ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เร็ดความรู้ยุค เลียดก๊ก

    ลำดับตอนที่ #5 : เจดีย์ต้าเอี้ยนถ่า กับภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระถังซำจั๋ง

    • อัปเดตล่าสุด 6 มี.ค. 50


    เจดีย์ต้าเอี้ยนถ่า กับภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระถังซำจั๋ง

    เจดีย์ต้าเอี้ยนถ่าตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกำแพงเมืองซีอาน โดยอยู่บนถนนเอี้ยนถ่าลู่ ซึ่งเป็นถนนที่ตัดตรงจากเขตกำแพงเมืองชั้นในลงมา จะแลเห็นองค์เจดีย์เด่นเป็นสง่าสะดุดสายตา

    องค์เจดีย์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๖๕๒ ในรัชสมัยจักรพรรดิถังเกาจง (TANG KAO ZHONG) โดยก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. ๖๔๘ ในรัชสมัยจักรพรรดิถังไท้จง (TANG TAI ZHONG) พระราชโอรส เจ้าชายหลี่จื้อ (จักรพรรดิถังเกาจงในเวลาต่อมา ทรงครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในปี ค.ศ. ๖๕๐) ได้สร้างวัดต้าสือเอินซื่อ (TA SI EN SI) (วัดกตัญญุตาราม) นี้ขึ้นก่อน เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของพระราชมารดา คือ เหวินเต๋อหวงโฮ่ว จากนั้นเมื่อทรงขึ้นครองราชย์แล้วจึงได้สร้างเจดีย์นี้ขึ้นตามคำขอของพระถังซำจั๋ง ในบริเวณวัดดังกล่าว

    องค์เจดีย์มีรูปแบบเรียบง่าย ในศิลปะจีนผสมอินเดีย เดิมนั้นสร้างเพียง ๕ ชิ้น แต่เมืองซีอานได้ประสบภัยแผ่นดินไหวมาหลายครั้ง จึงได้มีการบูรณะเรื่อยมาและมีการบูรณะใหญ่ในสมัยราชวงศ์หมิง และราชวงศ์ชิง

    ปัจจุบันองค์เจดีย์มี ๗ ชั้น สูง ๖๔.๑ เมตร ฐานขององค์เจดีย์วัดจากตะวันออกไปตะวันตกยาว ๔๕.๙ เมตร จากเหนือไปใต้ยาว ๔๘.๘ เมตร

    อาจารย์โจวได้เล่าเกร็ดของชื่อองค์เจดีย์ที่ทำไมจึงมีชื่อ "ห่านป่า" ว่า

    เมื่อครั้งที่พระถังซำจั๋งได้เดินทางเส้นทางสายแพรไหมไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่ประเทศอินเดียนั้น ท่านได้ฟังตำนานที่เล่ากันมาว่า ที่เมืองๆ หนึ่งมีวัดอยู่ ๒ วัด วัดหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ไม่ฉันเนื้อสัตว์ อีกวัดหนึ่งนับถือนิกายหินยาน ฉันเนื้อสัตว์ ต่อมาได้เกิดความอดอยากขึ้นที่เมืองนั้น พระในวัดหินยานหาเนื้อสัตว์มาฉันไม่ได้ จึงเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจขึ้น พอดีในขณะนั้นมีฝูงห่านป่าบินผ่านมา บังเอิญมีห่านป่าตัวหนึ่งบินตกลงมาและสิ้นใจที่บริเวณวัด พระสงฆ์ในวัดต่างอุทานขึ้นว่า พระโพธิสัตว์ได้แปลงกายลงมาให้พวกเรามีเนื้อฉัน

    พระสงฆ์ในวัดต่างซาบซึ้งในความเมตตาของพระโพธิสัตว์ และห่านป่าตัวนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตัดสินใจหันมานับถือนิกายมหายาน และฉันมังสวิรัติ งดฉันเนื้อสัตว์นับแต่นั้นมา และได้สร้างเจดีย์ขึ้นฝังห่านป่า บนบริเวณที่ห่านป่าบินตกลงมาตาย เรียกชื่อว่า เจดีย์ห่านป่า

