เคยได้ยินกันมั้ยครับ...
"นานาอเนกน้าว เดิมกัลป์... แล้วไงต่อวะ"
"อิ๊บอ๋าย! วันนี้สอบ West Civ. นี่หว่า ในหัวยังโล่งอยู่เลยอ้ะ..."
"เฮ้ย! 'ยูเง็น' คืออะไรวะ กรูเจือกจำไม่ได้อีก กระดาษคำตอบโล่งเลยเมิง..."
และอีกบานตะไทที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ที่เรามักจะได้ยินกันเป็นประจำในช่วงสอบกลางภาคและปลายภาค อันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของนิสิตอักษรฯ จุฬาฯ ทุกคน
ถ้าคุณเคยมีความรู้สึกเช่นนั้น ก็จงยอมรับเสียแต่โดยดีเถอะครับ เพราะมันไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหรืออัปยศอดสูแต่อย่างใด หากคุณต้องมาลืมบางสิ่งบางอย่างไปจากระบบความทรงจำอันยุ่งเหยิงของคุณ ไม่ว่าคุณจะพยายามจดจำมันให้ได้มากแค่ไหนก็ตาม
จงรู้ไว้ว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น
มนุษย์มักลืมเรื่องราวต่างๆ ไปถึง 70% ของสิ่งที่ได้ประสบพบเห็นและได้เรียนรู้ในวันนั้นๆ...ส่วนอีก 30% ที่จำได้ขึ้นใจนั้น ก็มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสามัญสำนึกที่เรามีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่น ชื่อตัวเอง ที่อยู่ พ่อแม่ การดำรงชีวิตประจำวันพื้นฐาน ฯลฯ หรือไม่ก็เรื่องที่ไม่สลักสำคัญกับหน้าที่การงานนัก เช่น เนื้อเรื่องภาพยนตร์ที่เพิ่งไปชมมา การ์ตูนเล่มที่เพิ่งอ่านจบไป เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางท่านคงทำหน้าเหยเก พลางคิดว่า "อ้าว! หยั่งงี้ที่เรียนๆ กันมาก็ไร้ประโยชน์กันหมดน่ะสิ"
นั่นล่ะครับ ถึงต้องมี "
การทบทวน" ขึ้นมา
ก่อนอื่น ผู้เขียนขอกล่าวอ้างถึงวิทยาศาสตร์แบบง่ายๆ ให้ฟังหน่อยละกันครับ คือสมองของคนเราเนี่ยประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทเป็นล้านๆ เซลล์ (จำนวนที่แท้จริงไม่ขอบอกละกันครับ รู้แค่ว่ามากกว่าประชากรมนุษย์ทั้งโลกก็แล้วกัน) และแต่ละเซลล์ก็มีหน้าที่รับสัญญาณต่างๆ อันเกิดจากสัมผัสทั้ง 5 ทางของคนเรา จากนั้นก็ส่งสัญญาณไปประมวลผลที่สมอง หรือไม่ก็เก็บสัญญาณนั้นๆ บันทึกไว้เป็นอนุสรณ์ส่วนตัวของเจ้าของสมองเอง และก็เกิด "การเรียนรู้" ขึ้นในที่สุด
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในตอนแรกที่เราเห็นเปลวไฟนั้น เราย่อมไม่รู้ว่ามันมีลักษณะเช่นใด แต่เมื่อเราได้เอานิ้วแหย่เข้าไปในไฟแล้ว เราก็รู้สึกได้ว่ามัน "ร้อน" และ "เจ็บ" และความรู้สึกนี้ก็จะถูกบันทึกเอาไว้ในสมองของเรา คอยเตือนให้เราระวังไฟเอาไว้เรื่อยมา
หรืออีกตัวอย่างคือ การหัดพูด ในตอนที่เราเป็นทารก เราได้ฟังเสียงของพ่อแม่และคนรอบข้างอยู่ทุกวัน จนประสาทหูสามารถจับรูปแบบการเปล่งเสียงได้ และเราก็เริ่มที่จะเปล่งเสียงเลียนแบบพ่อแม่ไปทีละคำสองคำ จนในที่สุดก็สามารถพูดคุยเป็นภาษาได้
การเรียนรู้ดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องพื้นฐานในชีวิตมนุษย์เท่านั้น ต่อมาเมื่อเราโตขึ้น ได้รับรู้เรื่องราวที่ซับซ้อนมากขึ้น และมีปริมาณมากขึ้น สมองของเราก็ไม่สามารถจะรับสัญญาณของเรื่องราวต่างๆ ได้หมดในเวลาสั้นๆ ได้อีกต่อไป...
