คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #2 : เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
เรื่องยอดฮิตของกรรมทุกวันนี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการแก้กรรมหรือตัดกรรม เป็นข้อถกเถียงกันมากในพวกเราชาวพุทธเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องการแก้กรรมตัดกรรมนั้นว่าทำได้จริงหรือ โดยในข้อถกเถียงที่ได้ยินบ่อยๆ เห็นจะเป็นข้อที่ว่า “กรรมแก้ไม่ได้ ใครทำกรรมอย่างไรก็จะได้รับผลกรรมอย่างนั้น กรรมดีก็ส่วนกรรมดี กรรมชั่วก็ส่วนกรรมชั่ว ทำกรรมดีลบล้างกรรมชั่วไม่ได้ ทำกรรมไม่ดีไว้จะมาตัดกรรมแก้กรรมได้อย่างไร” ได้ยินคำพูดในลักษณะนี้เป็นที่น่ายินดี เพราะแสดงให้เห็นว่าความเชื่อของชาวพุทธนั้นยังมีความเชื่อในเรื่องของกรรมว่ามีจริง แม้แต่การที่มีคนเข้าไปทำพิธีแก้กรรมตัดกรรมนั้น ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่ากรรมมีจริง แต่ความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรมว่ามีจริงนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และความเข้าใจในเรื่องกรรมนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ในหนังสือ เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ท่านเจ้าคุณได้บรรยายถึงความเชื่อและความเข้าใจในเรื่องกรรมตอนหนึ่งว่า “ความจริง ปัญหาของเราไม่ใช่ว่าทำอย่างไรจึงจะเชื่อเรื่องกรรม เมื่อหลักกรรมเป็นกฎธรรมชาติ เป็นหลักแห่งความจริง มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจะเชื่อ แต่กลายเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะรู้จึงจะเข้าใจ เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่มีผลต่อหลักกรรม หลักกรรมเป็นความจริง มันก็คงอยู่อย่างนั้น เราจะเชื่อหรือจะไม่เชื่อ มันก็เป็นความจริงของมันอยู่อย่างนั้นเอง เข้าหลักที่พระพุทธเจ้าตรัสใน เรื่องธรรมนิยามว่า อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ……ตถาคตทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม หลักความจริงก็เป็นอยู่อย่างนั้น”
ดังนั้นเพื่อความเข้าใจและไขปัญหาเบื้องต้นในเรื่องของกรรม จึงขอแนะนำหนังสือ เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) หนังสือเล่มนี้ได้รวมเรื่องของกรรมไว้จากหนังสือสามเล่มซึ่งท่านเจ้าคุณได้บรรยายธรรมไว้ได้แก่ “ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรม” “หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่” และ “เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาทและกรรม” ท่านเจ้าคุณได้อธิบายเรื่องของกรรมตามหลักของกรรมในพุทธศาสนา โดยใช้หลักเหตุผลมาอธิบาย วิเคราะห์ให้เข้าใจ สามารถเข้าใจในเบื้องต้นได้โดยไม่ยาก
ท่านเจ้าคุณได้บรรยายถึงความคลาดเคลื่อนในความหมายของกรรม ที่มักมุ่งไปในแง่ผลที่ไม่ดี และมุ่งไปในอดีตโดยเฉพาะชาติก่อน ซึ่งความหมายที่เข้าใจนั้นอาจจะถูก แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การเข้าใจในลักษณะนี้จะส่งผลให้มีทัศนคติที่ผิดทั้งต่อตนเองในลักษณะที่ทอดธุระ ย่อท้อ ถดถอยไม่คิดปรับปรุงตัวเอง และทัศนคติต่อผู้อื่นในแง่ที่ทำเฉยเมยต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่น โดยปลงเสียว่าเป็นกรรมของสัตว์ซึ่งไม่ใช่ความคิดที่ถูก และยังได้อธิบายถึงเรื่องการวางเฉยหรืออุเบกขาที่ถูกต้องด้วย
ท่านเจ้าคุณยังได้อธิบายยกตัวอย่างให้เข้าใจได้อย่างง่ายในเรื่องการให้ผลของกรรมโดยจิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นจุดเริ่มแห่งการให้ผลโดยจิตสะสมประสบการณ์ทุกอย่าง มีผลต่อชีวิตเราและปรุงแต่งชีวิตเรา ในเรื่องนี้เราจะได้คำตอบในใจว่าจิตสามารถนำพาชีวิตเราไปได้อย่างไร และช่วยให้เราเข้าใจในเหตุและผลโดยง่ายว่าการสะสมความดีหรือความชั่วในจิตใจนั้นส่งผลต่อเราอย่างไร
นอกจากนี้ในส่วนหนึ่งของเรื่องเหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาทและกรรม ท่านเจ้าคุณได้สรุปให้เข้าใจว่า เรามีวิธีปฏิบัติต่อกรรมอย่างไร เราควรปฏิบัติต่อกรรมเก่าอย่างไร การไม่มองกรรมแบบแยกขาดตัดตอน คือมองให้เห็นเป็นกระแสที่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงขณะนี้และกำลังดำเนินสืบต่อไป และสรุปลงที่ว่าเราต้อง อยู่เพื่อพัฒนากรรม ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม ท่านเจ้าคุณยังได้ให้คำตอบในคำถามที่ว่า “ถ้าไม่ทำกรรมใหม่ อยู่ไปๆ กรรมเก่าจะหมดไปเองไหม” “แล้วทำอย่างไรจะหมดกรรม” ซึ่งทั้งหมดนี้คงจะเป็นคำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนว่าการแก้กรรมตัดกรรมนั้นที่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร สามารถทำได้อย่างไร
หนังสือเล่มนี้สามารถที่จะ DOWNLOAD ไปอ่านได้ตาม LINK ข้างล่างนี้
เชื่อกรรม-รู้กรรม-แก้กรรม: ฉบับรวมเล่ม (รวมจาก 3 เล่มข้างล่าง)
http://www.dhammabookstore.com/book/believe.pdf
http://namjaidham.net/book/A/a06-e003.pdf
ทำอย่างไรจะให้เชื่อเรื่องกรรม:
http://www.fungdham.com/download/book/payutto/chuererngkam.pdf
หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่:
http://www.fungdham.com/download/book/payutto/lakkam.pdf
เหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท และกรรม:
http://www.fungdham.com/download/book/payutto/hetpatjai.pdf
ความคิดเห็น