    พระถังซำจั๋งได้รับฟังตำนานนี้จากอินเดียแล้วซาบซึ้งใจมาก เมื่อท่านได้กลับจากอินเดียมาจำพรรษาและแปลพระไตรปิฎกที่วัดต้าสือเอินซื่อแห่งนี้ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้นตามเจดีย์ห่านป่าที่อินเดียในกาลต่อมา

    ภายในวัดปัจจุบันมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ประมาณ ๒๐ รูป ในวันที่ผมไปเยือนมีการทำพิธีกงเต๋อ (กงเต๊ก) ให้ผู้วายชนม์โดยพระสงฆ์ในวัด อาจารย์โจวบอกว่า ญาติของคนที่มาทำพิธีกงเต๋อให้ผู้ตายนี้ต้องมีฐานะดี เพราะพิธีกรรมนี้มีค่าใช้จ่ายสูง และการที่ผู้ตายได้มาทำพิธีที่วัดนี้ถือว่าได้บุญมาก เพราะวัดนี้เก่าแก่ และเป็นที่นับถือของชาวซีอานมาก

    ภายในพระวิหาร นอกจากด้านตรงหน้าจะมีพระพุทธเจ้า ๓ องค์ตามแบบวัดจีน องค์กลางคือ พระศากยมุนี องค์ทางซ้ายคือ พระอมิตาภพุทธเจ้า และองค์ขวาคือ พระไภษิชคุรุพุทธเจ้า ให้กราบนมัสการแล้ว ด้านข้างฝั่งขวายังมีองค์รูปปั้นสัมฤทธิ์จำลองของพระถังซำจั๋งในท่านั่งสมาธิ บนผนังกำแพงพระวิหารด้านข้าง เขียนประวัติโดยย่อของท่านไว้ว่า

    "พระถังเสวียนจ้าง (XUAN ZANG) (ค.ศ. ๖๐๒-๖๖๔)

    ปี ๖๒๙ ออกจาริกไปประเทศอินเดีย เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎก

    ปี ๖๔๕ กลับถึงนครฉางอาน ใช้เวลาเดินทางรวม ๑๖ ปี

    ปี ๖๔๕-๖๖๔ ได้มาแปลพระไตรปิฎกที่วัดนี้"

    พระถังซำจั๋งเป็นชื่อที่รู้จักคุ้นเคยดีของชาวเรานั้น เป็นชื่อยกย่องของท่าน (ซำ หรือซาน แปลว่า ไตร หรือ ๓, จั๋ง หรือจ้าง แปลว่า ปิฎก หมายความรวมถึง ยกย่องท่านเป็นพระไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง) ท่านมีสมณฉายาว่า เสวียนจ้าง (แปลว่า ลึกซึ้งยิ่งใหญ่) ท่านเกิดในปี ค.ศ. ๖๐๒ ในปลายสมัยราชวงศ์สุย เป็นชาวเมืองตันหลิว (ปัจจุบันคือ เมืองไคเฟิง หรือไคฟง ในมณฑลเหอหนาน) ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ ของครอบครัว ตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านก็มีคุณสมบัติอันประเสริฐและความเฉลียวฉลาดผิดกับเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกัน หมั่นศึกษาเรียนรู้ตำรับตำราและคำสอนของนักปราชญ์โบราณ หนังสือใดที่ไร้คุณธรรมก็ไม่อ่าน มารยาทใดที่นักปราชญ์ไม่นิยมก็ไม่ประพฤติ ไม่คบเล่นคะนองกับเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งรู้จักปรนนิบัติบิดามารดามาแต่น้อย

    ต่อมาจักรพรรดิหยังตี้ แห่งราชวงศ์สุยได้มีพระบรมราชโองการให้อุปสมบทพระสงฆ์ ๑๔ รูปที่นครลั่วหยาง พี่ชายของท่านสังเกตเห็นบุคิลกท่าทีของท่านพอจะเป็นผู้สืบศาสนาต่อไปได้ จึงนำไปถวายให้อำมาตย์หลวง เจิ้งเซี่ยงกัว ผู้คัดเลือกผู้ที่จะเข้าอุปสมบท

    เมื่อเจิ้งเซี่ยงกัวได้แลเห็นบุคลิกลักษณะและสอบภูมิปัญญาของท่านแล้ว ก็สรรเสริญยิ่ง จึงนำท่านเข้าบรรพชาด้วย ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๑๓ ปีเท่านั้น ก็เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่ปรากฏแล้ว

