ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ล้ำโลกโลกาภิวัฒน์

    ลำดับตอนที่ #38 : ตรวจสอบด้วย "อัลตราโซนิก" เทคนิคกู้ชีพคนงานเหมืองชิลี

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 894
      0
      6 พ.ย. 53

    ตรวจสอบด้วย "อัลตราโซนิก" เทคนิคกู้ชีพคนงานเหมืองชิลี
    โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
    คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
     
    วชิรพงษ์ ระหว่างตรวจสอบแนวเชื่อมท่อด้วยคลื่นอัลตราโซนิก หรือการตรวจสอบแบบเม็ตตาเฟส

     
    แคปซูลฟินิกซ์สำรองที่ไม่ถูกใช้งาน

     
    วชิรพงษ์ กับแคปซูลที่ใช้ลำเลียงคนงานเหมืองขึ้นสู่พื้นดิน

     
    วชิรพงษ์ กับก้อนหินจากใต้เหมืองทองคำในชิลี

     
    2 ช่างเทคนิคชาวไทยกับตำรวจชิลีที่ขี่ม้าตรวจตรารอบๆ หลุมจุดเจาะช่วยเหลือคนงานเหมือง

     
    ทีมช่วยเหลือทดลองส่งแคปซูลฟินิกซ์ก่อนส่งจริง (ขอบคุณภาพประกอบจากวชิรพงษ์)

    นอกจากการตรวจอัลตราซาวน์เพื่อดูเพศทารกและความผิดปกติในครรภ์แล้ว ยังมีการประยุกต์ใช้คลื่นเสียงพิเศษนี้ไปกับการตรวจสอบรอยบกพร่องในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยให้ช่างเทคนิคปลอดภัยจากรังสี และยังมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์กู้ชีวิตคนงานเหมือง
           
           ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างการขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมหรือการลำเลียงน้ำจากทะเลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบรอยร้าวเล็กๆ ในท่อส่งน้ำมันหรือท่อส่งน้ำที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพื่อป้องกันการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นหากรอยร้าวเหล่านั้นขยายใหญ่จนกลายเป็นรอยรั่ว
           
           เราไม่อาจทุบทำลายโครงสร้างอาคารหรือสิ่งที่เราต้องการตรวจสอบหารอยร้าว จึงมีเทคนิคใช้รังสีซึ่งสามารถทะลุทะลวงผ่านโลหะเพื่อตรวจสอบหารอยร้าวต่างๆ ซึ่งอาจใช้รังสีเอ็กซ์หรือรังสีแกมมาจากสารรังสีต่างๆ เพื่อตรวจสอบ แต่เทคนิคดังกล่าวนี้ทำให้ช่างเทคนิคต้องเสี่ยงกับการสัมผัสรังสี จนกระทั่งราว 10 กว่าปีที่ผ่านมาเทคนิคการตรวจสอบด้วยคลื่นอัลตราโซนิกถูกนำมาใช้ในงานตรวจสอบมากขึ้น
           
           วชิรพงศ์ นาสารีย์ ช่างเทคนิควัย 30 ปีจาก บริษัท เม็ตตาโลจิก อินสเปคชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด เคยผ่านงานการตรวจสอบแบบไม่ทำลายทั้งการใช้รังสีเอ็กซ์ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการใช้สารแทรกซึม ล่าสุดเขาเป็นช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญการตรวจสอบแบบไม่ทำลายโดยใช้คลื่นอัลตราโซนิก หรือมีชื่อเฉพาะว่า "เม็ตตาเฟส" และความเชี่ยวชาญในเทคนิคนี้นี่เองทำให้เขามีโอกาสเป็น 1 ใน 2 คนไทยที่ได้ร่วมภารกิจกู้ชีวิตคนงานเหมือง 33 คน จากเหตุเหมืองแร่ทองคำและทองแดงของชิลีถล่มเมื่อเดือน ส.ค.ที่่ผ่านมา
           
           เขาบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เทคนิคตรวจสอบแบบไม่ทำลายโดยใช้คลื่นอัลตราโซนิกนี้เป็นเทคนิคค่อนข้างใหม่ และได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเทคนิคนี้จะให้ภาพการตรวจสอบที่แสดงให้เห็นชัดว่ามีรอยแตกร้าวหรือไม่ และรอยแตกร้าวนั้นมีขนาดใหญ่เท่าไรหรืออยู่ในตำแหน่งลึกแค่ไหน ซึ่งเขาเองใช้เทคนิคนี้มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว
           
           ภารกิจกู้ชีวิตคนงานเหมืองที่สำเร็จลุล่วงไปเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา วชิรพงษ์พร้อมด้วย สมพงษ์ พงกันยา ช่างเทคนิคชาวไทยที่ร่วมภารกิจเดียวกันและเป็นเพื่อนร่วมบริษัทได้รับหน้าที่ตรวจสอบแนวเชื่อมท่อเหล็กที่หย่อนลงไปในรูเจาะสำหรับส่งแคปซูล "ฟินิกซ์" ลงไปเพื่อนำคนงานเหมืองที่ติดอยู่ลึกลงไป 700 เมตร ขึ้นมาสู่พื้นดิน ซึ่งเขากล่าวว่า ภารกิจของเขาเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ของเครื่องจักรกลของใหญ่ แต่ทุกคนที่ร่วมภารกิจล้วนมีความสำคัญเหมือนกันหมดและขาดไม่ได้ หากแต่พระเอกของงานนี้คือทีมขุดเจาะและทีมช่วยเหลือ
           
