ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมเรื่องสั้นแปลของนาย Manus

    ลำดับตอนที่ #1 : สตรีสามศตวรรษ(The Three-Century Woman) โดย Richard Peck

    • อัปเดตล่าสุด 22 เม.ย. 48


    สตรีสามศตวรรษ...สาวแก่ซ่าส์ยายหน้าตาย

    จากเรื่อง The Three-Century Woman ของ ริชาร์ด เพ็กค์(Richard Peck)

    แปลโดย Manus








    “หนูเชื่อว่าถ้าพี่มีชีวิตนานพอล่ะก็”  แม่ฉันพูดกับป้ากลอเรีย  “พี่จะได้มีชื่อเสียงสักสิบห้านาทีเลย”



    แม่กำลังคุยโทรศัพท์ติดรถกับป้ากลอเรียอยู่  นาทีที่แม่ขับออกมาจากโรงจอดรถ  แม่ก็เริ่มคุยโทรศัพท์เลย  โทรศัพท์เครื่องนั้นทันสมัยมาก  และก็ดีกว่าตัวรถเองซะอีกแน่ะ



    เรากำลังมุ่งหน้าไปยังเมืองวิสเปอริ่ง โอ๊คส์(Whispering Oaks)เพื่อเยี่ยมคุณยายทวดเบร็คเคนริดจ์  ท่านอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ฉันยังเล็กๆ  พวกเขาเรียกมันว่าบ้านพักคนชรา  ไม่จำเป็นต้องพูดเลย  ฉันไม่อยากไปแน่



    เหตุผลสำหรับความมีชื่อเสียงของคุณยายทวดก็คือว่าท่านนั้นเกิดในปี ค.ศ. 1899  และตอนนี้ก็เดือนมกราคมปี 2001 แล้ว  ถ้าหากคุณเป็นหนึ่งในพวกคนที่อ้างว่าศตวรรษใหม่เริ่มในปี 2001 ไม่ใช่ปี 2000  แม้แต่คุณเองยังต้องเห็นด้วยว่าคุณยายทวดเบร็คเคนริดจ์ได้มีชีวิตอยู่มาถึงสามศตวรรษด้วยกัน  ท่านมีชื่อเสียงด้วยเหตุนี้แหละ



    เรารอให้สัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนสีแถวๆห้างนอร์ทบรู๊คส์ มอลล์(Northbrook Mall)  ฉันเหลือบมองที่นั่นอย่างศรัทธาเต็มเปี่ยม...ยกเว้นแต่ส่วนที่เป็นโรงภาพยนต์มัลติเพล็กซ์เท่านั้น  มันปิดเพราะเป็นวันปีใหม่น่ะ  ฉันติดนิสัยเดินช็อปปิ้งอย่างหนักทีเดียว  แต่ก็เป็นเพราะฉันอายุสิบสี่นี่นา  และห้างมอลล์นี่ยังเป็นสถานที่อันปราศจากการบ้านด้วย  เสียงของป้ากลอเรียดังขึ้นในรถ



    “ถ้าเธอจะทำตามคำแนะนำของพี่หน่อยนะ”  ป้าบอกแม่  “เธอจะช่วยให้พวกคนในเมืองวิสเปอริ่ง โอ๊คส์ห้ามสื่อมวลชนไม่ให้สัมภาษณ์คุณยายท่านหน่อยได้ไหม  สัมภาษณ์ท่านกะผีน่ะสิ!  จริงๆเลย  ท่านไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าอยู่ที่ไหน  นับประสาอะไรกับที่ท่านมีชีวิตมากี่ศตวรรษล่ะ  คุณยายชราผู้น่าสงสาร  ปล่อยให้ท่านอยู่อย่างสงบสุขเถอะ  ท่านน่ะใกล้จะ  --  ”



    “กลอเรีย  ปัญหาของพี่คือพี่ไม่มีไหวพริบในประวัติศาสตร์เลย”  แม่ขับรถข้ามทางแยก  “พี่สอบประวัติศาสตร์ได้เกรด C ไม่ใช่หรือ”



