คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #3 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช1
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
๑.... พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ได้มีการประกาศข่าวราชการสำคัญชิ้นหนึ่ง ดังก้องออกมาจากวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ใจความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้สวรรคตเสียแล้ว
........ข่าวชิ้นนี้เหมือนสายอสุนีบาตฟาดเปรี้ยงลงมาในท่ามกลางนครหลวงของไทย แล้วแผ่รัศมีปกคลุมตลอดทั่วราชอาณาจักร จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อวงการเมืองของประเทศไทยในขณะนั้น
ครั้นต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง ก็ได้มีข่าวราชการที่มีความสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง แพร่ออกมาจากวิทยุกระจายเสียงแห่งเดียวกันว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบรมเชษฐาธิราชพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวอานันทมหิดล
นี้หมายความว่า ประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ข่าวนี้ย่อมตรงกับความคาดหมายของประชานิกรชาวไทยทั่วไป ภายหลังที่ได้มีการประกาศข่าวสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แล้ว ประชาชนต่างก็คาดหมายกันว่า พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของไทยคงจะได้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชเป็นแน่ นี้เป็นสามัญสำนึก ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แม้ตามหลักฐานทางราชการก็ปรากฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพล อดุลยเดช ทรงดำรงอยู่ในฐานันดรศักดิ์ที่สูงส่ง คือทรงเป็นรัชทายาทอันดับรองลงมาจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทีเดียว ดังปรากฏตามบันทึกของกระทรวงวัง ที่เรียกกันในสมัยรัชกาลที่ 7 หรือสำนักพระราชวังในสมัยนี้ ที่ได้นำเสนอรัฐบาลพระยาพหล ฯ ตอนที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ จะทรงสละราชสมบัติ ในบันทึกนี้แสดงให้เห็นว่ามีเจ้านายพระองค์ ใดบ้างที่ทรงดำรงอยู่ในฐานันดรศักดิ์อันคู่ควรแก่รัชทายาทแห่งประเทศไทย ขอยกมาเพื่อประกอบ การศึกษาดังต่อไปนี้.-
ลำดับเจ้านายผู้ทรงมีสิทธิ์สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2467
๑. ๑. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ (สิ้นพระชนม์แล้ว)
๒. ๒. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล
๓. ๓. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช
๔. ๔. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ขณะนั้นประทับอยู่ที่ชวา)
๕. ๕. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฎพงศ์บริพัตร
๖. ๖. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร (สิ้นพระชนม์แล้ว)
๗. ๗. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
๘. ๘. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ
๙. ๙. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท (สิ้นพระชนม์แล้ว)
๑๐. ๑๐. หม่อนเจ้าอมรสมานลักษณ์
๑๑. ๑๑. หม่อนเจ้านักขัตมงคล
๑๒. ๑๒. หม่อนเจ้าขจรจบกิติคุณ
๑๓. ๑๓. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิตติบดี (สิ้นพระชนม์แล้ว)
๑๔. ๑๔. หม่อนเจ้ากัลยาณวงศ์ ประวิตร
๑๕. ๑๕. หม่อนเจ้าจิตรปรีดี
๑๖. ๑๖. หม่อนเจ้าวิกรมสุรสีห์
๑๗. ๑๗. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (สิ้นพระชนม์แล้ว)
๑๘. ๑๘. หม่อนเจ้าประสบศรีจีรประวัติ
๑๙. ๑๙. หม่อนเจ้านิทัศนาธร
๒๐. ๒๐. หม่อนเจ้าขจรจิรพันธุ์
๒๑. ๒๑. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (สิ้นพระชนม์แล้ว)
๒๒. ๒๒. พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา
เมื่อเราดูตามบัญชีนี้ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงอยู่ในฐานันดรศักดิ์สูงรองลงมาจากพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ดังนั้นการที่พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปตามความคาดหมายของประชาชน ทั้งเข้าอยู่ในข่ายของ ม.9 แห่งกฏมณเฑียรบาลพุทธศักราช 2467 อีกด้วย เหตุนี้พระองค์จึงทรงได้รับความยินยอมและเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ จากคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สืบต่อกันโดยสันตติวงศ์โดยลำดับ มิใช่ด้วยวิธีการเลือกตั้ง นับเป็นสถาบันที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งในอดีตและในระบอบประชาธิปไตย ณ กาลปัจจุบัน จึงควรแก่การศึกษาของประชาชนชาวไทยทั่วไป.....
