คืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ลำดับตอนที่ #6 : วิถีคนเมืองและอาหารการกิน
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาจากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงรายทำให้บางส่วนอาจยังไม่คุ้นเคยกับภาษา วัฒนธรรมและอาหารการกินเท่าไร พี่จึงขอแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมืองให้อ่านกันครับ
1. ภาษาและวัฒนธรรม
จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในอดีตอาณาจักรล้านนามาก่อน ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาคำเมือง (สำเนียงล้านนาตะวันออก) เป็นภาษาพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ตามผู้คนสามารถใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี ส่วนชาวดอยและชนกลุ่มน้อย เช่น ม้ง เย้า ไทใหญ่ ไทลื้อ จีนฮ่อ กระเหรี่ยง พวกนี้ก็จะมีภาษาประจำกลุ่มหรือมีสำเนียงการใช้ภาษาที่แปลกออกไปครับ ซึ่งใครที่อยากสัมผัสกับพวกเขาหรือเธอก็ลองหาเวลาว่างๆไปเยือนดอยแม่สลอง ดอยช้าง หรือดอยต่างๆในเชียงรายได้นะครับ และในการสวดมนต์ในพิธีกรรมต่างๆก็จะมีท่วงทำนองและสำเนียงการสวดที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆด้วยครับ
นอกจากนี้จงอย่าแปลกใจเมื่อน้องๆถูกคนท้องถิ่นเรียกตัวน้องว่า "คนไทย" นั่นไม่ได้แปลว่าคนเชียงรายไม่ใช่คนไทยนะครับ ซึ่งคำว่า "คนไทย" ในความหมายของคนเมือง (คนเหนือ) คือ "ผู้ซึ่งมาจากต่างถิ่น ที่มิได้พูดภาษาคำเมือง" ครับ ไม่ได้เป็นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติแต่อย่างใด
สำหรับการใช้ชีวิตของคนเมือง ส่วนใหญ่จะไม่เร่งรีบเท่ากับคนภาคกลางมากนัก ดังนั้นหากพบเจอการบริการหรือการกระทำที่ค่อนข้างล่าช้า อย่าโกรธหรืออย่าอารมณ์เสียใส่เป็นอันขาดครับ
2. อาหารการกิน
อาหารการกินของล้านนาส่วนใหญ่มีรสชาดไม่จัดจ้านมากแต่จะหนักไปทางรสมันมากกว่า ซึ่งภาคเหนือมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นค่อนข้างยาวนาน จึงต้องรับประทานของมันเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกายครับ แต่อย่างไรก็ตามอาหารอีสาน อาหารปักษ์ใต้ อาหารภาคกลาง รวมไปถึงอาหารต่างประเทศก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน สำหรับอาหารพื้นเมืองล้านนาที่น่าสนใจก็มีดังนี้ครับ
2.1 ของคาว (จานหลัก)
ข้าวแรมฟืน (มีทั้งทอดและธรรมดา) แป้งข้าวจ้าวเคี่ยวจนจับเป็นก้อน หั่นสี่เหลี่ยมพอดีคำแล้วนำมาทานแบบก๋วยเตี๋ยวหรือจะทอดไฟอ่อนๆทานกับน้ำจิ้มสูตรเฉพาะก็อร่อยเหมือนกันหมดครับ
ข้าวซอย (ไก่/หมู/เนื้อ)
แกงขนุน ใช้ขนุนอ่อนในการแกงครับ
แกงเห็ดเผาะ (หรือเห็ดถอบ เมนูนี้ถึงจะแพงไปหน่อย แต่ก็น่าลองนะครับ อร่อยจริงๆ)
แกงฮังเล เนื้อหมูติดมันแกงกับหัวกะทิผสมขิงหั่นฝอยและถั่วลิสง
น้ำเงี้ยว (ขนมจีน) น้ำเงี้ยวจะมีการใส่เลือดลงไปในน้ำแกงครับผม คล้ายๆก๋วยเตี๋ยวน้ำตก แต่รสชาดจะออกไปทางเปรี้ยวนิดๆและเผ็ดแบบมันๆครับ
แอ็บ (กุ้ง/ปลา/หมู ฯลฯ) มีหลายประเภท ใช้เนื้อสัตว์บดละเอียดตำผสมกับผักต่างๆ ห่อใบตองย่างไฟจนสุกหอม
ส้า (มะเขือยาว/เนื้อ/หัวปลี/ผักรวม/มะม่วง/มะขาม) เป็นอาหารประเภทยำชนิดหนึ่งของล้านนา
หลู้ (ลาบดิบ) เป็นอาหารประเภทลาบครับ จานนี้ใจไม่แข็งห้ามกินเด็ดขาด เพราะใช้เลือดสดๆเป็นส่วนประกอบครับ แต่ถ้าเป็นหลู้สุก ก็จะเอาไปคั่วในไฟร้อนๆก่อนเอามารับประทานครับ