    “ปีนั้นพี่ป่วยเยอะนี่นา”  ป้ากลอเรียแก้ตัว



    “ป่วยประวัติศาสตร์น่ะสิ”  แม่พึมพำ



    “พี่ได้ยินนะ”  ป้ากลอเรียบอก



    พวกเขาโต้เถียงกันต่อไป  แต่ฉันไม่ได้ฟัง  แล้วเมื่อพวกเราเลี้ยวเข้าตึกวิสเปอริ่ง ไพนส์(Whispering Pines)นั้น  รถถ่ายทอดเสียงจาก IBC-TV กำลังจอดขวางทางรถเราอยู่



    “ซวยล่ะสิ”  แม่พึมพำ  “ทีวี”



    “พี่บอกเธอแล้ว”  ป้ากลอเรียว่า  แต่แม่ตัดสายป้าไปแล้ว  จกานั้นจึงจอดบนร่องถนนแข็งๆ



    “หนูจะรอในรถค่ะ”  ฉันรีบบอก  “หนูมีการบ้าน”



    “ออกมาจากรถ”  แม่สั่ง



    หากคุณแก่ขนาดนั้น  คุณจะต้องถูกกักตัวไว้  ที่วิสเปอริ่ง โอ๊คส์ไม่แย่ขนาดนั้นหรอก  กลิ่นมันยังดีใช้ได้  และมีต้นคริสมาสต์ส่องแสงเป็นประกายอยู่ที่ล็อบบี้  ต้นไม้จริงๆเสียด้วยนะ  แต่ถ้ามองดูอีกที  คุณยังต้องกดปุ่มสีแดงเพื่อปลดล็อคประตูหน้าอยู่เลย  ฉันเดาว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่อาศัยอยู่หลบหนีได้กระมัง  ถึงแม้ว่าคุณยายทวดจะไม่เคยไปที่ไหน  และไม่ได้ไปมากว่ายี่สิบปีแล้วก็ตาม



    เมื่อเราไปถึงปีกส่วนที่ท่านอยู่  ทางเดินนั้นก็เต็มไปด้วยพวกคนถือกล้องกับหญิงถือสมุดพกคนหนึ่งจากหนังสือพิมพ์บ้านนอก



    แม่ถอนใจ  มันเหมือนกับวันที่ไปโรงเรียนวันแรกตอนกำลังคิดว่าไม่มีปัญหาดีจนพวกครูรู้ชื่อเข้าแล้วนั่นเอง  หลังจากก้าวข้ามสายเคเบิลเส้นหนึ่ง  เราจึงมาหยุดยืนอยู่หน้าประตูห้องคุณยายทวด  พวกเขาเข้ามาประชิดตัวเราทันที



    “พวกคุณเป็นอะไรกับมิสซิสเบร็คเคนริดจ์คะ”  นักข่าวหนังสือพิมพ์หญิงคนนั้นกล่าวถาม  “ดิฉันขอชื่อหน่อยค่ะ”



    คนพวกนี้ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เล่นเลยแฮะ  แถมชายถือกล้องทีวียังผัดหน้าทาปากมากกว่าแม่เสียอีก  ฉันชักเริ่มรู้ขึ้นมาชัดเจนแล้วว่าพวกเขาต้องไม่อาจเข้าไปในห้องของคุณยายทวดโดยปราศจากคำอนุญาตของท่านอย่างแน่นอน  แม่หันมาเล่นงานพวกเขา



    “ฟังนะคะ  พวกคุณจะต้องไม่ไปสัมภาษณ์คุณยายของดิฉัน”  แม่พูดเสียงดุใส่เงียบๆ  “ดิฉันจะยินดีบอกคุณเรื่องอะไรก็ได้ที่คุณต้องการรู้เกี่ยวกับท่าน  แต่คุณจะต้องไม่เข้าไปในนั้น  ท่านไม่มีอะไรจะพูด  และ…ท่านยังจำเป็นต้องพักผ่อนให้เยอะด้วยค่ะ”



    “ใช่อัลไซเมอร์รึเปล่าคะ” นักข่าวหนังสือพิมพ์หญิงถาม  “เพราะเรากำลังคิดว่าคงใช่โรคอัลไซเมอร์แน่ๆ”



    “คิดตามที่คุณต้องการเถอะค่ะ”  แม่ว่า  “แต่คุณมาได้ไกลเพียงแค่นี้เท่านั้น  และพวกคุณที่มีกล้องกับไฟนั่น  พวกคุณจะต้องไม่เข้าไปในนั้นเหมือนกัน  พวกคุณจะทำให้ท่านช็อกตายนะคะ  แล้วดิฉันจะฟ้องร้องพวกคุณให้กระเป๋าฉีกแน่นอนค่ะ”



