ปัญหาเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์
อิอิ ชาวพุทธมากมายสงสัยว่าการบริโภคเนื้อสัตว์บาปหรือไม่ อิอิ บทความนี้จะบอกคุณได้ อิอิ
ผู้เข้าชมรวม
460
ผู้เข้าชมเดือนนี้
1
ผู้เข้าชมรวม
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ปัญหาเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์
เรื่องการไม่บริโภคเนื้อสัตว์นั้น ภิกษุฝ่ายมหายานถือปฏิบัติมานานแล้ว แต่ท่านฉันอาหาร 3 มื้อ ส่วนภิกษุฝ่ายเถรวาท ฉันเนื้อสัตว์ แต่ฉันเพียง 2 มื้อ คือ เช้าและก่อนเที่ยง มีภิกษุและคฤหัสถ์ฝ่ายเถรวาทถือมังสวิรัติ (งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์) อยู่บ้างเหมือนกัน แต่ถือปฏิบัติเป็นส่วนตัว ไม่ตั้งเป็นหมู่คณะ และไม่ถือเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่นหรือถือว่าวิเศษกว่าผู้อื่นเพราะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ยังคงคบกับผู้บริโภคเนื้อสัตว์ได้อย่างเป็นมิตรสนิทสนมไม่มีข้อรังเกียจแต่อย่างใด
ในอริยวังสิกสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฏิปทา (ทางดำเนิน) อันเป็นวงศ์ของพระอริยะไว้ 4 ประการ คือ สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ตามมีตามได้ ยินดีพอใจในภาวนา การอบรมจิต และไม่ยกตนข่มผู้อื่นเพราะคุณธรรมนั้นๆ
ในขณะที่กำลังเขียนเขียนนี้ (สิงหาคม 2525) ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่พุทธบริษัทในเมืองไทยว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาระหว่างการบริโภคเนื้อกับไม่บริโภคเนื้อสัตว์
เพื่อให้ท่านผู้สนใจได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างกว้างขวางออกไปอีก จึงนำข้อคิดเห็นของ ท่านผู้เป็นปราชญ์ทางพุทธศาสนาบางท่านมาลงไว้ในที่นี้ คือ
1. ท่านพุทธทาสภิกขุว่า (พระเทพวิสุทธิเมธี) แห่งสวนโมกขพลาราม อ. ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีผู้ท่านถามปัญหาต่อท่านพุทธทาสภิกขุว่า ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ จะมีจิตเมตตาได้อย่างไรและการกินเนื้อสัตว์และการกินผักนั้น กินอย่างไหน จิตจึงจะเป็นปกติง่ายกว่ากัน
ท่านพุทธทาสภิกขุตอบไว้ ดังนี้
ปัญหานี้สรุปความได้ว่า เป็นข้อข้องใจ เกี่ยวกับการฉันเนื้อฉันผัก ผูกปัญหาในลักษณะที่ว่า เป็นการกระทบต่อภิกษุผู้ฉันอาหารด้วยบาตรที่ยังเป็นเลือดเนื้อ การใช้สำนวนโวหารอย่างนี้ เป็นความลำเอียงอย่างมาก ที่ใช้บาตรที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ ทำให้เกิดเป็นภาพพจน์ให้เกิดเป็นเลือดสด ๆ แดง ๆ หรือราดไปด้วยเลือด ข้อปัญหามันสรุปความว่ามันเนื่องมาแต่ความไม่แน่ใจในเรื่องฉันเนื้อหรือผัก ตั้งปัญหาใหม่อีกว่า การฉันเนื้อกับการฉันผักนั้น จิตไหนจะเป็นปกติมากกว่ากัน และไม่ย่อมให้ใช้หลักที่ว่า พิจารณาโดยความเป็นธาตุแล้วจึงฉัน เพื่อจะตัดปัญหาว่าเนื้อหรือผักออกไปเสีย ?
