ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    108 ซองคำถามII

    ลำดับตอนที่ #329 : ลอยกระทง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 191
      0
      12 พ.ย. 48





                                         ลอยกระทง



    อยากทราบความเป็นมาประเพณีลอยกระทง







    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++



    ตอบ





    ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมบอกว่า

    การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่งจะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียน หรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัวฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ ตามความเชื่อของแต่ละแห่ง



    ประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีแต่ในไทยเท่านั้น ที่จีน อินเดีย เขมร ลาวและพม่าก็มีการลอยกระทงคล้ายๆกับบ้านเรา จะต่างกันก็ตรงที่รายละเอียด พิธีกรรมและความเชื่อในแต่ท้องถิ่น



    พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทงอาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดีและเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหลเพื่อขอบคุณแม่คงคาหรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ และเมื่อเสร็จแล้วจึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่าได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว



    ต่อมาเมื่อมีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อนเรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังมีการบวงสรวงตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ปรับให้เข้ากับความเชื่อของทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา แต่ที่สุดก็เหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงเป็นส่วนใหญ่



    เหตุที่ทำกระทงเป็นรูปดอกบัวนั้น ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือตำนานนางนพมาศ พระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทย หรือพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลายตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้นท้าวศรีจุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศ พระสนมเอก (แต่การศึกษาประวัติศาสตร์ปัจจุบันหลายชิ้นระบุว่า นางนพมาศไม่มีจริง) ก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น เนื่องจากเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท เมื่อพระร่วงทรงรับทราบถึงความหมายดังกล่าวจึงมีพระราชดำรัสว่า \"แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน\" ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน



    สำหรับตำนานการลอยกระทงตามความเชื่อของพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้นั้น ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหรือหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไรก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปีนางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน



    กล่าวได้ว่าประเพณีการลอยกระทงถือเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกนัยให้พุทธศาสนิกชินได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง



    ส่วนตำนานความเชื่อของศาสนาพราหมณ์บอกว่า พิธีลอยประทีปแต่เดิมทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า \"ทีปาวลี\" โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทและการับเสด็จพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน)



    ฝ่ายประเทศพม่าก็มีตำนานเหมือนกัน ว่า ครั้งหนึ่งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือพระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปากและปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราชจึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ แต่นั้นมาเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทงเพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้บางแห่งก็ว่า พระยานาคก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้เป็นที่นับถือของชาวพม่าและชาวพายัพของไทยมาก



    ประเพณีลอยกระทงนอกจากจะมีคุณค่าต่อการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อพระผู้มีพระคุณแล้ว ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชม สังคม และศาสนาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญก็คือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆแห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองด้วย







    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×