    พวกเขาถอยทัพกลับไป



    แต่เสียงหนึ่งดังลุกลนมาจากห้องของคุณยายทวด  เป็นเสียงดังก้องที่น่าขนลุกทีเดียว



    “ปล่อยให้พวกเขาเข้ามา!”  เสียงนั้นบอก



    ต้องเป็นคุณยายทวดเบร็คเคนริดจ์แน่ๆ  เพื่อนร่วมห้องของท่านได้ตายไปแล้ว  “ซวยแล้ว”  แม่กระซิบ  และหมู่คนที่เบียดเสียดก็ฮือกันไปข้างหน้า



    แม่กับฉันเข้าไปก่อน  แล้วเราจึงแทบตาถลน  ปกติคุณยายทวดจะชอบนอนหลับตัวราบกับเตียง  มีฟันใส่ไว้ในแก้ว  และมีหนังสืออยู่ในมือ  หากวันนี้ท่านกลับตาเป็นประกายนั่งตัวตรงแน่ว  สวมเสื้อคลุมชุดนอนสีชมพูฉูดฉาด  แถมยังมีโบว์เข้าชุดกันติดอยู่บนเส้นผมส่วนที่เหลืออยู่ของท่านด้วย



    “โอย  เจ้าประคุณเอ๋ย”  แม่อุทานเบาๆ  “พวกเขาจัดแจงท่านจนแทบกลายเป็นตุ๊กตาบาร์บี้แล้ว”



    คุณยายทวดเพ่งมองแม่จากเตียง  “และหนูคือใครกันล่ะนี่”  ท่านถาม



    “หนูคือแอนน์ค่ะ”  แม่พูดอย่างระมัดระวัง  “นี่ก็คือเมแกน”  แม่หมายถึงฉันน่ะ



    \"ถูกล่ะ\"  คุณยายทวดเอ่ย  “อย่างน้อยหนูก็รู้ว่าตัวเองเป็นใคร  หลายคนแถวๆนี้ไม่รู้จักตัวเองเลย”



    ชายที่มีกล้องอยู่บนไหล่พุ่งเข้ามาในห้อง  ชายอีกคนเปิดไฟสว่างจ้าจนแทบมองอะไรไม่เห็น



    คุณยายทวดกระพริบตา  หลังจากเราเหลือบจ้องเขม็งแวบหนึ่ง  จึงสังเกตเห็นได้ว่าท่านทาลิปสติกด้วย  ชายผู้สัมภาษณ์เอาศอกดันผู้สื่อข่าวหญิงไปข้างๆและยื่นไมค์ใส่หน้าคุณยายทวด  มือหงิกงอของท่านยื่นออกจากใต้ผ้าห่มมาเคาะไมค์



    “เจ้าสิ่งนี้เปิดอยู่หรือเปล่า”  ท่านถาม



    “ครับ  มาดาม”  ชายผู้สัมภาษณ์กล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นทางการ  “คุณไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหมดนี่หรอกครับ  พวกเราเองยังไม่เข้าใจถึงครึ่งของมันเลย”  เขาส่งยิ้มกว้างตามแบบที่เห็นกันในข่าวภาคค่ำให้ท่านและนั่งลงบนขอบเตียง  เขามีที่ว่างบนเตียงเยอะเลย  ท่านตัวจิ๋วจะตายไป



    “เราอยู่ที่นี่เพื่อมาแสดงความยินดีกับคุณสำหรับการมีชีวิตอยู่ถึงสามศตวรรษ  --  สำหรับการเป็นสตรีสามศตวรรษ!  เป็นความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมไปเลยครับ”



    คุณยายทวดโบกมืออย่างไม่ใส่ใจนัก  “ไม่มีอะไรมากร้อก”  ท่านว่า  “คุณแน่ใจหรือว่าไมค์นี้เปิดอยู่  มาทำให้เสร็จในเทคเดียวดีกว่า”



    ชายแบกกล้องหายใจเสียงแปร้นออกมาและขยับเข้าเพื่อให้ได้มุมใกล้ขึ้น  แม่ยืนนิ่งราวรูปปั้นขณะสงสัยว่าอะไรกำลังจะออกมาจากปากคุณยายทวดต่ออีก