อาตมาเข้าใจว่า ที่นั่งกันอยู่ที่นี้ทั้งหมด ทั้งพระทั้งฆราวาสนี่ คงจะมีบางองค์ที่มีปัญหาเรื่องฉันเนื้อฉันผัก บางองค์บางท่าน ก็สมาทานฉันผัก ไม่มีการฉันเนื้อ ไม่มีการกินเนื้อ ก็เป็นเรื่องที่น่าจะพูดกันให้มันเป็นที่เข้าใจกันเสียบ้างก็จะดีเหมือนกัน อาตมาก็จะไม่พูดในลักษณะที่เจาะจงบุคคลใดหรือคณะใด หรือพุทธศาสนานิกายไหน เช่น นิกายมหายานเขาก็ไม่กินเนื้อทั้งหมด ฝ่ายเถรวาทนี้ ก็ถือไปตรง ๆ ตามหลักธรรมะวินัย บางองค์ฉันเนื้อ ก็ฉันโดยไม่ผิดวินัย แต่ถ้ามีความรู่ความเข้าใจ ก็จะไม่ผิดหลักธรรมะด้วยเป็นอันว่าในนิกายเถรวาทนี้ มีทั้งฉันเนื้อและไม่ฉันเนื้อ คือฉันผัก
ที่จริงคำพูดอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่จะพูดว่าพระนี้ฉันเนื้อฉันผัก พระองค์ใดทำความสำคัญมั่นหมายว่า เรากินเนื้อหรือกินผัก ผู้นั้นไม่ใช่ภิกษุในพุทธศาสนา ภิกษุในพุทธศาสนา จะไม่ฉันด้วยความสำคัญว่าเนื้อหรือผัก ถ้ายิ่งสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก คนนั้นมันยังไม่รู้ธรรมะตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ไม่ให้ความสำคัญมั่นหมาย ด้วยความสำคัญมั่นหมายในความรู้สึกของตนหรือบุคคลทั้งหลาย การที่เขามีความสำคัญมั่นหมาย สำคัญว่าเนื้อ กินเข้าไปก็เป็นยักษ์ ถ้าสำคัญว่าผักกินเข้าไปก็เป็นค่าง ค่างที่อยู่ตามยอดไม้น่ะมันกินแต่ผักไม่กินเนื้อ นั่นแหละสำคัญว่ากูกินผักก็เป็นค่าง สำหรับว่ากูกินเนื้อก็เป็นยักษ์ ฉะนั้นภิกษุในพุทธศาสนา จะไม่ทำความมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก และจะสำคัญว่าอะไร ? คือไม่สำคัญว่าอะไรหมด ปล่อยมันไปตามความเป็นจริงว่ามันเป็นอาหารก็แล้วกัน มันเป็นอาหารที่ถูกต้องและสมควรตามความเป็นไปของภิกษุในพุทธศาสนา ที่เลี้ยงชีวิตอย่างคนขอทาน นี่อาตมาพูดถึงเรื่องฝ่ายภิกษุก่อน
ภิกษุที่แท้จริง อาศัยการเลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ ในลักษณะที่เป็นคนขอทาน คือ เขาใส่อะไรให้มาในภาชนะก็พิจารณาดู โดยลักษณะแห่งความเป็นอาหารที่ได้มาตามแบบของภิกษุผู้เลี้ยงชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น อย่างคนขอทาน ว่าเป็นอาหารที่สมควรแก่สมณะหรือไมที่นี้เมื่อจะฉันเข้าไป คำไหน ชิ้นไหน อย่าได้สำคัญว่ามันเป็นเนื้อ หรือผักถ้าเห็นว่าอาหารชิ้นนี้ไม่เหมาะแก่ภาชนะเราก็ขวางทิ้งไปเสีย อาหารชิ้นนี้เหมาะแก่อัตภาพของเรา ก็ฉันโดยไม่ต้องเกิดโทษ ไม่ทำความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก
ในวินัยก็มีอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งถ้าเขานิมนต์ ไปฉันโดยระบุบสิ่งของนั้นว่าเป็นอะไร เช่น ว่าเป็นเป็ด เป็นไก่ เป็นปลา เป็นเนื้อ เป็นขนนจีน เป็นขนนต้มอะไร ถ้าระบุบลงไปโดยความเป็นชื่อเป็นที่ตั้งแห่งความมั่นหมายว่ามันเป็นอะไรแล้ว ภิกษุจะไม่รับนิมนต์ หรือรับฉันอาหารนั้น นี่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความมั่นหมายว่ามันเป็นอะไร กินขนนอะไร กินเนื้ออะไร กินปลาอะไร กินผักอะไร กินน้ำพริกอะไร ต้องไม่มีความมั่นหมายว่ามันเป็นอะไรในลักษณะนั้น ให้สังเกตดูแต่ว่ามันเป็นอาหารที่สมควรแก่ภิกษุผู้เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยผู้อื่นอย่างคนขอทาน
ย้ำอีกทีหนึ่งว่า ได้มาอย่างคนขอทาน ในบาตรมีอะไรก็คงจะมีไปตามเหตุตามปัจจัยตามเรื่องรามที่ชาวบ้านเขาจะใส่ให้มา ถ้าไปขอทานในหมู่มนุษย์ที่มีการกินเนื้อเป็นอาหารในบาตรนั้นมันจะต้องมีเนื้อติดมาด้วยเป็นธรรมดา ถ้าไปขอทานในหมู่มนุษย์ที่ไม่กินเนื้อเป็นอาหาร มันก็ไม่มีมันก็มีแต่ผัก ภิกษุก็จะไม่สำคัญมั่นหมายว่าผัก ว่ากูจะกินผัก อย่างนี้ก็ไม่มี ถ้ามีเนื้อมากูจะกินเนื้ออย่างนี้ก็เป็นยักษ์ ภิกษุก็จะไม่ทำความสำคัญว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก บริโภคด้วยความเป็นอาหาร ที่สมควรแก่สมณะ ชิ้นไหนไม่สมควรแก่สมณะก็ทิ้งไป ชิ้นไหนส่วนไหนเป็นอาหารที่สมควรแก่ความเป็นสมณะก็ฉัน
ที่ว่าสมควรหรือ ไม่สมควรนี้ มันก็มีระเบียบทั้งทางวินัยและทางธรรมะอยู่แล้ว ทางวินัยก็มีว่าเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจง นี้ก็เป็นเรื่องที่ผิดวินัย ก็ไม่ฉันนี้เรื่องทางวินัย ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องทางธรรมะมันก็มีว่า ภิกษุจะต้องบริโภคอาหาร อย่างบริโภคเนื้อบุตรกลางทะเลทราย มันจะเป็นอาหารอะไรก็ตามที่ฉันลงไปในท้องนั่นน่ะ ต้องทำความรู้สึกว่า เหมือนกับบริโภคเนื้อลูกของตัวเองกลางทะเลทราย นี้เป็นมาตรฐานสำหรับจะเปรียบเทียบ
เรื่องมีอยู่ว่า ผัวเมียอุ้มทารกลูกน้อยเดินข้ามทะเลวนเวียนอยู่ในทะเลทราย จนเสบียงอาหารหมดไป เพราะหลงทาง ที่นี้ก็เหลือแต่ลูกเล็กที่มันทดกับความลำบากตรากตำไม่ไหว พ่อแม่ก็ไม่ได้กินอาหารหลายวันแล้ว กระทั่งลูกน้อยมันตายลงไปก่อน บิดามารดานั้นก็ตัดสินใจว่าเมื่อยังไม่ควรจะตาย ก็กินเนื้อลูกของตน เยี่ยวยาชีวิตให้รอดอยู่ได้กว่าจะข้ามทะเลให้พ้นไปได้ เขามีความทุกข์มากเขาก็กินไม่ค่อยลง เหลือที่จะกลืนลงไปได้ นี่ภิกษุจะต้องกินอาหารในลักษณะนั้น ถึงแม้จะกินผักก็ต้องกินในลักษณะนั้นไม่ใช่กินด้วยความตะกละในรสอร่อย จะกินเนื้อหรือกินผัก ก็ต้องกินด้วยความรู้สึกเหมือนกับว่า กินเนื้อลูกกลางทะเลทราย ไม่กินด้วยกิเลสตัณหา ว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน
ฉะนั้นเรามีหลักธรรมะอย่างนี้ มีหลักวินัยอย่างนั้น อย่าต้องมีปัญหาเรื่องเนื้อหรือผักเลย ผู้รู้ธรรมะในพุทธศาสนา จะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านก็มีหลักที่จะไม่หมายมั่นว่าอะไรเป็นอะไร โอยหลักธรรมะที่จะหลุดพ้นแล้ว จะไม่หมายมั่นแม้แต่ว่าดิน นี้คือดิน น้ำนี้เป็นน้ำ ลมนี้เป็นลม ไฟนี้เป็นไฟ จะไม่หมายมั่นว่ามันมีตัวตนของมันอย่างนั้น ๆ เพราะความหมายมั่นอย่างนั้นเป็นเรื่องของอวิชชา อุปาทานที่ยังติดอยู่ในสมมติว่ามันเป็นอย่างนั้น ๆ ท่านไม่หมายมั่นอะไรโดยความเป็นอะไรโดยประการทั้งปวง ตั้งแต่ไม่หมายมั่นดินว่าดิน ขึ้นไปตามลำดับจนกระทั่งไม่หมายมั่นพระนิพพานโดยความเป็นพระนิพพาน ขอให้เข้าใจว่าไม่หมายมั่นอะไรโดยความเป็นอะไร นี่คือลักษณะของผู้รู้ หรือของพระพุทธ คือ ผู้รู้ ฉะนั้นเมื่อเราปฏิบัติอยู่ตามหลักของพุทธศาสนาแล้ว ไม่ควรหมายมั่นสิ่งใดโดยความเป็นอะไร หรือเป็นตัวตนของอะไร จึงไม่หมายมั่นโดยความเป็นเนื้อหรือเป็นผัก
ฉะนั้นพุทธบริษัทที่แท้จริง จึงไม่มีโอกาสได้กินทั้งเนื้อและผัก เพราะไม่มีความหมายมั่นโดยความเป็นเนื้อหรือความเป็นผักนั้นเอง มีแต่การกินที่เหมือนการกินเนื้อบุตรกลางทะเลทราย โดยรู้สึกว่านี่มันเป็นอาหารที่ได้มาตามลักษณะของภิกษุผู้มีชีวิตอยู่อย่างคนขอทาน ถ้าชิ้นนี้มันจะมีโทษเกิดขึ้น ไม่สบายแก่ร่างกายก็ทิ้งเสียก็ได้ ชิ้นไหนไม่เป็นโทษแก่ร่างกายก็บริโภคเข้าไปในลักษณะที่เป็นอาหาร อย่ามั่นหมายเป็นเนื้อหรือเป็นผัก หรือไม่มั่นหมายว่าเป็นอะไร เป็นขนมนั่นขนมนี่ แกงนั่นแกงนี่ ผัดนั่นผัดนี่ จะไม่หมายมั่นในลักษณะอย่างนั้น ถ้าไปหมายมั่นโดยความเป็นอะไรเข้าแล้ว มันก็จะกลายเป็นคนโง่ มันจะไม่เป็นพุทธบริษัทไปได้เลย นี่สำหรับภิกษุจะต้องปฏิบัติอย่างนี้ ไม่กินทั้งเนื้อ ไม่กินทั้งผัก แต่ฉันอาหารที่เหมาะสมแก่ความเป็นภิกษุของตนโดยหลักว่าเหมือนกับว่ากินเนื้อลูกกลางทะเลทราย
ทีนี้ถ้าว่าใครที่ยึดมั่นว่าเป็นเนื้อเป็นผัก จนกลายเป็นคนโง่แล้ว ครั้นกินผักแล้วไปเที่ยวเบ่งอวดดี ดูหมิ่นข่มขี่ผู้ที่กินเนื้อ คนกินผักนั้นแหละมันกลายเป็นคนกินเนื้อเน่าที่สกปรกที่สุดนี่มันน่าคิดไหม กินผักแล้วไปเที่ยวทับถมคนกินเนื้อ เลยตัวเองน่ะกลายเป็นคนกินเนื้อเน่าที่สกปรกที่สุด ที่พระพุทธภาษิตใน ติก.