ลาบ (ไก่/หมู/เนื้อ/ปลา)
ข้าวกั๊นจิ๊น ใช้ข้าวเจ้าผสมเนื้อหมู เลือดหมู เครื่องปรุงและผักต่างๆบดให้เข้ากัน ห่อใบตองนึ่งจนสุก (คล้ายๆแหนมครับ)
ห่อนึ่ง (ปลา/ไก่/หมู/หน่อไม้) เหมือนข้าวกั๊นจิ๊น แต่ไม่ใส่ข้าวเจ้าครับ
น้ำพริกต่างๆ (อ่อง/หนุ่ม/แมงดา/แมงจอน(ตัวอ่อนผึ้ง)/แมงมัน/ถั่วเน่าแข็บ-เมอะ/น้ำปู๋ ฯลฯ)ทานกับแค็บหมูตามด้วยข้าวสวยหรือข้าวเหนยวร้อนๆ อร่อยดีครับ
2.2 ของทานเล่น / ของว่าง / กับแกล้ม
ไข่ป่าม เครื่องปรุงเหมือนไข่เจียวทรงเครื่องครับ ต่างกันแค่เอาทุกอย่างใส่ในกระทงใบตองแล้วย่างไฟจนสุก (ไม่ได้เอาไปทอด)
ไส้อั่ว มันก็คือไส้กรอกล้านนาครับ รสชาดจะแตกต่างไปตามสูตรของแต่ละท้องถิ่นไป เมนูนี้จะปิ้งหรือจะทอดในน้ำมันก็อร่อยเหมือนกันครับ
แป้งนมย่าง เป็นซีสเต้านมหมูครับ เอามาย่างไฟทานเป็น*กับแกล้ม รสชาดเหมือนหมูติดมัน
หนังควายจี่(ปิ้ง) อันนี้คอเหล้าน่าจะชอบนะครับ เอาหนังควายเผาไฟให้เกรียมตัดเป็นท่อนพอดีคำและบุบให้แตก จิ้มกับน้ำจิ้มสูตรมะขามเปียก ทานแกล้มกับ*เหล้าครับ (ใครฟันไม่ดีให้หลีกเลี่ยงนะครับ เพราะแข็งมาก)
แคบหมู จะทานเล่นหรือทานกับน้ำพริกก็อร่อยหมดทุกเมนูครับ
*ปล...สุราเมรัย เอาซะให้พอเหมาะนะครับ น้องๆ
2.3 ของหวาน
ขนมกนน้ำอ้อย คล้ายๆขนมกล้วยทางภาคกลางครับ แต่อันนี้จะใช้น้ำอ้อยและมะพร้าวทึนทึกผสมครับ
ข้าววิกตู ข้าวเหนียวกวนกับน้ำอ้อย (ปัจจุบันใชน้ำตาลแดง) ตัดสี่เหลี่ยมพอดีคำ โรยงาด้านบน
ขนมวง แป้งข้าวเหนียวรูปโดนัททอดกรอบ ราดด้วยน้ำตาลอ้อย
เมี่ยง (ความจริงน่าจะเป็นของทานเล่นมากกว่า) ใบเมี่ยงผสมใบชา ถั่วลิสง ขิงสด มะพร้าวขูดแล้วเอาไปดองในน้ำกระเทียมผสมเกลือ (มักใช้เป็นอาหารต้อนรับผู้ใหญ่หรือแขกบ้านแขกเมืองของชาวล้านนาครับ แต่ก็หาซื้อกินได้ไม่ยาก)
ขนมจ็อก (หรือขนมเทียนแก้ว / ขนมนมสาว) เหมือนขนมเทียนมีหลายไส้ครับผม (ส่วนใหญ่เป็นขนมที่ใช้ในงานบุญมากกว่า)
ข้าวงาปิ้ง เป็นของหวานตำรับชาวไตทำจากข้าวเหนียวดำตำให้เป็นแผ่นปิ้งบนเตาไฟก่อนจะโรยด้วยน้ำตาลแดงผสมงาขี้หม้อน ห่อด้วยใบตองรับประทานทั้งร้อนๆครับ
3. สภาพอากาศ
สภาพอากาศของจังหวัดเชียงรายในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด มีแสงแดดที่รุนแรงในตอนกลางวัน แต่จะเย็นๆในตอนกลางคืน ส่วนฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นจนถึงหนาวจัด ยิ่งบนยอดดอยไม่ต้องพูดถึงครับเกือบ 0 องศาฯก็เคยมาแล้ว ดังนั้นอย่าลืมเตรียมเสื้อผ้าหนาๆมาด้วยนะครับ
ในฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำฝนมาก ฤดูนี้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปเที่ยวป่าเขาและน้ำตกต่างๆ เพราะทากและสัตว์มีพิษจะเยอะมาก อีกทั้งยังเสี่ยงต่ออันตรายจากน้ำป่าไหลหลากอีกด้วยครับ หากต้องการเที่ยวจริงๆให้ไปช่วงปลายฝนต้นหนาวจะดีกว่า เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีบรรยากาศที่สวยงามครับ
4. เทศกาลและงานบุญที่น่าสนใจ
4.1 ตักบาตรเป็งปุด หรือตักบาตรพระอุปคุต (ตักบาตรเที่ยงคืน)
จัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยไม่เจาะจงว่าจะตรงกับเดือนใดๆ ซึ่งบางปีอาจมีได้ครั้งเดียว หลายครั้ง หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ สำหรับพิธีการตักบาตรเป็งปุ๊ดจะเริ่มขึ้นโดยถือเอาเวลาคืนวันอังคารหลังเวลา 24.00น. พิธีจะเริ่มขึ้นโดยจะมีขบวนแห่พระอุปคุตพร้อมด้วยคณะสงฆ์จะออกบิณฑบาตรข้าวสารอาหารแห้งครับผม