    ในคราวนั้นเป็นยุคสิ้นสุดของราชวงศ์สุย บ้านเมืองเกิดระส่ำระสาย ต่อมาหลี่หยวนได้สถาปนาราชวงศ์ถังขึ้นในปี ค.ศ. ๖๑๘ ที่นครฉางอาน ท่านจึงได้ย้ายสถานที่จำพรรษาจากนครลั่วยางมายังนครฉางอาน แต่เนื่องจากบ้านเมืองเพิ่งสร้างรากฐาน ไม่มีสถานที่ที่เหมาะสมจะศึกษาพระธรรม ท่านกับพระผู้พี่จึงได้เดินทางไปเมืองเฉิงตู ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ที่ซึ่งสงบเงียบและมีพระอารามที่ดีพอจะได้ศึกษาพระธรรม จนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทที่เมืองเฉิงตู จากนั้นจึงได้เดินทางกลับนครฉางอาน

    เมื่อท่านได้ศึกษาพระคัมภีร์และพระสูตรจนแตกฉานมากขึ้น ก็บังเกิดข้อปุจฉาในใจขึ้นมากมาย ซึ่งวิสัชนาของข้อปุจฉาเหล่านี้ก็มีหลายแนวทาง แล้วแต่ว่าสำนักใดจะยึดถือในแนวทางไหนในการอธิบาย ครั้นเมื่อสอบกับพระสูตรและพระคัมภีร์ก็ยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างจนไม่รู้ว่าจะเห็นควรตามฝ่ายใด ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่าจะต้องเดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อสอบทานข้อความที่สงสัย พร้อมทั้งจะอัญเชิญพระคัมภีร์ต่างๆ มาเป็นหลักฐานแก้ไขข้อสงสัยทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้เสียสิ้น และเมื่อมองย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์จิ้นเมื่อครั้งกระโน้น พระฝ่าเสียน (FA XIAN) ยังสามารถไปสืบพระธรรมวินัยเพื่อแนะแนวทางที่ชอบประกอบประโยชน์แก่ปวงชนมาได้ ดังนั้น เหตุไฉนคนในชั้นหลังจึงไม่เจริญรอยตามเยี่ยงอย่างอันประเสริฐของท่านเล่า

    แต่การที่จะเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนั้น จำต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากจักรพรรดิถังไท่จงเสียก่อน ซึ่งขณะนั้นพระองค์ทรงเพิ่งขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา แผ่นดินยังไม่มั่นคงสงบสุข จึงไม่ทรงอนุญาต พระรูปอื่นๆ ที่ตั้งใจจะร่วมเดินทางไปกับท่านต่างล้มเลิกความตั้งใจเสียสิ้น คงเหลือท่านองค์เดียวที่ยังคงตั้งมั่นอยู่อย่างแน่วแน่ ท่านได้ใช้เวลาที่รอคอยหมั่นศึกษาตำราภาษาอินเดียจนแตกฉาน

    ครั้นต่อมานครฉางอานบังเกิดเหตุทุพภิกขภัย จักรพรรดิถังไท่จงทรงมีพระบัญชาให้ประชาชนออกนอกเมืองไปหาที่อุดมสมบูรณ์เพาะปลูกอาศัยเป็นการชั่วคราว ท่านจึงถือโอกาสนี้เริ่มออกเดินทางเมื่ออายุได้ ๒๖ ปี (ค.ศ. ๖๒๙)

    ท่านเดินทางออกจากนครฉางอานไปทางทิศตะวันตก ผ่านมณฑลกานซู ที่เมืองหลานโจว จนไปถึงเมืองเหลียงโจว (เมืองอู่เว่ย มณฑลกานซู ในปัจจุบัน) ท่านได้แสดงธรรมเทศนาจนเป็นที่จับใจของประชาชน ความทราบถึงเจ้าเมืองไม่อนุญาตให้ท่านผ่านเมืองไปตะวันตก จะบังคับท่านให้กลับนครฉางอาน พอดีที่เมืองนี้มีพระสงฆ์ผู้เลื่อมใสศรัทธาในท่านจึงได้ลอบจัดศิษย์ ๒ รูปเป็นผู้นำทางท่านไปอย่างลับๆ แต่นั้นมา ท่านจึงต้องเดินทางไปอย่างไม่เปิดเผย หลบซ่อนตัวในเวลากลางวันและออกเดินทางในเวลากลางคืน จนถึงเมืองกานโจว (เมืองจางแย่ มณฑลกานซู ในปัจจุบัน) ข้าราชการที่นั่นเป็นพุทธศาสนิกชนจึงเลื่อมใสท่านและอำนวยความสะดวกให้ท่านพำนักและผ่านทาง