           “ในการขุดเจาะต้องใส่ท่อลงไปเพื่อกันผนังดินที่ขุดเจาะถล่ม และท่อ 12 เมตรที่ต่อกันยาว 700 เมตรนั้นมีแรงดึงมหาศาล ถ้าเกิดรอยร้าวเล็กๆ อาจทำให้ท่อแตกหลุดและอุดทางเข้าช่วยเหลือได้ ความผิดพลาดจะต้องไม่มีเลย เพราะมีผลต่อการช่วยเหลือชีวิตคน โชคดีการช่วยเหลืออาจจะล่าช้าออกไป หรือโชคร้ายอาจทำให้คนเสียชีวิตได้" วชิพงษ์กล่าว ซึ่งเขาบอกด้วยว่างานตรวจสอบนี้ไม่ยาก แต่มีความกดดันเรื่องชีวิตคนเข้ามาเกี่ยวข้อง
           
           ในการขุดเจาะเพื่อส่งแคปซูลลงไปช่วยเหลือคนงานเหมืองที่ติดอยู่ใต้พื้นดินนั้น ทีมช่วยเหลือวางแผนสำรองเผื่อเหตุขัดข้องไว้หลายทาง เช่น การขุดเจาะที่ทำพร้อมกัน 2 รู สำรองไว้กรณีที่ท่อส่งใดผิดพลาด หรือแคปซูลที่มีสำรองไว้ 3 แคปซูล เป็นต้น และก่อนส่งแคปซูลลงไปได้มีการทดสอบส่งแคปซูลเปล่าและแคปซูลที่บรรจุน้ำหนักเท่าน้ำหนักบรรทุกจริงก่อนนำคนขึ้นสู่พื้นดิน
           
           ทั้งนี้ วชิรพงษ์และสมพงษ์ที่เป็นชาวเอเชียเพียง 2 คนในภารกิจนี้ ช่วยกันรับผิดชอบการตรวจสอบรอยเชื่อมท่อในส่วนของหลุมขุดเจาะซี (C) ที่ใส่ท่อเหล็กลึกลงไปถึง 700 เมตร ส่วนหลุมขุดเจาะที่นำคนงานเหมืองขึ้นสู่พื้นดินคือหลุมชุดเจาะบี (B) ที่ใส่ท่อเหล็กลงไปเพียงแค่ 50 เมตรแรกจากปากหลุม แต่โชคดีที่หินด้านล่างของหลุมขุดเจาะนั้นแข็งแรงและไม่หลุดลงไปอุดทางเข้าช่วยเหลือ
           
           การได้รับโอกาสไปร่วมกู้ชีวิตคนงานเหมืองในเมืองซานโฮเซ่ของชิลีนี้ วชิรพงษ์และสมพงษ์ได้รับคัดเลือกจากบริษัทแม่ในแคนาดา ซึ่งเขาเองไม่ได้สอบถามเหตุผลการคัดเลือกที่ชัดเจน แต่โดยความสามารถแล้วช่างเทคนิคชาวไทยไม่แตกต่างจากช่างเทคนิคจากประทศอื่นๆ อีกทั้งยังมีเงื่อนไขในการทำงานน้อยกว่า
           
           “เขาพอใจในการทำงานของคนไทยมากกว่า เพราะความสามารถพอๆ กัน แต่ข้อแม้ในการทำงานน้อยกว่า ถ้าเป็นช่างแคนาดาหากเงื่อนไขการทำงานไม่เป็นที่พอใจแล้วเขาตีตั๋วกลับแคนาดาในวันที่ไปถึงชิลีเลย" วชิรพงษ์กล่าวและบอกด้วยว่าบริษัทแม่ในแคนาดาเคยมีโครงการตรวจสอบแนวเชื่อมท่อส่งน้ำทะเลเพื่อยังเหมืองที่ชิลีมาก่อน จึงได้รับความไว้วางใจให้ส่งช่างเทคนิคไปร่วมภารกิจครั้งนี้
           
           หลังจากภารกิจที่ชิลีครั้งนี้ช่างเทคนิคจากบริษัทเม็ตตาโลจิกฯ ยังมีภารกิจตรวจสอบอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเร็วๆ นี้ วชิรพงษ์จะเดินทางไปตรวจสอบท่อส่งน้ำในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกาหลี และบริษัทยังมีโครงการตรวจสอบท่อส่งแก๊สในบราซิล แคนาดาและอาร์เจนตินาอีกด้วย โดยงานส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบท่อน้ำและท่อก๊าซ
           
           พร้อมกันนี้ วชิรพงษ์ยังได้เล่าถึงการทำงานด้านการตรวจสอบแบบไม่ทำลายซึ่งเขามีประสบการณ์มา 8 ปี และเคยร่วมงานทั้งบริษัทของคนไทยและบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเขาบอกว่าในการทำงานด้านนี้ต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี บางครั้งเจอกรดซัลฟิวริกฟุ้งกระจาย ละอองสารเคมีหรือฝุ่นละอองโลหะ ซึ่งต้องมีอุปกรณ์ป้องกันเฉพาะ บางครั้งแทนที่จะได้รับหน้ากากสำหรับป้องกันสารเคมีโดยเฉพาะก็ได้เพียงหน้ากากธรรมดาที่กันได้แค่ฝุ่น แต่สำหรับบริษัทปัจจุบันที่เขาร่วมงานด้วยมีความพร้อมในการป้องกันระหว่างทำงาน





    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×