๒.... พระปฐมวัย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ที่สามในสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระบรมราชินี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) และสมเด็จพระราชชนนี ศรีสังวาลย์ในสมัยพระเยาว์วัย ทรงพระนามในชั้นเดิมว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช”
พระองค์ พระราชสมภพในวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ณ เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาซูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระราชชนนีประทับอยู่ในประเทศนั้น พระองค์ทรงมีพระเชษฐาและเชษฐภคินีร่วมพระบิดาและพระมารดาเดียวกัน 2 พระองค์ คือ
๑. ๑. สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้าหญิงกัลยาณีวัฒนา
๒. ๒. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อนันทมหิดล
ส่วนพระองค์เป็นพระโอรสองค์น้อยที่สุด
ภายหลังเสด็จนิวัตสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตุภูมิของพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระชนกและสมเด็จพระชนนีในพุทธศักราช 2471 และรุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือในปีพุทธศักราช 2472 สมเด็จพระราชบิดาก็ได้ทิวงคต ณ กรุงเทพพระมหานคร ฯ
ต่อมาพุทธศักราช 2486 โดยสมเด็จพระราชชนนีไปยังทวีปยุโรป และประทับพำนักอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาวิชาการ ขณะนั้นพระชนมายุได้ 6 พรรษา
ในเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2478 ทรงได้รับสถาปนาฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังที่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงได้รับสถาปนาขึ้นครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว พร้อมด้วยพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้าหญิงกัลยาณีวัฒนา และสมเด็จพระราชชนนี ประทับอยู่ในประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตลดารโหฐานเป็นเวลานานประมาณ 2 เดือน และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์อีก เพื่อทรงศึกษาวิชาการต่อไป
ครั้นต่อมาเมื่อมีสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยไม่ได้เป็นเวลานานหลายปี ครั้นสงครามสงบลงแล้ว รัฐบาลไทยจึงได้อัญเชิญสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลเสด็จกลับมาประทับเป็นมิ่งขวัญแก่ปวงชนชาวไทย เนื่องจากทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว สมควรขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของชาติไทยต่อไป
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จมาพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช สมเด็จพระราชชนนีและสมเด็จพระพี่นางเธอ สู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2488
ในการเสด็จพระราชดำเนินนิวัตสู่ประเทศไทยครั้งนี้เสด็จโดยพระราชพาหนะ เรือเดินสมุทร ทางรัฐบาลได้จัดเรือรบหลวงแห่งราชนาวีไทยออกไปรับเสด็จในท่ามกลางทะเลหลวง โดยแปรริ้วขบวนห้อมล้อมเรือเดินสมุทรเข้ามาจนถึงเกาะสีชัง แล้วอัญเชิญขึ้นประทับบนเรือรบหลวง นำเสด็จพระราชดำเนินสู่พระนครต่อไป คือเรือรบได้เคลื่อนเข้าสู่พระนคร ท่ามกลางเรืออาณาประชาราษฎรที่ไปคอยรับเสด็จ และประชาชนชาวไทย และชาวต่างประเทศบน 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้เปล่งเสียงไชโยโห่ร้องแสดงความยินดีอย่างอึงมี่
ในการเสด็จนิวัตสู่พระนครคราวนี้ ได้เสด็จไปเยี่ยมเยือนประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการ , ปทุมธานี , ปากเกร็ด , นนทบุรี , สมุทรสาคร , ลพบุรี , ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