อํ. ว่า "อภิชราชื่อว่าเน่าพอง พยาบาทชื่อว่ากลิ่นเหม็นคาว ความคิดอกุศลชื่อว่าแมลงวัน" ฉะนั้นถ้าใครกินผักก็อย่าอวดดีทับถมคนอื่นที่เขายังกินเนื้ออยู่ ตัวเองจะกลายเป็นคนกินเนื้อเน่า ขอให้เขาปฏิบัติเสียใหม่ว่าเราจะไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผัก เราจะกินอาหารที่มีความอันถูกต้องตามธรรมะวินัย เพียงเพื่อตั้งอยู่ได้แห่งอัตภาพนี้ พิจารณาอาหารบิณฑบาตโดยความเป็นของว่างจากตัวตน นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญโญ แล้วก็กินโดยไม่ต้องให้มันเป็นเนื้อหรือเป็นผัก นี่คือผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาทั้งโดยธรรมะและโดยวินัย
เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ปัญหาชนิดนี้ก็ไม่เกิด คือไม่เกิดปัญหาที่ว่า การสอนการปฏิบัติไปนิพพาน แต่ในบาตรยังเติมไปด้วยเลือดและเนื้อนี้จะมีเมตตากันที่ตรงไหน ถ้าเขาฉันอาหารด้วยจิตใจอย่างที่กล่าวมาแล้ว ปัญหานี้จะไม่เกิด มันมีความรู้สึกที่ถูกต้อง เมตตามันเป็นเรื่องความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วเราก็ไม่ได้กินเนื้อหรือกินผักแล้วทำไมไม่คิดบ้างว่าผักมันก็มีชีวิต การทำลายชีวิตผิดภูตคามเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เท่ากับทำลาบชีวิตสัตว์ ผักมันก็เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในระดับต่ำสุด เราจะไม่เบียดเบียนสิ่งที่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไม่ว่าจะเป็นผัก จะขจัดความหมายมั่นอันนั้นออกไปเสีย แล้วก็บริโภคอาหารนั้นอย่างบริสุทธิ์ แม้ในบาตรมันจะมีอะไรที่ควรจะฉันที่ถูกต้องตามธรรมะวินัย ไม่เป็นที่ขยะแขยงรังเกียจแก่ตนเอง ก็ฉันอย่างที่ว่าเป็นอาหารสำหรับคนขอทาน ถ้าชิ้นไหนเป็นโทษก็ทิ้งมันไปเสีย มีความรู้สึกเหมือนกับกินเนื้อลูกกลางทะเลทราย แล้วปัญหาก็ไม่เกิด
ที่นี่ปัญหาที่ว่า ฉันเนื้อและผักอันไหนจิตปกติกว่ากัน จิตปกตินี้ มันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหรือผัก ไปดูสัตว์ที่มันกินผักมันก็ยังไม่มีจิตปกติ มันก็ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกันนักเรื่องเนื้อและเรื่องผัก ในการที่จะมีจิตเป็นปกติ จิตจะปกติได้ก็เพราะมีสติสัมปชัญญะควบคุมจิตไว้ในคลองของธรรมะ จิตมันจึงปกติ การพิจารณาเห็นว่าไม่เป็นเนื้อ ไม่เป็นผัก แต่เป็นธาตุตามะธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นข้อปฏิบัติไม่เฉพาะผู้ใด แต่สำหรับทุกคน ที่จริงเขาควรจะตั้งปัญหาว่า เนื้อกับผักอันไหนช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้ง่ายกว่ากัน
