ลำดับตอนที่ #16
คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #16 : การค้นหาทะไลลามะ
                การค้นหาทะไลลามะ
      ได้ดูวิดีโอเรื่อง Little Buddha ที่ คีนู รีฟ เป็นพระเอก มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่าด้วยเรื่องการค้นหาทะไลลามะ
ซึ่งกลับชาติมาเกิด คณะผู้ค้นหาจะออกไปตามหาเด็กที่สามารถชี้ข้าวของเครื่องใช้ของทะไลลามะองค์ก่อนได้อย่างถูกต้อง
แล้วจึงรับตัวเข้ามา เพื่อเตรียมสถาปนาให้เป็นทะไลลามะองค์ต่อไป อยากให้ \"ซองคำถาม\" เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
      อีกอย่างหนึ่ง อยากรู้ว่าทะไลลามะเป็นผู้นำในทางธรรมหรือในทางโลก (การปกครอง) หรือเป็นทั้งสองอย่าง
    (ณัฐนนท์ / กรุงเทพฯ)
.....................
    คำว่า \"ทะไลลามะ\" เป็นคำที่มาจากภาษามองโกล \"ทะไล\" แปลว่า มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ส่วน \"ลามะ\"
หมายถึง ผู้มีความรู้ความชำนาญในพุทธศาสนา มองโกล จีน และฝรั่ง นิยมเรียกชื่อนี้ โดยที่ฝรั่งออกเสียงเพี้ยนไปเป็น
\"ดะไลลามะ\" (Dalai Lama) ทิเบตเองกลับเรียกว่า \"เกียลวา รินโปเช่\" (Gyalwa Rinpoche) แต่ปัจจุบันก็เรียก \"ทะไลลามะ\"
ตามที่รู้จักกันในทางสากล
    ทะไลลามะทรงมีฐานะทางศาสนา เท่ากับตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก และฐานะทางอาณาจักรเท่ากับพระราชา
จึงทรงดำรงศักดิ์เป็นทั้งพระสังฆราช และพระราชา ทรงปกครองบ้านเมืองฝ่ายอาณาจักร และศาสนจักรพร้อมกันไป
    ทะไลลามะองค์ปัจจุบันมีพระนามว่า เทนซิน เกียโช (Tenzin Gyatso) (พ.ศ. ๒๔๗๗ ถึงปัจจุบัน)
ทรงลี้ภัยการเมืองไปอยู่อินเดียตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ ชาวทิเบตทั้งภายนอกและภายในของทิเบต ก็ยังคงยอมรับฐานะการเป็นผู้นำ
ทั้งทางธรรมและทางโลกของพระองค์ทะไลลามะอยู่
    ชาวทิเบตเชื่อกันว่า ทะไลลามะเป็นอวตาร (reincarnation) ของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ซึ่งชาวทิเบตเรียกว่า
เชนรีซี (Chen-re-zi) ความเชื่อในเรื่องการอวตารนั้น ผิดจากความเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด (rebirth)
ชาวทิเบตเชื่อว่า เชนรีซี อวตารมาเกิดในร่างของทะไลลามะ เพื่อช่วยชาวทิเบตและชาวโลก ให้พ้นไปจากความทุกข์
ทะไลลามะจึงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสใด ๆ แต่ที่ทรงกลับมาเกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ในร่างของทะไลลามะต่อ ๆ มา
ก็ด้วยความเมตตากรุณา ประสงค์จะขนสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ข้ามพ้นไปจากทะเลแห่งวัฏสงสาร ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ส่วนความเชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิดนั้น เป็นเรื่องของปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่ จึงยังต้องกลับมาเกิดใหม่
เพื่อเสวยวิบากกรรมต่อไป จนกว่าจะพ้นทุกข์ จึงจะไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่อีก อันเป็นความเชื่อสามัญของชาวพุทธโดยทั่วไป
    วิธีการค้นหาการกลับชาติมาเกิดใหม่ของทะไลลามะ ปันเชนลามะ หรือพระลามะชั้นสูงอื่น ๆ ซึ่งอวตารกลับชาติมาเกิดใหม่นั้น
เป็นเรื่องที่พิสดาร และเป็นเอกลักษณ์ของทิเบต ซึ่งจะหาที่ใดในโลกมาเปรียบไม่ได้อีกแล้ว ก่อนที่ทะไลลามะจะ
\"เสด็จสู่สรวงสวรรค์\" พระองค์จะทรงแสดงสัญญาณบางอย่าง เพื่อบอกความหมายเป็นนัย ๆ ว่า จะทรงกลับมาเกิดอีก
ณ แห่งหนตำบลใด คณะลามะผู้คงแก่เรียน ก็จะร่วมกันออกค้นหา ตามสัญญาณที่ทะไลลามะองค์ก่อน
บอกความหมายเป็นนัยทิ้งไว้ให้
    คณะค้นหาจะออกสืบเสาะเด็กที่เกิดมา พร้อมด้วยนิมิตหมายบางอย่าง และค้นหาเด็กที่มีสัญลักษณ์พิเศษ
บางอย่างตามร่างกาย อันเป็นลักษณะของพระโพธิสัตว์เชนรีซี ซึ่งแตกต่างออกไปจากคนธรรมดาสามัญทั่วไป
ลักษณะพิเศษบางประการของเด็ก ที่เป็นอวตารของเชนรีซี ตามความเชื่อของชาวทิเบตมีดังนี้
