ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    108 ซองคำถามII

    ลำดับตอนที่ #34 : จากธงช้างถึงธงไตรรงค์

    • อัปเดตล่าสุด 4 ม.ค. 48




                      จากธงช้างถึงธงไตรรงค์



         ทราบว่าไทยเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์ในสมัยรัชกาลที่ ๖

    แต่ไม่เคยทราบเลยว่ามีเหตุผลใดจึงต้องเปลี่ยน



        (แจ๊ค / กรุงเทพฯ)



    ***************



       การเปลี่ยนธงชาติครั้งนั้น จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ซึ่งรับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาท

    ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงผ้า

    พิมพ์รูปช้างมาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย

    หากเปลี่ยนเป็นแถบสี ราษฎรก็สามารถทำธงใช้เองได้ และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด

    ได้ทรงพยายามเลือกสีที่มีความหมายทางความสามัคคีและมีความสง่างาม ได้ทรงทดลองใช้ธงริ้วขาวแดงติดอยู่

    ที่สนามเสือป่าหลายวัน ภายหลังจึงตกลงพระทัยใช้สีน้ำเงินแก่เพิ่มขึ้นอีกสีหนึ่ง พระราชทานนามว่า ธงไตรรงค์

    ความหมายของสีธงไตรรงค์ คือ สีแดง หมายถึง ชาติและความสามัคคีของคนในชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา

    ซึ่งเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนจิตใจให้บริสุทธิ์ สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ



       \"ซองคำถาม\" ขอตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนธงชาติจากรูปช้างมาเป็นแถบสีนั้น ทำให้รูปลักษณ์ออกมาทันสมัย เ

    ป็นสากล และสีสามสีที่เลือกใช้ ก็เป็นสีเดียวกับที่ปรากฏบนธงชาติของฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา



       ขอเล่าเกร็ดเพิ่มเติมว่า ใน พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า

    แม้ธงไตรรงค์จะให้ความสะดวกในการใช้และการสร้างขึ้นใช้ แต่ธงไตรรงค์ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของต่างประเทศโดย

    แพร่หลายว่าเป็นธงชาติไทยเช่นธงช้าง นอกจากนี้ยังมีสีคล้ายกับสีธงชาติของบางประเทศและคล้ายกับสีของธงบริษัท

    ต่างประเทศบางแห่ง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ผิดกับธงช้างซึ่งไม่ซ้ำกับธงชาติใดเลย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

    ให้ราชเลขาธิการบันทึกพระราชกระแสพระราชทานไปยังองคมนตรี ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงฟังความคิดเห็นส่วนมาก

    ประกอบพระราชวินิจฉัย โดยมีข้อควรพิจารณาดังนี้



       ๑. เลิกธงไตรรงค์แล้วใช้ธงช้างแทน

       ๒. ใช้ธงช้างเป็นธงราชการ ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติ

       ๓. ใช้ธงช้างเป็นธงราชการและธงชาติ ใช้ธงไตรรงค์เป็นสีสำหรับประเทศ คือใช้ตกแต่งสถานที่ในงานรื่นเริง เป็นต้น

       ๔. ใช้ธงไตรรงค์ผสมกับธงช้างพื้นแดงเป็นธงเดียวกัน

       ๕. คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติตามเดิม

    ปรากฏว่าองคมนตรีมีความเห็นแตกต่างกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป



       (ข้อมูลจากหนังสือ ธงไทย ฉวีงาม มาเจริญ เรียบเรียง) ทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวงความสามัคคีและมีความสง่างาม



    --------------------------------------------------------------------------------



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×