ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    แนะนำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

    ลำดับตอนที่ #1 : กว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 8.91K
      7
      12 มิ.ย. 55

    กว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


      
             จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดชายแดนของประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดซึ่งมีประกอบอาชีพเกษตรกรมีฐานะที่ค่อนข้างจะยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษาต่อในระดับสูง ในสมัยนั้น สถาบันศึกษาที่อยู่ใกล้จังหวัดเชียงรายมาที่สุดคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ แม้ว่าจังหวัดเชียงรายจะมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดเชียงใหม่ในทางภูมิศาสตร์ก็จริง แต่ก็ยังถือว่าห่างไกลกันมากในเชิงภูมิประเทศ ทำให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งของจังหวัดเชียงรายได้มีการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นภายในจังหวัดเชียงราย  ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์ให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นในพื้นที่ มีการประชุมและมีการแสดงความคิดเห็นโดยมีมติต่างๆในหลากหลายรูปแบบ เช่น การยกระดับสถาบันราชภัฏเชียงราย(ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย)ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ การจัดตั้งเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ เป็นต้น 

         18 กรกฎาคม 2538  เมื่อสมเด็จพระศรีนครนทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคต คณะกรรมการฯได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการของจังหวัดเชียงรายเห็นว่า พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนเชียงรายที่ทรงใช้เป็นพระตำหนักและ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น นำความเจริญมายังจังหวัดเชียงรายและประเทศชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงและเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้งการพัฒนาคน จึงจัดทำโครงการยื่นเสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย 

         4 มีนาคม 2539     นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่มุ่งหวังและสนับสนุนที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ได้ประสานงานนำคณะกรรมการรณรงค์จัดตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจัดหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และสื่อมวลชนเข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเสนอเหตุผลและความจำเป็นที่ขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงรายต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ หลังจากนั้นได้ไปพบนายบุญชู ตรีทอง ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งปลัดและรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อขอให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว

         5 มีนาคม 2539   คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย โดยอาจยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของรัฐบาลและประชาชนที่มีต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งของจังหวัดเชียงราย
          27 เมษายน 2539  ทบวงมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการวิเคราะห์เกี่ยวกับการยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงแล้วสรุปว่ามีความเป็นไปได้ พร้อมทั้งได้ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงาน ระบบบริหาร และระบบวิชาการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาตามลำดับ ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยต่อคณะรัฐมนตรี

         20 สิงหาคม 2539   คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่าง ต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นผลทำให้ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฉบับนี้ไม่ได้รับการพิจารณา

         13 กุมภาพันธ์ 2540   คณะกรรมการกลั่นกรองงานฝ่ายสังคมของรัฐบาลในสมัยที่ พลเอก เชาวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบให้ทบวงมหาวิทยาลัยจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ โดยไม่ยกฐานะสถาบันราชภัฏเชียงรายเป็นมหาวิทยาลัย

         18 กันยายน 2540   ทบวงมหาวิทยาลัยจึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างพระราชบัญญัติที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจร่างและดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป และแต่งตั้งให้ รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งเพื่อดำเนินการต่างๆ ให้เรียบร้อยและเสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อดำเนินการได้ตามความเหมาะสม สำหรับที่ดินที่ใช้ก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนั้น คณะกรรมการจังหวัดเชียงรายได้จัดเตรียมไว้ 3 แห่งคือ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย บริเวณจอมหมอกแก้ว อำเภอแม่ลาว และบริเวณดอยโตน อำเภอเวียงชัย ซึ่งต่อมานายมนตรี ด่านไพบูลย์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยและ รองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย คณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัย แม่ฟ้าหลวง และทบวงมหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่บริเวณดอยแง่ม และจอมหมอกแก้ว เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันนักศึกษาและประชาชนจังหวัดเชียงรายก็ได้มีการชุมนุมเรียกร้อง ณ บริเวณโรงแรมลิตเติ้ลดัก จังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้นโดยเร็วและได้ขอคำยืนยันจากรัฐบาล ซึ่งนายมนตรี ด่านไพบูลย์ และรองศาสตราจารย์ วันชัย ศิริชนะ ได้ให้คำยืนยันว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ภายใน ปี 2542
        
