ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ~ประวัติบุคคลสำคัญ~

    ลำดับตอนที่ #40 : ศรีปราชญ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 4.44K
      4
      6 พ.ย. 50

    ศรีปราชญ์
        ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาถือได้ว่าเป็นยุคสมัยที่บ้านเมืองมีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ปราศจากการรุกรานจากศัตรูภายนอก ไม่มีศึกสงครามกับพม่า ประชาชนอยู่ดีกินดี มีการติดต่อทำการค้ากับชาวต่างประเทศ แม้แต่ชาวตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดาฯลฯ ก็เข้ามาทำการค้า ถึงกับมีขุนนางเป็นชาวต่างประเทศในสมัยนั้นหลายท่าน เมื่อบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น ก็ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดอารมณ์สุนทรีย์ ด้วยนิสัยดั้งเดิมของคนไทยเรานั้นมักจะเป็นประเภท   "เจ้าบทเจ้ากลอน" คือชอบร้องรำทำเพลง พูดจาคล้องจองกัน ในสมัยนี้คนส่วนใหญ่สนใจในวรรณคดี  มีบทโคลง ฉันท์กาพย์ กลอน เกิดขึ้นมากมาย ถือได้ว่า "เป็นยุคทองของวรรณคดี" เลยทีเดียว
       องค์สมเด็จพระนารายณ์เองก็โปรดปรานการแต่งโคลงกลอนมาก  วันหนึ่งทรงแต่งโคลงสี่สุภาพขึ้นบทหนึ่ง แต่แต่งได้เพียง ๒ บาท หรือ สองบรรทัดเท่านั้น ก็ทรงติดขัด   แต่งต่ออย่างไรก็ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชทานแผ่นกระดานชนวนที่ทรงแต่งบทโคลงนั้น แก่พระยาโหราธิบดี ซึ่งนอกจากจะมีความสามารถในด้านการพยากรณ์แล้ว  ยังมีความรู้ความสามารถอื่น ๆ  อีกรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านการแต่งโคลงกลอน ถือเป็นมือหนึ่งในสมัยนั้นเลยทีเดียว
      เมื่อพระยาโหราธิบดีรับแผ่นกระดานชนวน       ที่มีบทโคลงที่พระองค์ทรงแต่งค้างเอาไว้แล้ว ก็พิจารณาจะแต่งต่อให้เดี๋ยวนั้น แต่ก็ไม่สามารถจะแต่งต่อได้จึงขอพระราชทานเอาไว้แต่งต่อที่บ้าน ซึ่งพระองค์ก็ไม่ขัดข้อง  พอท่านพระยาโหราธิบดีกลับไปถึงบ้าน ก็นำแผ่นกระดานชนวนนั้นไปไว้ในห้องพระด้วยเป็นของสูง แล้วก็ไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สดชื่นเสียก่อน    จะเป็นด้วยโชคชะตาชักนำ หรืออย่างไรก็ไม่ทราบแน่ ในขณะที่ท่านกำลังทำภารกิจส่วนตัวอยู่นั้น  เจ้า "ศรี" บุตรชายหัวแก้วหัวแหวนของท่าน ซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง ๗ ขวบ   ได้เข้ามาในห้องพระ (นัยว่าจะเข้ามาหาผู้เป็นบิดา) ก็เหลือบไปเห็นแผ่นกระดานชนวนที่มีโคลงกลอนแต่งเอาไว้ ๒ บาท เข้า   คงเป็นด้วยความซุกซนบวกกับความเฉลียวฉลาดของเจ้าศรี ก็เลยเอาดินสอพองเขียนโคลงอีก ๒ บาท ต่อจากองค์สมเด็จพระนารายณ์ ดังนี้
    สมเด็จพระนารายณ์แต่งไว้ มีดังนี้
                      อันใดย้ำแก้มแม่                                   หมองหมาย
     
               ยุงเหลือบฤาริ้นพราย                                   ลอบกล้ำ
    เจ้าศรีแต่งต่อดังนี้
                  ผิวชนแต่จะกราย                                                            ยังยาก