    “มิสซิสเบร็คเคนริดจ์ครับ”  ชายผู้สัมภาษณ์กล่าว  “การที่คุณมีชีวิตยืนยาว  คุณเชื่อว่าเป็นเพราะอะไรหรือครับ”



    “ฉันเคยแต่งงานเพียงครั้งเดียว”  คุณยายทวดตอบ  “และเขาก็ตายเร็วด้วย”



    ชายผู้สัมภาษณ์ถลึงตาหน่อยๆ  “อ้อ  และมีอะไรอื่นอีกไหมครับ”



    “ค่ะ  ฉันไม่มองย้อนกลับไป  ฉันมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน”



    กล้องทีวีส่ายไปรอบๆห้อง  นี่คือปัจจุบันทั้งหมดที่ท่านมีอยู่  และมันไม่ได้ดูมากมายเท่าไร



    “คุณมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน”  ชายผู้สัมภาษณ์เอ่ย  พยายามหาความคืบหน้าในการสัมภาษณ์อยู่  “แม้แต่ตอนนี้น่ะหรือครับ?”



    คุณยายทวดพยักหน้า  “บางอย่างมักเกิดขึ้นเสมอ  คืนก่อนฉันตกจากเตียงแน่ะ”



    แม่คราง



    ชายถือกล้องเคลื่อนเข้ามาเพื่อให้ถ่ายได้เต็มที่ขึ้น  ชายผู้สัมภาษณ์ดูเหมือนกำลังคิดหาอะไรดีๆมาพูดอยู่  คุณจะบอกได้เลยว่าเขาคิดว่าตัวเองน่ะเป็นผู้สัมภาษณ์ที่ยอดเยี่ยม  ถึงจะไร้อารมณ์ขันเลยก็ตามที  รอยยิ้มน้อยๆแผ่ไปทั่วริมฝีปากอันยับย่นของคุณยายทวด



    “แต่คุณได้มีชีวิตผ่านช่วงเวลาน่าอัศจรรย์มากมายเลยนี่ครับ  มิสซิซเบร็คเคนริดจ์  และคุณไม่เคยคิดย้อนไปถึงพวกมันบ้างเลยหรือครับ”



    คุณยายทวดลูบคางและพิจารณา  “คุณหมายถึงคุณต้องการได้ยินอะไรน่าสนใจหรือ  คล้ายที่ฉันมีชีวิตผ่านแผ่นดินไหวซานฟรานซิสโก  --  แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตอนปีศูนย์หกมาได้ยังไงน่ะหรือ”



    แม่ขยับตัวข้างๆฉัน  เราถูกกันออกไปอยู่ข้างๆเตียงของสตรีที่ตายไปแล้ว  “คุณรอดจากแผ่นดินไหวซานฟรานซิสโกเมื่อปี 1906 มาได้หรือครับ”  ชายผู้สัมภาษณ์ถาม



    คุณยายทวดเพ่งมองเพดาน  จมอยู่ในความคิด



    “ฉันคงมีอายุประมาณเจ็ดปีได้  ฉันกับญาติกำลังพักกันอยู่ที่โรงแรมใหญ่  คุณคงรู้  โรงแรมนั้นน่ะ  ฉันหลับอยู่ในเตียงเล็กๆที่ปลายเท้าพวกเขา  ตอนกลางดึก  ห้องนั้นก็สั่นไปหมด  ตู้ชิฟโฟเนียร์ไถลข้ามห้องไปเลย  คุณรู้ไหมว่าตู้ชิฟโฟเนียร์คืออะไร”



    “ตู้ลิ้นชักหรือครับ”  ชายผู้สัมภาษณ์ถาม



    “ใกล้เคียง”  คุณยายทวดบอก  “และพวกรูปก็โบกสะบัดไปมาบนกำแพง  เราต้องเดินลงไปสิบสองชั้นเพราะลิฟต์ไม่ทำงาน  ตอนเราออกไปข้างนอกนะ  ถนนก็มีเศษกระจกแตกสูงถึงข้อเท้าแน่ะ  คุณไม่มีวันเห็นอะไรเละเทะอย่างนั้นได้หรอกในชีวิตของคุณ”



    แม่ถองฉันและพูดลอดไรฟัน  “ท่านไม่เคยไปซานฟรานซิสโกมาก่อน  ท่านไม่เคยไปทางตะวันตกของเมืองเดนเวอร์เลย  แม่เคยได้ยินท่านพูดอย่างนั้น”