สำหรับพระอรหันต์นั้น ท่านไม่ต้องระวังหรือตั้งใจปฏิบัติอะไร เพราะว่าความหมายมั่นในสิ่งใด ๆ โดยความเป็นอะไรนั้นมันไปแล้ว ท่านไม่หมายมั่น แม้แต่ดินว่าเป็นดิน ไม่หมายมั่น แม้แต้น้ำว่าเป็นน้ำ ว่าไฟเป็นไฟ ลมเป็นลม กระทั้งถึงว่าแม้การนิพพานก็ไม่หมายมั่นว่าเป็นนิพพาน ฉะนั้นเรื่องจึงไม่เกี่ยวกับพระอรหันต์ มันเกี่ยวกับคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ต่างหาก ที่เขาจะต้องพิจารณาอะไรโดยความเป็นอะไร เพราะว่าเราต้องการจะหลุดพ้น หรือเพื่อจะเป็นพระอรหันต์นั้นเอง ฉะนั้นพิจารณาสิ่งที่กินเข้าไปโดยความเป็น นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญโญ ตามบทปัจจเวกขณ์นั้นถูกต้องแล้ว ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้น ว่ากินเนื้อหรือกินผักอันไหนจะมีจิตปกติมากกว่ากัน
จิตปกติก็ต้องมีการประพฤติกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่โรงเจกินแต่ผักก็มีการทะเลาะวิวาท มีการบันดาลโทสะ จนปรากฏออกมาว่าไม่แพ้คนที่ไม่ได้อยู่โรงเจ พวกที่อยู่ในโรงเจเขาก็ยอมรับและยืนยันว่าอย่างนั้น ฉะนั้นจะเอาเนื้อหรือผักเป็นหลัก ว่าจิตปกติหรือไม่นี้มันไม่ได้ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมะที่จะให้จิตเป็นปกติอย่างไร ก็ปฏิบัติก็แล้วกัน ที่ถามว่าจิตไหนปกติกว่ากัน ? มันก็ไม่มีทางที่จะยืนยันได้ โดยเหตุที่ว่ากินเนื้อหรือกินผัก เอาละ ก็เป็นอันว่า กินเนื้อเป็นยักษ์ กินผักเป็นค่าง อ้ายยักษ์คงจะวุ่นวายกว่าค่าง ค่างคงปกติกว่า แต่ถ้าคนที่ไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผักนั้นจะมีจิตปกติกว่านะ ฟังให้ดีเถอะไม่กินทั้งเนื้อไม่กินทั้งผักนั่นจะมีจิตปกติหรือมัชฌิมากว่า ไม่สำคัญมั่นหมายโดยความเป็นเนื้อหรือโดยความเป็นผัก กินแต่อาหารที่ถูกต้องตามธรรมวินัย นี่ถ้าให้พูดกันโดยตรงไม่เกรงใจใคร พูดโดยหลักธรรมวินัยก็พูดอย่างนี้ การกินผักที่ตบแต่งให้ดูเหมือนเนื้อและปรุงให้อร่อยกว่าเนื้อ ลงทุนแพงกว่าเนื้อ เป็นการกินผักที่หลอกลวง ไม่เป็นธรรมไม่เป็นวินัย จิตก็ยิ่งไม่ปกติกว่าไปอีก
ทีนี้มาพูดกันในข้อปลีกย่อย ว่าถ้าสำหรับเรากินผักสบายกว่าก็กินซิ ใครจะห้ามและเราก็ไม่ต้องเสียสตางค์มากด้วย ผักนี่มันถูกกว่าเนื้อ และมันก็มีเหตุผลที่จะกินเพื่อความสบายแก่ร่างกาย แต่อันนี้เอาเป็นหลักสำหรับบรรพชิตไม่ได้ เพราะบรรพชิตเลี้ยงชีวิตอย่างคนขอทาน อะไรใส่มาอย่างไรก็เลือกเอา เนื้อทำให้ไม่สบายใจเราก็ไม่กิน ผักทำให้สบายใจก็กิน ถ้าเป็นชาวบ้านก็จัดเอาเองได้ แต่ขอย้ำว่า กินผักแล้วอย่าไปดูถูกคนกินเนื้อ คนนั้นมันจะกลายเป็นคนกินเนื้อเน่าที่แสนจะสกปรกนั้น กินผักแล้วอย่าไปโอ้อวดทับถมผู้กินเนื้อเลย