อนึ่ง , ในระหว่างเสด็จประพาสจังหวัดลพบุรี ได้มีอุปัทวเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น กล่าวคือ รถจิ๊ปในขบวนเสด็จพลิกคว่ำ ยังผลให้พระศราภัยสฤษฎิการสมุหราชองครักษ์ได้รับความบาดเจ็บสาหัส และได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลอดภัย
ในการเสด็จเพื่อเยี่ยมเยือนราษฎรของพระองค์ทุกแห่งได้ทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์เป็นพิเศษเสมอ ยังผลให้ประชาชนได้รับความปลาบปลื้มและเพิ่มพูนความจงรักภักดี
นอกจากทรงโดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราชไปยังหัวเมืองรอบนอกแล้ว ยังได้ทรงโดยเสด็จประพาสใจกลางพระนครคือ “ สำเพ็ง ” อันเป็นไชนาทาวน์แห่งประเทศไทยอีกด้วย ยังความปลาบปลื้มแก่ชาวจีนเป็นอันมาก ความขุ่นข้องหมองใจระหว่างชาวไทยและจีนในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้คลี่คลายไปในทางที่ดี
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ทรงได้รับยศเป็นร้อยโท นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 กองพันที่ 3 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กาลเวลาล่วงเลยไปประมาณ 5 เดือนเศษ สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงมีพระราชประสงค์ใคร่เสด็จไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อให้จบตามหลักสูตรเสียก่อน จึงจะเสด็จกลับมาประทับอยู่ ณ ประเทศไทยต่อไปชั่วนิรันดร
หมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คือวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แต่ครั้นแล้วก็มีเหตุใหญ่เกิดขึ้นในแผ่นดิน โดยไม่มีใครคาดฝันมาก่อนเลย เป็นประดุจสายฟ้าฟาดลงมาบนกระหม่อนของอาณาประชาราษฎรชาวไทยทั่วประเทศ ทุกคนต้องตะลึงงัน เมื่อมีข่าวแพร่สะพัดออกมาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงประสบ อุปัทวเหตุ สวรรคตเสียแล้วในเวลา 09.00 นาฬิกาของวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนจะถึงกำหนดเสด็จพระราชดำเนินสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 5 วันเท่านั้น
เมื่อมีเหตุปัจจุบันทันด่วนเกิดขึ้นเช่นนี้ คณะรัฐบาลอันมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรณีพิเศษเมื่อเวลา 21.00 นาฬิกาของคืนวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ซึ่งเป็นวันเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต
รัฐบาลได้แถลงให้ที่ประชุมทราบถึงลำดับการสืบพระราชสันตติวงศ์ โดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467 ว่า ในลำดับแรกนี้ ได้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระราชอนุชาร่วมสมเด็จพระราชบิดาและพระราชมารดา
ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์และยืนขึ้นเปล่งเสียงไชโยพร้อมเพรียงกัน เป็นการถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ ต่อจากนั้นจึงแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว 3 ท่าน เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จอยู่หัวมิได้ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ดังนั้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2498 พระองค์จึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 โดยลำดับในพระบรมราชจักรีวงศ์ เฉลิมพระปรมาภิไธยในภายหลังว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร” (ภ.ป.ร.)
ครั้นแล้วในวันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระพี่นางเธอและสมเด็จพระราชชนนีก็ทรงอำลงปวงพสกนิกรและประเทศชาติ เสด็จไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงศึกษาวิชาการต่อไป
ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประทับอยู่ร่วมกับสมเด็จพระพี่นางเธอและสมเด็จพระราชชนนีโดยตลอดมา ณ พระตำหนักส่วนพระองค์มีนามว่า “วิลลาวัฒนา” ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนชมบรังเดอเดชซู แห่งนครโลซานน์ ท่ามกลางภูมิภาพซึ่งมีทิวทัศน์อันงดงามและเป็นที่เจริญตา
