ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เล่าเรื่องเมืองไทย อดีตที่ยังไม่เสื่อมคลาย

    ลำดับตอนที่ #93 : โจรวาสนาดี พระพุทธเจ้าหลวงราชรับสั่ง “มันพูดจริง เราก็จะให้มันเห็นผลความจริง"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 161
      5
      30 พ.ค. 59

    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
            ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับฎีกานักโทษในคุกทูลเกล้าฯถวายมาทางไปรษณีย์ฉบับหนึ่ง มีข้อความค่อนข้างแปลก จึงโปรดให้นำมาอ่านในที่ประชุมเสนาบดี
           
            นักโทษเจ้าของฎีกานี้มีชื่อว่า ทิม เป็นชาวเมืองอินทบุรี ต้องโทษจำคุกในคดีปล้นทรัพย์ ความที่กราบทูลในฎีกานั้นโจรทิมกล่าวว่า ตั้งแต่ต้องโทษจำคุก พัศดีจ่ายให้ไปทำงานในกองจักสาน ได้ฝึกหัดจักสานจนมีความชำนาญ จึงตั้งใจไว้ว่าจะฝึกจักสานจนมีฝีมือที่ไม่มีใครทั้งคุกสู้ได้ แล้วจะทำสิ่งหนึ่งทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเห็นฝีมือ ถ้าทรงโปรดในของสิ่งนั้น ก็จะขอพระราชทานอภัยโทษให้พ้นคุก และจะออกบวชเป็นพระภิกษุจำศีลภาวนาไปตลอดชีวิต ไม่หวนกลับไปประพฤติชั่วเหมือนในอดีตอีก
           
            บัดนี้โจรทิมต้องโทษจำคุกมา ๑๐ ปีแล้ว ได้พยายามทำของที่ตั้งใจไว้จนสำเร็จ จึงขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวาย ถ้าโปรดฝีมือที่ทำ โจรทิมก็จะขอพระราชทานอภัยโทษ ออกบวชตามที่ตั้งใจไว้
           
            ในท้ายของฎีกาโจรทิมยังให้คำสัญญาว่า ถ้าข้อความที่กราบทูลเป็นความเท็จแม้แต่ข้อหนึ่งข้อใด ก็จะขอรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต
           
            เหตุที่โจรทิมยื่นถวายฎีกานี้ ก็เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมาย คงใช้แต่ประเพณี การตัดสินโจรผู้ร้าย ตระลาการจะสั่งแต่เพียงให้เอาตัวไปจำขัง แต่ไม่ได้กำหนดว่ากี่ปี จะพ้นโทษออกมาได้ก็ต่อเมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานอภัยโทษให้ นักโทษในคุกมักจะต้องถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เดิมมักให้ญาติช่วยยื่นฎีกา ต่อมาเมื่อมีการไปรษณีย์ นักโทษก็จะใช้วิธียื่นทางไปรษณีย์เอง ฎีกาคนคุกเหล่านี้จึงมีจำนวนมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดเป็นพระราชนิยมไว้ว่า โทษอย่างใดติดมานานแค่ไหน หรือทำความดีความชอบเป็นพิเศษก็จะทรงพิจารณา ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ก็ทรงยกฎีกาเสีย สำหรับโจรทิมนี้ติดคุกมา ๑๐ ปีแล้ว ถือว่านานพอควร ทั้งยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจ
           
            เมื่อได้อ่านฎีกาต่อที่ประชุมเสนาบดีแล้ว จึงดำรัสสั่งให้กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ขณะยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น และเป็นผู้บัญชาการกระทรวงนครบาล ให้ไปสอบสวนดูว่าที่โจรทิมอ้างในคำฎีกานั้น มีความจริงเพียงไร
           
            ในการประชุมเสนาบดีครั้งต่อมา กรมพระนเรศฯ จึงได้นำกาถังน้ำร้อนที่โจรทิมบรรจงสานมาถวาย และกราบทูลว่าคำที่โจรทิมอ้างนั้นสอบสวนได้ความจริงทุกข้อ
           
            พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรกาถัง เห็นว่าฝีมือประณีตดีจริง มีพระราชดำรัสว่า
           