ทีนี้เป็นเรื่องปลีกย่อยออกไปจากธรรมะจากวินัย คือถ้ากินผักเพื่อประโยชน์ทางอนามัยก็กินซิ กินผักมันถูกสตางค์ก็กินซี แต่มันยงคงโง่อยู่นั่นแหละที่มัวสำคัญมั่นหมายว่า กินเนื้อหรือกินผัก ไม่ถือว่าเป็นเพียงอาหาร ถ้าเป็นพุทธบริษัท ต้องมีจิตที่ไม่กินเนื้อและไม่กินผัก ขอยืนยันอย่างนี้ พุทธบริษัทจะไม่มั่นหมายด้วยความเป็นเนื้อ ไม่มั่นหมายโดยความเป็นผัก นั่นคือไม่กินเนื้อและไม่กินผัก มีจิตใจเป็นกลาง นี้ว่าง นี้สะอาดกว่า สงบกว่า ไม่กินทั้งเนื้อไม่กินทั้งผัก นั้นมีจิตใจปกติกว่าอย่างไหนหมด ไม่โง่โดยความเป็นเนื้อ ไม่โง่โดยความเป็นผัก แต่ถ้าเห็นว่ากินผักมีโรคภัยไข้เจ็บน้อยไม่ค่อยปวดฝันหรืออะไรก็เอาซิ ก็เลือกกินแต่ผักซิ หรือว่ามันจะมีเหตุผลย่างอื่นก็เอาซิไม่เป็นไร การกินแต่ผักและผลไม้เคยลองแล้วอุจจาระจะไม่มีหรือไม่เกือบจะไม่มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ แต่ถ้าให้ดีแล้วล่ะก็ ในจิตใจไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผัก ปัญหาจะได้ไม่เกิดปัญหาอย่างนี้จะไม่เกิด นี่เรื่องการกินเนื้อและผักนี้ มีข้อเท็จจริงอย่างนี้ ตามความรู้สึกของอาตมมันเป็นอย่างนี้
ขอสรุปความอย่างสั้น ๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผัก โดยไม่มีความมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก ให้มันเป็นเรื่องของสัจธรรม คือว่ามีแต่ธาตุตามธรรมชาติเป็นไปตามการปรุงแต่งของกฎอิทัปปัจจยตา จะเป็นเนื้อหรือเป็นผักก็ตาม ถ้าไม่ถูกต้องแก่สังขารร่างกายนี้แล้วก็ไม่กิน ถ้ามันยังมีประโยชน์ ไม่เป็นโทษแก่ร่างกายนี้แล้วมีความบริสุทธิ์โดยประการทั้งปวงแล้วก็กินได้ จะกินเป็นเนื้อ เป็นนม เป็นไข่ เป็นผัก เป็นปลาเป็นผลไม้ เป็นอะไรก็ตามใจ อย่างไปมั่นหมายโดยความเป็นเนื้อ เป็นผัก เป็นผลไม้ เป็นขนมโน่นเป็นขนมนี่ อย่าไปมั่นหมายมันจะโง่ ถ้ากินด้วยความมั่นหมายว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้แล้ว มันคือคนโง่หลงที่ยึดถือในการกิน
พุทธบริษัทต้องไม่โง่ พุทธบริษัทเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา เป็นอันว่าเรื่องกินเนื้อเรื่องกินผักสรุปความได้อย่างนี้ และตอบได้เพียงเท่านี้ อาตมาไม่สนับสนุนทั้งกินเนื้อและกินผัก สนับสนุนการไม่กินทั้งเนื้อและผัก กินอาหารถูกต้องตามธรรมวินัย เจ้ามีปัญหาอื่นจะถามต่อไป....
ผลงานอื่นๆ ของ เซซากุ ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ เซซากุ
ความคิดเห็น