    จากนั้นท่านต้องรอนแรมไปในทะเลทรายโกบีอันเวิ้งว้างและกันดารยิ่ง ได้แต่อาศัยหอสัญญาณควันที่ตั้งอยู่ห่างเป็นระยะๆ เป็นแนวทางเดิน (หอสัญญาณควันเหล่านี้ เริ่มสร้างสมัยราชวงศ์ฮั่น เพื่อดูแลคุ้มกันเส้นทางสายแพรไหม) บางแห่งไม่มีหอสัญญาณควันก็จำต้องอาศัยกองกระดูกคนและสัตว์ที่ล้มตายบนทางเดินหรือมูลม้าเป็นแนวทางเดินบอกทิศสู่ตะวันตก บางครั้งเดินทางถึง ๔ คืน ๕ วัน ก็ยังไม่พบแหล่งน้ำ เวลากลางวันลมพายุทรายก็โหมพัดรุนแรง พอตกกลางคืนก็หนาวเย็นจนเจ็บกระดูก ในที่สุดทั้งคนและม้าก็ล้มลงนอนลงบนผืนทราย แต่กระนั้นท่านก็ไม่วายที่จะภาวนาถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอยู่เสมอว่า

    "ข้าเสวียนจ้างได้บากบั่นมาทั้งนี้ หาใช่เพื่อแสวงหาลาภสักการะหรือชื่อเสียงประการใดไม่ แต่ด้วยน้ำใจที่เลื่อมใสอย่างสุดซึ้ง ที่ขอแต่ให้ได้มาประสบพบพระธรรมวินัยที่แท้จริงเท่านั้น ขอพระองค์จงทรงเมตตาโปรดสัตว์ให้พ้นทุกขเวทนา ขอให้ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของข้าพเจ้านี้ด้วยเทอญ"

    พอดีขณะนั้นมีลมเย็นพัดวูบมา ทำให้ท่านตื่นขึ้น และม้าพาท่านเดินไปที่บ่อน้ำได้ดื่มกินบรรเทาความกระหาย จึงรอดเข้าสู่เมืองอีอู่ (หรือเมืองฮามี่ มณฑลซินเจียง ในปัจจุบัน) ท่านพำนักอยู่ที่เมืองนี้ได้ ๑๐ วัน จึงเดินทางต่อไปยังเมืองเกาซาง (อยู่ในเมืองทูหลู่ฟาน มณฑลซินเจียง ในปัจจุบัน)

    กษัตริย์แห่งเมืองเกาซางทรงเลื่อมใสศรัทธาท่านอย่างแท้จริง ไม่อยากให้ท่านเดินทางจากไป ปรารถนาให้ท่านอยู่ที่เมืองเกาซาง สั่งสอนประชาชน ท่านเองก็รู้สึกเกรงใจกษัตริย์เมืองเกาซาง แต่ด้วยความมุ่งมั่นของท่าน จึงได้ตั้งปฏิญาณว่าจะไม่ฉันอาหาร เพื่อให้กษัตริย์กลับพระทัย แล้วจึงนั่งสงบไม่ฉันน้ำและอาหารอยู่ ๓ วัน กษัตริย์ทรงรู้สึกไม่สบายพระทัยเป็นอันมาก จึงนมัสการขอขมาท่านและยอมให้ท่านเดินทางต่อ แต่ขอให้ท่านฉันอาหารก่อน โดยในขากลับกษัตริย์ทรงขอให้ท่านมาพำนักอยู่ที่เมืองเกาซางนี้ ๓ ปี โดยระหว่างนี้ขอให้พักอาศัยอยู่ก่อนหนึ่งเดือน เพื่อแสดงธรรม