               ใครจักอาจให้ช้ำ                                         ชอกเนื้อ เรียมสงวน
    ความหมายในบทโคลงมีดังนี้ คือ สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งไว้ในสองบาทแรก มีความหมายว่า "มีสิ่งอันใด
    หนอที่ทำให้แก้มของน้องนางอันเป็นที่รักต้องหมองลงไป หรือว่าจะเป็นยุง เหลือบ ริ้น ผีพราย เข้ามาทำให้เป็นเช่นนี้"   ดูความหมายของบทกลอนของพระองค์แล้ว ท่านกล่าวขึ้นมาลอย ๆ เหมือนจะรำพึงรำพันทำนองนั้น ที่นี้มาดูเจ้าศรีแต่งต่อบ้าง มีความหมายดังนี้    “เฮ้อ...คงไม่มี ใครคนใดในแผ่นดินนี้ที่จะเข้าไปย่างกรายนางได้ง่าย ๆ หรอก (เพราะขืนเข้าไปยุ่งมีหวังหัวขาด ด้วยเป็นนางห้ามของเจ้าแผ่นดิน)   ดังนั้น คงไม่มีใครหรอกนะที่จะบังอาจไปทำให้แก้มของนวลนาง อันเป็นที่รักและหวงแหนต้องชอกช้ำไปได้"
      กล่าวถึงท่านพระยาโหราธิบดี หลังจากอาบน้ำชำระร่างกายเสร็จ    ก็รีบรุดเข้ามาในห้องพระ พอเหลือบไปเห็นแผ่นกระดานชนวนเข้า "ลมแทบใส่" เพราะรู้แน่ต้องเป็นฝีมือเจ้าศรีไม่ใช่ใครอื่นหนอยแน่ไอ้หมอนี่ ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ต้องจับมาฟาดให้ก้นลายเสียให้เข็ด แต่พออ่านบทกลอนที่เจ้าศรีมันแต่งต่ออารมณ์โกรธก็พลันระงับโดยสิ้นเชิง เฮ้ย ลูกเรามันแต่งดีนี่หว่า เราเองถ้าจะให้แต่งต่อและดีกว่ามันคงทำไม่ได้ เอาวะ เป็นไงก็เป็นกัน ต้องนำทูลเกล้า ฯ ถวายในวันพรุ่งนี้ดู
      พอวันรุ่งขึ้นหลังจากเข้าเฝ้าถวายแผ่นกระดานชนวนแด่องค์สมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นบทโคลงที่แต่งต่อ ก็ทรงพอพระราชหฤทัย    ตรัสชมเชยพระยาโหราธิบดีเป็นการใหญ่  พร้อมกับจะปูนบำเหน็จรางวัลให้ เอาล่ะซิครับ เรื่องมันชักจะไปกันใหญ่   หากท่านพระยาโหราธิบดีรับพระราชทานบำเหน็จโดยไม่ได้กราบทูลความจริงให้ทรงทราบ หากวันใดล่วงรู้ความจริงเข้า  โทษสถานเดียวคือ "หัวขาด" ด้วย "เพ็ดทูล" พระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น   ท่านจึงกราบบังคมทูลความจริงให้ทรงทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว “ผู้ที่แต่งโคลงต่อจากพระองค์ มิใช่ข้าพระพุทธเจ้า แต่เป็นเจ้าศรีบุตรชายของข้าพระพุทธเจ้า ซึ่งทำไปด้วยความซุกซน ต้องขอพระราชทานอภัยโทษแก่มันด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา”
       เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช   ได้ทรงสดับความจริงจากพระยาโหราธิบดี แทนที่จะทรงกริ้ว กลับทรงพอพระราชหฤทัยยิ่งขึ้น ถึงกับทรงพระสรวลลั่นท้องพระโรง และตรัสกับท่านพระยาโหรา ฯว่า " บ๊ะ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น พ่อเก่งอย่างไร ดูรึ ลูกชายก็เก่งปานกัน หากเราจะขอให้เจ้านำบุตรของท่านเข้าถวายตัวเพื่อรับราชการแต่บัดนี้ เจ้าจะว่ากระไร ?"  พระยาโหร ฯ ได้ยินเช่นนั้น ก็ถวายบังคมยกมือขึ้นเหนือเศียร รับใส่เกล้า ฯ ใส่กระหม่อม แล้วจึงกราบบังคมทูลว่า  "ขอเดชะ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ การที่พระองค์ทรงโปรดที่จะให้เจ้าศรีบุตรชายของข้าพระพุทธเจ้า เข้าถวายตัวเพื่อรับราชการนั้น    นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น แต่เนื่องจากบุตรของข้า ฯ ยังเยาว์วัยเพียง ๗ ชันษา   ยังซุกซนและไม่ประสาในการที่จะรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท เอาไว้ให้เขาเจริญวัยกว่านี้สักหน่อย ค่อยว่ากันอีกที ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา”
     เมื่อเจ้าชีวิตแห่งกรุงศรีอยุธยาได้รับทราบคำกราบบังคมทูลจากพระยาโหร ฯ แล้ว ก็ทรงเห็นจริง และตรัสว่า หากเจ้าศรีเจริญวัยพร้อมที่จะเข้ารับราชการได้เมื่อไร ขอให้ท่านอย่าบิดพลิ้ว นำมันมาถวายตัวเราจะชุบเลี้ยงให้เป็นใหญ่เป็นโตต่อไป
        จะว่าไปแล้ว ท่านพระยาโหราธิบดีนั้น ท่านรู้อยู่แก่ใจของท่านดีว่า    หากให้เจ้าศรีเข้ารับราชการเมื่อไร ก็เร่งเวลาให้เจ้าศรีอายุสั้นมากเท่านั้น   ด้วยทราบอุปนิสัยใจคอลูกชายของท่านดี ประกอบกับพื้นดวงชะตาที่ได้คำนวณเอาไว้ บ่งบอกชัดเจนว่า เจ้าศรีอายุจะสั้นด้วยต้องอาญา ดังนั้น  เมื่อองค์สมเด็จพระนารายณ์ทวงถามเรื่องเจ้าศรีทีไร ท่านพระยาโหรก็ต้องหาเรื่องกราบทูลผัดผ่อนเรื่อยไป จนกระทั่งเจ้าศรีอายุได้ ๑๕ ปี ได้ศึกษาสรรพวิทยาการต่าง ๆ จากท่านพระยาโหร ฯ ผู้เป็นพ่อจนหมดสิ้นแล้ว ท่านพระยาโหร ฯ จึงได้ถามความสมัครใจว่า อยากจะเข้าไปรับราชการในวังหรือไม่  ซึ่งเจ้าศรีนั้นก็ดีใจ และเต็มใจที่จะเข้าไปรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ดังนั้น เมื่อพระนารายณ์ทรงทวงถามอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระยาโหรฯ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือผัดผ่อนได้อีก