4.2 ปี๋ใหม่เมือง หรือ เทศกาลสงกรานต์
ทางภาคเหนือจะอาจจะมีการเล่นสาดน้ำกันก่อนสัก 2-3 วันก่อนวันสงกรานต์จริงๆตามปฎิทิน ซึ่งในเทศกาลสงกรานต์จะมีขบวนแห่ที่อลังการท่ามกลางการเล่นสาดน้ำที่สนุกสนานครับ และในวันเนายังมีการขนทรายเข้าวัด ซึ่งผู้คนจะไปโกยทรายจากที่ต่างๆก่อนจะพากันไปที่วัดเพื่อโยนทรายขึ้นไปบนเจดีย์ทรายครับผม ในวันนี้จะเรียกว่าวันเนา ซึ่งห้ามมีการประกอบพิธีมงคลใดๆและงดเว้นการพูดจาหยาบคายครับ และในวันที่ 15 เมษายน ทุกครอบครัวนิยมออกไปขอพรและรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ตามบ้านต่างๆจนครบทุกบ้าน เป็นการปิดท้ายเทศกาลปี๋ใหม่เมืองครับผม
4.3 งานพ่อขุนเม็งราย (งานไหว้สาพญาเม็งราย)
จัดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมจนถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ภายในงานมีสินค้าราคาถูกมากมายมาจำหน่าย และยังมีกิจกรรมการเล่มเกมส์ชิงรางวัลต่างๆมาให้ได้ประลองฝีมือกัน นอกจากนี้ในเวลาเที่ยงคืนของทุกวันที่จัดงานก็จะมีศิลปินนักร้องจากค่ายต่างๆมาให้ความบันเทิงอีกด้วยครับ สำหรับงานนี้จะมีค่าบัตรผ่านประตูสำหรับผู้ใหญ่ ราคา 20 บาทครับผม
4.4 ตานก๋วยสลาก
พิธีตานก๋วยสลากจะเป็นการทำบุญถวายทานโดยไม่เจาะจงผู้รับครับ เริ่มในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน ซึ่งในวันดาสลากเป็นวันจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ ชาวบ้านจะทำการจัดสาน "ก๋วยสลาก" (ชะลอม) ซึ่งจะใช้ใบตองรองด้านในก่อนจะบรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ก่อนจะมัดปิดปากก๋วยโดยด้านบนจะมีไม้เสียบเงินทำบุญ กล่องไม้ขีดไฟและบุหรี่พร้อมกับเส้นสลากซึ่งเขียนชื่อ-สกุลของผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลไปให้ นอกจากนี้ยังมีสลากก๋วยใหญ่(ทำจากต้นกล้วยหรือต้นอ้อย)ซึ่งประดับประดาด้วยธนบัตรและข้าวของเครื่องใช้มากมาย ในวันดาสลากนี้เองแต่ละบ้านก็จะมีการเลี้ยงบรรดาเพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องที่มาร่วมทำบุญที่บ้านของเจ้าภาพด้วยเหล้า อาหารต่างๆครับผม
เมื่อถึงวันทานสลาก ชาวบ้านก็จะนำก๋วยสลากวัด และเอา"เส้นสลาก" ทั้งหมดไปรวมกันที่หน้าพระประธานในวิหาร มีการฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ และมัคทายกนำเส้นสลากทั้งหมดมารวมกันแล้วแบ่งเส้นสลากทั้งหมด เป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของวัดอีก ๒ ส่วนเฉลี่ยไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือมักเป็นของวัด ทั้งหมด
พระภิกษุสามเณรเมื่อได้ส่วนแบ่งแล้ว จะยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและออกสลากคือ อ่านชื่อเส้นสลากดังๆ หรือให้ลูกศิษย์(ขะโยม) ที่ได้ตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลาก หรือเปลี่ยนเป็นคำสั้นๆ บางรายจะหิ้ว "ก๋วย" ไปตามหาเส้นสลากของตนตามลานวัดเมื่อพบสลากของตนแล้วจะเอาสลากของตนถวายพระ พระจะอ่านข้อความในเส้นสลากและอนุโมทนาให้พรแล้วคืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป เจ้าของสลากจะนำเส้นสลากไปรวมในวิหาร เมื่อเสร็จแล้วมัคทายกหรือแก่วัด จะนำเอาเส้นสลากนั้นไปเผาหรือทิ้งเสีย