    “ไม่น่าเชื่อเลย!”  ชายผู้สัมภาษณ์ว่า



    “ความจริงแปลกกว่านิยายอยู่แล้วแหละ”  คุณยายทวดบอกพลางลูบผ้าห่มให้เรียบ



    “และคุณก็ไม่เคยคิดย้อนกลับไปถึงมันเลยหรือครับ”



    คุณยายทวดยักไหล่สีชมพูฉูดฉาดของท่าน  “ฉันผ่านมันมามากเกินพอแล้ว  ฉันไม่มีเวลามานั่งจำมันได้หมด  ฉันเคยอยู่บนฮินเดนเบิร์กตอนมันระเบิด  คุณก็รู้นี่”



    แม่คราง  ส่วนชายถือกล้องก็แทบจะยืนบนหัวตัวเองจริงๆเพื่อจะถ่ายภาพใกล้ๆให้ได้



    “ฮินเดนเบิร์ก?”



    “ไอ้ถุงแก๊สใบใหญ่ที่พวกเยอรมันสร้างให้บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกนั่นน่ะ  มันถูกเรียกว่าเรือเหาะ  เป็นอะไรที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่คุณเคยเห็นมาเลยละ  --  ยาวประมาณความสูงตึกห้าตึก  มันเป็นตอนพฤษภาคมปี 1937  ก่อนเวลาของพวกเธอ  พวกเธอจำไม่ได้หรอก  สามีกับฉันกำลังกลับมาจากยุโรปบนนั้น  ไม่สิ  รอเดี๋ยว”



    คุณยายทวดผงกหัวและไตร่ตรองเป็นท่าให้กล้อง



    “สามีของฉันตายไปแล้วตอนนั้น  มันเป็นผู้ชายอีกคนต่างหาก  ยังไงก็เถอะ  เราสองคนกำลังเดินทางกลับมาบนฮินเดนเบิร์ก  มันลื่นยังกับไหมเลย  คุณไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังขยับอยู่  ตอนเราบินเหนือนิวยอร์ก  พวกเขาหยุดเล่นเกมเบสบอลกันที่สนามกีฬาแยงกี้เพื่อมองเราผ่านหัวไป”



    คุณยายทวดหยุดพูด  ไล่ตามความทรงจำ



    “และจากนั้นฮินเดนเบิร์กก็ระเบิด”  ชายผู้สัมภาษณ์กระตุ้นท่าน



    ท่านพยักหน้า  “เราไม่ได้มีคำบ่นถึงทริปเที่ยวนี้เลยจนถึงเดี๋ยวนี้  กระเป๋าเดินทางมีคนเอามากองรวมให้  แถมเรากำลังจะถึงเมืองเลคเฮิร์สท์ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์อยู่แล้วเชียว  ฉันกำลังจะใส่เสื้อคลุมขนสัตว์  --  ขนสัตว์หรือผ้าฝ้ายฉันก็ลืมไปแล้ว  แล้วก็หวือ!  เรือบินร้อนขึ้นเหมือนเตาอบ  และคนก็ตกจากหน้าต่าง  เรากระแทกพื้นและเด้งขึ้น  เมื่อเรากระแทกพื้นอีกที  ประตูก็หลุดออก  และฉันเดินออกมาและก็ไปต่อเรื่อยๆ  หลังจากพวกเขาตามฉันทันในที่จอดรถแล้ว  พวกเขาอยากจะจับฉันเข้าโรงพยาบาล  ฉันก้มหน้าดูและคิดว่าฉันกำลังใส่ชุดลูกไม้เสียอีก  ไฟเกือบจะไหม้ขึ้นมาถึงเสื้อนอกฉัน  และฉันยังเสียรองเท้าไปข้างหนึ่งด้วย”



    “มหัศจรรย์!”  ชายผู้สัมภาษณ์สูดลมหายใจ  “รายละเอียดที่ดีจริงๆ!”  ข้างหลังเขา  ผู้รายงานหญิงกำลังเขียนหวัดๆเร็วจี๋บนกระดาษจด

      

    “ไม่เคยเลย”  แม่พึมพำ  “ไม่เคยเลยในชีวิตของท่าน”