      แต่ก่อนที่จะนำเจ้าศรีเข้าถวายตัวนั้น ได้ทรงขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ ๑ ข้อ คือ  “เมื่อเจ้าศรีเข้ารับราชการแล้ว หากกาลต่อไปภายหน้า ถ้ามันกระทำความผิดใด ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ และมีโทษถึงตาย ก็ขอได้โปรดงดโทษตายนั้นเสียหากจะลงโทษจริง ๆ ก็ขอเพียงให้เนรเทศให้พ้นไปจากเมือง อย่าให้ต้องถึงกับประหารชีวิต" ซึ่งพระองค์ก็ทรงพระราชทานสัญญานั้นโดยดี ทำให้ท่านพระยาโหร ฯ บรรเทาความวิตกกังวลไปได้มากทีเดียว 
      เมื่อเจ้าศรีเข้าถวายตัวรับราชการแล้ว   พระนารายณ์ทรงให้เจ้าศรีอยู่ในตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด   เมื่อเสด็จไปไหน ก็ทรงให้เจ้าศรีติดตามไปด้วยทุกหนแห่ง   ทรงโปรดปรานเจ้าศรีเป็นอย่างมากด้วยทุกครั้งที่ทรงติดขัดเรื่องโคลงกลอน ก็ได้เจ้าศรีนี่แหละช่วยถวายคำแนะนำ  จนสามารถแต่งต่อได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระนารายณ์นึกสนุก และอยากจะให้ความสามารถของเจ้าศรีเป็นที่ปรากฏ   จึงได้แต่งโคลงกลอนขึ้นบทหนึ่ง แล้วให้ข้าราชบริพาร ตลอดจนนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายที่เข้าเฝ้า ณ ที่นั้น ช่วยกันแต่งต่อ ทำนองประกวดประชันกันปรากฏว่า ไม่มีผู้ใดแต่งโคลงกลอนได้ดีและถูกพระทัยเท่ากับของเจ้าศรี ถึงกับทรงพระราชทานพระธำมรงค์ให้และตรัสว่า "เจ้าศรี เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ ณ บัดนี้ เถิด" นับแต่นั้นมา คนทั่วไปจึงเรียก "ศรีปราชญ์" สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้