เพราะเหตุนี้
การกระตุ้นให้มีการสัมผัสเพื่อรับสัญญาณเดิมๆ บ่อยๆ ก็จะทำให้สมองของเราสามารถบันทึกเรื่องราวนั้นๆ ได้เป็นเวลานานยิ่งขึ้น จนถึงขั้นจำได้ไม่มีวันลืมเลือน เปรียบได้กับการขุดคลองนั่นล่ะครับ ในช่วงแรกๆ ที่ขุดนั้นจะค่อนข้างลำบาก เพราะต้องถากผิวดินจำนวนมากทิ้งไปเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก แต่พอขุดซ้ำๆ ไปหลายรอบเข้า ก็ยิ่งขุดง่าย และน้ำไหลได้มากขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นคลองสายหนึ่งที่มีน้ำไหลได้สะดวก
วิธีการข้างต้นก็คือ "การทบทวน" นั่นเอง
แน่นอนว่า การทบทวนที่ดีนั้น หาได้สัมฤทธิ์ผลในวันสองวันไม่
คุณจำต้องมีความอดทนและการบริหารเวลาที่ดีพอด้วย ไม่ใช่ว่าจะสอบในวันมะรืนนี้ แล้วมาอ่านหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตาย พยายามบังคับตัวเองให้จำ น้อยคนครับที่จะรอด ถ้าคุณไม่เก่งจริง หรือไม่ใช่คนธรรมดา...
สมองก็เหมือนคนเรานะครับ ไม่มีใครชอบการบังคับขู่เข็ญหรอก จริงมั้ย
สังเกตดูก็ได้ เวลาคุณอ่านนิยายเล่มหนาๆ พอคุณอ่านจบก็มักจำเรื่องราวได้ สามารถเล่าเรื่องคร่าวๆ ให้คนอื่นฟังได้ แต่พอตอนท่องหนังสือสอบ ท่องให้ตาย ยังไงก็ไม่เข้าหัว ทั้งนี้ก็เพราะคุณมักท่องหนังสือด้วยความเครียด และความต้องการจำเนื้อหาให้ได้ครบถ้วน แต่เวลาอ่านนิยายหรือการ์ตูน คุณอ่านมันอย่างสบายๆ ไม่สนว่าจะจำเรื่องได้หมดหรือไม่...
ดังนั้น ถ้าคราวต่อไป คุณอ่านหนังสือเตรียมสอบเสียแต่เนิ่นๆ อ่านวันละนิดวันละหน่อย จด Short Note ไปพลางๆ รับรองเกรด A ได้มาหมูๆ ครับ
"พูดง่ายๆ น่า พอถึงเวลาจริงๆ งานก็มีเข้ามาเยอะ หยั่งงี้จะไปมีเวลาอ่านหลายรอบได้ยังไงกัน"มนุษย์เรานี่ปัญหาเยอะกันจริงนะครับ ชอบอ้างโน่นนี่แก้ตัวอยู่เรื่อย แต่แน่ล่ะ ส่วนใหญ่พวกเราก็มักเป็นเช่นนี้กันทั้งนั้น เพราะโตๆ กันแล้ว จะให้ว่างตลอดเหมือนตอนเป็นเด็กก็ไม่ได้หรอกครับ ผู้เขียนจึงขอบอกข่าวดีอะไรสักนิดหนึ่งสำหรับอนาคตอันสดใสของพวกเรา...
ในวงการวิทยาศาสตร์ (อีกแล้วครับท่าน) ได้มีการค้นพบฮอร์โมนตัวหนึ่งชื่อ "
วาโซเพรสซิน" (Vasopressin) ซึ่งตามปกติ เจ้าฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยปรับปริมาณปัสสาวะในตัวมนุษย์ (ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่มีเจ้าตัวนี้ เราก็จะฉี่กันไม่หยุดแน่ๆ เหวอ!) แต่มีนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องบางคน (ซึ่งคงไม่พ้นพี่มะกันแหงๆ) นำเจ้าฮอร์โมนตัวนี้มาทำการทดลองแผลงๆ อย่างหนึ่งเข้า...