    ๑. มีตำหนิคล้ายหนังเสืออยู่บนขาทั้งสองข้าง
    ๒. มีตาและคิ้วเรียวยาว โค้งขึ้นบนทั้งสองข้าง
    ๓. มีหูที่ใหญ่ทั้งสองข้าง
    ๔. มีปุ่มเนื้อบนหัวไหล่ทั้งสองข้าง อันเป็นเครื่องบ่งบอกถึงแขนอีกสองข้างของเชนรีซี
    ๕. มีลายคล้ายกับก้นหอยบนฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่ง
    เด็กผู้รับการคัดเลือก ไม่กำหนดชั้นวรรณะ อาจเป็นลูกเศรษฐี ลูกชาวนา ยาจก อาจเป็นคนเดียวหรือหลายคน
บางครั้งจะได้เด็กที่อยู่ในข่าย ที่จะเป็นอวตารสามหรือสี่คน คณะลามะจะนำเครื่องใช้ประจำตัวของทะไลลามะองค์ก่อน
และสิ่งของอย่างเดียวกัน ที่ทำขึ้นใหม่มาวางรวมไว้ให้เด็กเลือกหยิบ เด็กคนใดหยิบสิ่งของเครื่องใช้ของทะไลลามะ
ให้ถือเป็นนิมิตว่า ดวงวิญญาณของทะไลลามะ อวตารมาสถิตในร่างเด็กนั้น ให้เชิญเด็กนั้นเป็นองค์ทะไลลามะ
ถ้ามีเด็กที่เลือกของได้ถูกต้องมากกว่าหนึ่งคน จะใช้วิธีเขียนชื่อเด็กใส่ในโถทอง แล้วใช้วิธีจับสลาก
    เด็กน้อยจะถูกพรากตัวไปจากพ่อแม่ และได้รับการบำรุงเลี้ยงจากพวกพระ การเลี้ยงดูเด็กที่เป็นอวตาร
ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นไปอย่างเอาใจใส่พิถีพิถัน และเข้มงวดกวดขันยิ่ง เพื่อให้จิตใจของเด็กน้อย
ได้ตระหนักถึงต้นกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ และภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ที่รออยู่เบื้องหน้า ครั้นเมื่อเด็กมีอายุได้ ๑๘ ปี
หรือถ้าหากนับตามปฏิทินสากลก็คงไม่เกิน ๑๗ ปี หรือบางครั้งเพียงแค่ ๑๖ ปีเท่านั้น ก็จะได้รับการสถาปนาให้เป็น
\"เกียลวา รินโปเช่\" หรือทะไลลามะ มีอำนาจทั้งฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายศาสนจักร ปกครองแว่นแคว้นทิเบตทั้งปวง
    การเลือกทะไลลามะองค์ที่ ๑๔ มีเรื่องแปลก กล่าวคือ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของชาวทิเบต เที่ยวออกค้นหาองค์อวตาร
ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ไปตามบ้านเมืองน้อยใหญ่ สิ้นเวลาหลายปี เกือบสิ้นความพยายาม จึงพากันกลับไปตั้งสัตยาธิษฐาน
ต่อหน้าพระศพของทะไลลามะองค์ที่ ๑๓ ซึ่งยังเก็บรักษาประดิษฐานอยู่ในพระราชวังโปตลา
    ตอนนั้นมีเรื่องอัศจรรย์ รุ่งขึ้นจากวันอธิษฐาน พระศพของทะไลลามะ ซึ่งประดิษฐานหันพระพักตร์ไปทางทิศใต้
กลับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ลามะชั้นผู้ใหญ่เห็นเป็นนิมิต จึงส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ออกเดินทางไปทิศตะวันออก
รอนแรมอยู่หลายสิบราตรี ที่สุดถึงหมู่บ้านตำบลอัมโด (Amdo) ตั้งอยู่ในเขตมณฑลชิงไฮของจีน
เป็นหมู่บ้านเดียวกับตำบลที่ประสูติ ของพระเจ้าสรองตสันกัมโป (Srong-tsan-gampo) กษัตริย์ทิเบตพระองค์แรก
ที่ทรงนำพระพุทธศาสนา จากประเทศใกล้เคียงเข้าสู่ประเทศทิเบต เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๑๐๐
    คณะผู้สืบหามองเห็นวัดลามะแห่งหนึ่ง เป็นตึกสามชั้น ใกล้ทะเลสาบโกโกนอร์ มีแสงอาทิตย์จับต้องหลังคา
เป็นสีทองอยู่ข้างหน้า จึงพากันเข้าไปค้นหา พบเด็กคนหนึ่งเล่นอยู่ในกลุ่มเด็กอื่น เห็นต้องลักษณะ
จึงเสี่ยงทายด้วยวิธีให้เลือกสิ่งของเครื่องใช้ขององค์ทะไลลามะ ซึ่งวางรวมไว้กับส่งของปลอม ตามวิธีเสียงทายแต่โบราณ
ครั้นเสี่ยงทายได้แล้ว ก็พากันกราบลงที่เท้าเด็ก พากันร้องว่า \"องค์ทะไลลามะ เสด็จมาอุบัติแล้ว\"
ขณะนั้นเด็กน้อยมีอายุเพียงสองปี
    ข้อมูลนี้ \"ซองคำถาม\" เรียบเรียงมาจากบทความของ ดร. ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ แห่งคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
ในวารสาร อักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีที่ ๒๒ ฉบับที่ ๑ มิถุนายน- พฤศจิกายน ๒๕๔๒) และสารานุกรมไทย
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑๑
--------------------------------------------------------------------------------
เก็บเข้าคอลเล็กชัน
ความคิดเห็น