    “แหม่มครับ  คุณคือชีวิตของประวัติศาสตร์!”  ชายผู้สัมภาษณ์พูด  “ในช่วงระยะเวลาของปีที่น่าตื่นเต้น  คุณได้รอดชีวิตมาจากหายนะครั้งยิ่งใหญ่ถึงสองครั้ง”



    “สามต่างหาก”  คุณยายทวดตบโบว์บนหัวเบาๆ  “ฉันบอกคุณแล้วไงว่าฉันเคยแต่งงาน”



    “และก่อนที่เราจะจากสุภาพสตรีที่น่าเคารพท่านนี้”  ชายผู้สัมภาษณ์ส่งยิ้มให้กล้อง  “เราจะถามมิสซิสเบร็คเคนริดจ์กันว่าเธอมีคำพยากรณ์ใดๆให้กับศตวรรษใหม่ที่ยี่สิบเอ็ดที่รอคอยเราอยู่เบื้องหน้า ณ ที่นี้ในรุ่งอรุณแห่งสหสวรรษนี้ไหม”



    “สามสี่คำพยากรณ์”  คุณยายทวดว่า  และหยุดพูดอีกที  เพื่อยืดเวลาออกอากาศของท่านออกไป  “ข้อหนึ่ง  ภาษีจะสูงขึ้น  ข้อสอง  มันจะยากขึ้นที่จะหาที่จอดรถ  และข้อสาม  ผู้คนมากมายทั้งหมดจะมีชีวิตอยู่นานพอๆกับฉัน  ดังนั้นจงเตรียมตัวเราเอาไว้ซะ”



    “และด้วยคำอันฉลาดเฉลียวนั้น”  ชายผู้สัมภาษณ์พูดพลางถอยห่างจากเตียง  \"เราขอจากมิสซิซเบร็ค  --  \"



    “และอีกคำพยากรณ์หนึ่ง”  ท่านขัด  “ทีวีกำลังจะตกสมัย  เรตติ้งเน็ตเวิร์คของคุณตกต่ำติดดินเรียบร้อยแล้ว  ต่อไปนี้จะเป็นเว็บไซค์กันละ  ลูกเอ๋ย  ฉันขอพยากรณ์ว่าลูกจะต้องมองหางานใหม่เสียแล้วละ”



    นั่นแหละ  ไฟดับสนิท  ชายผู้สัมภาษณ์ที่ดูสั่นๆตามลูกทีมของเขาออกไป  เมื่อทีวีเสร็จสิ้นกับคุณ  พวกเขาก็เสร็จสิ้นกับคุณเช่นเดียวกัน  “นั่นเป็นเรื่องที่ต้องปิดบังหรอกหรือ”  คุณยายทวดถาม



    แต่ตอนนี้ผู้หญิงจากหนังสือพิมพ์บ้านนอกกำลังเคลื่อนเข้าหาท่าน  “ขอแค่คำถามอีกสองสามข้อเท่านั้นค่ะ  มิสซิซเบร็คเคนริดจ์”



    “หนูมาจากไหนจ๊ะ”  คุณยายทวดกระพริบตาแดงๆใส่เธอ



    “เดอะ เกลนวิว วีคลี่ ช็อปเปอร์ค่ะ”



    “หนูเอาช่างถ่ายภาพมือนิ่งมากับเธอด้วยหรือเปล่าจ๊ะ”  คุณยายทวดถาม



    “เอ่อ  ไม่ค่ะ”



    “และหนูก็ไม่เคยเรียนจดชวเลขเหมือนกันใช่ไหมจ๊ะ”



    “เอ่อ...เปล่าค่ะ”



    “ที่รักจ๊ะ  ฉันจะตกลงกับผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นนะ  นั่นประตูจ้ะ”



    จากนั้นจึงเหลือเพียงแม่  คุณยายทวด  และฉันในห้องเท่านั้น  แม่เอามือเท้าสะโพกข้างหนึ่ง  “คุณยายคะ  ข้อแรก  ยายไม่เคยไปซานฟรานซิสโกมาก่อน  และข้อสอง  ยายไม่เคยเห็นพวกเรือเหาะแม้แต่อันเดียวเลย”



    คุณยายทวดยักไหล่  “เปล่าหรอกจ้ะ  แต่ยายก็อ่านเป็นนะ”  ท่านพยักเพยิดหน้าไปที่กองหนังสือเป็นตั้งๆบนโต๊ะข้างหัวเตียงที่มีแว่นตาของท่านวางไว้บนสุด  “หลานจะหยิบยกเรื่องพวกนั้นมาได้ในหนังสือ”