            “มันพูดจริง เราก็จะให้มันเห็นผลความจริง”
           
            จึงทรงพระกรุณาโปรดยกโทษพระราชทานโจรทิม และดำรัสสั่งกรมพระนเรศฯ ให้ส่งตัวไปให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะเป็นอธิบดีกระทรวงธรรมการ จัดการบวชโจรทิมเป็นนาคหลวง
           
            กรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ตอนนี้ไว้ว่า
           
            “สมัยนั้น นักโทษยังต้องจองจำอยู่ในคุกเดิมที่หน้าวัดพระเชตุพนฯ เมื่อกรมนครบาลคุมตัวโจรทิมไปส่ง ฉันแลเห็นดูผิดมนุษย์จนน่าสังเวช ด้วยผมยาวรุงรัง ทั้งหัวเนื้อตัวก็ขะมุกขะมอมอย่างว่า“ขี้ไคลท่วมหัว” มีแต่ผ้าขาดนุ่งติดตัวไป แต่สังเกตดูกิริยาอัชฌาสัยเรียบร้อย รุ่นราวเป็นคนกลางคนสัก ๔๐ ปีเศษ ฉันรับตัวไว้แล้วต้องเริ่มด้วยให้อาบน้ำ ถูขี้ไคล ตัดผม แล้วให้เครื่องนุ่งห่มใหม่ จัดให้อยู่ในบ้านฉันจนกว่าจะไปบวช แต่แรกคนในบ้านออกจะพากันกลัวด้วยได้ยินว่าเป็นโจร แต่เมื่อรู้เรื่องที่โจรทิมทูลขอจึงพากันสงสารสิ้นรังเกียจ ช่วยอุปการะเลี้ยงดูด้วยเมตตาจิตทั่วทั้งบ้าน ส่วนการที่จะบวชนั้น ฉันปรึกษากับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.คลี่ สุทัศน์) เวลานั้นยังเป็นที่พระยาวุฒิการบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ เห็นว่าควรให้บวชอยู่วัดพระเชตุพนฯ ให้ไปบอกพระราชาคณะ เจ้าอาวาสก็ยินดีจะรับพระทิมไว้ในวัดนั้น ฉันให้ไปเบิกผ้าไตรกับเครื่องบริขารของหลวงมาแล้ว ถึงวันกำหนดจึงให้นายทิมแต่งตัวนุ่งผ้ายก สวมเสื้อครุยตามแบบนาคหลวง แล้วพาตัวขึ้นรถไปยังวัดพระเชตุพนฯด้วยกันกับเจ้าพระยาวิชิตวงศ์ฯ มีพวกข้าราชการในกระทรวงธรรมการและกระทรวงนครบาล กับทั้งพวกที่บ้านฉันพากันไปช่วย ข้างฝ่ายสงฆ์พระราชาคณะกับพระฐานานุกรมคณะปรก ก็พร้อมเพรียงกันทำพิธีอุปสมบทนี้ในพระอุโบสถ ดูครึกครื้นสมกับที่เป็นนาคหลวง”
           
            จากเป็นนักโทษติดคุกมา ๑๐ ปีไม่มีกำหนดออก ชีวิตของโจรทิมก็พลิกผันมาเป็นนาคหลวงพระราชทาน มีคนใหญ่คนโตมาร่วมงานบวชอย่างครึกครื้น ก็เพราะความตั้งใจมุ่งมั่นจะทำความดี จึงเห็นผลเช่นนี้
           
            เมื่อบวชแล้วพระทิมจำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ ๒ พรรษาจนใน พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว พระทิมก็มาขอเข้าเฝ้า ทูลว่าอาพาธเป็นโรคเหน็บชา รักษาตัวมาพอค่อยคลายขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังอ่อนเพลีย อยากจะขออนุญาตขึ้นไปอยู่ที่วัดในเมืองอินทบุรี ด้วยมีญาติพอจะอาศัยได้บ้าง กรมพระยาดำรงจึงรับสั่งว่า พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานอภัยโทษและโปรดบวชให้ จึงมีอิสระที่จะไปไหนมาไหนได้ แต่ที่มาปรึกษาก็ดีแล้ว จะได้มีท้องตราไปฝากเจ้าเมืองกรมการ ให้เขาช่วยดูแลอุปการะด้วย และต่อไปถ้าจะย้ายจากเมืองอินทบุรีไปอยู่ที่ไหนอีก ก็ให้บอกเจ้าเมืองกรมการให้เขารู้ด้วย
           