        29 กรกฎาคม 2540   มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงราย ได้มีมติอนุมัติให้ใช้พื้นที่บริเวณดอยแง่ม จำนวน 4,997 ไร่ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ขณะเดียวกันคณะกรรมการของจังหวัดเชียงรายร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาจังหวัดเชียงราย ได้รณรงค์หาทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าทำถนนเข้ามหาวิทยาลัย และเพื่อชดเชยค่าที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่ในบริเวณนั้นด้วย

         26 มีนาคม 2541 ชาวเชียงรายทุกหมู่เหล่า ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด นับหมื่นคน ได้ร่วมกันนำมีด พร้า จอบ เสียม และเครื่องจักรมาบุกเบิกทางเข้ามหาวิทยาลัยบริเวณดอยแง่มเป็นปฐมฤกษ์ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณมหาวิทยาลัย ในโอกาสวันสำคัญต่างๆ หลายครั้ง การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้คืบหน้าเป็นลำดับ


         25 กันยายน 2541  มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงขึ้น และรัฐบาลก็ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการเตรียมการในเบื้องต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2539 และในปี 2541 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณไร่ม่อนดินแดง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 700 ไร่ให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงอีกแห่งหนึ่งด้วย การจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่ทำการถาวร ณ บริเวณดอยแง่ม อำเภอเมืองเชียงราย ในปีงบประมาณ 2542 เป็นต้นมา

             มิถุนายน 2542 เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัย โดยเปิดรับ 2 สาขา คือ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ และสาขาวิชาเทคโนโลยีการอาหาร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร

         3 กุมภาพันธ์ 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พิธีเปิดศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร และพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2545 ซึ่งเป็นบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัย ยังความปลื้มปิติสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

         6 พฤษภาคม 2547 โครงการก่อสร้างมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามแผนแม่บทกายภาพระยะที่ 1 ตั้งแต่พระราชบัญญัติประกาศใช้ จวบจนปี พ.ศ. 2547 ของการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในด้านการผลิตบัณฑิต ด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงปฏิบัติภารกิจเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยตลอดไป



    การพระราชทานปริญญาบัตร : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ฯ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในทุกปีการศึกษาครับ


    สีประจำมหาวิทยาลัย : แดง - ทอง


     

    ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย :
    ต้นลำดวน หรือ หอมนวล


     

    ชุดครุยพระราชทานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง




             ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีที่ตั้งอยู่ 2 แห่งคือพื้นที่เชิงดอยแง่ม ต.ท่าสุด จ.เชียงราย และ สำนักงานประสานงานที่กรุงเทพมหานครครับ

    วิทยาเขตหลัก จ.เชียงราย

    333 หมู่ 1 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย 57100 
    เบอร์โทรศัพท์ : 0-5391-6027 ถึง 8, 0-5391-6000
    FAX : 0-5391-6029, 0-5391-6034
    Website :
    www.mfu.ac.th
    Facebook (English) : Click Here!   (ภาษาไทย) : คลิกที่นี่

    สำนักงานประสานงาน กรุงเทพมหานคร


    อาคารปัญจภูมิ 2 ชั้นที่ 7 เขตสาธร ถนนสาธรใต้ กรุงเทพหานคร 
    โทรศัพท์ :
    0-2641-0822 ถึง 3
    FAX : 0-2641-0824


    โดยที่สำนักงานฯแห่งนี้จะเป็นที่เรียนในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาวิชาตจวิทยาและการจัดการโลจิสติกและซัพพลายเชนท์ อีกทั้งยังเป็นสถานที่รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาอีกด้วย


    หมายเหตุ...มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ซึ่งมิได้สังกัดกับส่วนราชการ มีพระราชบัญญัติรับรองไว้โดยถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงไม่ใช่สถาบันการศึกษาเอกชน อย่างที่ทุกคนเข้าใจกันนะครับ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×