4.5 ประเพณียี่เป็ง (ลอยกระทง)
จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งมีการประกวดนางนพมาศ การแสดงต่างๆ มีการประกวดกระทง และปล่อยโคมลอย ท่ามกลางบรรยากาศริมแม่น้ำกก ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆมากมายให้ร่วมสนุกอีกด้วยครับ
4.6 งานดอกเสี้ยวบาน ณ.ภูชี้ฟ้า
จัดขึ้นช่วงเดือนมกราคม มีการแข่งขันกีฬาและการแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวดอย ณ. บ้านร่มฟ้าไทย อำเภอเทิง
4.7 งานดอกบัวตองบาน
จัดในเดือนพฤศจิกายน มีการแสดงของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ชมทุ่งบัวตอง น้ำตก และทะเลหมอก ณ บ้านหัวแม่คำ อำเภอแม่ฟ้าหลวง
4.8 เทศกาลเชียงรายดอกไม้งาม
จัดในช่วงปลายเดือนธันวาคม - ต้นเดือนมกราคม ณ.บริเวณสวนดอกไม้งามริมแม่น้ำกก ตรงข้ามโรงเรียนเทศบาล 6 (กองสลากกินแบ่งรัฐบาล) ถนนสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย
4.9 งานเทศกาลลิ้นจี่และของดีเมืองเชียงราย
จัดประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี มีการประกวดขบวนรถและธิดาลิ้นจี่ การออกร้านจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ณ สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย
4.10 เทศกาลชิมชา ซากุระบาน อาหารชนเผ่า ณ.ดอยแม่สลอง
จัดช่วงปลายเดือนธันวาคม - ต้นเดือนมกราคม ณ.ดอยแม่สลอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย
4.11 ปอยหลวง
จัดในช่วงเวลา จากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคมของทุกปี) ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน ซึ่งในงานปอยหลวงนี้ ชาวบ้านจะมาทำบุญร่วมกันและจัดงานทำให้เกิดความสามัคคีในการทำงาน งานปอยหลวงยังเป็นการรวมญาติพี่น้องที่อยู่ต่างถิ่นได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน มีการสืบทอดประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาครั้งแต่บรรพชนไม่ให้สูญหายไปจากสังคมครับผม
4.12 งานประเพณีขึ้นพระธาตุดอยตุง
จัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือนหกเหนือ หรือเดือนมีนาคม เป็นประเพณีของชาวล้านนารวมทั้งชาวไทยใหญ่ในพม่าที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยชาวบ้านและพระสงฆ์ จะเดินขึ้นพระธาตุในตอนกลางคืน เมื่อมาถึงก็จะพากันนมัสการองค์พระธาตุก่อน จากนั้นจึงหาพื้นที่ประกอบอาหารเพื่อตักบาตรในตอนเช้า หลังจากตักบาตรแล้วจะ ช่วยกันบูรณะบริเวณองค์พระธาตุ เมื่อถึงยามค่ำคืนก็มารวมกันที่ปะรำพิธีเพื่อฟังเทศน์
4.13 ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อปลาบึก
ประเพณีเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่อยู่ริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะชาวประมง ในเขตบ้านหาดไคร้ ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ เกี่ยวกับปลาบึกซึ่งเป็นปลาขนาด ใหญ่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงว่า เป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ มีเทพเจ้าคุ้มครอง ก่อนที่ชาวประมง จะจับปลาบึกต้องมีการบวงสรวงก่อน ฤดูกาลจับปลาบึกอยู่ระหว่างเดือนเมษายน- พฤษภาคม
4.14 ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอีก้อ (อาข่า)