    “และข้อสาม”  แม่ว่า  “สามีของยายไม่ได้ตายตอนอายุน้อย  หนูยังจำปู่ทวดเบร็คเคนริดจ์ได้อยู่เลยค่ะ”



    “มันเป็นเจ้างั่งทีวีนั่นในชุดสูทห้าร้อยดอลล่าร์นั่นแหละที่ทำให้ยายหัวเสีย”  คุณยายทวดบอก  “เขาย้อมสีผม  หลานสังเกตไหม  เขาทำให้ยายคลั่งเลย  และก็ทำให้ยายรำคาญด้วย  เขาไม่ได้สังเกตว่ายายยังอยู่ที่นี่  เขาไม่คิดว่ายายเป็นอะไรนอกจากความทรงจำเก่าๆเลย  ยายเลยให้ความทรงจำเขาไปหน่อยไงละ”



    ตอนนี้แม่กับฉันยืนอยู่ข้างๆเตียงของท่าน



    “ยายจะบอกอะไรหลานหน่อย”  คุณยายทวดพูด  “และมันไม่ใช่เรื่องโกหกด้วย”



    เรารอ  กลั้นหายใจเพื่อจะได้ยิน  คุณยายทวดเบร็คเคนริดจ์กำลังชี้นิ้วเล็กๆหงิกงอแก่ๆของท่านมาที่ฉันตรงๆ  “หลาน  เมแกน”  ท่านพูด  “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว  ยายอายุเท่าหลาน  ตอนนั้นน่ากลัวขนาดไหนจ๊ะ”



    จากนั้นท่านจึงยืดไหล่สีชมพูฟูๆและขยิบตาให้ฉัน  ท่านฉีกยิ้ม  และฉันก็ยิ้มกว้าง  ท่านเป็นใบไม้เหี่ยวแห้งเล็กๆในรูปโฉมสุภาพสตรีบนเตียง  แต่ฉันรู้สึกอยากจะจุ๊บแก้มที่เหี่ยวย่นของท่านทีหนึ่ง  ฉันเลยจุ๊บไป



    “หนูจะมาพบยายบ่อยมากขึ้นค่ะ”  ฉันบอกท่าน



    “โทรมาก่อนนะ”  ท่านว่า  “ยายอาจจะยุ่งก็ได้”  จากนั้นท่านจึงม่อยหลับไป











    ประวัติผู้เขียน



    ริดชาร์ด เพ็กค์(Richard Peck) เกิดปี 5 เมษายน ค.ศ. 1934  เขียนเรื่องสำหรับวัยรุ่นมากมาย  ซึ่งได้รับรางวัลหรือไม่ก็เข้ารอบสุดท้ายรางวัลนิวเบอรี่(Newbery) รางวัลหนังสือแห่งชาติ(National Book Award) รางวัลหนังสือที่ควรค่าแก่การจดจำของ ALA(ALA Notable Book) รางวัลหนังสือยอดเยี่ยมของ ALA สำหรับผู้อ่านวัยรุ่น(ALA Best Books for Young Adults) รางวัลเอ็ดการ์จากสมาคมเรื่องสืบสวนของอเมริกา(Edgar Award from the Mystery Writers of America) ฯลฯ



    ปัจจุบันเพ็กค์อาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ค



    เรื่องของเขาที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย

    คุณย่ามหาสนุก


    -รางวัลเกียรติยศ Newbery Book ประจำปี 1999

    รางวัลวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมประจำปี 1999 (ALA)

    รางวัลวรรณกรรมดีเด่นสำหรับเด็กประจำปี 1999 (ALA)

    เข้ารอบสุดท้ายในงานประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติ



    คุณย่ามหาสนุกภาค2

    -รางวัลเกียรติยศ Newbery Honor Book ประจำปี 1999

    รางวัลวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมประจำปี 1999 (ALA)

    รางวัลวรรณดีเด่นสำหรับเด็กประจำปี 1999 (ALA)

    เข้ารอบสุดท้ายในงานประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติ



    ทั้งสองเรื่องจัดตีพิมพ์โดยเพิร์ลพับลิชชิ่ง



    ประวัติและผลงานรวบรวมโดย Manus
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×