พระราชอุปนิสัยและพระราชกรณียกิจอดิเรก
การช่างและการดนตรีเป็นสิ่งที่ทรงโปรดพิเศษมากกว่าอย่างอื่น ทรงมีพร้อมทั้งหีบเสียงและเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ ทรงสนพระทัยและทรงอ่านหนังสือทั้งหลายบรรดาที่เกี่ยวกับดนตรี และประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลก นอกจากหนังสือเหล่านั้น ยังทรงมีแผ่นเสียงเพลงที่บรรเลงโดยนักดนตรีที่มีนามอุโฆษเหล่านั้นด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะทรงศึกษาและทรงเปรียบดูว่า ใครเล่นได้ดีที่สุดในเครื่องดนตรีชนิดนั้น ๆ อนึ่งในบรรดาเครื่องดนตรีที่ทรงโปรดนั้นปรากฏว่า แคลริเนท , แซกโซโพนและทรัมเป็ตเป็นเครื่องดนตรีที่ทรงโปรดมากที่สุด
สำหรับด้านการช่างนั้น ทรงโปรดหุ่นจำลองต่าง ๆ เช่นเรือใบเรือรบเป็นต้น ในคราวเสด็จนิวัตเมืองไทย ตอนก่อนสงครามโลก ได้ทรงจำลองเรืองรบหลวงศรีอยุธยาจนเป็นผลสำเร็จ ครั้นแล้วเจ้าพระยารามราฆพก็ได้ทูลขอพระราชทานไปสำหรับให้พ่อค้าประชาชนได้ประมูลราคากันเพื่อเก็บเงินบำรุงโรงพยาบาลปราบวัณโรค ทรงถ่ายรูปไว้แล้วพระราชทานให้ไปตามประสงค์ ปรากฏว่า น.ส.เลอลักษณ์ เศรษฐบุตร ได้ประมูลซื้อไปเป็นเงินถึง 20,000 บาท
อนึ่ง แม้แต่รูปเรือลำนั้นที่ทรงถ่ายโดยฝีพระหัตถ์นายสหัท มหาคุณ เป็นผู้ประมูลซื้อไปถึงรูปละ 3,000 บาท
พระราชกรณียกิจอดิเรก (Hobby) นอกเหนือไปจากที่กล่าวแล้วก็คือ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงต่าง ๆ ปรากฏว่า พระองค์ได้ทรงนิพนธ์เพลงต่าง ๆ ไว้หลายเพลง มีอาทิเช่น ๑. เพลงสายฝน ๒. เพลงใกล้รุ่ง ๓. เพลงชะตาชีวิต ๔. เพลงยามเย็น ๕. เพลงแสนเทียน ๖. เพลงประจำจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
พระราชกรณียกจิอดิเรกที่ทรงโปรดมากอีกประการหนึ่งก็คือ การเล่นกล้องถ่ายรูป ปรากฏว่า ได้ทรงสนพระทัยมาตั้งแต่พระชนมายุได้ 8 พรรษา จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงเป็นนักถ่ายรูปที่มีความสามารถและฝีพระหัตถ์เยี่ยมด้วยผู้หนึ่ง พระองค์ทรงมีพร้อมทั้งกล้องธรรมดาและกล้องถ่ายภาพยนตร์ เรื่องนี้เราจะพบเสมอว่า รูปภาพที่เกี่ยวกับพระบรมราชินี และพระราชโอรสธิดาที่พระราชทาน (แจก) แก่หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ นั้น เป็นภาพที่ทรงถ่ายโดยฝีพระหัตถ์แทบทั้งนั้น เราคงจำภาพประทับใจได้ว่า ในคราวโดยเสด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สู่ประเทศไทยในปีพุทธศักราช 2481 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงย่างพระบาทเสด็จจากเรือรบหลวงศรีอยุธยา เรือพระที่นั่ง ในชุดฉลองพระองค์สีขาว พระสนับเพลาสั้นแบบเยาวชน ทรงมีกล้องห้อยอยู่บนพระศอ พอทรงก้าวลงจากเรือรบหลวงพระที่นั่ง “ศรีอยุธยา” ก็ทรงยกกล้องถ่ายภาพประชาชนที่ไปคอยรับเสด็จด้วยพระอิริยาบถทะมัดทะแมงและว่องไวยิ่งนัก บ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงมีความชำนาญมากในเรื่องนี้
“ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ก็มีอาชีพเป็นช่างภาพของ น.ส.พ.สแตนดาร์ด ได้เงินเดือน ๆ ละ 100 บาท ตั้งหลายปีมาแล้ว จนบัดนี้เขายังไม่ได้ขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงให้ 100 บาท อยู่เรื่อยมา” พระองค์ตรัสกับผู้ใกล้ชิด
ในด้านกีฬานั้น ปรากฏว่า พระองค์ทรงสนพระทัยในกีฬาต่าง ๆ ยิ่งนัก โดยเฉพาะทรงโปรดกีฬาประเภทที่ใช้ความกล้าหาญและออกกำลังกาย เช่น เทนนิสและสกีน้ำเป็นต้น และทรงเล่นได้อย่างชำนิชำนาญเป็นพิเศษ
พระราชอุปนิสัยอีกอย่างหนึ่ง ที่ทรงแสดงออกบ่อย ๆ ก็คือไม่ทรงโปรดพิธีรีตรอง เช่นจะเสด็จไปไหนมาไหน บางครั้งและบ่อยครั้งเสียด้วยที่ทรงขับรถพระที่นั่งเอง และทรงขับออกอย่างว่องไว โดยมิได้ทรงบอกกล่าวให้ใครทราบแม้แต่ทหารหรือตำรวจที่เป็นราชองครักษ์เวร ทหารเรือตำรวจที่เป็นเวรเฝ้าถวายอารักขา ต้องคอยจับตาดูพระราชอิริยาบถอยู่ทุกขณะ แม้กระนั้นก็ยังไม่ค่อยทราบ หรือกว่าจะทราบ พระองค์ก็ทรงขับรถออกไปเสียไกลแล้ว ทหารหรือตำรวจที่เป็นเวรองค์รักษ์ต้องวุ่นวายออกรถติดตามถวายความอารักขาให้จ้าละหวั่นไปทีเดียว