    ท่านรับคำตามที่กษัตริย์ทรงขอ จากนั้นกษัตริย์จึงได้ทรงสร้างศาลาธรรมอันกว้างใหญ่ เพื่อให้ท่านเทศนาสั่งสอนพระมารดา พระองค์ พระราชวงศ์ ขุนนาง และประชาชน ก่อนที่ท่านจะจากเมืองเกาซางไป กษัตริย์ได้ทรงบรรพชาสามเณร ๔ รูป เพื่อติดตามรับใช้ท่าน จัดเงินตรา ทองคำ ผ้าสบง จีวร พร้อมทั้งม้า และคนรับใช้ ให้ท่านเดินทางสู่อินเดียได้โดยสะดวก

    จากเมืองเกาซาง ท่านเดินทางตามเส้นทางสายแพรไหมสายเหนือ ถึงเมืองคูเชอ ข้ามที่ราบสูงพาเมียร์ (ที่ราบสูงพาเมียร์ (PAMIR) เป็นที่ราบสูงระหว่างกลาง ๓ เทือกเขาที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย คือ เทียนซาน, ฮินดูกูช และคาราโคราม พาเมียร์เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า หลังคาของโลก อยู่ในรอยต่อของประเทศจีน, ปากีสถาน, อินเดีย และอัฟกานิสถาน) เข้าสู่เอเชียกลางที่เมืองทัชเคนท์, เมืองซาร์มาคาน, เมืองแบคเตรีย ข้ามเทืองเขาฮินดูกูช เข้าสู่ประเทศอินเดียที่เมืองคันธาระ ที่อินเดีย ท่านได้เดินทางไปเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญทางพุทธศาสนา ทั้งเมืองสาวัตถี, กบิลพัสดุ์, กุสินารา, พาราณสี, พุทธคยา และนาลันทา

    ในการเดินทางขากลับ พระเจ้าศิลาทิตย์ กษัตริย์แห่งเมืองนาลันทา ทรงแนะนำให้ท่านเดินทางกลับทางทะเลจะปลอดภัยและสะดวกสบายกว่า โดยจะจัดข้าราชการไปส่งให้ แต่ท่านถวายพระพรว่า จำเป็นต้องกลับทางบก เพื่อจะได้แวะเมืองเกาซาง ตามที่ท่านได้เคยให้ปฏิญาณไว้กับกษัตริย์เมืองเกาซางแล้ว

    ต่อมาเมื่อท่านเดินทางมาถึงเมืองอู่เตียน (เมืองอวี่เถียน มณฑลซินเจียง ในปัจจุบัน) จึงทราบว่า เมืองเกาซางได้ตกเป็นของจีน และกษัตริย์เมืองเกาซางได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ท่านจึงได้อยู่พำนักที่เมืองอู่เตียนนี้นานถึง ๗ เดือน โดยระหว่างนั้นท่านได้ส่งสมณสาสน์ ไปกราบบังคมทูลจักรพรรดิถังไท่จง ถึงการเดินทางกว่า ๕๐,๐๐๐ ลี้ ในระยะเวลา ๑๖ ปีของท่าน และได้นำพระไตรปิฎกมาด้วยเป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้นำมาแปลและสั่งสอนแก่ชาวจีนให้ถูกต้องสืบไป

    เมื่อจักรพรรดิถังไท่จงทรงได้รับสมณสาสน์นี้แล้วจึงได้ส่งพระราชสาสน์ให้ม้าเร็วถือมาถึงท่าน และรับสั่งให้ข้าราชการเมืองตุนหวง มารับท่านที่เมืองจูโม (เมืองเฉียม่อ ในปัจจุบัน)

    ท่านได้กลับถึงนครฉางอานในปี ค.ศ. ๖๔๕ ท่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ๑๕๐ องค์ พระไตรปิฎกจำนวน ๖๕๗ เล่มสมุด บรรทุกบนม้าต่างรวม ๒๐ ตัว พร้อมด้วยพระพุทธรูปทองคำ, เงิน และไม้จันทน์อีกจำนวนหนึ่ง จักรพรรดิถังไท่จงจัดพิธีสมโภชต้อนรับท่าน แล้วจัดวัดต้าสือเอินซื่อ ที่พระองค์ได้ทรงสร้างอุทิศถวายพระมารดา และเป็นที่อันสงบเงียบให้ท่านแปลพระไตรปิฎก