          ในสมัยนั้น เป็นสมัยที่ทุกคนนิยมพูดจากันด้วยโคลงกลอน ว่ากันสด ๆ  แม้กระทั่งยามเฝ้าประตูพระราชวัง ก็ยังสามารถแต่งโคลงกลอนโต้ตอบกับศรีปราชญ์ได้ดังมีบันทึกเอาไว้ เมื่อศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานพระธำมรงค์แล้ว ก็สวมไว้ที่นิ้ว พอผ่านประตูวัง ทหารยามเห็นเข้า ก็ถามว่า  " แหวนนี้ท่านได้  แต่ใดมา " ศรีปราชญ์ ตอบว่า "เจ้าพิภพโลกา  ท่านให้ "  ยามถามต่อ  "ทำชอบสิ่งใดนา  วานบอก" ศรีปราชญ์ตอบอีกว่า " เราแต่งโคลงถวายไท้  ท่านให้  รางวัล"
       ศรีปราชญ์รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่หลายปี จนเป็นหนุ่มฉกรรจ์ ด้วยนิสัยเจ้าชู้ตามอารมณ์ของกวี บวกกับความคึกคะนอง และถือตัวว่าเป็นคนโปรดของพระนารายณ์    จึงทำให้ศรีปราชญ์ต้องโทษถึงกับติดคุกหลายครั้ง ด้วยมักไปทำรุ่มร่าม แต่งโคลงเกี้ยวพาราสีบรรดาสาวใช้ในวัง  แต่พอพ้นโทษมาก็ไม่เข็ดหลาบ มีอยู่ครั้งหนึ่ง บังอาจไปเกี้ยวพาราสี "พระสนมเอก" ของพระนารายณ์เข้าให้ ความทราบถึงพระกรรณ ทรงกริ้วมาก ถึงกับจะสั่งประหารชีวิต แต่พอพระองค์ทรงระลึกถึงสัญญาที่ได้ให้ไว้แก่พระยาโหราธิบดีผู้เป็นบิดา จึงทรงรับสั่งให้เนรเทศศรีปราชญ์ ไปอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราช
      ในระหว่างการเดินทาง ศรีปราชญ์ได้แต่งโคลงกลอน ที่เรียกว่า "กำสรวลศรีปราชญ์" บรรยายถึงความรู้สึก ที่ต้องพลัดพรากจากบิดามารดา บ้านเรือนที่สุขสบาย องค์พระนารายณ์เจ้าชีวิต ตลอดจน นางอันเป็นที่รัก เอาไว้น่าฟังมาก ถือเป็นเพชรเม็ดงามของวรรณคดีไทยชิ้นหนึ่งในยุคปัจจุบัน   และเมื่อเดินทางไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็ได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีจากเจ้าพระยานครฯ ให้อยู่รับราชการด้วยกัน เพราะถึงอย่างไร ศรีปราชญ์นั้น     แม้จะถูกเนรเทศ แต่ก็ไม่ได้ถูกปลดจากตำแหน่ง หรือลดศักดินาให้ลงไปเป็นไพร่อย่างนักโทษทั่วไป
     ศรีปราชญ์รับราชการอยู่กับเจ้าพระยานครฯ ได้นานหลายเดือน ซึ่งเจ้าพระยานครฯ ก็โปรดปรานศรีปราชญ์ไม่น้อย ด้วยเป็นคนฉลาด มีความรู้ความสามารถหลายอย่าง เป็นที่ปรึกษาในข้อราชการต่าง ๆได้อย่างดี      เมื่ออยู่สุขสบาย นิสัยเจ้าชู้ปากเสียบวกกับอารมณ์กวีนักรัก    ก็ชักพาให้ศรีปราชญ์ต้องโทษถึงกับประหารชีวิต ด้วยไปเกี้ยวพาอนุภรรยาคนโปรดของเจ้าพระยานคร ฯ เข้าให้
     ในลานประหารที่เป็นเนินดินปนทราย ก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบ ศรีปราชญ์ได้ใช้หัวแม่เท้าเขียนบทโคลงสี่สุภาพลงบนพื้นใจความว่า

                       ธรณีนี่นี้                                      เป็นพยาน
     
            เราก็ศิษย์มีอาจารย์                                 หนึ่งบ้าง
     
            เราผิดท่านประหาร                                 เราชอบ
     
            เราบ่ผิดท่านมล้าง                                  ดาบนี้  คืนสนอง
     หลังจากศรีปราชญ์ตาย  วันหนึ่ง  เมื่อพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงกลอนติดขัด หาคนแต่งต่อให้ถูกพระทัยไม่ได้ ก็ทรงระลึกถึงศรีปราชญ์ ก็ตรัสให้มีหนังสือเรียกตัวกลับ เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวว่า ตอนนี้ศรีปราชญ์ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ด้วยต้องโทษประหารจากเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสว่า
    "อ้ายพระยานครศรีฯ มันถือดีอย่างไร?  ที่บังอาจสั่งประหารคนในปกครองของกูโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดของอ้ายศรีฯ นั้น ขนาดมันล่วงเกินกูในทำนองเดียวกัน  กูยังไว้ชีวิตมันเลย    ไม่ได้การไอ้คนพรรค์นี้เอาไว้ไม่ได้ " ว่าแล้วก็ตรัสให้นำเจ้าพระยานครศรีฯไปประหารชีวิต  ด้วยดาบเล่มเดียวกันกับที่ประหารศรีปราชญ์

    -------------------------------------------------------------------------------------------------------------

    ที่มา : http://www.lokwannakadi.com/neo/shlumnum.php?ID=23
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×