การทดลองนั้นมีอยู่ว่า เขาจะสอนให้หนูจำนวนหนึ่งหาทางออกจากเขาวงกต พอพวกหนูจำทางออกได้แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็จะจับพวกมันมาช็อตไฟฟ้าอ่อนๆ ซึ่งจะทำให้พวกมันลืมเส้นทางในเขาวงกตไปหมด ต้องมาเรียนรู้เส้นทางกันใหม่อีกครั้งสองครั้ง
แต่พอจับหนูฉีดฮอร์โมนวาโซเพรสซินเข้าเส้นประสาทแล้ว ปรากฏว่า จะช็อตไฟอีกกี่รอบ พวกมันก็ยังจำเส้นทางเขาวงกตได้! (แน่นอนว่าถ้ามันยังมีชีวิตรอดนะ)
จากการทดลองนี้ นักวิทยาศาสตร์เลยสรุปได้ว่า
วาโซเพรสซินเป็นสารช่วยทำให้เซลล์ประสาทแข็งแรงขึ้น ส่งผลให้เรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ ได้เร็วขึ้น และเจ้าฮอร์โมนตัวนี้ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถใช้กับมนุษย์ได้โดยไม่มีผลเสียใดๆ อีกด้วย!!!
เป็นที่แน่ชัดว่าในอนาคตอาจมีการนำฮอร์โมนชนิดนี้มาผลิตเป็นยาบำรุงสมองขายกันยกใหญ่
ถึงจะราคาแพง แต่ก็นับว่าเป็นการปิดฉากฝันร้ายก่อนการสอบของนิสิตนักศึกษาอย่างเราๆ ไปได้อย่างแน่นอน
แต่มันจะดีจริงหรือ...
การที่ความจำดีนั้น ย่อมหมายความว่าไม่มีการลืมสิ่งใดๆ เลยด้วย ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดีหรือเลวร้ายก็ตาม
คนทุกคนย่อมมีความทรงจำอันแสนเศร้า น่าขมขื่น ทุกข์ทรมานอยู่กันทุกคน เช่น การสูญเสียญาติสนิทมิตรสหาย ถูกครูประจำชั้นลงโทษ สอบตก ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาแก่การจดจำนัก และมักจะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา
แต่หากเราไม่สามารถลืมสิ่งเหล่านี้ไปได้ ก็เท่ากับว่าเราต้องทนทรมานกับพวกมันอยู่ทุกวันนั่นเอง
นักข่าวชาวรัสเซียชื่อ โซโลมอน เวเมียนิมอฟ ไม่เคยลืมสิ่งต่างๆ ที่เขาเรียนรู้มาเลยตลอดชีวิต แต่เขาก็ไม่เคยลืมความโศกเศร้าจากการตายของญาติมิตรที่แสนรักไปได้เลย
ฉะนั้น การป้องกันมิให้ลืมเรื่องที่เรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การลืมนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว ขอเพียงแค่เรา "เลือก" ที่จะลืมอย่างเหมาะสม แบ่งว่าสิ่งใดควรลืม สิ่งใดไม่ควร และทบทวนสิ่งที่จำเป็นบ่อยๆ เราก็จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความทรงจำอันแสนสุขแล้วล่ะครับบรรณานุกรม
อาซาริ, โยชิโตะโอะ.
ตะลุย...ปริศนาโลกไฮเทค. แปลโดย กาญจนา ประสพเนตร. กรุงเทพมหานคร: สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย - ญี่ปุ่น), 2546.
อาร์โนลด์, นิก.
เลือด กระดูก และอวัยวะชิ้นเล็กชิ้นน้อย. แปลโดย พลอย โจนส์. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์, 2544.
นาถวีนา จิราสวัสดิ์, ผู้แปล.
โดเรมอน สอนเรื่องรางกาย ตอน สมอง. กรุงเทพมหานคร: นานมีบุ๊คส์, 2544
[<<หนังหน้าตัวเอง เอามาแปะประจานให้ดูกันเล่นๆ
]
ข้อความที่โพสจะต้องไม่น้อยกว่า {{min_t_comment}} ตัวอักษรและไม่เกิน {{max_t_comment}} ตัวอักษร
กรอกชื่อด้วยนะ
_________
กรอกข้อมูลในช่องต่อไปนี้ไม่ครบ
หรือข้อมูลผิดพลาดครับ :
_____________________________
ช่วยกรอกอีกครั้งนะครับ
กรุณากรอกรหัสความปลอดภัย
ความคิดเห็น