    ต่อมาเมื่อจักรพรรดิถังไท่จงได้เสด็จสวรรคต (ในปี ค.ศ. ๖๕๐) จักรพรรดิถังเกาจง พระราชโอรสได้ทรงขึ้นครองราชย์แทน ในปีที่ ๓ ของรัชกาล พระถังซำจั๋งได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตสร้างเจดีย์ทางทิศตะวันตกของวัด เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปและพระไตรปิฎกที่อัญเชิญมาจากอินเดียให้เป็นที่ปลอดภัย การสร้างเจดีย์นี้ แม้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ก็จริง แต่ท่านก็ทรงอุตส่าห์แรงกายร่วมสร้างด้วย และตั้งชื่อเจดีย์นี้ว่า เจดีย์ต้าเอี้ยน หรือเจดีย์ห่านป่าใหญ่ โดยมีรูปแบบคล้ายของอินเดีย (ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น)

    พระถังซำจั๋งได้แปลพระไตรปิฎกอยู่ที่วัดแห่งนี้จนถึงวาระสุดท้ายของท่าน ก่อนท่านจะมรณภาพได้สั่งเสียสานุศิษย์ว่า "เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ก็จงอย่าทำการปลงศพให้เป็นที่เอิกเกริกเลย ให้เอาเสื่อไม้ไผ่ห่อซากอันโสมมของท่านไปฝังเสียให้ไกลก็แล้วกัน"

    เหล่าสานุศิษย์ฟังคำปรารภของอาจารย์แล้ว ต่างก็เศร้าสลดตามๆ กัน ท่านถือคุณความดีอย่างเดียวเป็นสรณะ โลกียสมบัติใดๆ ตลอดจนชื่อเสียง เกียรติยศ ท่านมิได้ไยดีเสียเลย

    พระถังซำจั๋งมรณภาพในปี ค.ศ. ๖๖๔ สิริรวมอายุได้ ๖๕ พรรษา จักรพรรดิถังเกาจง ทรงโทมนัสเป็นอันมาก จนมิได้เสด็จออกขุนนางหลายวัน พร้อมรับสั่งว่า "ได้สิ้นแก้วมณีอันมีค่าของประเทศไปแล้วดวงหนึ่ง" และโปรดจัดการศพ ตามคำสั่งเสียของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว

    นี่เป็นประวัติตำนานโดยสังเขปของพระถังซำจั๋ง พระภิกษุผู้โด่งดังที่สุดของจีน ผู้สืบทอดพระไตรปิฎกจากอินเดีย ด้วยความมุ่งมั่น บากบั่น อุตสาหะเป็นอย่างยิ่งและยากที่คนธรรมดาๆ ทั่วไปจะพึงกระทำได้ สมควรนำมาเป็นอนุสติให้ชนรุ่นหลังใช้เป็นเครื่องเตือนใจในการมีศรัทธาและวิริยะในการทำงานการใดให้สำเร็จ

    ส่วนตำนานซีโหยวจี้ (XI YOU JI) หรือไซอิ๋วกี่ ที่ซึ่งแปลว่า ท่องแดนตะวันตก ที่โด่งดังนั้น ผู้ประพันธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ คือ อู่เจิ้งเอิน (ค.ศ. ๑๕๐๐-๑๕๘๒) ชาวเมืองหวยอิน มณฑลเจียงซู ในสมัยราชวงศ์หมิงได้ประพันธ์ขึ้นโดยใช้เส้นทางที่พระถังซำจั๋งเดินทางเป็นฉาก และจินตนาการสัตว์ขึ้น ๓ ตน คือ เห้งเจีย (ลิง), ตือโป๋ยก่าย (หมู) และซัวเจ๋ง (ปลาฉลาม) เปรียบประดุจสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังไม่รู้รสพระธรรม เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา ซึ่งเรื่องราวดังกล่าว ผู้ประพันธ์ได้เขียนอย่างสนุกสนานจนเป็นวรรณกรรมคลาสสิคเรื่องหนึ่งของจีนที่นำมาเล่นเป็นภาพยนตร์หลายครั้งแล้ว

    แต่คนดูก็ดูกันโดยไม่รู้จักเบื่อ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×