อาข่า มีเชื้อสายจากจีน-ธิเบต เดินทางอพยพมาอยู่บริเวณ ชายแดนไทย-พม่า แถบตอนเหนือของลำน้ำกก โดยเฉพาะอำเภอแม่จัน และแม่สาย การโล้ชิงช้าเป็นการขึ้นไปขอพรและแสดงความรำลึกถึงพระคุณของเทพธิดาแห่ง สรวงสวรรค์ ผู้ประทานความชุ่มชื่นอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชพันธุ์ธัญญาหารและ ยังเป็นการเซ่นไหว้บรรพบุรุษอีกด้วย จัดในช่วงเดือนสิงหาคม
4.15 แห่พระแวดเวียง
ประเพณีอัญเชิญพระพุทธรูปแวดเวียงเชียงราย ซึ่งมีพื้นฐานความคิดมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยมีจุดมุ่งหมาย ให้ประชาชนได้มีโอกาสสักการะบูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ในตัวเมืองเชียงราย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในวาระของการส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยการอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเชียงราย มาประดิษฐานบนบุษบกที่ได้สร้างขึ้นโดยช่างศิลปินที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย จัดตั้งเป็นขบวนอัญเชิญไปรอบเมืองเชียงราย ให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสกราบไหว้สักการะบูชาด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่เป็นสิริมงคลยิ่งนัก
คำเตือนเมื่อมาอยู่ที่เชียงราย
1. เนื่องจากเชียงรายเป็นเมืองชายแดน ซึ่งมีการหลบหนีเข้าเมืองอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งการนั่งรถไปสถานที่ต่างๆก็จะมีการตั้งด่านเป็นจุดๆไว้ ดังนั้นให้พกบัตรประชาชนหรือบัตรที่ออกโดยหน่วยงานราชต่างๆติดตัวไว้ตลอดการเดินทาง เพราะเจ้าหน้าตำรวจที่อาจเรียกขอดูได้ทุกเมื่อครับ (โดยเฉพาะคนที่นั่งรถไปเที่ยวแม่สาย หรือ เดินทางไปต่างจังหวัด)
2. ผู้ที่นำยานพาหนะมาใช้ให้สวมหมวกกันน็อคหรือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ขณะขับขี่และขับขี่ด้วยความระมัดระวัง เพราะเชียงรายถือเป็นเมืองที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนมากที่สุดครับ (โดยเฉพาะถนนพหลโยธินช่วงบ้านดู่, ห้าแยกพ่อขุนเม็งรายและตามสี่แยกต่างๆ) นอกจากนี้ในเขตตัวเมืองเชียงราย ถนนบางสายได้กำหนดเส้นทาง One way เอาไว้ดังนั้น ผู้ใช้รถใช้ถนนควรศึกษาเส้นทางให้ดีก่อนที่จะเดินทางนะครับ (ปล...ตำรวจจะตั้งด่านตรวจจับผู้ที่ไม่สวมใส่หมวกกันน็อคตามสี่แยกต่างๆในช่วงต้นเดือนของแต่ละเดือนนะครับ ใครไม่ใส่หมวกกันน็อคก็ระวังนะครับ)
3. อย่ารับคนแปลกหน้าที่พูดภาษาแปลกๆขึ้นรถเด็ดขาด เพราะเราอาจถูกจับในฐานช่วยเหลือผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายได้ครับ (เคยมีกรณีที่เด็กมฟล.ไปรับคนเกาหลีเหนือที่หลบหนีเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย จนเป็นเรื่องราวเดือดร้อนถึงครูบาอาจารย์ต้องไปช่วยเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแล้วครับ)
4. อย่าอยู่ในที่เปลี่ยวยามค่ำคืน ไม่ว่าจะคนเดียวหรือเป็นกลุ่ม เพราะบางพื้นที่จะมีแก๊งค์ซิ่งมอเตอร์ไซค์ (ทางเหนือเรียก "แซ้บ") ไปชุมนุมอยู่มากมายครับผม
5. ห้ามไปเที่ยวป่าเขาและน้ำตกในฤดูฝนเด็ดขาด เพราะทากกับสัตว์มีพิษเยอะมาก และยังเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากน้ำป่าไหลหลากอีกด้วยครับ แต่ถ้าอยากเที่ยวจริงๆให้ไปช่วงปลายฝนต้นหนาวจะดีที่สุดครับ
ความคิดเห็น