพุทธพจน์ จึงทำให้มีความไม่ประมาท ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะให้มีการจำพุทธพจน์ไว้อย่างบริสุทธิ์ ถือว่าการรักษาพุทธพจน์นี้เป็นกิจสำคัญสูงสุดของการรักษาพระพุทธศาสนา การท่องจำพระไตรปิฎกหรือพระธรรมวินัยนี้ท่านทำด้วยวิธีสวดพร้อมกันจะต้องสวดตรงกันหมดทุกถ้อยคำ จะตกหล่นตัดขาดหายไปก็ไม่ได้ จะเพิ่มแม้คำเดียวก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะสวดโดยคนจำนวนมากๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีให้สอดคล้องกลมกลืนกันก็จะต้องสวดเหมือนกันหมด ท่านจึงรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยวิธีนี้

     

    ช่วงที่สองคือระยะที่รักษาพุทธพจน์และเรื่องเกี่ยวข้องในพระไตรปิฎกทั้งหมดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เกิดจากเหตุผลที่ปรารภว่า เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสภาพแวดล้อมแปรเปลี่ยนไป เกิดมีภัยที่กระทบต่อการทำหน้าที่สืบต่อทรงจำพุทธพจน์ และคนในภายหน้าจะเสื่อมถอยสติสมาธิปัญญา เช่นมีศรัทธาและฉันทะอ่อนลงไป จะไม่สามารถรักษาพุทธพจน์ไว้ด้วยมุขปาฐะ จึงตกลงกันว่าถึงเวลาที่จำต้องบันทึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน

     

    ในยุคที่รักษาพุทธพจน์เป็นลายลักษณ์อักษรนี้ พระพุทธศาสนาได้เจริญแพร่หลายไปเป็นศาสนาแห่งชาติของหลายประเทศแล้ว ในเวลาที่มีการตรวจชำระพระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง เราก็เอาของทุกประเทศมาสอบทานเทียบเคียงกัน เพื่อดูว่ามีถ้อยคำหรืออักษรตัวไหนผิดเพี้ยนกันไหม ความแตกต่างแม้แต่เพียงนิดเดียว เราก็บันทึกไว้ให้รู้ในเชิงอรรถ แม้กาลเวลาจะผ่านล่วงไปเกินพันปี เมื่อนำพระไตรปิฎกที่ประเทศพุทธศาสนาแต่ละประเทศมาเทียบกัน ก็พูดได้โดยรวมว่าเหมือนกัน ลงกัน แม้จะมีตัวอักษรที่ผิดแผกแตกต่างกันบ้าง เช่น จ เป็น ว บ้าง เมื่อเทียบโดยปริมาณทั้งหมดแล้ว ก็นับว่าเล็กน้อยยิ่ง แสดงถึงความถูกต้องแม่นยำในการรักษาที่ทำกันมาด้วยความตั้งใจและตระหนักถึงความถูกต้องแม่นยำในการรักษาที่ทำกันมาด้วยความตั้งใจและตระหนักถึงความสำคัญอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาเถรวาทจึงมีความภูมิใจโดยชอบธรรม ว่าเรารักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้เป็นแบบเดิมแท้ ดังที่ยอมรับกันเป็นสากล

     

    เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสแสดงคำสอนคือพระธรรมวินัยแล้ว สาวกทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ก็นำหลักธรรมวินัยนั้นไปเล่าเรียนศึกษา  คำสอนหรือพุทธพจน์ส่วนใดที่ยาก ต้องการคำอธิบาย นอกจากทูลถามจากพระพุทธเจ้าโดยตรงแล้ว ก็มีสาวกผู้ใหญ่ที่เป็นอุปปัชฌาย์หรืออาจารย์คอยแนะนำชี้แจงช่วยตอบข้อสงสัย คำอธิบายและคำตอบที่สำคัญก็ได้รับการทรงจำถ่ายทอดต่อกันมาควบคู่กับหลักธรรมวินัยที่เป็นแม่บทนั้นๆ ต่อมาเมื่อมีการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกแล้ว คำชี้แจงอธิบายเหล่านั้นก็เป็นระบบและมีลำดับไปตามพระไตรปิฎกด้วย คำอธิบายพุทธพจน์หรือหลักธรรมวินัยหรือคำอธิบายความในพระไตรปิฎกนี้เรียกว่า “อรรถกถา” นอกจากอรรถกถาแล้ว คัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาบาลีที่เกิดขึ้นในยุคต่างๆ หลังพุทธกาลยังมีอีกมากมาย คัมภีร์สำคัญบางคัมภีร์ เป็นผลงานอิสระของพระเถระผู้แตกฉานพระธรรมวินัย ท่านเรียบเรียงขึ้นตามโครงเรื่องที่ท่านจัดวางเองหรือเกิดจากเหตุการณ์พิเศษ

