เสาที่ 3 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
AEC : ASEAN Economic Community
นายอาลาวี หะยีสะมา ชนะเลิศภาพวาดสีน้ำ "อาเซียนในความคิดของฉัน" | เสานี้เป็นเสาที่หลายฝ่ายตื่นตัวมากที่สุด และอาจจะเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบมากที่สุดก็ว่าได้ ASEAN มี 10 ประเทศ 10 ฐานระบบเศรษฐกิจ บางประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม บางประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม และบางประเทศก็ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสม ถึงจะมีระบบเศรษฐกิจที่ต่างกัน แถมยังมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันอีก เรามีทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาอยู่รวมกัน แต่ถึงกระนั้น ASEAN ก็ได้สร้างผลผลิตมวลรวมนับล้านล้านดอลล่าร์ให้กับระบบเศรษฐกิจโลกในแต่ละปี เรื่องของ AEC เป็นเรื่องที่น่าสนใจและควรที่จะทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับเด็กๆวัยเรียน อาจจะยังมองว่าไกลตัวไปสักนิด เพราะว่าเป็นเรื่องของเศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องของธุรกิจ แต่รับรองได้ว่าเมื่อโตขึ้น ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นอย่างแน่นอน การรวมกลุ่ม AEC เพื่อการช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจนั้น ถือเป็นปัจจัยหลักเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิด ASEAN ขึ้นมาทันทีในปี 2558 การรวมกลุ่ม AEC จะถือกำเนิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ หัวใจหลัก คือ การทำให้อาเซียนกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการได้อย่างเสรี (Free Flow of Goods & Services) เช่น การนำเข้า-ส่งออกสินค้าจะทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการลดอุปสรรคทางการค้า เช่น ยกเลิกการเก็บภาษี ยกเลิกการกำหนดปริมาณสินค้า เป็นต้น หรือเรื่องของการเคลื่อนย้ายธุรกิจบริการ เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโทรคมนาคม ก็จะสามารถเข้าไปประกอบการในประเทศชาติสมาชิกได้ง่ายและเสรีขึ้น นอกจากการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการแล้ว ยังมีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี (Free Flow of Investments) นั่นหมายความว่า นักธุรกิจสามารถเข้าไปลงทุนในกิจการของอีกประเทศหนึ่งได้ง่ายขึ้น หรือเข้าไปลงทุนตั้งกิจการในต่างประเทศเองก็ได้ เป็นการลงทุนข้ามชาติ ข้ามระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยที่มีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น เครือซีเมนต์ไทย ปตท. บ้านปู เป็นต้น ซึ่งประเทศที่เป็นต้นแบบด้านนี้ ที่ดำเนินการมาก่อน ASEAN อย่างเห็นได้ชัด คือ อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี พวกเขาพัฒนาประเทศได้เร็วกว่าเรา และที่สำคัญ คือ เขาตระหนักว่าการเติบโตภายในประเทศอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องออกไปเติบโตข้างนอกด้วย ดังนั้น จึงอย่าแปลกใจว่าทำไมประเทศไทยเรา จึงมีโรงงานสัญชาติเหล่านี้อยู่เต็มไปหมด แถมยังมาเป็นเจ้านายพวกเราเสียอีก รูปไม่เกี่ยวแต่อยากใส่อะ ฮ่าๆๆ ก็นั่งฟังแนะแนวอาชีพแล้วกัน เรื่องของการประกอบอาชีพเองก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะจะมีการเปิดเสรีด้านวิชาชีพ (Free Flow of Skilled Labor) ซึ่งจะควบคุมหลายอาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญสูง คือ หมอ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และผู้สำรวจ เป็นต้น ทำให้บุคคลที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ สามารถไปทำงานต่างประเทศได้อย่างเสรีและถูกกฎหมาย ถึงแม้ในเรื่องของ AEC นี้ เราจะพบกับคำว่า “เสรี” อยู่เต็มไปหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรได้ง่ายดาย เพราะทุกอย่างล้วนมีกฎเกณฑ์ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐานกำหนดเอาไว้ ซึ่งผู้สนใจในด้านนี้จะต้องไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กฎระเบียบกติกาการบริการ, กฎระเบียบกติกาการลงทุน, การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ เช่น ไม่ใช่ว่าเป็นหมอ เป็นวิศวกร แล้วจะไปทำงานเมืองนอกได้ง่ายๆ อาจจะต้องมีการสอบเพื่อใบรับรองคุณวุฒิมาตรฐานวิชาชีพก่อน จึงจะทำงานในประเทศนั้นได้ เป็นต้น สำหรับในเรื่องนี้ตามที่กล่าวมาในข้างต้น อาจจะฟังดูยากและไกลตัวสักนิด แต่เรื่องของเศรษฐกิจนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ ไม่แน่ว่าต่อไปในอนาคต เราอาจจะทำงานในบริษัทของชาวลาวที่ประเทศสิงคโปร์ มีเพื่อนร่วมงานด้านซ้ายเป็นชาวพม่า ด้านขวาเป็นชาวอินโดนีเซีย ก็เป็นได้ บทความโดยพี่ปอ |
ความคิดเห็น