๓.... ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาวิชาการเบื้องต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิตร จังหวัดพระนคร เมื่อพุทธศักราช 2475 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมายุ 5 พรรษา
พุทธศักราช 2476 ภายหลังที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยประมาณปีเศษ สมเด็จพระราชชนนี ฯ ได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่ ณ นครโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พร้อมด้วยสมเด็จพระเชษฐาธิราช ฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอ เมื่อประทับอยู่ ณ พระตำหนัก “วิลลาวัฒนา” โดยเรียบร้อยแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเข้าทรงศึกษาวิชาการตามหลักสูตรชั้นต้นตามหลักสูตรวิชาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ ณ นครโลซานน์ ในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2476 ครั้นต่อมาได้ทรงย้ายจากโรงเรียนนี้ ไปอยู่โรงเรียนนูเวล เดอลาสวิสโรมางค์ ใน พ.ศ. 2488 ทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัติ บาเซอร์เลียร์ เอส เลตรส์ ในเดือนตุลาคม จึงเสด็จเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 ได้เสด็จมาถึงประเทศไทยมาพร้อมกับสมเด็จพระบรมเชษฐาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้ทรงศึกษาวิชาใหม่ คือกฎหมาย และการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์
ในด้านวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทรงศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ เกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เพื่อเป็นแนวปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งพระองค์ทรงประราชปรารภอยู่เสมอว่า ประเทศไทยของพระองค์ยังล้าหลังประเทศอื่นอยู่มาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการศึกษา ฯลฯ
ทางด้านวิชาอักษรศาสตร์ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมันและลาติน อันเป็นรากฐานสำคัญให้พระองค์ทรงศึกษาวิชากฎหมายได้อย่างลึกซึ้ง
ด้านการปกครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในการปกครองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์ถือเอาเป็นแนวสังเกต
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ แต่น่าประหลาดที่สามารถดำรงเอกราชไว้ได้ตลอดมาเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรุกรานจากประเทศอื่น ๆ เลย และประชาชนพลเมืองของประเทศนี้ก็มีอยู่หลายชาติหลายภาษา เช่น ฝรั่งเศส อิตาเลียน และเยอรมัน เป็นต้น และเมื่อเทียบส่วนเฉลี่ยแล้วปรากฏว่า เป็นประเทศที่มีพลเมืองที่ได้รับการศึกษาดีที่สุดในโลก ขนาดคนที่เลี้ยงแกะอยู่บนเขาสูงก็มักจะเรียนสำเร็จมหาวิทยาลัยแทบทั้งนั้น ประเทศนี้ปกครองโดยระบอบมหาชนรัฐและก็มีบางรัฐที่ไม่ต้องมีผู้แทนราษฎร เมื่อจะออกกฎหมาย ราษฎรก็มาประชุมกันออกกฎหมายเอง เพราะราษฎรต่างก็มีการศึกษาดีด้วยกันทั้งนั้นเราคนไทยส่วนมากรู้จักประเทศสวิสส์ดี ในฐานะที่เป็นประเทศผลิตนาฬิกาชั้นเยี่ยมของโลก แต่มีน้อยคนที่รู้จักประเทศสวิสส์ในฐานะที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ตรงตามความหมาย มากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของชาติจึงเป็นเหตุให้พระองค์ต้องทรงรับพระราชภารกิจอันหนักนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา การศึกษาวิชาการเพื่อปกครองประชาชนชาวไทย ให้อยู่เย็นเป็นสุขในอนาคตนั้นบังคับพระองค์จนไม่มีโอกาสจะทรงสำราญพระราชอิริยาบถหรือทรงพักผ่อนได้อย่างไรเลย พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมดคร่ำเคร่งอยู่กับวิชาการ ด้วยพระวิริยะพากเพียรอย่างยิ่ง อันเป็นการเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยโดยแท้
ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเหนื่อยยากตรากตรำศึกษาวิชาการอยู่ ณ ทวีปยุโรปนั้น ปวงอาณาประชาราษฎรทางประเทศไทย พากันร่ำร้องเรียกหาพระประมุขของชาติอยู่ทุกวันมิได้ขาด เพื่อให้พระองค์เสด็จกลับมาประทับอยู่ในประเทศเป็นมิ่งขวัญอบอุ่นเกล้าของชาวประชาสืบไป ประเทศชาติที่ขาดองค์พระประมุข ย่อมจะมีแต่ความว้าเหว่าเปล่าเปลี่ยวใจเป็นยิ่งนัก
ด้วยเหตุนี้ ในปีพุทธศักราช 2491 ประมาณเดือนสิงหาคม คณะรัฐบาลจึงได้ตกลงใจกราบบังคมทูล ฯ อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชให้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาเยี่ยมเยือนประเทศชาติและประชาชนสักชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเสด็จ ฯ กลับไปทรงศึกษาวิชาการตามเดิม และประการสำคัญยิ่งการเสด็จกลับครั้งนี้ เพื่อพระองค์จะได้ทรงเป็นองค์ประธานในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในพระบรมโกษด้วยประการหนึ่ง และเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งถึงกาลอันสมควรจะได้รับการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามราชประเพณีที่มีมาแต่เบื้องโบราณ
คณะรัฐบาลอันมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีได้นำความบังคมทูล ฯ อันเชิญเสด็จผ่านทางคณะอภิรัฐมนตรีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานและรอฟังผลพระราชดำรัสตอบ เพื่อแจ้งแก่ประชาชนและเตรียมพิธีรับเสด็จอย่างมโหฬาร
วันที่ 1 กันยายน พุทธศักราช 2491 ประธานองค์อภิรัฐมนตรีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้แจ้งให้คณะรัฐบาลทราบว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการให้แจ้งแก่คณะรัฐบาลว่า พระองค์ทรงงดการเสด็จกลับไว้พลางก่อนจนกว่าจะทรงศึกษาจบตามหลักสูตรแล้ว”
เป็นอันว่าพระราชพิธีสำคัญต้องงดชั่วคราวและไพร่ฟ้าประชาชน ก็รอคอยการเสด็จกลับขององค์พระประมุขแห่งชาติต่อไปอีกดังเดิม
ในระยะเวลาอันใกล้ ๆ กันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรเลขเรียกองค์คมนตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ไปเฝ้า ฯ ยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงซักถามความเป็นไปของบ้านเมือง และความทุกข์สุขของปวงอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยอยู่ในพระราชหฤทัยเป็นนิจ
พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสด็จออกไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นเดือนกันยายน พุทธศักราช 2491 และเสด็จกลับถึงประเทศไทย ในปลายเดือนเดียวกัน
โอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงฝากความห่วงใยในประเทศ และพสกนิกรของพระองค์มาด้วย ซึ่งพระองค์เจ้าธานีนิวัติทรงแถลงให้ประชาชนได้ทราบทั่วกัน โดยผ่านทางหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับความว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสซักถาม ความเป็นไปของราชการบ้านเมืองอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว พระองค์ทรงพระราชปรารภถึงประชาชนพลเมืองว่า “เราอยู่ไกล ประชาชนทุกข์สุขอย่างไรก็ได้แต่ถามด้วยความเป็นห่วงเท่านั้น”
ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทย อาจต้องระงับไว้พลางก่อน จนกว่าพระองค์จะทรงศึกษาวิชากฎหมายสำเร็จ ซึ่งในการนี้จะต้องใช้เวลาศึกษาจนกว่าจะทรงสำเร็จ
ในระหว่างนั้น คณะรัฐบาลได้แถลงให้ประชาชนทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด้จพระบรมเชษฐาธิราช ฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเสร็จแล้วพระองค์จึงจะเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาวิชาการต่อไป
ความคิดเห็น