     

    คัมภีร์ที่เกิดหลังยุคอรรถกถา ก็มีทั้งคัมภีร์ที่อยู่ในสายเดียวกับอรรถกถา คือเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎกและอธิบายอรรถกถาและอธิบายกันเองเป็นขั้นๆ ต่อกันไป เมื่อเรียงลำดับคัมภีร์ในสายพระไตรปิฎกและอรรถกถาก็จะเป็นดังนี้

    -      บาลี คือพระไตรปิฎก

    -      อรรถกถา คือคัมภีร์ที่อธิบายบาลีหรืออธิบายความในพระไตรปิฎก

    -      ฎีกา คือคัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถาหรือขยายความต่อจากอรรถกถา

    -      อนุฎีกา คือคัมภีร์ที่อธิบายขยายความต่อจากฎีกาอีกทอดหนึ่ง

     

    ที่จริงนั้นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามีความชัดเจนแน่นอน และไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความคิดหรือความคาดเดา แต่เป็นเรื่องหลักฐานที่ชาวพุทธถือกันว่ามาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง คือมาในพระไตรปิฎก และคัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น อธิบายประกอบ ซึ่งชาวพุทธทุกยุคทุกสมัย ถือว่าเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา เป็นหลักสำคัญที่สุด และได้เพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาให้แม่นยำ ด้วยการทรงจำศึกษาเล่าเรียน และมีการสังคายนาเป็นงานใหญ่หลายยุคหลายสมัย

     

    เราควรตื่นตัวต่อภัยคุกคามและร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมสัมมาปฏิบัติโดยอิงอาศัยคำสอนที่แท้ ซึ่งเราจะต้องช่วยกันรักษาให้บริสุทธิ์ อันที่จริง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาฟื้นฟูชาวพุทธให้กลับสู่พระธรรมวินัย ให้รู้จักศึกษาพระไตรปิฎกกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

     

    การจัดหมวดหมู่คัมภีร์ในพระไตรปิฏก

    ในประเทศไทย พระไตรปิฎกได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพ.ศ. 2431 พระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์ครั้งนั้นจัดเป็นจบละ 39 เล่ม ต่อมาพ.ศ. 2436ในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯให้ตีพิมพ์ใหม่เป็นพระไตรปิฎกฉบับที่สมบูรณ์ เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 6 เรียกว่า พระไตรปิฏกฉบับบสยามรัฐ มีจำนวนจบละ 45 เล่ม ซึ่งได้ถือเป็นหลักในการจัดแบ่งเล่มพระไตรปิฎกในประเทศไทยสืบต่อมาจนปัจจุบัน

     

    สรุปสาระสำคัญของพระไตรปิฎก

    ก.  พระวินัยปิฎก : ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ แบ่งเป็น 5 คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) มี 8 เล่ม ประกอบด้วย:

    -        อาทิกัมมิกะ : เล่ม 1 มหาวิภังค์ ภาค 1: ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ 19 ข้อ ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติหนักหรือความผิดสถานหนัก คือปาราชิก 4, สังฆาทิเสส 13 และอนิยต 2

    -        ปาจิตตีย์ : เล่ม 2 มหาวิภังค์ ภาค 2: ว่าด้วยสิกขาบทในปาติโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ข้อที่เหลือ ซึ่งอยู่ในระดับอาบัติเบาหรือความผิดสถานเบา คือตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 จนครบสิกขาบท 227, เล่ม 3 ภิขุนีวิภังค์: ว่าด้วยสิกขาบท 311 ของภิกษุณี

    -        มหาวรรค : เล่ม 4 มหาวรรค ภาค 1: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนต้น (ระเบียบข้อบังคับทั่วไปเกี่ยวกับความเป็นอยู่และการดำเนินกิจการของพระภิกษุสงฆ์) มี 4 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องกำเนิดภิกษุสงฆ์และการอุปสมบท อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา, เล่ม 5 มหาวรรค ภาค 2: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น (ต่อ) มี 6 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องเครื่องหนัง เภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี

    -        จุลลวรรค : เล่ม 6-จุลลวรรค ภาค 1: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาติโมกข์ตอนปลาย มี 4 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธี และการระงับอธิกรณ์, เล่ม 7 จุลลวรรค ภาค 2: ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย  (ต่อ) มี 8 ขันธกะ (หมวด) คือเรื่องข้อบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาติโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ 1 และ 2

    -        ปริวาร : เล่ม 8-ปริวาร: คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย

     

    ข.   พระสุตตันตปิฎก : ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร  คือพระธรรมเทศนา คำบรรยายหรืออธิบายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาส ตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 5 นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) มี 25 เล่ม คือ

    -       ทีฆนิกาย : ชุมนุมพระสูตรขนาดยาว มี 3 เล่ม : เล่ม 9 สีลขันธวรรค, เล่ม 10 มหาวรรค, เล่ม 11 ปาฏิกวรรค

    -     มัชฌิมนิกาย : ชุมนุมพระสูตรขนาดกลาง มี 3 เล่ม : เล่ม 12 มูลปัณณาสก์, เล่ม 13 มัชฌิมปัณณาสก์, เล่ม 14 อุปริปัณณาสก์

    -     สังยุตตนิกาย : ชุมนุมพระสูตรที่เกี่ยวกับหัวเรื่องเดียวกัน คือชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรีกว่า สังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกันหรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มี 5 เล่ม : เล่ม 15 สคาถวรรค, เล่ม 16 นิทานวรรค, เล่ม 17 ขันธวารวรรค, เล่ม 18 สฬายตนวรรค, เล่ม 19 มหาวารวรรค

    -     อังคุตตรนิกาย : ชุมนุมพระสูตรที่จัดเป็นหมวดตามจำนวนข้อธรรม มี 5 เล่ม : เล่ม 20 เอก-ทุก-ติกนิบาต, เล่ม 21 จตุกกนิบาต, เล่ม 22 ปัญจก-ฉักกนิบาต, เล่ม 23 สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต, เล่ม 24 ทสก-เอกทสกนิบาต

    -     ขุททกนิกาย : ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ด มี 9 เล่ม : เล่ม 25 มีคัมภีร์ย่อย 5 คือขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต, เล่ม 26 มีคัมภีร์ย่อย 4 คือวิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา, เล่ม 27 ชาดก ภาค 1, เล่ม 28 ชาดก ภาค 2, เล่ม 29 มหานิทเทส, เล่ม 30 จูฬนิทเทส, เล่ม 31-ปฏิสัมภิทามรรค, เล่ม 32-อปทาน ภาค 1, เล่ม 33-อปทาน ภาค 2

     

    ค.  พระอภิธรรมปิฎก :  ประมวลพุทธพจน์หมวดอภิธรรม คือหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นเนื้อหาวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) มี 12 เล่ม ดังนี้

    -     ธัมมสังคณี : เล่ม 34 ธัมมสังคณี : ต้นเล่มแสดงมาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลาย

    -     วิภังค์ : เล่ม 35 วิภังค์ : ยกธรรมสำคัญๆ ขึ้นมาแจกแจง แยกแยะ อธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่ และวินิจฉัย จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ

    -     ธาตุกถา และปุคคลบัญญัติ: เล่ม 36-มี 2 คัมภีร์ คือ ธาตุกถา และปุคคลบัญญัติ : ธาตุกถานำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ มาจัดเข้าในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่าข้อใดจัดเข้าได้หรือไม่ได้ในอย่างไหน และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่น โสดาบัน ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ 3 ได้แล้ว เป็นต้น

    -     กถาวัตถุ : เล่ม 37-กถาวัตถุ : เป็นคัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ 3 เรียบเรียงขึ้นเพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง 18 นิกาย

    -     ยมก : เล่ม 38-39 ยมก ภาค 1-ภาค 2 : อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้งด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ

    -     ปัฏฐาน : เล่ม 40-45 ปัฏฐาน ภาค 1-ภาค 6 : อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลาย

     

    อ่านหนังสือพระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้ โดย DOWNLOAD ไปอ่านได้ตาม LINK ข้างล่างนี้

    http://www.dhammabookstore.com/book/tripidok.pdf

    http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/the_pali_canon_what_a_buddhist_must_know_(thai).pdf
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×