            จากที่ถูกจับนำตัวไปจากอินทบุรีในฐานะโจรผู้ร้าย พระทิมก็ได้กลับไปบ้านอีกครั้งในฐานะพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานบวชให้ และมีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยผู้เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้าหลวง ฝากฝังให้เจ้าเมืองกรมการเมืองดูแลอุปการะ
           
            พระทิมถือท้องตราไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเมืองอินทบุรี เงียบหายไปปีกว่า จนถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส พระทิมก็ลงมาเฝ้ากรมพระยาดำรงที่วัง และทูลว่า
           
            “อาตมาภาพอยู่ที่เมืองอินท์ ได้ยินว่ามีศึกฝรั่งเศสมาติดเมือง อาตมาภาพคิดถึงพระเดชพระคุณของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงพระกรุณาแก่อาตมาภาพมาแต่ก่อน เมื่ออาตมาภาพยังเป็นหนุ่มได้เคยเรียนคาถาอาคมสำหรับต่อสู้ศัตรูอยู่บ้าง จึงลงมาเฝ้าหมายจะถวายพระพรลาสึกไปอาสารบฝรั่งเศส สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสร็จการรบพุ่งแล้ว ถ้ารอดชีวิตอยู่ก็จะกลับบวชอีกตามเดิม”
           
            กรมพระยาดำรงฯได้ฟังแล้วก็รู้สึกรักน้ำใจพระทิม รับสั่งให้คอยอยู่ที่วัง จะนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวก่อน เพราะเป็นนาคหลวง
           
            พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงชอบพระราชหฤทัย ออกพระโอษฐ์ว่า
           
            “มนุษย์เรานี้ ถึงตกต่ำจนเป็นโจรผู้ร้ายแล้ว ถ้ากลับใจได้จริงๆ ก็ยังเป็นคนดีได้”
           
            มีพระราชกระแสรับสั่งทรงขอบใจพระทิมที่มีความกตัญญู คิดจะสนองพระเดชพระคุณ แต่การรบพุ่งนั้นใช้คนฉกรรจ์ที่มีกำลังมาก พระทิมอายุมากเกินไปแล้ว ให้บวชเอาบุญต่อไปเถิด พระทิมจึงกลับไปอยู่ที่วัดเมืองอินทบุรีตามเดิม
           
            ต่อมาอีกหลายปี พระทิมก็อาพาธถึงมรณภาพ ทางกรมการเมืองเห็นว่าเป็นพระที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบวชให้ และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ดูแลอุปการะ จึงปรึกษาญาติให้รอการปลงศพไว้ก่อน แล้วแจ้งมายังกรมพระยาดำรงฯให้ทรงทราบ
           
            เมื่อกรมพระยาดำรงฯนำความขึ้นกราบทูลว่าพระทิมถึงมรณภาพแล้ว พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงจำได้ ดำรัสว่าพระทิมเป็นคนซื่อสัตย์ ถึงไม่ทรงรู้จักตัวก็ทรงอุปการะมาก่อน โปรดให้เบิกศิลาหน้าเพลิงกับผ้าสำหรับชักบังสุกุลเป็นของหลวง ส่งไปพระราชทานเพลิงศพพระทิม
           
            งานพระราชทานเพลิงศพพระทิม หรืออดีตโจรทิม จึงเป็นงานศพที่ยิ่งใหญ่ของเมืองอินทบุรี มีข้าหลวงพระราชทานเพลิงศพ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับกรมการเมือง มาเป็นเกียรติกันพร้อมหน้า
           
            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสรุปเรื่องราวของพระ“โจรทิม” สมกับภาษิตโบราณที่ว่า “ไม้ต้นคด ปลายยังดัดเอาดีได้ ถ้าปลายคด ถึงต้นจะตรงก็ใช้ไม่ได้”. 

    Credit 
    http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9580000129683



    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×