ฟื้นฟ้าหาตะเข็บ - นิยาย ฟื้นฟ้าหาตะเข็บ : Dek-D.com - Writer
×

    ฟื้นฟ้าหาตะเข็บ

    คำมอย เด็กหนุ่มชาวลัวะกับการผจญภัยในแดนล้านนาท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง มีส่วนร่วมก่อการฟื้นม่านเมืองเชียงใหม่และฟื้นเมืองลำปาง ได้พบรักและจากพราก สร้างชื่อในวงพวกนักเลงจนกลายเป็นตำนาน

    ผู้เข้าชมรวม

    134

    ผู้เข้าชมเดือนนี้

    134

    ผู้เข้าชมรวม


    134

    ความคิดเห็น


    1

    คนติดตาม


    2
    จำนวนตอน :  1 ตอน
    อัปเดตล่าสุด :  11 พ.ย. 67 / 23:17 น.
    ตั้งค่าการอ่าน

    ค่าเริ่มต้น

    • เลื่อนอัตโนมัติ

    นิยายเรื่องนี้เป็นผลงานแนวบู๊เฮียบเรื่องที่สองของผู้เขียน ยังคงเป็นเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน ภูตหมอกควัน เราได้สัมผัสกับบรรยากาศของอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกันไปแล้ว ฟื้นฟ้าหาตะเข็บ จะพาผู้อ่านไปท่องแดนล้านนาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ กันบ้าง

    สำหรับผู้อ่านที่ไม่เคยรู้จักผลงานของผู้เขียนมาก่อนอาจเกิดคำถามในใจบางข้อ เช่น นิยายกำลังภายในทำไมใช่เรื่องราวบนแผ่นดินจีน (หรือโลกแฟนตาซีจีน) ในไทยมีวิทยายุทธ์อะไรพวกนี้ด้วยหรือ คำถามเหล่านี้มีคำตอบที่เข้าใจได้ไม่ยาก หากผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจและสามารถเชื่อมโยงรากเหง้าของศิลปวิทยาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับภูมิภาคข้างเคียง ผู้เขียนเคยอธิบายไว้บ้างแล้วในคำนำของภูตหมอกควัน

    องค์ประกอบของนิยายบู๊เฮียบ (武俠小說)หรือที่เรียกกันจนชินปากว่า นิยายกำลังภายใน คือต้องมีบู๊ (การต่อสู้) และมีเฮียบ (ผู้กล้า) กล่าวคือ เป็นเรื่องราวการผจญภัยของผู้กล้า ที่จริงก็จัดอยู่ในประเภท action ทั่วไป จะย้อนยุคหรือไม่ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีวันก้มหัวให้ (絕不低頭) ของโกวเล้ง เป็นเรื่องราวในเซี่ยงไฮ้ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ใช้หมัดปะทะปืนก็ถือว่าเป็นนิยายบู๊เฮียบ แต่แนวทางและขนบในงานเขียนส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องราวย้อนยุค เพราะโลกยุคโบราณใช้กำลังแก้ปัญหากันเป็นปกติ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เลือดล้างด้วยเลือด ดังที่โกวเล้งเรียกว่าเป็นยุคสมัยที่ “ล้างแค้นตามความปรารถนา ทดแทนพระคุณตามความรู้สึก”[1] อีกทั้งยุคโบราณยังเต็มไปด้วยสิ่งที่คนยุคปัจจุบันไม่คุ้นเคยหรือรับรู้มาก่อน ความลี้ลับมักมีเสน่ห์เย้ายวนชวนค้นหาเสมอ

    เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินวลี ภูษาฟ้าไร้ตะเข็บ หรือ เทียนอีอู๋เฟิ่ง (天衣無縫) ในภาษิตจีนกันมาบ้าง หมายถึง ความแนบเนียนไร้ที่ติ ชื่อนิยายเรื่องนี้ในภาษาจีนคือ เทียนคงอู๋เฟิ่งจี้ (天空無缝記) ดัดแปลงมาจากวลีดังกล่าว แปลตรงตัวหมายถึง ตำนานนภาไร้ตะเข็บ หรือ Seamless Sky ในภาษาอังกฤษ โดยชื่อเรื่อง ฟื้นฟ้าหาตะเข็บ ในภาษาไทย นอกจากเล่นสำนวนแล้วยังซ่อนความหมายเอาไว้

    ฟ้ากว้างใหญ่ไร้รอยต่อ พลิกหาตะเข็บเท่าใดก็หาไม่เจอ…

    …เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเป็นคนชนชาติใด ล้วนอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน!

    คำว่า ฟื้น มีความหมายทางการเมืองยุคโบราณว่า restore ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่คาบเกี่ยว (หรืออาจจะทั่วโลก) เต็มไปด้วยสงครามและความไม่สงบทางการเมือง ในล้านนา รัฐฉาน และหัวเมืองมอญมีความพยายามฟื้นม่าน หรือการปลดแอกจากการปกครองโดยจักรวรรดิพม่าอยู่เป็นระยะ ในขณะเดียวกัน ชาวฮั่นในฮุนหนำรวมทั้งที่อพยพมายังพม่าตอนบนจากการรุกรานของชาวแมนจูก็พยายามชูธง “โค่นเช็งกู้เหม็ง” เกือบตลอดทั้งศตวรรษ การลุกฮือในจีนตอนใต้ยังขยายวงกว้างไปยังชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวม้ง (เหมียว-เหยา) และชาวหุย (มุสลิม) ที่ไม่พอใจผู้ปกครองอีกด้วย

    ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ บางครั้งอาจไม่ได้เกิดจากความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม หรือศาสนา แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ อันชักนำไปสู่ความเกลียดชังกันได้ง่าย แม้แต่คนกลุ่มเดียวกันยังมีความเห็นที่แตกต่าง บ้างก็ปฏิบัติต่อกันอย่างเลวร้ายได้อย่างเหลือเชื่อ เรื่องราวที่ตัวละครเอกได้ประสบพบเจอ อาจสามารถย้ำเตือนได้ว่า แม้จะแตกต่างกันด้วยปัจจัยนับร้อยพัน เราทุกคนก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความเป็นมนุษย์

    ฟื้นฟ้าหาตะเข็บ ดำเนินเรื่องผ่านพฤติการณ์ของ คำมอย เด็กหนุ่มเชื้อสายลัวะที่เข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ฟื้นม่านเมืองเชียงใหม่ในปี ค.ศ. ๑๗๒๗ นำโดย เทพสิงห์ และเหตุการณ์ฟื้นเมืองลำปางในปี ค.ศ. ๑๗๓๒ นำโดย หนานทิพย์ช้าง ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์คงรู้จักบุคคลทั้งสองกันดีอยู่แล้ว และเดาได้ไม่ยากว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร แต่นิยายเรื่องนี้ย่อมไม่ได้บอกเล่าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่หาอ่านจากเอกสารชั้นต้นเพียงอย่างเดียวก็ได้ นอกจากเหตุการณ์บ้านเมือง ยังสอดแทรกเรื่องราวความรักความแค้น และคำถามเชิงปรัชญาให้ผู้อ่านได้แง่คิดที่เป็นประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย รวมทั้งความบันเทิงครบเครื่องเรื่องต่อยตี

    นอกจากนี้ยังมีตัวละครมากมายหลายสำนักหลากเผ่าพันธุ์มาชุมนุมกันในแดนล้านนา ได้แก่ ยอดฝีมือมุสลิมนิกายซุนนีฮานาฟี ศิษย์นิกายมหายานแห่งเขาโกยจกซัวแดนฮุนหนำ ข้ารับใช้ตระกูลเอี้ยแห่งเฮงตักโฮ่ว (โกก้าง) ยอดฝีมือเกวฉานจากลุ่มน้ำมาว ศิษย์สำนักดอยตุง ศิษย์นิกายยางกวง (สวนดอก) ศิษย์นิกายป่าแดง ช่างเหล็กเมืองลอง พ่อค้าเกลือเมืองน่าน ยอดฝีมือชาวว้า มูเซอ เงี้ยว พม่า มอญ ยวน ลาว ลื้อ ยาง ลัวะ ฯลฯ ค่ายสำนักที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากองค์กรที่มีอยู่จริง บ้างก็เป็นสำนักบู๊จริง ๆ บ้างก็ดัดแปลงให้มีบทบาทในวงพวกนักเลงเพื่อความสนุกสนาน ขออย่าได้คิดเป็นจริงเป็นจัง

    นิยายเรื่องนี้แบ่งเป็น ๒ ภาคคือ ภาคต้น (ตอนที่ ๑ - ๑๖) เป็นเหตุการณ์ช่วงเดือนตุลาคม ๑๗๒๖ ถึงมีนาคม ๑๗๒๗ และภาคปลาย (ตอนที่ ๑๗ - ๓๒) เป็นเหตุการณ์ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ๑๗๓๒ ทั้งสองภาคกินระยะเวลาตามท้องเรื่องห่างกัน ๕ ปี แต่ผู้เขียนจะไม่เล่าทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของตัวละครเอก มีเพียงการเล่าย้อนถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาที่หายไปเท่านั้น เพราะนิยายไม่ใช่รายการ reality show

    เนื่องจากผู้เขียนไม่สันทัดภาษาไทยภาคเหนือ จึงขอใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นหลัก สำนวน คำสรรพนาม อาจผสมผสานกลิ่นอายนิยายกำลังภายใน ไม่เหมือนภาษาที่ใช้จริงตามบริบทท้องเรื่องมากนัก หากผู้อ่านที่เป็นล้านนาเนียนพันธุ์แท้รู้สึกขัดใจ ต้องขออภัยล่วงหน้า ชื่อสถานที่และตัวละครที่เป็นภาษาจีนจะถอดเสียงเป็นสำเนียงแต้จิ๋วตามแนวทางสำนวนแปลของ ว. ณ เมืองลุง และ น.นพรัตน์ (ยุคต้น) ที่ผู้เขียนและผู้อ่านหลายท่านคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่จะแนบเชิงอรรถบอกสำเนียงจีนกลางพร้อมตัวอักษรไว้ด้วย แม้ในความเป็นจริง ชาวจีนในฮุนหนำสมัยนั้นจะพูดสำเนียง Southwestern Mandarin ก็ตาม

    สุดท้ายนี้ขอฝาก ฟื้นฟ้าหาตะเข็บ ไว้ในอ้อมใจของผู้อ่านที่หลงเข้ามา หวังว่าจะสร้างความสุขสนุกสนานให้ทุกท่านไม่มากก็น้อยครับ นิยายเรื่องนี้อ่านฟรีจนจบ หลังจากลงครบทุกตอนจะเริ่มทยอยติดเหรียญวันละตอน


    [1]จาก เดียวดายใต้เงาจันทร์ : โกวเล้งรำพัน เรืองรอง รุ่งรัศมี แปล

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น